Science

คนเราสังเคราะห์ด้วยแสงได้ด้วยเหรอ ตากแดดแล้วได้วิตามิน D ได้ยังไง

By Arnon Puitrakul - 25 มกราคม 2023

คนเราสังเคราะห์ด้วยแสงได้ด้วยเหรอ ตากแดดแล้วได้วิตามิน D ได้ยังไง

ตอนเด็ก ๆ เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องแปลก ๆ ที่ว่า เด็ก ๆ ออกไปตากแดดนะ จะได้วิตามิน D หรือไม่ก็เป็นข้ออ้างที่คุณครูให้บอกให้เด็ก ๆ เข้าแถวตากแดดตอนเช้า และคุณครูเดินเข้าร่มไป จะได้วิตามิน D นะ มันดีนะ วันนี้เรามาดูกันดีกว่า มันทำได้จริงมั้ย และ มันเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง

ปล. อันนี้เราเล่าจากที่เราจำได้ ตอนอ่านสัก Review นึงเมื่อนานมาแล้ว ตลกมากที่อยู่ ๆ ก็นึกออกขึ้นมา

วิตามิน D คืออะไร ?

วิตามิน D จริง ๆ ก็เป็นวิตามินตัวนึงที่ร่างกายเราต้องการ โดยที่เจ้าวิตามินตัวนี้มันจะเป็นพวกที่ละลายได้ในไขมัน ถ้าเราจำกันได้ ตอนมัธยมคุณครูก็จะสอนว่า ADEK ละลายในไขมัน ส่วน BC ละลายในน้ำ ดังนั้น ถ้าเจอน้ำดื่มวิตามิน D ก็น่าจะเอ๊ะ ๆ งง ๆ กันบ้างไม่มากก็น้อย จริง ๆ เขาอาจจะผสมอะไรบางอย่างลงไปก็ได้นะที่ทำให้มันละลายได้มั้งนะ ไม่รู้เหมือนกัน

ซึ่งร่างกายคนเราจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาวิตามิน D ในการทำงานหลาย ๆ ส่วน แต่หลัก ๆ เลย จะเป็นเรื่องของการ ดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น นั่นนำไปสู่การลดความเสี่ยงการเป็น Osteoporosis (โรคกระดูกพรุน) และ Osteopenia (โรคกระดูกบาง) หรือจะเป็นกลุ่มฮอร์โมนอย่าง Seratonin ที่เราเรียกชื่อบ้าน ๆ กันว่า ฮอร์โมนแห่งความสุข นำไปสู่การลดความเครียด และ ต้านภาวะซึมเศร้า สุดท้ายคือ การช่วยควบคุมความดันเลือดของเราให้อยู่ในระดับปกติ

เราจะเห็นว่า วิตามิน D ช่วยเราได้ในหลาย ๆ เรื่องจริง ๆ มันเป็นวิตามันอีกตัวที่สำคัญมาก ๆ ถามว่า แล้วเราจะทำยังไงละ ถึงเราจะได้วิตามิน D อันนี้มา คำตอบก็จะเหมือนกับวิตามินอื่น ๆ เลย คือ การกิน ถ้าเราจำได้ก็คือ พวก นม น้ำมันตับปลา เห็ด (ใช่ มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถสังเคราะห์วิตามิน D เองได้เหมือนกับเราเลย) และพวกปลาทู ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ก็จะมีให้เราหมดเลย แต่จริง ๆ แล้วในมนุษย์เรา ที่มาของวิตามิน D จากอาหารจริง ๆ มีไม่ถึงครึ่งเท่านั้น ที่เหลือตามชื่อเรื่องบอกเลยว่า เกิดจากแสงแดด ใช่แล้ว เราสังเคราะห์วิตามิน D ด้วยแสงแดดได้ด้วย

เราสังเคราะห์วิตามิน D เองยังไง ?

อ่านดูครั้งแรก เราว่าหลาย ๆ คนน่าจะคิดว่า จะบ้าเหรอ คนเราเนี่ยนะ สามารถสังเคราะห์อะไรบางอย่างจากแสงแดดได้ คนนะเว้ย ไม่ใช่ต้นไม้ ไม่ใช่ Solar Cell ใช่ ฮะ เรื่องจริงเลอ เรามาดูกลไกการทำงานของมันดีกว่า ว่า มันเกิดอะไรขึ้น มันแปลงมาเป็นวิตามิน D ให้เราได้อย่างไรบ้าง

เรื่องทั้งหมด เริ่มเกิดเมื่อผิวหนังของเราออกไปรับแสงแดด ยามอะไรก็ว่าไปเถอะ จะเช้าสายบ่ายเที่ยง แต่ไม่ใช่กลางคืนแน่ ๆ ตัวแสงแดด จะสาดเข้าไปที่ผิวของเรา ซึ่งมันทะลุผ่านไปลงไปเจอ 7-Dehydrocholesterol มันเป็น Cholesterol ประเภทหนึ่งที่อยู่ใต้ผิวของเราทุกคนเลย มันจะมีการทำปฏิกิริยา เพราะแสงแดด มันมีรังสี UV ไปกระตุ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนไป Previtamin D และเปลี่ยนไปเป็น Cholecalciferol หรือบ้าน ๆ เราเรียกว่า วิตามิน D3 แค่นี้เลย มันก็จะไปรวมกับพวกวิตามิน D ที่เรากินเข้าไป อาจจะเป็นพวก D2 และ D3 ได้หมดเลย

แต่ ๆ แค่นี้ร่างกายเราเอาไปใช้งานตรง ๆ เลยไม่ได้ มันจะต้องมีการแปลง หรือ การเปลี่ยนรูปของมันก่อน โดยขั้นตอนนี้จะเริ่มจาก Enzyme ตัวนึงที่อยู่ในตับชื่อว่า 25-hydroxylase ทำให้มันกลายเป็น 25-hydroxyvitamin D3 หรือเราเรียกกันว่า Calcidiol หน้าที่ของมันก็คือ การเติมหมู่ Hydroxyl เข้าไป ทำให้โครงสร้างมันก็จะเปลี่ยนไปเป็นแบบในรูปด้านบนเลย

จากการที่ Calcidiol มันเป็นวิตามิน D ที่ร่างกายใช้งานได้แล้ว หรือพูดง่าย ๆ คือ ร่างกายเราติดอาวุธ พร้อมใช้งานแล้ว เลยทำให้ทางการแพทย์ เราจะวัดว่ามีวิตามิน D อยู่มากเท่าไหร่ เราพร่องวิตามิน D มั้ย เราก็จะทำการวัดปริมาณ Calcidiol ในเลือดของเรา

แต่มันก็ยังใช้งานจริงไม่ได้ มันจะต้องวิ่งกลับไปที่ไตของเรา มันจะไปเจอกับ Enzyme ตัวนึงชื่อว่า 1alpha-Hydroxlase ทำหน้าที่เหมือนกับในตับของเราเลยคือ การเติมหมู่ Hydroxyl เข้าไป แต่อยู่คนละตำแหน่งกัน มันก็จะได้ออกมาเป็น 1,25-hydroxyvitamin D3 ตัว 1,25-hydroxy ที่อยู่ด้านหน้าก็เป็นการบอกว่า มันมีการเติมหมู่ Hydroxy เข้าไปที่ขา 1 และ 25 ชื่อบ้าน ๆ ของเจ้านี่ก็คือ Calcitriol อันนี้แหละที่เป็นวิตามิน D ที่พร้อมใช้งานแล้ว

สุดท้าย มันก็จะไปจับกับ VDR หรือ Vitamin D Receptor เป็นเหมือนขาที่อยู่บนผิวของเซลล์บางชนิด เมื่อ Calcitriol ไปเกาะมันก็จะเกาะได้พอดี แล้วเริ่มกระบวนการอะไรบางอย่าง

โดยสรุป การที่เราจะสังเคราะห์วิตามิน D ได้ เราจะต้องใช้ส่วนประกอบ 2 อย่างด้วยกัน คือ รังสี UV และ 7-Dehydrocholesterol ที่เราเล่าไปตอนแรกสุดเลย ทำให้ ถ้าเราออกไปรับแดด ก็จะทำให้เราได้รับวิตามิน D นั่นเองงงงงง

ถ้างั้น เราออกไปแช่ นอนอาบแดด มันทุกวันเลยมั้ย เราจะได้วิตามิน D เป็นล้านเลยเหรอพี่ !!!!

ถ้างั้น การที่คุณครูอ้างให้เราไปเข้าแถวกลางแดด มันก็เป็นเรื่องจริงละสิ เอ่อออออ ทั้งจริงและไม่จริงละกัน จริง ๆ ต้องบอกว่า มันต้องมีความพอดี อะไรที่มันมากไปมันก็ไม่ดีเนอะ ใช่ การที่เราโดนแดด ทำให้เราได้วิตามิน D แต่ในแดด มันมีอะไรมากกว่านั้น

ในแสงแดดที่เราเห็น สิ่งที่หลาย ๆ คนกลัว คือ รังสี UV หรือ Ultraviolet บางคนเรียกแสงเหนือม่วง เป็นรังสีที่มีความยาวคลื่นต่ำกว่าแสงที่เรามองเห็นซะอีก คือช่วง 100-400 nm ทำให้ มันมีพลังงานสูงกว่าแสงที่เรามองเห็น โดยเราจะแบ่งช่วงออกเป็น 4 ช่วงด้วยกัน Vacuum-UV (1-200 nm), UV-C (200-280 nm), UV-B (280-315 nm) และ UV-A (315-400 nm)

ความโชคดีของโลกเรา ไม่ก็การที่โลกเรามีเราขึ้นมาได้ เพราะ UV-C ที่มีความยาวคลื่นสั้นที่สุด อันตรายที่สุด เข้าถึงโลกเราน้อยกว่า 1% ของแสงทั้งหมดที่ลงมาเท่านั้น เพราะมันถูก Ozone ดูดซับไว้หมดแล้ว เยอะขึ้นมาหน่อยคือ UV-B ประมาณ 5% และ สุดท้าย UV-A ประมาณ 95% ไปเลย แต่ไม่ว่าจะ UV อะไร เราก็จะบอกว่า ถึงแม้ว่าวันที่ฟ้าครึ้ม ๆ คล้ำ ๆ มันก็ยังมี และมันทะลุผ่านเมฆ ผ่านเสื้อผ้าของเราได้ หมด ดังนั้น ถ้าเห็นไม่มีแดดตอนกลางวัน แล้วเห็นคนกางร่มก็ไม่ต้องไปเสล่อด่าเขาเนอะ เขาป้องกันตัวเองถูกแล้วค่าาาาา

ซึ่งเราจะบอกว่า พวกรังสี UV มันก็ไม่ได้ให้แต่คุณเท่านั้น มันให้ โทษ ด้วยนะ ถ้าเราโดนแดดนาน ๆ เราก็น่าจะเห็นได้จากตอนไปทะเล โดยเฉพาะคนจากฝั่งตะวันตก ไปนอนอาบแดดมาแล้ว ผิวแดง คล้ำ นั่นก็เพราะมันโดนจนไหม้นั่นเอง ยังทำให้เกิดพวกริ้วรอยต่าง ๆ และ ที่สำคัญมาก ๆ คือ มันมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ด้วย อาจจะเป็นเพราะมันเป็นรังสี มันเลยทะลุเข้าไปจนทำให้ DNA ของเราเกิดความเสียหาย หรือความผิดปกติขึ้น ก็อาจจะ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งได้เหมือนกัน

ร่างกายของคนเรา มันก็จะมีกลไกในการป้องกันผลลัพธ์ที่ไม่ดีจากการโดนแดด ด้วยการสร้างสารเม็ดสีอย่าง Melanin นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เรามีสีผิวเข้มขึ้น เลยทำให้ถ้าเราไปโดนแดดกันเยอะ ๆ ร่างกายมันรู้ละ ว่าชิบหายแน่ งั้นพยายามทำให้อยู่รอดละกัน ก็สร้างเม็ดสีซะเลย แน่นอนว่า การทำแบบนี้ ก็ทำให้ UV ทุกประเภทเข้าถึงผิวของเราได้ยากขึ้นด้วยเช่นกัน

แต่ตัว UV ที่เราใช้เป็นส่วนประกอบในการสังเคราะห์วิตามิน D คือ UV-B ซึ่งมีแค่ 5% เท่านั้น และวัน ๆ นึงเราไม่ได้จำเป็นต้องการมันเยอะมากเท่าไหร่ ตัว UV-B ในแสงแดด มันก็จะแปรผันไปตามช่วงเวลาของวัน ทำให้ช่วงวันที่มันน่าจะรับแสงเพื่อสังเคราะห์วิตามิน D ได้ดีที่สุด ก็น่าจะเป็นช่วงเช้า ๆ แดดอ่อน ๆ ไม่ใช่แดดประเทศไทยตอน 8 โมงเช้าค่าาาาาาา จากจะได้วิตามิน D มันจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังแทนแล้ว

การป้องกันตัวเองจาก UV

ในเมื่อของพวกนี้ เราไม่ต้องการเยอะ มีมากไปก็อันตราย เราจำเป็นจะต้องมีวิธีในการป้องกันด้วยเช่นกัน เช่น เสื้อผ้าบางชนิดเขาจะใช้ผ้าที่มันมีคุณสมบัติสะท้อน UV ได้ หรือร่มบางตัวที่ใช้ผ้าใบในคุณสมบัติเดียวกัน ก็ได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่หลาย ๆ คนแนะนำก็คือการใช้ครีมกันแดด เราน่าจะเคยได้ยินค่า SFP และ PA มาก่อน ค่าพวกนี้เป็นค่าที่บอกการป้องกันจากรังสี UV

SPF (Sun Protection Factor) เป็นค่าการป้องกันรังสี UV-B โดยตัวเลขจะบอกเท่าในการปกป้องผิวจากรังสี UV-B ได้ เช่นเราบอกว่า SFP30 ก็คือ ถ้าเราทาถูกต้อง ใช้ในปริมาณที่กำหนด มันจะปกป้องได้มากกว่าผิวที่ไม่ทาครีมกันแดดได้ 30 เท่า มันไม่ได้เป็นเปอร์เซ็นต์อย่างที่ทุกคนคิด

PA (Protection Grade) เป็นค่าการป้องกันรังสี UV-A โดยเขาจะใช้จำนวนของเครื่องหมายบวก (+) ในการบอกการป้องกัน เขาจะมีตารางบอกอยู่เช่น PA+++ ก็คือ การป้องกันได้มากกว่าปกติ เมื่อเทียบกับผิวที่ไม่ได้ทา 8-16 เท่าด้วยกัน

ดังนั้น ส่วนใหญ่ ถ้าเรามีการออกไปข้างนอกบ้าง เราว่า SFP30-50 และ PA+++ น่าจะเพียงพอกับการใช้งานแล้ว

สรุป

ร่างกายของคนเราสามารถสังเคราะห์วิตามิน D จากแสงแดดได้ เมื่อรวมกับ 7-Dehydrocholesterol ที่อยู่ในผิวของเราเอง แต่เราก็ไม่แนะนำให้ออกไปรับวิตามิน D ตอนเที่ยง ๆ ก็ไม่ใช่เหมือนกัน แทนที่จะได้วิตามิน น่าจะได้มะเร็ง และ ตีนกา แทนก็เป็นได้นะ น่าจะออกไปรับช่วงเช้า ๆ น่าจะกำลังดีกว่ามาก

Read Next...

เจาะลึกเบื้องหลังการทำงานของ กันแดด ทำไมมีหลายแบบ จะเลือกอย่างไร

เจาะลึกเบื้องหลังการทำงานของ กันแดด ทำไมมีหลายแบบ จะเลือกอย่างไร

ถ้าต้องให้เลือก Skin Care แค่อย่างเดียวเราะจะเลือกอะไร เราคงตอบได้อย่างรวดเร็วว่า กันแดด แน่นอน แต่ถ้าเราลองไปดูกันแดดในท้องตลาดบ้านเรา มันมีเยอะมาก มีหลายประเภทสารพัด วันนี้เรามาเล่าให้อ่านกันในเชิงวิทยาศาสตรดีกว่าว่า มันมีแบบไหน และ แบบไหนเหมาะอะไรกับใครบ้าง...

มันจะไม่มีอีกแล้วหมาล่าแดง ๆ กับ Sudan Red

มันจะไม่มีอีกแล้วหมาล่าแดง ๆ กับ Sudan Red

เราอ่านข่าวเจอเรื่องการที่ไตหวันพบการแพร่ระบาดของการผสมสีอย่าง Sudan Red ลงไปในเครื่องปรุงต่าง ๆ โดยเฉพาะพริก และพวกผงหมาล่าที่นำเข้าจากประเทศจีน วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า สรุปแล้วเรื่องมันเป็นอย่างไร และ สีเจ้าปัญหาอย่าง Sudan Red มันเป็นอันตรายต่อมนุษย์อย่างไร...

Perfume Science 101: ทำไมน้ำหอมถึงมีกลิ่น ?

Perfume Science 101: ทำไมน้ำหอมถึงมีกลิ่น ?

ช่วงนี้เราอินกับ น้ำหอมมาก ๆ เรื่องที่เราคิดว่าน่าใจมาก ๆ สำหรับ เราที่สนใจน้ำหอม และวิทยาศาสตร์คือ วิทยาศาสตร์เบื้องหลังของน้ำหอม มันมีอะไรมากกว่าที่เราคิดมาก ๆ ทำไมกลิ่นนี้ทำให้เรารู้สึกแบบนี้ หรือเรื่องที่เรามา Cover กันในวันนี้คือ ทำไมน้ำหอมถึงมีกลิ่น ?...

Organic ธรรมชาติแท้ ไม่มีคำปลอบใจ

Organic ธรรมชาติแท้ ไม่มีคำปลอบใจ

บทความนี้เกิดจาก เราตั้งคำถามว่า ทำไมเราจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคำเคลมว่า ผลิตจากธรรมชาติ เป็นพวกนั่นนี่ Organic หรือจริง ๆ แล้วมันเป็นแค่ การตลาดวันละคำกันแน่นะ งั้นเรามาคุยเรื่องนี้กันให้ลึกขึ้นดีกว่า ผ่านเลนส์มุมมองของวิทยาศาสตร์...