By Arnon Puitrakul - 03 เมษายน 2023
มีคนถามเข้ามาเยอะมาก ๆ เกี่ยวกับ การชาร์จรถ EV ไม่ว่าจะรุ่นอะไร ด้วยไฟจาก Solar Cell มันทำได้ด้วยเหรอ และ ถ้าเราจะทำ เราจะต้องจัดการอะไรยังไงบ้าง วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกัน
เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะ ทุกเครื่องใช้ไฟฟ้าสามารถใช้ไฟจาก Solar Cell ได้ ไฟฟ้าก็คือไฟฟ้า ไม่เหมือนน้ำมันมีเลข Octane โดยทั่ว ๆ ไป ไฟที่ผลิตจากตัวแผง Solar มันจะผ่านอุปกรณ์ตัวนึงที่เรียกว่า Inverter มันทำหน้าที่แปลงไฟกระแสตรง (DC) จากแผง มาเป็น กระแสสลับ (AC) ที่อุปกรณ์ไฟฟ้าทั่ว ๆ ไปสามารถใช้งานได้ พร้อมกับแปลงให้อยู่ในระดับเดียวกับไฟบ้านด้วย เช่น บ้านเรา 234V มันก็จะแปลงออกมาให้ได้ 234V หรือใกล้เคียง
ดังนั้น ไฟที่ผลิตได้จากระบบ Solar Cell แท้จริง มันก็คือไฟทั่ว ๆ ไปที่เราใช้งานได้ ไม่จำกัดว่า รถจะใช้ได้ หรือใช้ไม่ได้แต่อย่างใด ทุกอย่างที่เสียบไฟบ้าน สามารถใช้ไฟจาก Solar ได้หมด ถามว่า แล้วแดดมันมา ๆ ไป ๆ มันจะเสถียรเหรอ ถ้าเราติดตั้งระบบ On-Grid ตอนที่แดดหายแวบนึง มันก็จะดึงไฟจากเสาไฟบ้านเราอยู่ดี หรือ เราติด Hybrid หรือ Off-Grid มันจะไปดึงจาก Battery ดังนั้น มันไม่มีปัญหาใด ๆ นะจ๊ะ
โดยปกติ ไฟจาก Solar Cell มันจะขนานเข้ากับวงจรไฟฟ้าของบ้านเรา คิดภาพง่าย ๆ คือมันมาเป็น Breaker ปกตินี่แหละ ปกติแล้ว Breaker มันก็จะจ่ายไฟจากเส้นหลักของเราผ่าน Breaker แล้วเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ Solar มันจะกลับด้านกัน คือ ไฟจะไหลย้อนกลับมาที่ ระบบไฟฟ้าของบ้านเรา
โดยธรรมชาติมันจะวิ่งหาที่ ๆ ใกล้ที่สุด ซึ่งถ้ามันอยู่ในชุดวงจรระบบไฟบ้านเรา จุดที่ใกล้ ก็คือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในวงจรไฟฟ้าของบ้าน ทำให้ไฟที่ผลิตได้จาก Solar Cell ก็จะไหลเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของเรา สิ่งที่เราจะเห็นก็คือ กระแสไฟที่ไหลผ่านเส้น Main ก็จะลดลง หรือแทบไม่เลย เพราะมันจะไปลดโหลดบนเส้น Main ที่ซื้อไฟจากการไฟฟ้านั่นเอง
ทำให้เป้าหมายที่เราต้องการคือ เราจะชาร์จรถโดยที่มีโหลดที่เส้น Main ให้น้อยที่สุดนั่นเอง
ถ้าเราจะไม่โหลดไฟจากการไฟฟ้าเลย เราก็จะต้องมาดูกำลังของ Solar Cell และ เครื่องชาร์จรถ EV ของเรากันก่อน ตามหลักก็คือ กำลังของการใช้ในบ้าน รวม กับ เครื่องชาร์จ ต้องไม่เกินกำลังผลิตของ Solar Cell ถ้าเกิน ส่วนต่างมันจะต้องโหลดจากการไฟฟ้า
เริ่มที่อันง่ายก่อนคือ เครื่องชาร์จ เราจะใช้งานกันทั่ว ๆ ไปในบ้านจะมีทั้งหมด 2 แบบด้วยกันคือ Mode 2 และ 3 ถ้าใครไม่คุ้นเคยคำพวกนี้ ย้อนกลับไปอ่านบทความที่เราเคยเขียนไว้ด้านบนนี้เลย
โดยมาก เครื่องชาร์จใน Mode 2 จะมาในรูปแบบที่เราเรียกว่า Emergency Charger ที่เป็นปลั๊กเสียบ 3 ตาปกติ อันนี้กำลังสูงสุดอยู่ที่ 3 kW ด้วยกัน และ เครื่องชาร์จแบบ Mode 3 หรือเราเรียกว่า Wall-Charger จะมีกำลังสูงสุดตั้งแต่ 7, 11 และ 22 kW ตัว 7 kW สำหรับไฟ 1-Phase กับ 11 และ 22 kW สำหรับไฟ 3-Phase ส่วนใหญ่ เราจะใช้กันอยู่ที่ 1-Phase 7 kW ซะเยอะ
มาที่ตัวยากกันบ้างคือ Solar Cell อันนี้อยู่ที่เราติดตั้งเลย เช่น บ้านทั่ว ๆ ไป 1-Phase เราจะติดได้สูงสุดที่ 5 kWp แต่ถ้าบ้านเราใช้ 3-Phase มันก็ไปได้เรื่อย ๆ เลย มีเครื่องแบบ 50 kW ก็มีแต่อันนั้นก็.... โรงงานแล้วเพ่ บ้าน ๆ เราว่าอย่างมาก 20-30 kW ก็เยอะแล้วละ
แต่ความลับของ Solar Cell คือ ถึงเราจะบอกว่า เราติด 5 kW แต่จริง ๆ เขาจะชอบเขียนว่า 5 kWp หรือ 5 kW Peak หรือ มันผลิตได้สูงสุด 5 kW ทำให้ในความเป็นจริง มันจะผลิตได้น้อยกว่านั้น เรายกตัวอย่างเช่นระบบ 5kWp เราจะผลิตกันได้จริง ๆ 4 kW ก็ถือว่าเยอะแล้วละ ยังไม่นับว่า มันจะโดดขนาดนั้นได้แค่ไม่กี่ชั่วโมงช่วงกลางวันเท่านั้นเอง
ถ้าเราดูจากกำลังการผลิตของ Solar Cell และ กำลังการใช้ของเครื่องชาร์จเรา ทำให้ ถ้าเราติดตั้ง ระบบ Solar Cell ขนาด 5 kWp เราใช้ Wall-Charger เล็กที่สุด 7 kW โดยที่ไม่โหลดไฟจากการไฟฟ้าไม่ได้แน่ ๆ ดังนั้น ตัวที่เล็กลงมา ก็ต้องเป็น Emergency Charger ที่กินกำลังแค่ 3 kW เท่านั้น รอดแน่ ๆ
อะ 3kW รอดแน่ ๆ แต่อย่างที่บอกไฟที่ผลิตได้จาก Solar Cell มันจะไม่เท่ากันตลอดทั้งวัน เอาวันที่ Perfect ฟ้าเปิด ๆ เลย บ้านเราเลยจะได้กราฟออกมาเป็นแบบระฆังคว่ำอาจจะมีหยึกหยักบ้างอะไรบ้าง นิดหน่อยตามความเป็นจริง
ถ้าเราบอกว่า เราจะชาร์จกำลัง 3 kW เราจะต้องดูแล้วว่า ช่วงไหนที่ Solar Cell เราผลิตได้กำลัง 3 kW หรือมากกว่า ซึ่งเราลากเส้นแดงเป็นเขต 3 kW เอาไว้ และตีเส้นน้ำเงินที่เป็นจุดที่ Solar มันผลิตได้ 3 kW หรือมากกว่าเอาไว้ มันก็จะเป็นช่วงเวลา 10:00 - 15:00 น. หรือประมาณ 5 ชั่วโมงด้วยกัน แปลว่า วัน ๆ นึง เราจะได้พลังงานทั้งหมด 3kW x 5h = 15 kWh
ชาร์จวันหยุด รวมกัน เสาร์-อาทิตย์ ไม่ไปไหนเลย ทำงานเหนื่อย ๆ นอนอยู่บ้าน รถ เราก็จะชาร์จได้ประมาณ 30 kWh ด้วยกัน เอาเป็นรถเราละกัน ORA Good Cat 500 Ultra เราจะใช้อยู่ที่ 11.5-12.0 kWh/100 km เราเอาแย่สุดเลย 12 kWh/100km เราก็จะวิ่งได้ประมาณ 250 km หรือทำงาน 5 วัน วันละ 50 km ก็เรียกว่า น่าจะเพียงพอสำหรับคนส่วนใหญ่แล้วละ
แต่นั่นยังไม่รวมว่า ระหว่างที่เราชาร์จ เราจะเปิดแอร์ ซักผ้าอะไรเลยนะ ซึ่งอันนี้แหละคือจุดที่เราจะประหยัดได้มากขึ้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การซักผ้า ที่โอเคมันใช้ไฟ แต่มันใช้ไม่ถึง 3 kW นิ มันใช้นิดเดียว แต่เรายังมีกำลังเหลือในช่วงก่อน 10 โมง และ หลังบ่าย 3 ไปแล้ว เราก็เอาไฟช่วงนั้นแหละ เอาไปลงพวก การซักผ้า อบผ้า ส่วนการเปิดแอร์ จริง ๆ แอร์มันจะโหลดหนัก ๆ ช่วงแรก ๆ พออุณหภูมิมันเริ่มคงที่เราไม่ได้เปิดเข้าออก มันก็จะกินไฟไม่เยอะมาก เราก็แค่เปิดช่วงที่ไฟเหลือนี่แหละ แล้วพอถึงช่วงที่เราจะชาร์จ แอร์คุมอุณหภูมิได้แล้ว มันก็จะกินกำลังน้อย แล้วเอาไปลงรถ พร้อมกับซื้อไฟนิดเดียวเท่านั้น ถ้าเราบริหารการใช้งานตรงนี้ได้ เราบอกเลยว่า มันจะทำให้เราประหยัดแบบ สุด ๆ จริง ๆ
เพิ่มเข้าไปอีก เราก็อาจจะเป็นการทำพวก Home Automation เข้าไปก็ได้ ถ้าเกิดพลังงานที่ผลิตได้มันเกิน 3kW เราก็สั่งให้มันเปิดเครื่องชาร์จก็ย่อมได้เช่นกัน แล้วถ้าพลังงานมันตกต่ำกว่า 3kW ก็ให้มันปิดเครื่องชาร์จ แต่เวลาเขียน Automation อะ ระวังนะ เพราะความเป็นจริง มันมีวันที่เมฆวิ่งไปมา บังแดดแปบนึงแล้วกลับมาใหม่ อาจจะหน่วงเวลาหน่อยถ้าไฟมันเกิดสัก 10 นาที แล้วค่อยตัด ก็น่าจะดีกว่า
จากวิธีเดิมคือ เราเจอปัญหาว่า พอเครื่องชาร์จเรามันฟิคกำลังไฟที่ใช้งานเลย ทำให้เราจะต้องไปเริ่มและหยุดชาร์จเมื่อกำลังไฟที่ผลิตจาก Solar Cell เกิน กำลังของเครื่องชาร์จ ไหนจะถ้าอยู่ ๆ เราลืมมมม เปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นมา เราก็จะเสียเงินซื้อไฟอีก โหยยย เราคุมยากมาก ๆ แล้วเราจะทำยังไงดี
เครื่องชาร์จพวกที่เป็น Smart Charger อย่าง Enel X Juicebox พวกนี้ เราสามารถตั้ง กระแส ที่จะใช้ชาร์จได้ด้วย เช่น 1-Phase ปกติ เราก็จะใช้ได้สูงสุด 32A หรือประมาณ 7 kW ถ้าเราอยากได้สัก 4.5 หรือครึ่งนึง มันก็จะตั้งให้กดไป 20A อะไรแบบนั้นได้ สุดท้าย พวกนี้ ถ้าเราต้องมานั่งดูแล้วเราตั้งกระแสเอง มันก็เป็นเรื่องที่ปวดหัวแน่ ๆ
ทำให้มันก็จะมีเครื่องชาร์จรถที่พัฒนาขึ้นไปอีก ที่มันจะเอาเครื่องวัดกระแสไปแขวนที่สาย Main เลย แล้วมันจะไปอ่านเลยว่า มันมีกระแสเหลือเท่าไหร่ แล้วปรับกระแสของเครื่องชาร์จให้กระแสในสาย Main น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าในไทยเท่าที่เห็น ณ วันที่เขียนของ Wallbox ที่ EGAT เอาเข้ามาขายก็มี Feature นี้ หรือ ถ้าเป็นฝั่งต่างประเทศเลยที่ได้ยินเยอะ ๆ ก็ Zappi พวกนี้
สำหรับบ้าน 1-Phase เราก็แนะนำสูงสุดของมันเลยคือ 5kWp มันก็จะออกมาเป็นแบบที่เราเล่าไป แต่ถ้าเราบอกว่าบ้านเรา 3-Phase แล้วเราติด Solar Cell ขนาด 10 kWp เลย ถามว่ามันจะทำให้เราชาร์จจาก Wall-Charger 7 kW แล้วเปิดแอร์ได้มั้ย ก็ต้องบอกว่า อาจจะได้แต่ยากมาก อย่างที่บอก Solar มันผลิตได้ไม่เต็มตามสเปกแน่นอน แดดแสงมันเข้มไม่เท่ากัน ผลิตจริง ๆ อาจจะ 6-8 kWh ถ้า ได้ 8 kW ยากหน่อย แต่ก็ชาร์จ Wall-Charge 7 kW แล้วบวกแอร์สักตัวตอนมันคงที่แล้วก็ 1 kW ก็น่าจะพอดี ๆ พอไปได้ แต่โอกาสที่เราจะเจอแบบนี้มันไม่เยอะ ยิ่งถ้าทิศและมุมติดแผงเราไม่ดีด้วย 8 kW ยากมาก
ทำให้ เราแนะนำว่า ถ้าเราอยากจะชาร์จไฟจาก Solar Cell ล้วน ๆ เลย เราอาจจะต้องกดมาสัก 12-15 kWp เป็นอย่างน้อย เพื่อให้เราสามารถชาร์จผ่าน Wall-Box กำลัง 7 kW และ มีไฟเหลือสำหรับเปิดแอร์นั่งรอในบ้านแบบสวย ๆ น่าจะกำลังดี แต่ถ้าเราเอาเงินส่วนต่างขนาดของ Solar ไปลงกับเครื่องชาร์จที่อ่านค่ากำลังที่เหลือได้แล้วปรับเอา มันน่าจะคุ้มกว่านะ ฮ่า ๆ
อ่านมาขนาดนี้ คนที่ใช้งาน EV เริ่มอยากจะลง Solar แล้วใช่ป่ะ แต่เราจะบอกว่า อย่า หา ทำ นะ เพราะ ถ้าเราติด Solar เพียงเพราะรถ EV เท่านั้น มันไม่คุ้มเลย สู้เราเสียเงินทำไฟขอมิเตอร์ TOU แยก แล้วเราชาร์จช่วง Off-Peak มันจะง่ายกว่าเยอะ แต่ในบทความนี้ เราจะบอกว่า คนที่มีระบบ Solar อยู่แล้ว หรือมีการใช้ไฟในช่วงกลางวันเยอะ แค่เราปรับพฤติกรรมการใช้งาน แล้วพยายามไปจิ้มช่วงที่มีแดดเยอะ ๆ หรือเกินเลย มันก็จะทำให้เราสามารถชาร์จได้ฟรี ๆ จาก Solar เลย
ทุกคนเคยได้ยินคำว่า Mainframe Computer กันมั้ย เคยสงสัยกันมั้ยว่า มันต่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันทั่ว ๆ ไปอย่างไรละ และ Mainframe ยังจำเป็นอยู่มั้ย มันได้ตายจากโลกนี้ไปหรือยัง วันนี้เรามาหาคำตอบไปด้วยกันเลย...
เคยมั้ยเวลา Deploy โปรแกรมสักตัว เราจะต้องมานั่ง Provision Infrastructure ไหนจะ VM และ Settings อื่น ๆ อีกมากมาย มันจะดีกว่ามั้ยถ้าเรามีเครื่องมือบางอย่างที่จะ Automate งานที่น่าเบื่อเหล่านี้ออกไป และลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Infrastructure as Code กัน...
เมื่อหลายวันก่อน เราเลื่อนเฟสไปเจอความเห็นนึงที่อ่านแล้วถึงกับต้องขยี้ตาอ่านซ้ำบอกว่า ให้เราลองถาม ChatGPT ดูแล้วเราจะไม่กลับไปหา Google อีกเลย มันเป็นแบบนั้นได้จริงหรือไม่ วันนี้เราจะมาอธิบายในแง่หลักการทำงานของมัน และความเป็นไปได้กันว่า มันเป็นไปได้จริงหรือไม่อย่างไร...
ในปัจจุบันเราพึ่งพาการเก็บข้อมูลต่าง ๆ บนเครื่องคอมพิวเตอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับบางคนมากจนไม่สามารถเก็บได้ในเครื่องของเราอีกแล้ว ทำให้อาจจะต้องมองหาระบบจัดเก็บข้อมูลอื่น ๆ เข้ามาใช้งาน หนึ่งในนั้นคือการใช้ NAS หลายคนมีคำถามว่า แล้วเราควรจะเลือกซื้อ NAS สำเร็จรูป หรือ DIY ดี...