Technology

WiFi 6 จำเป็นกับเราแล้วหรือยัง ?

By Arnon Puitrakul - 29 เมษายน 2021

WiFi 6 จำเป็นกับเราแล้วหรือยัง ?

เป็นคำถามที่หลาย ๆ คนถามเรามาเยอะมาก ว่า ถ้าเราจะซื้อ WiFi Access Point หรือ WiFi Router มันจำเป็นมั้ยที่เราจะต้องเพิ่มเงิน เพื่อไปใช้ WiFi 6 หรือ เราจะเอาเงินเท่าเดิมนี่แหละไปเอา WiFi 5 ตัวที่ดีขึ้นแทน วันนีเรามาหาคำตอบของคำถามนี้กัน

WiFi 6 คืออะไร ?

ก่อนที่เราจะไปตอบคำถามว่า เราจำเป็นต้องใช้ WiFi 6 มั้ย เราไปดูก่อนว่า WiFi 6 มันมีอะไรใหม่บ้าง สั้น ๆ คือ ได้เรื่องของ Bandwidth ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก รองรับอุปกรณ์จำนวนเยอะขึ้น เรามองว่า Feature ที่มันเด็ดจริง ๆ ของมันไม่ได้โฟกัสที่ ความเร็วเท่านั้น แต่มันโฟกัสที่การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

จากเมื่อก่อน บ้านเราเองมี Device ที่เชื่อมต่อกับ WiFi อยู่เพียงหลักสิบเท่านั้น แต่พอ เราเริ่มลง Smart Home ตอนนี้มี 120+ แล้ว นอกจากนั้น อุปกรณ์ที่เราใช้งานเอง ก็เพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อน เราอาจจะมีแค่โทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์ของเราเท่านั้น แต่ตอนนี้เรามี Tablet หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์หลายเครื่องมากขึ้น จากทั้ง 2 อย่างทำให้อุปกรณ์เราเพิ่มขึ้นรัว ๆ เลย ทำให้ WiFi ในสมัยใหม่ จะไม่ได้โฟกัสแค่เรื่องของความเร็วที่ต้องเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่ยังต้องโฟกัสกับการเพิ่มขึ้นของอุปกรณ์จำนวนมาก และการใช้งาน IoT อีกด้วย

ในเรื่องของ Bandwidth เอง WiFi 6 ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 9.6 Gbps เลยทีเดียว ซึ่งมากกว่าความเร็วสูงสุดของ WiFi 5 อยู่ 3.5 Gbps เลยทีเดียว ซึ่งจะบอกว่า มันเร็วมาก ๆ เลยนะ บ้านเราปกติเอาจริง ติดอินเตอร์เน็ตความเร็วอย่างมากแค่ 1 Gbps เท่านั้นเอง ความเร็วตรงนี้คือ เร็วกว่าความต้องการของเราสำหรับคนทั่วไปในตอนนี้อีก แต่คนที่จะได้ประโยชน์มาก ๆ คือ คนที่ต้องดึงข้อมูลจาก Server ภายใน เช่น คนที่ทำงานตัดต่อวีดีโอ แต่ไฟล์อยู่บน Server เมื่อก่อน เราอาจจะต้องเสียบสายเพื่อให้ได้ความเร็วสูงพอที่จะทำงานได้ แต่ถ้าเป็น WiFi 6 ด้วยความเร็วที่สูงมาก ๆ ทำให้เราสามารถทำงานผ่าน WiFi ได้เลยก็เป็นได้

เบื้องหลังของความเร็วที่เพิ่มขี้น เกิดจากการเปลี่ยนมาใช้ 1024-QAM ทำให้มันสามารถส่งข้อมูลต่อ Symbol ได้สูงขึ้นเป็น 10 Bit จากเดิมที่ใช้ 256-QAM ที่ส่งได้ 8 Bit เท่านั้น ถ้าสงสัยว่า QAM คืออะไร เราเคยเล่าไปแล้วในเรื่องของ 4G LTE ลองเข้าไปอ่านกันได้ พร้อมกับการใช้ความกว้างของช่องสัญญาณเพิ่มขึ้นเป็น 160 MHz ทำให้ส่งข้อมูลได้เร็วขึ้นมาก ๆๆๆ

อีกปัญหาที่เรามักจะเจอกันเลยคือ คลื่นรบกวนจากพื้นที่ข้างเคียง เช่น บ้านเราก็มี Access Point และ ข้างบ้านก็มีเหมือนกัน สัญญาณมันก็อาจจะกวนกันได้ ซึ่งการแก้ปัญหาในปัจจุบัน เราก็จะพยายามปรับช่องสัญญาณให้หนีกันให้มากที่สุดเพื่อลดการรบกวน แต่มันก็มาถึงขีดจำกัด เพราะ ช่องสัญญาณมันมีจำกัด แต่คนใช้มันเยอะ ทำให้ใน WiFi 6 เลยมี Feature ชื่อว่า BSS (Base Service Station) Colour ขึ้นมา

อธิบายสั้น ๆ BSS Colour เหมือนกับการที่เราจะป้ายสีใส่ลงไปในข้อมูลที่ส่งกัน ทำให้ทั้ง ผู้รับ และ ผู้ส่งที่อยู่ในช่องสัญญาณเดียวกัน รู้ว่าอันนี้ของเราหรือไม่ ผ่านสีนั่นเอง ดังนั้น เมื่ออุปกรณ์มันเจอสีที่ไม่ใช่ของตัวเอง มันก็สามารถไม่สนใจได้เลย ทำให้การจัดสรรคลื่นทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างที่บอกว่า Modern WiFi เราต้องรองรับ IoT มากขึ้น ซึ่งหนึ่งใน IoT ที่ทำให้ระบบ WiFi มีปัญหามาก ๆ คือพวก Sensor ต่าง ๆ เพราะ WiFi ก่อนหน้านี้ใช้สิ่งที่เรียกว่า OFDM (Orthogonal frequency-division multiplexing) ที่มันทำให้เราสามารถส่งข้อมูลได้ทีละอุปกรณ์เท่านั้น มองภาพเหมือนกับรถบรรทุกขนข้อมูล ถ้าเป็น OFDM หนึ่งคันมันจะขนส่งให้กับอุปกรณ์เดียวเท่านั้น แต่ใน WiFi 6 เปลี่ยนไปใช้สิ่งที่เรียกว่า OFDMA (Orthogonal frequency-division multiple access) อันนี้แหละ ที่จะเปลี่ยนให้ รถบรรทุกหนึ่งคัน สามารถขนของหลาย ๆ อุปกรณ์ได้พร้อม ๆ กัน ทำให้ เวลาเราเจอพวก IoT พวกนี้มันส่งข้อมูลกันถี่ ๆ ก็จะลดเวลาในการรอของแต่ละอุปกรณ์ได้อีกมหาศาล

นอกจาก OFDMA ที่เข้ามาช่วยเรื่องการเข้าถึงพร้อม ๆ กันแล้ว WiFi 6 ยังพาเทคโนโลยี MU-MIMO ไปให้ไกลขึ้นอีก จาก WiFi 5 เราใช้การตั้งค่าแบบ 4x4 แต่ใน WiFi 6 เราสามารถใช้ได้ถึง 8x8 ทำให้เราสามารถรองรับความเร็วที่เพิ่มขึ้นได้ต่ออุปกรณ์ในขณะเดียวกันก็ยังรองรับอุปกรณ์ที่รับส่งข้อมูลพร้อม ๆ กันด้วยเช่นกัน

และยังรองรับสิ่งที่เรียกว่า Target Wake Time สิ่งที่มันทำ คืออุปกรณ์กับ Access Point มันจะคุย ตกลงกันว่า เมื่อไหร่ เราจะได้คุยกันอีก มันทำให้พวกอุปกรณ์ IoT สามารถประหยัดพลังงานได้อีก เนื่องจากไม่ต้องติดต่อกับ Access Point ทิ้งไว้ นั่นนำไปสู่การเปลี่ยน Battery ที่น้อยลงนั่นเอง เพราะในปัจุบัน เราจะไม่ค่อยเห็น IoT ที่ใช้ Battery และต่อ WiFi เพราะมันกินไฟมหาศาลมาก ๆ ทำให้ผู้ใช้ต้องเปลี่ยน Battery บ่อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับ Protocol อื่น ๆ อย่าง Zigbee และ Z-Wave ที่ออกแบบมาให้มีการประหยัดพลังงานตั้งแต่ต้น

การที่เราจะใช้ WiFi 6 ได้นั้น ไม่ใช่แค่อุปกรณ์ของเรารองรับแล้วเราก็ใช้ได้เลย แต่ทั้งอุปกรณ์ของเรา และ Access Point ของเราต้องรองรับด้วย โดยที่อุปกรณ์ใหม่ ๆ มักจะรองรับกันหมดแล้วละ ลองดูที่สเปกของอุปกรณ์นั้น ๆ ดูได้ว่าน้องเขารองรับ WiFi 6 หรือ 802.11ax แล้วหรือยัง ถ้าแล้วก็โอเคเลย

นอกจากนั้น ฝั่ง Access Point เองก็ยังต้องรองรับด้วยเช่นกัน ถ้าเราได้กล่องที่มาจาก ISP อาจจะลองถามเขาดูก็ได้ว่า มันรองรับ WiFi 6 หรือยัง ถ้ารับแล้วก็โอเคไป มีหลาย ๆ เจ้าแล้วที่เริ่มให้ Access Point ที่เป็น WiFi 6 มาให้เลย แต่ถ้าไม่อันนี้เราก็สามารถไปซื้อ Access Point มาเพื่อ Upgrade ได้เช่นกัน

WiFi 6 Access Point มีเยอะแค่ไหน ?

ณ วันที่เราเขียน ถ้าเราลองเดินหาซื้อ Access Point หรือ WiFi Router เราก็สามารถที่จะเจอรุ่นที่รองรับ WiFi 6 ได้ง่าย ๆ เลย เจอได้ตั้งแต่รุ่นถูก ๆ พันกว่าบาทยันหมื่นกว่าบาทเลยก็มี แต่ถ้าเราเอาราคากับสเปกมาเทียบกับรุ่นที่รองรับแค่ WiFi 5 เราจะเห็นได้เลยว่า สเปกของ WiFi 5 จะดีกว่าเยอะมาก ๆ ทำให้ราคาต่อสเปกของ WiFi 6 จะแพงกว่าหน่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติแหละที่เทคโนโลยีที่เก่ากว่าก็จะราคาถูกกว่านั่นเอง

ส่วนจำนวนรุ่น ก็ต้องยอมรับว่า มันเป็นมาตรฐานใหม่ (ไม่ใหม่มาก) รุ่นของอุปกรณ์ที่ให้เราเลือกอาจจะน้อยกว่า แต่ ณ วันนี้เท่าที่เราลองดู มันก็ทำออกมาได้ค่อนข้างครอบคลุมกับความต้องการใช้งานในบ้านส่วนใหญ่แล้ว

และในฝั่งของ Business  กับ Enterprise เอง ก็มีอุปกรณ์ Access Point ที่รองรับ WiFi 6 ออกมาแล้วเหมือนกัน แต่พอไปเปิดดูราคาเท่านั้นแหละ เงิบไปเลยจ้า ตัวอย่างเช่น UniFi AP 6 LR หรือก็คือตัว Long Length ของ UniFi ซึ่งราคาเปิดมา 10k ก็คือเงิบไปเล้ยยยยย แต่ตัว LR ที่เป็น WiFi 5 ตอนนี้ราคาอยู่ 3k นิด ๆ เท่านั้นเอง จะเห็นได้เลยว่า ราคาต่างกันมาก ๆ ไม่เหมือนกับฝั่ง Consumer เลย

ถึงเวลาที่ควร Upgrade แล้วหรือยัง ?

UniFi AC Mesh

มาถึงหัวเรื่องของเรากันในวันนี้คือ ณ วันที่เขียน เราควรจะต้อง Upgrade ระบบ WiFi ของบ้านเราให้เป็น WiFi 6 หรือยัง อันนี้ก็ขึ้นกับบ้าน หรือสถานที่แต่ละที่เลย

ถ้าเป็นบ้านใหม่เลย หรือ อาจจะเป็น อุปกรณ์ในบ้านที่ใช้มามากกว่า 3-4 ปีแล้ว จะซื้อตอนนี้เราว่า ก็น่าจะเอาเป็น WiFi 6 ไปเลย เพราะกว่าเราจะต้องมาซื้ออุปกรณ์พวกนี้อีก ก็หลายปีเลยทีเดียว ถ้าเราเก็บรักษาดี ๆ นอกจากนั้น ถ้าบ้านใหม่ ๆ ที่รัน Smart Home ยิ่งแนะนำให้ใช้เลย

แต่สำหรับใครที่พึ่งซื้อไป หรือใช้มายังไม่มีปัญหา ยังไม่พัง เราว่าก็ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องไปเปลี่ยนเลย ใช้ไปก่อน แล้วพอถึงอายุไขของมัน ณ ตอนนั้นอุปกรณ์ที่ปล่อย WiFi 6 ราคาน่าจะถูกลง และประสิทธิภาพ น่าจะสูงกว่านี้มาก ๆ เลยทีเดียว ถึงตอนนั้น อุปกรณ์ของเราน่าจะรองรับ WiFi 6 เกือบหมดแล้วละ พอ Upgrade Access Point ทั้งระบบของเราก็จะเป็น WiFi 6 โดยสมบูรณ์ไปเลย

เพราะเอาจริง ๆ แล้ว การใช้งานในบ้านส่วนใหญ่ เราว่ามันก็น่าจะหนีไม่พ้น การเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ, การ Stream Video จาก Netflix หรือ Youtube และ การทำ Video Conference ประกอบกับ บ้านทั่ว ๆ ไป จำนวนอุปกรณ์ก็มีไม่มาก ทั้งเรื่องของการใช้งานที่ Bandwidth ไม่สูง และ อุปกรณ์ไม่เยอะ WiFi 5 ก็ถือว่าเพียงพอกับการใช้งานมาก ๆ แล้ว หรือ ถ้าเราอยากได้ความเร็วสูงมาก ๆ เราแนะนำให้ไปต่อสายเถอะ ดีกว่ากันเยอะมาก

ส่วนระดับองค์กร ตอนนี้เราก็ยังว่า ไม่น่า Upgrade เลย เพราะอุปกรณ์ที่ราคาสูงมาก ๆ และเมื่อ Bandwidth ของ Access Point เพิ่มขึ้นพวก Switch ต่าง ๆ ก็ต้อง Upgrade เพื่อให้รองรับกับ Bandwidth ที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เราว่า ถ้าจะ Upgrade ก็คือ น่าจะต้องเป็นสถานการณ์ที่มีจำนวนผู้ใช้เยอะมาก ๆ และมีการใช้งานที่เยอะมาก ๆ ถึงน่าจะ Upgrade

Read Next...

Apple M4 รุ่นไหนเหมาะกับใคร

Apple M4 รุ่นไหนเหมาะกับใคร

หลังจากเมื่อหลายอาทิตย์ก่อน Apple ออก Mac รัว ๆ ตั้งแต่ Mac Mini, iMac และ Macbook Pro ที่ใช้ M4 กันไปแล้ว มีหลายคนถามเราเข้ามาว่า เราควรจะเลือก M4 ตัวไหนดีถึงจะเหมาะกับเรา...

Cloudflare Access ของดีขนาดนี้ ฟรีได้ไงวะ

Cloudflare Access ของดีขนาดนี้ ฟรีได้ไงวะ

จากตอนก่อน เราเล่าเรื่องการ Host Website จากบ้านของเราอย่างปลอดภัยด้วย Cloudflare Tunnel ไปแล้ว แต่ Product ด้าน Zero-Trust ของนางยังไม่หมด วันนี้เราจะมาเล่าอีกหนึ่งขาที่จะช่วยปกป้อง Infrastructure และ Application ต่าง ๆ ของเราด้วย Cloudflare Access กัน...

Mainframe Computer คืออะไร ? มันยังมีชีวิตอยู่ใช่มั้ย ?

Mainframe Computer คืออะไร ? มันยังมีชีวิตอยู่ใช่มั้ย ?

ทุกคนเคยได้ยินคำว่า Mainframe Computer กันมั้ย เคยสงสัยกันมั้ยว่า มันต่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันทั่ว ๆ ไปอย่างไรละ และ Mainframe ยังจำเป็นอยู่มั้ย มันได้ตายจากโลกนี้ไปหรือยัง วันนี้เรามาหาคำตอบไปด้วยกันเลย...

Infrastructure as Code คืออะไร ทำไมถึงสำคัญมากในปัจจุบัน

Infrastructure as Code คืออะไร ทำไมถึงสำคัญมากในปัจจุบัน

เคยมั้ยเวลา Deploy โปรแกรมสักตัว เราจะต้องมานั่ง Provision Infrastructure ไหนจะ VM และ Settings อื่น ๆ อีกมากมาย มันจะดีกว่ามั้ยถ้าเรามีเครื่องมือบางอย่างที่จะ Automate งานที่น่าเบื่อเหล่านี้ออกไป และลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Infrastructure as Code กัน...