By Arnon Puitrakul - 22 เมษายน 2023
ไหน ๆ ช่วงนี้เราก็พูดถึงระบบ Solar Cell ไปเยอะแล้ว อีกหนึ่งระบบที่ทำให้บ้านที่อยู่ในข่าวประหยัดค่าไฟได้มากขนาดนั้นเหลือ 70 กว่าบาท เป็นเพราะ Energy Storage System (ESS) ที่ใช้งาน Battery นั่นเอง วันนี้เรามาทำความรู้จักกับมันกัน และ ถ้าเกิด เราอยากจะติดขึ้นมา เราจะต้องลงทุนเท่าไหร่กัน
TLDR; บอกเลยว่า แพง เ_ย ในวันนี้เลย แต่มันมีทางออกอยู่
เวลาเราพูดถึง ESS เรากำลังพูดถึง วิธีการกักเก็บพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ หลาย ๆ คนอาจจะคิดถึงแค่ Battery แต่จริง ๆ แล้ว ในโลกของเราก็มีหลาย ๆ วิธีในการเก็บเยอะมาก ๆ เช่น ในพวกเขื่อน อย่างเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ก็มี ESS เป็นของตัวเองเช่นกัน คือ การใช้ระบบการกักเก็บพลังงานด้วยแรงโน้มถ่วงและภูเขา หลักการคือ เมื่อต้องการจะเก็บพลังงาน ก็จะใช้เครื่องสูบน้ำ สูบน้ำกลับขึ้นไปที่อ่างเก็บน้ำบนเขา กลับกัน เมื่อต้องการปล่อยพลังงาน ก็ทำการปล่อยน้ำกลับลงไปที่ผ่านเครื่องปั่นไป เป็นระบบการกักเก็บพลังงานชนิดหนึ่ง
แต่แน่นอนว่า เราคงไม่สามารถสร้างระบบการเก็บพลังงานแบบเขื่อนไว้ในบ้านของเราแน่นอน ทำให้เราจะต้องมองหาวิธีอื่นมาละ โดยวิธีการที่เป็นที่นิยมกันก็คือการใช้งานคู่กับ Battery เหมือนที่เราคุ้นเคยกันจากในข่าว
หรือ ถ้าเราไม่อยากลงทุนกับ Battery ในฝั่งต่างประเทศที่อากาศเขาเย็น ๆ กว่าเราพวก การทำบ้านให้อุ่น หรืออาบน้ำ เขาจะใช้น้ำร้อนเยอะมาก ทำให้มี Solution ที่จะเอาพลังงานส่วนเกิน อาจจะผลิตจาก Solar Cell แล้วไม่ได้ใช้ มาต้มน้ำทิ้งไว้ในหม้อ แล้วพอจะใช้ก็เอาน้ำจากหม้อที่ต้มไว้ไปก็ถือว่าเป็นระบบการกักเก็บพลังงานแบบหนึ่งได้เหมือนกัน
ก็นะ ประเทศเราร้อนยังกะนรกอยู่ละ จะให้ไปใช้ Solution แบบนี้ก็ไม่ไหวเหมือนกัน สุดท้าย วิธีการที่ง่ายที่สุดกับไทยเราก็ยังเป็น Battery อยู่ดี
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมในต่างประเทศค่อนข้างมีความตื่นเต้น และพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ ESS เยอะขึ้นเรื่อย ๆ กับ Grid ฝั่งโน้นเขาก็ส่งเสริมด้วย มันมีประโยชน์อะไรขนาดนั้นเหรอ
ส่วนนึง สำหรับคนที่ใช้ไฟฟ้าเอง ก็ทำให้เราลดการพึ่งพาระบบ Grid ได้ ที่ทำให้เราลดการซื้อไฟไปได้เยอะมาก ๆ หรือบางบ้านที่ติดเยอะหน่อย ก็อาจจะเป็นการลงทุน เพื่อให้ขายไฟคืนกลับมาได้เลยซ้ำ จากในวีดีโอด้านบน ก็คือ เขาใช้ Tesla Powerwall 2 ลูกกับ Solar Cell 16 แผง แล้วสับ Breaker Grid ออกไปเลย แล้วอยู่ได้ 4-5 วันเลย ดังนั้นพวกนี้เอาจริง ๆ คือ ค่าไฟขึ้นเท่าไหร่ เราก็ไม่ได้สนใจมาก เหมือนกับการลงทุนประกันราคาค่าพลังงานไปในตัวอะไรแบบนั้นเลย
กลับกันทางฝั่ง Grid หรือการไฟฟ้าเอง เขาจะได้ในเรื่องของ Peak Shaping ซะเยอะมาก ๆ คือ ปกติเวลากลางวัน ภาคธุรกิจ โรงงานเขาจะทำงานกันทำให้มีการใช้ไฟเยอะ และ เย็น ๆ คนกลับบ้าน ก็จะใช้ไฟอีกปริมาณนึง แล้วกลางคืน คนนอนหมดแล้ว ก็จะใช้ไฟในอีกปริมาณนึง ทำให้ในระหว่างวัน การไฟฟ้า ก็ต้องปรับกำลังการผลิตให้เพียงพอกับการใช้ไฟฟ้าในเวลานั้น ๆ เร่งเครื่องมากไป ประสิทธิภาพมันก็ไม่ดี รันน้อยไปมันก็ไม่ดี
แต่ถ้าเรามีพวก ESS เข้ามาช่วย โดยเฉพาะในบ้าน ก็ทำให้การไฟฟ้า สามารถจัดการกำลังการผลิตได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก ๆ หรือกระทั่ง ถ้าเราไม่มี Solar Cell เราก็อาจจะมี Battery ไว้ซื้อไฟช่วงกลางคืนที่ กำลังการใช้งานทั้งประเทศไม่สูงมาก เพื่อมาใช้กลางวันก็ได้ พวกนี้แหละ เป็นแนวคิดเบื้องหลังของพวก TOU
กลับกัน กลางวัน ถ้าเรามี Solar Cell เราก็สามารถเป็นหนึ่งในคนที่ช่วยแบ่งเบาภาระของ Grid ได้ด้วยการขายไฟออกไปใน Grid เพื่อให้การไฟฟ้าไม่ต้องเร่งเครื่องเพื่อผลิตนั่นเอง ทั้งสองส่วนเลยทำให้ กราฟการผลิตพลังงานในระบบมันค่อนข้างคงที่มากขึ้นนั่นเอง ก็เป็นผลดี กับการไฟฟ้าเยอะมาก ๆ ถ้ายิ่งมีพวก Smart Grid เข้ามาช่วยอีกคือ การบริหารจัดการพลังงานดีมาก ๆ มากกว่าเดิมเยอะมาก ๆ
อีกตัวอย่างที่เป็นหนึ่งในความพยายามคือ ของ OR ที่ทำ G-Box เป็น Battery ขนาดใหญ่เลย 115 kWh ไปติดอยู่ที่ปั้ม เพื่อให้กลางวันโหลดไฟสูง ๆ ซื้อไฟแพง ก็โหลดจาก Battery เอา แล้วตอนที่ค่าไฟถูก Off-Peak ก็โหลดไฟเข้ามาชาร์จแบตเหมือนเดิม ครั้งแรกที่ไปเจอคือ ตู้อะไรวะ จนไปนั่งอ่านข่าว ก็อ่อออ Battery
ก่อนเราจะมาเล่าเรื่องนี้ เราต้องบอกก่อนว่า ด้วยความที่ตลาด Solar Cell ในไทยพึ่งจะมาบูมเป็นดอกเห็ดเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้เอง ทำให้ตลาดในฝั่ง ESS เลยยังไม่ได้บูมมากเท่าไหร่ กับเรื่องของราคาด้วย เลยทำให้หลาย ๆ คนยังไม่กล้าที่จะลงทุนซะทีเดียว เลยส่งผลให้ในไทยเรา ณ ปี 2023 ที่เราเขียนบทความนี้ขึ้นมา มีแค่ 2 ตัวเลือกที่เราสามารถหาซื้อได้ในตลาดเท่านั้น
ระบบแรกเป็นฝั่งของผู้ผลิต Solar Inverter ที่นิยมในไทยอันดับต้น ๆ เลยคือ Huawei ในรุ่นของ LUNA 2000 เป็น Battery แบบ LFP ที่ให้ความจุมาก้อนละ 5 kWh และ สามารถปล่อยพลังงานได้สูงสุด ก้อนละ 2.5 kW โดยที่ ใน 1 Tower เราสามารถเลือก Setup ได้สูงสุดถึง 3 ก้อนเลย ทำให้ใน 1 Tower จะสามารถเก็บไฟได้ 15 kWh แต่ ปล่อยพลังงานได้ต่อเนื่องแค่ 5 kW และ Peak 7 kW ใน 10 วินาทีเท่านั้น
ความเจ๋งของมันคือ เราสามารถเลือกเติมได้ตามที่เราต้องการเลย ถ้าเราอยากจะเพิ่มพลังงานที่กักเก็บได้ เราก็แค่เพิ่ม Battery ขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้า Tower เต็ม แล้วเราก็สามารถเติม Tower ใหม่ได้เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ได้สูงสุด 6 Tower เลย รวมกัน 60 kWh ก็คือ เยอะมาก ๆ สำหรับบ้านธรรมดาแล้วละ แต่ ๆ กำลังไฟที่เครื่องสามารถทำได้ มันจะไปขึ้นกับ Inverter ที่เราติดตั้งด้วย ทำให้ ถ้าเราติดตั้ง Inverter ขนาด 5 kWp มันก็จะปล่อยได้แค่ 5 kWp เท่านั้น ถึงเราจะอัดไปหลาย ๆ Tower แล้ว ทำให้มันเป็น Solution สำหรับบ้านที่อาจจะยังไม่ได้มีการใช้งานไฟกำลังสูง ๆ ตลอดเวลาขนาดนั้น
สำหรับราคา จะอยู่ที่ 149,000 บาท สำหรับ Battery 1 Module และ ถ้าเรากดไปทั้ง Tower ครบ 3 ก้อนเลย จะอยู่ที่ 377,000 บาทด้วยกัน ดังนั้นสูงสุดเลย ถ้าเรากด 6 Tower เลยราคาจะไป 2.262 ล้านบ้านเลย แต่ในที่นี้ เราขอคิดราคาเฉลี่ยต่อหน่วยไปที่ 10 kWh ละกัน 2 Module มันอยู่ที่ 263,900 บาท ยัง ๆ ไม่หมด ถ้าเราอยากจะทำให้ถ้าไฟจากการไฟฟ้าดับแล้วเรายังสามารถใช้ไฟจาก Battery ได้อีก เราจะต้องติดตั้ง Backup Box อีกนะ 1-Phase ก็ประมาณ 19,000 บาท จัดไป๊
ทำให้ยอดมันจะเป็น 282,900 แล้วถ้าหารออกมามันก็จะเป็น 28,290 บาท/kWh โดยยังไม่รวมค่าติดตั้ง
สำหรับอีกตัวเลือก ณ วันนี้ ก็คือ Tesla Powerwall 2 หลาย ๆ คนน่าจะอยากได้อยู่ เพราะความสะดวกสบายของมันอะนะ ณ วันที่เขียน ทาง Tesla ประเทศไทย ยังไม่ได้เอาเข้ามานะ แต่เป็น Solar-D เป็นคนเอาเข้ามา ซึ่ง Tesla Powerwall 2 อันนี้จะไม่ได้ทำมาเป็น Module เหมือนกับตัวก่อนหน้า ทำมาเป็นก้อนเดียวเลย โดยที่เป็น Battery แบบ NMC ความจุ 13.5 kWh สามารถปล่อยพลังงานได้ 5.8 kW และ 10 kW Peak ก็คือ ก้อนเดียวรู้เรื่องแน่นอนสำหรับบ้านทั่ว ๆ ไป
หรือเราสามารถปั้มหลาย ๆ ก้อนเข้ามาในบ้าน แล้วพลังงานที่มันจะเก็บ และ ปล่อยได้ ก็จะคูณกันไปเรื่อย ๆ เลย เพราะในตัวของมันจะมี Inverter ที่แปลงไฟกระแสตรงใน Battery ไปเป็นกระแสสลับสำหรับใช้งานในบ้าน ในตัวของมันเลย ดังนั้น มันสามารถติดตั้งแบบ Standalone ได้ หรือ เราสามารถติดตั้งคู่กับ Solar Cell System เจ้าไหนก็ได้เลย
กับถ้าเราต้องการใช้ไฟจาก Battery เวลาไฟการไฟฟ้าดับ เราก็จะต้องติดตั้ง Tesla Energy Gateway ด้วย เพื่อที่มันจะเฝ้าดูสถานะของ Grid หรือการไฟฟ้านี่แหละ ถ้ามันดับ มันจะตัดสลับไปที่ Battery โดยที่เราไม่รู้ตัวเลย พอไฟมามันก็สลับกับไปที่เดิมเอง
ส่วนราคา อันนี้เราไปดูกับ Solar-D มาอยู่ที่ 599,000 บาท สำหรับ Power Wall 2 จำนวน 1 ก้อน และ Backup Gateway กับค่าติดตั้งเลย ทำให้หารออกมา มันจะอยู่ที่ 44,370 บาท/kWh โดยรวมค่าติดตั้งแล้ว
ถามว่า แล้ว Battery ที่อยู่ในข่าว เขาบอกว่า ทั้งระบบแค่ 300k บาท รวม Solar Cell เท่านั้นเอง อันนี้สำหรับบ้านทั่ว ๆ ไป เราไม่แนะนำเลย เพราะพวกนี้คือ Battery ที่เขาไปซื้อพวก Battery Pack มาต่อกับพวกระบบชาร์จ และ Inverter เอาเองหมดเลย ทำให้พวกนี้ต้องอาศัยวิศวกรไฟฟ้าที่เชี่ยวชาญด้วย พวกนี้ต่อผิด หรือต่อไม่ดี มีไฟไหม้ได้เลยนะ ทำให้บ้านทั่ว ๆ ไป เราแนะนำให้ไปซื้อพวก Battery สำเร็จดีกว่า มีการรับประกันงานที่ดีกว่าเยอะ
ในไทยเราชอบดูงานของช่างบริษัทนี้มาก คือ แบบ เขาไปสุดจริง ๆ อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ใช้ Battery แบบประกอบเอง ถ้าดูที่ Thumbnail ก็คือ เขาทำตู้สำหรับใส่ Battery แล้วมีการต่อเก็บงานเรียบร้อยเลย แต่ถามเรา เราก็ยังมองว่าคนทั่ว ๆ ไป ไปเอา Battery สำเร็จดีกว่า แต่ถ้าบอกว่า อ่อ เรารู้เรื่องไฟฟ้าสักหน่อย แล้วอยากเล่น เราว่าอันนี้สนุกกว่ามาก ๆ
ถ้าพูดถึงเรื่อง Battery ESS ในบ้าน แล้วถามว่า มันคุ้มค่ากับการลงทุนมั้ย เราต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็นนะ คือ ประเด็นที่จะทำให้เราสามารถเก็บพลังงานจากแหล่งอื่น ๆ เช่น Solar Cell ไปใช้ในเวลาที่มันไม่ผลิตได้ หรือ จะเป็นการป้องกันบ้านเราจากไฟดับ
ถ้าพูดถึงประเด็นเรื่อง ไฟดับ อันนี้เราต้องมาดูกันแต่ละบ้านแล้วว่า คุณให้ค่ากับการที่ไฟบ้านเราติดตลอดมากแค่ไหน การที่ไฟดับมันเสียหายแค่ไหน ถ้าบอกว่า อ่อ บ้านไฟดับไม่บ่อยอยู่แล้ว และ ถ้าไฟดับไปเราเฉย ๆ อยู่ได้ มันก็ไม่คุ้มเนอะ หรือถ้าเราบอกว่า โหยย บ้านเราไฟดับไม่ได้นะ มีของหลายอย่างที่ต้องการไฟตลอดเวลา เช่นบางบ้านมีคนแก่ หรือ คนที่ต้องเก็บยา เช่นพวกอินซูลินไว้ในตู้เย็นตลอดเวลา การที่ไฟดับเท่ากับทิ้งหมด อันนี้แหละ คุ้มหน่อย
แต่ถ้าเราบอกว่า อ่อ เราไม่ได้แคร์เรื่องไฟดับมาก เราเอามาเพื่อให้เราใช้ไฟกลางคืนได้ อันนี้แหละ ที่เรามองว่า ณ วันนี้ยังไม่คุ้มเท่าไหร่ ระยะการคืนทุนยังสูงเกินไป เราเคยเขียนไว้ในเคสที่ 2 แล้ว ลองไปอ่านดูได้ มันทำให้ระยะการคืนทุน แย่กว่าการติด Solar ใช้ไฟกลางวันแล้วกลางคืนซื้อไฟซะอีกด้วยซ้ำ ทำให้ด้วยราคา อาจจะยังไม่ตอบโจทย์เรื่องความคุ้มค่า ณ เวลาที่เขียนเท่าไหร่
อีกหนึ่งตัวเลือกที่เราก็ยังรออยู่นะว่า เมื่อไหร่ระบบ Battery ESS ในบ้านจะเริ่มทำสักที คือการใช้พวก Sodium Battery หรือ Battery ที่ทำจากเกลือ ด้วยความที่เกลือมันหาง่ายกว่า Lithium มาก ๆ ทำให้ราคาที่ออกมาขายน่าจะมีราคาที่ถูกกว่าแบตที่อยู่ตอนนี้มาก ๆ เราเดาว่าหายไปได้แบบ 40% ของราคา ณ วันนี้เลย ถ้ามันได้เท่านั้น เราว่ามันก็ค่อยน่าลงทุนหน่อย
แต่ความที่มันเป็นเทคโนโลยีใหม่ เลยทำให้เรื่อง Energy Density หรือความหนาแน่นของพลังงาน จะยังสู้ Lithium Battery ไม่ได้ เช่น High Density Battery ล่าสุดจาก CATL อันนั้นมีความหนาแน่นอยู่ที่ 500 Wh/kg แต่กลับกัน Sodium Battery อาจจะอยู่ที่ 100-120 Wh/kg เท่านั้นเอง ถามว่า บ้านแคร์มั้ย ตอบเลยว่า ไม่นิ พื้นที่บ้านเยอะแยะ จะหนักเท่าไหร่ก็หนักไป สุดท้ายเราตั้งพื้นยึดบ้านอยู่แล้ว บ้านไม่ได้ทำจากกระดาษทิชชู่สักหน่อย น้ำหนักไม่ใช่ปัญหา
เลยทำให้เรามองว่า Sodium Battery น่าจะเป็น Game Changer สำหรับ Battery ESS ภายในบ้านเลย ทำให้ราคามันลงไปได้อีกเยอะมาก ๆ และ เก็บไฟได้เพียงพอกับความต้องการได้อยู่ ยังไม่นับว่า มันรองรับ Cycle จำนวนเยอะ ๆ ได้ดีด้วย ยิ่งตอบโจทย์บ้านเข้าไปใหญ่เลย
ณ วันที่เราเขียนต้นปี 2023 ทาง CATL ก็ประกาศออกมาแล้วว่าจะผลิต Sodium Battery ในปีนี้แน่นอน แล้วมีลูกค้าเป็นผู้ผลิตรถ EV ในจีนอย่าง Cherry ไปแล้วด้วย ทำให้เราว่า ถ้ามันมาจริง มันน่าจะทำให้ตลาด Battery ESS แข่งกันสนุกดุเดือนอยู่เหมือนกัน ยิ่งทำออกมาเป็น Standalone Battery พวกที่ Built-in Inverter เลย ไม่ต้องสนว่าเราติด Solar หรือไม่ หรือ Inverter ยี่ห้ออะไร ยิ่งมันส์
ปล. ทำไมเราพูดถึงแต่ CATL เขาไม่ได้จ่ายนะ แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เขาเป็นผู้ผลิต Battery อันดับ 1 ในโลก (รองลงมา ก็ LG สัญชาติเกาหลี เกลาใจ) ถ้ามันจะออกอะไรมา เจ้านี้มันก็เดือดเสมอ เลยยกเจ้านี้ค่อนข้างเยอะ
Energy Storage System หรือ ESS เป็นระบบสำหรับกักเก็บพลังงาน มีหลายรูปแบบด้วยกัน ขึ้นกับความเหมาะสมของพื้นที่ และ การใช้งาน โดยในบ้านเราทั่ว ๆ ไป เราก็จะใช้กันเป็น Battery ซะเยอะมาก ๆ ซึ่ง ณ วันที่เขียนตัวเลือกที่มีในไทย ราคา อาจจะยังไม่ตอบโจทย์เรื่องการคืนทุนสักเท่าไหร่ ทำให้เราแอบไม่แนะนำที่จะติดตั้งถ้าบ้านเราไฟไม่ดับบ่อย หรือดับแล้วไม่ได้เดือดร้อนอะไรมาก แต่ในอีกไม่กี่ปีนี้ เราว่าพอ Sodium Battery ออกมา น่าจะทำให้ตลาดการแข่งขันดุเดือดขึ้นแน่นอน ทำให้เราที่เป็นผู้บริโภค น่าจะมีตัวเลือกเยอะขึ้นมาก ๆ เลยทีเดียว ถึงตอนนั้น พิจารณาอีกรอบ ก็น่าจะยังไม่สายเนอะ
เคยสงสัยกันมั้ยว่า Filter ที่เราใช้เบลอภาพ ไม่ว่าจะเพื่อความสวยงาม หรืออะไรก็ตาม แท้จริงแล้ว มันทำงานอย่างไร วันนี้เราจะพาไปดูคณิตศาสตร์และเทคนิคเบื้องหลังกันว่า กว่าที่รูปภาพจะถูกเบลอได้ มันเกิดจากอะไร...
หลังจากดูงาน Google I/O 2024 ที่ผ่านมา เรามาสะดุดเรื่องของการใส่ Watermark ลงไปใน Content ที่ Generate จาก AI วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า วิธีการทำ Watermark ใน Content ทำอย่างไร...
ก่อนหน้านี้เราทำ Content เล่าความแตกต่างระหว่าง CPU, GPU และ NPU ทำให้เราเกิดคำถามขึ้นมาว่า เอาเข้าจริง เราจำเป็นต้องมี NPU อยู่ในตลาดจริง ๆ รึเปล่า หรือมันอาจจะเป็นแค่ Hardware ตัวนึงที่เข้ามาแล้วก็จากไปเท่านั้น วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกัน...
บทความนี้ เราเขียนสำหรับมือใหม่ หรือคนที่ไม่ได้เรียนด้านนี้แต่อยากรู้ละกัน สำหรับวันนี้เรามาพูดถึงคำที่ถ้าเราทำงานกับพวก Developer เขาคุยกันบ่อย ๆ ใช้งานกันเยอะ ๆ อย่าง Database กันว่า มันคืออะไร ทำไมเราต้องใช้ และ เราจะมีตัวเลือกอะไรในการใช้งานบ้าง...