Review

รีวิวการสอบ IETLS ที่เกือบลืมว่ามีสอบ

By Arnon Puitrakul - 07 มกราคม 2019

รีวิวการสอบ IETLS ที่เกือบลืมว่ามีสอบ

หลาย ๆ คน ถามเรามาเยอะมากในเรื่องของการสอบ IELTS วันนี้เราเลยจะมาอธิบายกันเลยตั้งแต่ตอนสมัคร ยันสอบเสร็จเลย โก !

ปล. รูปอาจจะไม่มีเยอะเท่าไหร่นะ เพราะเราไม่ได้ถ่ายมา ตอนนั้นกลัวจนไม่มีอารมณ์ทำอะไรละ !

IELTS คืออะไร

IELTS หรือ International English Language Testing System เป็นการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ โดยเขาจะประเมิน 4 ทักษะที่สำคัญคือ ฟัง พูด อ่าน และ เขียน ซึ่งเราสามารถใช้ผลสอบนี้ที่สอบจากที่ไหนก็ได้ (ที่เป็นศูนย์สอบ IELTS) ไปยื่นเพื่อใช้เป็นใบรับรองความสามารถทางภาษาอังกฤษของเราได้ เช่น การไปเรียนต่อ อะไรแบบน้ัน

โดยคะแนนที่เราได้กลับมา มันจะแบ่งออกเป็น 4 หมวดด้วยกันนั่นคือ Listening, Speaking, Reading และ Writing คะแนนแต่ละหมวดจะมีตั้งแต่ 1 ถึง 9 และจะมีอีกคะแนนอีกตัวนึงที่จะเอาทั้ง 4 หมวดมาเฉลี่ยรวมกันอีกทีนึง

หลัก ๆ แล้ว เวลาถ้าเราจะไปสมัครสอบ มันจะมีการสอบอยู่ 3 ประเภท คือ Academics, General Training และ Life Skills ก็ตามชื่อเลย ขึ้นกับว่าเราจะเอาไปใช้ทำอะไร ส่วนตัวเราตอนนั้นเราสอบแบบ Academics เห็นเหมือนว่า ข้อสอบน่าจะใกล้เคียงกันนะ ถ้าจากที่เล่ากันมามันจะมีต่างกันตรงที่ Writing ถ้าเป็น Academics มันจะเน้นไปที่การอธิบายกราฟอะไรพวกนั้นมั่ง เราจำไม่ได้ ถ้าใครรู้ก็ Comment มาบอกที

ในการสอบ ก็จะมีการจัดสอบอยู่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงฝั่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน ที่จะมีศูนย์สอบใหญ่ ๆ อยู่ 2 ที่ที่เรารู้จักคือ British Council (เราเลือกสอบที่นี่) และ IDP ถ้ามีที่อื่น ๆ อีกก็ทักมาได้นะ เพราะรู้จักแค่ 2 ที่จริง ๆ

อ่าห์ ๆ การมาสอบแบบนี้มันก็มีค่าใช้จ่ายเหมือนกันนะ นั่นคือ ถ้าสอบแบบธรรมดาคือ Academics หรือ General Training จะเสียอยู่ที่ 6900 บาทต่อรอบ (ณ ตอนที่เราสอบนะ) ส่วนถ้าใครจะต้องเอาผลสอบไปใช้กับทางฝั่งประเทศอังกฤษก็ต้องสอบแบบ UKVI หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า UK วีซ่า นั่นเอง ซึ่งจะต้องเสียแพงกว่าแบบธรรมดาสักหน่อย นั่นคือ 8800 บาท ราคาถือว่าไม่น้อยเลยนะ ตรงนี้เราแนะนำว่า ให้สมัครสอบเมื่อรู้สึกพร้อมแล้วค่อยสอบ และหาข้อมูลให้ดี ราคามันแอบโหดอยู่

ทำไมเราต้องไปสอบ

ที่มารีวิวนี้ สาเหตุที่เราต้องไปสอบตอนนั้น คือมีเหตุผล 2 ข้อคือ ใช้เป็น Exit Exam ของ ปริญญาตรี และอีกเหตุผลคือ ใช้เรียนต่อ ก็เลยเลือกสอบ IELTS แบบ Academics นั่นเอง

การสมัครสอบ

ต้องบอกก่อนนะว่า ณ วันที่เราสอบกับวันที่เราเขียนมันต่างกันค่อนข้างนานเลยทีเดียว ดังนั้นวิธีการ หรือราคาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้นะ ให้ตรวจสอบกับศูนย์สอบให้ดีก่อน

เราจะมาเล่าประสบการณ์การสมัครและสอบของ British Council นะ ส่วน IDP เราไม่เคยสอบ ก็ต้องเริ่มจากไปดูวันกันก่อนว่า มันมีรอบสอบวันไหนอย่างไรบ้าง ก่อนอื่นเราต้องดูก่อนว่า เราจะสอบไปศูนย์สอบไหน เพราะอย่าง British Council เอง ก็มีหลายศูนย์เลย เช่น ที่กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, เชียงใหม่ และอื่น ๆ อีก ซึ่งแต่ละที่ก็อาจจะมีตารางรอบการสอบที่ต่างกัน

IELTS Exam Schedule

นอกจากนั้น พอเราเข้าไปดูรอบการสอบในแต่ละศูนย์สอบแล้ว ต้องดูในแต่ละรอบด้วยว่า รอบการสอบนั้น รับการสอบแบบไหน เช่นบางรอบก็จะมีแค่ Academics อย่างเดียว ใครที่จะสอบแบบอื่นก็ต้องไปลงรอบอื่นอะไรแบบนั้น

ถ้าเราเข้าไปลงทะเบียน มันก็จะขึ้นรอบมาให้เราตามศูนย์สอบที่เราเลือก ขอให้สังเกตอย่างนึงคือ วันสอบ เขียนและพูด ถ้าเราอ่านดูดี ๆ เราจะเห็นว่า มันมีวันเดียวกัน 2 แถว แต่สิ่งที่ต่างกันคือ วันสอบพูด ที่มันจะเป็นคนละวันกัน ก็นั่นแหละฮ่ะ เพราะการสอบพูดมันต้องสอบทีละคน และใช้เวลานิดหน่อย ดังนั้นการสอบพูดมันเลยมีการเลื่อนไปวันอื่น เราแนะนำว่า ให้พยายามเข้าไปจองรอบที่สอบเขียนและพูดเป็นวันเดียวกัน จะได้ไม่ต้องนั่งรถเข้าไปสอบหลาย ๆ เที่ยว เหนื่อยรอบเดียวก็พอแล้ว

IELTS Mail from British Council

หลังจากสมัคร จ่ายตังค์ และอัพโหลดหลักฐานอะไรเสร็จเรียบร้อย ระบบก็จะส่งอีเมล์มายืนยันว่า โอเคเราส่งสอบรอบนี้เวลานี้นะอะไรแบบนั้น เรื่องของการจ่ายตังค์ เราจำไม่ได้ว่า มันจ่ายตังค์ยังไงได้บ้าง แต่ตอนนั้นเราจำได้ว่า เราจ่ายผ่านบัตรเดบิต โดยการกรอกรหัสบัตรแล้วก็ตัดได้เลย สะดวกมาก ๆ

IELTS Mail from British Council

พอใกล้ ๆ วันสอบเราก็จะได้เมล์อีกฉบับมาบอก วันเวลา สถานที่ และกฏการสอบต่าง ๆ เพื่อให้เราเตรียมตัวก่อนวันสอบอีกที การสมัครสอบก็จะมีประมาณนี่้แหละ ไม่มีอะไรมากกว่านี้

Background ทางภาษาของเรา

ก่อนเราจะบอกว่า เราเตรียมตัวยังไง เราต้องบอกก่อนว่า Background ทางภาษาของเราเป็นยังไง เพราะมันจะส่งผลกระทบต่อการเตรียมตัว ต่างคน ต่างประสบการณ์ วิธีการเตรียมตัวก็ย่อมต่างกันไป

พื้นเพของเราไม่ได้ใช่เด็กที่ท่องศัพท์เลย ไม่เคยเลยจริง ๆ ตอนเด็ก ๆ ก็คือถูกตีแมร่งทุกครั้งที่ท่องศัพท์ เพราะไม่เคยจำได้เลย จนตอนนี้นิสัยนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน ฮ่า ๆ อีกอย่าง เราเป็นคนที่ความจำแย่มาก ๆ โดยเฉพาะเรื่องเรียน แต่ถ้าเรื่องชาวบ้านนี่เก่งนัก

ส่วน Grammar ถึงเราจะเรียนในโรงเรียนรัฐบาลที่ เน้น Grammar เป็นที่ตั้ง มากว่า 10 ปีที่เราโดนมา มันก็ไม่ได้ทำให้เราเก่งขึ้นสักนิดเลย นอกจากเป็นอีหนูช่างจำ สารภาพเลยว่าตั้งแต่มาเรียนมหาลัย เราก็ลืมไปแล้ว Present Simple อะไรนั่น เมื่อก่อน ถ้าจำไม่ผิดนี่นั่งท่องกันหัวฟู มีประโยคมาให้ ต้องตอบให้ได้อีกว่า มันเป็น Tense อะไร แต่พอเข้ามาเรียนในมหาลัย เราว่ามันไม่จำเป็นเลย ทิ้ง ๆ ไปเถอะ

เพราะฉะนั้นจากทั้ง 2 จุดนี้ ในมุมมองการเรียนภาษาอังกฤษ ของประเทศไทย เราตกมันทุกเรื่อง ทั้ง ศัพท์ และ หลักภาษา ไม่รู้สักอย่าง แต่ทำไม เราเขียนได้แทบไม่ผิดเลย นี่ชมตัวเองแล้วเหรอ ? แต่เราดูงานเขียนก่อนจะเข้ามาเรียนมหาลัย กับ ตอนจบออกมาแล้ว เราบอกเลยว่า มันคนละขุมเลย

วิธีที่เราใช้อย่างนึงคือ ตอนเราเด็ก ๆ ที่บ้านเราเวลาซื้อซีดีหนังมาดู เราจะไม่ได้ดู เสียงไทย แต่เราจะดูเป็น Soundtrack แทน ทำให้เราได้สำเนียง และวิธีการพูด มาจากหนัง บางทีก็ชอบเอามาล้อเลียน พูดตามจนจำได้ เพลงเราก็เป็นโรคบ้าคนเดียวอยู่ในบ้านที่ไม่ค่อยฟังเพลงของฝั่งไทยเท่าไหร่ แน่นอนว่า เวลาเราฟังเพลง เราก็ชอบร้องตาม ร้องไม่ได้ก็ไปเปิดเนื้อแมร่งเลย มันก็ได้สำเนียง และ ศัพท์แปลก ๆ เยอะมาก ๆ

เรื่องของการพูด เราว่า จุดแรกที่ทำให้เรา รู้สึกสนุกกับการพูดจริง ๆ มันอยู่ตอนเรียนประถม (บอกเลยละกัน ตอนนั้นเราเรียนอยู่ โรงเรียนกสิณธรเซนปีเตอร์ ที่เป็นโรงเรียนเอกชนนี่ละ) ที่โรงเรียนจะมีโครงการให้เด็กออกไปพูดภาษาอังกฤษ กับคุณครูไทย หรือต่างชาติก็ได้ (ถ้าพูดกับคุณครูต่างชาติ ก็จะได้แต้มเยอะกว่า) แต่ละเทอมไม่ก็ปีนี่แหละ เราจะได้กระดาษมาแผ่นนึง ในนั้นจะเป็น List คำถามที่จะเอาไปคุย พอพูดเสร็จคุณครูก็จะเซ็นต์ในช่อง พอหมดเทอมมั่ง เราก็จะเอากระดาษนี้แหละ มานับลายเซ็นต์ และบวกเป็นแต้มกัน ใครได้เยอะสุดก็จะชนะไป ตอนเด็ก ๆ มันเป็นกิจกรรมที่เราสนุกกับมันมาก ทุกกลางวัน เราก็จะไปกับเพื่อน แล้วออกไปล่าคุณครูกัน (เพื่อล่าแต้มอะนะ ฮ่า ๆ) นั่นแหละ ทำให้เรากล้าที่จะหัดพูดมาเรื่อย ๆ คุณครูตอนประถมของเรามาอ่านแล้วน่าจะดีใจนะ

อาจจะโชคดีอีกมั่ง ที่ตอนเด็ก ๆ เราทะเยอทะยานมาก ทำให้เราเขียนโปรแกรมตั้งแต่อายุน้อย ๆ แต่สิ่งที่มากับการได้หัดเขียนโปรแกรมคือ การอ่าน Document นั่นเอง เพราะการอ่านของพวกนี้ ทำให้เรามีทักษะในการอ่านที่ค่อนข้างมาก เพราะชั่วโมงบินที่สูงนั่นเอง

น่าจะเพราะวิธีการเรียนภาษาอังกฤษด้วยการยิ่งทำยิ่งได้ ของเรา ทำให้เราไม่ถนัดพวกเรื่องหลักภาษา และ การแปล เพราะเรารู้เพราะเราใช้บ่อย ๆ ไม่ได้เกิดจากการนั่งท่องจำ และเราก็เลิกจำไปแล้วว่าอันนี้้ภาษาไทยแปลว่าอะไร ตั้งแต่ที่เลิกเปิด Dictionary อังกฤษ-ไทย นี่แหละ หลัก ๆ เราจะรู้ว่า ถ้าเราจะเขียนประมาณนี้เราจะต้องใช้คำว่าอะไร และเขียนยังไง อะไรแบบนั้นมากกว่า ดังนั้นวิธีการเตรียมตัวของเราอาจจะใช้ไม่ได้กับคนที่มี Background ไม่เหมือนเรา

แนวข้อสอบ และ การเตรียมตัว

อย่างที่บอก การสอบจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนนั่นคือ Listening, Reading, Writing และ Speaking

สารภาพบาป ณ ตรงนี้เลยว่า ก่อนการสอบเราไม่ได้เตรียมตัวเลย ยิ่งกว่านั้นคือ ลืมไปแล้วว่าสอบวันไหน จนได้อีเมล์จากระบบว่าให้ไปสอบ ซ้ำร้ายกว่านั้นอีก ถึงอีเมล์จะเตือนแล้วก่อนการสอบ ก็ยังไม่นอน เพราะนั่งทำงาน โอ๊ยยยย เด็กชั่วเอ้ยยยยย ดังนั้นการแนะนำของเราจะมาจาก ข้อสอบ ละกันว่า มันจะต้องทำอะไรบ้าง แล้วย้อนกลับไปว่าต้องอ่าน หรือ เตรียมตัวอย่างไรบ้าง

Part แรกคือ Listening แนวข้อสอบ มันจะมาเป็นข้อ ๆ และให้เราใส่หูฟังไว้ เขาก็จะเปิดไฟล์เสียงมาให้เราฟังไปเรื่อย ๆ คำแนะนำของเราอย่างแรกคือ ตั้งสติดี ๆ ไม่ต้องกลัว ว่าจะตามไม่ทัน ถ้าไม่ทันจริง ๆ ก็ทิ้งไปเลย เพราะเขาจะย้ำ 2 ครั้งมั่ง แล้วทุกครั้งที่เปลี่ยนหน้า และ ข้อ เขาจะบอกตลอดว่า ให้เปิดไปที่หน้าที่เท่าไหร่ และ ข้ออะไร ให้ทำอะไร เขาจะบอกหมด เช่นว่า ให้เปิดหน้าแรก ข้อที่ 1 และฟังบทสนทนาดังนี้และให้ตอบคำถามไปเรื่อย ๆ อะไรแบบนั้น ดังนั้นสตินี่สำคัญมาก ๆ แต่สิ่งที่เราฟังบางที มันจะไม่ได้แค่ฟังแล้วเติมเลย เราจะต้องดูด้วยว่า คำถามเขาถามอะไร อย่างตอนนั้นเราเคยโดนประมาณว่า มีแผนที่มาให้ แล้วมีช่องให้เติมบางทีอยู่ และบทสนทนาเป็นการแนะนำสถานที่ ประโยคมันจะมาประมาณว่า

Swimming Pool is next to the Changing Room

ดังนั้น เราอาจจะต้องไปหาในข้อสอบว่า โอเค อี Changing Room อยู่ตรงนี้ ข้าง ๆ กัน ที่เป็นช่องว่าง ๆ ต้องเป็น Swimming Pool แน่ ๆ ทั้งข้อสอบมันจะประมาณนี้แหละ ต้องจับ Keyword ให้ได้ ทำให้เราต้องมีสติมาก ๆ นั่นเอง

อีกสูตรนึงที่ทำให้เราเดาได้ว่า เราไม่ทันแล้วแน่ ๆ คือ เวลาสอบ อย่างของ British Council เขาจะมีโต๊ะขาวยาว ตัวนึงจะนั่ง 2 คนติด ๆ กัน และเสียงมันจะรันไปพร้อม ๆ กัน เดาไว้ก่อนว่า ถ้าคนข้าง ๆ เขียนแล้วเรายัง เดาก่อนเลยว่า ชิบหาย เราไม่ทัน ก็ให้ข้าม ๆ ไป แล้วไปตั้งใจฟังที่เหลือจะดีกว่า แต่ต้่องบอกเลยนนะว่า เขาพูดช้าชิบหายเลย ถ้าไม่ทันก็น่าจะ กำลังคิดอยู่มั่งว่า อีคำตอบที่เราต้องตอบมันสะกดยังไง

แพร่มมาซะยาว สรุปของ Part Listening การเตรียมตัวคือ ให้หัดฟังมาเยอะ ๆ ฟังจาก พวก Podcast ต่าง ๆ ก็ได้ ถ้าอยากได้แบบเนียบ ๆ ก็เริ่มจาก BBC แล้วค่อยกระโดดไปพวกที่ยาก ๆ ที่เป็นช่องธรรมดาที่เป็นเรื่องที่เราสนใจก็ได้ ก็จะช่วยให้เราคุ้นชินกับภาษา และการขึ้นลงของเสียงมากขึ้นนั่นเอง

ถัดไปคือ Reading ข้อสอบก็จะแนว ๆ มี Passage มาให้ ด้านล่างก็จะให้เราตอบคำถามเป็น Choice มั่งนะ จำไม่ได้ สุดที่พีคคือ Passage ที่ให้มามันมีหลายข้ออยู่ และแต่ละข้อมันธรรมดาสักที่ไหน ยาวชิบหายวายป่วง บอกเลยว่า ถ้าแกนั่งอ่านทั้งหมดแล้วมาตอบ รับประกันว่าไม่มีทางทันแน่นอน เราว่าเขาออกแบบมาแบบนี้เพื่อดักควายคนนั่งอ่านหมดนี่แหละ วิธีที่จะชนะคือ Skim ก่อน แล้วพยายามจับใจความให้ได้ว่า Paragraph นี้พูดประมาณไหน แล้วเขียนไว้ เพราะสุดท้ายแล้ว การเขียนทั้งหมด มันจะมี Main Topic และ Support ของตัวมัน อยู่แล้ว การอ่านจับใจความคือ การที่เราถอด 2 อย่างนี้ออกมาให้ได้นี่แหละ แล้วค่อยไปอ่านคำถาม คำถามถามอะไรแล้วเราก็กลับมาดูว่า มันอยู่ตรงไหน มันจะทำให้เร็วขึ้นมาก ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ก็ประมาณว่า ถ้าเราต้องมานั่งทำ Search ทุกครั้งก็เสียเวลาแย่ เราก็ทำ Index มันขึ้นมาสิ จะได้หาได้ง่ายขึ้น

หลักการของการทำข้อสอบแบบนี้ ในเวลาที่จำกัดคือ ทุกวินาทีมีค่า ถ้าเรามานั่งอ่านใหม่ทุกครั้ง โคตรไม่คุ้มเลย เพราะแต่ละ Passage มันจะมีข้อสอบอยู่ 3-4 ข้อเองมั่ง ถ้าต้องมานั่งอ่านหมดนี่จะไม่ทัน นอกจากนั้น แรงคนเรามันมีจำกัดนะเฟ้ย ใช้หมด Part นี้ก็ไม่ต้องทำอะไรกินที่เหลือแล้ว ขยับตัวให้น้อย แต่มีประสิทธิภาพมากที่สุด น้อยแต่มากนี่แหละ

ดังนั้นวิธีการเตรียมตัวของ Part นี้คือ ให้พยายามไปหา Passage มา แล้วมานั่งดูสิ๊ว่า แต่ละ Paragraph พูดถึงเรื่องอะไร จดไว้ แล้วพยายาม แยก Main Topic และ Support ออกมาเรื่อย ๆ ทำแบบนี้บ่อย ๆ เข้าน่าจะทำให้เราอ่านได้เร็วขึ้นเยอะเลย

ถัดไปคือ Writing หรือ การเขียน นั่นเอง เราว่า Part นี้มันอะไรที่สนุกมาก เพราะเราได้ปลดปล่อยจินตนาการออกมาได้เต็มที่ แต่ก็ในเวลาที่จำกัดนะ ถถถถ

คำถามมันจะประมาณว่า ให้เราลองเขียนเรื่องนั่น เรื่องนี้สิ๊ ไหนลองเปรียบเทียบ A กับ B หน่อยสิ๊ อะไรแบบนั้น อย่างเช่นตอนนั้นเราโดนคำถามว่า

คุณว่าเมืองที่ไม่อนุญาติให้คนสร้างบ้านที่ไม่เหมือนคนอื่นเพื่ออนุรักษ์ แบบไหนดีกว่า

พร้อมกับบอก จำนวนคำด้วยว่า ห้ามต่ำและสูงกว่าเท่าไหร่ อ่านเจอแบบนี้ปุ๊บ ตอนนั้น Pattern ในหัวเรามาละ โอเค Compare & Contrast แน่นอน มันก็จะมีวิธีการเขียนของมัน อันนี้เราเรียนจากวิชา Academics Writing ตอน ป.ตรี เพราะตอนนั้น เขาค่อย ๆ สอนที่ละแบบเลยว่า ถ้ามาเจอแบบนี้ควรจะต้องเขียนยังไง ใช้คำประมาณไหน แล้วค่อย ๆ พัฒนาสไตล์การเขียนของตัวเองขึ้นมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่เรียนมา ก็ทำให้เราเขียนเชิงวิชาการดีขึ้นมาก ๆ

- Introudction
- Paragraph 1 : Main Topic
	- Support 1
	- Support 2
	- Support 3
- Paragraph 2 : Main Topic
	- Support 1
	- Support 2
	- Support 3
- Paragraph N : Main Topic
	- Support 1
	- Support 2
	- Support 3
- Conclusion

ตัวอย่างโครงสร้างของ Passage

วิธีการจัดการกับข้อสอบพวกนี้คือ ทำกลับด้านกับตอนทำข้อสอบ Reading คืออการที่เราพยายามที่จะสร้าง Main Topics และ Support ของแต่ละ Paragrph ออกมา ตัวอย่างจากด้านบน เราจะเห็นว่า เราจะแบ่งมันออกมาเป็นชิ้น ๆ ตั้งแต่ Introduction เพื่อปูเรื่องในน่าสนใจ จนไปที่แต่ละ Paragraph ที่จะมีเรื่องเป็นตัวของมัน พร้อมกับ Supporting Point ที่เป็นตัวเสริมให้ Main Topic ของเรานั่นดูน่าเชื่อถือมากขึ้น จนสุดท้ายคือ Conclusion ที่เป็นการ Recap เรื่องจากข้างบน พร้อมกับแนบข้อคิดเข้าไปเป็นอันจบ

จากนั้น พอเราได้โครงสร้างพวกนี้มาปุ๊บ ที่เหลือเราก็แค่เขียนมันออกมาให้เป็น Passage ได้แล้ว โดยอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงคำนิดหน่อย (ห้ามเปลี่ยนแบบ เปลี่ยนเรื่องไปเลยนะ ไม่งั้นแกจะเขียนโครงสร้างออกมาก่อนทำไม) เติมคำเชื่อมหน่อยอะไรแบบนั้น เท่านี้เราก็จะได้ Passage ที่อ่านง่ายออกมาและ

เพิ่มเติมนิดนึง เรื่องของ คำศัพท์ ส่วนตัวเรามองว่า การใช้ศัพท์ยากไม่ได้แปลว่า แกจะดูเก่ง อีกอย่าง การเอามาใช้ในห้องสอบแบบไม่รู้จริง เราบอกเลยว่า คนตรวจดูออกนะว่า แกรู้จริงรึเปล่า อ่านเอาก็รู้แล้ว ดังนั้น ศัพท์ที่ใช้ เอาเท่าที่เรามั่นใจ และพบเจอได้บ่อย ๆ อย่าใช้มั่วซั่ว ถ้านึกไม่ออกจริง ๆ พยายามอย่าใช้คำนั้น แล้วอธิบายในลงไปในประโยคแทน พูดง่าย ๆ คือ อย่าเสี่ยงกับอะไรที่เราไม่แน่ใจดีกว่า ผิดมามันจะโดนหัก

ถ้าสอบแบบ Academics มันจะมีข้อนึงที่ถ้าจำไม่ผิดมันจะไม่เหมือนกับ General Training คือ ข้อสุดท้าย ที่เราเจอมาคือ จะให้กราฟมา แล้วให้เราเขียนอธิบาย อันนี้เรามองว่ามันเป็น Pattern ที่ต้องปรับหน่อย เพราะกราฟแต่ละกราฟมันก็ไม่เหมือนกัน กราฟแท่ง กับ กราฟวงกลม มันก็ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่อยากให้จำคือ แต่ละแบบมันสื่อข้อมูลยังไง และ คำที่ใช้ในการอธิบายกราฟ เช่น Exponentially Increase หรือจะเป็น Gradually Decrease พวกนี้เป็น Adjective ที่จะทำให้การอธิบายของเราง่ายขึ้นมาก จำเข้าไปหน่อยก็ดี

การเตรียมตัวของ Part Writing คือ อ่านเยอะ ๆ และ หัดเขียน ทำได้แค่นั้นเลย ไม่มีทางลัด พยายามลองอ่านและเขียน Passage หลาย ๆ แบบ เช่นอันแรกอาจจะเป็น Compare & Contrast อันถัดไปคือ Cause & Effect อะไรประมาณนี้ มันจะช่วยเราได้มาก สูตรโกงตายว่างั้นเถอะ ถ้าเราเขียนบ่อย ๆ เราจะจำ Pattern ของการเขียนแต่ละแบบได้ พอมาเจอแนวมันก็ไม่หนีไปไหนหรอก จับ Pattern ลอกลงมาได้เลย แต่ในชีวิตจริงเราว่าทำแบบนี้มันไม่ดีเลย แต่ถ้าในห้องสอบก็อีกเรื่ีองนะ ฮ่า ๆ

และ Part สุดท้ายคือ Speaking อันนี้สนุกชิบเลยละ ลักษณะของการสอบคือ เราจะเข้าไปในห้องที่ มีโต๊ะ 1 ตัว และเก้าอี้ 2 ตัว พร้อมกับผู้สอบเรา เขาก็จะทักทาย พร้อมกับบอกวิธีการโน้นนี่นั่น และที่อัดเสียง

และเขาก็จะมีชุดคำถาม เราไม่รู้ว่ามันคือยังไง เอาเป็นว่า เขาก็จะถามเรา แล้วให้เราตอบไปเรื่อย ๆ เขาก็จะดูพวก สำเนียง วิธีการออกเสียงว่าชัดมั้ย ฟังรู้เรื่องมั้ย ติด ๆ ขัด ๆ มั้ย (จริง ๆ มันมีสูตรอยู่นะ ถ้าติด ๆ ขัด ๆ) แต่มันจะมีข้อนึงที่ เขาเหมือนกับมีกระดาษคำถามอยู่ในถุง แล้วเขาก็จะจับออกมาอันนึงมาถามเรา แล้วให้กระดาษกับดินสอเรามา Draft ว่าเราจะตอบยังไง ให้เวลา 1 นาที เพื่อตอบคำถามนี้ให้ไม่น้อยหรือไม่มากกว่า 3 นาทีนี่แหละ ตอนนั้นเราคือตัดสินใจที่จะไม่เขียนแล้วด้นเลย ก็รอดเฉย ได้ยังไงว้าาาา

ต้องบอกก่อนว่า ก่อนสอบคนสอบจะพูดเลยว่า บางทีคำถามมันอาจจะไม่ Make Sense ก็ให้พยายามตอบมาละกัน เออ แมร่งจริง คำถามนึงที่ โดนไปจุกเลย จนเขาถามว่า Are you understand? คือ

If you have a change, would you buy a boat?

บ้าเอ้ย ตรูจะรู้มั้ยละ ไม่รู้โว้ย ถ้าเรือดำน้ำก็จะบอกเลยว่า ลุงแถวนี้ชอบ ถามมาแบบนี้จะให้ตอบยังไง ตอนนั้นเลยตอบไปประมาณว่า

I think.. if I have a change I wouldn't buy a boat for sure. Because I don't live by a seashore or the place that uses water as a transportation. If I have a change, I would buy a car instead.

อะสวยไปอี๊ก และอีกคำถามที่โดนจำแบบเป๊ะ ๆ ไม่ได้ละ แต่ประมาณว่า ถ้าเรามีลูก เราจะสอนโน้นนี่นั่นลูกอะไรสักอย่างยังไง โว้ยยย ตอนนั้นคือ กรูโสดไม่คิดจะมีใครด้วยซ้ำ นี่แกล่อไปตอนที่ตรูมีลูกแล้วเหรอเฮ้ยยยยยย เออ แกชั้นเชื่อแล้ว ว่าบางที่มันไม่ Make Sense

ออกมาถามเพื่อนที่มาสอบด้วยกัน นางสอบแบบ UKVI เลยแยก Speaking ไปเป็นอีกคิวนึง ก็โดนแบบโอเคอยู่ แต่ทำไมตรูโดนอะไรแบบเน้ ๆๆๆๆ

สำหรับวิธีการเตรียมตัวก็ อื้ม ยากเลยแฮะ ก็แนะนำให้ฟังเยอะ ๆ ละกัน เราไม่รู้จะทำยังไง ให้ลองฟัง แล้วลองพูดตาม แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องกล้า นะ เราว่า โมเม้นต์นั้น ถ้าใครไม่กล้าคือ จบ เลยนะ ให้ใจเย็น ๆ คุมสติไว้ ตอบไม่ได้ก็.. พูดเลยว่าไม่ได้ จากประสบการณ์ตอนเราสัมภาษณ์ AFS คือ จริงใจไว้ อย่าตอแหล ฮ่า ๆ

การสอบ

อย่างที่เราได้บอกไปในส่วนของการสมัคร หลังจากเราสมัคร และจ่ายเงินไปแล้ว พอใกล้ ๆ วันสอบ เราก็จะได้อีเมล์บอกวัน เวลา และสถานที่อะไรพวกนั้น ก็ให้เราเดินทางไปตามวันและเวลานั้นแหละ เราแนะนำว่า ให้เราถึงก่อนเวลานัดสัก 1 ชั่วโมง ให้กินข้าวมาให้เรียบร้อยเลยนะ เพื่อมาดูที่นั่งสอบ และสงบสติอารมณ์สักหน่อย

พอถึงเวลา เขาจะให้เราไปฝากกระเป๋า (เครื่องเขียน และของอื่น ๆ ไม่ต้องเอาเข้าไปเลยนะ ห้ามมมมม ให้เอาไปแต่ บัตรประชาชน หรือ Passport สำหรับใครที่ใช้ Passport เป็นหลักฐานในการสมัคร) อันนี้ก็แนะนำอีกว่า ให้รีบ ๆ ไปเพราะแถวมันจะยาวมาก โดยที่เวลาฝาก เขาจะเอากระเป๋าเราไปผูกกับ Tag และให้ Tag ที่หน้าตาเหมือนกันมา พอสอบเสร็จ เราก็เดินมาเอากับพี่เจ้าหน้าที่โดยการยื่น Tag ที่เราได้มาให้พี่เขา เราก็จะได้กระเป๋าคืน

พอฝากกระเป๋าเสร็จ ก็รีบ ๆ เดินหน่อย เพราะเราก็ต้องไปที่โต๊ะของเจ้าหน้าที่ เขาจะมีแถวให้เลย ที่จะตรวจบัตรประชาชนเรา และ ถ่ายรูปเราไว้ จากนั้น เราก็เดินไป ก็จะมีเจ้าหน้าที่อีกชุด มาลูบ ๆ คลำ ๆ เราเพื่อตรวจว่า เราไม่ได้เอาของที่ทุจริตเข้าไปจริง ๆ (มันจะหวิว ๆ หน่อย ๆ ฮ่า ๆ)

ในห้องสอบ (เราสอบศูนย์ Bangkok จะสอบที่โรงแรง The Landmark Bangkok) จะเป็นเหมือนห้อง Ballroom ที่เปิดกำแพงออกหมด แล้วเต็มไปด้วยโต๊ะสอบมากมาย ตอนเราเข้ามาในห้อง ก็จะมีเจ้าหน้าที่อีกชุดมาถามว่า เรานั่งที่นั่งไหน แล้วบอกทางเราไป ไม่ต้องกลัวว่าจะนั่งผิด เพราะที่โต๊ะ มันจะมีชื่อแปะไว้เลย นั่งให้ถูกโต๊ะนะ

ลักษณะของโต๊ะ ก็คือจะเป็นโต๊ะขาวปูผ้าปกตินี่แหละ โต๊ะ 1 ตัวจะนั่ง 2 คน ห่างกันเล็กน้อย บนโต๊ะของแต่ละคนก็จะมีข้อสอบคว้ำไว้ (มีป่าวหว่าจำไม่ได้) พร้อมกับ ยางลบ ดินสอ เครื่องเขียนต่าง ๆ ที่เขาเตรียมให้ และ เครื่องฟังกับหูฟัง สำหรับ Part ของ Listening นั่นเอง

อากาศ เราแนะนำว่า ถ้าใครขี้หนาว ให้เอาเสื้อกันหนาวเข้าไปด้วย เพราะมันแอบเย็นหน่อย ๆ แต่เราไม่ใช่คนขี้หนาว เลยไม่ได้มีปัญหาอะไรเท่าไหร่ ก็ไม่ได้เอาเข้าไปด้วย โชคร้าย หรือดีก็ขึ้นกับคนที่นั่งสอบข้าง ๆ เราด้วย บางทีเราอาจจะไปเจอกับคนนั่งข้าง ๆ ที่ีทำข้อสอบเสียงดัง หรือชอบทำโน้นนี่นั่นหล่น จนน่ารำคาญก็จงระงับใจไว้ อย่าพึ่งเจี๊ยนมัน !! และ ถ้าเราไม่ชอบแบบไหนก็อย่าทำแบบนั้น จงเคารพกันและกัน เพราะยังต้องอยู่ด้่วยกันอีกหลายชั่วโมงนะ

ไม่ต้องกลัวนะว่า การสอบ Listening แล้วเครื่องเสียงจะเสีย หรือเสียงเบาเกินจนไม่ได้ยิน เพราะก่อนการสอบ Listening เขาจะมีไฟล์เสียงสำหรับการทดสอบอยู่ และถ้ามีปัญหาให้ยกมือเรียกเจ้าหน้าที่มาจัดการให้ได้เลย หรือถ้าระหว่างสอบแล้ว ไม่ได้ยิน เราก็สามารถปรับเสียงขึ้นลงเองได้ตามใจชอบเลย

การสอบตรงนี้จะสอบในส่วนของ Listening, Reading และ Writing ตามลำดับ ก็จะเสร็จตอนเที่ยงมั่งตามกำหนดการ พอหมเวลาส่วนสุดท้ายแล้ว เขาจะให้เราวางมือ เจ้าหน้าที่ก็จะมาเก็บข้อสอบเราไป พอเก็บหมด เราถึงจะลุกออกไปได้ พร้อมกับดึงสติ๊กเกอร์ที่แปะไว้ที่โต๊ะออก ในนั้นมันจะมีชื่อ และรหัสสอบของเรา ไว้เช็คผล โดย เขาจะให้คนที่สอบ Speaking ตอนบ่ายออกไปก่อน เพราะตอนนั้นเหมือนจะเลทอะไรไม่รู้นี่แหละ เราก็เดินออกไปเอากระเป๋า และ ลงลิฟท์ไปชั้นที่ต้องสอบ Speaking ปรากฏว่า เชี้ยยย เราอยู่คิวที่ 2 เลยมั่ง สอบข้างบนมายังไม่ทันหายตื่นเต้น แมร่งจะสอบ Speaking แล้ววว

หลัก ๆ เลยก็คือ เมื่อเราลงมาแล้วให้ไปที่ห้องที่เขากำหนดไว้ จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจบัตร ดูคิว และรับฝากกระเป๋าให้เรา จากนั้นเขาจะให้เรานั่งรอที่เก้าอี้ตรงนั้นแหละ ดีนะที่ก่อนจะเข้าห้องนั้นไปฉี่แล้ว ไม่งั้นนี่ตื่นเต้นจนปวดฉี่แน่ ๆ

จากนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่พาไปรอที่หน้าห้องสอบ หน้าห้องสอบก็จะมีเก้าอี้อยู่ 1 ตัวอยู่ สำหรับคนที่จะเป็นเหยื่อรายต่อไป จากนั้น เจ้าหน้าที่ก็จะมาเรียกเราเมื่อกรรมการสอบพร้อมแล้ว เข้าไปในห้องก็จะเป็น ประมาณห้องรับรอง ห้องเล็ก ๆ นี่แหละ ที่ในนั้นมี โต๊ะ 1 ตัว เก้าอี้ 2 ตัว และ กรรมการ 1 คนนั่งอยู่ในห้อง บรรยากาศมันก็จะเย็น ๆ หน่อย ๆ ฮ่า ๆ ประเด็นคือ ไปเจอกับกรรมการที่ดูโหดมากตอนช่วงเช้า เปิดห้องเข้ามาตอนบ่ายสอบ เข้ คนเดียวกัน !!!! ชิบหายยยย คือระหว่างสอบก็คือ เล่นมุขอะไรไป ไม่ขำสักนิด จะเส้นลึกไปไหนฮ่ะ !!!! ส่วนสอบอะไรก็อย่างที่เล่าไปแล้วในส่วนของ แนวข้อสอบ และ การเตรียมตัว

หลังจากเสร็จก็คือ เหงื่อท่วม กลัวชิบหาย !!! กลัวกรรมการกินหัวเอา แงงงงง หน้าพี่จะดุไปไหน และสุดท้ายเราก็จะเดินไปเอากระเป๋าคืนจากห้องที่เราฝากไว้ตอนบ่าย และเดินจากไปแบบเท่ ๆ พร้อมกับความกลัวว่า ผลจะออกมาเป็นยังไง

ประกาศผลแห่งชีวิต

IELTS Mail from British Council

ผ่านไปราว ๆ 2 อาทิตย์หลังจากสอบเสร็จ โชคชะตาก็ให้ผลสอบออกมาจนได้ โดยระบบก็จะส่งอีเมล์ มาบอกว่า ผลสอบได้ถูกส่งแล้ว พร้อมกับเลข Tracking ไปรษณีย์ (สำหรับคนที่เลือกรับผลทางไปรษณีย์) แต่เราสามารถเข้าไปตรวจสอบผลทางเว็บได้ก่อนเลย โดยการเข้าไปในเว็บที่เขาให้มา และกรอกรหัสผู้เข้าสอบที่เขาให้เราแกะจากโต๊ะมา ผลก็จะออกมานั่นเอง

ส่วนผลของเรา ขอไม่บอกละกันนะ เป็นความลับอุอิ บอกได้แค่ว่า ไม่ต่ำและไม่สูงมาก พอใช้ได้เกิน 7 แน่ ๆ เอาเป็นว่า เรารอด ที่จะผ่าน Exit Exam ของ ป.ตรี และยื่นป.โทได้แบบชิว ๆ ละกัน

ผลสอบมีอายุ 2 ปีนะจ๊ะ เพราะฉะนั้น ถ้าเลยกำหนดไปแล้วจะใช้ไม่ได้แล้วนะ ต้องสอบใหม่ แงงงงง

บทส่งท้าย

IELTS Exam Result

ก็เป็นการไปสอบที่อุตส่าห์ซื้อหนังสือมาเป็นชุด แต่สุดท้ายก็... เหอะ ๆ อย่าบอกแม่นะ ว่าไม่ได้อ่าน ไม่สิไม่ได้เปิดดูเลย แต่ได้คะแนนเยอะแบบนี้ก็ดีใจแล้วละ เรียกได้ว่าโชคช่วยเลยละมั่งฮ่า ๆ ตอนนั้นลืมแล้วว่ามีสอบ แถมคืนก่อนสอบก็คือ ยังไหม๊ได๊นอน เพราะนั่งทำงานอยู่ แล้วพออยู่บนรถเมล์ก็เหมือนอะไรดลใจให้ Google หาศัพท์ที่ใช้อธิบายกราฟ แล้วมันดันออกจริง โว้ยยย แต้มบุญหมดแล้วมั่งนั่น แต่เราบอกอย่างนึงเลยว่า ข้อสอบมันไม่ได้ยากขนาดนั้น ถ้าเราไม่กลัวมัน เราเจอคนมาเยอะแล้วละที่จริง ๆ แล้วก็ได้นิหว่า แต่กลัวจนผิดไปหมด เพราะเราก็เป็นหนึ่งในนั้น ก็บอกเลยว่า ต้องเอาชนะความกลัว เปลี่ยนมันให้กลายเป็นความมั่นใจให้ได้ จุดเริ่มต้นแมร่งน่ากลัวสุดแล้ว พังมันออกมาได้ และตั้งใจ เราก็จะได้เองแหละเนอะ ~

ประสบการณ์การ การสอบของเรา กับคนอื่นอาจจะไม่เหมือนกันนะ (ของเราจะดูเรียล ๆ หน่อย เรียลชิบหาย !!) อย่าอ่านของเราแล้วปักใจเชื่อ ลองไปอ่านของคนอื่นควบคู่ไปด้วยละกัน และอย่าทำตัวแบบขี้ลืมแบบเราจะดีกว่านะฮ่า ๆ เราจริง ๆ ก็ไม่ได้เกิดมาแล้วเก่งหรอก แต่เราว่า เราอาศัยเวลามากกว่า ใช้เวลากับมัน อยู่กับมันไป เราก็จะได้แบบ เชี้ย เราได้ ได้ไงฟร๊ะ ! เอง สำหรับวันนี้สวัสดี

และตอนนี้เรามีเพจแล้วนะ ถ้าอยากติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และ Lifestyle ก็สามารถเข้าไปติดตามเราผ่านเพจ arnondora ได้เลยนะฮ่ะ 😁

Read Next...

รีวิว DJI Mic 2 ไมค์สำหรับ Content Creator ที่ดีที่สุดในตอนนี้

รีวิว DJI Mic 2 ไมค์สำหรับ Content Creator ที่ดีที่สุดในตอนนี้

ก่อนหน้านี้เราตามหาระบบอัดเสียงที่เข้ากับการทำงานหลาย ๆ แบบของเรามานานมาก ๆ ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานสูง ต้องการให้รองรับกับอุปกรณ์หลาย ๆ ชิ้นได้ง่าย วันนี้เราเจอแล้วกับ DJI Mic 2 จะเป็นยังไงไปดูได้ในรีวิวนี้เลย...

รีวิว 2 ปีกับ ORA Good Cat และ Software ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

รีวิว 2 ปีกับ ORA Good Cat และ Software ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ไม่น่าเชื่อว่า เวลาผ่านไปเร็วขนาดนี้ ตอนนี้น้องไฟท์ หรือรถ ORA Good Cat มาอยู่กับเรา 2 ปีแล้ว วันนี้เราจะมารีวิวให้อ่านกันว่า 2 ปีที่ผ่านมา อะไรที่เป็นปัญหา และ ในรอบปีที่ผ่านมา เราเสียค่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่กับรถคันนี้ไปบ้าง เผื่อจะเป็นข้อมูลสำหรับหลาย ๆ คน...

รีวิว Sony ECM-M1 โคตร Shotgun Microphone อเนกประสงค์ ได้หมดจบทุกงาน

รีวิว Sony ECM-M1 โคตร Shotgun Microphone อเนกประสงค์ ได้หมดจบทุกงาน

ก่อนหน้านี้ เราใช้ Wireless Microphone ถ่ายในห้องนอนเล็ก ๆ ของเรา ซึ่งต้องทั้งชาร์จแบต และเสียบเปิด เสียเวลา Setup พอสมควร ทำให้มองหาอะไรที่ง่ายกว่านั้น จนมาเจอกับ Sony ECM-M1 Shotgun Microphone ตัวเด็ดจาก Sony จะเป็นยังไงอ่านได้ในรีวิวนี้เลย...

รีวิว MOFT Snap Invisible Phone Tripod ขาตั้งกล้องพับได้แบบล้ำ ๆ

รีวิว MOFT Snap Invisible Phone Tripod ขาตั้งกล้องพับได้แบบล้ำ ๆ

หลังจากที่ Moft ออกของอุปกรณ์ Magsafe และแม่เหล็กมา จนกลายเป็นของยอดนิยมไปแล้ว แต่ตัวเก่า Stand มันตั้งได้แค่ 2 แบบเท่านั้นคือ แนวตั้ง และ แนวนอน มันไม่สะใจสำหรับบางคน ในรอบนี้ Moft มาใหม่แบบสับด้วย โคตร Stand ที่ตั้งได้ 3 โหมด ครอบคลุมการใช้งานหลากหลายมาก ๆ...