Review

รีวิวการเรียนปริญญาโท เออนั่นแหละพี่ผ่านมาแล้ว

By Arnon Puitrakul - 01 พฤศจิกายน 2022

รีวิวการเรียนปริญญาโท เออนั่นแหละพี่ผ่านมาแล้ว

หลาย ๆ คนที่ติดตามเราส่วนตัว ก็น่าจะเห็นแล้วละว่า เราหายไปรับปริญญามา ในที่สุดก็จบสักที วันนี้เราจะมาเล่ากันดีกว่า ทำไมอยู่ ๆ มาเรียน กว่าเราจะจบมาได้ มันต้องผ่านอะไรมาบ้าง และ เราได้บทเรียนอะไรที่สำคัญจากการเรียนครั้งนี้

ปล. ยาวหน่อยนะ 3 ปี Content เยอะมาก เจ้าแห่ง Content แหละ จับอะไรก็ Content ได้หมด

เรียนคอมเฉย ๆ ไม่ชอบ เปรี้ยวตี_ 🦶 อยากเรียนของที่ชอบและถนัด (มั้ง)

ถ้าเราบอกว่า จริง ๆ แล้วเราไม่ได้ชอบ หรืออินกับคอมพิวเตอร์ขนาดนั้นละ ใช่ นั่นแหละเรื่องจริง แต่เราก็เรียนจบมานะ เมื่อก่อนเราก็ไม่รู้หรอก แต่พอเรียน ๆ ไป เรากลับรู้ว่า จริง ๆ แล้วเราเป็นคนชอบแกว่งเท้าหาเสี้ยน ชอบแก้ปัญหามากกว่า และคอมพิวเตอร์ตอนนั้นเป็นเครื่องมือนึงที่เรารู้จัก และ ใช้มันในการแก้ปัญหา ทำให้เราตอนนั้นอินกับคอมพิวเตอร์มาก มันเหมือนเครื่องจักรที่ทำให้เราแก้ปัญหาได้สารพัดมาก ๆ เอาเข้าจริง ๆ เราชอบฟิลกับ Biology ไม่ก็พวกสาย Medicine มากกว่า ตอนนั้นเอาจริง ๆ เลยนะ มันมีสิ่งที่ถนัด กับสิ่งที่ชอบ

คั่นเรื่องหน่อย ไหน ๆ ก็พูดละ อีกเรื่องที่เราพึ่งรู้หลังจากเรียนจบ ป.ตรีมาคือ จริง ๆ เราไม่ได้อ่อนคณิตศาสตร์อย่างที่เคยคิด เพราะเราเข้าใจพวกสมการ ที่มาต่าง ๆ เป็น Logic ได้หมดเลย แต่ปัญหาของเราจริง ๆ มันอยู่ที่การ คิดเลข บางครั้งโยนมาเร็ว ๆ 2 x 1000 เรายังตอบไม่ได้เลย แต่ตอนเรียนประถม ยัน มัธยม การเรียนคณิตศาสตร์ในประเทศไทย มันผูกกับการคิดเลขค่อนข้างเยอะ เลยทำให้เราเข้าใจผิด และกลัวไปนานหลายปีอยู่เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าใครที่คิดว่าตัวเองอ่อนคณิตศาสตร์ ค่อย ๆ ลองดูนะว่า มันเกิดจากการที่เราคิดเลขไม่เก่ง หรือ จริง ๆ แล้วเราไม่เข้าใจมันมากกว่า อะ จบ ผ่าน

ตอนนั้นเคยอยากเป็นหมออยู่นะ เพราะจริง ๆ ปู่และยายเราก็เสียเพราะโรคมะเร็ง คิดว่าแมร่งโรคบ้าอะไรวะ ดุชิบหาย คร่าชีวิตคนในบ้านที่เรารักไป 2 ละ สักหมัดมั้ยละมึ_ จะล้างบางให้หมด ฟิลแบบนั้นแหละ แต่รู้ว่า โอเค ชั้นน่าจะโง่เกินกว่าจะสอบได้หวะ ประกอบกับความขี้เกียจช่วง ม.6 เลยเลือกสิ่งที่ตัวเองถนัด แล้วเลือกเรียนคอมพิวเตอร์ไป จนทำให้ลืมความคิดตอนนั้นไป ถามว่า เลือกผิดมั้ย เราว่า ถ้าวันนั้นเราพยายามไป หรือเปลี่ยนอะไรจากวันนั้น เราอาจจะไม่ได้เป็นเราในวันนี้ ดังนั้น เราเชื่อว่า วันนั้นที่เราตัดสินใจมันน่าจะเป็นทางที่ดีที่สุดสำหรับเราตอนนั้นละ (ถึงจะซาดิส เลือกทางที่ตัวเองลำบากชิบหายก็เถอะ)

พอเรียนจบ ป.ตรี มา เราก็กลับมาคิดถึงช่วง ม.6 อีกครั้งนะ ว่ารอบนี้ เราจะเรียนในสิ่งที่เราถนัด หรือ เราจะกลับไปซัดฝุ่นสู้กับปัญหาที่เราอยากเอาชนะ เป็นสิ่งที่เราชอบ เลยไปปรึกษาอาจารย์หลาย ๆ ท่าน (ตอนนั้นไม่ได้บอกนะว่าอยากซัดฝุ่นกับมะเร็งอะ มันค่อนข้าง Personal เลยไม่ได้พูด) เลยได้คำตอบมาว่า มันมีตรงกลาง ช่องระหว่างนั้นอยู่ ช่องที่ Intersection ระหว่างสิ่งที่เราชอบ และ สิ่งที่เราถนัดอยู่ คือฝั่งของ Bioinformatics

ตอนแรก ก็หาอยู่หลายที่ มีสมัครเป็น PhD ของหลาย ๆ ที่ในต่างประเทศไป แต่ก็ไม่ได้ เลยปรึกษาอาจารย์ดู แล้วลองหาในไทยบ้างดีกว่า สรุปคือมีอยู่ 2 ที่คือที่บางมด กับที่ศิริราช เลยเข้าไปดูให้ลึกขึ้น และแน่นอนว่า เราอยากซัดฝุ่นกับมะเร็ง ฝั่งการแพทย์มันเลยต้องไปจบที่ศิริราชดีกว่าชื่อสาขามันก็บอกอยู่ว่า Medical Bioinformatics สุดท้ายเลยไปตายรังที่สาขานี้แหละ มา เริ่มเรอะ !

เปิดวิชาแรกก็ Content เลยค่าาา

ประสบการณ์เปิดเทอม ป.โท อาทิตย์แรก
เห็นหาย ๆ ไปนี่ไม่ได้ไปไหนเลย นอกจาก เปิดเทอมแล้ว วันนี้จะมาเล่าประสบการณ์อาทิตย์แรกของการเปิดเทอมในระดับ ปริญญาโทครั้งแรก มันทั้งมึน ทั้งงง

ในสาขาที่เราเรียน เราจะต้องมีวิชาเลือกให้เราเลือกเรียน เราไปเรียนกับภาควิชาอื่น ๆ ได้ด้วย ตอนนั้นยังไม่รู้อะไรเยอะ เลยถามพี่ ๆ ว่าตอนนั้นเลือกเรียนอะไรกัน พี่หลายคนบอกว่าเรียนวิชา Molecular Biology Technique งั้นก็ได้เลย ลงไปเลย พีคกว่านั้นคือ เรารู้ว่าต้องลงในตอนเช้าของวันที่เรียนคือตอนบ่ายเลย นั่นแปลว่า ลงแบบด่วนมาก ๆ พี่ที่สาขาก็ช่วยจัดการเต็มที่จนเราไปเรียน

ตรงกับวันปฐมนิเทศเด็ก ๆ เลย

โดดขึ้น Shuttle Bus จากศาลายาไปศิริราชตอน 11 โมงเพื่อไปเรียนตอนบ่ายให้ทัน โคตรสุดเหมือนกัน

จนเดินเข้าไปเรียน พบว่า ชิบหาย อิผี มันเป็นวิชาที่เรียน Wet Lab ล้วน ๆ เลยค่าาา ทำไมกรูไม่อ่านชื่อวิชาดี ๆ ก็คือ Content แล้วหนึ่ง เพราะไม่เคยทำ Lab อะไรแบบนี้มาก่อน ไม่สิ เอา Wet Lab ยังไงก๊อนนน จบ ICT มาค่ะแม๊ !!!! ทำแต่ Computer Lab นี่แหละ

แล้วคืออยู่ ๆ เราต้องมาเรียน Wet Lab เอางี้นะ แค่ Stoichiometry ก็คือลืมหมดแล้วนะ ตอน ม.ปลาย เรียนสอบมาก็ชิบหาย แล้วไม่ได้ใช้นานก็ลืมแหละ ยัน Cross Manipulation อะไรก็ลืมหมดแล้วค่าาา ยังไม่นับว่า ต้องเรียนรู้พวกเครื่องมือใหม่หมด ต้องเรียนรู้ว่าไอ้สิ่งที่ทำมันคือหยอดบ้าอะไรลงไปในหลอด แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ขอบคุณพี่ป.เอกที่อยู่ในกลุ่มสอนอะไรให้เยอะมาก กราบบบบบบ

ความสนุกกว่านั้นของอินังอานนท์คือ มันถนัดซ้ายเว้ย แปลว่าเวลาเราวางอุปกรณ์เพื่อที่เราจะทำ Lab มันจะต้อง Mirror จากคนอื่นหมดเลย แน่นอนว่า ประสบการณ์ต่ำสุดในกลุ่ม นอกจากจะต้องรอดูคนอื่นทำแล้ว ในหัวต้อง Mirror ทุกอย่างที่คนอื่นทำ เวลาเราทำจะได้รอด ไม่ทำทั้งหมดที่เพื่อน ๆ ทำมาพังกับมือ ฮ่า ๆๆๆๆ

สนุกสุด น่าจะเป็นการทำ Gel Electrophoresis ที่หลาย ๆ คนเคยเห็นจากในหนังที่เป็นแท่ง ๆ  หลาย ๆ อันที่ในหนังชอบเอามาบอกว่า เธอเป็นพ่อแม่ชั้นอะไรพวกนั้น ก่อนที่จะได้แบบนั้นออกมา มันต้องหยอดตัวอย่างลงไปในวุ้นที่มีช่องเล็ก ๆ แบบ เล็กมาก ๆ และมันใสค่าาา คือ ต้องหยอดเบา ๆ หยอดให้ลงหลุม หยอดให้ลึกที่สุด เพื่อให้ตัวอย่างที่ผสมเรียบร้อยแล้ว มันจมอยู่ในหลุมไม่ลอยขึ้นมา แต่หยอดลึกมากก็ไม่ได้ เพราะเดี๋ยววุ้นทะลุ แล้วดันใสอี๊กกกกก เหมือนงานคหกรรมเลย มือสั่นอี๊ก ก็คือ ลุ้นสุดใจ จนตอนนี้หยอดพันหลุมก็หยอดได้ ลอยไปถึงดาวอังคารละ

รีวิวความเป็นบัณฑิตและ Report ที่ไม่เสร็จของเขา
มาแล้วตามสัญญากับรีวิวอะไรก็ได้ วันนี้จะมารีวิว ความเป็นบัณฑิต ในมุมที่น้อยคนนักจะพูดถึง เป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยก็เหนื่อย แต่ก็มีความสุขมาก ๆ เลยฮ่ะ

เรื่อง Lab ที่ว่าสนุกแล้ว สิ่งที่สนุกยิ่งกว่าคือ Report ที่ต้องส่ง ความพีคของเรื่องนี้คือ เมื่อตอน Lab หมดแล้ว รอสอบแล้ว เราจะต้องเขียน Report ของ Lab ทั้งหมดที่ทำ และระหว่างนั้นมันเป็นช่วงรับปริญญาตรีพอดี ตอนนั้นก็คือ รับปริญญาก็ต้องไป ทำ Report ก็ต้องทำ ก็คือเอา Report ไปนั่งเขียนบนโทรศัพท์ในงานรับปริญญา พีค ๆ ไปอี๊ก แต่เรื่องการแถทุกอย่างใน Report เป็นภาษาอังกฤษ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อยู่แล้ว ตอนเรียนป.ตรี ก็ทำบ่อย เพื่อนทำงาน เราก็แถ Report ให้อยู่แล้ว ขำ ๆ ถถถถ

ต้องเขียนมาเป็นแบบนี้ละ

หลังจากนั้น ก็สนุกขึ้นไปอีก มันต้องมีสอบด้วยค่าาา แน่นอนว่า ชิบหายแน่นอน เอาไงดีว้าาา ตอนนั้นด้วยความที่ ไม่รู้จะทำยังไงละ เรียกว่า หมาจนตรอกละ ตอนเรียนป.ตรี เพื่อนช่วยเยอะ ตอนนี้คือ แห้งมากค่าาา เห้ย เราจบคอมพิวเตอร์มา นี่เรียน Wet Lab มันเป็นขั้นเป็นตอนเว้ย งั้นเราเขียน Flow Chart ของ Lab แมร่งเลยสิวะ สู้สิคะอีหญิง ! ไปค่ะ !

แล้วข้อสอบก็ออกมาเป็น Lab ที่เราทำนี่แหละ ซึ่งแน่นอนว่า เราจำ Flow Chart ที่เราเขียนออกมาเข้าไป แล้วมันมีภาพในหัวละว่า มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ข้อสอบมันถามแบบกวนตีนอีกว่า ถ้าเกิดทำถึงขั้นตอนนี้แล้วได้ออกมาแบบนี้ คิดว่า มันเกิดอะไรขึ้น มันมีอะไรผิดพลาดมั้ยอะไรแบบนั้นมั้ง ตอนนั้นทำให้รู้เลยว่า ดีนะที่เรียนคอมมา จริง ๆ มันก็ไม่ต่างจากการ Debug ขยะที่เราเขียนเลย

เวลาเราเขียนโปรแกรมออกมา บางครั้ง ไม่สิ ทุกครั้ง มันก็จะมีบัคเกิดขึ้นบ้างแหละ พวกผล Lab ที่ผิด ๆ หรือ ออกมาไม่ตรงกับที่เราต้องการนี่แหละ คือ บัคในระบบที่เราเจอ หลักการเดียวกันเลย เราก็ต้องค่อย ๆ ไล่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง เราก็ใช้วิธีนี้แหละ รอดออกมาได้ ถือว่าเป็นการรับน้องเปลี่ยนสายที่เ_ยมาก เมื่อก่อนไม่เคยอ่านหนังสือเรียนอะไรมากมาย เพื่อนติวทั้งนั้น ตอนนี้คือ พึ่งตัวเองไม่ได้เพื่อให้ผ่านนะ เพื่อให้เรียนตามเพื่อนให้ทัน สาดดดดดดดด

จนตอนนี้รัน Wet Lab เองได้หมดละ ก็คือเปรี้ยวทำเองไปเลยค่าาา ก็มาสิคร้าบบ ทำได้ตั้งแต่ตั้ง Protocol เอง Optimise Protocol อะไรได้หมดละ ยันพวก Sequencing Lab ก็เปรี้ยว ทำได้หมดแหละ สวย ๆ

อยากเรียน Biostatistics ไม่เรียนคณะตัวเองฟร๊ะ !!!!!

ตอนนี้บอกเลยว่า กลัวภาควิชานี้ม๊ากกกกก หลังจากเจอวิชานั้นเข้าไป

วิชาเลือกอีกตัวที่เด็ดดวงไม่แพ้กันคือ Advance Biostatistics อันนี้เกิดจาก Advisor ท่านเก่า บอกว่าเห้ย เราควรเรียนวิชาพวกนี้ไว้นะ เราเลยถามว่า แล้วจะลงวิชานี้ที่ไหนดี ท่านก็บอกมาเลยว่า ไปเรียนกับพวกคณะสาธารณสุขสิ คณะนี้เรียน Stat เก่งมาก ๆ ตัวนี้ ๆ ลงไปเลย แน่นอนว่า อะเชื่อ ลงไปเลยค่าาา

รับบทเด็กหลงทาง

ถ้าไม่นับเรื่องการหลงทางในคณะสาธารณสุข (เด็กมหิดลเรียกว่า PH อะนะ) และเปิบประสบการณ์การขึ้นรถเมล์สาย 515 ในช่วง Rush Hour เปิดห้องเข้าไป โห คนเยอะเหมือนกันนะเนี่ย ไปนั่งแล้วเริ่มคุยกับพี่ข้าง ๆ จนทำให้รู้ว่า ทั้งหมดในห้องนั้นเป็นเด็กปริญญาเอก สาขา Biostatistics ของ PH เอง พร้อมกับเกินครึ่งจบโท Biostatistics มา และวิชาที่ชั้นลงเรียนมานั้นมีชื่อว่า Advance Biostatistics เชี้ยยยยย !!!! ชิบหาย เอาจริง ๆ เลยนะ คือ Statistics ที่เรียนมาตอน ป.ตรี คือน้อยมากกกกก ก แบบน้อยจริง ๆ แล้วมาเรียนในวิชา Advance ไปเลย ฟิลเรียนบวกเลขแล้วไป Integral หาพื้นที่ใต้กราฟ ยังไงอย่างงั้นเลย คือเราเข้าใจแค่พวกค่ากลางอะ แล้วอยู่ ๆ ต้องมาพิสูจน์สมมุติฐานอะไร Ha, H0 อะไรฟร๊ะเนี่ย

ความดีของวิชานี้หน่อยที่ เขาเรียนอะไรที่มัน Practical ขึ้น ทำให้พวกงานฝีมือมันหายไป ทำในคอมได้เลย ใช้โปรแกรม SPSS ทำให้พวกการคำนวณด้วยมืออะไรพวกนั้น ก็หายไปซึ่งเป็นจุดอ่อนของเรา พอใช้โปรแกรม เราก็แค่เข้าใจหลักการ และ ต้องใช้เครื่องมือทางสถิติตัวไหน แล้วการจะใช้เราต้องพิสูจน์สมมุติฐานตัวไหนก่อน ซึ่ง เรื่องจำ ๆ แบบหลอก ๆ เราถนัดอยู่แล้ว

ขอบคุณตัวเองที่เข้าใจอะไรได้เร็ว และพี่ที่นั่งเรียนข้าง ๆ ที่ทำให้เรารอดมาได้ คือเอาจริง ๆ อาจารย์ก็มาถามเรื่อย ๆ นะว่า ไหวมั้ยอะไรยังไง อาจารย์บอกว่า จริง ๆ แล้ววิชานี้ถ้าป.โท จะมาเรียนอยากจะให้ Pre-Test ก่อน แต่เห็นว่า รุ่นพี่เราที่มาเรียนปีก่อน เก่งวิชานี้มาก ๆ อยากจะบอกว่า จารย์ !!!! อีพี่นั่นมันก็เรียน PH ที่อื่นมา มันต้องได้ Stat มากกว่าผมแหละ แต่ผมจบ ICT มา !!!!

สุดท้ายมานั่งคุยกับเพื่อนที่ลงเรียน Biostatistics ของที่คณะสำหรับ ป.โท เองก็คือ เข้ ง่ายกว่าเยอะมาก ๆ เขียนไปน้ำตาจิไหล ภาพหมาจนตรอกตอนนั้นมันลอยมาเลย นี่ผ่านมาได้ยังไงก่อน

ปิด Courseworks ด้วยการโดนจุ๊บไปเรียน Precision Medicine

ตอนเราเรียนอยู่ปีแรก ๆ เราก็บ่นกับพี่ที่รู้จักตอนเรียน Molecular Technique ว่าเออ อยากเรียนอะ Precision Medicine น่าสนุกนะ เป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนพูดถึง งาน Bioinformatics น่าจะเข้ามาช่วยเรื่องนี้ได้เยอะ และเราว่ามันน่าสนใจด้วย แต่ตอนนั้นวิชานี้ไม่ได้เปิด เลยอดไป จนเหลือวิชาสุดท้ายแล้วมั้งพี่ก็มาบอกว่า "แกร !!! มาเรียน Precision Medicine กับชั้นมา ชั้นก็ลง" นี่ก็ เออ ลงไปก็ได้ สนุก ๆ มีหลาย ๆ คนน่าจะสนุก เสร็จเข้าไปมีกัน 3 คน และ 2 คนที่เหลือเป็น ป.เอก สาขา Molecular Medicine หมดเลย อีพี่ !!!! เมิงง !!!! ชิบหาย !!!

หลัก ๆ วิชาเรียนนี้จะเป็นการ Discuss Paper ที่อาจารย์ให้มาซะเยอะ แล้วอาจารย์ก็จะเสริมประเด็นต่าง ๆ ลงไป คือโชคดีมากที่เราเลือกเรียนวิชานี้หลังสุด ถ้าเรียนตอนแรกไม่รู้เรื่องอะไรเลย เราก็น่าจะเจ๊งไปแล้วละ หลัง ๆ ความรู้ฝั่งชีววิทยา และพันธุศาสตร์เริ่มแข็งแกร่งละ และ หลาย ๆ เรื่องที่มัน Cutting-Edge มาก ๆ เราก็เรียนในสาขาเรามาก่อนพวก DNA Sequencing Technology เราก็มาต่อยอดกับเรื่องพวกนี้ได้ง่าย และ เร็วมาก ๆ

แล้วคือวิชานี้ได้อาจารย์ที่เราชอบมาก ๆ สอนสนุกมาก ๆ มาสอน พบอาจารย์แกได้ตาม Youtube และงานสัมมนาทั่ว ๆ ไปได้เลย แกไปเยอะ เซเล็บแหละ อิอิ เวลาเล่าเรื่อง แกจะเล่าฟิลละครหลังข่าวมาก ๆ เล่าแล้วสนุกสุด ๆ แล้วชอบถามว่า ถ้ามันเป็นแบบนี้ แล้วเราคิดยังไงนี่ก็ชอบจินตนาการแล้วตอบไปเรื่อย แล้วมีคำถามเด็ดที่เราเคยถาม

อานนท์ : ทำไมยามะเร็งถึงแพงครับ

อาจารย์ : คุณ บริษัทยา ไม่ใช่โรงเจ เขาก็ต้องเอาเงินไปวิจัยสิ ! ค่ายาที่เราจ่ายก็คือค่า R&D ที่บริษัทยาลงไปก่อนหน้านี้ไง

อานนท์ : ก็จริง......

แล้วอาจารย์แกก็เล่าเรื่อง Paracetamol ว่าเมื่อก่อนมันก็แพงนั่นนี่ เราไม่ลงเรื่องละกันเดี๋ยวยาว วิชานี้เรียนไปค่อนข้างเปิดโลกมาก ๆ เมื่อก่อนไม่รู้จักพวก Liquid Biopsy หรือพวก Immunotherapy ที่เป็น Cutting-Edge ต่าง ๆ หรือพวก DTC Genetics Testing ต่าง ๆ ที่เราเห็นกันในท้องตลาดตอนนี้ ทำให้เรารู้ว่า เห้ยที่เราเรียนมามันเป็นขานึงเลยนะ ในการช่วยทำให้งานพวกนี้ การรักษาพวกนี้มันเกิดขึ้นมา

สนุกที่สุดของวิชานี้ เราว่าตอนสอบนี่แหละ เป็นข้อสอบ Take-Home คือเอาจริง ๆ เลยนะ ข้อสอบนี่คือ อี 3 คนที่เรียนมานั่งคุยกัน มึงยังเขียนอะไรไม่ออกเลยค่าาาา คือคุยกันไปมันไม่ช่วยอะไร เพราะมันเป็นความเห็น ประกอบกับ Definition ต่าง ๆ เลยทำให้สนุกสุด ๆ ต้องขอบคุณความ แถ ที่ทำให้เราผ่านวิชานี้มาแบบ A แบบยืนสวย ๆ ได้ ขอบคุณค่ะ และ โบกมือแบบนางงาม เป็นการจบ Coursework แบบงามจริง ๆ

แล้ววิชาของสาขาตัวเองไม่เรียนเหรอ

จริง ๆ ที่ไม่ได้พูดถึงวิชาของสาขาตัวเอง อย่างพวก Bioinformatics หรือพวก Medical Genetics หรือ Design and Analysis Genetics Studies อะไรพวกนั้น ไม่ได้ว่าไม่ได้เรียนนะ แต่มันเป็นอะไรที่เราคาดไว้อยู่แล้วว่า เออ กรู เจอ แน่ ! มันเลยไม่ค่อยมี Content เท่าไหร่แหละ

ROSALIND | Problems

อันแรก ๆ ที่พีค ๆ Top Form มากคือ เอาเด็กจบคอม มาเรียน Programming (ต้องเข้าใจว่าส่วนใหญ่ ถ้าในรุ่น ก็เราคนเดียวที่จบสายคอมมา) สรุปวันนั้นคือนั่งทำพวก Challenge ครึ่งวัน เก็บหมด 284 ข้อแบบชิว ๆ นี่สินะผลของการไปนั่งกินขนมจีบ กับขนมอื่น ๆ ในงาน ACM-ICPC ที่ผ่านมา พวกที่เจอ Competitive Programming มา เราว่า เจอปัญหาพวกนี้น่าจะไม่ได้ใช้เวลาอะไรเยอะ อ่าน ๆ ไป เห้ย Algorithm นี้ ๆ เขียนยัดได้ อาจจะมีบางอย่างเปลี่ยนนิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้ใช้เวลานานขนาดนั้นหรอก เหมือนกับโจทย์เลขเลย ยิ่งเราทำบ่อย ๆ เวลาเราเจอโจทย์ข้อใหม่ ๆ เราก็เดาได้แล้วว่ามันต้องใช้วิธีไหน ก็ลอง แล้วแก้หน้างานไป ยิ่งทำเยอะ ก็ยิ่งไวขึ้นเรื่อย ๆ และแน่นอนว่าตอนเรียน ป.ตรี ผ่านมาเกินพันข้อละ ชิว ๆ

แน่นอนว่าอีกวิชาที่ขาดไม่ได้กับการเรียนคือ Seminar เราว่าวิชานี้ทำให้มันเปิดโลกมากขึ้นเยอะ ที่เราจะเรียนกับฝั่งบางมด ทำให้รู้ว่า อ้าว เพื่อนสมัยม.ปลาย เรียนอยู่บางมด ไปเจอกันเฉย ก่อนไปเพื่อนบอกว่า ที่นั่นมีแต่บ่อกุ้ง โอเค เชื่อละ

กับที่เหลือส่วนใหญ่ จะฟิลมาแบบเปิดโลก ๆ ในหลาย ๆ ด้าน ว่า เออ มันมีการศึกษาแบบนี้ แล้วใช้วิธีประมาณนี้ เขาใช้เครื่องมือนี้อยู่นะ เช่น ฝั่งของพวก Omics อื่น ๆ อย่าง Transcriptomic เขาทำอะไรอยู่ ฝั่งที่เขาเรียน Microbiome เขาเอาพวก Bioinformatics Tools มาใช้อย่างไรบ้าง ซึ่งนิสัย เ ก เ ร อย่างเราก็ชอบมองหาข้อเสีย ข้อด้อยของเครื่องมือพวกนี้แหละ แล้วชอบเอามาทำเป็นของเล่นใหม่บ่อย ๆ ดีบ้าง เ_ยซะเยอะ

กลายเป็นว่า วิชาในสาขาตัวเองมันสนุก แต่ไม่ได้สู้ชีวิตแบบหมาจนตรอกอะไรมากเมื่อเทียบกับวิชาเลือกที่ไปเรียนกับภาคอื่น ๆ ถามว่าสนุกมั้ย มันก็สนุกนะ และมันเป็นเหมือนพื้นฐานให้ว่า ในโลกของ Bioinformaitcs เราเอาใช้ประโยชน์อะไรจากมันได้บ้าง กับทำให้เราพอจะเดาได้บ้างแล้วละว่า เราน่าจะชอบอะไรในนั้น เพื่อที่เวลาทำ Thesis เราจะได้เลือกด้านที่เราสนใจ

Thesis ซิสส์ซาส และ Advisor วงแตกแยกทางค่าา

Coursework มันก็เป็น Content สนุก ๆ ชิบหายการช่างซะเยอะ แต่ของจริงอยู่นี่เลยค่าา Thesis สำหรับคนที่อาจจะเคยผ่านมาแล้ว น่าจะพอรู้ว่า การเลือก Advisor เป็นอีกหนึ่งส่วนที่กำหนด ได้อะไรไป, เรียนจบมั้ย และ เรียนจบไว (เอาแค่ในเกณฑ์ 2 ปีก่อนอะนะ) ซึ่งตอนนั้นเราก็คุยกับอาจารย์แหละ แล้วแกก็แนะนำอาจารย์อีกท่านหนึ่ง คุยดูตอนแรก เราคิดว่า วิธีการทำงานน่าจะตรงกัน น่าจะทำงานด้วยกันง่ายแหละ แรก ๆ เราก็มองว่า โอเคนะ ไม่ได้มีอะไร ทำงานด้วยกันได้แหละ หลาย ๆ คนก็เตือนแล้วแหละ แต่ก็เห้ย แกร มันได้ ทำได้ เราโอเค ไม่มีปัญหา

แต่พอเวลาผ่านไป เจอหลาย ๆ เคสเข้ามา และหัวข้อมันก็เป็นเรื่องของ Molecular Evolutionary ซึ่งก็โอเคนะ ตอนนั้นเรารู้สึกว่า มันก็น่าจะไปต่อได้ แล้วเราพอจะเดาได้ว่า เราจะใช้มันเพื่อแก้ปัญหาที่เราอยากจะแก้ได้อย่างไร แต่พอทำงานไป เรารู้สึกว่า งานไม่ก้าวหน้าเท่าไหร่ และ หลาย ๆ ครั้ง เรารู้สึกว่า เราไม่ค่อยคลิกกับเขาเท่าไหร่ ทำงานแล้วรู้สึกว่า มันยาก แต่ไม่ได้ยากเพราะงาน แต่เป็นเพราะคนมากกว่า ซึ่งตอนนั้น เราก็โอเคแหละ อีหญิง สู้สิวะ ก็อยู่ต่อไป แต่แน่นอนว่า การข่าว เป็นเรื่องสำคัญอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะเรียน หรือทำงาน เราก็มีนารีอุปถัมภ์หลายท่านไปสืบข้อมูลมา แล้วมาแจ้ง ก็พบความพีคในหลาย ๆ ประการ ตั้งแต่ตอนแกยังไม่กลับไทย และ มั่นใจเลยว่า เราทำงานกับคนนี้ไม่ได้แน่นอน วิธีการทำงานมันไม่ตรงกันละกัน ถ้าอยู่ต่อ เราไม่รู้เลยว่า เราจะจบมั้ย จบมาแล้วเป็นอย่างไร คนอื่นจะมองว่าเราเป็นยังไง (ไม่พูดนะว่า ทำไมเราถึงพูดเรื่องนี้ขึ้นมา คนใกล้ตัวเรารู้ตัวดี)

และเหตุการณ์มันไปลงล๊อคกับช่วงเวลาที่เราต้อง Present ในคาบ Seminar ที่ตอนนั้นเราก็ไม่รู้จะเอา Paper อะไรไปเล่าดี แกก็หามาให้นะ เราก็เอาไปอ่านทำ Presentation มาแล้วเอาไปคุยแกก็โอเคดี จนวันที่ Present ก็คือ โดนแกเองนี่แหละ จวกยับ เรียกว่า คาห้อง เราไม่รู้นะว่าจุดประสงค์ของการทำแบบนั้นคืออะไร แต่สำหรับเรา ถ้าเราให้เด็กของเราไป Present ในห้องได้ เราจะต้องมั่นใจแล้วนะว่า เด็กของเราดีพอ อย่างมาก ถ้ารู้ว่าเด็กเราจะโดนจวก เราก็จะชิงจวกหลอก ๆ ก่อน แล้วค่อยกลับมาจวก กินหัวส่วนตัวใน Lab ก็ว่ากัน ฟิลเด็กชั้น ชั้นจัดการเอง แต่การทำแบบนี้ เราไม่โอเคมาก ๆ สุดท้ายตอนนั้นเลิกคาบเดินกลับมาร้องไห้คือแบบเป็นวินาทีที่เ_ยมากนะ เราเรียนแล้วร้องไห้เนี่ย นั่นน่าจะเรียกว่าฟางเส้นสุดท้ายแล้วละมั้ง (ยังไม่นับว่าโดนเพื่อนรักของเขาด่าอีกนะว่า คนอย่างคุณทำงานไม่เป็นแบบนี้ ไม่มีทางเจริญหรอก ซึ่งตอนนั้นก็ยิ้ม และพูดว่า "ครับ")

เรียกว่าเป็น Dark Age ในช่วงการเรียนเลยก็ว่าได้ ตอนนั้นก็คิดนะว่า เราจะเปลี่ยน Advisor เท่ากับว่า เราทิ้งงานที่เราทำมา 1 ปีเต็ม ๆ ไปหมดเลย แล้วเริ่มใหม่ ซึ่งก็ยังไม่รู้จะทำยังไง ตอนนั้นคือ เครียดมาก กับมองไม่เห็นแววว่าจะจบเลย แต่เราก็คิดนะว่า เรื่องทิ้งงาน ช่างมันเถอะ เพราะ เราก็คิดว่า งานที่เราทำมาทั้งหมดนั่นมันคืบหน้า และ เราก็ยังไม่เห็นแสงที่ปลายทางว่าจะจบยังไงเท่าไหร่ ก็ปล่อยไป อย่างน้อย เราก็ได้ความรู้จากที่เราอ่านพวกนั้นละกัน

ฟ้าหลังฝน กับ Thesis แสนสนุก

หลังจากนั้น ก็คุยกับรุ่นพี่นะว่า เออ ทำไงดี เล่าสถานการณ์ทั้งหมดให้ฟัง พี่แกเลยบอกว่า งั้นแกไปคุยกับประธานหลักสูตรดีกว่า ก็ไปคุยนะ อาจารย์ก็โอเคนะ คือ ตอนนั้นก็เริ่มคิดแล้วนะ แล้วเราจะเอาใครมาเป็น Advisor จนอาจารย์ก็เสนอ Project อันนึงมา หลุดโลกมาก ๆ ซึ่งเราว่า มันน่าสนใจมาก ๆ พอจะเห็นว่า มันจะออกมาเป็นแบบไหนตั้งแต่พูดกันวันนั้น ส่วนเรื่อง Advisor ท่านก่อน ก็เดี๋ยวอาจารย์ก็บอกว่าจะไปคุยให้ เราก็เลยหมดห่วงเรื่องนั้นไป เพราะก่อนหน้านั้น เราก็เป็นห่วงนะว่า ถ้าเราเปลี่ยนแบบนี้ แล้วเราจะมองหน้ากันติดได้ยังไงอะไรแบบนั้นเป็นห่วงเรื่องนี้เหมือนกัน โชคดีด้วยมั้งที่วิชาที่เรียนมันก็หมดแล้ว ทำให้เหลือแค่ Thesis โอกาสที่จะเจอแล้ว Awkward มันก็น้อยลงเยอะมาก ๆ

เราก็ไม่รู้นะว่าอาจารย์ไปคุยอะไรมายังไง เพราะมีนารีอุปถัมภ์หลายท่านมาบอกว่ามีคนเอาเรื่องเราและ Advisor เราไปเมาท์อะไรแบบนั้น ในมุมของคนทำงานเราว่าแบบนี้ไม่น่ารักเท่าไหร่ เราก็เอาเถอะ ปล่อยเขาไป เรารู้สึกโชคดีนะที่เป็นคนรู้จักคนเยอะ และหลาย ๆ คนก็รู้อยู่แล้วว่าเราเป็นคนยังไง เลยไม่ได้น่าเป็นห่วงอะไรในเรื่องนี้เท่าไหร่ ก็ปล่อย ๆ ไป เป็นเรื่องขำ ๆ

ความพีคของเราและอาจารย์คือ เราไม่ได้เจอกันครั้งแรกที่คณะ แต่เกิดจาก ผอ ของหอสมุด​ ณ ขณะนั้นพาให้เรามารู้จัก (บนโต๊ะอาหารวันนั้น มีอีกคนที่สุดท้ายมาเป็น Co-Advisor อี๊กกกกก พีคหนัก) ไป ๆ มา ๆ สุดท้ายก็ได้อาจารย์มาเป็น Advisor ก็คือ อ้าว.... Back to square one ของจริ๊งงง

มาทำงานกับอาจารย์ใหม่ก็คือ เหมือนโลกกลับด้านมาก เพราะเราแอบรู้สึกว่าอาจารย์แอบเป็นคนปั่น ๆ ไม่ปั่นได้ไง ไอเดีย Thesis ที่เสนอมา เราว่าก็ปั่นพอตัว  ไอ้เราก็ปั่น ไอเดียพีค ๆ แบบ Think outside the box เยอะจริง เลยทำให้ตอนทำ Thesis มันสนุกมาก ลองนั่น ลองนี่ เปลี่ยน Parameter มั้ย สรุปตรงนั้นตรงนี้ แรก ๆ มันก็เบี้ยว ๆ หน่อย หลัง ๆ เรารู้สึกว่า เราปั่นกว่าเดิมนะ แต่ปั่นแบบเป็นระบบมากขึ้น มีการวางขั้นตอนหลาย ๆ อย่างในการปั่นไอเดียออกมา ยิ่งตัวอาจารย์เองก็จะยุ่ง เลยหา Co-Advisor มาให้ ยิ่งตบ ๆ ไอเดีย กับช่วยหา Model ออกมาจนได้

แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เข้ามา ก็ทำให้การ Meeting หลาย ๆ อย่างจากเดิมที่เราจะทำที่คณะ ก็กลายเป็นผ่าน Online ซะงั้น ก็เรียกว่าไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากเท่าไหร่นะ อาจจะเพราะงานเราเป็นงานแบบ Computational อยู่แล้ว เรา Remote ทำจากที่ไหนก็ได้ และ คุยกันผ่าน Zoom อะไรพวกนั้นอยู่แล้ว

ภาพนี้ถ่ายวันที่สอบผ่าน หลังจากกดวาง Zoom ไปเลย

พอช่วงสอบ Proposal ตอนนั้นเครียดจริงอะไรจริงนะ เพราะเราไม่รู้ว่า Mood & Tone ของการสอบมันจะเป็นยังไง และ เห็นชื่อ กับตำแหน่งของ External Committee นี่ก็กลัวหัวหด ชิบหายแล้ว สุดท้ายก็ผ่านมาได้แบบดี ๆ ไม่แย่มาก ส่วนสอบ Defence อันนี้ไม่กลัวเท่าไหร่ละ ตื่นเต้นมากกว่า แล้วก็ผ่านมาได้เห้อออ น้ำตาจิไหลส์ ผ่านแล้วโว้ยยยยยยยยยยยยยย

สอบผ่าน แต่เรื่องไม่จบ

หลังจากเราสอบ Defence ผ่านแล้ว เราจะต้องทำเรื่องเพื่อขอจบ ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิด เราเหลือเวลาอีกประมาณ 2 อาทิตย์ที่จะทำเรื่อง เพื่อที่เราจะได้จบทันปีการศึกษา 2563 แล้วรับปริญญาสิ้นปีเลย จะได้จบ ๆ ไว ๆ เอาให้เสร็จ ดังนั้น จะสอบผ่านแบบมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไข ก็ค่าเท่ากัน ถ้าเราจะเอาให้ทันรับของปี 2563 ไม่รู้ว่า ยังไง แต่ก็รอดแบบไม่มีเงื่อนไขมาได้ ทำให้เราต้องเร่งทำเรื่องปั่นเต็มเหนี่ยว

วันสอบผ่านแล้ว (วันที่ 2) Advisor, Co-Advisor และ Commitee ทำ Digital Sign ของ บฑ.2 คืนนั้นทุกคนบอกว่า ไปพักก่อน อะโอเค

วันที่ 3 เป็นวันเกิดแม่ที่เท่าไหร่ไม่รู้ เป็นวันหยุดราชการ เลยนั่งแก้เล่มเล็กน้อย ปริ้นเอกสาร และ กรอกเอกสารทุก บฑ ที่ต้องใช้ ย้ำว่าทุกใบ พร้อมกับเล่มที่แก้แล้ว

วันที่ 4 เอาเอกสารไปให้เหล่าอาจารย์เซ็นต์ ขอบคุณอาจารย์มาก ๆ ที่เข้ามาเซ็นต์ให้ทั้ง ๆ ที่กำลัง WFH กันอยู่ พร้อมกับเอา Sign-Off Page ไปส่งที่ Office Dean ของคณะ (ตอนนั้น ใจเต้นมาก เพราะปกติแล้วเวลาส่งขึ้นไปให้แกเซ็นต์มันจะต้องใช้เวลาราว ๆ 4 วันทำการ มันจะไม่ทันแน่ ๆ เลย ลุ้น ๆ) พร้อมกับวางบฑ 2 ที่เซ็นต์ครบแล้วไว้ให้พี่ จนทที่สาขาไป Upload ส่งบัณฑิต

วันที่ 5-6 หยุดเสาร์ อาทิตย์ นั่งแก้เล่มส่วนที่ยังไม่เรียบร้อยต่อนิดหน่อย

วันที่ 7 วันจันทร์ บฑ.2 ถูก Upload เรียบร้อยแล้ว ทำให้เราปลดล๊อคสกิลใหม่คือการ Submit Abstract ซึ่งยังแก้กันไม่ลงตัวสักที อาจารย์ก็มาช่วยกันแก้ด้วยกัน ระหว่างชุลมุน เราก็แก้เล่มไปด้วย พร้อมกับได้แจ้งว่า Dean เซ็นต์เล่มให้เสร็จแล้ว

วันที่ 8 วันอังคาร Abstract เสร็จเรียบร้อย เรา Format และ Submit ไปตอน 9:20 เจ้าหน้าที่ากบัณฑิตตรวจเสร็จ 9:46 (ความไวเป็นเรื่องปีศาจ) และ Advisor กด Approve ตอน 17:37 ตอนแรกคิดว่า หลังจากนี้ เราจะปลดล๊อคสกิลการส่งเล่มได้แล้ว สรุปไม่ได้จ้าาา ต้องรอบัณฑิตเช็คอะไรอีก มา Approve ให้ปลดล๊อคสกิลส่งเล่มได้วันที่ 9 แต่แน่นอนว่า วันนั้นเล่มพึ่งเสร็จ ยังไม่ได้ Format เลย วันนั้นก็คือ Format ทั้งวัน แน่นอนว่า อานนท์ VS MS Word = หายนะของโลกใบนี้ ขอบคุณ ที่บัณฑิตนางมี E-Format มาให้ ใส่ ๆ Fill ตามมัน กับตรวจเช็คก็รอดละ กับอีก Task ที่น่าลุ้นคือการส่ง Sign-Off Page ให้ Dean ของบัณฑิตเซ็นต์ แต่โชคดีที่เขาไม่นับวันใน Process คือ ส่งแล้วก็คือทันจบแน่นอน เพราะเขาจะเซ็นต์ให้โน้นเลย July ส่วน Version ที่ Submit จะเป็นตัวที่ไม่มีลายเซ็นต์ แล้วค่อยมาเอาใบที่เซ็นต์แล้วช่วง July

วันที่ 9 ตอนดึก ๆ เล่มที่ Format แล้วก็เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย แล้วก็ส่งเข้าระบบไป พร้อมกับเตรียมกรอก บฑ.5 สำหรับขอจบเตรียมไว้ก่อนเลย พวกทุน พวก Paper ที่ตีพิมพ์ พวกงานทางวิชาการอะไรอะไรเกี่ยวกับ Thesis ก็ใส่ไป

วันที่ 10 เกือบ ๆ 9 โมง Advisor รู้งานจ้าาาา กด Approve อย่างไว แล้วก็ไลน์ไปหา ประธานหลักสูตร ก็มากดให้ตอน 10:44 เร็วนะ เร็ว และแล้วความพีคก็มา เพราะ 11 โมงกว่า มีโทรศัพท์เด้งมาจาก บัณฑิตว่า Format เล่มผิดนะ นั่นนี่ ๆ Minor แหละ ก็แก้ ๆ ไป แล้วต้องไปเริ่ม Process ให้ Advisor กับ ประธานหลักสูตรกด Approve ใหม่ (ตรูเป็นอาจารย์น่าจะด่าละว่า ทำไมไม่เช็คดี ๆ แต่ก็รอด ไม่โดนด่า ฮ่า ๆ อาจารย์อาจจะเอือมละ ถถถถถถ) จน 5 ทุ่ม บัณฑิตกด Approve ในระบบให้ผ่าน เล่มแจ้ (พี่เขาทำงานกันดึกจริงอะไรจริงงงง) แน่นอนว่า นี่เตรียม บฑ 5 ไว้แล้ว ก็กด Submit จะจ๊ะรออะไร

วันที่ 11 เช้า 7:44 Advisor ผู้น่ารักกด Approve ให้อย่างไว ตามด้วยไลน์ไปหา ประธานหลักสูตรกดให้ตอน 9:22 แล้วก็คือ รอ ละ มันคือขั้นตอนสุดท้ายแล้ว เหลือรอบัณฑิตกด เราก็เรียนจบแบบ Offficial แล้วววว รอไป เครียดมากว่าเขาจะกดทันมั้ยลุ้นมาก ๆ

วันที่ 12-13 วันหยุด แต่วันที่ 13 มีสถานะเด้งขึ้นมาว่า มันกำลังดำเนินการโดยบัณฑิตละ ลุ้นชิบหายว่ารอดมั้ย

วันที่ 14 วัน Deadline จนตอนนี้สถานะ ก็ยังไม่เรียบร้อย นี่ก็เครียดมาก เอาไงดีว้าาาา จนสุดท้ายเมื่อบ่าย 15:21 โทรไปหาบัณฑิต นางบอกว่า อ่อ ไม่ต้องห่วงค่ะ 14 คือ Deadline ในการยื่นเรื่อง ถ้าเรายื่นไปก่อนหน้าแล้วทันแน่นอน ไม่ต้องกลัว อะ รับบทนางรอดหนึ่ง

เป็น 14 วันที่แบบ สุดยอดมาก โคตรลุ้น ลุ้นกว่าหนัง Action และสยองขวัญซะอีก สุดปังปุริเย่มากแม่ กราบขอบคุณผู้ที่กด Approve ให้ในแต่ละขั้นตอนทุกคนจริง ๆ ไวมาก แต่ความเ_ยคือ สรุปปีนั้นด้วยสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่หนักขึ้นก็ทำให้งานถูกยกเลิกแล้วไปจัดปีหน้าแทน สาดดดดดดดดดด

การเรียนเหมือน การลงทุน ของทั้งสองฝ่าย

ก่อนหน้าที่เราจะเริ่มเรียน อาจารย์หลาย ๆ ท่านก็บอกนะว่า เห้ย จริง ๆ การเรียนระดับ Graduate มันไม่เหมือนกับ Undergraduate นะ อยากให้มั่นใจจริง ๆ ว่าเราเรียนไปแล้วเราเอาไปทำอะไร และเราอยากเรียนจริง ๆ เราค่อยเรียน มันไม่ใช่ที่สำหรับทุกคน ไม่ใช่ว่า ทุกคนต้องไปเรียนตามค่านิยมอะไรนั่น

เอาจริง ๆ เมื่อก่อนเราก็ไม่เข้าใจนะว่า ทำไมอะไร จนเรียน ๆ ไป เลยเริ่มพอจะเข้าใจละว่าจริง ๆ แล้ว มันไม่ได้เป็นแค่การลงทุนของเรา ที่เราเสียเวลา เสียกำลังมานั่งเรียน แต่จริง ๆ แล้วมันมีอะไรมากกว่านั้นเยอะมาก

เอาจริง ๆ เราบอกเลยว่า การบริหาร Lab มันเป็นเรื่องธุรกิจนะ งานวิจัยต้องการทุน และ ทุนจะมาได้คุณต้องมีงาน การลงทุน อะส่วนนึงพวกเครื่องมือ แต่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ คน ซึ่งคนในกรณีนี้ ก็อาจจะเป็นการรับเด็ก Undergrad, Grad และ Post-Doc เข้ามาเพื่อสร้างงาน ของตัวเด็กเอง และ สร้างงานของ Lab เพื่อที่อาจารย์จะได้เอางานพวกนี้ไปวิ่งขอทุน เพื่อให้เด็กออกงานได้ และ อาจารย์เองก็ได้งานออกไป Lab ก็ได้งานอีก พอเรามาอยู่ฝั่งนี้ เลยทำให้เราได้เห็นว่า มันเป็นธุรกิจมาก ๆ

ดารลงทุนในเด็ก การรับเด็กมาสักคน มันเป็นการลงทุนทั้งในแง่ของเงินทุน และ เวลามาก ๆ ถ้าอาจารย์ลงทุนกับเด็กคนนี้แล้วกลายเป็นว่า ลาออกก่อนซะงั้น งานไม่มี Contribution อะไรเลย มันก็เท่ากับขาดทุน เพราะลงทรัพยากรไป แต่ไม่ได้อะไรกลับมา กลับกัน ถ้าเด็กสร้าง Contribution ได้ทั้งในแง่ของงาน อาจจะได้ Paper Q1 หรือชื่อเสียง เพื่อดึกคนเข้ามา Collaboration หรือได้เด็กเพิ่มอะไรก็ว่าไป นั่นก็ถือว่าโอเคใช่มะ  ในมุมของอาจารย์เองก็ต้องเลือกเด็กด้วยเหมือนกันว่า ถ้าเราลงทุนกับเด็กคนนี้แล้วจะไปได้ต่อ ไปได้ไกล ดังนั้นมันเลยไม่ได้แค่ตัวเด็กแล้ว แต่มันเป็นเรื่องของทั้งสองฝ่าย

ดังนั้น ก่อนที่เราจะเริ่มเรียน เราควรจะตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า เราจะเรียนไปทำไม บางคนอาจจะบอกว่า เรียนไปเพื่อเพิ่มเงินเดือนหรืออะไรก็ว่ากันไป อันนี้ก็แล้วแต่ละคนละ แต่ก่อนเรียนเราอยากให้คิดดี ๆ จะดีมาก

Mindset เปลี่ยนไป

หน้าชั้นตอนนั้นก็คือ แก่กว่าทั้ง Lab รวมกันอีกค่าาา

เมื่อก่อน เราเคยยอมแพ้กับปัญหาหลาย ๆ อย่างมาก่อนนะ แต่พอเรามองกลับไป ก่อนหน้านั้น เราก็มักจะทำอะไรบางอย่างไม่ได้มาก่อน เช่น เขียนโปรแกรม หรือแก้ปัญหาบางอย่าง เมื่อก่อน เราก็ทำไม่ได้มาก่อน แต่เวลาผ่านไป เราทำอะไรไม่รู้ละ วันนี้เราทำมันได้ ดังนั้น จริง ๆ แล้วเห้ย มันไม่มีบ้าอะไรที่เราทำไม่ได้เลยนะเว้ย สู้เขาสิวะอีหญิง !

จริง ๆ นั่นก็เป็นส่วนนึงที่ทำให้เราบ้าจี้มาเรียน Bioinformatics รู้อยู่แล้วว่า มันกระโดดออกจาก Comfort Zone ก้าวใหญ่มาก ๆ แต่ด้วย Mindset เดิมคือ มันต้องได้สักวันแหละ เลยทำให้เรากล้าไปเรียน ระหว่างเรียนเจอวิชาประหลาด ๆ ตอนแรก ๆ ก็ทำไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ทำได้อยู่ดี เลยทำให้ไม่กลัวคำว่า ทำไม่ได้ละ คือโอเคนะ แรก ๆ ของปัญหาใหม่ ๆ เราอาจจะพูดว่า ทำไม่ได้ ทำไมอะ ก็ กรู ตอนนี้ ทำไม่ได้ไง จะให้ตอแหลตัวเองเหรอ ก็ไม่ใช่ไงแกร ! แต่สุดท้ายเวลาผ่านไปด้วยตัวเราเอง จากสิ่งที่เคยทำไม่ได้ มันก็จะทำได้ นั่นแหละ เลยทำให้เลิกกลัวคำนี้ กล้าพูดออกมามากขึ้น เห้ย แต่อะไรที่แมร่งเป็นไปไม่ได้ ก็เป็นไปไม่ได้นะเว้ย เช่นจะย้ายพระอาทิตย์ขึ้นเป็นทิศใต้อันนั้นก็ไม่ไหวนะอีบ้า !

อีกคำที่เมื่อก่อนเราไม่กล้าพูดเยอะคือ คำว่า ไม่รู้ ไม่ได้ล้อเลียนท่านผู้นำท่านหนึ่งนะ แต่ด้วยสังคมหลาย ๆ อย่างในไทยเรา ทำให้คนหลาย ๆ คนกลัวที่จะพูดคำนี้ เราก็เป็นคนนึงที่กลัวเหมือนกันนะ แต่พอมาเรียนป.โท แล้ว เรารู้สึกว่า โลกมันใหญ่มาก เราโง่มาก เราตัวเล็กมาก ๆ ทำไมเหรอ ถ้าเราไม่รู้สักเรื่อง ไม่รู้หลาย ๆ เรื่อง มันก็ไม่น่าใช่เรื่องผิดเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ

สรุป เรียนจบมา แล้วชอบจริง ๆ มั้ย

เอาจริง ๆ เรารู้สึกว่าตัวเองโชคดีมาก ๆ นะที่เราได้เจอสิ่งที่เราชอบ และ ถนัดอยู่.... เรามั่นใจว่าเราจะอยู่กับมันทั้งชีวิตได้แล้ว เราชอบแก้ปัญหา (บางทีก็ชอบสร้างซะเอง) ยิ่งเรียนไป เรายิ่งรู้สึกว่า ใช่ มันใช่ขึ้นเรื่อย ๆ เราสนุกทุกวันที่ตื่นมานั่งเรียน นั่งอ่าน Paper โลกนี้มันทำไปขนาดไหนแล้ว โอเค ถึงอาจจะมีช่วงเวลาที่ชิบหาย ร้องไห้บ้าง นั่งคิดว่านี่เรามาทำอะไรที่นี่เนี่ย แต่ชีวิตแมร่งก็มีหลายรสชาติปะวะ ! สู้เขาสิวะอีหญิง ! ฟาดมัน ! ชีวิตสู้กลับอ่อ โยกหน้ามัน ! ทั้งหมดทำให้เรา แข็งแกร่ง ขึ้น จนตอนนี้งานที่ทำอยู่ก็ได้ใช้สิ่งที่เรียนมาก็สนุกดีนะ ก็คงไม่เสียดายละแหละที่เลือกเรียนสาขานี้ และ ก็น่าจะต่อเอกแหละ ตอนนี้ก็น่าจะพูดได้แล้วว่า ปริญญาโทเหรอ เออนั่นแหละพี่ผ่านมาแล้ว

Acknowledgement : ช่วงเวลาขอบคุณมาถึงแล้ว

ก่อนอื่นเลยขอบคุณ Advisor ผศ. ดร.ประพัฒน์ สุริยผล และ ดร.ดำรง ไม้เรียง (เสียดายไม่มีรูป มุแง๊) ผู้น่ารัก ที่เคลียร์ และเป็นที่ปรึกษา และที่ปรึกษาร่วมให้จนจบมาได้ หลังจากผ่านมรสุมลมแร๊งแรงมา

ผศ.ดร.นพ.ภูมิ สุขธิติพัฒน์ ประธานหลักสูตรที่กด Approve ให้เร็วมาก ๆ และ อุตส่าห์ขับรถมาเซ็นจบให้ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเอกสารทั้งหมดที่เซ็นต์ไปนั่นอะ ไม่ได้ใช้เลยคร้าบบบบ เขาทำออนไลน์กันหมดแล้ว ถถถถถถถ และเป็นคนที่เรากลัวมาก จริง ๆ ไม่ได้ดุนะ ใจดีแหละ แต่รังสีที่แผ่ออกมาทำให้กลัวมาก โดยเฉพาะตอนปี 1 ที่เรียน ๆ อยู่ หันมาถามว่า "อานนท์คิดว่าไง" ชิบหายยยย อานนท์ไม่รู้เรื่องเลยค่าาาาาาาา จึงตอบไปสั้น ๆ ว่า "ครั๊บ..." และตอนนี้ก็ยังกลัวอยู่ ถถถถ

สุดท้าย ท้ายสุด อาจารย์ และ พี่ ๆ ในหน่วยชีวสารสนเทศและจัดการข้อมูลวิจัย ที่ทั้งสอน และ ช่วยเหลือในหลาย ๆ เรื่องด้วย ตอนนี้ถ้ากำลังอ่านอยู่น่าจะกำหมัดแล้วบอกว่า อีเด็กผีนี่ไปเถอะนะ ถถถถถถถถถถถถ ช๊อตฟิลมากแม๊ !

Read Next...

รีวิว Apple Password Manager จากเรื่องง่าย ทำให้ทุกอย่างยาก

รีวิว Apple Password Manager จากเรื่องง่าย ทำให้ทุกอย่างยาก

หนึ่งใน Feature ใหม่ที่เปิดออกมาทั้งใน macOS Sequoia, iPadOS 18 และ iOS 18 คือ App ที่ชื่อว่า Password เป็น Password Manager ของ Apple วันนี้เราได้ทดลองใช้งานมันมาประมาณ 1 อาทิตย์แล้ว จะมาเล่าให้อ่านกันว่าอาการมันเป็นยังไง มันทำให้ชีวิตเราเหนื่อยขึ้นได้อย่างไร...

รีวิว macOS Sequoia การอัพเดทที่ทำให้ Ecosystem แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

รีวิว macOS Sequoia การอัพเดทที่ทำให้ Ecosystem แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

เป็นประจำในทุก ๆ ปีที่ Apple จะเปิดตัว macOS Version ใหม่ออกมาให้ผู้ใช้ Mac ได้ Upgrade กัน ในปีนี้เอง Crack Marketing Team ก็ทำหน้าที่ของตัวเองในการออกไปหาชื่อใหม่ให้กับ macOS ในปีนี้ชื่อว่า macOS Sequoia จะมี Feature อะไรเด็ด ๆ บาง วันนี้เรารวมเอามาเล่าให้อ่านกัน...

รีวิว iOS 18 การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยแต่ยิ่งใหญ่

รีวิว iOS 18 การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยแต่ยิ่งใหญ่

หลังจาก Apple เปิดตัว iOS18 และ iPadOS18 วันนี้เราจะมาเล่าพวก Feature ต่าง ๆ ที่เราได้ทดลองใช้งานมาหลายวันพร้อมกับบอก Use Case การใช้งานต่าง ๆ ว่ามันเอามาทำอะไรได้บ้าง...

รีวิว iPhone 16 Pro Max รุ่นใหม่ มีอะไรใหม่นะ?

รีวิว iPhone 16 Pro Max รุ่นใหม่ มีอะไรใหม่นะ?

อีกหนึ่งรีวิวที่หลาย ๆ คนถามเข้ามากันเยอะมาก นั่นคือ รีวิวของ iPhone 16 Pro Max วันนี้เราได้เครื่องมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วันนี้เราจะมารีวิวประสบการณ์การใช้งาน จับข้อสังเกตต่าง ๆ รวมไปถึงตอบคำถามที่สำคัญว่า iPhone รุ่นนี้เหมาะกับใคร...