Science

เครื่องฟอกอากาศทำงานยังไง อะไรกรองได้ ไม่ได้บ้าง

By Arnon Puitrakul - 31 มีนาคม 2023

เครื่องฟอกอากาศทำงานยังไง อะไรกรองได้ ไม่ได้บ้าง

หลังจากที่ไทยเราโดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือประสบปัญหาฝุ่น และ มลพิษทางอากาศอย่างหนักมาก ๆ ทำให้มีพวกคนออกมาขายเครื่องฟอกอากาศเยอะมาก และ มักจะเคลมอะไรแปลก ๆ กันเยอะมาก วันนี้เราเลยจะมานำเสนอในแง่ของวิทยาศาสตร์ดีกว่า ว่าเครื่องฟอกอากาศมันมีหลักการทำงานอย่างไร และ อะไรที่มันกรองได้ และ ไม่ได้บ้าง

ปล. ถ้าใครยังไม่ได้มีความเชื่อในวิทยาศาสตร์ก็ขอให้ข้ามบทความนี้ไปเนอะ อ่านแล้วเสียเวลา ไม่ได้ช่วยให้คุณตาสว่างขึ้นแน่นอน ขอบคุณค่ะ

เครื่องฟอกอากาศทำงานอย่างไร ?

เครื่องฟอกอากาศ หรือ เครื่องฟอกอากาศ สิ่งที่มันทำก็คือ การทำให้อากาศ มันสะอาดขึ้น ดังนั้นเครื่องพวกนี้ มันจะมีส่วนประกอบหลัก ๆ ง่าย ๆ ทั้งหมด 2 อย่างคือ อุปกรณ์สำหรับการนำอากาศเข้า และ อุปกรณ์สำหรับกรองอากาศ

การทำงานก็คือ ส่วนที่นำอากาศเข้าสู่เครื่องก็จะดูดอากาศเข้าไปในเครื่อง ให้อากาศไหลผ่านอุปกรณ์สำหรับกรองอากาศ เมื่ออากาศมันผ่านอุปกรณ์สำหรับกรองอากาศไปแล้ว สิ่งที่เราได้ ก็ควรจะเป็นอากาศที่สะอาดนั่นเอง ซึ่งปริมาตรของอากาศที่ไหลผ่านอุปกรณ์กรองอากาศออกไปนี่แหละ เราเรียกว่า CADR (Clean Air Delivery Rate) มันจะมีหน่วยเป็น CFM (Cubic Feet per Minute) หรือ CMM (Cubic Meter per Minute) ตามชื่อเลย ขึ้นกับว่า เราจะใช้หน่วยในระบบ Imperial หรือ Metric แต่ส่วนใหญ่จะใช้แบบแรกมากกว่า ในการวัด CADR ดังนั้น ค่า CADR เป็นแค่ค่าที่บอกว่า อากาศที่ไหลผ่านอุปกรณ์กรองอากาศมันมีปริมาณเท่าไหร่ต่อนาทีเท่านั้น ไม่ได้บอก ประสิทธิภาพในการกรองแต่อย่างใดเลยนะ อย่าสับสน

ทีนี้ อุปกรณ์ที่นำอากาศเข้าสู่เครื่อง ส่วนใหญ่ ๆๆๆๆ หรือทั้งหมดสำหรับเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน ก็น่าจะใช้พัดลมนี่แหละ มีใบพัดอยู่หลังส่วนของอุปกรณ์กรองอากาศ เพื่อดูดอากาศให้ผ่านอุปกรณ์กรองอากาศ อย่างในเครื่องยอดนิยม อย่าง Xiaomi ทั้งหลาย เราก็จะใส่อุปกรณ์กรอง ในที่นี้คือ ไส้กรอง ไว้ด้านล่าง แล้วพัดลมก็จะดูดอากาศผ่านรูตรงกลางของไส้กรอง ทำให้อากาศมันจะโดนบังคับผ่านไส้กรอง แล้วก็จะได้อากาศที่ฟอกเสร็จแล้วออกมานั่นเอง

ดังนั้น ความสามารถในการนำอากาศมากรอง ก็จะขึ้นอยู่กับพัดลม หรืออุปกรณ์สำหรับนำอากาศเข้าล้วน ๆ เลย นอกจากนั้น ยังมีผลต่อเรื่องเสียงด้วย พัดลมบางตัว มันออกแบบมาไม่ดี ทำให้มันมีเสียงดัง แล้วเราจะต้องเปิดตลอดเวลา มันดังมาก ๆ ก็น่ารำคาญอยู่เนอะ

และอีกชิ้นส่วนคือ อุปกรณ์กรอง นี่แหละ ในตลาดเราตอนนี้มีเยอะมาก ๆ หลายแบบมาก ๆ แต่ส่วนใหญ่ เราจะเห็นอยู่ทั้งหมด 3 แบบด้วยกัน เราค่อย ๆ มาดูกันทีละแบบดีกว่า

HEPA Filter

เครื่องฟอกอากาศที่ใช้ HEPA Filter เราว่า น่าจะเรียกว่าเป็น Gold Standard ในการกรองอากาศเลยก็ว่าได้ หลักการของมันง่าย ๆ เลยคือ การที่เราทำไส้กรองที่มีรูเล็ก ๆ เพื่อให้ฝุ่นขนาดที่ใหญ่กว่ารูบนไส้กรองมันผ่านไปไม่ได้นั่นเอง

ซึ่งตามมาตรฐานของ HEPA ถ้าไส้กรองมีมาตรฐานนะ มันควรจะกรองอนุภาคในอากาศเล็กสุด 0.3 ไมครอน ดังนั้นพวก PM2.5 ที่ขนาด 2.5 ไมครอน ไม่ได้เป็นปัญหากับการดึงอนุภาคที่เราคิดว่าเป็นปัญหาออกไปเลย แต่อนุภาคที่เล็กกว่านั้น เช่น พวกสารเคมี กลิ่น และ ไวรัส ก็จะเกมนะ เช่น Covid ที่เรากลัวกัน ขนาดมันอยู่ที่ 50-140 nm เท่านั้น ห่างไกลกับคำว่า ไมครอน อีกนะ (0.001 micron = 1 nm) แต่พวกแบคทีเรีย ถ้าตัวใหญ่ ๆ หน่อยก็อาจจะกรองได้ก็ได้นะ พวกนั้นขนาด 1-2 micron ได้ก็ชิว ๆ

แต่ ๆ HEPA มันก็มีชนชั้นของมันอีก เพราะมันมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน ประสิทธิภาพในการกรองตั้งแต่ H10-H14 โดยเลขยิ่งเยอะ ก็ยิ่งมีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีก เช่น H11 ประสิทธิภาพควรจะอยู่ที่ 95% แต่ H14 ไปถึง 99.995% จะเห็นว่ามันต่างกันเยอะมาก ๆ นะ ในท้องตลาดตัวแพง ๆ ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ H14 ซะเยอะแหละ ยิ่งแพงก็ยิ่งดี ฮ่า ๆ

เวลาเราเห็นพวก HEPA Filter ส่วนใหญ่ เราจะเห็นว่า เขาจะทำการพับ ๆ Filter เป็นซี่ ๆ ไปเรื่อย ๆ จริง ๆ แล้ว Filter มันก็เป็นแผ่น ๆ นี่แหละ แต่การที่เขาพับเป็นซี่ ๆ ถี่ ๆ เพื่อให้มันมีพื้นที่ผิวมากขึ้น ให้อากาศไหลผ่านได้มากขึ้น

นอกจากนั้น HEPA Filter บางตัวยังเพิ่มคุณสมบัติพิเศษเข้ามาอีก เช่น การเคลือบพวกสารสำหรับกำจัดแบคทีเรีย เพราะปัญหาของ HEPA คือ มันไม่สามารถจัดการกับพวกไวรัส ไม่ได้แน่ ๆ แต่ แบคทีเรีย มันกรองได้ก็จริง แต่มันก็จะไปติดอยู่ที่ไส้กรอง สุดท้าย มันก็จะขยายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ แล้วอาจจะส่งผลกระทบกับเราได้ หรือถ้ามันยังไม่เติบโต ขยายพันธุ์ เวลาเราดึง Filter ออกมา มันก็จะอยู่บนนั้นแหละ มันก็อาจจะปนเปื้อนมาที่เราได้ ทำให้เขาเคลือบสารพิเศษสำหรับฆ่าแบคทีเรียมาให้นั่นเอง

หรือจะเป็นพวก การกำจัดสารต่าง ๆ เช่น Formaldehyde ที่เราจะเจอเยอะ ๆ เวลาบ้านทาสีเสร็จใหม่ ๆ นั่นแหละ อันนี้เขาก็จะใช้พวกสารเร่งปฏิกิริยา ตัว Formaldehyde สูตรทางเคมีมันคือ CH2O (ขออภัย ไม่สามารถใช้ตัวเลขห้อยได้) รวมกับออกซิเจน O2 ในอากาศ มันก็จะมีการใช้ตัวเร่ง เช่นกลุ่มที่เป็น เงิน หรือ Dyson เขาบอกว่าเขาใช้ Cryptomelane เป็นสารประกอบตัวนึง กระบวนการพวกนี้คือ เมื่อ Formaldehyde ผ่านไป มันจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมี เปลี่ยน Formaldehyde ให้กลายเป็นสารประกอบที่อันตรายน้อยลง หรือ ไม่อันตรายแทน เช่น Dyson เปลี่ยนเป็น น้ำ และ Carbon Dioxide แทน แต่ไม่ต้องกลัวว่า โหยย จะมีน้ำออกมาจากเครื่องนะ มันไม่ได้เยอะขนาดนั้นเนอะ

บางเจ้าสนุกกว่านั้นอีกคือ การเคลือบสารที่ทำให้เกิดประจุ ที่ทำให้อนุภาคในอากาศที่อาจจะมีขั้วหน่อย เข้ามาจับได้ง่ายขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับไส้กรองด้วย

ดังนั้นส่วนใหญ่แล้ว ลูกเล่นที่เราเห็นเล่นกันเยอะ ๆ กับเครื่องฟอกอากาศที่ใช้ HEPA Filter ก็คือ การเคลือบสารที่แก้ปัญหาต่าง ๆ ลงไปเช่น การกำจัดแบคทีเรีย แต่สุดท้ายแล้ว มันจะย้อนกลับมาที่เดิมที่ว่า เราจะต้องมีการเปลี่ยน Filter และเมื่อเราใช้งาน Filter ไป มันก็จะสะสมฝุ่นเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ประสิทธิภาพมันต่ำลงไปเรื่อย ๆ อีก วิธีแก้คือ เราก็ซื้อ Filter อันใหม่มาเปลี่ยน

ประจุ Ion

อีกหลักการที่เครื่องกรองอากาศใช้กัน ที่เขาชอบเรียกว่า มันใช้การปล่อยประจุไอออนออกมา หรือภาษาอังกฤษ เราเรียกว่า Ioniser Air Purifiers

โดยผู้เล่นใหญ่ ๆ ในโลกที่เราเห็นชัด ๆ ว่าเขาค่อนข้างภูมิใจกับเทคโนโลยีนี้มาก ๆ คือ Sharp จนมีโฆษณา Sharp Plasmacluster

หลักการของมันง่าย ๆ คือ การให้ปล่อยประจุลบผสมในอากาศ แล้วหวังว่า ประจุลบอันนั้นแหละ มันจะไปเกาะกับอนุภาคในอากาศของเรา มันก็จะหนักแล้วตกลงพื้นไป ทำให้ข้อดีคือ เราไม่จำเป็นต้องซื้อ Filter ใหม่ อย่างมากสุด ๆ เราแค่เปลี่ยนตัวสร้างประจุ ซึ่งมันก็ใช้ไฟฟ้านี่แหละ ไม่ได้ยากอะไร กว่าจะเปลี่ยน เราว่าเป็น 10 ปี ดูจะประหยัดกว่าการใช้ไส้กรองเยอะเลยใช่ป่ะ

แต่.... เอาเข้าจริง ๆ เลยคือ พอฝุ่นตกลงบนพื้น เราเดินไปเดินมา สัตว์เลี้ยงเดิน มันก็จะฟุ้งอยู่เหมือนเดิม และอีกข้อที่น่าสนใจคือ ประจุที่ปล่อยออกมา มันมีความเข้มข้นมากขนาดไหน ถ้ามันน้อยไป มันไปเกาะกับอนุภาคในอากาศ มันก็ไม่หนักพอที่ทำให้หล่นลงพื้น ก็ฟุ้งอยู่ในอากาศเหมือนเดิม

หรือถ้าบอกว่า มันเข้มข้นมาก ๆ พอที่จะทำให้อนุภาคในอากาศมันหล่นได้ มันก็หล่นไม่เลือกที่ ไปหล่นตามบนตู้ โต๊ะอะไรอีก ยังไม่นับว่า การจะทำให้มันเข้มข้นแบบนั้นได้ สิ่งที่จะตามมาคือ Ozone (O3) แน่นอนว่า เป็นพิษกับมนุษย์นะ พีคกว่านั้นอีก ยังมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่า ไอออนลบที่ปล่อยออกมาจากเครื่อง มันอาจจะไปรวมตัวกับสารประกอบบางอย่างทำให้เกิดสารกลุ่ม Formaldehyde ขึ้นมาอีก ก็เลยยังมีความสงสัยกับเทคโนโลยีในกลุ่มนี้อยู่เหมือนกัน

เครื่องฟอกอากาศสมัยใหม่ ก็พยายามเอาหลักการนี้มาเล่นเยอะมาก ๆ เช่น Xiaomi Air Purifier 4 ทั้งหลาย ก็เพิ่ม Feature Ioniser เข้ามาอีก แต่อย่างที่บอก เราก็ยังคงตั้งคำถามกับหลักการอยู่ ยังไม่นับ ประสิทธิภาพในการกำจัดแบคทีเรียและไวรัสอีกนะ เราคือไม่รู้เลย

Electrostatic precipitator

ตัวสุดท้ายคือ Electrostatic precipitator อันนี้เราจะเห็นใช้กันในพวกปล่องควันของโรงงาน หรือ ระบบกรองอากาศขนาดใหญ่ ๆ เท่านั้นแหละ จนกระทั่งมาเห็น AirDog เอามาใช้กับบ้านนี่แหละ ก็ดี ๆ

หลักการของมันคือ การชาร์จอนุภาคในอากาศด้วยไอออนลบเหมือนกับพวกการปล่อยประจุ Ion เมื่อกี้เลย อาจจะให้อากาศวิ่งผ่านสนามไฟฟ้าไป แล้วไปผ่านพวกกล่องเก็บ หรือวัสดุสำหรับการจัดเก็บต่าง ๆ โดยที่มันจะมีขั้วแม่เหล็กที่ตรงข้ามกัน อนุภาคที่มีอีกขั้วมันก็จะไปติดกับวัสดุสำหรับการจัดเก็บ ทำให้เหมือนเป็นการกรอง หรือ เอาอนุภาคในอากาศออกไป ส่วนสิ่งที่กรอง มันก็จะอยู่ในวัสดุสำหรับจัดเก็บอนุภาคพวกนั้น เราก็เอาไปจัดการต่อได้

เช่นของฝั่ง AirDog เอง เขาก็จะเรียกว่า TPA Technology "เขาว่า" เขาใช้ม่านไฟฟ้า 40,000V เพื่อให้อนุภาคในอากาศมันมีประจุขึ้นมา แล้วผ่านไปที่กล่องเก็บฝุ่น เขาว่า ม่านไฟฟ้าระดับนั้นสามารถทำให้พวก ไวรัส และ แบคทีเรีย ตายแล้วซากที่มันตายกันแล้วเก็บในกล่องเก็บฝุ่น ที่สุดท้ายเราสัมผัสมัน ด้วยความที่เหลือแต่ซากแล้ว มันก็จะทำอะไรเราไม่ได้แล้ว เติบโตไม่ได้แล้วด้วยตายแล้วอะเนอะ พอมันเต็ม เราก็เอาไปล้างน้ำ ตากให้แห้งแล้วใส่กลับเข้าไปใหม่

กล่องเก็บฝุ่นจาก Airdog X5 ใช้ไป 3 อาทิตย์รู้เรื่องเลยละ

ทำให้ข้อดีของพวกนี้คือ มันไม่มี Filter และ ไม่ได้แคร์ขนาดของอนุภาคมาก อย่างของ Airdog เคลมว่า กรองได้ 0.0146 ไมครอน เพราะมันไม่ได้อาศัยหลักการเจาะรูไง มันใช้ประจุ ดังนั้น ประจุในม่านไฟฟ้า จับใครได้ก็โดนเข้ากล่องเก็บไปแค่นั้น เหมือนเป็นการเอาเทคโนโลยีการกรองอากาศด้วยการปล่อยประจุ Ion มาพัฒนาต่ออะ แทนที่จะหล่นลงพื้น เราก็ทำให้มันเก็บอยู่ในกล่องแล้วเอาไปล้างเลยสิ

แต่ ๆๆๆๆๆๆๆๆ ปัญหาเดิมเลยคือ การที่เราให้อากาศที่มีออกซิเจน ผ่านม่านไฟฟ้าที่มีกำลังสูงขนาดนั้น เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ที่จะทำให้โมเลกุลของออกซิเจนแตกออกจากกัน รวมกับออกซิเจนเพื่อนบ้านกลายเป็น Ozone (O3) ที่เป็นพิษกับมนุษย์อีก ซึ่งเราสามารถแก้ได้ด้วยการเอาไปผ่านชั้นที่เป็น Activated Carbon ได้ ยังไม่นับว่า ถ้าเราจะสเกลใช้งานในระบบขนาดใหญ่ ม่านไฟฟ้านั่นก็ต้องมีกำลังมากเพียงพอในการทำให้อนุภาคที่ไหลผ่านมันเกิดประจุให้ได้ ทำให้ระบบใหญ่ขึ้น หม้อแปลง เราก็จะต้องเยอะขึ้น ใหญ่ขึ้นด้วยเล่นกัน และมันกินไฟเยอะกว่าระบบไส้กรองแน่ ๆ

Pre-Filter

เครื่องฟอกอากาศบางตัว หรือ ไส้กรองอากาศบางตัว เขาจะเพิ่มส่วนที่เรียกว่า Pre-Filter ขึ้นมาด้วย ส่วนใหญ่ จะทำมาเป็นลักษณะตะแกรงรูใหญ่ ๆ หน่อย สำหรับการกรองพวกอนุภาคขนาดใหญ่ ๆ เช่น ผมคน, ขนสัตว์ และ อนุภาคขนาดใหญ่อื่น ๆ เป็นเหมือนด่านแรกก่อนที่จะไปที่ส่วนอื่น ๆ ลดภาระการทำงานของการกรองในขั้นตอนถัดไปไป ซึ่งภาพที่คนมักจะเห็นฝุ่นกันเยอะ ๆ มันก็จะเกาะอยู่ในชั้น Pre-Filter นี่แหละ

ยกตัวอย่างเช่น ไส้กรองของ Xiaomi เขาจะเอาตะแกรงพลาสติกมาพันรอบ Filter ก่อนตรงนั้นแหละ เรียกว่า Pre-Filter

หรือเครื่องฟอกบางเครื่อง เขาก็จะมีแผ่น Pre-Filter แยกออกมาเลย เช่น Airdog X5 เรา หรือพวก Blueair เขาก็จะมีเป็นแผ่นให้เราสามารถถอดเพื่อเอาไปล้างได้เลย

Activated Carbon

Activated Carbon Layer

ก่อนหน้านี้ เราพูดถึงส่วนที่กรองพวกอนุภาคไปละ เรายังไม่ได้พูดถึงกลิ่น และ แก๊สบางชนิดเลย ซึ่งก็เป็นมลพิษทางอากาศประเภทหนึ่งเหมือนกัน เป็นของที่พวกไส้กรองอากาศที่เราคุยกันก่อนหน้าไม่ได้ช่วย ดังนั้นมันจะต้องมีอะไรบางอย่างเข้ามาช่วยละ

วัสดุหนึ่งที่เราใช้กันมานานในการดูดซับกลิ่นต่าง ๆ กันมานานมาก ๆ คือพวก ถ่าน ทั้งหลาย ซึ่งถ่านพวกนี้ มันก็จะผลิตจากไม้ แล้วเอาไปเผาในอุณหภูมิสูง ๆ มันก็จะกลายเป็นสีดำ จนได้ถ่านสำหรับเอาไปเผาเพื่อเป็นเชื้อเพลิง

แต่ลักษณะทางโครงสร้างของมันก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน มันทำให้รูมันเล็กลง และมีรูเยอะขึ้น ลักษณะแบบนี้เลยทำให้มันมีประจุที่เป็นลบ ซึ่งดึงดูดโมเลกุลที่เป็นประจุบวกเข้าหา ทำให้พวก โมเลกุลต่าง ๆ ในอากาศที่ทำให้เกิดกลิ่นเอย หรือ แก๊สบางตัวเองก็จะเข้าไปติดในรูนั่นแหละ ทำให้มันออกไปจากอากาศนั่นเอง

ถ้าเราอยากจะให้มันทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราก็จะต้องทำให้ตัว Activated Carbon มันมีพื้นที่ผิวมากขึ้นเหมือนกับ HEPA Filter เลย สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือ การเอาไปบดให้ละเอียด แต่ ๆ การบดให้ละเอียดมาก ๆ มันก็ต้องมากับความยากในการกรองไม่ให้ตัวถ่านมันหลุดออกไปอีกเหมือนกัน การ Balance ระหว่างพื้นที่ผิว และ การกักกัน เลยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ สำหรับการทำชั้น Activated Carbon

แต่การทำแบบนั้น มันก็ไม่ได้เป็นการ กำจัด สารหรือแก๊สที่เป็นอันตรายซะทีเดียว เราแค่เก็บมันในรู ๆ เล็ก ๆ ของ Activated Carbon เท่านั้นเอง ทำให้สุดท้ายแล้ว เราก็จะต้องเอาของพวกนั้นออก ส่วนใหญ่ เราก็จะเอาไปโดนพลังงานเข้าไป และคลายสารประกอบที่อยู่ในรูออกมา เช่นของ Airdog เองบอกให้เอาไปตากแดด แต่ของเจ้าอื่น ๆ เอง ใน Filter เขาจะมีชั้นที่เป็น Activated Carbon สำหรับกรองกลิ่นเหมือนกัน แต่ Filter พวกนี้ เราก็ใช้แล้วทิ้ง เลยไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการคลายสารประกอบพวกนี้ออกไปสักเท่าไหร่

สุดท้ายแล้วจริง ๆ Activated Carbon มันไม่ได้กรองแก๊ส และ กลิ่นไม่พึงประสงค์เท่านั้นนะ แต่มันดูดทุกอย่างจริง ๆ แม้แต่สิ่งที่เราคิดว่า มันพึงประสงค์เช่น น้ำหอมเป็นต้น

ถามว่า Activated Carbon มันกำจัดสารอันตรายได้ขนาดไหน มันถูกเอามาใช้กับพวก Filter ของหน้ากากกันแก๊สทั้งหลายนี่แหละ ข้างในมันก็คือ HEPA Filter และชั้น Activated Carbon ปกติเลย ถ้าเราดูที่ความละเอียดของ Activated Carbon เราจะเห็นได้เลยว่า มันไม่ได้ละเอียดมากเท่าไหร่ ไม่งั้นถ้าเกิดคนใช้สูดเข้าไปนี่ไม่สนุกแน่นอน และพวกนี้เวลาเราหายใจเข้าในอากาศมันมีความชื้นอยู่ ใช้ไป Carbon มันก็จะชื้นมากขึ้น ถ้าเราทำให้ละเอียดเกินไป มันก็จะมาเกาะจนทำให้ตัน ก็หายใจไม่ออกอีก น้อยเกินก็ประสิทธิภาพไม่ดีอีก

สรุป

เครื่องกรองอากาศส่วนใหญ่ ๆ ในท้องตลาดเลย เขาจะใช้อยู่ทั้งหมด 3 หลักการในการเอาอนุภาคออกจากอากาศคือ HEPA Filter, การปล่อยประจุลบ และ Electrostatic precipitator โดยวิธีการที่เป็น Gold Standard จริง ๆ ก็น่าจะหนีไม่พ้น HEPA Filter ที่เครื่องส่วนใหญ่จะใช้งานกัน ขึ้นกับคุณภาพของ Filter แล้วละว่าจะอยู่ในเกรดไหน แต่ละวิธีการก็มีข้อดี และข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นกับการใช้งานของเราเลย แต่วิธีที่ส่วนตัวเรามองว่ามันน่าสนใจคือ Electrostatic precipitator ที่ Airdog ขยับสเกลมาใช้งานในบ้านทั่ว ๆ ไปมาก และในส่วนของการกรองแก๊สและกลิ่นต่าง ๆ เราก็จะใช้กันอยู่อย่างเดียวคือการใช้ Activated Carbon เข้ามาช่วย ทั้งหมดนี่ก็คือหลักการเบื้องหลังของเครื่องฟอกอากาศต่าง ๆ ว่ามันทำงานยังไง ใช้อะไรในการเอาอนุภาค และสิ่งต่าง ๆ ออกจากอากาศเพื่อให้เราได้สูดอากาศคุณภาพดี ๆ จากสภาวะแวดล้อมที่เ_ย ๆ ก็หวังว่า คุณภาพอากาศในไทยเราจะดีขึ้นในเร็ววัน (ถ้ารัฐลงมาแก้ไขจริงจังอะนะ)

Read Next...

เจาะลึกเบื้องหลังการทำงานของ กันแดด ทำไมมีหลายแบบ จะเลือกอย่างไร

เจาะลึกเบื้องหลังการทำงานของ กันแดด ทำไมมีหลายแบบ จะเลือกอย่างไร

ถ้าต้องให้เลือก Skin Care แค่อย่างเดียวเราะจะเลือกอะไร เราคงตอบได้อย่างรวดเร็วว่า กันแดด แน่นอน แต่ถ้าเราลองไปดูกันแดดในท้องตลาดบ้านเรา มันมีเยอะมาก มีหลายประเภทสารพัด วันนี้เรามาเล่าให้อ่านกันในเชิงวิทยาศาสตรดีกว่าว่า มันมีแบบไหน และ แบบไหนเหมาะอะไรกับใครบ้าง...

มันจะไม่มีอีกแล้วหมาล่าแดง ๆ กับ Sudan Red

มันจะไม่มีอีกแล้วหมาล่าแดง ๆ กับ Sudan Red

เราอ่านข่าวเจอเรื่องการที่ไตหวันพบการแพร่ระบาดของการผสมสีอย่าง Sudan Red ลงไปในเครื่องปรุงต่าง ๆ โดยเฉพาะพริก และพวกผงหมาล่าที่นำเข้าจากประเทศจีน วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า สรุปแล้วเรื่องมันเป็นอย่างไร และ สีเจ้าปัญหาอย่าง Sudan Red มันเป็นอันตรายต่อมนุษย์อย่างไร...

Perfume Science 101: ทำไมน้ำหอมถึงมีกลิ่น ?

Perfume Science 101: ทำไมน้ำหอมถึงมีกลิ่น ?

ช่วงนี้เราอินกับ น้ำหอมมาก ๆ เรื่องที่เราคิดว่าน่าใจมาก ๆ สำหรับ เราที่สนใจน้ำหอม และวิทยาศาสตร์คือ วิทยาศาสตร์เบื้องหลังของน้ำหอม มันมีอะไรมากกว่าที่เราคิดมาก ๆ ทำไมกลิ่นนี้ทำให้เรารู้สึกแบบนี้ หรือเรื่องที่เรามา Cover กันในวันนี้คือ ทำไมน้ำหอมถึงมีกลิ่น ?...

Organic ธรรมชาติแท้ ไม่มีคำปลอบใจ

Organic ธรรมชาติแท้ ไม่มีคำปลอบใจ

บทความนี้เกิดจาก เราตั้งคำถามว่า ทำไมเราจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคำเคลมว่า ผลิตจากธรรมชาติ เป็นพวกนั่นนี่ Organic หรือจริง ๆ แล้วมันเป็นแค่ การตลาดวันละคำกันแน่นะ งั้นเรามาคุยเรื่องนี้กันให้ลึกขึ้นดีกว่า ผ่านเลนส์มุมมองของวิทยาศาสตร์...