By Arnon Puitrakul - 26 สิงหาคม 2022
เมื่อก่อนเราก็เข้าใจว่า การคิดค่าไฟในประเทศไทย มันจะมีแค่แบบเดียวคือการใช้อัตราก้าวหน้าแบบปกติเลย แต่หลังจากที่เราติด Solar Cell ไป คนที่ติดให้เขาแนะนำให้เราเปลี่ยนไปเป็นมิเตอร์แบบ TOU ตอนนั้นเราก็คิดนะว่า เปลี่ยนแล้วมันจะคุ้มกว่ามั้ย วันนี้เราลองมาวิเคราะห์ให้ดูกันจัง ๆ เลยดีกว่า
มิเตอร์ TOU หรือ Time of Use เป็นการคิดค่าไฟแบบหนึ่งที่เกิดปัญหาจากว่า ช่วงเวลากลางวัน วันธรรมดาเลย พวกโรงงาน บริษัท ห้างร้าน เขาก็ทำงานกันหมด ส่งผลให้โรงไฟฟ้าในตอนนั้นมันก็ต้องทำงานหนักขึ้นมา แต่กลับกันกลางคืน คนก็นอนกันหมด โรงงานและธุรกิจส่วนใหญ่ก็ปิดหมด ทำให้ใช้ไฟน้อยลง แต่โรงไฟฟ้าก็ยังต้องทำงานอยู่ ก็อาจจะต้องใช้วิธีการลดกำลังการผลิตเอา ซึ่งแน่นอนว่า มันก็อาจจะไม่คุ้มเท่าไหร่
ซึ่งถ้าเราไปดูในการใช้ไฟของคนทั่ว ๆ ไปส่วนใหญ่ กลางวัน เราก็จะออกไปทำงาน ตามเวลาที่ภาคธุรกิจ และ อุตสาหกรรม ใช้ไฟจำนวนมาก กลับกันกลับบ้านมา เราก็จะมาใช้ไฟที่บ้านแทน เราจะเห็นว่า มันจะสลับกันอยู่เสมอ ๆ เลยเกิดมิเตอร์แบบ TOU ขึ้นมา
โดยที่การคิดแบบ TOU เราจะคิดค่าไฟต่อหน่วยเป็นช่วงเวลา โดยในไทย เราจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงได้แก่ On-Peak และ Off-Peak ซึ่งจากที่เราดูล่าสุด เขาจะคิดอยู่ที่หน่วยละ 5.1135 บาท และ 2.6037 สำหรับ On-Peak และ Off-Peak ตามลำดับ กับ On-Peak จะอยู่ในช่วงเวลา 9.00 - 22.00 น. ของวันธรรมดา และ Off-Peak อยู่ที่ 22.00 - 09.00 น. ของวันธรรมดา รวมไปถึง วันเสาร์ และ อาทิตย์ กับ วันหยุดที่รัฐกำหนดด้วย ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า การใช้ไฟในช่วง Off-Peak เราจะใช้เงินน้อยกว่ามาก ๆ เพราะเป็นช่วงที่การไฟฟ้าพยายามอยากให้คนมาใช้นั่นเอง
ถ้าดูจากลักษณะการคิดค่าไฟแล้วการคิดค่าไฟแบบ TOU น่าจะเหมาะกับคนที่มีพฤติกรรมการใช้ไฟในช่วงเวลากลางคืนซะเยอะ หรือเอาจริง ๆ เลย เป็นกลุ่มคนที่ทำงานแล้วกลับบ้าน กลางวัน ไม่ค่อยมีคนได้อยู่บ้านสักเท่าไหร่ น่าจะเหมาะกับ การใช้ TOU แล้วละ
อย่างที่เราบอกว่าเราได้รู้จัก TOU หลังจากที่ติด Solar Cell นั่นก็เพราะว่า ช่วงเวลา On-Peak เราก็จะได้ไฟจาก Solar Cell หมดอยู่แล้ว แต่เอาจริง ๆ คือ ในช่วงเวลา 18.00 - 22.00 ที่ยังคงเป็นช่วง On-Peak เราจะไม่ได้ไฟจาก Solar Cell แล้ว ทำให้ถึงแม้ว่า เราจะติด Solar Cell แล้ว เอาจริง ๆ คือ มันก็ยังทำให้ช่วง On-Peak เราไม่หายไปทั้งหมดอยู่ดี แต่ก็อาจจะพอช่วยลดได้แหละ อาจจะมีการ Optimise ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ไฟหน่อยก็น่าจะลดค่าใช้จ่ายได้เยอะขึ้นอีก
อ่านมาขนาดนี้แล้ว เราว่าหลาย ๆ คนที่ไปทำงานในช่วงกลางวัน ไม่ได้อยู่บ้าน อยากจะวิ่งไปขอเปลี่ยนมิเตอร์ที่การไฟฟ้าแล้วละ คำถามคือ มันคุ้มกว่าจริง ๆ เหรอ ถ้ามันคุ้มกว่า มันคุ้มกว่ากันเท่าไหร่กันละ เราลองคำนวณแยกออกมาเป็นทั้งหมด 8 เคสด้วยกัน โดยเราจะตั้งตัวแปรต้นเป็น หน่วยไฟที่เราใช้ เราจะ Vary ตั้งแต่ 100 จนไปถึงหน่วยไฟที่เราคิดว่าบ้านน่าจะใช้กันคือ 1,500 หน่วยต่อเดือน กับตัวแปรตามเป็น ค่าไฟที่เราจะต้องเสียในแต่ละเคส อันนี้เราจะแยกออกเป็น 8 เคสย่อย ๆ ด้วยกัน ส่วนตัวแปรควบคุม เราจะคิดโดยอ้างอิงจากโปรแกรมประมาณค่าไฟของ PEA ทั้งหมด โดยที่เราจะเลือกเป็นเดือนสิงหาคมปี 2022 ทั้งหมด ซึ่งค่า Ft จะอยู่ที่ 24.77 สตางค์ อนาคตอาจจะมีการปรับขึ้นหรือลงได้อีก
ส่วนของตัวแปรตามทั้ง 8 Case เราจะเลือกใช้การใช้มิเตอร์ปกติเป็น Baseline ในการคำนวณ เพราะเป็นมิเตอร์ที่เราใช้งานกันเป็นปกติอยู่แล้ว ส่วนของ TOU เราจะแยกออกมาเป็น 8 เคสย่อย ๆ โดยจะแบ่งออกเป็น อัตราส่วนการใช้งานช่วง On-Peak และ Off-Peak ตามลำดับตั้งแต่ 80-20, 70,30, 60-40, 50-50, 40-60, 30,70, 20-80 และ 0-100 ตามลำดับ
โดยเคสที่เราคิดว่า แตกแน่นอน โง่สุด ๆ คือ 80-20, 70-30 และ 60-40 อันนี้ยังไงก็แตกแน่นอน ในเคส 50-50 น่าจะเป็นเคสที่มีการใช้ไฟทั้งวัน อาจจะบ้านที่มีคนอยู่บ้าน แล้วเปิดแอร์มันทั้งวันทั้งคืนเลย เคสอย่าง 40-60 น่าจะเป็นบ้านที่มีการ Optimise วิธีการใช้ไฟหน่อย ให้มันอยู่ในช่วง Off-Peak ทำให้เป็นเคสที่เรามองว่า อันนี้ไม่ต้องติด Solar Cell ก็ไหว ส่วน 30-70 และ 20-80 น่าจะเป็นบ้านที่อาจจะติด Solar Cell มาแล้ว ทำให้ช่วง On-Peak ก็จะไปโดนแค่ช่วง 18.00 - 22.00 เท่านั้น ถ้า Optimise ดีหน่อย ๆ ก็น่าจะน้อยระดับ 20-80 เลย
ปล. เราขอเอาเคส 0-100 ออกจากการวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนนี้ก่อนนะเป็นเคสที่เราเอามาเพื่อชาร์จรถ EV
จากตารางผลการทดลอง เราจะเห็นได้ว่า ถ้าเราใช้ไฟน้อยสุด ๆ เลยเพียงแค่ 100 หน่วยเท่านั้น การใช้ TOU ที่เหมือนจะทำให้ถูกลงกลับทำให้แพงขึ้นเคสที่แย่ที่สุดคือ ห่างกัน 2.05 เท่า เมื่อเราเทียบระหว่างมิเตอร์ปกติ และ TOU แบบ 80-20
อ่านไปแล้วก็เอ๊ะว่า ไหนบอกว่า TOU ถูกกว่าไง งั้นเราลองมาดูกันว่า ต้องใช้ไฟเท่าไหร่ถึงการติด TOU จะถูกกว่า ถ้าเราไล่ดูลงไปเรื่อย ๆ TOU จะถูกลงเร็วที่สุด เมื่อเราใช้ไฟเป็นอัตราส่วน On-Peak ต่อ Off-Peak ที่ 80 ต่อ 20 บน 400 หน่วยไฟ โดยจะถูกกว่า 1.57% ด้วยกัน ขึ้นไปอีกหน่อยที่เป็นจริงได้ง่ายกว่า เราว่าน่าจะเป็นอัตราส่วน 30 ต่อ 70 จะถูกกว่าที่ 500 หน่วย จะถูกกว่า 1.54% เมื่อเทียบกับการใช้งานมิเตอร์ปกติ แล้วค่อย ๆ ไล่ลงไปเรื่อย ๆ
มีแค่ 2 เคสที่ไม่ว่าเราจะใช้ไฟจนถึง 1,500 หน่วยแล้วก็ยังแพงกว่ามิเตอร์ปกติคือ การใช้ TOU ในอัตราส่วน On-Peak ที่มากกว่า Off-Peak ดังนั้นจากข้อมูลด้านบนนี้เราจึงสามารถสรุปได้ 2 ข้อด้วยกัน
ข้อแรก ถ้าเราใช้ไฟกลางวันมากกว่ากลางคืน การใช้ TOU ไม่ตอบโจทย์เลย เพราะทำให้เราจำเป็นจะต้องเสียเงินในการซื้อไฟเพิ่มมากขึ้น ตรงข้ามกับคำว่าประหยัดไปไกลเลย
ข้อสอง สำหรับคนที่ใช้กลางคืนน้อยกว่า ก็ไม่ใช่ทุกเคสที่จะติด TOU แล้วจะประหยัดกว่า ขึ้นกับลักษณะการใช้ไฟของเราล้วน ๆ ยิ่งเราใช้กลางคืนเยอะเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งคุ้มเร็วขึ้นเท่านั้น โดยที่ เร็วที่สุดจะเป็นการใช้อัตราส่วน On-Peak ต่อ Off-Peak ที่ 20 ต่อ 80 บน 400 หน่วย นี่คือจุดที่คุ้มเร็วที่สุดแล้ว ถ้าเราใช้งาน On-Peak ในอัตราส่วนที่สูงกว่านี้ก็จะต้องใช้ไฟเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ยอด TOU ถูกกว่าแบบปกตินั่นเอง ทำให้ถ้าเราจะเปลี่ยน TOU จริง ๆ ก็คือ เราจะต้องใช้ไฟเยอะมาก ๆ ถึงจะคุ้มค่า
สำหรับคนที่ใช้รถ EV หลาย ๆ คนน่าจะได้ยินกันมาเยอะว่าอย่างง่ายที่สุดน่าจะขอมิเตอร์ TOU สำหรับการชาร์จรถ EV โดยเฉพาะ ซึ่ง ณ วันที่เขียน เราสามารถทำได้แค่ฝั่งของ PEA แค่นั้น ถ้าใครที่อยู่ในพื้นที่ของ MEA หมดสิทธิ์นะ ถามว่าแล้วเมื่อไหร่มันจะคุ้มกันละ
สาเหตุที่เราเอาเคส อัตราส่วน On-Peak ต่อ Off-Peak ที่ 0 ต่อ 100 เพราะก็คือ เราจะชาร์จแค่ช่วง Off-Peak เท่านั้น คือเรากลับบ้านมา เราก็เสียบ กับตั้งเวลาไว้ 4 ทุ่มเราก็เริ่มชาร์จผ่าน Wall-Charge ยังไง ๆ มันก็จะเต็มก่อน 9 โมงเช้าแน่นอน
ทีนี้ ถ้าเราดูจากตารางการทดลอง เราเทียบกับการใช้มิเตอร์ปกติ จุดที่คุ้มเร็วที่สุดคือ 200 หน่วย เทียบกัน TOU ถูกกว่า มิเตอร์แบบปกติถึง 12.26% เลยนะ ซึ่งเอาจริง ๆ โดยเฉลี่ยแล้ว รถเราขับกันจริง ๆ ก็น่าจะประมาณ 200 หน่วยอาจจะถึงได้นะ เช่น บ้านเราเองที่มี ORA Good Cat 2 คันด้วยกัน เดือนนึงใช้ไฟในการชาร์จอยู่ 300-350 หน่วยต่อเดือน
ดังนั้นการขอมิเตอร์ TOU สำหรับการชาร์จรถ EV เรามองว่า น่าจะคุ้มอยู่นะ เพราะการใช้งานส่วนใหญ่ก็น่าจะเกิน 200 หน่วยที่เป็นจุดคุ้มทุนต่อเดือนอยู่
การใช้มิเตอร์ TOU เป็นวิธีการคิดค่าไฟที่เหมือนจะประหยัด แต่เอาเข้าจริง มันไม่ได้ประหยัดกับทุก ๆ คน โดยเฉพาะคนที่ใช้ไฟกลางวันเยอะกว่ากลางคืน เคสนี้คุ้มยากมาก ๆ เว้นแต่จะใช้เกิน 1,500 หน่วย ยังไม่นับเรื่องความเสียเวลาที่ต้องไปติดต่อการไฟฟ้าเพื่อให้มาอีกเรื่องเยอะไปหมดนะ แต่สำหรับคนที่ใช้ไฟกลางคืนเยอะกว่าอันนี้เรามองว่าใช้เกิน 400 หน่วยอะไหวเลยสบาย ๆ กับอีกเคสที่เชียร์ให้เพิ่มคือ คนที่ใช้งานรถ EV แล้วชาร์จแค่ตอน Off-Peak อย่างเดียว ก็จะถูกกว่าเยอะนั่นเอง
ปล. Data ที่เราทำไว้ เราใส่ Google Sheet ไว้ให้ ตรงนี้
เคยสงสัยกันมั้ยว่า Filter ที่เราใช้เบลอภาพ ไม่ว่าจะเพื่อความสวยงาม หรืออะไรก็ตาม แท้จริงแล้ว มันทำงานอย่างไร วันนี้เราจะพาไปดูคณิตศาสตร์และเทคนิคเบื้องหลังกันว่า กว่าที่รูปภาพจะถูกเบลอได้ มันเกิดจากอะไร...
หลังจากดูงาน Google I/O 2024 ที่ผ่านมา เรามาสะดุดเรื่องของการใส่ Watermark ลงไปใน Content ที่ Generate จาก AI วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า วิธีการทำ Watermark ใน Content ทำอย่างไร...
ก่อนหน้านี้เราทำ Content เล่าความแตกต่างระหว่าง CPU, GPU และ NPU ทำให้เราเกิดคำถามขึ้นมาว่า เอาเข้าจริง เราจำเป็นต้องมี NPU อยู่ในตลาดจริง ๆ รึเปล่า หรือมันอาจจะเป็นแค่ Hardware ตัวนึงที่เข้ามาแล้วก็จากไปเท่านั้น วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกัน...
บทความนี้ เราเขียนสำหรับมือใหม่ หรือคนที่ไม่ได้เรียนด้านนี้แต่อยากรู้ละกัน สำหรับวันนี้เรามาพูดถึงคำที่ถ้าเราทำงานกับพวก Developer เขาคุยกันบ่อย ๆ ใช้งานกันเยอะ ๆ อย่าง Database กันว่า มันคืออะไร ทำไมเราต้องใช้ และ เราจะมีตัวเลือกอะไรในการใช้งานบ้าง...