By Arnon Puitrakul - 08 กันยายน 2023
สวัสดีท่านผู้เจริญซึ่งมากไปด้วยปัญญา บทความนี้เกิดจาก เราตั้งคำถามว่า ทำไมเราจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคำเคลมว่า ผลิตจากธรรมชาติ เป็นพวกนั่นนี่ Organic หรือจริง ๆ แล้วมันเป็นแค่ การตลาดวันละคำกันแน่นะ งั้นเรามาคุยเรื่องนี้กันให้ลึกขึ้นดีกว่า ผ่านเลนส์มุมมองของวิทยาศาสตร์
หลังจากไป เราไปปรึกษากับพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ หลาย ๆ คน ก็ทำให้เราได้แง่มุมที่น่าสนใจเยอะมาก แต่ทุกคนล้วนจะต้องถามก่อนเสมอว่า แล้วเรานิยามคำว่า Organic หรือ ความธรรมชาติว่ายังไง
บาง Brand บอกว่า เราไม่ได้เติมสารเคมีลงไปเพิ่ม เราเน้นใช้สารจากธรรมชาติเพียว ๆ เช่น การเอาเปลือกส้มมาคั้นเอาน้ำมันจากดอกไม้บางชนิดเลย ทำให้หลังขวด เขาก็จะเขียนประมาณว่า Oenothera Biennis Oil อะไรพวกนั้น
บาง Brand บอกเลยว่า เราใช้ส่วนผสม ที่ผ่าน USDA Organic List พึ่งรู้ว่ามีอะไรแบบนี้ด้วยนะ แต่อ่านแล้วสั้น ๆ ก็คือ แกเล่นเกมโยนขี้ให้ USDA Organic เลยปะ ถ้าเราใช้ส่วนผสมที่ Certified ว่า Organic แล้ว Product ที่ผลิตออกมา มันจะ Organic ว่าซั่น ???
โดยรวม เราคิดว่า หลาย ๆ Brand น่าจะมี คำจำกัดความ คำว่า Organic ที่คล้ายกันมาก ๆ คือ ส่วนผสม ที่เขาบอกว่า มันจะ Organic ได้ ส่วนผสมนั้น ๆ มันจะต้องสกัดได้มาจากธรรมชาติโดยไม่ผ่านกระบวนการทางเคมีใด ๆ เลย เช่น เราบอกว่า เราเน้นส่วนผสมของชาเขียว ตัวชาเขียวที่เราเอามาใช้ มันจะต้องไม่ผ่านกระบวนการทางเคมีอะไรที่ทำให้ ลบ หรือ เพิ่มองค์ประกอบทางเคมี ทุกอย่างของชาเขียวจะต้องอยู่ทั้งหมด ไม่มีหายสักอย่างเดียว
หรือ มองในแง่ของตัวส่วนผสมเอง เช่นชาเขียว การที่จะบอกว่าชาเขียว Organic เราเข้าใจว่า มันน่าจะต้องไม่ผ่านกระบวนการที่นอกเหนือจากกระบวนการตามธรรมชาติของมันเลย เช่น การใช้ยาฆ่าแมลง หรือ สารเร่งโตต่าง ๆ แต่เราก็ยังไม่แน่ใจว่า นิยามนี้มันรวมไปถึงการปรับปรุงดิน โดยการใส่แร่ธาตุเพิ่มเติม อันนี้มันถือว่าเป็นการใช้อะไรที่นอกเหนือธรรมชาติมั้ย เราว่า เพราะการที่เราปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาตินี่แหละ ทำให้ราคามันแพงกว่าเดิมเยอะ เพราะ แทนที่เราจะปลูกมันเอามาใช้ได้ทั้งหมดใบสวย ๆ เยอะขึ้น อ้าว แมลงแมร่งกินเข้าไปแล้ว แหว่งเละเชียว Brand ก็ไม่น่าจะอยากเอามาใช้กันเท่าไหร่
พอเราไปอ่านพวกคำเคลมของหลาย ๆ เจ้าที่เขาเคลมว่า เขาทำ Organic Product เขาบอกว่า Product เขา ไม่มีสารเคมีเลย เราใช้สารที่ผลิตจากธรรมชาติเท่านั้น
เราอ่านแล้วรอบนึง ต้องกวาดตาอ่านอีกรอบ เผื่ออ่านหลุดบางคำไป และต้องอุทานออกมา ว่าไงนะ ??? พี่ว่าไงนะ ?? อะไรวะเนี่ย ไม่มีสารเคมี แล้วพี่ใส่เ_ยอะไรเข้าไปวะ
เราต้องเข้าใจกันก่อนนะว่า ไม่ว่าจะเป็นสารอะไรก็ตาม ทั้งหมดคือสารเคมีทั้งหมด ไม่ว่ามันจะมาจากธรรมชาติ หรือ เราจะสังเคราะห์ขึ้นมาทุกอย่างคือสารเคมีทั้งหมด มันมีองค์ประกอบทางเคมี มันมีสมบัติทางเคมี เช่น ถ้าเราบอกว่า สาร A เหมือนกัน ไม่ว่ามันจะมาจากการสกัดจากธรรมชาติ หรือ สังเคราะห์จาก Lab มันก็จะมีคุณสมบัติเหมือนกันทุกอย่าง
แต่การที่เราบอกว่า สาร A ไม่ว่าจะมาจากไหน มันก็คือสาร A แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง มันเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่เราจะได้สาร ๆ เดียวที่บริสุทธิ์ 100% มาใช้งาน เป็นอะไรที่ยุ่งยากสุด ๆ เรายกตัวอย่าง Ascorbic Acid 100% มันราคาแพงแบบ กรัมนึงอาจจะหลายพันเลยแหละ พวกนี้ เราไม่เอามาใช้ในพวกเครื่องสำอาง อาหาร หรือ Skin Care พวกนี้มันอยู่ในระดับ Lab Grade ที่เราอาจจะเอามาใช้กับพวก Mass Spectrometer (MS) สำหรับการทำ Calibration อะไรก็ว่ากันไป ไม่เคยเรียนพวก Analytical Chemistry เหมือนกัน ให้คนที่เขาทำมาเล่าแหละ
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสารอะไรก็ตาม มันจะมีสารเจือปนเสมอ ทำให้เราน่าจะมีข้อกังวลอยู่ทั้งหมด 2 เรื่องด้วยกันคือ สารเจือปนมันคืออะไร และ มันมีปริมาณเยอะขนาดไหน
เริ่มจากสารเจือปนก่อน ในการสังเคราะห์สารเคมี พวกสารเจือปนส่วนใหญ่ เราน่าจะพอทราบเลยว่า มันคืออะไรบ้าง เพราะเราเป็นคนสังเคราะห์กันเอง เราเห็นสมการที่เราสนใจทั้งหมด ดังนั้น เราทราบได้คร่าว ๆ ว่า Byproduct ที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากสารที่เราต้องการมันน่าจะมีอะไรบ้าง แน่นอนว่า วิศวกรเคมีพวกนี้ เขาก็จะพยายาม Optimise การเกิดปฏิกิริยา ให้มันได้สารที่เราสนใจมากที่สุด ดังนั้น สารที่สังเคราะห์มาส่วนใหญ่ เขาจะมีความบริสุทธิ์สูงมาก ๆ สารเจือปนน้อยมาก ๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
แต่กลับกัน พวกสารสกัดจากธรรมชาติ จริง ๆ ที่เราเรียก Organic กันทั้งหลาย เขาแค่รู้ว่า ถ้าเราใช้น้ำมัน หรือ การสกัดแบบนี้ออกมา สารที่มันเป็นสารสำคัญจะออกมา เช่น เขาอาจจะสกัดน้ำมันจากผิวส้มออกมา ซึ่งในนั้นมันนั้น มันไม่ได้มีแค่สารสำคัญเท่านั้น แต่มันมีสารอีกหลายตัวมาก ๆ ย้ำว่า มาก ๆ ไม่ว่าจะ เป็นตัวที่มีในส้มอยู่แล้ว และ ตัวที่อาจจะได้รับตั้งแต่ตอนปลูก
มันเลยทำให้เราอาจจะเคยเจอเหตุการณ์ที่ว่า บางคนใช้ Product ที่อาจจะมีสารสำคัญออกฤทธิ์ตัวเดียวกันเป๊ะ ๆ เลยนะ แต่มันสกัดมาจากต่างแหล่งกัน กลายเป็น แพ้แค่ตัวเดียว นั่นไม่ได้เกิดจากการที่เขาแพ้ตัวสารสำคัญนั่น แต่เขาน่าจะแพ้สารประกอบที่อยู่ในส่วนผสมที่มาพร้อมกับสารสำคัญใน Product มากกว่า
ส่วนในประเด็นของความเข้มข้น การที่เราสกัดจากธรรมชาติ แต่ละ Lot มันอาจจะมีความเข้มข้นต่างกันเยอะมาก ๆ ทำให้ มันต้องอาศัยกระบวนการปรับความเข้มข้นที่หนักกว่ามาก ๆ เช่น ส้มวันนี้ อาจจะมี Ascorbic Acid 70% แต่ส้มอีก Lot ปลูกมาไม่ค่อยดี อาจจะมี 40% อะไรเทือก ๆ นั้น เอาจริง ๆ มันน้อยกว่านั้นเยอะมากแหละนะ ก็ต้องไปจัดการผ่านกระบวนการเพิ่มความเข้มข้นเอา จะได้ผ่าน QC เหมือน ๆ กันในทุก ๆ Lot
อ่านมาถึงตรงนี้ เราว่าน่าจะเดาได้แล้วแหละว่าเราจะบอกว่าอะไร สารสกัดจากธรรมชาติ โดยเฉพาะเจ้าที่เขียนว่า มันผ่านกระบวนการน้อยมาก ๆ เราก็แอบกลัวนะ เพราะพวกนี้คือ เราไม่รู้เลยว่า สิ่งที่เขาสกัดออกมา ใช่แหละ มันอาจจะมีสารสำคัญที่เขาต้องการมา แต่ เราไม่รู้เลยว่า สารอื่น ๆ ละ ที่มันอาจจะเป็นพิษกับเรา หรือ เราแพ้
ดังนั้น ถ้าถามส่วนตัวเรา เมื่อเรามองในมุมมอง ของสารเคมีตัวเดียวกัน ที่สกัดจากธรรมชาติ และ สังเคราะห์มันขึ้นมา เราคิดว่า มันไม่ต่างกันเลย องค์ประกอบทางเคมีเหมือนกันทั้งหมด สารสำคัญออกฤทธิ์ทำงานในกระบวนการเดียวกันทั้งหมด ทำให้มันไม่ต่างกันเลย ทำให้สารสังเคราะห์มันไม่ได้น่ากลัว เหมือนกับที่นักการตลาดบอกเราเลย
อีกอันที่เราว่า คนกลัวมาก ๆ อยู่ในหมวดของสารสังเคราะห์เหมือนกันคือ วัตถุกันเสีย เข้ เรา งง มาก ๆ ว่าทำไมคนแมร่งกลัวหัวหดได้ขนาดนั้น เอาว่าการที่ Product เราจะเสีย หรือ เสื่อมสภาพส่วนใหญ่ก็จะเกิดจากพวก จุลชีพต่าง ๆ เช่น Bacteria หรือในการเสื่อมก็พวก อากาศ และ ความร้อนต่าง ๆ พวกวัตถุกันเสีย มันก็สารประเภทหนึ่งที่ช่วยทำให้กระบวนการนี้มันเกิดได้ยากขึ้น
เช่น วัตถุกันเสียหลาย ๆ อย่าง มันก็จะเป็นพวกสารลดการเจริญเติบโตของ Bacteria ทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้นว่า ไอ้ของที่เราทาเข้าไป เราจะไม่ได้พาพวก Bacteria ต่างถิ่นที่อาจจะเติบโตในขวดเข้าสู่ตัวเรา อาจจะทำให้เราป่วย หรือสร้างสารแปลก ๆ มาทำให้เราแพ้ได้ แต่เราเข้าใจว่าที่คนกลัว เพราะมันมีเคสที่คนอาจจะแพ้สารพวกนี้แหละ เอาเข้าจริง มันก็มีการควบคุมเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัว หรือ กังวลเรื่องนี้เลย ถ้าเราซื้อของที่มันผ่าน อย.
อีกความเชื่อที่เราเห็น Organic Brand หลายเจ้าพูดกันเยอะมาก ๆ คือ เขาพยายามสร้างความเชื่อว่า สารสกัดจากธรรมชาติคือ สารที่ปลอดภัยมาก ๆ ไม่เหมือนพวกสารสังเคราะห์ที่อันตรายมาก ๆ อย่างที่เราบอกคือ ถ้าเรามองจากมุมมองของ องค์ประกอบทางเคมี ก็จะทำหน้าฉงนว่า อะไรของเ_งวะ
กลายเป็นว่า เอ๊ะอะ คนมันก็ไปมองหาคำว่า อะไรสักอย่างจากธรรมชาติกันหมดเลย แต่เราจะบอกว่า ความเชื่อว่า ธรรมชาติมันไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป ธรรมชาติของคุณไม่ได้น่ารักกับทุกคนเหมือนลูกของคุณแหละครับ
ของหลาย ๆ อย่าง มันสามารถส่งได้ทั้งผลดี และ ผลเสีย เป็นทั้งยา เป็นทั้งพิษได้ในตัวเดียวกัน ถ้าเราใช้ในปริมาณที่เหมาะสม สิ่งนั้นมันอาจจะเป็นยา หรือถ้าเราเอายา มาใช้ในปริมาณที่มากเกินไป มันก็อาจจะเป็นพิษกับเราได้เช่นกัน ดังนั้น มันไม่เกี่ยวเลยว่า สารที่เราได้มาจากไหน แต่มันเกี่ยวกับปริมาณของมันมากกว่า
เราขอยกตัวอย่าง ของที่เราหาได้ตามบ้านอย่าง มะนาว เมื่อก่อนจำได้เลยว่า ให้เอามะนาวมาฝาน แล้วทาหน้า ยิ่งแสบสิวยิ่งหาย โอ้มายก๊อตตตตต ถามว่า สำคัญที่ทำให้เราแสบเลยจริง ๆ ก็คือ Citric Acid ที่มีเยอะมาก ๆ ในมะนาว เมื่อมันมีมากเกินไป มันก็จะเข้าไปกัดกร่อนชั้นผิวของเราให้พังเข้าไปใหญ่ สุขภาพผิวแทนที่จะดีกลายเป็นชิบหายขึ้นมาทันตาเห็น
แต่ถ้าเราเจือจางมันลงมาหน่อย มาอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับการใช้งานพวก อาการปวดแสบก็จะน้อยลง อาจจะยังมีได้บ้างในกลุ่มคนที่ผิวบาง หรือ Sensitive ได้ง่าย แต่มันก็ปลอดภัยกว่ามาก ๆ ลดวามหมองคล้ำได้ ลดรอยดำรอยแดงจากสิวให้ดูจางลงได้
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจมากคือ Ascorbic Acid หรือ Vitamin C มันเป็นวิตามันที่ไม่ค่อยเสถียรเท่าไหร่ ต้องผสมในสารที่ความเป็นกรดสูง ทำให้เมื่อเราเอามาทาบนผิวของเรา มันอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้ ทำให้มันเป็นส่วนผสมที่งานวิจัยรองรับเยอะมาก ๆ แต่มีความเสี่ยงในการใช้เยอะพอสมควรสำหรับคนที่ผิว Sensitive มาก ๆ ทำให้ มีการเล่นแร่แปรธาตุสารตัวนี้ให้ออกมาในรูปแบบที่ปลอดภัยกับผิวเรามากขึ้น เพิ่มความเสถียรมากขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยงในการใช้ได้มากขึ้น และ อยู่บน Shelf ได้นานขึ้นด้วยเช่นกัน
ยา และ อาหารทุกชนิดบนโลกมันจะเป็นประโยชน์ เมื่อเรากิน หรือใช้ ในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนหน้าที่ในการหาปริมาณที่เหมาะสมนั่น ก็เป็นหน้าที่ของ เภสัช และ นักวิจัยเนอะ ไม่ต้องไปหาทำลองกินหาเรื่องใส่ตัวเองเนอะ ~
อีกแง่มุมนึงที่คนเถียงกันเยอะมาก ๆ คือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม Brand ชอบทำให้เราเชื่อว่า การที่เราใช้สารสังเคราะห์ ไม่ Organic มันไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่เราจะบอกว่า จริง ๆ แล้วมันก็ไม่เสมอไป
ในการสังเคราะห์ หรือการผลิตสารต่าง ๆ เราคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่เกิด Byproduct ที่เราไม่ต้องการ ถ้าเกิด เราสามารถแปลงพวก Byproduct พวกนี้ ให้เป็นสารที่ปลอดภัย และ ทิ้งให้ถูกที่ มันก็จะไม่มีปัญหาอะไรกับสิ่งแวดล้อมหรอก
หรือกลับกัน ถ้าเราบอกว่า เราเน้นการผลิตแบบ Organic มันก็สามารถทำให้สิ่งแวดล้อมชิบหายได้เหมือนกัน เราว่า มันก็จะกลับไปลูปเดิม ๆ ของ การเกษตรแบบเก่า ๆ ที่เราปลูกพืชให้ได้ผลผลิต ต้นไม้มันไม่ได้เอาพลังงาน หรือ แร่ธาตุจาก Parallel Universe แน่ ๆ ดังนั้น เมื่อเราปลูกต้นไม้เดิม ๆ ซ้ำ ๆ วนไปเรื่อย ๆ ยังไง แร่ธาตุในดินก็ต้องหมดไปแน่นอน สุดท้าย มันก็จะไปพึ่งพวกปุ๋ยนั่นนี่มาใส่ สุดท้าย มันจะเรียกว่า Organic ยังไงหว่า ?? เหมือนกัน ทำให้พวกนี้ ถ้าเขาอยากที่จะ Organic กันมาก ๆ ความหนาแน่นในการปลูกอาจจะต้องน้อยกว่า ได้ Yeild ต่ำกว่า และ อาจจะต้องมีการพักหน้าดิน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และพื้นที่เพาะปลูก
เรายกตัวอย่างเช่น Musk ที่เราเอามาใช้ทำน้ำหอม จริง ๆ แล้วมันคือ Musk Pod ที่เป็นถุงนึงที่อยู่บริเวณระหว่างช่องท้องและอวัยวะสืบพันธุ์ของกวาง นึกภาพว่า ถ้าเราต้องไปตัดของกวางมาทำน้ำหอมเรื่อย ๆ มันก็ไม่โอเคเท่าไหร่เนอะ ทำให้ Musk เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ปัจจุบันเราใช้ Musk ที่สังเคราะห์ขึ้นมา ที่มีองค์ประกอบคล้ายกับ Musk ของจริง หรือ อาจจะเปลี่ยนนิดหน่อยเพื่อให้มันได้กลิ่นดีที่ดีขึ้น ทำให้ เราไม่ต้องไปจัดการกับกวาง ซึ่งแน่นอนว่า ดีต่อสภาพแวดล้อมแน่นอน
ทำให้เรามองว่า จริง ๆ แล้วมันไม่เกี่ยวเท่าไหร่หรอกว่า มันจะผลิตด้วยกระบวนการยังไง แต่ขึ้นกับการจัดการ และ ความสามารถในการจัดการสิ่งที่เราไม่ต้องการออกไปมากกว่า ถ้าเราจัดการในกระบวนการที่เหมาะสม ถูกต้อง และ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ คนใกล้เคียงให้ได้มากที่สุด ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิต และ หน้าที่ของลูกค้าที่ควรจะต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายค่า Premium นี้ เพื่อให้มันยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป
โดยสรุปแล้ว ส่วนตัวจากที่เรามองเห็นจาก Product ในตลาดที่บอกว่าตัวเองเป็น Organic เราว่า มันดูเป็นการตลาดมาก ๆ ยังไม่นับการตลาดที่สอนเรื่องผิด ๆ ให้กับผู้บริโภคนะอันนั้นอยากออกมาแหกมาก
ถามว่า ในแง่ของ สารประกอบสำคัญในการออกฤทธิ์ และ ความเสี่ยงจากส่วนผสมที่อาจจะทำให้เราแพ้ หรือ เป็นพิษ เรากับเรา พวก Product ที่ไม่ได้เคลมว่าเป็น Organic ส่วนตัวเราชอบมากกว่าเยอะ เพราะมันประกอบด้วยสารที่มันจำเป็นจริง ๆ ไม่เว้นเว้อ ไม่มีอะไรแปลก ๆ เข้ามาเพิ่มความเสี่ยง แต่กลับกัน พวก Perfume ทั้งหลายที่ให้กลิ่น เราจะ Prefer ตัวที่เป็น Organic มากกว่า เพราะการจะเกิดกลิ่นเฉพาะตัวของแต่ละอย่าง มันอาศัยองค์ประกอบทางเคมีที่ซับซ้อนมาก ๆ การจะเลียนแบบองค์ประกอบพวกนี้มันยากมาก ๆ เลยค่อนข้างชอบอันที่ Organic ที่จะต่างจากพวก Skin Care ที่อยู่บนผิวเราโดยสิ้นเชิงเลย
สุดท้าย อยากจะบอกว่า Product ที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็น Organic และพวก Product ปกติ ๆ ที่สารหลาย ๆ อย่างเราสังเคราะห์ขึ้นมา มันก็ใช้งานได้ดีมาก ๆ ด้วย แต่ Product ที่ดีคือ เราใช้งาน แล้วเห็นผลตามที่ผู้ผลิตเคลม ไม่แพ้ ไม่เป็นพิษ ไม่ส่งผลเสียกับตัวเรา ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และ อยู่ในราคาที่เราจับต้องได้ อันนี้สำคัญมาก ๆ อย่ากลัวที่จะใช้ Product ที่ไม่ใช่ Organic แต่ก็ไม่เอาพวก ตะกั่วอะไรที่เป็นพิษนะเว้ย หรือ กินฉี่ไม่เอานะเว้ย ขอละ !
มันมีลัทธิกิน โซดามิ้นท์ กันแล้วหวะทุกคน นี่มันอะไรกันวะเนี่ย หลังจากมะนาวโซดาฆ่ามะเร็ง สู่โซดามิ้นชะลอวัยกันแล้ว วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า คนที่เขาอ้าง เขาอ้างว่ากินยังไง ทำไมถึงมีผลแบบที่เขาบอกได้จริง และเราจะเล่าในเชิงวิทยาศาตร์ทางการแพทย์ว่า ทำไมมันอันตรายกว่าที่ทุกคนคิด...
ถ้าต้องให้เลือก Skin Care แค่อย่างเดียวเราะจะเลือกอะไร เราคงตอบได้อย่างรวดเร็วว่า กันแดด แน่นอน แต่ถ้าเราลองไปดูกันแดดในท้องตลาดบ้านเรา มันมีเยอะมาก มีหลายประเภทสารพัด วันนี้เรามาเล่าให้อ่านกันในเชิงวิทยาศาสตรดีกว่าว่า มันมีแบบไหน และ แบบไหนเหมาะอะไรกับใครบ้าง...
เราอ่านข่าวเจอเรื่องการที่ไตหวันพบการแพร่ระบาดของการผสมสีอย่าง Sudan Red ลงไปในเครื่องปรุงต่าง ๆ โดยเฉพาะพริก และพวกผงหมาล่าที่นำเข้าจากประเทศจีน วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า สรุปแล้วเรื่องมันเป็นอย่างไร และ สีเจ้าปัญหาอย่าง Sudan Red มันเป็นอันตรายต่อมนุษย์อย่างไร...
ช่วงนี้เราอินกับ น้ำหอมมาก ๆ เรื่องที่เราคิดว่าน่าใจมาก ๆ สำหรับ เราที่สนใจน้ำหอม และวิทยาศาสตร์คือ วิทยาศาสตร์เบื้องหลังของน้ำหอม มันมีอะไรมากกว่าที่เราคิดมาก ๆ ทำไมกลิ่นนี้ทำให้เรารู้สึกแบบนี้ หรือเรื่องที่เรามา Cover กันในวันนี้คือ ทำไมน้ำหอมถึงมีกลิ่น ?...