Science

กรุ๊ปเลือดบอกนิสัย ? เหรอ ????

By Arnon Puitrakul - 28 ธันวาคม 2022

กรุ๊ปเลือดบอกนิสัย ? เหรอ ????

เมื่อก่อน ตอนเราเด็ก ๆ มันจะมีแบบ การ์ตูนกรุ๊ปเลือด แล้วชอบบอกว่า คนกรุ๊ปเลือดนั้นเป็นแบบนี้ คนกรุ๊ปนี้เป็นแบบนั้น เราก็เชื่อนะ ตอนนั้นก็ไม่ได้ตั้งคำถามอะไร จนกระทั่งโตมา ก็เอ๊ะ นี่กรูฟังเ_ยอะไรมาเนี่ย วันนี้เราจะมา ช๊อตฟีล กัน ด้วยการบอกว่า มันไม่เกี่ยวเ_ยอะไรเลย กับนิสัยและสันดา_ของมึ_ ล้วน ๆ ค่าาาา แต่มันคืออะไรกันละ วันนี้เรามาเล่าให้อ่านกัน

ปล. เราไม่ได้จะโจมตีคนที่ทำการ์ตูนพวกกรุ๊ปเลือดออกมานะ แต่อยากให้ผู้อ่านมีวิจารณญาณในการรับชมด้วย เพราะ เราจะบอกว่า มีคนเข้าใจผิดว่ามันเกี่ยวจริง ๆ นะ ไม่ได้ล้อเล่น จนเอามาเป็นเรื่องเป็นราวแปลก ๆ มาเยอะแล้ว เหมือนจะตลก แต่แมร่งไม่ตลกจริง ๆ

เม็ดเลือดแดง (Red Blood Cell)

ก่อนเราจะไปคุยกันเรื่องของกรุ๊ปเลือด เราพามารู้จักกับตัวละครทีาสำคัญของเรื่องนี้กันก่อน นั่นคือ เม็ดเลือดแดง (Red Blood Cell) มันอยู่เยอะทั่ว ๆ ไปในร่างกายของเราเลย อยู่ตามเส้นเลือดต่าง ๆ ถ้าเราจำที่เรียนกันมาได้ มันทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปตามเซลล์ต่าง ๆ ที่อยู่ในร่างกายของเราผ่านสารที่เกาะอยู่บนเม็ดเลือดแดงชื่อว่า Hemoglobin นั่นทำให้เลือดของเรามีสีแดงนั่นเอง

ถ้าเรามองเม็ดเลือดแดงเป็นรถขนส่งออกซิเจน หน่วยผลิตออกซิเจน ก็เป็นหน้าที่ของปอดเรานั่นเอง เลือดก็จะเข้าสู่หัวใจ แล้วโดนฉีดไปที่ปอด ภายในปอดก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนแก๊สกัน เอาออกซิเจนเข้าไป เอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ทำให้เราต้องหายใจเอาออกซิเจนเข้าไป และ หายใจออกเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป

หน้าตาของเม็ดเลือดแดง ถ้าเรายังจำที่เรียน ๆ กันมาได้ ลักษณะของมันจะคล้าย ๆ กับโดนัท แต่ไม่ได้เจาะรูตรงกลาง เป็นแค่หลุม ๆ ตรงกลางเท่านั้นเอง สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเป็นเพราะ ตัวเม็ดเลือดแดงนางไม่มี Nuclues เพื่อให้ตัวมันเองมีพื้นที่ผิวในการที่จะให้ Hemoglobin จับตัวกับออกซิเจนให้มากขึ้น รวมไปถึงทำให้มันสามารถเข้าไปตามจุดเล็ก ๆ เช่น เส้นเลือดขนาดเล็ก ๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย

ถ้าเราเอาเลือดของเรามาปั่น ๆ จักรยาน ถุ้ย เลือดของเราจะแยกชั้นออกมาเป็น 3 ชั้นด้วยกัน เริ่มจากชั้นบนสุด มันจะเป็นน้ำใส ๆ สีเหลือง ๆ นิดหน่อย บางคนเรียกน้ำเหลืองอะไรเนี่ย (แต่มันคนละอย่างกันนะ) เราเรียกว่า Plasma คิดเป็นประมาณ 55% ของปริมาณของเหลวทั้งหมด ถัดลงมาเป็นพวกกลุ่มของเกล็ดเลือด และ เม็ดเลือดขาว สักเกือบ ๆ 1% ได้ และ ที่เหลืออีกเกือบ ๆ 45% จะเป็นเม็ดเลือด ในความกรุ๊ปเลือดที่เราพูดถึงกัน มันก็จะพูดถึงในของ 2 อย่างด้วยกันคือ Antibody และ Antigen ที่อยู่บน Plasma และ เม็ดเลือดแดงของเรา

Antigen vs Antibody

2 คำนี้เป็นคำที่สร้างความซับสนให้กับหลาย ๆ คนเยอะมาก ๆ หรือกระทั่งเราเองเมื่อก่อนตอนเรียนก็ เอ๊ะ หรือยังไงนะ จำสลับปะ เรามาทำให้มัน Clear กันดีกว่า (เอาละค่าาา กรูว่าตอนนี้เด็ก Immuno รอหยิก_ เราอยู่แน่นอน ถ้าชั้นอธิบายผิด ถถถถ)

Antigen เป็นสารที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเรามันตอบสนอง เช่น ไวรัส และ แบคทีเรียทั้งหลาย พอเราได้รับเข้าไปมันก็จะกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของเราให้ออกมาเต้น แล้วก็จัดการให้กลับสู่สภาวะปกติ

Antibody หรือเราอาจจะเรียกว่า Immunoglobins เป็นสารกลุ่มโปรตีน ที่ร่างกายของเราสร้าง เมื่อตรวจพบ Antigen เข้าสู่ระบบของเรา ซึ่ง Antibody แต่ละตัวมันก็จะมีความพิเศษที่จำเพาะกับ Antigen บางประเภท ฟิล ๆ เหมือนกับ กุญแจ กับ แม่กุญแจอะ เช่น เรามี Antibody ที่จำเพาะกับ สาร A เมื่อมันเจอกับสาร A มันก็จะเข้าไปเกาะได้ ซึ่งอาจจะทำการกำจัด หรือถ้าไม่ได้ มันก็จะทำหน้าที่ล่อเป้า เพื่อให้เซลล์อื่น ๆ ในระบบภูมิคุ้มกันของเราจัดการมันอีกที (เราไม่เล่าเรื่อง Epitope กับ Paratope นะ เดี๋ยวยาว)

จำง่าย ๆ คือ Antibody มีคำว่า Body คือตัวเรา ดังนั้นมันจะต้องสร้างจากตัวเรา เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันเรา ทำให้ Antigen คือสิ่งที่มาติดกับ Antibody เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของเรา

ในการแบ่งกรุ๊ปเลือด เรามีหลายระบบมาก ๆ ถึงประมาณ 40 ระบบกันเลยทีเดียว แต่ระบบที่เราใช้งานกันเยอะ ๆ เพราะมันมีผลในการใช้งานเลือดในหมู่คนจำนวนมากคือระบบ ABO และ ระบบ Rh

ABO System

ระบบการแบ่งกรุ๊ปเลือดที่เราน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอันดับแรก ๆ คือระบบที่เรียกว่า ABO ตัวระบบนี้ มันจะแบ่งตาม Antigen ที่อยู่บนเม็ดเลือด และ Antibody ที่อยู่ใน Plasma ของเรา โดยสนใจที่ A-Antigen, B-Antigen, A-Antibody และ B-Antibody โดยเราจะแบ่งกรุ๊ปเลือดออกเป็น A,B,AB และ O

InvictaHOG, Public domain, via Wikimedia Commons

ถ้าเราดูจากตารางด้านบน เราจะเห็นว่า คนที่มีเลือดกรุ๊ป A ก็คือคนที่มี A-Antigen แต่กลับกัน เขาก็จะมี B-Antibody และเช่นเดียวกับคนที่มีเลือดกรุ๊ป B ก็จะมี B-Antigen และ A-Antibody จะเห็นว่ามันสลับกันโดยสิ้นเชิงเลย นอกจากนั้น มันก็ยังมี คนที่ มี และ ไม่มี Antigen ด้วย นั่นคือกลุ่มของ คนกรุ๊ปเลือด AB ก็จะไม่มี Antibody ใด ๆ แต่มีทุก Antigen กลับกัน กรุ๊ป O ก็จะมี Antibody ทั้ง A และ B เลยแต่ไม่มี Antigen สักตัว

ง่าย ๆ คือ ถ้าเรามี Antibody อะไร เราจะรับเลือดของกรุ๊ปที่มี Antibody นั้น ๆ ไม่ได้ เช่น เราบอกว่า เราเลือดกรุ๊ป A เราก็จะรับเลือดกรุ๊ป B ไม่ได้ เพราะในเลือดกรุ๊ป A มี A-Antigen มันก็จะไปจับกับ A-Antibody ที่อยู่ในเลือดกรุ๊ป B นั่นแปลว่า คนที่มีเลือดกรุ๊ป O ก็จะรับได้แค่กรุ๊ป O กันเองเท่านั้น แต่ให้กับคนที่มีเลือดกรุ๊ปใดก็ได้ เพราะเขาไม่มี A-Antigen และ B-Antigen ในเม็ดเลือด เลย ทำให้เราเลยเรียกเลือดกรุ๊ป O ว่า Universal Donor

กลับกันในคนที่มีเลือดกรุ๊ป AB นางไม่มี Antibody-A และ Antibody-B เลย ทำให้มีความสามารถในการรับเลือดที่มีทั้ง Antigen-A และ Antigen-B หรือจะไม่มีเลยก็ได้ นั่นแปลว่า เขาจะสามารถรับเลือดจากกรุ๊ปไหนก็ได้ในระบบ ABO ทำให้เราเรียกคนที่มีเลือดกรุ๊ปนี้ว่าเป็น Universal Recipients นั่นเอง

Rh System

อีกหนึ่งระบบที่เราใช้งานกันคือระบบ Rh ในตัวนี้ ซับซ้อนน้อยลงหน่อย เพราะเรื่องใหญ่ ๆ ที่เราจะดูคือ เราจะดู การมีอยู่ของ Antigen และ Antibody RhD ที่อยู่ในเม็ดเลือด และ Plasma ของเรา

ซึ่งผลมันจะเป็นไปได้ทั้งหมด 2 แบบด้วยกันคือ Rh Positive (Rh+) และ Negative (Rh-) โดยที่ Rh+ หมายถึงคนที่มี Antigen RhD อยู่ที่เม็ดเลือดแดง แต่กลับกัน คนที่มี Rh- หมายถึงคนที่ในเลือดไม่มี Antigen RhD อยู่

นั่นแปลว่า คนที่เป็น Rh+ สามารถรับเลือดจากทั้ง Rh+ ที่เหมือนกัน และ Rh- ที่ไม่มี Antigen RhD ได้หมดเลย แต่คนที่มีหมู่ Rh- สามารถรับจากเฉพาะคนที่มี Rh- เท่านั้น ซึ่งต้องบอกว่า ประชากรส่วนใหญ่ ก็จะมี Rh+ กันซะเยอะ โดยจากสถิติของประเทศไทยเอง เรียกว่า Rare มาก เพราะเราจะพบคนที่มี Rh Negative 3 คนจาก 1,000 คนเท่านั้น

อย่างที่เราบอกว่า มันเป็นเรื่องของการดู Antigen และ Antibody แค่แต่ละระบบ เราดูต่างตัวกันเท่านั้น ในความเป็นจริง Antigen และ Antibody พวกนี้ มันมีอยู่ด้วยกัน ทำให้ในความเป็นจริงแล้ว เวลาเราจะรับเลือด สมมุติว่า คนที่เป็น Rh- มันไม่ได้หมายความว่า เราจะเอาใครที่เป็น Rh- มาให้เลือดนะ แต่เราต้องดูความเข้ากันได้ในระบบอื่น ๆ ด้วยเช่น ABO System ทำให้คนที่เป็นกรุ๊ป O Rh- นี่คือ หนักมากนะ O ก็รับได้เฉพาะ O ด้วยกัน แล้วยัง Rh- ที่หายากอีก ก็คือหนักเลยละ กับมันจะมีเรื่องของการที่แม่ที่เป็น Rh+ แล้วลูกเป็น Rh- มันก็จะมีการจัดการที่ให้แพทย์ที่ดูแลจัดการเนอะ

แต่ถ้าถามว่า Rh แบบไหน Rare ระดับ SSSSSSSS เลย เราขอยกให้กับ Rhnull อย่างที่เราบอกว่า Rh System เราดูกันที่ RhD Antigen แต่จริง ๆ แล้วในระบบ Rh เราดูทั้งหมด 5 ตัวด้วยกันคือ D, C, E, c และ e คิดว่าการที่ Antigen RhD มันไม่มี มันหายากแล้วใช่มั้ย Rhnull คือ กรุ๊ปเลือดที่ ไม่มี Antigen ทั้ง 5 ตัวในระบบ Rh เลย เท่าที่เคยอ่านมาคือเหมือนทั้งโลกมีไม่ถึง 50 คนเท่านั้นเอง ไม่รู้ว่าตอนนี้เหลือเท่าไหร่แล้ว

Blood Typing

ในเมื่อต่างคน เราต่างมีกรุ๊ปเลือดที่แตกต่างกัน มันมีผลแน่กับการนำเลือดไปใช้ เพราะถ้าเราไม่ตรวจสอบ เวลาเราจะให้เลือด ลองคิดว่า ถ้าเราเลือดกรุ๊ป A ที่ในนั้นมี Antibody B แล้วเราได้รับเลือดกรุ๊ป B ที่มี Antigen B เข้าไป แน่นอนว่า ร่างกายเราจะคิดว่ามันเป็นสิ่งแปลกปลอม ทำให้มันพยายามจะกำจัด นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จนถึงแก่ชีวิตได้เลย

ทำให้มันจะต้องมีการทำ Blood Typing หรือการหาว่า เราเนี่ยเลือดกรุ๊ปอะไร ก่อนการใช้งานเลือดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เราว่าหลาย ๆ คนน่าจะเคยเห็นการทดสอบมาบ้างแล้วละ ลองดูคลิปด้านบนประกอบไปก็ได้

สิ่งที่เขาทำก็คือ การเอาตัวอย่างเลือดนี่แหละ มาหยดลงไปใน Plate ทั้งหมด 3 หยดด้วยกัน จากนั้น เขาก็จะเอา Antibody A,B และ D มาหยดลงไป ถ้าหยดไหนมันมีการเปลี่ยนแปลงเป็นตะกอน แปลว่า ในเลือดตัวอย่างมี Antigen ตัวนั้นอยู่ เช่น เราบอกว่า หยดอันที่เราใส่ A และ D เข้าไปมัน เป็นตะกอน แต่ B ไม่เป็นไร เลย แปลว่า เราเลือด A Rh+

อีกเคส ถ้าเราหยดลงไปแล้วไม่มีอันไหนเป็นตะกอนเลย ก็น่าจะคิดได้เลยว่า น่าจะเป็น O Rh- ใช่มะ เพราะในเลือด ไม่มี Antigen A, B และ D เลย แค่นั้นเลย

กรุ๊ปเลือด VS นิสัย VS อาหาร

โอเค เริ่มเรอะ เราว่า Part นี้แหละน่าจะช๊อตฟิลใครหลาย ๆ คนได้เลยละ เพราะเราจะบอกว่า ยังไม่มีหลักฐานอะไรที่ยืนยันเรื่องความสัมพันธ์ของ กรุ๊ปเลือด กับนิสัย และ อาหาร ทั้งหมดที่เอามาเขียนกันก็คือ อุปโลกน์ กันขึ้นมา เพื่อคุยเล่น ๆ กันในวงสนทนามากกว่า พูดง่าย ๆ คือมันเป็นเรื่องแต่งแหละแล้วอาจจะแมส เพราะมันเข้าถึงง่าย คือเราเข้าใจคนที่เอาเรื่องนี้มาเล่นกันนะ แต่ประเด็นคือ มัน มี คน เชื่อ จริง ๆ โว้ย ส่วนตัวเรามองว่า มันอยู่ที่สันดา_ของมึ_ล้วน ๆ ค่าาา กรุ๊ปเลือดไม่เกี่ยว หรือถ้าใครมีงานวิจัยที่ดูความสัมพันธ์พวกนี้ ลองส่งมาหน่อย อยากอ่านเหมือนกัน

แต่อันที่พูดกันเป็นตุเป็นตะมาก ๆ คือ กรุ๊ปเลือดกับอาหาร อันนี้ฟังครั้งแรกคือ อิ หยัง วะ เท่าที่เราไปลองค้นหามา เขาบอกว่า มันเป็นเทรนการกินอาหารใหม่เลยนะ เขาบอกว่า ในอาหารที่เรากินมันมี เลคติน (Lectin) ที่ทำปฏิกิริยากับหมู่เลือด ส่งผลไปในเรื่องของระบบภูมิคุ้มกันด้วย โอ้โห้ เอาเข้าไป

บอกก่อนนะว่า Lectin นี่มันมีอยู่จริง ๆ นะ มันเป็น Protein ชนิดหนึ่งที่มันจะชอบไปเกาะอยู่กับพวกกลุ่ม Carbohydrates ซึ่งหน้าที่ของมันในคนเรา มันทำหน้าที่หลาย ๆ อย่างมาก ๆ เช่น การสื่อสารระหว่างเซลล์ต่าง ๆ หรือกระทั่งการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของเรา นอกจากนั้น มันยังช่วยเป็นเป้าให้กับการขนส่งยาในร่างกายของเราได้ด้วย [Human Lectins, Their Carbohydrate Affinities and Where to Find Them]

แต่ ๆๆ เราก็ยังหางานวิจัยที่ยืนยันคำเคลมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ กรุ๊ปเลือด และ การเลือกกินอาหารได้จัง ๆ อันเลยนะ กับเราก็ยังคิดไม่ออกจริง ๆ ว่า การมี Antigen A, B และ D กับ Antibody A และ B มันทำให้มีผลต่อ Lactin ได้อย่างไร หรือกระทั่งการบอกหมู่เลือดในระบบอื่น ๆ เองก็เถอะ ก็ยังไม่รู้จะเชื่อมความสัมพันธ์ยังไงเหมือนกัน ดังนั้น ในวันนี้ ด้วยหลักฐานที่ออกมา ณ วันที่เราเขียน เราว่า ถ้าใครจะเชื่อก็เอาเลยฮ่ะ ไม่ขัดศรัทธา อนาคตอาจจะมีการทดลองที่พิสูจน์ให้เห็น นั่นก็อีกเรื่อง ไว้รอดูกัน

สรุป

กรุ๊ปเลือดไม่ได้บอกบ้าอะไรอย่างที่พวกเราคิดกันตอนนี้เลย จากหลักฐานที่เรามีอยู่ตอนนี้อะนะ มันเป็นเรื่องของการมี Antigen อยู่บนผิวของเม็ดเลือดแดง และ การมี Antibody อยู่ใน Plasma ในเลือดของเราเท่านั้นเอง ซึ่งมีผลจริง ๆ กับการถ่ายเลือด ที่ถ้าแพทย์ไม่ได้ตรวจก่อนการถ่ายเลือดก็อาจจะมีอัตรายถึงชีวิตได้ เพราะถ้าให้เลือดผิด ร่างกายของผู้รับจะมีการต่อต้าน แล้วทำให้มีอาการแทรกซ้อนหลาย ๆ อย่างตามมาได้

Read Next...

เจาะลึกเบื้องหลังการทำงานของ กันแดด ทำไมมีหลายแบบ จะเลือกอย่างไร

เจาะลึกเบื้องหลังการทำงานของ กันแดด ทำไมมีหลายแบบ จะเลือกอย่างไร

ถ้าต้องให้เลือก Skin Care แค่อย่างเดียวเราะจะเลือกอะไร เราคงตอบได้อย่างรวดเร็วว่า กันแดด แน่นอน แต่ถ้าเราลองไปดูกันแดดในท้องตลาดบ้านเรา มันมีเยอะมาก มีหลายประเภทสารพัด วันนี้เรามาเล่าให้อ่านกันในเชิงวิทยาศาสตรดีกว่าว่า มันมีแบบไหน และ แบบไหนเหมาะอะไรกับใครบ้าง...

มันจะไม่มีอีกแล้วหมาล่าแดง ๆ กับ Sudan Red

มันจะไม่มีอีกแล้วหมาล่าแดง ๆ กับ Sudan Red

เราอ่านข่าวเจอเรื่องการที่ไตหวันพบการแพร่ระบาดของการผสมสีอย่าง Sudan Red ลงไปในเครื่องปรุงต่าง ๆ โดยเฉพาะพริก และพวกผงหมาล่าที่นำเข้าจากประเทศจีน วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า สรุปแล้วเรื่องมันเป็นอย่างไร และ สีเจ้าปัญหาอย่าง Sudan Red มันเป็นอันตรายต่อมนุษย์อย่างไร...

Perfume Science 101: ทำไมน้ำหอมถึงมีกลิ่น ?

Perfume Science 101: ทำไมน้ำหอมถึงมีกลิ่น ?

ช่วงนี้เราอินกับ น้ำหอมมาก ๆ เรื่องที่เราคิดว่าน่าใจมาก ๆ สำหรับ เราที่สนใจน้ำหอม และวิทยาศาสตร์คือ วิทยาศาสตร์เบื้องหลังของน้ำหอม มันมีอะไรมากกว่าที่เราคิดมาก ๆ ทำไมกลิ่นนี้ทำให้เรารู้สึกแบบนี้ หรือเรื่องที่เรามา Cover กันในวันนี้คือ ทำไมน้ำหอมถึงมีกลิ่น ?...

Organic ธรรมชาติแท้ ไม่มีคำปลอบใจ

Organic ธรรมชาติแท้ ไม่มีคำปลอบใจ

บทความนี้เกิดจาก เราตั้งคำถามว่า ทำไมเราจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคำเคลมว่า ผลิตจากธรรมชาติ เป็นพวกนั่นนี่ Organic หรือจริง ๆ แล้วมันเป็นแค่ การตลาดวันละคำกันแน่นะ งั้นเรามาคุยเรื่องนี้กันให้ลึกขึ้นดีกว่า ผ่านเลนส์มุมมองของวิทยาศาสตร์...