My Life

Productive Series: To-Do List ทำดี มีเวลาว่างเพิ่มขึ้นเยอะ

By Arnon Puitrakul - 06 กันยายน 2020

Productive Series: To-Do List ทำดี มีเวลาว่างเพิ่มขึ้นเยอะ

หลังจากตอนที่แล้ว เราพูดถึงเรื่องของการจัดการไฟล์ใน Digital ของเราไปแล้ว วันนี้เราลองมาเปลี่ยนไปดูอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน และ ช่วยทำให้ชีวิตเรามีเวลาออกไปหายใจได้มากขึ้น อย่างการทำ To-Do List กันดีกว่า

To-Do List คืออะไร ?

สำหรับคนที่ไม่เคยทำ หรือรู้จักมาก่อน เราเล่าแบบ Intro ง่าย ๆ คือ มันเป็น List ของสิ่งที่เรากำหนดว่า เราจะทำ อาจจะทำ หรือ วางแผนว่าจะทำ เพื่อให้เราไม่ลืมว่า เราต้องทำมันนะ ตัวอย่างของ To-Do List ง่าย ๆ ที่เราน่าจะทำกันเยอะคือพวก Shopping List ก็เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะมันช่วยเราได้เยอะมาก เวลาเราไปซื้อของ ทำให้เราไม่ออกนอกลู่นอกทางซื้อของที่ไม่ได้ใช้เข้าบ้าน แถมลดเวลาในการเดิน Shopping ด้วย เพราะ เราเดินไปหยิบแต่ของที่เราต้องใช้ ไม่ต้องมานั่งนึกว่า นั่นหมดรึยัง นี่หมดรึยัง เป็นต้น

ในการทำงานก็ไม่ต่างกัน บางที งานเราอาจจะเยอะมาก ๆ ทำให้เราอาจจะลืมได้ว่า เราต้องทำอะไรในวันนี้ หรือ แม้กระทั่ง เราทำงานที่มันใช้สมาธิ ทำเสร็จ มันก็ อ้อง แบบ งง ลืม ว่าเราต้องทำอะไรอีกนะวันนี้ มันก็เป็นไปได้เหมือนกัน การทำ To-Do List ของการทำงานเป็นเครื่องมือสำหรับเตือนความจำของเราได้เป็นอย่างดี

ถ้าเราลองไปสังเกตุมนุษย์เรา เราจะชอบอะไรที่มันมีจุดหมายปลายทางเสมอ ทำให้ถ้าเราทำ To-Do List เรามีงานที่เราต้องทำในแต่ละวันไว้ก่อนแล้ว ระหว่างวันที่เรานั่งทำงาน เราจะเห็นเลยว่า เราทำงานไปเป็นจำนวนแค่ไหน ที่เราต้องทำในวันนั้น ๆ แล้ว เหมือนรู้แล้วว่า จุดสิ้นสุดของวันนี้มันอยู่ที่ไหน หรือในสเกลที่ใช้ขึ้นในระดับของ Project ก็ช่วยทำให้เรารู้ว่า งานเราถึงไหนแล้วได้เหมือนกัน

เราจะทำ To-Do List ได้ยังไงบ้าง ?

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอยากทำ T0-Do List กันแล้วสินะ หลัก ๆ เราว่าน่าจะมีอยู่ 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ การใช้ App ในการจดทั้งหลาย ถ้าตัวที่เราแนะนำคือ Things อาจจะแพงไปหน่อย แต่เราว่ามันเป็น App ที่ดีมาก ๆ หน้าตาคือดี และ มันมี Function ในการจัดการงานที่เป็นระบบเหมาะกับเรามาก ๆ ลองไปหาดูได้

แต่วิธีที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้คือ กระดาษ อีกแล้วจ้าาาา ซึ่งเป็นเรื่องหลักของวันนี้เลย ที่เราจะมาแชร์กันว่า เราทำ To-Do List ในกระดาษอย่างไร ไม่ให้เป็น To-Do Lost ไปซะก่อน

สำหรับเราเอง เราจะทำ To-Do List ในหลาย ๆ เวลา และ งาน มาก โดยปกติ เราจะทำ To-Do List ช่วงก่อนนอน เพื่อที่จะได้เตรียมตัวไว้ล่วงหน้าก่อนวันถัดไป ถ้าเราต้องเตรียมของโน้นนี่นั่น เราจะได้เตรียมไว้ก่อนที่เราจะนอนเลย ทำให้ตอนเช้ามา เราก็จะสบัดตูดออกจากบ้าน แง่น ๆ ได้เลย ไม่ต้องกลัวลืมของ นอกจากนั้น การที่เราได้มาสรุปสิ่งที่เราทำในวันนั้น มันทำให้เราเห็นว่า เห้ย วันนึงเราไม่ได้เปล่าประโยชน์อะไรนะ เราได้ทำอะไรบางอย่างสำเร็จแล้วนะ ขอบคุณตัวเองเบา ๆ 1 ทีถ้วน

Day Retrospective is the key!

อย่างที่เราบอกว่า เราจะดู To-Do List ของแต่ละวันก่อน โดยเราจะเริ่มจากการแยกงานที่ ทำเสร็จ และ ทำไม่เสร็จ ออกจากกันก่อน เพื่อที่เราจะได้มาสรุปในแต่ละอย่างกัน

สำหรับงานที่เสร็จ เราจะเอามาดูก่อนว่า งานที่เราทำเสร็จ เราใช้เวลาเท่าไหร่ในการทำ และ ตรงกับเวลาที่เราประมาณไว้หรือไม่ ถ้าตรง ก็ผ่านไปก่อน หรือถ้าไม่ตรง เราจะต้องมาหาเหตุผลแล้วว่า ทำไมมันเกิดจากอะไร ขั้นตอนไหน ที่ทำให้เราช้ากว่าที่ควรจะเป็น เพื่อที่เราจะได้เอามาปรับปรุงการทำงานประเภทเดียวกันต่อไป

ตัวอย่างเช่น การเขียน Literature Review ใน Thesis เราบอกว่า เรา ประมาณเวลาที่น่าจะใช้ทำงาน (Man Hour) ไว้ที่ 3 ชั่วโมง แต่ปรากฏว่า เราอาจจะใช้เวลาไป 5 ชั่วโมง แปลว่า เราใช้เวลาเกินไป 2 ชั่วโมงด้วยกัน เราต้องมานั่งหาแล้วว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น เช่น เราอาจจะมีงานอื่นเข้ามา หรือ เราติดหาข้อมูลตรงไหนไม่ได้ ทำให้คร่าวหน้า เราอาจจะต้องเผื่อเวลาให้มากกว่านี้ หรือไม่ก็จริง ๆ เราควรแยก Task ของงานหาข้อมูล และ งานเขียนออกจากกัน ก็จะทำให้การประมาณเวลาที่ใช้ในการทำดียิ่งขึ้น

นอกจากจะทำ To-Do ในแต่ละวัน เรายังมี To-Do ของแต่ละ Project อีกด้วย แล้วแต่งาน ถ้างานด่วนหน่อยก็อาจจะเป็นรายวัน หรือ งานทั่ว ๆ ไป เราจะทำเป็นรายสัปดาห์ เพราะการใช้กระดาษ ทำให้เราเสียเวลาในการที่ต้องเอา To-Do ของแต่ละวันไปเช็คกับ To-Do ของ Project อีกด้วย ทำให้เสียเวลานิดหน่อย

อันนี้เราดึงตัวอย่างของคนอื่นมา ที่นี่ เราเองก็ทำใน Google Sheet เหมือนกัน

พอเราอัพเดท To-Do เข้าด้วยกันแล้ว เอามาเทียบกับ Gantt Chart ของ Project เราจะสามารถนับได้เลยว่า งานที่เราทำ เราช้าไปกี่วันแล้ว และถ้ามันช้าเกิน เราจะทำยังไงได้บ้าง หรือถ้ามันเร็วเกิน แต่มีงานอื่นเร่งกว่า เราก็ต้องจัดอันดับความสำคัญของงานใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับงานที่เราถืออยู่

ท้ายที่สุด จุดประสงค์ของการมานั่งดูงานที่เราทำไปในแต่ละวัน เราให้อยู่ 2 เรื่องใหญ่ ๆ เรื่องแรก คือ การตามงานของเรา ว่าเราทำอะไรเสร็จ หรือไม่เสร็จบ้าง ทุก ๆ วันที่เราทำงาน เราก็จะได้รู้ Performance ของเรามากขึ้น และทำให้เราสามารถที่จะประมาณเวลาได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น

หรือจริง ๆ ที่งานไม่เสร็จ จนต้องมาบอกว่า ทำจนงานไหม้หมดแล้ว ทำไมมันไม่เสร็จสักที สุดท้ายก็ ปลงใจ และตะโกนออกมาว่า แม่ย้อย! เพราะงานที่เราต้องทำในแต่ละวัน มันมี Estimated Man Hours ที่มากกว่า จำนวนชั่วโมงที่เราใช้ทำงานจริง ๆ นั่นแหละ คือข้อบ่งชี้ที่เราใช้ในการบอกว่า เราถืองานเยอะไปแล้ว เราก็อาจจะต้องหาวิธี หรือ กระจายงานให้คนอื่นไปทำ เพื่อลดภาระงานของเรา

และอีกจุดประสงค์คือ กำลังใจ การที่เรามานั่งสรุปแบบนี้ มันทำให้เราเห็นว่า วัน ๆ เราได้ทำอะไรให้สำเร็จไปบ้าง เป็นการบอกตัวเองแหละว่า เออ เราก็ไม่ได้แย่นะ อย่างน้อย วันนี้เรา อะไรบางอย่างสำเร็จแล้วนะ แรงที่เราลงไปวันนี้ มันทำให้งานเพิ่มขึ้นเท่านี้เลยนะ ตรบมือให้ตัวเอง 1 2 1 2 3 1 2 1 2 1 😂

Writing up the To-Do List

หลังจากที่เรามองย้อนกลับไปในอดีตคือ วันที่ผ่านมาอย่างยาวนานแล้ว เราหันกลับไปมองที่อนาคตกันบ้างดีกว่า เรามาลองเขียน To-Do List ง่าย ๆ กัน แน่นอนว่า เราก็ยังคงใช้กระดาษอยู่เหมือนเดิม

จริง ๆ การเขียนของเราทำออกมาง่าย ๆ พยายามให้ใช้เครื่องมือให้น้อยที่สุด เพราะเราก็ขี้เกียจพกของเยอะแยะเหมือนกัน เราก็ใช้กระดาษ List Task ที่เราต้องทำออกมา ด้านหน้า เราก็อาจจะวาด เป็นกรอบสี่เหลี่ยม ไว้ให้เราติ๊กถูกก็ได้ หรือบางคนอาจจะใช้วิธีการขีดฆ่าไปก็ได้ สำหรับเรา เราใช้กรอบสี่เหลี่ยมแล้วติ๊กเอา น่ารักกว่า ฮ่า ๆ

โดยที่เราจะเว้นด้านซ้ายบนไว้ สำหรับ Task ที่มันมีเวลาชัดเจน เช่น การประชุม ที่มันมีเวลานัดชัดเจนอยู่แล้ว โดยที่เราจะเขียนเวลาไว้ด้านหน้า และ เรียงตามเวลาจากเช้าไปเย็น เพื่อให้เวลาเราดูระหว่างวัน เราจะได้หา Task ง่าย ๆ (จริง ๆ เราใช้ Calendar อยู่แล้วละ เขียนไว้เพื่อเวลาเราเอา Task มาใส่จะได้ดูเวลาเผื่อด้วย)

สำหรับ Task ที่เหลือ เราจะแยกด้วย Project ไป โดยจะเรียงตามความสำคัญของงาน เพราะตอนที่เราเขียน เราจะเอา To-Do List ของ Project ออกมาเขียน ลงไปเป็น To-Do List ของวันนั้น ๆ ลงไป ด้านหลังของชื่อ Task เราจะ วงเล็บเป็นเวลาที่ประมาณว่าจะใช้ หรือก็คือ เวลาที่เราประมาณไว้ว่า เราจะใช้ในการทำ Task นี้ให้เสร็จ ส่วนนึงก็เพื่อเป็นการเร่งตัวเองด้วยว่า เออ เรามีเวลาเท่านี้นะ ถ้าไม่มี เราจะมาสไตล์ เออ ~ ค่อย ๆ ไปก็ได้แหละ ไม่ก็บางงานก็จะทำให้งานมัน Perfect จนสุดท้าย เราก็จะใช้เวลามากกว่าที่ควรจะเป็นนั่นเอง

เพิ่มอีกนิดนึงคือ บางที เราจะใส่ Hashtag เพื่อบอกว่า งานนี้มันเป็นงานประเภทไหน เช่น #Writing คืองานเขียน หรือ #Communication คือ การสื่อสาร อย่างการตอบเมล์ หรือ ต้องโทรศัพท์คุยอะไรจะอยู่ในหมวดนี้

นอกจากนั้น เราจะขีดเส้นใต้ตัว Task ที่เราต้องใช้ความคิด เพื่อให้เรารู้ว่า อันไหนบ้างที่เราต้องทำในช่วง Productive Hour เดี๋ยวเรามาบอกอีกทีว่ามันคืออะไร

จริง ๆ แล้วพวก Add-on ทั้งหลาย เช่น การขีดเส้นใต้ หรือการใส่ Hashtag ถ้าใครที่มีปากกาสี ก็อาจจะใช้เป็นตัวช่วยที่ดีได้เหมือนกัน เวลาเรามองอ่านมา เราจะได้ไม่ต้องใช้เวลาเยอะ มองปุ๊บ โอเค อันนี้เราต้องสนใจก่อนอะไรแบบนั้น แต่สำหรับเราเอง แน่นอนว่าเราขี้เกียจพก เราก็เลือกวิธีใช้สัญลักษณ์เอา

จัดความสำคัญของงานด้วย Eisenhower Box

ถ้าเราไปอ่านหนังสือพวก การบริหารเวลาต่าง ๆ เราก็อาจจะเจอหลายวิธีในการจัดการแหละ แต่วิธีที่เราอ่านมาแล้วเราเอามาใช้แล้วมันดีสำหรับเราคือ Eisenhower Box ที่จะแบ่งงานของเราออกเป็น 4 แบบด้วยกัน

งานสำคัญ และ เร่งด่วน คืองานที่ไม่ทำตอนนี้ไม่ได้ ทำเดี๋ยวนี้ !!! อันนี้เราจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ เสมอ

งานสำคัญ และ ไม่ด่วน คือ งานที่สำคัญ ไม่ทำไม่ได้ เราต้องทำ แต่มันยังไม่ด่วน อันนี้จะเป็นงานที่เราชอบมาก มันเป็นงานที่ทำให้เราสามารถวางแผน เพื่อให้งานนี้ออกมาดีได้ ให้มันอยู่ในแผน และ ทำตามแผนไว้ ถ้าเราผลัดไปเรื่อย ๆ สุดท้ายมันจะเป็นงานที่สำคัญ และ เร่งด่วน จนต้อง Burn baby burn งานเราได้

งานไม่สำคัญ และ เร่งด่วน คือ งานที่เราไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ ให้คนอื่นทำได้ แต่มันดันด่วน งานพวกนี้ ควรจะเอาออกจากเราให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยที่เราอาจจะเอามอบหมายให้คนอื่นเอาไปทำก็ได้

งานไม่สำคัญ และ ไม่ด่วน คือ งานที่มันไม่ได้สำคัญอะไร และ มันก็เออ ไปได้เรื่อย ๆ พวกนี้ควรเก็บไว้ทำเมื่อเราว่างเลย อย่าเอามันมาเป็นความสำคัญอันดับต้น ๆ

ถามว่า แล้วงานสำคัญคืออะไร สำหรับเราคือ งานที่เราต้องทำ มันเป็นหน้าที่ของเรา หรืออยู่ใน Job Description ของเรา ยังไง ๆ ต้องเป็นเราทำแน่ ๆ นั่นแหละ คือ งานที่สำคัญของเรา เช่น บอกว่า เราเป็น นักเรียน หน้าที่หลักของเราคือ การเรียน แน่ ๆ ทำให้ การทำการบ้าน จะจัดอยู่ใน งานสำคัญ ส่วนด่วนหรือไม่ ก็ขึ้นกับ Deadline แล้ว

งานด่วน ที่เราพูดถึงจริง ๆ มันอาจจะไม่ใช่แค่ พรุ่งนี้จะ Deadline แล้วนี่คือ ด่วน อย่างเดียวนะ งานด่วนของเราครอบคลุมถึงงานที่ ไม่ด่วน แต่ด้วยแผน และ เวลาที่มี มันไม่พอ อันนี้แหละ เริ่มด่วนละ

ที่ Eisenhower Box ใช้ในการจัดงานใส่ลงมาคือ การเรียงงานตาม ความสำคัญ และ ความเร่งด่วน ก่อนหน้านี้เราพูดถึง Productive Hour ใช่ฮ่ะ มันคือเวลาที่เราจะทำงานที่ใช้ความคิด ที่หลาย ๆ คนบอกว่า เวลาเราทำงาน ทั้งหมดของเวลาทำงานมันก็ควรจะเป็นเวลาที่เราต้องคิดป่ะ เอ่ออออ Idealy อะใช่ก็ได้

Productive Hour vs Working Hour

แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันไม่ได้เป็นแบบนั้น เราทำไม่ได้แน่นอน ลองง่าย ๆ เลย เวลาเราทำงานนึงที่มันต้องคิดเยอะ ๆ ลงแรงเยอะ ๆ เราก็จะเหนื่อยมาก และ เราไม่อยากที่จะทำงานอะไรพวกนี้อีกแล้วในวันนั้น คือมันเหนื่อยแหละ สุดท้ายถ้าเราฝืนทำไป มันก็ได้งานแหละ แต่คุณภาพไม่รู้นะ กับ มันจะหมดแรง ทำไปเรื่อย ๆ มันอาจจะ Burnout ได้

ดังนั้น ในแต่ละวัน เราควรจะมี Productive Hour ของเราเอง เพื่อที่จะทำงานที่ต้องใช้ความคิดเยอะ ๆ หน่อย เช่นพวกงานหาไอเดีย หรือ งานเขียนต่าง ๆ ที่มันต้องคิดเยอะ ๆ พวกนี้ควรเอาไปอยู่ในช่วง Productive Hour ของเราในแต่ละวันไป

และงานอื่น ๆ ที่ไม่ต้องใช้ความคิดอะไรมากเท่าไหร่ อาจจะเป็นงาน Routine พวกนี้ เราก็เอาไปทำใน Working Hour ที่เหลือก็ได้ เช่นเราเอง เราจะมี Productive Hour ตอนช่วงที่ตื่นนอนมาใหม่ ๆ เลย และ เราจะเริ่มทำพวกงาน Routine ช่วงบ่าย ๆ หลังกินข้าวเที่ยง ช่วงนั้นแหละ กำลังเคลิ้มข้าวเที่ยงเลย ง่วงกำลังได้ที่

ถามว่า แล้ว Productive Hours มันนานแค่ไหน เราก็ต้องตอบว่า ไม่รู้ เพราะแต่ละคนมันไม่เท่ากัน ขึ้นกับหลาย ๆ ปัจจัยมาก ๆ ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้คือ ต้องลองไปสังเกตุตัวเองแล้วว่า วันนึงเราทำงานที่มันต้องคิดได้มากแค่ไหน และ ลองเอามาคำนวณเฉลี่ย ๆ ออกมา น่าจะได้คร่าว ๆ แล้วค่อย ๆ ปรับ เรียนรู้ตัวเองไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เราประมาณ Productive Hour ของเราได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น

สำหรับเราเอง เรายังมองอีกมิติด้วยคือ Intensity เหมือนเวลาเราออกกำลังกายเลย คือ ถ้าเราบอกว่า เราออกกำลังกาย 30 นาทีต่อวัน เช่นอาจจะยก Weight 3 Kg เป็นปกติ แต่พอมาอีกวัน เราเกิดยก 5 Kg เราอาจจะเล่น ๆ ไปได้ 20 นาที มันก็เหนื่อยแล้ว เล่นต่ออีก 10 ไม่ไหวแน่ ๆ สุดท้ายมันก็ต้องจบ Session ก่อน

มองย้อนกลับมาที่งาน บางงานมันใช้ความคิดจริง แต่มันอาจจะเป็นงานที่เราทำมาเยอะมาก ๆ แล้ว มีความเซียนอยู่ ทำให้เราก็ต้องคิดแหละ แต่มันปุ๊บปั๊บได้เลย มันก็ใช้กำลังน้อยกว่า แต่กลับกัน ถ้างานนั่น เราไม่ค่อยได้ทำ หรือไม่ถนัดเลย ย่อมต้องคิดเยอะกว่าแน่ ๆ นี่แหละคือ Intensity ที่เราพูดถึง

ทำให้พวกงานที่มันต้องใช้ความคิด เราจะประมาณ Score ความยากเข้าไปด้วย โดยที่เราเอามาเฉลี่ย เพื่อบอกว่าวันนี้ Productive Hour มันจะเหี้ยมขนาดไหนกัน หรือ เราอาจจะปรับ Task ให้มันมีค่าเฉลี่ยที่อยู่ในจุดที่เรารับได้ เช่น เราบอกว่า เมื่อวาน เราทำไป 4.5 คะแนน แต่โห ไม่ไหวแล้วเหนื่อยจนไม่ไหวแล้ว วันต่อไป เราก็อาจจะเอาเฉลี่ยให้เหลือ 3-4 ก็ได้ เพื่อให้เราได้พักบ้าง หรือช่วงไหน เราไฟแรงมาก จัดมาเลย 5 ก็เอาเลย เอาที่รู้สึกว่ารับไหว

Performance Analysis

การที่เราเขียน To-Do List ทุกวัน เราจะมี Record ไว้หมดเลยว่า เราทำงานอะไรวันไหน เสร็จหรือไม่เสร็จยังไง ถ้าเรามองในมุมของ Data Science เราก็สามารถเอาข้อมูลพวกนี้แหละมาวิเคราะห์ต่อได้อีกในหลาย ๆ แง่มุมเลย

ตัวอย่างเช่น เราตั้งสมมุติฐานว่า ความเครียดมีผลต่อจำนวนงานที่ทำได้ต่อวันจริง ๆ เราเลยลองพิสูจน์สมมุติฐานนี้ด้วยการเอา จำนวน Estimated Man Hours ที่เราทำเสร็จต่อ วันออกมา Plot เป็น Bar Chart โดยแบ่งตามประเภทงาน อันนี้ก็จะทำให้เราเห็นเลยว่า แต่ละวันเราทำงานไปได้กี่ชั่วโมง และ แต่ละงานคืออะไรบ้าง

ถัดไปคือ เราจะซ้อนมันด้วยคะแนนความเครียดของเราลงไป เราจะเห็นได้เลย ว่า จำนวนงานที่ทำเสร็จในแต่ละวัน มันอาจจะผกผันกับคะแนนความเครียดรึเปล่า ดูจากกราฟยากมาก (อาจจะต้อง Plot ด้วยจำนวนข้อมูลที่เยอะกว่านี้) นอกจากนั้น ถ้าเรามองลึกเข้าไปอีก เราจะเห็นเลยว่า วันที่คะแนนความเครียดสูง งานที่เราทำ ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ต้องออกไปประชุมข้างนอก ไม่ก็งานเขียน อันนี้เข้าใจได้ เพราะเป็นงานที่ไม่ถนัด มันเลยสูบพลังชีวิตเยอะพอตัว

การที่เรารู้ข้อมูลตรงนี้ มันก็ช่วยทำให้เราสามารถเอามาประเมินการทำงานของเราได้ด้วยว่า ช่วงนี้เราทำงานได้ Productive แค่ไหน ช่วงนี้เราเป็นยังไงบ้าง เรา Overload งานเรามากไปรึเปล่า เพื่อที่เราจะเอามาปรับ To-Do List ของเราในวันต่อ ๆ ไปให้เข้ากับ State ปัจจุบันของเราได้

Rewarding Myself

นอกจากการที่เราจดแล้วเอามาวิเคราะห์การทำงานของเราได้แล้ว เราอาจจะลองทำอะไรสนุก ๆ อย่างการให้รางวัลตัวเองเหมือนเล่นเกมดูก็ได้ เช่นบอกว่า ถ้าเราทำงานทั้งหมดของวันเสร็จ เราจะให้รางวัลตัวเองด้วยการ ไปนอนเล่น กลิ้งไปมา หรือ อาจจะเป็นการได้เล่นเกมสักแปบนึง อะไรแบบนั้น ก็เป็นตัวช่วยในการสร้าง Motivation ในการทำงานอย่างดีเลย

ตอนเราประถม กับ มัธยมเอง เราก็เป็นมนุษย์ที่เรียกว่า Motivation-Driven มากคือ ทุกเช้า ถ้าวันนั้นมันไม่มีอะไรที่เรารู้สึกว่าอยากทำสักอย่างเป็นวันธรรมดา วันนั้นจะเป็นเช้าที่ไม่อยากตื่นมาทำอะไรเลย มันก็จะเฉื่อย ๆ แต่ถ้าเรารู้ว่า วันนั้นเป็นวันที่มีอะไรที่เราอยากทำ หรือ เห้ยมันใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ แล้ว มันจะเป็นเช้าที่เรียกได้ว่า ฉดไฉ 😎 มาก ๆ เลยก็ว่าได้

โตขึ้นมาถึงตอนนี้เราก็ไม่เปลี่ยน แต่แทนที่เราจะรออะไรที่ทำให้เรามี Motivation กระโดดเข้ามาในชีวิต เราก็เลือกที่จะสร้าง Motivation ขึ้นเองในแต่ละวันเลย สิ่งที่เราเอามาใช้คือ งานอดิเรก คือ การที่ได้ทำงานอดิเรกที่ อยากทำ สำหรับเราเป็นการสร้าง Motivation ที่ดีมาก

To-Do List is balancedness between Time and Task

ในการทำ To-Do List จริง ๆ มันเป็นเรื่องของการสร้างสมดุลของ เวลา กับ งาน เข้าด้วยกัน ทำให้เราทำงานได้เสร็จตามที่วางไว้ ในขณะที่เรายังไม่ร่างแตกตายไปซะก่อน จริง ๆ แล้วที่เราหันมาทำ To-Do List จัดงานทุกอย่างให้เป็นระเบียบ เอาจริง ๆ คือ เรามีเวลาทำ ในสิ่งอยากทำ นั่นแหละ ทำให้เราจริงจังกับการจัดระเบียบมาก ๆ วันนี้ที่เราเอามาแนะนำน่าจะเป็นฉบับสั้น ๆ ของเราแล้ว จริง ๆ แล้ว เรามีรายละเอียดเยอะกว่านี้มาก ๆ แต่ถ้าเอามาหมด น่าจะเขียนได้เป็นหนังสือเล่มนึงเลย

คำแนะนำง่าย ๆ ขั้นตอนแรกคือ ให้เริ่มทำก่อน เริ่มจากการทำก่อน ไม่สำคัญว่า จะดี หรือไม่ดี มีประสิทธิภาพหรือไม่ก็ตาม ขอแค่ให้เราเริ่มต้น ทำ ออกมาก่อน เดี๋ยวเราก็จะค่อย ๆ ปรับให้มันดีเอง วิธีที่เราเอามาแนะนำในวันนี้ เหมาะกับเรา แต่อาจจะไม่เหมาะกับคนอื่น ดังนั้น อ่านแล้วอาจจะลองเอาไปปรับใช้กับเราอีกที จบ สวัสดี

Read Next...

Year in Review 2022 สวัสดี 2023

Year in Review 2022 สวัสดี 2023

เวลาผ่านไปไวเหมือนกันนะเนี่ย ยังแอบรู้สึกว่าเหมือนยังไม่ผ่านครึ่งปีไปดีเลย อ่อ สิ้นปีแล้วเฉยเลย มา งั้นเรามาเล่าให้อ่านกันดีกว่าว่า ที่ผ่านมาในปี 2022 มันเกิดอะไรขึ้น และมันสอนอะไรเราบ้าง...

Year in Review 2021 สวัสดี 2022

Year in Review 2021 สวัสดี 2022

ผ่านไปอีกปีแล้วกับปี 2021 ที่น่าจะเป็นเวลาที่ยากลำบากสำหรับใครหลาย ๆ คน เราเองก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ หลาย ๆ อย่างที่ Plan ไว้ก็ต้องเปลี่ยนหมด หน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว ก็หวังว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ดีขึ้นเนอะ ~...

Year in Review 2020 สวัสดี 2021

Year in Review 2020 สวัสดี 2021

และแล้วก็ถึงเวลาที่ต้องมาเขียน Year in Review อีกครั้ง ประโยคที่ว่า จะหมดปี 2020 แล้วคงไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้ละมั่ง ปีก่อน ๆ อาจจะบอกว่า เออ ใช่แหละ แต่ปีนี้คือเป็นปีที่หนักมากสำหรับหลาย ๆ คนรวมถึงเราด้วย...

Productive Series: To-Do List ทำดี มีเวลาว่างเพิ่มขึ้นเยอะ

Productive Series: To-Do List ทำดี มีเวลาว่างเพิ่มขึ้นเยอะ

หลังจากตอนที่แล้ว เราพูดถึงเรื่องของการจัดการไฟล์ใน Digital ของเราไปแล้ว วันนี้เราลองมาเปลี่ยนไปดูอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน และ ช่วยทำให้ชีวิตเรามีเวลาออกไปหายใจได้มากขึ้น อย่างการทำ To-Do List กันดีกว่า...