Review

รีวิว Sony A7IV สุดยอดกล้อง Hybrid Full Frame จากญี่ปุ่น

By Arnon Puitrakul - 16 ตุลาคม 2023

รีวิว Sony A7IV สุดยอดกล้อง Hybrid Full Frame จากญี่ปุ่น

ตั้งแต่ที่เราเข้าวงการกล้อง Sony มา โหววว มันนานมาก ๆ แล้วละ ตั้งแต่เราเริ่มทำช่อง Youtube สักพักนึง ตอนนั้นเราใช้ Sony A7II แต่พอเราต้องการความจริงจังมากขึ้น ต้องการ Feature สำหรับการถ่ายวีดีโอร่วมด้วย เราเลยมองหากล้องสักตัวที่จะเข้ามาตอบโจทย์การทำ Content ของเรา เลยกลายเป็น โดนตกเบ็ดแน่นอน กับ Sony A7IV เรียกว่า สุดยอดกล้อง Hybrid ถ่ายภาพก็ดี วีดีโอก็ได้ จะเป็นยังไงมาดูกันเลย

Sony A7 Series

สำหรับคนที่ยังไม่เคยเข้าวงการกล้อง Sony เราขอเกริ่นถึง Product Line กันก่อน โดยตัว Sony A7 Series เขาจะเป็นกล้อง Sensor ขนาด Full Frame ทั้งหมด เขาจะแบ่งเป็น 4 รุ่นหลัก ๆ

เริ่มจาก Sony A7 ไม่มีอะไรลงท้าย จะเป็นกล้องสำหรับทำงานแบบ Hybrid เรียกว่า ถ่ายภาพนิ่งก็ได้ วีดีโอก็ได้เหมือนกัน มี Feature ในการทำงานทั้งสองส่วนอย่างลงตัว สมดุล หรือกระทั่งการทำงานทั่ว ๆ ไป สามารถตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ได้

ถ้าเราทำงานถ่ายภาพนิ่งจริงจังมากขึ้น ต้องการ Resolution สูง ๆ หน่อย Sony จะมี A7R หรือ Resolution โดยเขาจะมาพร้อมกับ Sensor ความละเอียดสูงมาก ๆ มี Feature สำหรับช่วยถ่ายภาพนิ่งที่ดีมาก ๆ ราคามันก็จะบวกเข้าไปอีก

หรือถ้าเราทำงานวีดีโอ เน้น การถ่ายวีดีโอเป็นหลัก พวกนี้เราไม่ต้องเน้น Sensor Resolution มากนัก เน้นการเพิ่มขีดความสามารถของ Sensor ให้ทำงานในที่แสงน้อยได้ดีขึ้นมาก ๆ รองรับการถ่ายวีดีโอที่ยืดหยุ่นมากขึ้น รองรับ Format สำหรับการถ่ายวีดีโออย่างครบครัน ก้ต้องเป็น ตระกูล Sony A7S แต่ถ้าใครบอกว่า ทำงานวีดีโอจริงจังมาก ๆ เขาจะมีพวก Cinema Line ด้วย เช่น FX30 และ FX3 เป็นต้น

พอมาหลัง ๆ คนเริ่มอยากได้กล้อง Full Frame ขนาดเล็กกะทัดรัด น้ำหนักเบา และ พกพาสะดวก ทาง Sony ตอบสนองผู้ใช้กลุ่มนี้ด้วยการออกตระกูล A7C หรือ Compact ออกมา ล่าสุดพึ่งได้รับการอัพเกรดเป็น A7CII แล้ว ส่วนใหญ่พวกนี้ เขาจะเอา A7 ใน Generation ปัจจุบันมาตัด Feature บางอย่างออก และ เพิ่มของใหม่ที่พึ่งออกบางอย่างเข้าไป และอีกตัวที่ออกมาพร้อมกัน คือ A7CR หรือก็คือ A7R ในร่างเล็กลงนั่นเอง

เมื่อเอามารวม ๆ กันทำให้ Product Line A7 ของ Sony ค่อนข้างครอบคลุมการทำงานสำหรับคนส่วนใหญ่มาก ๆ ตั้งแต่ เน้นวีดีโอ เน้นภาพนิ่ง จนไปถึงกลุ่ม Hybrid และ กล้องขนาดเล็กทั้งหลาย แต่ถ้าเราต้องการความสุดกว่านั้น เขามีพวก A9 และ A1 อีก ซึ่งตัวที่เราจะเอามารีวิวในวันนี้จะเป็น Sony A7IV หรือ A7 ใน Generation ที่ 4 นั่นเอง

กล้อง Hybrid ที่ดี ควรเป็นอย่างไร ?

เพื่อให้เราสามารถตีโจทย์ว่า กล้องตัวนี้มันดีหรือไม่ดียังไง เรามาเริ่มจากตีโจทย์กันก่อนว่า กล้อง Hybrid ที่ดี ควรจะมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ?

ถ้าเราไปเดินดูกล้องตามท้องตลาด เราจะได้ยินคำว่า Hybrid Camera เยอะมาก ๆ เป็นกลุ่มกล้องที่ได้รับความนิยมสูงมาก ๆ ในปัจจุบัน เพราะมันควรเป็นกล้องที่เรียกว่า Jack of all trades มาก ๆ กล่าวคือ มันจำเป็นต้อง ทำได้ดีในทั้ง การถ่ายภาพนิ่ง และ การถ่ายวีดีโอ

ในแง่คุณภาพของภาพนิ่ง มันจำเป็นต้อง มีระบบการทำ Autofocus ที่รวดเร็ว และ แม่นยำ มี Sensor คุณภาพที่ดี เก็บแสงได้ดี มี Noise ต่ำ มีระบบกันสั่นที่ทำงานได้ดีเพียงพอ จนได้ออกมาเป็นไฟล์ที่มีคุณภาพ เพื่อความยืดหยุ่นในการทำงานที่สูงขึ้น มีความสามารถในการ Shoot & Go ได้ง่ายขึ้น

ในแง่ของคุณภาพวีดีโอเอง ต้องรองรับการอัดวีดีโอบนความละเอียดมาตรฐานทั้งหลายเช่น 4K อาจจะยังไม่ต้องไปถึง 8K ก็ได้ เอา 4K คุณภาพสูง ๆ พอแล้วสำหรับการทำงาน ณ วันที่เขียน พร้อมกับ รองรับมาตรฐานต่าง ๆ และ พวก Log ทั้งหลาย เพื่อให้เราสามารถไปทำงานบน Post ได้ยืดหยุ่นสูงขึ้น

นอกจากคุณภาพของไฟล์ที่เราได้ออกมา อีกประเด็นสำคัญของกล้อง Hybrid ที่ดีคือ ความสามารถในการสลับโหมดการทำงานได้อย่างรวดเร็ว เพราะบางครั้ง ผู้ใช้กล้องเหล่านี้ มีความต้องการที่ต้องเปลี่ยนการทำงานตลอดเวลา เช่น เราอาจจะไปถ่าย Event ที่ต้องเก็บภาพ แต่พอเราเดินออกมา เราต้องไปเก็บบทสัมภาษณ์ กล้องจำเป็นต้องตอบสนองการทำงานนี้ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราได้ทั้งภาพนิ่งของงาน และ บทสัมภาษณ์ที่เป็นวีดีโอได้อย่างแม่นยำ

สเปก

เรามาเริ่มที่สเปกกันก่อน ตัว Sony A7IV มาพร้อมกับ Sensor ขนาด Full Frame แบบ Exmor R BSI CMOS  ที่ความละเอียด 33 MP ซึ่งได้รับการ Upgrade จากรุ่นก่อนหน้าอย่าง Sony A7III ที่ให้ความละเอียดมา 24 MP ทำให้เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานสูงขึ้น เราสามารถถ่ายแล้วเอามา Crop ได้มากขึ้นนิดหน่อย

แต่ไม่ต้องกลัวถ้าเราจะเอาไป Burst รัว ๆ เพราะ Buffer เขาเยอะขึ้น เก็บได้ถึง 830 รูปรัว ๆ ไปเลย (อันนี้พัฒนาแบบก้าวกระโดดมาก ๆ รุ่นเดิมได้อยู่ 79 รูปเท่านั้นเอง) แต่.... ด้วยความที่เขาเป็น BSI CMOS Sensor ทำให้รองรับการถ่ายรัวได้สูงสุดเพียง 10 ภาพเท่านั้น ต่างจากรุ่นพี่ ๆ อย่าง A9II นั่นใส่ Exmor RS CMOS Sensor มากดกันไป 20 ภาพต่อวินาทีเลย แต่.... ไม่ต้องกลัว ถ้าเราไม่เอาไปถ่ายพวก กีฬา หรืออะไรที่มันเร็วมาก ๆ 10 ภาพต่อวินาที ถือว่าไม่แย่

ถ่ายเร็ว แต่โฟกัสเข้านะ Sony A7IV มาพร้อมกับระบบ Fast Hybrid AF ที่ทำให้ Focus ได้อย่างรวดเร็ว และ แม่นยำมาก ๆ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 94% บน Sensor ผ่าน Focus Point จำนวน 759 จุด นอกจากนั้นยังรองรับ Eye-AF ของคน สัตว์ และ นกได้ บนทั้งภาพนิ่งและวีดีโอ แสงน้อยก็ไม่หวั่น มันโฟกัสได้กระทั่งในสถานการณ์ที่มืดมาก ๆ ระดับ -4EV หรือกระทั่งใช้ F แคบมาก ๆ มันก็ไม่หวั่นอีก

แสงน้อย กันสั่นต้องเข้าแล้ว ตัวกล้องมาพร้อมกับระบบกันสั่นที่ดีขึ้นกว่าเดิมจาก 5 เป็น 5.5 Stops พร้อมระบบกันสั่นแบบ Active หรือสายที่เอาเข้าไปทำกันสั่นผ่าน Software ก็ทำได้เหมือนกัน เราสามารถให้กล้องใส่พวก Gyro Data อัดเข้าไปเพื่อทำใน Post ได้เช่นกัน

ส่วนของงานวีดีโอสนุกไม่แพ้กัน กดได้สูงสุดบน 4K 60p (ที่โหมด Super 35mm อันนี้เสียดายมาก) 4:2:2 10-bits พร้อมกับรองรับ Log เดิม ๆ อย่าง S-Log3 แต่อันที่ทำให้เราชอบมาก ๆ ที่อยู่ในกล้องตระกูล A7SIII คือ S-Cinetone เรียกว่าเหมือนใส่ Preset สำเร็จรูปของ Sony เลย ทำให้เราได้ไฟล์วีดีโอที่สวยเหมือนทำ Colour Grading มา Skin Tone สวยอลัง พร้อมใช้ได้ทันทีทำให้การทำงานเร็วขึ้นเยอะมาก

รองรับการถ่ายด้วย Format แบบ XAVC HS หรือก็คือ การเข้ารหัสวีดีโอด้วยมาตรฐาน H.265 ทำให้ได้ไฟล์ที่เล็กกว่า คุณภาพสูงกว่า ทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้นสำหรับเครื่องที่รองรับการถอดรหัส H.265 บน Hardware ทำงานได้โคตรเร็ว

อีกส่วนที่น่าสนใจสำหรับการถ่ายวีดีโอมาก ๆ คือ ตัว Sony A7IV เลือกใช้การ Downsampling แบบ Full Sensor Readout กล่าวคือ จากเดิมที่กล้องทั่ว ๆ ไป ส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีการ Downsampling แบบ Pixel Binning หรือก็คือ การตัด Pixel ระหว่างแถวออกไปไม่อ่าน หรือ การอ่านแค่ตรงกลางเพื่อให้ได้ความละเอียดที่เราสั่งอัด ทำให้เราเสียขนาดของ Sensor ไปฟรี ๆ แต่ Sony A7IV เลือกที่จะอ่านทั้ง Sensor เหมือนเดิมบนความละเอียด 33 MP และย่อส่วนมันมา ทำให้ Noise จะลดลง มีความคมชัดที่สูงขึ้นนั่นเอง

Sony A7IV

เราต้องยอมรับเลยว่า Sony A7 Generation ใหม่ ๆ เขาเลือกวางพวก ปุ่ม และการควบคุมได้ดีมาก ๆ เข้ากับที่จับ ทำให้เราสามารถจับถือได้แน่น และ ควบคุมกล้องได้ง่ายขึ้นมาก ๆ

เริ่มจากด้านบนกันก่อน ทางซ้ายจะมี Badge บอกไว้ด้วยว่าเป็น A7IV เรียกว่าเดินไป Pound เลยว่า อะฮ่า กรู Mark 4 นะเว้ย ฮ่า ๆ บ้าบอ ด้านขวาเป็นส่วนการควบคุมละ ปุ่มใหญ่สุดเลยคือ ปุ่มสำหรับการเปลี่ยนโหมดการถ่าย อย่าง P,A,S,M และยังรองรับการทำ Pre-Config Mode ได้ถึง 3 โหมดด้วยกัน

แต่เอ๊ะไหนบอกเป็นกล้อง Hybrid ทำไมไม่เห็นมี Mode Video เลย เขาทำมาเป็น Knob ใต้ Knob สำหรับการปรับ Mode โดยจะแบ่งเป็น Mode ภาพนิ่ง, วีดีโอ และ S&Q คือพวกการทำ Slow Motion ซึ่งกล้องรุ่นใหม่ ๆ ของ Sony จะแยกออกมาเป็น Mode แบบนี้เลย

เขาคิดมาเยอะกว่านั้นหน่อย ถ้าเราทำ Knob สำหรับการเปลี่ยนโหมดแบบนี้ ถ้าเราไปโดนตอนถ่ายอยู่ มันจะยุ่งแน่นอน ทำให้การจะหมุน เราไม่สามารถหมุนมันได้ตรง ๆ เขาจะมีปุ่มให้เรากดแล้วเลื่อนเพื่อเป็นการเปลี่ยน Mode ได้ ข้อดีของการทำแบบนี้คือ เราสามารถปรับโหมดของวีดีโอได้อย่างรวดเร็วมาก

จากเดิมกล้องรุ่นอื่น ๆ เขาทำมาให้โหมดวีดีโอเป็นหนึ่งในโหมดของกล้องรวมกับ Knob อื่น ๆ เมื่อเราเข้าวีดีโอแล้ว เราต้องการปรับเช่น ให้เป็นโหมด A เพื่อเราสามารถควบคุม F และให้กล้องคุมที่เหลือให้ เราต้องเข้าไปปรับยุ่งยาก แต่ Sony A7IV เขาใช้ Knob แยกกัน เลยทำให้เราสามารถปรับได้ตรง ๆ และเร็วมาก ๆ

กลับมาที่ปุ่มด้านหน้ากัน จะเป็นปุ่มสำหรับ Shutter พร้อมกับ Switch เปิดและปิดกล้อง ขึ้นมาปุ่มแดง สำหรับการเริ่มและหยุดอัดวีดีโอ สุดท้าย ปุ่ม C2

สุดท้ายของด้านบน จะมี Knob อีก 2 อันด้วยกัน เราสามารถเข้าไปปรับได้หมดเลยว่า เราต้องการให้เป็นการควบคุมอะไร อันนอกสุดพิเศษหน่อยคือ นอกจากเราจะหมุนได้แล้ว เรายังสามารถกดปุ่มตรงกลางลงไป เพื่อเป็นการล๊อคกันเราพลาดไปหมุนได้ และ Knob อีกอันก็จะเป็น Knob ปกติ

ด้านหลังกล้อง จากซ้ายไปขวา เป็นปุ่ม C3 และ เมนู ด้านขวา ด้านบนไล่ไปจะเป็น C1, AF-On และ AEL (Auto Exposure Lock) เลื่อนลงมา จะเป็นลักษณะเหมือนแป้นที่เราสามารถเลื่อนได้ สำหรับการเลื่อนพวกจุด Focus เมื่อเราต้องการตั้งค่าจุด Focus เอง ลงไปอีกเป็น Fn สำหรับพวก Sharing Menu ถัดลงมาจะเป็น Knob สำหรับการหมุน โดยค่าเริ่มต้นจะเป็นการปรับ ISO โดยสามารถกดขึ้นลงซ้ายขวาได้มีปุ่มตรงกลางด้วย ล่างสุดเป็นปุ่มสำหรับ การแสดงรูปที่ถ่ายไว้ และ ปุ่มถังขยะ เขาจะเขียนว่า C4

มาที่ด้านหน้าซ้ายสุด จะเป็น Knob สำหรับให้เราหมุนได้ ค่าเริ่มต้นจะเป็นการปรับพวก Shutter Speed เมื่อเราอยู่โหมด S หรือ ปรับ F เมื่อเราอยู่บน Mode A

ทำให้ในกล้องตัวนี้ จะมีปุ่ม Custom หรือปุ่ม C ทั้งหมด 4 ตัวด้วยกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็น ปุ่ม C หรือ Knob ทั้งหลาย เราสามารถเข้าไปตั้งค่าการทำงานได้หมด แบบละเอียดมาก ๆ และที่เราบอกว่า กล้อง Hybrid ที่ดี มันควรจะต้องสลับการทำงานภาพนิ่งและวีดีโอได้อย่างรวดเร็ว Sony A7IV มันตอบสนองเรื่องนี้ได้ดีมาก ๆ คือ เราสามารถปรับ Config ของปุ่มแยกในภาพนิ่งและวีดีโอได้ด้วย เช่น ในภาพนิ่งเราอาจจะให้ปุ่ม C3 ปรับ Driving Mode เมื่อเป็น วีดีโอเราไม่ต้องใช้แล้วนิ เราก็อาจจะปรับเป็นพวก Focus Mode ก็ได้เหมือนกัน

ยังไม่นับว่า เมื่อเราเปลี่ยน Mode นอกจากปุ่มจะเปลี่ยนแล้ว พวกการตั้งค่าต่าง ๆ มันจะอยู่ที่เดิมของมัน เช่น ในโหมดถ่ายภาพ เราเซ็ต WB ให้เป็น Auto เพื่อให้เวลาเรากดถ่ายภาพ เราต้องการ Run & Shoot ได้เร็ว แต่พอสลับมา มันจะเป็นค่า WB ที่เราเซ็ตเอาไว้ให้เลย สะดวกมาก ๆ

อีกส่วนที่เราเฉย ๆ แต่พอมาใช้ เออหวะ สะดวกดีคือ ตัว Sony A7IV รองรับการใส่ Card 2 ช่องด้วยกัน ช่องแรก รองรับทั้ง CFExpress Type A และ SD Card กับ ช่องที่ 2 รองรับเพียง SD Card มาก ๆ ทำให้เราทำงานสะดวกขึ้นเยอะมาก ๆ เราสามารถตั้งได้หมดเลยว่า เราจะให้มันอัดวีดีโอลงใบไหน หรือ เราจะถ่ายรูปแล้วให้มันเก็บเหมือนกันทั้งสองใบกันแตก หรือ ใบนึงเก็บ RAW ใบนึงเก็บ JPEG เมื่อเราต้องการส่งรูปแบบเร็ว ๆ โดย SD Card เขารองรับถึง UHS-II เลย เร็วแรงแน่นอน

ส่วนของการเชื่อมต่อ รองรับการเชื่อมต่อทั่ว ๆ ไปได้ครบมาก ๆ ตั้งแต่ Jack 3.5 mm สำหรับทั้ง Input และ Output อย่างละช่อง เลื่อนลงมาจะเป็นช่อง USB-C ที่เป็น USB 3.2 Gen 2 ทำความเร็วได้ 10 Gbps ทำให้เราสามารถถ่ายโอนไฟล์จากกล้องไปที่คอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็วมาก ๆ พร้อมทั้งรองรับการชาร์จไปใช้งานไปได้ด้วย เลื่อนลงมาอีกเป็นช่อง Multi เป็น Micro-USB สำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์เริ่มบางอย่าง

และที่เป็น Highlight สำหรับกล้องตัวนี้เลยคือ มันรองรับการเชื่อมต่อผ่าน Full HDMI สักที จากเดิมที่เป็นช่องพวก Micro HDMI ไม่เข้าใจว่าใส่มาเพื่อ ใส่ Full HDMI สิ ดี !!!!! หาสายเสียบง่ายกว่าเดิมเยอะมาก

ส่วน Hot Shoe ของ Sony เป็น Hot Shoe จริง ๆ นะ เพราะมันรองรับการส่งทั้งไฟและข้อมูลได้จริง ๆ Sony เขามีอุปกรณ์เสริมเช่น Microphone, Audio Interface และ Flash ที่ทำให้เราแค่เสียบเข้า Hot Shoe และเริ่มทำงานได้เลย ลดปัญหาทั้งความรุงรังของสาย และ การจ่ายไฟ ที่เราเจอกับตัวคือ เสียบไมค์ แล้วแบตหมดบ้าง ลืมเปิดบ้าง ถ้าเราใช้อุปกรณ์ที่รองรับ ตัดปัญหานี้ไปได้เลย

ส่วนการแสดงผล เริ่มจาก EVF ได้รับการพัฒนาเพื่อให้ชัดมากขึ้น เป็น 3.68M Dot ไปได้สูงถึง 120 FPS ทำให้เรารู้สึกถึงความหน่วงน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เราเทียบกับ A6400 อีกตัวของเรา มันเห็นชัดมาก ๆ แบบตกใจเลยละ

และ จอภาพ อันนี้ก็เป็น Killer Feature ที่ทำให้เราเลือกเลยคือ มันสามารถพับออกมาได้แล้ว สักทีเถอะ จากเดิมพับเข้าออกเพื่อให้เราดูมุมกดได้ สักพักพับขึ้นได้เพื่อให้เรา Selfie ได้แต่แมร่งถ้าเสียบของบน Hot Shoe ก็บังอีก รอบนี้ทำมาเป็นจอ Flip ได้เหมือนชาวบ้านชาวเมืองเขาสักที !!! ทำให้เราสามารถถ่ายวีดีโอ Selfie โดยที่ติดของบน Hot Shoe ได้โดยไม่บังหน้าแล้ว และหน้าจอเป็นแบบ Touch Screen ด้วยนะ ทำให้เราสามารถจิ้มเพื่อสั่งงานได้ เช่นการสั่ง Focus หรือการสั่ง Tracking ต่าง ๆ

คุณภาพ

เรามาดูที่เมนหลักของกล้องกันดีกว่า ขอเปิดประเด็นแรกคือ ระบบ Autofocus (AF) ต้องยอมรับว่า กล้องของ Sony มีระบบ AF ที่น่าจะเรียกว่า Top of the line ได้เลย กดยังไงมันก็เข้า เข้าแบบ เต็ม ๆ แล้วไม่เข้ามั่ว ๆ ด้วย เราลองเทียบ A7IV กับ A7III ในสถานการณ์เดียวกัน พบว่า มัน Focus ได้เร็วกว่า ความถูกต้องสูงกว่า เยอะมาก ๆ

ตัว A7IV เขามี Feature Animal Eye-AF หรือการโฟกัสตาสัตว์ ด้วยความอยากลองไหน ๆ ไป Kyoto Aquarium แล้ว ลองอะไรที่ยากสักหน่อย สถานการณ์นี้ต้องยอมรับเลยว่า ยากยาก เพราะ ค่อนข้างมืดหน่อย และ แน่นอนว่า เพนกวินเดินไปเดินมาไปหมด การจะถ่ายต้องอาศัยระบบ AF ที่ดีพอสมควร ซึ่งเราจะเห็นจากรูปได้เลยว่า กล้องเลือกสุดโฟกัสได้ตรงมาก ๆ (กรอบเขียวคือจุดที่กล้องโฟกัส แคปจาก Viewer App)

ถ้าเราลองซูมดู เราจะพบว่า มันเข้าตาเพนกวินจริง ๆ แบบ คม ๆ ไปเลย โดยที่เราไม่ต้องยุ่งยาก หาทำในการโฟกัสอะไรแปลก ๆ ยุ่งยาก ๆ เลยแม้แต่นิดเดียว แทบจะเรียกว่า Run & Shoot ได้เลย ง่ายมาก ๆ

ไปที่แสงง่ายกว่า สว่างกว่า แต่ดุ๊กดิ๊กกว่า คือ กวางนารา ถ้ามันอยู่ของมัน มันถ่ายง่ายมาก แต่เมื่อเราถือเซมเบ้มาเท่านั้นแหละ โห้ววววว งานกวางรุมของจริง นึกว่าแจก iPhone ค่าาาา ทำให้ระบบ AF ต้องเร็วมาก ๆ จนได้รูปนี้ออกมาแบบง่าย ๆ กล้องช่วยอีกแล้ว

รูปนี้เร็วยิ่งกว่า เพราะจังหวะแสง และการโพสท่าของกวาง มันได้มาก ๆ ภาพนี้ เราก็ชมระบบ Animal Eye-AF ของ A7IV และ ความสามารถในการ Burst Shoot ได้รัว ๆ มาก จนได้ออกมาเป็น Shot แบบภาพด้านบน แต่โอเคแหละ เพิ่มความ Dreamy เพิ่มเข้าไปผ่าน Post Develop ใน Lightroom นิดหน่อย

พูดถึงความเร็ว อันนี้ถ่ายที่ Omakase ที่นึงในไทยนี่แหละ ช๊อตฉีดทอง น่าจะเป็นช๊อตที่ใครหลาย ๆ คนเห็นจากวีดีโอแล้วชอบมากแน่นอน แต่ถ้าเราไม่ได้ตั้งช๊อตจริงจัง การจะถ่ายเพื่อให้ได้จังหวะที่ทองโดนแสงในปริมาณที่พอดี ๆ และ เนื้อปลาออกแสงพอดี ๆ มันไม่ง่ายเท่าไหร่ แต่ด้วยการ Burst รัว ๆ ที่เร็วกว่าเดิมมาก ทำให้เราได้ภาพแบบนี้ออกมาได้ โดยยังความคมกริบเหมือนเดิม

ไปในหมวดของการถ่ายในที่แสงน้อย และ การจัดการ Noise รูปนี้ที่เดิม Kyoto Aquarium แน่นอนว่า เราไม่สามารถให้ปูมันอยู่นิ่ง ๆ ได้ ทำให้เราต้องใช้ Shutter Speed ที่สูง โชคดีว่า เราใช้เลนส์ที่ F กว้าง ๆ หน่อย ทำให้เราไม่ต้องดัน ISO สูงมาก ใช้แค่ 1,000 เท่านั้น และเมื่อ Denoise โดยใช้ Lightroom ภาพที่ได้ออกมา ก็ยังคงคุณภาพที่เรียกว่าใช้งานได้สบาย ๆ แบบ สบาย ๆ จริง ๆ แต่ถ้าคิดว่า 1,000 เบา ๆ

ขอพาทุกคนไปที่ 3,200 เป็นรูปของแมงกะพรุนที่ Kyoto Aquarium เหมือนเดิม ไฟล์ที่ได้จริง ๆ แล้ว รูปนี้ทำง่ายมาก ๆ เพราะ Noise มันไปเกิดบริเวณพื้นหลังดำ ๆ เท่านั้น เพราะจริง ๆ แล้ว มันเป็นตู้กระจก ด้านหลังมันจะเห็นเป็นห้อง เพื่อลด Noise เราเลย Develop ให้ด้านหลังเอาแสงลงหายไปเลย แล้วใช้ AI Denoise ช่วยเอา ภาพที่ได้ก็ออกมาเป็นแบบนี้เลย โดยรวม เราคิดว่า ตัว A7IV ถ่ายในที่แสงน้อยได้ดีขึ้นกว่าเดิมพอสมควรเลยละ เรื่องดีชอบมาก ๆ

มาที่งานวิวกันบ้าง ภาพนี้ถ่ายที่ Arashiyama Bamboo Groove aka คนไทยเรียก ป่าไผ่ ที่เกียวโต รูปนี้เรียกว่า Run & Shoot ของจริง คนเยอะมาก ไม่มีเวลาเล็งอะไรทั้งสิ้น กดแล้วเดินต่อเลย ก่อนที่คนข้างหลังจะเอาไม้ไผ่ฟาดหัวเราซะก่อน โชคดีว่า ได้รูปที่มี Composition แบบที่คิดไว้เลย และพอเอามา Develop ต่อใส่ความ Japanese Tone กับ Film Tone เข้าไป เลยออกมา โหวววว ชอบมาก

หรือไปเป็นสถานที่ในตำนาน คนไทยที่ไปโอซาก้า ถ้าไม่ได้ไปถ่ายรูปกับไฟกูริโก๊ะ เหมือนไปไม่ถึง คนไทยและต่างชาติสิบล้านนนนน รุมถ่ายตรงข้ามป้ายกูริโก๊ะกันหมด แต่ที่เห็นในภาพว่า ทำไมมันโล่ง อ่อ ดูฟ้าสิ ใช่แล้วครับ ไปที่ไหน ฝนแมร่งตกทุกที่ เพราะหลังจากนั้นไม่ถึง 15 นาที ฝนเทลงมาจ้าาาาาา แต่ ๆๆ ประเด็นของรูปนี้คือ อยากให้ดูการเก็บ Dynamic Range ดี ๆ ที่ป้ายไฟแสงเยอะมาก กลับกัน บริเวณที่เหลือมันมืดเพราะฝนจะตก แต่กล้องสามารถเก็บมาได้เป็นอย่างดี และเรา Develop โดยการเอา Highlight ออก รายละเอียดก็ยังอยู่ครบอยู่เลย

กลับกัน ขอไปรูปที่ต้องอาศัยพลังขุดกันบ้างดีกว่า รูปนี้ถ่ายที่บางแสน เดากันไม่ยากเนอะว่าตรงไหน ถ่ายกันตอนเย็น ๆ 5 โมงเย็นละ ฟ้ากำลังสวยเลย (ถ้าไม่มีเมฆอะนะ) ซึ่งเราต้องการเก็บทั้งฟ้าที่แสงกำลังสวย และ เราเอง แน่นอนว่า แสงมันไม่เท่ากัน ต้องเอาไป Develop หลังคอมไป พอดันขึ้นมาพบว่า เห้ย ไฟล์มันเก็บรายละเอียดได้ดีมาก ๆ ขนาดเราดึงขึ้นมาเยอะมาก ๆ รายละเอียดยังครบถ้วน และ Noise บริเวณส่วนมืดก็น้อยมาก ๆ จนน่าตกใจ เรียกว่า เราไม่ต้อง Denoise ก็ใช้งานได้แล้ว

รูปต่อไปขอสังเวยตัวเองละกัน เราคิดว่า รูปนี้เป็นอีกรูปที่ยากมาก ๆ ด้วยเรื่องของแสง และ White Balance โดยรูปนี้ถ่ายในอาคารมหิดลสิทธาคาร ที่แน่นอนว่า แสงนั้นคือ โอ้ววว ฟาคคคคค มาก ๆ นึกถึงแดดเที่ยง ๆ ได้เลย แสงเข้าแต่หัว เป็นเงาที่หน้ามหาศาล ไหนจะแสงด้านหลังบนเวทีที่สว่างมาก ๆ และความเหลืองของแสงในห้องนั้นด้วย

เราเอาต้นฉบับ กับหลัง Develop มาให้ดู เราจะเห็นเลยว่า แสงมันแย่มาก ๆ หน้ามืดมาเลย และ ไฟล์มันแน่นจนเราสามารถดึงรายละเอียดออกมาได้จนออกมาเนียนอย่างที่เห็น ให้สังเกตที่ด้านหลังตรงตรามหาลัย ต้นฉบับมันแสงล้นออกมาจนเกินไปเยอะมาก แต่เราสามารถดัน Highlight ลง เพื่อให้มันออกมาเนียนเหมือนเดิมได้ เราเคยเอา A7II เข้าไปถ่าย ก็คือ แตกยับ ๆ

ไปที่อีกรูปจากสถานที่เดียวกัน ความยากพอกัน และ รูปนี้ เราถ่ายอยู่หลายรอบในช่วงเวลาที่เรียนอยู่ ตั้งแต่ใช้ Nikon D5300 และ Canon 6D เราไม่เคยถ่ายได้เลย จนวันนี้ที่เราเอา A7IV เข้าไปถ่าย ก็คือได้เลย

ถามว่า ไฟล์ต้นฉบับมันไม่เหลืองเลยเหรอ จริง ๆ คือ เหลืองยับ ๆ เลยค่าาาา แต่กล้องตัวก่อน ๆ ที่เราเอาเข้าไปถ่าย เมื่อเราดึง Temp ลงไป Skin Tone มันจะแปลกมาก ๆ จนมันใช้งานไม่ได้เลย แต่ภาพที่ได้มาล่าสุดอันนี้คือ มันใช้งานได้เลยนะ ถือว่าสำเร็จแล้ว ใช้เวลาถ่ายมุมนี้ทีไร มันแตกทุกที จนมาได้ตอนเรียนจบนี่แหละ

ไปที่อีกรูปที่ยากกันคนละแบบ เพราะแสงมันสนุกมาก ๆ ทำยากสุด ๆ แต่ก็ออกมาได้เป็นรูปนี้ เราไปดูต้นฉบับดีกว่า

จากรูป Before เราจะเห็นว่า เราพยายามวัดแสงเฉลี่ยทั้งภาพ ทำให้แสงด้านหลังก็พอจะเห็นรายละเอียด และ หน้าเราเอง ก็พอจะเห็นรายละเอียด แต่พอออกมาจริง ๆ หน้าดำเฉยเลย และด้านหลังพอมันเป็นสีขาวด้วย มันก็แอบ Over นิด ๆ เลยต้องดึงแยกระหว่าง Foreground และ Background เพื่อให้แสงมันพอดี แล้วเราก็อัดโทนฟิล์มทิพย์ ๆ ที่ทำเองลงไป

มาที่รูปสุดท้าย อันนี้ไม่มี Before & After มาให้ดู แต่สิ่งที่เราจะสื่อจากไฟล์ช่วงหลัง ๆ ที่เอาให้ดูคือ ไฟล์ที่ได้จากตัวกล้อง ค่อนข้างมีคุณภาพสูงมาก ๆ ทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างยืดหยุ่นมาก ๆ เรียกว่า ถ้าเราเอาไปใช้งานทั่ว ๆ ไป จนถึงงานระดับ Professional ประมาณนึงเราว่าได้แบบ ไม่มีปัญหาเลย แต่ถ้าเราทำงานแบบ Professional จริง ๆ จัง ๆ ถ่ายภาพนิ่งดุ ๆ เลยเราคิดว่ายังไม่ได้ขนาดนั้นโดยเฉพาะเรื่อง Dynamic Range บางส่วน

ในแง่ของงานวีดีโอบ้างดีกว่า เราชอบ S-Cinetone มาก ๆ มันเป็น Preset ที่เรียกว่า เราไม่ต้องไปทำ Colour Grading มากเท่าไหร่ เราเอาไปใช้งานได้เลย เช่นคลิปในช่องเราด้านบนอันนี้คือ เราไม่ได้ทำ Colour Grading อะไรทั้งนั้น เราแค่คัตชนเท่านั้นเลย แต่ Skin Tone และ สีแสงต่าง ๆ ทำออกมาได้ดีมาก ถึงแม้เราจะแกล้งมันด้วยการใส่เสื้อสีขาวให้จัดแสงยาก ๆ แล้วนะ กับ File Format ที่สามารถอัด Bitrate สูง ๆ ได้ทำให้ถึงเราจะใช้พวก S-Log เราก็ยังได้ไฟล์วีดีโอที่คุณภาพสูง มีความยืดหยุ่นในการนำไปทำ Colour Grading ที่สูงอยู่ดี

ในส่วนของ Noise อย่างที่บอกไปว่า A7IV เขาใช้การอ่านแบบ Full Sensor Readout แล้วค่อย Scale Down ลงทำให้ Noise ในวีดีโอมันน้อยมาก ๆ ถ่ายในที่แสงน้อยได้ดีมาก โอเค อาจจะไม่โหดเท่า Sony A7SIII ที่อันนั้นมันบังคับให้ Sensor ขนาด Full Frame เท่ากัน แต่เหลือความละเอียดที่ 12 MP เท่านั้น

Connectivity

เรื่องการเชื่อมต่อต่าง ๆ เราขอยกให้มันเลย มันดีมากจริง ๆ โดยมันสามารถเชื่อมต่อได้กับทั้ง โทรศัพท์ของเรา และ คอมพิวเตอร์ของเราเลย

เริ่มจากโทรศัพท์ก่อน เมื่อก่อน เราสามารถเชื่อมต่อผ่าน Imaging Edge App แต่ตอนนี้ Sony พึ่งย้ายไปใช้ตัวใหม่ชื่อว่า Creators' App ที่จำเป็นต้อง Update Firmware ของกล้องเพื่อย้ายไปใช้ App ใหม่ Feature หลัก ๆ จริง ๆ คือ การที่เราสามารถ Transfer พวกรูป และ วีดีโอที่เราถ่ายเข้ามาในโทรศัพท์ของเรา ทำให้เราสามารถถ่ายแล้วแต่งลงได้เลยแบบเร็ว ๆ และ พวกการทำ Remote Shooting ทำให้เราสามารถใช้โทรศัพท์เป็นตัวสั่งลั่น Shutter ได้เลย

และการเชื่อมต่อมันทำได้ง่ายมาก ๆ ถ้าเรา Pair ไว้แล้ว มันจะเชื่อมกับโทรศัพท์เราผ่าน Bluetooth ก่อน แล้วถ้าเราต้องทำการส่งข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น การส่งภาพ และ วีดีโอ หรือ การทำ Remote Shooting มันจะต่อกับ WiFi Hotspot ที่กล้องมันสร้างขึ้นมา โดยตัว App กับกล้องมันจะคุยพวกเรื่องของ Credential กันเองหมดเราไม่ต้องทำอะไรเลย

แต่อันที่เราถูกใจมาก ๆ คือการฝัง GPS Location เข้าไปให้ด้วย บางทีเมื่อเราถ่ายรูปมา เราอาจจะอยากรู้ว่า รูปนี้มันถ่ายที่ไหนนะ ตรงไหนของโลกเรานะ การฝัง GPS Location มันช่วยเราได้เยอะเลย วิธีการที่กล้อง Sony สมัยใหม่ใช้คือ การเชื่อมต่อกล้องกับโทรศัพท์ผ่าน Bluetooth ของเราเอาไว้ เมื่อเราเปิดกล้องมันจะเชื่อมกับโทรศัพท์ของเราเอง เมื่อเชื่อมแล้ว เวลาเรากด Shutter มันจะขอ GPS Location จากโทรศัพท์ของเราเอาไปแปะไว้ในไฟล์กล้อง จากรูปด้านบนจะเห็นได้ว่า กล้องมันเก็บพิกัดของเรามาหมดเลย ทำให้เรารู้ว่า เราไปไหนมาบ้าง ถ่ายที่ไหนมาบ้าง รูปไหน บอกได้หมด เผื่อจะไปตำซ้ำก็ทำได้ง่าย ๆ

ถามว่า GPS แม่นขนาดเป๊ะ ๆ เลยมั้ย ก็ตอบเลยว่า ไม่ขนาดนั้น ขึ้นกับตำแหน่งที่เราอยู่ และสถานะการเชื่อมต่อกับดาวเทียมของโทรศัพท์เราด้วย

ถามว่า การฝัง GPS Location ลงไปในรูปเป็นเรื่องใหม่มั้ย ก็ตอบเลยว่า ไม่ กล้องตัวแรก ๆ ของเราอย่าง Nikon D53000 นั่นเก่ามาก ๆ แล้วนะ อันนั้น เขามี GPS ในตัวเลย ทำให้ เมื่อเราเปิดการใช้งาน ตัวกล้องจะขอพิกัด GPS ผ่านเสาในตัว ทำให้ เราไม่ต้องพึ่งโทรศัพท์ แต่ปัญหาคือ มันกินไฟเยอะมาก แบตหมดเร็ว และมันก็แม่นสู้พวก โทรศัพท์ที่ใช้ A-GPS หรือ Assisted-GPS ผ่าน Cellular Network ช่วยเหมือนโทรศัพท์ไม่ได้แน่นอน

กลับมาที่ฝั่งคอมพิวเตอร์กันบ้าง อันที่กล้องอื่น ๆ ทำได้เหมือนกันคือการใช้พวก Tethering ผ่านสาย เสียบเข้าโปรแกรม เช่น Lightroom ได้ แต่ Sony มันไปอีกคือ เราสามารถทำ Wireless Tethering ผ่าน Wireless ได้ ผ่าน Remote App ของ Sony จุดที่เราว่ามันเจ๋งคือ ปกติ เวลาเราทำ Wireless Tethering เราจำเป็นจะต้องทำ Wi-Fi Direct ระหว่างกล้อง และ คอมพิวเตอร์ของเรา ทำให้กล้องแบตหมดเร็วขึ้น และ เราไม่สามารถเดินออกนอกระยะ WiFi ได้

แต่ใน A7IV เราสามารถเชื่อมต่อกล้องของเราเข้ากับ WiFi และใช้งานได้เหมือนกับเราต่อ Wi-Fi Direct ทุกประการ ยกตัวอย่างเคสง่าย ๆ สมมุติเป็นงานแต่ง หรือ Event เลย เรามีตากล้องหลายคน จากเดิมที่เมื่อถ่ายเราจะต้องเอาการ์ดมา Ingest คนแต่งก็ทำรูปทันที เพื่อให้ลงได้แบบ Real-time แต่ด้วย Feature แบบนี้ทำให้เราสามารถตั้ง Access Point ไว้ทั่วงาน แล้วเอาคอมตัวนึงมาเปิด Remote App แล้วให้มัน Wireless Tethering ดึงรูปทันทีที่ช่างภาพลั่น Shutter แล้วให้ Lightroom Auto Import ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องให้ช่างภาพเดินเข้ามาเอาการ์ด Ingest ละ ช่างภาพพกแบตเยอะ ๆ แทนเปลี่ยนเป็นแม๊คปืนเลยเว้ย

มีข้อเสียมั้ย ?

แน่นอนว่า กล้องดีขนาดไหน ข้อเสียมันต้องมีอยู่แล้ว เราเริ่มจาก เรื่องที่เราอิหยังวะ น่ารำคาญมาก ๆ คือ เมื่อเราถ่ายวีดีโอบน 4K 60p กล้องมันจะเข้า Super 35mm หรือก็คือ มันจะต้องโดน Crop 1.5x ทันที ยังไม่นับว่า ถ้าเราเปิดกันสั่นแบบ Active มันจะ Crop เข้าไปอี๊กกกก จากเลนส์ 35mm ถือถ่าย Selfie เห็นเป็นหน้าใหญ่ ๆ กลายเป็นเหลือแค่ตา

อีก Feature ที่เหมือนจะดีคือ เราสามารถใช้กล้องเป็นเหมือน Webcam ได้ตรง ๆ โดยไม่ต้องเสียบผ่าน Capture Card เลย เราเสียบ USB เข้าคอมเฉย ๆ ก็ได้เลย แต่.... ถ้าเราเซ็ตไปเป็นความละเอียด 4K เราจะได้แค่ 15p เท่านั้น ซึ่งเอาจริง ๆ นะ มันพอที่ไหนวะ !!!! ทำให้อันที่ใช้งานได้จริงคือ 1080p ที่ 60p เท่านั้น แต่ถ้าใช้เป็น Webcam ธรรมดา เราว่าเพียงพอนะ แต่เราชอบเอามาเสียบกับคอมเพื่อทำเป็นกล้องสำหรับอัดจากคอมได้เลย เจอแบบนี้ก็คือกลับไปเสียบ Capture Card เหมือนเดิมเลย

Rolling Shutter จริงจังมาก ๆ เมื่อเราอัดวีดีโอ ถ้าเราอัดวีดีโอโดยไม่ได้ขยับเร็ว ๆ เราคิดว่าไม่น่าจะเห็นอะไรแปลก ๆ แต่ถ้าเราอัดวีดีโอที่มีการเคลื่อนไหวเร็ว ปัญหาเริ่มเกิดคือ เราเจอ Rolling Shutter เยอะมาก เราเข้าใจว่า เป็นเพราะการทำ Downsampling ด้วย Full Sensor Readout ทำให้ ถ้าเราอัดด้วย Framerate เท่าไหร่ กล้องมันต้องอ่านข้อมูลจาก Sensor เท่านั้นในเวลา 1 วินาทีเลยนะ ซึ่งมันเป็นการอ่านมหาศาลมาก ๆ เลยไม่แปลกที่เราอาจจะเจอ Rolling Shutter เมื่อเราอัดบน Framerate และ ความละเอียดสูง กับการเคลื่อนไหวเร็ว ๆ ได้ แต่ถ้าเราอัด 4K 30p และไม่ได้เคลื่อนไหวเร็ว ๆ แบบ นักกีฬาวิ่งอะไร เราว่าไม่เจอ Rolling Shutter เลย

และสุดท้าย แบต หรือ ถังน้ำเนี่ย เท่าที่สังเกตกับตัวคือ แบตกล้องมันหมดไวมาก ๆ เปิดทิ้งไว้แปบ ๆ หายไป 1-2% แล้ว ทำให้เราถ่ายเสร็จปิดกล้องที จะถ่ายใหม่ก็เปิดอีกที ทำให้มันไม่สะดวกในการทำงานเท่าไหร่ ซึ่งแน่นอนว่า แก้ปัญหาได้ง่ายมากด้วยเงิน ซื้อแบตเพิ่มไปสิ แต่แน่นอนว่า เราก็ไม่อยากเอาเงินฟาดเยอะขนาดนั้น ทุกวันนี้เลยใช้วิธีการพก Powerbank เสียบเวลาพักถ่าย

สรุป

เราต้องบอกเลยว่า จาก Product Position ที่ Sony วางไว้ กับ สิ่งที่ใช้งานจริง มันไปด้วยกันหมดเลย มันเป็นกล้อง Hybrid ที่เป็น Hybrid Camera จริง ๆ เริ่มจากการสลับไปมาระหว่าง งานภาพนิ่ง และ งานวีดีโอ มันทำได้เร็ว และดีมาก ๆ โดยเฉพาะการเอา Config ของกล้องเปลี่ยนตามโหมดการทำงานของมันไปด้วย ในแง่ของคุณภาพเอง เราคิดว่าในกล้องที่ไม่ได้ Specialised ไปในทางใดทางหนึ่งแบบสุดทาง ถือว่า ทำทั้งสองส่วนได้ดีมาก ๆ แล้ว รองรับมาตรฐานใหม่ ๆ ได้เกือบทั้งหมด มี Feature การทำงานที่ครบครัน โดยเฉพาะหน้าจอ Flip ที่ทำให้ ทั้งการถ่ายภาพนิ่งและวีดีโอ ยืดหยุ่นมากขึ้น ถ่ายในมุมแปลกได้มากขึ้นสนุกมากขึ้น โดยรวม เลยคิดว่า ถ้าใครกำลังมองหากล้องที่อยู่ตรงกลาง ๆ ทำได้ทุกอย่าง เราคิดว่า Sony A7IV เป็นกล้องตัวที่น่าสนใจไม่น้อย Feature ครบครัน ในราคาที่ถือว่า ไม่แรงเท่าไหร่

Read Next...

รีวิว Yubikey C Bio ตัวใหม่ มีลายนิ้วมือแล้วนะ

รีวิว Yubikey C Bio ตัวใหม่ มีลายนิ้วมือแล้วนะ

หลังจากรอบก่อน เราซื้อ Yubikey มา เวลาผ่านไป ตอนนี้เขามีรุ่นใหม่ออกมาแล้ว บอกเลยว่า ตอนที่เห็น คืออยากได้มาก ๆ จนเวลาผ่านไปชาติเศษ ในที่สุด เราได้มันมาแล้ว กับ Yubikey C Bio จะมีอะไรใหม่ อะไรสนุก ๆ พิเศษกว่าตัวอื่นอย่างไร วันนี้เราจะมารีวิวให้ได้อ่านกัน...

รีวิว Photomator App แต่งรูปรับจบทั้ง macOS, iPad และ iPhone มี AI ด้วยนะ

รีวิว Photomator App แต่งรูปรับจบทั้ง macOS, iPad และ iPhone มี AI ด้วยนะ

หลายปีที่ผ่านมาพยายามหาโปรแกรมอื่นมาแทน Lightroom เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่าย Subscription จนวันนี้เรามาเจอแล้ว ตัวเต่งเข้ามาที่หนึ่งตอนนี้เลย กับ Photomator จะแทนได้มั้ย อ่านได้ในรีวิวนี้เลย...

รีวิว DJI Mic 2 ไมค์สำหรับ Content Creator ที่ดีที่สุดในตอนนี้

รีวิว DJI Mic 2 ไมค์สำหรับ Content Creator ที่ดีที่สุดในตอนนี้

ก่อนหน้านี้เราตามหาระบบอัดเสียงที่เข้ากับการทำงานหลาย ๆ แบบของเรามานานมาก ๆ ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานสูง ต้องการให้รองรับกับอุปกรณ์หลาย ๆ ชิ้นได้ง่าย วันนี้เราเจอแล้วกับ DJI Mic 2 จะเป็นยังไงไปดูได้ในรีวิวนี้เลย...

รีวิว 2 ปีกับ ORA Good Cat และ Software ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

รีวิว 2 ปีกับ ORA Good Cat และ Software ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ไม่น่าเชื่อว่า เวลาผ่านไปเร็วขนาดนี้ ตอนนี้น้องไฟท์ หรือรถ ORA Good Cat มาอยู่กับเรา 2 ปีแล้ว วันนี้เราจะมารีวิวให้อ่านกันว่า 2 ปีที่ผ่านมา อะไรที่เป็นปัญหา และ ในรอบปีที่ผ่านมา เราเสียค่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่กับรถคันนี้ไปบ้าง เผื่อจะเป็นข้อมูลสำหรับหลาย ๆ คน...