Technology

ซื้อ NAS สำเร็จรูปหรือจะประกอบเครื่องเองเลยดี

By Arnon Puitrakul - 07 ตุลาคม 2024

ซื้อ NAS สำเร็จรูปหรือจะประกอบเครื่องเองเลยดี

ในปัจจุบันเราพึ่งพาการเก็บข้อมูลต่าง ๆ บนเครื่องคอมพิวเตอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับบางคนมากจนไม่สามารถเก็บได้ในเครื่องของเราอีกแล้ว ทำให้อาจจะต้องมองหาระบบจัดเก็บข้อมูลอื่น ๆ เข้ามาใช้งาน หนึ่งในนั้นคือการใช้ NAS หลายคนมีคำถามว่า แล้วเราควรจะเลือกซื้อ NAS สำเร็จรูป หรือ DIY ดี

NAS คืออะไร ?

NAS หรือ Network Attached Storage หรือพูดง่าย ๆ คือ Server ที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลของเราไว้ ที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงและจัดการข้อมูลผ่านระบบ Network ได้นั่นเอง นี่แหละคือหน้าที่หลักของมันเลย จากเดิมที่เราเอาอุปกรณ์เก็บข้อมูลเอาไว้ในเครื่องของเราเอง การใช้ NAS คือ เราแค่ยกอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลนั้นออกไปไว้อีกเครื่อง แล้วเชื่อมต่อผ่านระบบเครือข่าย ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้น ๆ จากอุปกรณ์ใดก็ได้ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายนั้นอยู่

อาจจะสงสัยว่า แล้วมันต่างอย่างไร กับการเสียบพวก External HDD หรือการเสียบอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลผ่าน USB หรือ Thunderbolt (เราเรียกพวกนั้นว่า DAS หรือ Direct Attached Storage) คือวิธีการเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบของเรา การใช้งาน DAS มันเป็นการเชื่อมต่อโดยตรง ทำให้ความแตกต่างหลักคือ เราจะสามารถเชื่อมต่อได้เพียงทีละเครื่องเท่านั้น ทำให้การทำงานร่วมกันทำได้ค่อนข้างยาก เพราะต้องถอดเสียบกันไป ๆ มา ๆ

ค่าไฟ NAS เรื่องที่หลายคนคาดไม่ถึง
NAS ที่เราเห็นมันตั้งเปิดอยู่ตลอดเวลา รอให้เราเข้าไปใช้งานมัน เปิดไว้ตลอดแบบนี้ในวันที่ค่าไฟแพง ถามว่าเดือน ๆ นึงเราจะเสียเงินค่าไฟเท่าไหร่ คุ้มกับการเสียค่าไฟมั้ยเนี่ย วันนี้เรามาหาคำตอบกัน

ทำให้การใช้ NAS เหมาะกับคนที่ต้องการเก็บข้อมูลจำนวนมาก ๆ และต้องการให้หลาย ๆ คนสามารถเข้าถึงพร้อม ๆ กันได้ แต่ข้อเสียของ NAS เมื่อเทียบกับ DAS คือ เราจะต้องเปิดเครื่องทิ้งไว้ ทำให้มันมีเรื่องของค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานเข้ามา เราเคยเขียนเรื่องของค่าไฟใน NAS ไปแล้ว ลองกลับไปอ่านดูได้

เวลาเราไปเลือกซื้อ NAS นั้นหลัก ๆ มันจะมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ การซื้อ NAS แบบสำเร็จรูป หรือเราจะเรียกว่า Off-the-shelf NAS และอีกแบบคือการประกอบเครื่องเอง

NAS สำเร็จรูป

NAS สำเร็จรูปถือว่าเป็นตัวเลือกในการซื้อ NAS มาใช้งานได้ง่ายที่สุดแล้ว เพราะเราแค่เลือกซื้อเครื่อง แล้วก็เอา Disk ใส่เข้าไป จากนั้น Config นิดหน่อยก็สามารถใช้งานได้เลย โดยไม่ต้องมานั่งติดตั้งและ Maintain พวก OS และ Software ต่าง ๆ แยกกันให้ยุ่งยากเลย

ในการเลือกซื้อ NAS สำเร็จรูปนี้ เรื่องใหญ่ ๆ ที่เราจะใช้พิจารณากันคือ ตัว NAS เครื่องนี้สามารถใส่ HDD และ SSD ได้ทั้งหมดกี่ลูก มันมีตั้งแต่ใส่ได้ 1 ลูกจนไปถึงหลักร้อยได้เลย ดังนั้นเราจะต้องมีการประเมินก่อนว่า เราจำเป็นต้องใช้มากน้อยแค่ไหน แล้วเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งานของเรา

ตัวอย่างของเคสทั่ว ๆ ไปใช้งานในบ้านสัก 3-4 คน เราแนะนำอยู่ที่ประมาณ 4 ช่องกำลังดี มีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเพียงพอกับคนในบ้าน และยังมีพื้นที่เหลือสำหรับการ Upgrade ต่อในอนาคตได้อีก เช่น เราอาจจะใส่ HDD ลูกละ 16 TB หากเราใส่จนเต็มและใช้ RAID 5 เราจะมีพื้นที่จัดเก็บแบบใช้งานจริงได้ถึง 48 TB ซึ่งก็เยอะมาก ๆ แล้วสำหรับการใช้งานตามบ้าน

นอกจากจำนวนช่องใส่ HDD ที่เราจะเห็นได้แล้ว หากเราไปซื้อรุ่นที่สูงมากขึ้นหน่อย เขาจะมีช่องสำหรับใส่ NVMe SSD มาด้วย สำหรับการใช้งานตามบ้านทั่ว ๆ ไป เรามองว่าเป็น Plus ที่ดี มีก็ดี ไม่มีก็ไม่เป็นไร เพราะมันจะเข้ามาช่วยเราในการเป็น Cache Device เพิ่มความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูลได้เมื่อเราโหลดการใช้งานหนัก ๆ

และสุดท้าย NAS เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง ดังนั้นมันจะต้องมี CPU และ RAM มาด้วย ในแต่ละรุ่นเขาอาจจะใช้คนละรุ่นกัน บางรุ่น 2 Bay เหมือนกันจะมีตัว CPU 2 Core และ CPU 4 Core ก็มีเหมือนกัน หากเราใช้งานเพียงแค่จัดเก็บและเขียนไฟล์เท่านั้น เราไม่จำเป็นต้องใช้ Performance ของ CPU และ Memory สูงมาก แต่ถ้าเราเริ่มรัน Application อื่น ๆ และ Virtualisation การมี CPU Performance สูง และ Memory เยอะ ๆ ทำให้เราสามารถรัน Application ได้อย่างราบลื่นนั่นเอง

นำมาสู่ข้อดีอย่างแรกคือ ความง่ายในการจัดหาและดูแล เนื่องจากเครื่องเขามีการประกอบมาให้เราเสร็จหมดแล้ว ทำให้ล่นเวลาในการจัดหา Hardware ต่าง ๆ มา เราแค่ซื้อทีเดียวจบเลย และพวกนี้เขาจะออกแบบมาดีให้สามารถดูแลง่าย เช่นการคิดพวกทางเดินอากาศ และออกแบบตัวเครื่อง และพวก CPU ต่าง ๆ เขาคิดหารุ่นที่มันมีประสิทธิภาพต่อพลังงานที่ดีมาให้เราแล้ว โดยที่เราไม่ต้องมานั่งเลือกเอง ซึ่งบอกเลยว่า เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และอาศัยความรู้มากพอสมควร

อีกข้อดีคือ มันมักจะมากับ OS และ Software สำเร็จรูปด้วย เรียกว่า เราหย่อน HDD เข้าไป เปิดเครื่องขึ้นมา เราแทบจะใช้งานมันได้เลย โดยของที่ติดมาให้มักจะมีการออกแบบมาเพื่อให้เราสามารถใช้งานได้ง่ายมาก ๆ ง่ายจนคนทั่ว ๆ ไปที่อ่านสิ่งที่อยู่บนหน้าจอเป็นก็สามารถทำได้แบบง่ายมาก ๆ เลยทีเดียว และยังมาพร้อมกับ Feature อื่น ๆ เช่นพวก Network Relay ที่ทำให้เราสามารถเข้าถึง NAS ของเราจากนอกบ้านได้ โดยที่ไม่ต้องตั้งค่า Network อะไรมากมายเลย

แต่มันก็มีข้อเสียด้วยเช่นเดียวกันคือ พวกอุปกรณ์ทั้งหลาย มันถูกออกแบบมาเฉพาะทั้งหมด เช่น CPU เขาติดมากับ Board เลย ทำให้เราไม่สามารถทำการ Upgrade ได้เลย ยกเว้นบางรุ่นสูง ๆ หน่อย เขาอาจจะอนุญาติให้เรา Upgrade พวก RAM และสามารถเสียบ PCIe Card เพื่อเพิ่มอุปกรณ์ต่อพ่วงได้เช่นกัน อันนี้อยู่ที่รุ่นที่เราเลือกซื้อเลยว่าเขาจะรองรับอะไรบ้าง

และอีกข้อเสีย สำหรับคนที่ต้องการจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากจริง ๆ แบบมาก ๆ การใช้งานระบบสำเร็จรูปนี้อาจจะมีราคาแพงมากกว่าระบบประกอบเองพอสมควร ดังนั้นก่อนที่เราจะประกอบ อยากให้ลองดูข้อดีข้อเสีย และประเมินสเปกที่เราต้องการให้ครบก่อนเด้อ

NAS แบบ DIY

NAS แบบ DIY เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับสายที่ต้องการเล่นสนุกกับ NAS ของเรา เพราะจริง ๆ แล้ว NAS มันก็คือเครื่องคอมพิวเตอร์ธรรมดาเครื่องหนึ่งมี CPU, RAM และ Storage ปกติเลย แค่ว่าเป็นเครื่องที่เราเปิดทิ้งไว้ เพื่อจัดเก็บไฟล์เท่านั้นเอง

ทำให้อุปกรณ์ทั้งหมด เราสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์ IT ตั้งแต่พวก Motherboard, CPU, RAM และ Storage ต่าง ๆ หรือกระทั่งการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์เก่าของเราเป็น Server ก็ได้เช่นกัน แต่เวลาเลือก แนะนำว่า ให้เราพยายามดูเรื่องของ การใช้พลังงานด้วย เนื่องจากเราจำเป็นต้องเปิดทิ้งไว้แบบ 24/7 หากเครื่องมันกินไฟเยอะ เราจะเสียค่าไฟเยอะกว่าที่ควรจะเป็น

จากตัวอย่างเครื่องเก่าเราเมื่อ 4 ปีก่อน ตอนนั้นเลือก AMD Athlon 3000G เป็น CPU เพราะ 3 เหตุผลคือ ราคาถูก, มี iGPU เผื่อเราจะ Encode/Decode Video พื้นฐานหรือจะเสียบจอออกมาดูค่าต่าง ๆ และสุดท้ายสำคัญมาก ๆ คือการกินไฟที่ต่ำมาก ๆ เมื่อเทียบกับตัวอื่น ๆ ที่ตอนนั้นนั่งหาข้อมูล

Hardware ตัวนึงที่มักจะไม่มีในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไป แต่อาจจะจำเป็นใน NAS คือ HBA (Host Bus Adapter) สำหรับเครื่องที่เราจะเสียบ HDD มากกว่าช่องเสียบ SATA บน Motherboard ซึ่งมันจะมีหลายขนาดให้เราเลือกตั้งแต่เพิ่ม 4 ลูก จนไปถึงใบละ 16 ลูกเลยก็มีให้เราเลือกซื้อตามการใช้งานเลยเหมือนกัน

เมื่อเราได้ Hardware มาแล้ว ก็มาถึงฝั่งของ Software กันบ้าง โดยเราเราสามารถเลือกใช้ OS ตัวที่เราชอบได้เลย จะใช้งาน Windows ก็ได้ (ถ้าชอบจ่ายค่า License แพง ๆ แต่ปัญหาล้านเรื่อง) หรือสามารถไปใช้งานพวก OS ที่ออกแบบมาสำหรับ NAS โดยเฉพาะเช่น TrueNAS หรือ unRAID ก็ได้เช่นกัน แต่ถ้าถามว่า เราจะเลือกตัวไหน เราแนะนำว่า ถ้าเราต้องการ Scale ขึ้นและต้องการ Performance จริง ๆ เราแนะนำเป็นฝั่ง TrueNAS ดีกว่า แต่ถ้าใช้งานตามบ้านทั่ว ๆ ไปมี HDD เหลือค่อย ๆ ซื้อมาหย่อนไปเรื่อย ๆ คนละรุ่นพวกนั้น เราว่า unRAID ก็เป็นตัวเลือกที่ดีเลยละ

นำมาสู่ข้อดีที่ 1 ของ DIY NAS คือ เราสามารถเลือก Hardware เพื่อตอบสนองความต้องการของเราได้ตรงจุดกว่ามาก ๆ เช่น เราจำเป็นต้องใช้ GPU สำหรับใช้งานกับ Media Server เราก็สามารถเสียบ GPU ตัวที่ต้องการเข้าไปทำงานได้ หรือถ้าเรามีการทำ Virtualisation เยอะ ๆ เราสามารถอัด RAM เข้าไปเยอะ ๆ ก็ได้เช่นกัน

ข้อดีที่ 2 คือ การสเกล ด้วยระบบที่เราประกอบเอง ทำให้เราสามารถสเกลเพิ่มจำนวน HDD ได้เรียกว่าไร้ขีดจำกัดเลยทีเดียว เราอยากใส่เพิ่ม เราก็แค่เอาสายมาเสียบต่อเข้าไป หรือถ้าช่องเสียบ SATA เต็ม เราก็เอา HBA Card มาเสียบ หรือใช้ ๆ ไปวันดีคืนดี CPU ไม่พอละ เราก็แค่เปลี่ยน CPU ใหม่ขึ้นไป ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ คือ เรามี Upgrade Path ที่สามารถปรับเปลี่ยนตามการใช้งานของเราได้ดีมาก ๆ

ข้อดีที่ 3 คือ ราคา พอเราประกอบเครื่องเอง เราสามารถเลือกส่วนประกอบได้ตามต้องการ ทำให้หากเรางบประมาณไม่มาก แต่ต้องการที่เก็บข้อมูล เราก็สามารถเลือก Hardware ที่อาจจะไม่ต้องแพงมาก เอาแค่ให้ทำงานได้ แล้วถ้ามีเงินค่อยไปยัด ๆ เปลี่ยนนั่นนี่เพิ่มเอาก็ได้เหมือนกัน หรือกระทั่งถ้าเรามีเครื่องคอมเก่า ๆ เราก็สามารถเอามาใช้งานได้เลย แค่ลง OS ใหม่เท่านั้นก็สามารถใช้งานได้ง่ายแล้ว

ส่วนข้อเสีย ข้อที่ 1 คือ การจัดการจัดหา Hardware ที่ยุ่งยากมาก ๆ ถึงเราจะบอกว่า เราสามารถหาได้ตามร้านขายอุปกรณ์ IT ทั่วไป แต่ของบางอย่างเช่น HBA และพวก NIC ความเร็วสูงทั้งหลายมันไม่ได้หาง่ายขนาดนั้น เราจำเป็นต้องไปนั่งหาจาก Online Shopping หรือพวกร้านมือสองที่ถอดออกมาจาก Server ที่ปลดระวางแล้ว ความยากมันคือ เราต้องมานั่งดูอีกว่าของที่เราจะกดมาใช้มัน Support OS ที่เราจะใช้งานหรือไม่

รีวิว Lian Li PC-A79 เคส Full Tower รุ่นเก่า แต่โคตรแซ่บ
เมื่อหลายอาทิตย์ก่อน เราไปงาน Jib Warehouse Sale ที่เป็นงานลดแลกแจกแถมของ Jib ไปสะดุดตากับเคสตัวนึงเข้าคือ Lian Li PC-A79 จะเป็นยังไงลองไปดูกัน

นอกจากนั้น เมื่อมันมีปัญหาอะไรบางอย่าง การเคลม Hardware ต่าง ๆ ก็ทำได้ยาก เพราะแต่ละชิ้น ก็มาจากแต่ละเจ้า บางเจ้าเคลมเร็ว บางเจ้าเคลมช้าก็มี และอีกส่วนที่เรารู้สึกว่าปัญหาเยอะคือ เคสสำหรับใส่เครื่องที่รองรับ HDD จำนวนมากมันมีน้อย และหายากกว่าที่เราคิดไว้มาก ๆ ตอนนั้นกว่าเราจะมาจบที่ Lian Li PC-A79 อันที่เคยรีวิวได้ก็เรียกว่า หมดเงินไปเยอะจนไป ๆ มา ๆ อาจจะมากกว่าการซื้อ NAS สำเร็จรูปด้วยซ้ำ

ข้อเสียข้อที่ 2 คือ มันต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และการหาข้อมูลที่ค่อนข้างเยอะ เพราะว่ามันมีตัวเลือกเยอะเต็มท้องตลาดไปหมด การจะเลือกสิ่งที่เหมาะกับเราแต่ละชิ้นรวม ๆ กันมันใช้เวลามากกว่าที่คิดเยอะมาก อาจจะมองว่ามันเป็นการเรียนรู้ก็ได้ แต่บางคน แค่ต้องการเครื่องมาเก็บข้อมูลไม่ได้อยากเรียนรู้อะไรก็อาจจะมองว่า มันเป็นเรื่องที่เสียเวลามากเกินไป ไหนจะการตั้งค่าเครื่อง การติดตั้ง Software ต่าง ๆ อีก ยิ่งถ้าเราต้องการติดตั้ง Service อื่น ๆ เข้าไป ยังไง ก็ต้องอาศัยการหาข้อมูล และการอ่านค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว

ข้อเสียที่ 3 คือ ส่วนใหญ่ OS พวกนี้มักจะมาพร้อมกับแค่ Feature พื้นฐานอย่างการเก็บไฟล์ และการทำ Virtualisation เท่านั้น ต่างจากพวก NAS สำเร็จรูปที่เขามี Software สำหรับการทำงานต่าง ๆ เช่น Synology Photo สำหรับจัดการรูปภาพ และ Synology Drive สำหรับการจัดเก็บและ Sync ไฟล์ข้ามกันไปมา ซึ่งถ้าเราอยากมีอะไรแบบนี้ เราก็จำเป็นต้องไปหา Software ที่สามารถทำอะไรแบบนั้นมาติดตั้งลงไปแทนเช่น PhotoPrism และ NextCloud

สรุป

เราคงบอกไม่ได้อย่างชัดเจนว่า เราควรจะเลือกใช้ NAS ลักษณะไหน เพราะแต่ละคนมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันมาก ๆ เอาแค่ในการใช้งานเก็บไฟล์ ก็มีรายละเอียดยิบย่อยแตกต่างกันที่ส่งผลถึงการเลือก Hardware เลยทีเดียว แต่ในบทความนี้เราได้เล่าถึงข้อดี และข้อเสียของแต่ละวิธีการ ที่เราคิดว่าน่าจะเป็นอีกข้อมูลที่ดีในการประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อได้นะ

Read Next...

แปลงเครื่องคอมเก่าให้กลายเป็น NAS

แปลงเครื่องคอมเก่าให้กลายเป็น NAS

หลังจากเราลงรีวิว NAS ไป มีคนถามเข้ามาเยอะมากว่า ถ้าเราไม่อยากซื้อเครื่อง NAS สำเร็จรูป เราจะสามารถใช้เครื่องคอมเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาเป็นเครื่อง NAS ได้อย่างไรบ้าง มีอุปกรณ์ หรืออะไรที่เราจะต้องติดตั้งเพิ่มเติม วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกัน...

รีวิว Ugreen Nexode Pro Charger ที่เบา กระทัดรัดที่สุด

รีวิว Ugreen Nexode Pro Charger ที่เบา กระทัดรัดที่สุด

เมื่อปีก่อน เรารีวิว Adapter 100W จาก UGreen ที่เคยคิดว่ามันเล็กกระทัดรัด น้ำหนักเบา พกพาง่ายที่สุดไปแล้ว ผ่านมาปีนึง เรามาเจออีกตัวที่มันดียิ่งกว่าจากฝั่ง Ugreen เช่นเดียวกันในซีรีย์ Nexode Pro วันนี้เรากดมาใช้เอง 2 ตัวคือขนาด 65W และ 100W จะเป็นอย่างไร อ่านได้ในบทความนี้เลย...

Tor Network ทำงานอย่างไร ทำไมถึงตามยากนัก

Tor Network ทำงานอย่างไร ทำไมถึงตามยากนัก

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนนานมาก ๆ แล้ว ตำรวจไทยได้จับกุมเจ้าของเว็บ AlphaBay ขายของผิดกฏหมายรายใหญ่ ซึ่งเว็บนั้นมันอยู่ใน Dark Web ที่จำเป็นต้องเข้าถึงผ่าน Tor Network วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันทำงานอย่างไร และทำไมการตามตัวในนั้นถึงเป็นเรื่องยากกัน...

Apple M4 รุ่นไหนเหมาะกับใคร

Apple M4 รุ่นไหนเหมาะกับใคร

หลังจากเมื่อหลายอาทิตย์ก่อน Apple ออก Mac รัว ๆ ตั้งแต่ Mac Mini, iMac และ Macbook Pro ที่ใช้ M4 กันไปแล้ว มีหลายคนถามเราเข้ามาว่า เราควรจะเลือก M4 ตัวไหนดีถึงจะเหมาะกับเรา...