ชาร์จไฟ BEV ที่บ้าน เลือกมิเตอร์แบบไหน ชาร์จถูกที่สุด
เมื่อหลายวันก่อน เราเกิดความสงสัยว่า ถ้าเรามีรถ BEV สักคัน (จริง ๆ ก็ใช้อยู่แล้วปะวะ) ที่คนเขาบอกว่า ให้เราติดเป็น TOU Metre แล้วชาร์จช่วง Off-Peak มันจะถูกที่สุด ก็จริง ๆ แต่วันนี้ เราจะลองมา Explore แต่ละแบบกันดีกว่า รวมไปถึงเคสที่ติด Solar ด้วย ว่าเคสไหนจะเป็นเคสที่ราคาถูกที่สุด
ปล. การคิดค่าไฟปกติ มันจะไม่ได้คิดแบบ Flat Rate แบบที่เราเรียก เขาจะคิดเป็นขั้นบันได แต่เราติดปาก ดังนั้น ถ้าเราบอกว่า Flat Rate ให้หมายถึงค่าไฟแบบขั้นบันไดทั่วไปนะ
Parameter Settings
เพื่อให้การคำนวณเกิดขึ้นได้จริง เราจะเริ่มจากการ Setup Parameter สำหรับการคำนวณเปรียบเทียบครั้งนี้กันก่อน เราอยากจะเริ่มจากค่าไฟต่อหน่วยก่อน แต่ประเทศเราค่าไฟมันเป็นแบบขั้นบันได ทำให้เราอยากจะตั้งก่อนว่า เราจะชาร์จรถ เดือนละกี่หน่วย อันนี้เราเอาข้อมูลจากตัวเองเลย สูงสุดที่เราเคยทำต่อเดือนอยู่ที่ 255.45 เราขอปัดขึ้นเป็น 256 kWh ไปละกันเพื่อความง่าย
ค่าไฟแบบแรกที่เราอยากจะคิดคือ ค่าไฟแบบ Flat Rate คือแบบปกติที่เราใช้งานกัน มันเป็นแบบขั้นบันได อันนี้เราจะเอาตัวเลข 256 kWh มาใช้ตรง ๆ ไม่ได้ เพราะมันเป็นมิเตอร์ที่เราใช้งานกับบ้านด้วย เราขอเอาค่าเฉลี่ยหน่วยไฟที่เราจ่ายทุกเดือนออกมาใช้งานละกัน อยู่ที่ 5.55 THB/kWh
ถัดไป ถ้าเราขอ TOU แล้วเราชาร์จแบบ On-Peak ล้วน ๆ เป็นคน ดื้อจัง เราเอาตัวเลขหน่วยเข้าไปคำนวณในเว็บประมาณการณ์ค่าไฟของ PEA เราจะได้อยู่ที่ 1,990.71 บาทหรือ 7.78 THB/kWh
กลับกัน ถ้าเราชาร์จช่วง Off-Peak ล้วน ๆ เลย เราจะโดนกันอยู่ที่ 1,303.23 บาท หรือ 5.09 THB/kWh
สิ่งที่เราเคยเล่าไปแล้วในบทความเกี่ยวกับเรื่องความคุ้มค่าของการคิดค่าไฟแบบ TOU คือ มันไม่ใช่ทุกเคสที่แค่เราเปลี่ยนไปใช้ TOU กับใช้ไฟช่วง Off-Peak อย่างเดียวแล้วมันจะคุ้มทันทีเลย แต่มันขึ้นกับ Volume หรือปริมาณไฟที่เราใช้งานด้วย ในตัวอย่างนี้ เราเลือกที่จะใช้อยู่แค่เดือนละ 256 kWh ซึ่ง จากที่เราคำนวณ ก็เรียกว่ายังไม่เยอะมากเท่าไหร่ เมื่อเราเอาไปเทียบกับค่าไฟแบบ Flat Rate ปกติ มันเลยทำให้มันต่างกันไม่เยอะมาก ประกอบกับแบบ Flat Rate เอาจริง ๆ เราคำนวณโดยการเอาค่าไฟทั้งบ้านไปคำนวณเลย ยิ่งทำให้ราคาของ Flat Rate มันแพงขึ้นไปอีก ถ้าเราเอาแค่ค่าชาร์จรถไปคำนวณ TOU อาจจะแพงกว่าก็ได้ แต่ ในความเป็นจริง มันเป็นไปไม่ได้ไง เลยไม่สนใจเคสแบบนั้น
ส่วนถัดไป ที่เราอยากเอามาคิดเพิ่มอีกคือ แล้วถ้าเราขายไฟละ ตามประกาศของการไฟฟ้า เมื่อปี 2022 เขาจะรับซื้อไฟอยู่ที่ 2.2 THB/kWh เก็บไว้เป็น Parameter ก่อน
เพื่อความมันส์ และ Detail Manner ฉบับเว็บเราเข้าไปอีก เราจะคิดต่ออีกหน่อยว่า ถ้าเราติด Solar Cell ละ ในภาพด้านบนนี้เป็นกราฟกำลังการผลิตของ Solar Cell ขนาด 5 kWp ของวันที่ 31 มกราคม 2023 ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า มันจะเป็นรูประฆังคว่ำสวยเลย ที่เลือกวันแบบนี้มาเพราะมันค่อนข้างสวย คำนวณง่ายกว่า ช่วง Peak มันจะได้กำลังอยู่ที่ 4 kW ในเวลาประมาณเที่ยง ๆ ก็พอดีครึ่งวันเลย
จากกราฟด้านบน ถ้าเราต้องการชาร์จให้ได้โดน Solar ให้ได้โหดที่สุด เราจะต้องทำให้ช่วงเวลาที่เราชาร์จ มันกินพื้นที่กราฟให้ได้เยอะที่สุด เราจะเริ่มจากว่า เราอาจจะชาร์จสัก 3 ชั่วโมง บนเครื่องชาร์จ 7 kW ทั้งหมดจะเป็น 21 kWh ด้วยกัน ถ้าแบ่งง่าย ๆ เราก็จะหารเวลาด้วย 2 ได้ประมาณ 1.5 ชั่วโมง เรารู้ว่า Peak Power เกิดตอนเที่ยง งั้นเราก็ บวกลบเที่ยงด้วย 1.5 ชั่วโมงไปเลย ก็คือช่วง 10:30 - 13:00 น. ซึ่งช่วงนั้น มันจะได้กำลังอยู่ที่ 3.37 และ 3.78 kW ตามลำดับ เพื่อให้เราไม่ต้องมานั่ง Integral หาพลังงานโชว์ เราขอตีว่า ตลอด Charging Session เราจะได้กำลังอยู่ที่ 3.575 kW ละกันนะ เอามาเฉลี่ยกันตรง ๆ นี่แหละ
เราจะมีเคสที่ใช้ TOU ร่วมกับ Solar ด้วยในความเป็นจริง เราไม่ติด Solar Cell กับมิเตอร์ TOU ที่เราเอามาชาร์จรถอย่างเดียวแน่นอน เราน่าจะทำกันในลักษณะของการเปลี่ยนมิเตอร์เป็น TOU ทั้งบ้าน และ รถไปเลย จะต่างกับแบบที่เราไม่ได้ใช้ Solar ที่เราขอแยก ใช้งานแยกไปเลย
ทำให้เราอาจจะต้องเพิ่ม Parameter ลงไปหน่อยตรงนี้ละกัน คือ เดือนนึงเราใช้ไฟรวมรถแล้ว 1,245 kWh แบ่งเป็นอัตราส่วน On-Peak ต่อ Off-Peak ที่ 20:80 ทำให้เดือนนึงเราจะเสียค่าไฟอยู่ที่ 5,715.93 บาท หรือ 4.59 THB/kWh
ดังนั้น ค่าไฟของแต่ละประเภท ก็จะเป็นดังภาพด้านบน โดยที่เราจะเห็นว่า ตัวที่ถูกที่สุด จะเป็นเมื่อเราใช้ TOU ลูกเดียวเลย เพราะอย่างที่บอกว่า TOU มันจะคุ้มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเราใช้เยอะ ๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าไฟแบบ Flat Rate ที่เป็นขั้นบันได
Calculation
เพื่อให้มันครอบคลุมที่สุด เราลองคิดวิธีการที่จะทำได้ อยู่ทั้งหมด 2 หมวดใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ เราใช้งาน Solar Cell ขนาด และ สเปกตามที่เรากำหนดไว้ใน Parameter และ ไม่ได้ใช้ Solar Cell ซึ่งใน 2 ประเภทนี้ เราจะแยกย่อยออกไปเป็นอีก 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ ใช้การคิดค่าไฟแบบ Flat Rate ตามปกติ กับมิเตอร์ที่เราใช้สำหรับบ้านอยู่แล้ว กับ ขอมิเตอร์ TOU แยกออกมา
กับเราขอเพิ่มอีกกลุ่มคือ พวกที่ขายไฟ จะแยกออกเป็น 2 กลุ่มคือ เราขายไฟ แล้วชาร์จช่วง Off-Peak ที่มี Solar ช่วย กลุ่มนี้จะเป็นพวกที่ชาร์จเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดที่เป็น Off-Peak แล้วมีแดดกลางวันเลย และ ชาร์จ Off-Peak เช่นเดียวกัน แต่ไม่มี Solar ช่วย จะเป็นกลุ่มที่ชาร์จ Off-Peak กลางคืนวันธรรมดา หรือ กลางคืนวันหยุด
สำหรับส่วนที่ไม่มี Solar เราก็เอาค่าของแต่ละ Parameter ที่เราคำนวณจากเว็บของการไฟฟ้า ไปใส่ได้ตรง ๆ เลย ไม่มีปัญหาอะไร
แต่สำหรับเคสที่มี Solar มันอาจจะ Tricky หน่อย ๆ เราคำนวณตรง ๆ ไม่ได้ เพราะเราจะต้อง เอากำลังจาก Solar มาหักร่วม โดยเรากำหนด Parameter ในการชาร์จไว้แล้ว กำลังที่เรากำหนดของ Solar คือ 3.575 kW และ กำลังเครื่องชาร์จมัน 7 kW ทำให้ส่วนต่างที่เราจะต้องซื้อไฟจากการไฟฟ้าอยู่ที่ 3.425 kW เราชาร์จทั้งหมด 3 ชั่วโมง ก็จะซื้อพลังงานเป็น 10.275 kWh
ถ้าเราบอกว่า เราชาร์จ Flat Rate อยู่ที่ 5.5 THB/kWh และเราซื้อพลังงานทั้งหมด 10.275 kWh ทำให้ ถ้าเราชาร์จใน Session นี้ เราก็จะเสียอยู่ทั้งหมด 56.5125 บาท แต่ในความเป็นจริง เราใช้งานจริง ๆ ทั้งหมด 21 kWh งั้นเราก็เอาไปหาร เราก็จะได้ 2.69 THB/kWh หลัก ๆ วิธีคิดจะเป็นลักษณะนี้ทั้งหมด สำหรับเคสที่เราใช้ Solar ร่วมด้วย เปลี่ยนแค่ราคาหน่วยไฟของแต่ละช่วงเข้าไป
และเคสสุดท้ายที่ Tricky อีกก็คือ กลุ่มขายไฟ สำหรับคนที่ชาร์จช่วงเวลาที่มี Solar ด้วย เราชาร์จเข้าทั้งหมด 21 หน่วย งั้นเราก็เอาหน่วยที่เรา Export ใส่เข้าไปเต็ม ๆ เลยคือ 21 หน่วย ก็จะเป็นเงิน 46.2 บาท แล้วเอาไปหักกับเงินที่เราจ่ายไป 21 kWh ก่อนหน้า แล้วเอาไปหารกับ 21 kWh เราก็จะได้ออกมาที่ 0.29 THB/kWh
กับเคสที่เราเอาที่ชาร์จช่วง Off-Peak แล้วเอาเงินที่ขายไฟมาใส่ด้วย เราก็เอาไฟที่ซื้อจริง ๆ คือ 10.275 kWh มาคูณกับค่าไฟต่อหน่วยของ Off-Peak แล้วเอามาลบกับ Credit ของ 21 หน่วยคือ 46.2 บาท แล้วหารด้วย 21 หน่วย เราก็จะได้ 2.89 THB/kWh
เราก็ลองคำนวณด้วยวิธีการที่เราเล่าไปแล้ว Fill Table ออกมา มันก็จะได้ราคาดังรูปด้านบน สำหรับเคสที่เอา Credit ขายไฟด้วย แล้วชาร์จตอน Solar ทำงานด้วยเราขอข้ามไปเลยนะ อันนั้นเราว่า มันแอบคิดซ้อน ๆ ไปหน่อยมั้ง ต้องเป็นบ้านที่ติด Solar มหาศาลมาก ๆ อย่างน้อย ๆ ก็ 2 เท่าเลยนะ มันไม่น่าอะ
Analysis
เรามาค่อย ๆ ตอบคำถามกันดีกว่า เริ่มจาก การใช้การคิดค่าไฟแบบ TOU แบบแยกมิเตอร์มันทำให้เราสามารถชาร์จได้ถูกกว่าการคิดค่าไฟแบบขั้นบันไดแบบปกติใช่หรือไม่ คำตอบคือ ใช่ และ ไม่ใช่ มันจะใช่ เมื่อเราชาร์จช่วง Off-Peak เท่านั้น แต่มันจะไม่ใช่ถ้าเราชาร์จช่วง On-Peak ทำให้การวางแผนการชาร์จ ให้ชาร์จช่วง Off-Peak ทำให้เราประหยัดลงไปได้ โดยที่เราลงทุนขอติดตั้งมิเตอร์เพิ่มอีกลูกสำหรับการชาร์จรถโดยเฉพาะ อย่างน้อยจาก Parameter ที่เราใช้ มันก็ถูกลงเกือบ 50 สตางค์ต่อหน่วยเลย และ ยิ่งเราใช้เยอะ มันก็จะถูกกว่านี้อีก กลับกัน ถ้าเราใช้การคิดค่าไฟแบบขั้นบันได ยิ่งเราใช้เยอะ ต่อหน่วยมันก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกันโดยสิ้นเชิง เลยทำให้ตอบคำถามแรกได้เลยว่า ใช่ ถ้าเราจัดสรรเวลาในการชาร์จให้ไปชาร์จช่วง Off-Peak เท่านั้น
คำถามต่อไป ถ้าเราติด Solar Cell แล้วเอามาใช้ชาร์จรถ จะทำให้ค่าพลังงานสำหรับการชาร์จถูกลงหรือไม่ อันนี้เราเห็นจากข้อมูลเลยว่า เป็นเรื่องจริง ถ้าเราทำตาม Parameter ที่เรากำหนดไว้นะ จะทำให้มันลดจาก 5.5 THB/kWh ไปเป็น 2.69 THB/kWh ถือว่าเยอะมาก ๆ เลยนะ แล้วถ้าเราเปลี่ยนเป็น TOU อีกมันจะลงไปได้ถึง 2.49 THB/kWh ก็ยิ่งโหดเข้าไปใหญ่
ถ้าเรา ติด Solar Cell ขายไฟ กับใช้ TOU แล้วเอาไฟส่วนเกินมาชาร์จช่วง Off-Peak อาจจะเป็นช่วงหลัง 4 ทุ่มของวันธรรมดา มันยังจะคุ้มอยู่มั้ย คำตอบคือ ก็น่าสนใจ เพราะมันทำให้ราคาลดจาก 5.09 THB/kWh เมื่อเราใช้แค่ TOU เป็น 2.89 THB/kWh มันดูคุ้มกับ รถนะ แต่มันไม่คุ้มสำหรับ Solar Cell มั้ย อันนี้ถ้าเราเดา ๆ เราเดาว่า ไม่น่าเท่าไหร่เลยะ เอาเป็นไฟเหลือ เอามาใช้ดีกว่า อย่าติดเพื่อขายแล้วเอามาเสียบรถเลย อาจจะหนักกว่าเดิม
Takeaway Suggestions
จากที่เราดูผลกันเมื่อกี้ สิ่งที่เราอยากจะบอกคือ สำหรับบ้านไหนที่ใช้งาน EV แล้ว ยังไม่ได้ติด Solar Cell อันนี้เราจะไม่แนะนำให้ไปหาติด Solar Cell เพื่อขายแล้วชาร์จรถโดยเฉพาะ แต่ถ้าเราบอกว่า โอเค เรามีการใช้ไฟกลางวันเยอะอยู่แล้ว ใช้เป็นหลักเลย อันนี้มันน่าติดมาก ๆ แล้วถ้าเรามี EV ด้วย มันก็จะเป็น Combination ที่ดีขึ้นไปอีก รวมไปถึงการเปลี่ยนเป็นมิเตอร์ TOU กับไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วขายไฟไปด้วย ก็เรียกว่าเป็น Ultimate Pack แล้ว
ถ้าไปที่เรื่อง TOU สั้น ๆ คือ ถ้าเรารู้ว่า เราจะชาร์จช่วง On-Peak เยอะ ๆ อันนี้ข้ามเลย เราเคยสรุปไปแล้ว
ถ้าเราเน้นการชาร์จวันธรรมดา ช่วงเวลา Off-Peak อาจจะเป็นหลัง 4 ทุ่มเป็นต้นไป ฟิล ๆ ว่า ทำงานกลับบ้าน แล้วเสียบ ตั้งเวลาทิ้งไว้แล้วเราก็เข้าไปนอน ใช้ชีวิตในบ้าน เสียบทุกวัน แล้วติด Solar Cell ขายไฟ เราก็จะได้เรทที่ 2.89 THB/kWh สบาย ๆ เลย
อีกกลุ่มที่ดีไม่แพ้กันคือ กลุ่มคนที่ใช้รถแล้วชาร์จอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง แล้วมี Solar Cell พวกนี้เราสามารถไปชาร์จในช่วงวันหยุดที่เป็น Off-Peak ได้ เสาร์ อาทิตย์ ทำงานมาเสาร์ อาทิตย์ นอนอยู่บ้าน กลางวัน Off-Peak ก็เสียบชาร์จไป เราก็จะได้ไฟจาก Solar Cell แล้วเสียบไปด้วย ก็จะได้ไฟราคาถูกกว่าเดิมนิดหน่อย 2.49 THB/kWh ช่วงที่ไฟ Solar Cell มันเยอะมากพอ มันอาจจะน้อยหน่อย ถ้าเรามีเวลา เราก็อาจจะแบ่งจิ้มไปเลย 2 วัน วันละ 3 ชั่วโมง ก็ได้ประมาณ 42 kWh แล้วนะ ถ้าเป็น ORA Good Cat ของเรา ก็ได้เกือบ ๆ 70% เพิ่มขึ้นมาแล้วนะ น่าจะไหว ๆ อยู่ แต่ถ้าต้องชาร์จมากกว่านั้น เราก็อาจจะแบ่งไปเสียบ Off-Peak วันธรรมดาไปก็ได้ แต่เน้นมาเสียบวันหยุดเยอะหน่อยก็น่าจะประหยัดไปได้เยอะ มันขึ้นกับ Lifestyle และ การเดินทางของเราล้วน ๆ เลย
ถ้าเราดูราคาดี ๆ เราจะเห็นเลยว่า เคสที่ถูกที่สุดคือ เคสที่เราจะต้องอยู่บ้านช่วง Off-Peak กลางวันที่มีแดด เมื่อเทียบกับขายไฟแล้วไปชาร์จ Off-Peak แบบไม่มี Solar และ ไม่เปลี่ยน TOU เลย ไปชาร์จตอน Solar ทำงานล้วน ๆ ช่วงเวลาที่มัน เกิดขึ้นได้ มันลดลงเรื่อย ๆ นั่นหมายถึง ถ้าเราอยากได้เรทถูกลงไปเรื่อย ๆ มันจะกลายเป็นว่า เราจะต้อง Reshape Lifestyle ของเราให้ตรงกับเวลาที่มันแน่นมากขึ้น สิ่งที่เราจะบอกคือ พยายามมันก็ดีแหละ แต่อย่าให้กลายเป็นว่า เปลี่ยนมาใช้ EV แล้วลำบากมากขึ้น สั้น ๆ คือ อย่า งก !!! เลือกที่เข้ากับเรามากที่สุด ส่วนใหญ่เราชาร์จแบบไหนเราก็เลือกตามนั้น แล้วนอกจากนั้นที่อาจจะแพงกว่า ถ้าต้องเสียบ เราก็เสียบเถอะ ยังไงก็ถูกกว่าการออกไปเสียบข้างนอก และ ตีเป็นต่อระยะทาง ยังไงก็ถูกกว่ารถที่เป็น ICE แน่ ๆ