My Life

อีก 1 ปีในการเรียน ป.โท ที่ศิริราช จบปี 1 แล้วเฮ้ !

By Arnon Puitrakul - 23 พฤษภาคม 2019

อีก 1 ปีในการเรียน ป.โท ที่ศิริราช จบปี 1 แล้วเฮ้ !

และแล้ว 1 ปีก็บรรจบอย่างรวดเร็ว เร็วจนตกใจว่า เชี้ยยยย นี่เราผ่านมันมาได้ 1 ปีแล้วเหรอเนี่ย มันก็ทำให้เราคิดนะว่า ตั้งแต่วันที่เราเลือกที่จะกระโดดออกจาก Confort Zone ของตัวเราในวันนั้น มันทำให้เรามาเป็นสิ่งที่เราเป็น และคิดว่าเราน่าจะมีความสุขในวันนี้ได้ ต้องขอบคุณการตัดสินใจในครั้งนั้นจริง ๆ โอเค เก็บเรื่องดราม่าไว้ก่อน วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า เอ๋ ~ 1 ปีในการเรียน ป.โท ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่เราเรียนสาขา Medical Bioinformatics ที่ไม่ใช่หมอ มันเป็นยังไง

ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป

เขาว่ากันว่า สถานที่เปลี่ยน คนก็เปลี่ยน อื้ม... คำพูดนี้ดูจะเป็นจริงในกรณีของเราเอง เพราะเมื่อก่อน เราก็อยู่ศาลายา เรียนอยู่ศาลายา การเดินทางมันก็ไม่ใช่ปัญหาเลย เพียงแค่ปั่นจักก้า (ภาษาเด็กมหิดล แปลว่า จักรยาน) ไปเรียนแปบเดียวก็ถึงแล้ว แต่ตอนนี้เราก็ไปเรียนอยู่ฝั่งศิริราช แทนที่เราจะย้ายหอไปอยู่แถวนั้น เราเองที่อยู่ศาลายามา 4 ปีก็ดันติดใจกับความชิวในการอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกินที่ราคาไม่แพง มีให้เลือกเยอะมาก (เยอะชิบหายเลยละ) ค่าหอต่อขนาดห้องก็เรียกได้ว่า ถูกมากกกกก เมื่อเทียบกับฝั่งศิริราช หรือจะเป็นความเสียงดังต่าง ๆ ที่ในเมืองย่อมสร้างความชิบหายให้กับโสดประสาทได้มากกว่าแน่ ๆ ทำให้เราเลือกที่จะอยู่หอที่ศาลายาเหมือนเดิม

นอกจากนั้น ถ้าเราย้ายไปที่โน้น เราว่าเราน่าจะเหงามาก เพราะฝั่งนี้มันก็ยังมีคนที่รู้จักกัน แวะเวียนไปหา ไปเจอได้เรื่อย ๆ ฝั่งโน้น ก็ด้วยความที่พึ่งเข้าไป คนรู้จักมันก็ยังไม่ได้สนิทและเยอะเท่ากับฝั่งศาลายาเลย และอีกสาเหตุที่สำคัญคือ เราเป็นคนที่ต้องการที่กว้าง ๆ ไม่ได้ไว้ทำอะไรหรอก ไว้ปั่นจักรยานนี่แหละ ถ้าเราเอาไปปั่นจักรยาน เดี๋ยวได้ออกหนังสือพิมพ์พาดหัวว่า นศ ป.โท ปั่นจักรยานในเมืองโดนรถชนตายคาที่ อะไรแบบนั้นแน่ ๆ ไม่อาวววววว !!!!

นั่นทำให้เราจะต้องเผื่อเวลาในการเดินทาง แต่นั่นแหละครับ แหล่มไปเลย เพราะมหาลัย เขาก็มีรถวิ่งระหว่างวิทยาเขตอยู่เป็นรอบ ๆ ที่ตรงเวลามาก และ ไม่เสียตังค์ ทำให้เราสามารถจัดการเวลาได้ค่อนข้างง่าย และ ไม่ต้องเสียค่าเดินทางไปเลย เราก็จะขึ้นจากมหิดลศาลายา แล้วไปลงที่ ศิริราช รถจอดอยู่แถวตึกที่เราเรียนนี่หละ สบายแล้วตรู ~~ ขากลับก็เหมือนกัน รถก็จะจอดรออยู่ที่ ๆ เราลงมาตอนขามาแหละ

แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังและปวดหัวอย่างนึงคือ การที่รถมันเป็นรอบ ๆ แบบนี้ ทำให้ความยืดหยุ่นในการที่เราจะนั่งชิว ทำงานอะไรไปแบบนั้น มันก็อาจจะเป็นเรื่องยากสักหน่อย นอกจากนั้น รถพวกนี้ เราไม่ได้ใช้คนเดียวซะที่ไหน คนอื่นเขาก็ขึ้นไปกับเราด้วย และที่นั่งมันก็มีจำกัด ดังนั้น เราก็ควรจะไปก่อนเวลารอบรถสักหน่อย มุมนึง เราก็ว่า เออ มันดีนะ ระหว่างรอรถ เราก็ชอบหยิบ Netflix ขึ้นมาดูเป็นการคลายเครียด เพื่อให้กลับไปพร้อมที่จะปั่นงานต่อได้ดีเลยทีเดียว

ย้อนกลับไปที่ Blog เราเล่าเรื่องการจัดการเวลา กลับไปอ่านที่ได้ ลิงค์นี้ ตอนนั้นที่เราเล่า มันเป็นช่วงเปิดเทอมแรก ๆ ที่มันก็ต้องมีเรียนเช้าทุกวัน ทำให้เราต้องตื่นเช้าแบบนั้นทุกวัน เออ ตอนนั้นมันก็ดูดพลังชีวิตไปเยอะอยู่ แต่พอพ้นวิชา Block นั้นไป มันก็สบายขึ้นเยอะ เพราะมันจะเป็นวิชาของสาขาละ เออ เรื่องนี้ค่อยไปไว้เล่าตรง Part ที่เป็นการเรียนละกัน เอาเป็นว่า ตอนนี้เราก็ไม่ต้องตื่นเช้าแบบนั้นละ

ส่วนเรื่องเวลาอื่น ๆ เราก็ยอมรับเลยว่า เรามีเวลาไม่ได้มากขึ้นเท่าไหร่เลย นั่นเป็นเพราะเราเนี่ยแหละ เก่งเหลือเกินเรื่องการหาเหาใส่หัวมาก เมื่อก่อนเราก็ยุ่งเพราะงานนึง พอมาตอนนี้งานนั้นมันหายไป แทนที่เราจะหยุดรับงานใหม่เข้ามา เอ้า ดันรับงานใหม่เข้ามาซะงั้น ตอนแรกเราก็คิดไว้แหละว่า เออ เนี่ยนะช่วง ป.โท เราจะไม่ทำเหมือนตอน ป.ตรี อีกแล้วที่ เราจะยุ่ง ๆ ไปกับงานอื่น ๆ จนไม่ค่อยได้โฟกัสเรื่องเรียนเท่าที่ควร ไม่เป็นไร ปีหน้าเราว่าไม่น่าจะมีงานใหญ่ ๆ เข้ามาได้แล้วแหละ ไม่งั้นเราก็เรียนไม่จบพอดีแหละ ถถถถ

ตอนนี้เราก็สุขสบายดีอยู่ที่ศาลายา เดี๋ยวจะย้ายเข้าไปอยู่บ้านแถวนั้นละ ก็รอติดตามชมกันได้ว่าเราจะถล่มบ้านยังไงบ้าง

คณะใหม่ สถานที่ใหม่ โห้ววววว

อย่างที่เราบอก สถานที่เปลี่ยน คนก็เปลี่ยน เมื่อก่อนเราเรียนอยู่ศาลายา มันก็เหมือนจะมี Culture อย่างนึง ไม่สิ อาจจะเรียกว่า Lifestyle ก็ได้มั่ง ไม่รู้เหมือนกัน แต่พอเราไปอยู่ศิริราชแรก ๆ เราก็แอบ Lifestyle Shock นิดหน่อยกับการที่ต้องเดินทาง การออกกำลังกายต่าง ๆ ที่มันช่างต่างจากศาลายายิ่งนัก โอเคแหละ มันก็ต้องค่อย ๆ ปรับไปเรื่อย ๆ ตอนนี้ก็โอเคละ ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เราจะมาในสไตล์ของลูกครึ่งมาก ๆ เพราะเราก็เรียนอยู่ที่ศิริราช ตกเย็น เราก็กลับมาศาลายา มาหา Comfort Zone ที่เราไว้ใจ

เราเป็นคนนึงที่มี Confort Zone ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเรื่องของความเป็นอยู่ การกินต่าง ๆ อย่างเรื่องที่อยู่ เราจะไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ที่ต้องไปนอนต่างที่ หรือไม่ก็กินอาหารจากร้านที่ไม่เคยกิน เพราะกลัวท้องเสียอะไรแบบนั้น แต่พอปรับ ๆ ไป มันก็ชินเองแหละ

อีกความพีคนึงที่เราปวดหัวมากคือ ตึกจำนวนมาก ไม่สิ จำนวนอาจจะไม่ใช่ปัญหาเท่าชื่อ เออ มันเป็นปัญหาสำหรับเรามากที่ตกภาษาไทย และตึกก็จะใช้ชื่อที่เราอ่านไม่ค่อยออก (ชื่อมาจาก Royal Family ที่จะมีลักษณะการใช้คำที่เราอาจจะไม่ได้พบเห็นทั่วไปซะเท่าไหร่ ทำให้เราอ่านได้ยากมาก) หรืออีกชื่อที่เราปวดหัวมากคือ อาคารเฉลิมพระเกียรติ x ปี เมื่อวันปฐมนิเทศ​ เราก็ได้อีเมล์บอกมาละ โอเคนะ ให้เราไปที่ตึก อาคารเฉลิมพระเกียรติ เฉย ๆ อะไรสักอย่างนี่แหละ อันที่ไม่มีปี อ้าวเห้ยยยย ตึกไหนฟร๊ะะะะะะะะะะ คืออย่างตึกที่เราเรียน เราก็เรียกว่า SIMR พูดง่าย ๆ ก็คือ ตึกวิจัยแหละ แต่ถ้าใครเคยไปแล้วสังเกตที่ตึก มันจะมีเขียนอยู่ว่า อาคารเฉลิมพระเกียรติ กี่ปีนี่แหละ จำไม่ได้ จนตอนนี้ เวลาเดินไปมาอยู่ในคณะ แล้วคนไข้ที่มาหาหมอถามก็คือ เข้ !! ตอบไม่ถูกเลย ยากมาก ถ้าใครเจอเราแล้วถาม แล้วเราตอบไม่ได้ เราก็ขอโทษจริง ๆ ฮื่อออ มันยากมากจริง ๆ อยู่ ๆ ไปอาจจะจำได้ก็ได้นะ เมื่อก่อนเราจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่า Office ของ Grad School อยู่ที่ไหน ตอนนี้เราเดินไปถูกละนะ เย้ ~

จุดนึงที่เราไม่ค่อยชอบการใช้ชีวิตแบบ 100% ที่ศิริราชเท่าไหร่คือ คนเยอะ คือต้องเข้าใจอย่างนึงก่อนว่า ฝั่งศาลายา มันเป็นมหาวิทยาลัย ดังนั้นมันก็จะไม่มีคนนอกเข้ามาอะไรเยอะแยะใช่ม่ะ ยกเว้น มิจฉาชีพ และ ผู้มาติดต่ออะไรก็ว่ากันไป แต่ศิริราชเป็นโรงพยาบาล ดังนั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ โรงพยาบาลจะมีผู้มาใช้บริการ เราก็เข้าใจ แต่ความเคยชินแหละ มันก็ทำให้เราอยู่แต่ในตึกที่เราเรียนแหละ ไม่ค่อยได้ออกไป Discover อะไรมากเท่าไหร่

เรื่องนึงที่เราชอบมากของฝั่งศิริราชคือ เขามีการแยกส่วนที่ใช้เรียนและวิจัยออกจากโรงพยาบาลได้ค่อนข้างชัดเจนมาก ไม่ได้อะไรนะ คือ เราชอบความเป็นสัดเป็นส่วนมาก จะว่ายังไงดีหละ คือ อย่างเราเป็นนักศึกษา เดิน ๆ ไป ถ้าไม่ได้เดินออกไปข้างนอก เดินไปวังหลัง หรือ เดินเข้าไปในโรงพยาบาล ก็จะไม่ค่อยเจอคนไข้สักเท่าไหร่ (อาจจะเพราะว่าเราอยู่ตึก SIMR ด้วยแหละที่มันจะอยู่สุดขอบของโรงพยาบาลละ เลยทำให้ไม่ค่อยมีคนไข้เดินผ่านไปมา) แต่การที่คนเดินเยอะ ๆ มุมนึงเราก็ชอบนะ ฮ่า ๆ

เรื่องของสถานที่ก็เป็นอีกเรื่องที่เราต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นคนเยอะ ตึกที่มีเยอะเหลือเกิน ทางที่เดินไม่ค่อยถูก หรืออะไรก็ตาม มันก็ต้องค่อย ๆ ปรับไป

การเรียนในห้อง

OMG !! เรื่องนี้มันโหดร้ายเหลือเกิน !! เมื่อก่อนตอนเราเรียน ป.ตรี ห้องนึงน้อยสุดก็อะ 19 20 คนประมาณนั้น แต่พอมาใน ป.โท ด้วยสาขาที่เราเรียนมันก็มีกันอยู่แค่ 3 คนเท่านั้น ใช่ครับเราก็นั่งเรียนกัน 3 คนนี่แหละ แบบ โห รู้สึกแปลกมาก ๆ

แต่พอเรียนไปเรากลับชอบการที่มีคนน้อย ๆ นะ เพราะคนน้อยเราก็จะกล้าถาม กล้าตอบมากขึ้น เคยได้ยินคำว่า Bystander Effect กันมั้ยครับ มันเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่ โอกาสที่คนจะเลือกช่วยเหลือคนที่กำลังลำบากน้อยกว่าเมื่อมีคนจำนวนมากอยู่แถวนั้น อ่านแล้วอาจจะงง ตัวอย่างเช่น ถ้าบนถนน เราเจอผู้หญิงทำของตก ตกเยอะมากเลย เหมือนฉากในหนังที่แฟ้มตก กระดาษปริวเลย ฟริ้ววว ถ้าแถวนั้นไม่มีใครอยู่เลยนอกจากเรา เราก็น่าจะเป็นคนที่เข้าไปช่วยแบบไม่ได้คิดอะไรใช่ม่ะ เพราะตรงนั้นมันมีแค่เรา ถ้าเราไม่ช่วย แล้วใครจะช่วย อื้ม... ครุ่นคริส 🤔

แล้วถ้าเหตุการณ์เดียวกัน เกิดในสถานที่ที่มีคนพลุกพลานอย่าง BTS สยาม เราคิดว่าจะเป็นยังไงกัน ถ้าตามที่นักจิตวิทยาได้สังเกตก็คือ ยิ่งถ้าคนผ่านไปผ่านมาเยอะเท่าไหร่ โอกาสที่คนเหล่านั้นจะช่วยก็น้อยลง ลองคิดดูง่าย ๆ นะ ถ้าเราเป็นคนที่เดินผ่านไปผ่านมา เราก็เห็นคนเดินผ่านไปผ่านมาไปหมด เราก็คงคิดว่า เดี๋ยวคนอื่นก็ช่วยเองแหละอะไรแบบนั้น แต่ที่ตลกคือ คนอื่นก็คิดเหมือนกับเรานี่แหละ สุดท้ายผู้หญิงคนนั้นก็ไม่ได้ถูกใครช่วยเลย แงงงง เรื่องมันเศร้าใช่มั้ยหละ

กลับไปที่เรื่องเรียนก็เหมือนกัน การที่มีคนไม่เยอะ เราก็กล้าที่จะตอบ กล้าที่จะมี Interaction ในห้องเรียนมากขึ้นนั่นแหละ อาจารย์ก็สอนสนุกดี ส่วนนึงก็คืออาจารย์สอนสนุกแหละ แต่อีกส่วนมันก็มาจากเนื้อหาที่เราสนใจ เราชอบมัน เราเห็นอนาคตว่าเราเรียนไปแล้วมันเอาไปทำอะไร เลยทำให้เราค่อนข้างสนุกไปกับมัน แต่ข้อเสียคือ แย่ ๆๆๆ มันหลับไม่ได้ ฮ่า ๆๆๆๆ

ส่วนถ้าถามว่าบรรยากาศการเรียนในห้องมันต่างจากตอน ป.ตรี ยังไง เราก็บอกได้เลยว่า ค่อนข้างคล้ายมากเลยนะ แต่สเกลจำนวนคนลงให้เหลือ 3 คน มันก็จะคุยกันอยู่แค่นั้นแหละไม่ไปไหนละ แต่สิ่งที่ต่างก็น่าจะเป็นการถามตอบในห้องมากกว่าที่ตอน ป.โท มักจะถามในเชิงของการวิเคราะห์มากกว่า เป็นคำถามปลายเปิดนั่นแหละ ทำให้เราได้คิดว่า เออ ทำไมอันนี้ถึงดีกว่าอันนี้ แล้วใช้หลักฐานอะไรมายืนยัน เราจะพิสูจน์มันได้ยังไง อะไรแบบนั้น เราชอบมากเลยนะ การสอนให้คิดแล้วค่อย ๆ ตั้งคำถามไปเรื่อย ๆ แบบนี้ เราว่ามันควรจะเรียนกันตั้งแต่ตอน ป.ตรี ก็จะดีมากเลยนะ สิ่งที่น่าปวดหัวของการเรียนแบบนี้คือ เดินออกมาคือ ที่นี่ที่ไหน กลับหอกันไม่ถูกเลยทีเดียว มึนไปเลยเจ้าค่ะ !

สิ่งที่เราไม่ชิน แต่คนสายสุขภาพอาจจะชินคือ การเรียนเป็น Block ปกติถ้าเราเรียนปกติ ๆ เลยนะ วิชานึง เราก็จะลงเรียนเป็นทั้งเทอมเลย อาจจะอาทิตย์ละ 3 ชั่วโมงแล้วแต่กินไปกี่หน่วยกิต แต่พอมาเรียนในคณะนี้ปุ๊บ บางวิชามันไม่ได้เรียนเป็นเทอมแบบที่เราเคยชิน มันมาเป็น Block เลย ก็คือ เรียนมันทุกวัน เรียนมันเช้าเย็น แต่เรียนแค่สักเดือนนิด ๆ ก็หมดแล้ว ทำให้เราสามารถไปเรียนวิชาอื่นที่ลงทะเบียนไว้ได้ต่อ อย่างเทอมแรกเราเรียน Molecular Techniques วิชานี้ก็เรียนทุกวัน เช้ายันเย็น เรียนอยู่เดือนนิด ๆ ก็สอบ แล้วก็หมดวิชาแล้ว เราก็ไปเรียนวิชาอื่นไปอะไรแบบนั้น เราก็ไม่ค่อยชินเหมือนกัน เพราะถ้าเรียนเป็น Block ส่วนนึงมันก็ไม่ต้องเสียพลังงานไปกับการสับรางวิชาไปมา แต่กลับกัน เราว่ามันก็เหนื่อยอีกแบบกับการที่ต้องอยู่ในโลกของวิชานั้นเป็นเดือน ๆ เวลาออกไปคุยกับคนอื่นแล้วมันแปลก ๆ ยังไงก็ไม่รู้ อาจจะเป็นเพราะว่าเรายังไม่ชินก็ได้มั่ง เอาให้พีคเข้าไปอีก บางวิชามันเรียนเป็น Block จริง แต่บางวิชามันก็เรียนเป็นเทอม วิธีก็คือ เรียนพร้อมกันแมร่งเลยจย้า ก็คือ ช่วงวันนึงเราก็เรียนวิชานึง วันที่เหลือก็เรียนอีกวิชาไป มันโคตรจะเหนื่อย


เรามีเครื่องคิดเลขด้วยนนะ

การบ้านก็น้อยกว่าตอน ป.ตรี เยอะเลย แต่การน้อยลงเนี่ย ไม่ได้แปลว่าแกจะใช้เวลากับมันน้อยลงเลย เพราะการบ้านของ ป.โท มันมาพร้อมกับโจทย์ที่สั้นกระชับมาก ก็คือ แกต้องไปหาวิธีเอาเองว่าจะทำยังไง โจทย์แบบนี้ เราว่าเด็กที่เรียนในการศึกษาไทยแมร่งโคตรเกลียดมันเลย เพราะมันให้เราคิด และหาวิธีแก้ปัญหา บางข้อในการบ้านคือบอกว่า เออมีความผิดปกติในไฟล์นี้นะ ไปหามาสิ๊ว่า มันมีจุดไหนบ้าง ฮัลโหล !!!!! หาเจออยู่ แต่สุดท้ายก็ไม่ครบ

การบ้านที่ให้คิด ให้ลองทำแบบนี้แหละ มันเป็นการบ้านที่กินเวลาในการทำเยอะมาก บางทีอาจจะทำคนเดียวก็ไม่น่ารอดเลย จริง ๆ การที่เราผ่านปีแรกไปได้นี่ต้องขอบคุณเพื่อนจริง ๆ ที่มานั่งทำการบ้านกะเรา ไม่ทิ้งให้เราโดดเดี่ยวในดงหญ้า 🌿 ด้วยการไปนั่งทำการบ้านด้วยกันทุกเย็นวันจันทร์ที่เซนปิ่น (เออ แบบนี้ก็ได้เหรอ ถถถ) ดังนั้นการบ้านน้อยก็จริง แต่เวลาที่ใช้เราว่ามันมากกว่าการทำการบ้านของตอน ป.ตรี ซะอีก

สิ่งที่น่ากลัวกว่าการบ้านคือ การสอบ น่าจะเป็นเรื่องที่ใครหลายคนกลัวขยาดกันไปเลยใช่มั้ย​ฮ่า ๆ เมื่อก่อนเราอาจจะพูดว่า แก ๆ ชั้นยังจำตรงนั้น ตรงนี้ไม่ได้เลย ไม่อยากเข้าไปสอบเลย พอเราขึ้นป.โทมา คำว่า จำ มันหายไป เพราะข้อสอบมันไม่วัดความจำ ความเข้าใจ และสกิลการวิเคราะห์ล้วน ๆ อะไรที่มันต้องใช้ความจำ จะไม่อยู่ในข้อสอบเลย ก็เสียใจกับอีลูกช่างจำด้วยนะครับ คุณไปต่อยากแล้วหละ

สาขาใหม่ ๆ วิชาใหม่ ๆ

ถ้าใครรู้จักเราก็น่าจะรู้ว่าตอน ป.ตรี เราเรียนจบ ICT มหิดลมา ก็คือเรียนเกี่ยวกับพวก Computer ใช่ม่ะ แต่พอมาป.โท เราก็มาเรียน Medical Bioinformatics ที่มันไม่ได้มีแค่คอมแล้ว แต่มันยังแถม Biology ไปด้วย นั่นทำให้เราต้องเหมือนเข้าใจทั้ง 2 ฝั่งเลยว่า เขาคุยกันยังไง อะไรแบบนั้น ถามว่ามันยากมั้ย บอกเลยว่ายากชิบหาย !!!

ตอนมาเรียน มันก็ยากนะ แต่เราว่า มันอยู่ในจุดที่เราค่อนข้างสนใจ คำว่า ยาก มันก็กลายเป็นความท้าทายแทน ว่าเราอยากที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้ มันก็ทำให้เรานึกย้อนกลับไปตอนทำ Senior Project ตอนป.ตรีเลยที่ตอนนั้นเราไม่รู้อะไรเลย แต่ตอนจบเราก็ได้อะไรกลับมา กลับมาที่ตอนนี้ อย่างน้อยเราก็มีสิ่งที่เราได้เรียนมาในคอมพิวเตอร์แล้ว ตอนนี้เราแค่ต้องมาเริ่มทางฝั่งชีวะใหม่เท่านั้นเอง มันจะไปยากอะไร๊ ~ (ปลอบใจตัวเองเก่งงงงง)

เมื่อก่อนเราอาจจะเรียนวิชาที่เป็นคอมพิวเตอร์เพียว ๆ แต่มาในตอนนี้ เหมือนเรากำลังเรียนลูกครึ่ง เอาความรู้จากทั้ง 2 ฝั่งเข้ามารวมเข้าด้วยกัน เพื่อเอามาแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนกว่า วิชาหลายตัวที่เราไม่ได้มีโอกาสได้เรียนมาก่อน ตอนนี้ก็มีโอกาสได้เข้าไปนั่งเรียนสมใจอยาก ฮ่า ๆ และก็พบว่า การที่เราเรียนคอมพิวเตอร์มา มันเข้ามาแก้ปัญหาทางการแพทย์และชีววิทยาได้เยอะมาก ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ บางอย่างถ้าเราใช้แค่องค์ความรู้ทางชีววิทยาอย่างเดียว เราอาจจะต้องใช้เวลาเกิน 10 ปีในการสังเกต เก็บข้อมูล และหาคำตอบ แต่ถ้าเราใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย กระบวนการอาจจะถูกเร่งทำให้เราหาเจอภายในเวลาที่สั้นลงนั่นเอง

สำหรับคนที่เรียนคอมมาเลย ถ้านึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงสิ่งที่เราเรียนกันใน Algorithm ไม่ก็ AI ว่าสุดท้ายแล้ว เวลาเครื่องมันแก้ปัญหามันก็น่าจะทำอยู่ 2 อย่างใหญ่ ๆ คือ การคำนวณแล้วตอบ และการลองหาคำตอบจากหลาย ๆ ความเป็นไปได้ ยิ่งถ้าเซ็ตของความเป็นไปได้ของคำตอบมันน้อยลงเท่าไหร่ เครื่องก็ยิ่งหาคำตอบได้รวดเร็วขึ้น ถ้าเราเอาแค่ความรู้ทางคอมพิวเตอร์มาใช้หาคำตอบทางชีววิทยาอย่างเดียว เราก็อาจจะต้องใช้เวลานานมาก ๆ เพื่อที่จะหาคำตอบ เผลอ ๆ หาไม่ได้อีก เพราะเราไม่รู้ว่าคำตอบมันหน้าตาเป็นยังไง แต่ถ้าเราเอาความรู้ทั้ง 2 ฝั่งมารวมกัน ฝั่งคอมก็รู้ว่า เออ ชั้นจะหาคำตอบได้ยังไง และฝั่งชีวะก็รู้ว่า เออ คำตอบชั้นหน้าตาประมาณไหน พอเอามารวมกัน เราก็จะสามารถหาคำตอบได้แม่นยำ และรวดเร็วมากขึ้นเยอะเลยใช่ม่ะ


หยอดครั้งแรกคือ จิ้มทะลุเข้าไปในเจล เย้~

ยอมรับว่า เปิดเทอมมา นอกจากจะ Shock เรื่องสถานที่และการใช้ชีวิตแล้ว เปิดเทอมแรกมายังไม่ทันไร เรียนวิชาแรกที่เข้าเรียนก็คือ ‌Molecular Biology Techniques in Medical Science ไม่เห็นมีชื่อตรงไหนบอกเลยว่ามันมีคอมพิวเตอร์ เออ ก็แหงละสิ ไม่มีคอมเลยเว้ย ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ มันเป็นวิชา Lab ด้วยไง ตอนนั้นต้องบอกเลยว่า ทำ Lab ไม่ เป็น เลยดีกว่า ก็คือต้องมานั่งหัดใช้ Pipette ใหม่เลยว่า P10, P5 นี้ใช้ยังไง แล้ว P นี้ใช้กับ Tips ขนาดไหน ก็ต้องขอบคุณเพื่อน ๆ ในกลุ่มที่ช่วยเราเลยนะ ถ้าไม่มีทุกคน ป่านี้เราคงไม่รอดไปแล้ว แต่สิ่งที่ได้จากการเรียนวิชานี้แน่ ๆ คือ เราก็พอที่จะเข้าใจเรื่องของการทำ Lab และทำเป็นหน่อย ๆ ละ

ตอนเราเข้าไปเรียนแรก ๆ เราก็คิดนะว่า มันจะเอาความรู้ที่เราเรียนในคอมมาทำยังไง ? ตอนนี้ผ่านไป 1 ปี เราทั้งเรียน และอ่านมากขึ้น ก็พบว่า จริง ๆ ถ้าใครที่เรียนคอมมาแล้วอยากจะมาต่อสายนี้เราบอกเลยว่า อย่าไปกลัว เราว่ามันไม่ได้ปรับตัวอะไรขนาดนั้น นอกจากจะต้องมาเจอการเขียนโปรแกรมสไตล์นักวิทยาศาสตร์ที่เราอาจจะปวดหัว และเอาตีนก่ายหน้าผากก็เป็นได้ (ยิ่งถ้าใครเรียน Software Engineering มา น่าจะเอาโพเดียมทุบคนเขียนได้เลย) ส่วนความรู้ทางชีวะ โอเค เราก็ต้องมานั่งเรียนบ้าง แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมดไง มันก็รู้เพื่อที่จะเหมือนกับเอามาแปลภาษาให้มันกลายเป็นปัญหาทางคอมพิวเตอร์ แล้วเราก็สามารถที่จะเอาสิ่งที่เราเรียนมาในคอมพิวเตอร์มาแก้ปัญหาได้เหมือนที่เราเรียนกันมาเลย สิ่งที่ยากคือ การแปลภาษานี่แหละ บางปัญหาเราอาจจะใช้ Algorithm ง่าย ๆ ในการแก้ได้ แต่เราไม่เข้าใจอะว่า คำนั้นที่กำลังพูดถึงมันคืออะไร แล้วมันอะไรกันยังไงกับใครอะไร๊เนี่ย ~~ สุดท้ายปัญหาที่ทางคอมเราอาจจะแก้กันแบบเป็นธรรมดา แต่ถ้าเรามาตรงนี้แล้วเราแปลไม่ออกก็คือ บั้ยบาย ~

ส่วนคนที่เรียนวิทยาศาสตร์มา แล้วอยากมาเรียนสายนี้ อื้มมมม ยากจังเลย เราว่าสิ่งนึงที่ควรจะหัดมาคือ การคิดและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เรามองว่า เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการเป็น Computer Scientist และมันก็จะถูกเอามาใช้กับในฝั่ง Bioinformatics ด้วยเช่นกัน กับอีกสิ่งที่ทั้ง 2 ฝั่งต้องมีคือ ความอดทน ฮ่า ๆ ถ้าเราไม่มีมันแล้วเนี่ย เราก็จะพร่ำบอกแต่ อะไรฟร๊ะ ไม่ก็ วดฟ ไปเรื่อย ๆ สุดท้ายมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา กลับบ้านไปทำงานเถอะนะคนดีย์ ~

สรุป

และในที่สุด เราก็ผ่าน ป.โท ในปีแรกมาได้แล้ว เร็วเหมือนกันนะเนี่ย ยังจำวันที่เก้ ๆ กัง ๆ จับ Pipette แล้วมือสั่น กับเดินหลงทางในศิริราชได้อยู่เลย จนทุกวันนี้เราก็ยังตลกอยู่เลย เมื่อก่อน เรายังจำได้อยู่เลยว่า เราเข้า Lab Meeting ตอนนั้นพี่ ๆ ใน Lab Present งานตัวเองกัน อีนี่คือนั่ง งง เย้ ไม่รู้เรื่องบ้าอะไรเลย 1 ปี เราได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก เยอะจนเราไม่คิดมาก่อนเลยว่า 1 ปีมันจะทำให้เรารู้อะไรเยอะขึ้นได้มากขนาดนี้ หัวระเบิดดังตูมมมมม จนตอนนี้ฟังรู้เรื่องแล้ว น้ำตาจะไหล 😂 เป็น Turn ของเราแล้ว ที่จะต้องมารบราฆ่าฟันกับเจ้า Thesis ตัวร้าย ก็ขอกำลังใจจากทุกคนด้วย

จริง ๆ เราอยากจะขอบคุณรุ่นพี่ที่บอกทางในวันนั้น เพราะช่วยให้เราจัดการปัญหาหลาย ๆ อย่างมาได้ และอาจารย์ที่สอน จากที่เราไม่รู้เรื่องอะไรที่อาจารย์สอนเลย แต่อาจารย์ก็อธิบายจนเราเข้าใจ ถ้าใครจะบอกว่ามันก็คือหน้าที่ของเขาบอกเลย ถ้ามาเจอเราจบคอมมาเรียนชีวะอะไรแบบนี้ มันไม่ใช่เรื่องเล็กเลยนะ ถามมันทุกอย่าง งงมันทุกส่วน ปวดหัวมากจริง ๆ สอนเราเนี่ย

ปล 1. อ่านชีวิตความบรรลัยในช่วงป.ตรี ปี 1 , ปี 2 , ปี 3 และ ปี 4

ปล 2. ผมไม่ใช่หมอครับ... คนเข้าใจผิดเยอะมาก เห็นเรียนอยู่คณะแพทย์

Read Next...

Year In Review 2023 สวัสดี 2024

Year In Review 2023 สวัสดี 2024

แปลกมากเลยนะ เรารู้สึกว่ายังเหมือนต้นปีอยู่เลย เวลาผ่านไปแปบเดียว กลายเป็นจะหมดปีซะแล้ว เรียกว่าเป็นปีที่ทำอะไรเยอะมาก มีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ เรื่องเยอะมาก เรื่องหลาย ๆ เรื่องที่เราปูมาตั้งแต่ปีก่อน มันค่อย ๆ งอกเงยมาเรื่อย ๆ วันนี้เรามาถอดบทเรียนให้อ่านกันว่าเราได้อะไรจากมัน และมันสอนอะไรกับเราบ้าง...

Year in Review 2022 สวัสดี 2023

Year in Review 2022 สวัสดี 2023

เวลาผ่านไปไวเหมือนกันนะเนี่ย ยังแอบรู้สึกว่าเหมือนยังไม่ผ่านครึ่งปีไปดีเลย อ่อ สิ้นปีแล้วเฉยเลย มา งั้นเรามาเล่าให้อ่านกันดีกว่าว่า ที่ผ่านมาในปี 2022 มันเกิดอะไรขึ้น และมันสอนอะไรเราบ้าง...

Year in Review 2021 สวัสดี 2022

Year in Review 2021 สวัสดี 2022

ผ่านไปอีกปีแล้วกับปี 2021 ที่น่าจะเป็นเวลาที่ยากลำบากสำหรับใครหลาย ๆ คน เราเองก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ หลาย ๆ อย่างที่ Plan ไว้ก็ต้องเปลี่ยนหมด หน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว ก็หวังว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ดีขึ้นเนอะ ~...

Year in Review 2020 สวัสดี 2021

Year in Review 2020 สวัสดี 2021

และแล้วก็ถึงเวลาที่ต้องมาเขียน Year in Review อีกครั้ง ประโยคที่ว่า จะหมดปี 2020 แล้วคงไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้ละมั่ง ปีก่อน ๆ อาจจะบอกว่า เออ ใช่แหละ แต่ปีนี้คือเป็นปีที่หนักมากสำหรับหลาย ๆ คนรวมถึงเราด้วย...