By Arnon Puitrakul - 04 มกราคม 2023
ปีก่อน เราว่าเราตบกับ ASolar ก็มันส์แล้ว เราบอกเลยว่า เข้าปีที่ 2 แล้วก็คือยังไม่เลิกตบกับมัน และ แน่นอนว่า สงครามไม่ได้จบด้วยสันติ แต่จบด้วยการหยุมหัวกันแน่นอน วันนี้เราจะมาเล่ากันว่า เราติด Solar Cell กับ ASolar ไป 2 ปีแล้ว มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราได้พลังงานเท่าไหร่ และ ประหยัดไฟไปเท่าไหร่ และสำคัญเลย มันเกิดเรื่องอะไรขึ้นบ้าง อาจจะยาวหน่อยนะ อยากให้อ่านเป็นอุทาหรณ์กัน
มันเกิดจากก่อนหน้านั้นช่วงเดือน 10-12 ของปี 2021 เราก็เห็นว่า มันใกล้จะได้รอบการ Maintainance ระบบแล้ว ที่เป็นช่วง เดือน 2-3 เพราะเราอยากจะล้างแผงในช่วงนั้น เพื่อให้มันสามารถรับแสงได้เยอะ ๆ ในช่วงหน้าร้อนที่พระอาทิตย์มันใกล้โลกที่สุด แน่นอนว่า ASolar ที่ติดตั้งให้เรา ก็บอกว่าเขามีประกันติดตั้ง 2 ปี กับ ล้างแผงให้ 2 ครั้ง ปีละครั้ง ทำให้ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะไม่เสียเงินค่าล้างละ เราก็ทำการติดต่อไปผ่าน Call Centre ก็มีคนรับสาย แล้วบอกว่า อ่อ ต้องไปคุยกับ Aftersale นะครับ เบอร์นี้ ๆ โอเค เราก็โทรไป อ่อ ไม่ ๆ ครับ มีอีกแผนกที่รับเรื่องนี้เลยโทรไปเบอร์ ๆ นี้นะครับ อะ เ_ย อะไรครับเนี่ย ตอนนั้นคือ หัวร้อนเหมือนพึ่งแพ้เกมหมามา
เราก็โทรไปในเบอร์ที่ได้มาอีกรอบ ก็มีคนรับเรื่อง เห้ย เขาพูดอะไรดูดีเลย สุดท้ายบอกเราว่า เดี๋ยวเขาดูคิวแล้วจะติดต่อกลับไปนะ แน่นอนว่า อีนี่คือ รอการติดต่อกลับที่หน้าโทรศัพท์ทุกวัน ผ่านไป 2 เดือน ถ้าเป็นแม่นาคพระโขนง เราว่า น่าจะเก็บมะนาวไปล้านลูกแล้วละ โอเค ก็ไม่ให้มาล้างแผงละ ถ้าจะติดต่อยากขนาดนั้น ในเมื่อบริษัทที่ติดมันพึ่งไม่ได้ละ เราก็หันไปพึ่งเพื่อนซะเลย ก็นัดเพื่อน เป็นวันที่ 20 Feb 2022 แล้วก็นางก็มาล้างแผงให้เราอะไรไป
จนนางถ่ายรูปมาให้เรา ที่ทำให้เราช๊อคไปเลย เพราะ บนแผง มี รอย ไหม้ เหยยยย แผงมันอายุ 25 ปีเลยนะ เราพึ่งลงไปปีเดียว ไหงมันเป็นแบบนั้นได้วะ มันไม่น่านะ ทั้งเรา และ เพื่อนคือ งง ไปตาม ๆ กันคือ เ_ยอะไร รอบที่ 2
หนักกว่านั้นอีกคือ สาย Ground ที่ต่อจากแผงไปแผงเป็น Series ก็คือหลุด เดินสายเละเทะเต็มหลังคาไปหมด ยังไม่นับเรื่องที่ใช้พวกสกรูที่เป็น เหล็ก แน่นอนว่า คนที่ทำพวกนี้จะรู้ว่า บ้าเหรอใช้เหล็กอะ สนิมกินหมด มันควรจะเป็นพวก Stainless โว้ยย แล้วมันเป็นเรื่องสาย Ground มันคือ เรื่องความปลอดภัยเลยนะ อันนี้ก็คือ เ_ยอะไรวะเนี่ย รอบที่ 3
เอาให้หนักเข้าไปอีก สายที่เดินจากแผงไปที่ Inverter พวกนี้ปกติเราจะเดินลงมาจากหลังคา แล้วร้อยท่ออะไรให้เรียบร้อย อันนี้ก็คือ อ่อ กูก็ผูก ๆ กับเสาบ้านอะไรไป แบบ WAIT WUT! ตอนฟังครั้งแรกคือ WHAT THE F_CK DID YOU JUST SAY? เลย ก็เลยทำให้ เ_ยอะไรวะเนี่ยรอบที่ 4
แน่นอนว่า เพื่อนเราก็ทำอะไรไม่ได้แน่นอน เพราะไม่ได้เป็นคนติดตั้ง วันที่ 1 Mar 2022 เราเลยติดต่อ ASolar ผ่าน Line Official Account ไปเล่าเรื่องทั้งหมด พร้อมส่งรูปให้ดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น ผ่านไป 3 นาที ก็มีคนตอบกลับมาละ เออ อุ่นใจ ขอชื่อ กับเบอร์เราไป พร้อมกับแจ้งด้วยนะว่า เรามีการปรับระบบไฟภายในบ้านนะ เพราะเรามีการติดตั้งเครื่องชาร์จรถ EV และเราเคยแจ้งไปก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ไม่มีใครตอบเลย
หลังจากนั้น เราจำไม่ได้แล้วว่าอีกกี่วัน ก็มี Technician จาก ASolar โทรมาหาเรา เราก็ต้องเล่าเรื่องทั้งหมดใหม่ (แล้ว กรู จะ บอก ใน ไลน์ ทำไม ก่อน) พี่เขาก็โอเค ได้ ๆ มีการนัดวันเข้ามาตรวจเช็ค
วันที่ 18 Mar 2022 หรือผ่านไป 17 วันนับจากวันที่เราไลน์ไปแจ้งทาง ASolar พี่เขาก็มาตามนัดเลย ก็ขึ้นไปเช็คบนหลังคา แล้วลงมาบอกเราว่า โอเค เราเจอรอยไหม้จริง ๆ นะ การเดินเรื่องก็คือ เดี๋ยวจะเอากลับไปคุยกับทางบริษัทว่าจะเอายังไงต่อนั่นนี่ จนเวลาผ่านไป เราจำไม่ได้ว่ากี่วัน พี่ช่างเขาก็โทรกลับมาบอกว่า ก็... เดี๋ยวผมจะเอาแผงเข้าไปเปลี่ยนให้ เราเลยถามว่า เอ่อ แล้วจะเอาเข้ามากี่แผงครับ เขาก็ตอบว่า 1-2 แผง น่าจะประมาณนี้ครับ เราก็ โอเค..... ได้เลยครับ มันจะพอใช่มั้ยครับ มันจะมีมากกว่านี้มั้ยครับ พี่เขาก็บอกว่า ไม่น่านะครับ เท่าที่เห็นวันนั้นมีเท่านี้ อะได้......... โอเคเรอะ
วันที่ 29 Mar 2022 พี่เขาก็เข้ามาตามที่นัดกันไว้ โอเคเรื่องสายหลายชั่วโมง ธรรมชาติของ ASolar เลยไม่ได้บ่นอะไร ต้องอยู่กันอีก 23 ปี แมร่งต้องทำตัวให้ชินได้ละ พี่เขาก็ขึ้นไปทำงาน เช็คนั่นนี่ จนเดินลงมาบอกเราว่า
พี่ช่าง : เอ่ออ วันนี้ไม่น่าจะได้เปลี่ยนครับ
อานนท์ : เอ๊ะทำไมครับ
พี่ช่าง: แผงที่เอามามันไม่พอ
อานนท์ : อ่ออออ แล้วสรุปต้องเปลี่ยนกี่แผงนะครับ
พี่ช่าง : เอาจริง ๆ เลยนะครับ ทุกแผง
จังหวะนั้นคือคิดในใจเลยนะว่า อีเ_ย !!! กูถามแล้ววววววว จะพอเหรอมันหมดทุกแผงแน่ จังหวะที่ยืนคุยกับพี่ช่างหน้าบ้าน ยังจำภาพได้เลย นึกว่าหนังซิดคอม พี่เขาก็บอกต่อว่า เดี๋ยวขอเอาไปปรึกษากับบริษัทก่อนว่าจะเอายังไง เราก็เน้นเรื่องสาย Ground อะไรไป เขาก็รับเรื่องไปบอกว่า โอเคเห็นแล้วครับ ก็เดี๋ยวต้องแก้ด้วย เราก็เลยบอกไปว่า พูดง่าย ๆ เลยคือ รื้อทั้งหลังคาเลยใช่มั้ยครับ เหลือแค่ Mounting เนอะ พี่เขาก็ขำแห้ง และ บอกว่า ใช่ ครับ จังหวะได้จริ๊งงงงงง
จากนั้น ASolar ก็เงียบไปเลย จนเราต้องโทรกลับไป เอ้า เบอร์ที่ได้เป็นเบอร์สาขาพัทยา แต่การโทรไปครั้งนี้คือ พี่เขาดีมาก ๆ นะคุยดีอะไรดีมาก จนกระทั่งเราเจอประโยคที่ทำให้เราเกือบหลุดว่า เ_ยอะไรเนี่ย เป็นครั้งที่ 5
พี่ปลายสาย : แย่เลยนะคะ ที่กรุงเทพทำงานอะไรกันแบบนี้
เราแบบ เห้ยยยย เด่ว ๆ ก็คิดในใจนะว่า พี่ นั่นบริษัทพี่ ผมเป็นคนนอก ผมไม่แคร์นะว่า ข้างในพี่จะเกิดอะไรขึ้นอะ มันไม่ใช่หน้าที่ของผมเลย มันไม่ใช่เรื่องเลยจริง ๆ นะที่พูดแบบนี้ออกมา ไม่น่ารักก็ตรงนี้แหละ
เวลาผ่านไป เราจำไม่ได้จริง ๆ ว่านานเท่าไหร่ พี่ช่างก็โทรมาบอกว่า บริษัทให้เปลี่ยนแผง กับ เดินสายไฟใหม่ให้หมดเลย ร้อยท่ออะไรให้เรียบร้อย แล้วก็นัดวันมา เราก็โอเคอะได้ ๆ จนเวลาผ่านไปเป็นวันที่ 5 May 2022 พี่ช่างก็โทรมาบอกว่า เออ ที่นัดไว้ ขอเลื่อนเป็นวันที่ 10 แทนนะ พอดีว่าช่วงนั้นฝนมันตกเยอะ เลยทำให้คิวก่อนหน้านี้มันล่าช้าไป เราก็โอเคได้ ๆ ไม่คาดหวัง ไม่ผิดหวัง
จนวันที่ 10 May 2022 ช่างเข้ามาจริง ๆ เว้ย และ บอกเลยว่า สายจากเวลาที่นัดไว้ ชั่วโมงเดียว ก็คือเรียกว่า ปาฏิหารณ์มีอยู่จริงหวะ ช่างก็เริ่มทำการ รื้อแผง รื้องานที่งามหน้าไว้ออก ทำให้ แน่นอนว่า ระบบทั้งหมดของบ้านเรารันจากการไฟฟ้า 100% เราเลยถามพี่ช่างว่า แล้วจะเสร็จวันไหนยังไงครับ พี่ก็บอกว่า 11 คือวันพรุ่งนี้ก็น่าจะเสร็จครับ วันนี้รื้อ พรุ่งนี้ขึ้นแผงก็เรียบร้อย เราก็โอเคได้ ๆ เยี่ยมมาก เอาคนมาขนาดนี้สงสัยเร็ว
แน่นอนว่า อิ 🌼 ไม่เสร็จจ้าาาา 12 ก็ยังไม่เสร็จ แล้วมันก็หนักเลย เพราะ 13,14,15 ช่างเข้าไม่ได้ หมู่บ้านไม่ให้เข้า เพราะ 13 May มันเป็นวันพืชมงคล ส่วน 14,15 เป็นเสาร์อาทิตย์เลยเข้าไปทำงานไม่ได้ (เป็นปกติของหมู่บ้านเนอะ จะได้ไม่ไปรบกวนข้าง ๆ บ้าน) ก็ทำให้ระหว่างนั้น ก็ผลิตไฟไม่ได้เลย วันที่ 16 May 2022 เวลาประมาณบ่ายโมง ระบบก็กลับมาออนไลน์ได้อีกครั้งแล้ว โดยแผงจากเดิม 20 แผง ก็ลดเป็น 18 แผง แต่กำลังรวมมากกว่าเดิมนิดหน่อย
พี่ช่างที่เข้ามาติดตั้งแผงใหม่ก็บอกว่า อื้มมมม ช่างที่เข้ามาก่อนหน้าเป็นช่างที่เขาไป Outsource มาอีกที ทำให้คุณภาพงานมันไม่ได้เลย รอบนี้จาก ASolar มาเอง น่าจะไม่มีปัญหา เลยบอกพี่เขาไปว่า เอาให้จริงนะครับ เพราะจากเรื่องที่ผ่านมา ความไว้ใจกับบริษัทพี่คือ มัน หมด ไป แล้ว
เรียกว่า ติดต่อว่าเจอปัญหาไปตั้งแต่เดือน 3 จนไปจบวันที่ 16 May หรือก็คือ เกือบ ๆ 2 เดือนเลยนะ คือแบบไม่ประทับใจตั้งแต่ตอนติดต่อไปล้างแผงก็คือ เงียบ จน ตอนนี้ก็.... แห้งเนอะ แล้วก็เรื่องเคลมแผง นั่นก็อีกเรื่อง เรื่องความรับผิดชอบนั่นอีกเรื่อง การบริหารอีกเรื่อง จนมาติดตั้ง ก็ Estimate พลาดไปไกลมาก ๆ มันเสียงานเรานะ คือบอกเราว่า พรุ่งนี้เสร็จ เราก็เลื่อนนัดอะไรไปหมดละ อยู่ดี ๆ ก็คือ ไม่เสร็จ แล้วมันหลายวัน มันเรื่องใหญ่นะ คือก็มีการมีงานทำไง มันก็ไม่ใช่เรื่อง แล้วยังมีหน้ามาบอกว่า รอบก่อนเป็นช่าง Outsource เลยทำให้คุณภาพการติดตั้งห่วยแตก
เราก็จะบอกเลยว่า เห้ย ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ Outsource หรือไม่ แต่มันอยู่ที่การ QC ของทางบริษัทรึเปล่า คุณปล่อยให้ช่างอื่นมาทำงานชุ้ย ๆ ทิ้งไว้แบบนี้ แล้วมาตามแก้แบบนี้เหรอ อันนี้เราไม่โทษช่าง หรือคน Operation เลยนะ เราว่าเขาก็ทำเต็มที่ของเขาแล้ว เราโทษฝั่งผู้บริหาร เห้ย เล่นขายของกันเหรอ เราว่าไม่น่ารักแล้วนะ คุณปล่อยให้เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร Crisis Management ก็คือแย่มาก เรียกว่า ปวด หัว มาก และ น่าจะปวดหัวทุกครั้งที่ต้องติดต่อกับ ASolar แล้วละ
ถ้าใครที่ติดตาม Blog ของเรามาก่อนหน้านี้ จะเห็นว่า เราใช้ BEV อย่าง ORA Good Cat อยู่ทั้งหมดสองคันด้วยกัน ทำให้การใช้ไฟเพิ่มขึ้นมหาศาลเลย และ เห็นว่า ระบบเดิมเริ่มจะไม่พอแล้ว เลยทำให้ได้ไอเดียว่าจะติดเพิ่ม แต่จากความงามหน้าที่ ASolar ก่อไว้ แน่นอนว่า เราก็ไม่กลับไปเลือกแน่นอน ทำให้เราเลยไปเลือกเพื่อนเราเองมาจัดการติดตั้งให้
ด้วยความที่เราจะต้องชาร์จรถด้วย เราเลยจำเป็นต้องทำหลังคาหน้าบ้านกันฝนเวลาเราชาร์จรถ แล้วทิศก็คือทิศใต้ด้วย แดดลงเต็ม ๆ นั่นแหละ มันเลยเป็นจุดที่เหมาะเลยกับการเอาแผงมาลง ซึ่ง Requirement ที่เราบอกเพื่อนไปคือ อยากได้ให้ขนาดใหญ่ที่สุด เราเรียนรู้จากรอบก่อนแล้วว่า ติดไปยังไงเราก็จะใช้ไฟเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จน Design มายัดได้ประมาณ 4.9 kWh
ระบบทุกอย่าง รอบนี้พอเพื่อนเราติดให้ เราก็เลือกของเองได้หมด ตัว Inverter ก็เป็นรุ่นเดิมจาก Huawei เพื่อให้ Inverter 2 ตัวคุยกัน เราเรียกว่า Cascade Inverter ได้เลย กับแผงอันนี้ยากหน่อย ด้วยพื้นที่เล็กมาก ๆ ทำให้เลือกแผงที่กำลังสูงหน่อย ทั้งหมด 9 แผง เลยทำให้ Fitting กับพื้นที่ยากสักหน่อย
อีกเรื่องที่เราพึ่งรู้จากเพื่อนเราคือ เวลาเราติด Solar Cell ใน Combinder Box มันควรจะมีพวกอุปกรณ์ความปลอดภัยเช่นพวก Fuse ฝั่ง DC คือจากแผงแล้วผ่าน Fuse ก่อนเข้า Inverter หรือพวก Surge Protection กันฟ้าลง แน่นอนว่า อ่อ เหรอ.... ตอนที่ ASolar มาติดไม่มีนะ มีแค่ AC Disconnect ที่ต่อจากฝั่ง AC ของ Inverter เข้า Circuit Breaker ของบ้านเท่านั้น ก็คือ ถ้าแผงเกิดอะไรขึ้นมา ลง Inverter เต็ม ๆ แน่นอน ลองดูที่รูปด้านบน กล่องบนสุดเลย นั่นแหละคือกล่องที่เราพูดถึง อันนี้คือตัวที่มีอุปกรณ์ความปลอดภัยติดตั้งแล้ว
แต่แน่นอนว่า ทุกอย่างก็สำเร็จไปได้ด้วยดี ช่วงที่ลงระบบนี้ก็คือ ช่วงวันใกล้ ๆ กับที่ ASolar เข้ามาเปลี่ยนแผงให้เลย เพราะเราตั้งใจว่า จะให้ ASolar เข้ามาเก็บงานให้เรียบร้อยก่อนที่จะทำอะไรเพิ่ม พูดง่าย ๆ คือ เอาเรื่องเดิมให้จบก่อน แล้วค่อยหาเรื่องใส่ตัวทีหลัง ฮ่า ๆ เดี๋ยวเรามาคุยเรื่องของ Performance กันต่อไป
ทีนี้พอใช้ ๆ ไป เราก็เห็นว่า โอเค ด้วยความที่แผงมันน้อย มันดันแรงดันได้น้อยมาก ๆ เราเลยเสนอเพื่อนเราว่า งั้นเราก็ยุบ 2 String เข้าเป็น 1 String ไปเลย เพื่อให้ แรงดันมันสูงขึ้น ซึ่งผลที่ได้ บอกเลยว่า ดีกว่าเดิมแน่นอน แต่ ที่เราเป็นห่วงคือ เรื่องของมุมที่มันแตกต่างกัน และ เราก็ยังรู้สึกว่า ไฟมันไม่พอใช้จริง ๆ อยากจะ Maximise แผงที่มีให้ไปอีกกกกก
เลยไปจบที่การเพิ่ม Optimiser ให้แผงทั้งหมด 9 แผง ในช่วงเดือน Dec 2022 ที่ผ่านมา ทำให้ข้อมูลว่า การที่เราหยอด Optimiser ลงไปแล้วมี Improvement อย่างไร อันนี้เราอาจจะไม่ได้เอามาวิเคราะห์กันในวันนี้ เพราะข้อมูลยังไม่เพียงพอเนอะ
โดยสรุป ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลง ตัวระบบ จากเดิม ระบบที่ 1 ที่ ASolar เข้ามาติดตั้ง เป็นแผงทั้งหมด 20 แผง ก็ลดเหลือ 18 แผง แต่ Inverter อะไรก็ยังเป็นตัวเดิมทุกอย่าง นอกจากนั้น เรายังติดตั้งระบบขนาด 4.9 kWp มาเพิ่ม และเติม Optimiser เข้าไปอีก และ มีการต่อ Cascade Inverter เข้ากับระบบที่ 1 ทำให้ตอนนี้เรามี ระบบ Solar Cell ขนาด 5 + 4.9 เป็น 9.9 kWp ด้วยกัน
เพราะการที่ระบบที่ 1 และ 2 มันเปิดใช้งานไม่พร้อมกันในช่วงปี ทำให้การนับช่วงปีของเรามันยากมาก ๆ เราเลยเปลี่ยนการวิเคราะห์จากเดิมไปหน่อย คือ รอบปี เราจะนับเป็น ปีจริง ๆ คือ 1 Jan - 31 Dec ของทุกปี และ ระบบที่ 1 ที่เริ่มเดินเมื่อเดือน Aug ของปี 2020 เราจะนับเป็นปี 0 เนอะ เพื่อความง่ายในการวิเคราะห์
เราขอเริ่มจาก Yearly Generated Performance กันก่อน โดยทั่ว ๆ ไป ระบบมันควรจะมี Degration หรือสิ่งที่เราเห็นก็ควรจะเป็นกราฟที่ค่อย ๆ หล่นลงไปเรื่อย ๆ ด้วยอายุของมัน แต่กราฟที่เราเห็นตอนนี้ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เดาได้ไม่ยาก เพราะเปลี่ยนแผงแหละ แผงเก่าเละไปแล้ว ในปี 2020 ตั้งแต่รันระบบเดือน Aug จนสิ้นปี มันได้มา 2.27843 MWh เข้าใจได้ ไม่เต็มปี พอมาในปี 2021 เป็นเต็มปี ปีแรกเลย ได้มาทั้งหมด 6.26048 MWh ดูไม่แย่เลย เพราะเราไม่มีตัวเปรียบเทียบ จนมาปี 2022 อันนี้แหละ ที่เรามีการเปลี่ยนแผงเกิดขึ้นในเดือน May ทำให้เราได้ไฟสูงขึ้นเป็น 6.69258 MWh ไปเลย ซึ่งดีขึ้นมา 6.9% เรามองว่า อะ พอใช้ได้เลย สำหรับระบบที่วางในทิศ และ มุม กับ แผงที่กำลังเหมือนจะมีปัญหาในช่วงหลังของปี
เมื่อเราเข้ามาดูแต่ละเดือน เราว่า Trending มันแปลกมาก ๆ ที่เห็นชัด ๆ เลยคือ เดือน Mar มันโดดไปถึง 901.8 หน่วย ซึ่งเรารู้สึกว่า มันไม่น่าจะเป็นไปได้เลย แต่เราก็ไม่มี Data สำรองเลย มันหายไปหมด เพราะเราติดตั้ง Smart Dongle เข้าไปเพิ่มในช่วงเดือน 4 แล้วระบบมันลบข้อมูลไปหมดเลย เลยทำให้เราพิสูจน์ไม่ได้ว่า มันเกิดจากการที่เราจดผิดหรือยังไง แต่เดาว่า น่าจะไม่ผิด เพราะอะไรเดี๋ยวเรามาบอก ส่วนที่เหลือ เราจะเห็นว่า หลังจากเดือน Mar มันก็ตกลงไป อันนี้เราว่าแปลกนะ เพราะมันช่วง Summer แล้วมันจะมีช่วง May ที่มีการเปลี่ยนแผง ทำให้ระบบ Offline ไม่ได้ผลิตไป 11-15 May 2022 กับ 10 กับ 16 ที่เป็นช่วงกึ่ม ๆ ก็ไม่ได้เต็มวัน แต่มันก็ยังพาเดือน May ให้สูงขึ้นจาก Apr ไปได้ แล้วโดดไปเดือน Jun สูงใช้ได้เลย เราว่าน่าจะเป็นเดือนแรกที่ แผงใหม่ที่เปลี่ยนมันได้แผงฤทธิ์เต็มที่เลยได้พลังงานสูงมาก ๆ แล้วไปค่อย ๆ ตกจนเดือน Dec ที่เราว่า แดดมันเยอะมาก ๆ เลยทำให้พลังงานกลับมา ชนะเดือน Nov จนเยอะกว่า Oct อยู่ 0.07 kWh ด้วยกัน เรียกว่า เกือบเท่าเลยละกัน
เพื่อเป็นการ Validate Trend ที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนขึ้นหน่อย เราเลยเอาของปีก่อนหน้าทั้งหมดมา Plot เลย อย่างแรกที่เราเห็นชัด ๆ เลยคือทุก ๆ เดือนในปี 2022 การผลิตมันชนะ เดือนเดียวกันในปีก่อนหน้าทั้งหมดเลย ยกเว้น เดือน 5 ลงไป ทำให้เราเดาว่า การเปลี่ยนแปลง มันส่งผลทำให้เราได้พลังงานสูงขึ้นมาอยู่พอสมควรเลย ส่วนในเรื่องของ Trending ปี 2021 และ 2022 ก็ดูไปในแนวโน้มเดียวกันอยู่ เว้นเดือน 3 นี่แหละ ที่แปลก ๆ ตอนนี้ข้อมูลทำให้เราพอจะเดาได้แล้วว่าเดือนที่น่าจะเป็นจุด Peak ก็คือเดือน Jun ซึ่งเอาจริง ๆ นะ เราว่ามันแปลกมาก ๆ เลย เพราะมันเป็นช่วง Rainy มันควรจะไปเด้งตอน Summer มากกว่า เดาว่ามันน่าจะเกิดจาก ทิศ และ มุม ของการวางแผงบ้านเราที่อาจจะเอื้อในช่วงเวลานั้นมากกว่าก็ต้องลองมาดูกันในปีนี้ต่อไป
มาที่ระบบ 2 กันบ้าง ด้วยความที่ระบบนี้พึ่งเปิดใช้งานช่วงเดือน May 2022 ที่ผ่านมา ทำให้เรามีแค่ข้อมูลปริมาณพลังงานที่ผลิตตั้งแต่เดือน May - Dec 2022 เท่านั้น ซึ่งรวมกันทั้งหมดมันจะได้ออกมา 3.2659 MWh ถ้าเราดู Trending เราจะเห็นว่า ตั้งแต่ Jun - Nov มีแนวโน้มขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ต่างกันไม่มากเท่าไหร่ แต่ในเดือน Dec มันโดดสูงขึ้นเยอะ ส่วนนึงมันจะไปสัมพันธ์กับ ระบบที่ 1 เลยคือ จากเดือน Nov ไป Dec มันโดดขึ้นมา ทำให้ส่วนนึงก็เกิดจาก แสงที่เยอะกว่าเดิม แต่อีกปัจจัยเราเดาว่า มันน่าจะเกิดจาก การลง Optimiser
แต่เราก็ไม่กล้าฟันธงนะว่า มันเกี่ยวกันเยอะขนาดนั้นมั้ย เหมือนโชคหรืออะไรไม่รู้ ช่วงต้นเดือน Dec 2022 แดดไม่ค่อยมีเท่าไหร่เลย แล้วพอเราลง Optimiser ไป หลังจากนั้นแดดมันจัดทั้งเดือน เลยทำให้เราไม่สามารถเอามาเทียบกันได้ตรง ๆ อาจจะต้องรอดูต่อไปว่ามันจะเป็นยังไง
ซึ่งถ้าเราเอาข้อมูลที่ผลิตได้ในรอบ 7 เกือบ 8 เดือน เราได้ออกมาทั้งหมด 3.2659 MWh เราเก็บอันนี้ไว้ แล้วเราจะเดา 5 เดือนที่เหลือขึ้นมา เป็นค่าเฉลี่ยของ 7 เดือน คร่าว ๆ ออกมา น่าจะได้มาอยู่ 5.6 MWh ในปีหน้า อันนี้ย้ำว่า คร่าว ๆ นะ ซึ่งต้องยอมรับเลยว่า มันอาจจะยังไม่เท่ากับระบบที่ 1 กินไป 6 MWh ต่อปีเลย แต่ก็พอรับได้ เพราะจำนวนแผงมันห่างกันเยอะมาก ๆ 9 แผงกับ 18 แผง ก็ 2 เท่าเลยอะ มันก็ควรจะดีกว่าอยู่แล้ว แต่ได้เท่านี้เราก็พอใจละ
เพื่อเป็นการทำให้เห็นภาพมากขึ้น เราลองเอาทั้งสองระบบที่ขนาดใกล้เคียงกันมาก ๆ เทียบพลังงานเดือนต่อเดือนกันไปเลยดีกว่า โดยสีน้ำเงินแทนระบบที่ 1 และ สีแดงแทนระบบที่ 2 โดยเราจะเห็นว่า ช่วงเดือน 6 ระบบที่ 1 นำระบบที่ 2 แบบไม่เห็นฝุ่นเลย เกือบ 2 เท่าได้เลยนะนั่น ซึ่งเรามองว่า โอเคนะ เพราะอย่าลืมว่า ระบบที่ 2 จำนวนแผงห่างจากระบบที่ 1 เท่าตัวเลย มันไม่น่าแปลกที่จะได้พลังงานต่างกันขนาดนั้น แต่เมื่อเราลองดูไปเรื่อย ๆ ระบบที่ 1 พลังงานตกลงไปเรื่อย ๆ จนเดือน 12 เป็นจุดตัดที่สำคัญคือ ระบบที่ 2 ชนะระบบที่ 1 ได้เฉยเลย
ซึ่งจากข้อสมมุติฐานของเราที่แผงเยอะห่างกันเท่าตัว มันน่าจะได้พลังงานสูงกว่าแน่ ๆ ไม่ต้องสองเท่าตามจำนวน แต่ยังไงพลังงานก็ควรจะมากกว่าแน่ ๆ ไม่ใช่น้อยกว่าแน่ ๆ ทำให้เราเริ่มสงสัยแล้วว่า หรือว่า.... แผงจะชิบหายอีก
จนเราไป Spot กับแรงดันไฟของแผงในระบบที่ 1 บน String ที่ 1 โดยในช่วงแรก หลังจากที่เราเปลี่ยนแผงไป มันก็จะเป็นกราฟในลักษณะนี้เลยคือ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น แผงโดนแสง แรงดันมันจะเด้งขึ้นไปประมาณนึง ช่วง 350-400V ได้เลย แล้วมันก็จะคงรูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนพระอาทิตย์ตกเลย ถ้าใครที่ใช้ Solar Cell ก็น่าจะเห็นกราฟแบบนี้เป็นเรื่องปกติละ
จนวันที่ 26 May เราเริ่มเจอกราฟในลักษณะนี้ คือ ลักษณะที่คล้ายกับลักษณะแรกเลย แต่สิ่งที่ต่างมันอยู่ที่ แรงดันมันมีอาการตกไปลงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในที่นี้คือ หล่นไปในช่วง 150V เลย ซึ่งน้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก ๆ และเมื่อเวลาผ่านไป อาการนี้มันหนักขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมมันหล่นไปสักชั่วโมงนึง มันก็เริ่มโดดลงไปเป็น 2-3 ชั่วโมงต่อวัน แต่มันจะไม่เกิน 3 ชั่วโมงซะทีเดียว
เราเลยลองไปสังเกตเพิ่มดู ช่วงวันที่เราเจออาการแบบนี้ มันจะเป็นวันที่ช่วงเช้ามันแดดจัด ๆ เลย เป็นเช้าที่สดใส คือเราจะเจอทั้งหมดเลย เราลองสังเกตมาตั้งแต่เดือน 6 จนไปถึงเดือน 12 แล้วก็คือ สมมุติฐานที่เราตั้งไว้ถูกต้องคือ อาการที่แรงดันตกจะเกิดในวันที่ฟ้าสดใสในตอนเช้า และวันไหนที่ครึ้ม ๆ มันจะไม่เจอเรื่องแบบนี้เลย พอไปดูต่อ เลยทำให้รู้ว่า แผงที่ต่อเข้ากับ String 1 ของระบบที่ 1 คือแผงที่อยู่ในทิศตะวันออก และ เหนือ เลยทำให้มันไปเข้ากับข้อมูลที่เห็นคือ มันจะตกในช่วงสาย ๆ ที่แดดในฝั่งตะวันออกมันแรงแล้ว แต่แดด มันก็ไม่โดนทิศเหนือซะเท่าไหร่ เลยทำให้เราตั้งข้อสมมุติฐานขึ้นมาใหม่ว่า เรื่องนี้มันเกิดเพราะแผงมันอั้นไฟคือ แผงในตะวันออกมันได้เยอะมาก ๆ พอมันผ่านแผงที่อยู่ทางทิศเหนือมันได้แสงน้อย อาการคล้าย ๆ กับการเจอเงานั่นแหละ และทำให้แผงเกิดพวก Hotspot จนไปถึงรอยไหม้เหมือนที่ ASolar มาเปลี่ยนแผงรอบก่อนอะ
เพื่อเป็นการทดสอบสมมุติฐานนี้ เราเลยบอกให้เพื่อนเราเอา แผงที่อยู่ทางทิศเหนือออกจากระบบไปก่อน ทำให้ในระบบ String 1 จะมีแค่แผงทิศตะวันออก และ String 2 เป็นแผงทางทิศตะวันตกเท่านั้น การทดลองนี้เกิดในเดือน Dec 2022 วันเดียวกับที่ลง Optimiser นั่นแหละ ข้อมูลเท่าที่ได้ จนถึงวันที่ 3 Jan 2023 ตอนนี้คือ ไม่เจออาการ แรงดันตกเลยสักวันเดียว ในขณะที่แดดในช่วงนั้นก็เรียกว่า แรง ไม่เกรงใจใคร ทำให้ ณ ตอนนี้คร่าว ๆ เราว่าน่าจะเจอสาเหตุที่ทำให้เกิด Hotspot ในครั้งแรกและ อาจจะ เป็นในครั้งต่อไปแล้ว จะแก้อะไรยังไงก็เดี๋ยวเรามาแชร์อีกที ขอเก็บข้อมูลให้มั่นใจก่อนว่า มันใช่จริง ๆ
ถามว่า เราเริ่มสังเกตเรื่องแปลก ๆ นี้ได้จากอะไร เราดูจาก Peak Power ในแต่ละวัน หลังจากที่เราเปลี่ยนแผงมา Peak Power มันอยู่ที่ 5.5 kW หมดเลย ซึ่งมันคือ Maximum Power เท่าที่ Inverter จะผลิตออกมาได้ และ Input Power มันโดดไป 6.5 kW เลย เพราะแผงกำลังรวมกันสูงกว่า Inverter แล้วมันเริ่มมา Drop ช่วงเดือน 9 ลงไป แล้วเห็นชัดจริง ๆ คือเดือน 10 ที่แทบไม่แตะ 4.5 kWp เลย ประกอบกับ ปีก่อนหน้าที่เราเจอก็อาการเดียวกันเลย สุดท้ายก็คือ แผงไหม้ แต่ล่าสุดขึ้นไปดูก็ยังไม่เจอแผงไหนมีรอยไหม้เหมือนรอบก่อนนะ แต่เราเดากันกับเพื่อนว่า มันน่าจะมี Hotspot จนเริ่มส่งผลต่อ Performance แล้วแหละ ก็เดี๋ยวรอดูกันว่าจะเป็นอย่างที่คิดมั้ย
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราขอเริ่มจากการใช้ไฟฟ้ากันก่อน จากกราฟเราจะเห็นได้เลยว่า การใช้ไฟในแต่ละปีของบ้านเราเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เลย โดยเฉพาะในปี 2021 เราขอเรียกว่า Honeymoon Period ของการติด Solar Cell ละกัน ด้วยการมาถึงของพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ ๆ เพราะเห็นว่ามันใช้ฟรี ก็เลยเปิดกันรัว ๆ เลย พร้อมกับ Server ขนาดใหญ่ที่วางอยู่ในบ้านอีก
มาในปี 2022 อย่างที่เราบอกว่า บ้านเราเปลี่ยนมาใช้ BEV ทำให้มันจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการชาร์จที่บ้านด้วย รถเข้ามาคันแรกเดือน Feb คือคันเราเอง แต่จะเห็นว่าไม่ได้ทำให้เดือน Feb โดดมากเท่าไหร่ เพราะตอนนั้น ปตท ทดลองระบบ ชาร์จฟรี ของฟรี ใครจะไม่ชอบ ตอนนั้นเราก็เลยไม่ได้ชาร์จบ้านเลย แต่รถอีกคันมาในช่วงสิ้นเดือน Feb พอดี ซึ่งเป็นของแม่ และ แน่นอนว่า แม่ ชันส์ รวยส์ ไม่ชาร์จ ปตท อะไรทั้งสิ้น กดบ้านล้วน ๆ ประกอบกับเป็น Summer ที่การใช้ไฟมันพุ่งจากแอร์อยู่แล้ว เลยทำให้โดดไปไกลมาก ๆ คือ 1.691 MWh เลย แล้ว Summer ก็ผ่านไป จนเดือน Jun ปตท บอกว่าจะเริ่มคิดเงินละ ทำให้คันเราเองที่เคยไปจิ้ม ปตท ก็เริ่มกลับมาชาร์จบ้านมากขึ้น ส่วนนึงเป็นเพราะรถเริ่มเยอะขึ้นด้วย เราจองไม่ทัน และ เดือน Jul ก็เป็นการปิดฉาก ตำนานไฟฟรี จาก ปตท ทำให้เราก็กลับมาชาร์จบ้าน แน่นอนว่า มีวิธีการ Optimise ให้มันอยู่ใน Range ของ Solar Cell อยู่ไว้มาว่ากันอีกที (โดยเฉพาะปิด Server ขุดหลัง 5 โมง และตอนเสียบรถ ถถถถ) จนมาลดลงไปเรื่อย ๆ นี่ละ
เราลองมาดูเทียบกับค่าไฟของเราดีกว่า อันนี้เราเอาข้อมูลจากระบบเก็บข้อมูลของ Huawei คิดจากวันที่ 1 ถึงสิ้นเดือนของทุกเดือนมาคิดนะ ถ้าเราโฟกัสไปที่ปี 2022 เลย เราจะเห็นว่า เดือนที่มีค่าไฟสูงที่สุดคือเดือน 3/2022 อยู่ที่ 3543.78 บาทด้วยกัน ถือว่าโอเค เราว่าไม่แย่เลยใช้ได้ ๆ สำหรับตอนนั้นที่มีระบบเดียวรันไป แล้วเปิดแอร์หนักแบบ บ้าคลั่งมาก ๆ ทุกอย่างเราว่ามันมาดีขึ้นในช่วงเดือน 5/2022 เป็นต้นไปที่ระบบที่ 2 เริ่มทำงานแล้ว เรามาเห็นผลกันตรง ๆ คือ เดือน 6/2022 ที่ลงไปหลักไม่ถึงพันแล้ว Solar ช่วยได้มากเลย ตื่นเต้นอยู่นะ จนไปเดือน 12/2022 ที่อากาศเย็นมาก ๆ ห้องนอนเราที่แอร์ใหญ่มาก ๆ ไม่ได้เปิดในช่วงที่อากาศเย็นเลย อาจจะมีเปิดกลางวัน Solar Cell ก็ซับไปอยู่ละ ค่าไฟลงไปได้ถึง 445.6 บาท ถือว่า โหดมากนะ อย่าลืมว่า ค่าไฟที่เห็นนี่คือ บ้าน + BEV 2 คันรวมกันแล้วนะ ถ้าจะให้คิดว่าประหยัดเท่าไหร่ เยอะมาก ๆ นะ
แต่ถ้าเราเอาบิลจริง ๆ มาเทียบ ซึ่ง Billing Cycle มันไม่เท่ากัน โดยการไฟฟ้าจะมาจดไม่ตรงกันสักเดือนเลย แต่มันจะมีช่วงอยู่ เราเลยเอามาเทียบกันว่า ที่เราประมาณจากข้อมูลบน Huawei มันจะต่างกันมากขนาดไหน ซึ่งโดยเฉลี่ยทั้งปี ถ้าเรามาหักไปหักมา ก็เรียกว่า มันก็อยู่ในระดับใกล้ ๆ กันรับได้ เอาข้อมูลนี้ไปวิเคราะห์ต่อไปได้อยู่
ถ้าเราเอาข้อมูลรายเดือนจาก Huawei มาดูแล้วลองคำนวณอะไรออกมานิดหน่อย อย่างแรกคือ Self-Power Percentage คือ เราเอา พลังงานที่โดน Solar Cell ซับไป หารด้วยที่ใช้ทั้งหมด คูณ 100 ออกมา เราจะเห็นเลยว่ามันโดดเด้งในช่วงเดือน 6 ที่ระบบ 2 รันเต็มที่เลย จากเดิมมันอยู่ที่ 40-50% ครึ่ง ๆ มันกลายเป็น 60% หรือมากกว่าไปเลย และ สูงสุดที่ 91.76% ในเดือน 12 ไปเลย เรียกว่าเสียบรถกันมันส์
อีกค่าที่เราอยากให้ดูอยู่ใน Column 2 อันหลัง คือ ราคาไฟฟ้าต่อหน่วย ก่อน และ หลัง โดน Solar หักออกไป เริ่มจากก่อนโดนหักก่อน เราจะเห็นว่า ราคาไฟฟ้าโดยเฉลี่ยต่อหน่วย สูงขึ้นแบบโหดมาก ๆ นะ จาก 4.5 บาท ขึ้นไปเป็น 5.5 บาทแล้ว เพราะค่า Ft ในปีนี้เรียกว่า To the moon ของจริง มันเด้งโหด เหมือนโกรธรัสเซีย
กลับกัน ถ้าเราดูช่องหลังสุดคือราคาต่อหน่วยเมื่อโดน Solar หักแล้วเกิดจากเอาราคาค่าไฟจริง ๆ ไปหารด้วยหน่วยที่ใช้ทั้งหมดออกมา เราจะเห็นเลยว่า ก่อนหน้านี้ต้นปี เราใช้ไฟหน่วยละ 2.5 บาทเกือบ ๆ พอเจอระบบที่ 2 รันเข้าไป ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยก็คือสวนทางกับ Ft แรงมาก ๆ โหดสุดก็เดือน 12 ที่ใช้กลางคืนน้อยมาก ๆ เล่นไม่เปิดแอร์เลย..... เหลืออยู่หน่วยละ 0.38 บาทเท่านั้นเอง เทียบกับปกติที่ 5.56 บาท คิดขำ ๆ ก็ 14 เท่าไปเลย ทำให้เราเห็นว่า เห้ย Impact ของการใช้ Solar Cell มันสูงมาก ๆ ยิ่งแบบเรา งก ๆ มีการบริหารจัดการพลังงาน ปรับเวลาการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลาย ๆ อย่างเข้าไปด้วย ตัวเลขมันออกมาเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่มันก็เป็นไปได้เฉย
ทำให้ในปีนี้ เราประหยัดค่าไฟไปได้ทั้งหมด 51,459.27 บาทด้วยกัน เห้ย ครึ่งแสนต่อปี และ อันนี้เราอย่าลืมนะว่า ระบบ 2 มันยังรันไม่เต็มปี และ แผงของระบบ 1 ที่เปลี่ยน ก็ยังไม่ได้รันเต็มปีเหมือนกัน ประกอบกับเราคาดการณ์ว่า ถ้ารัสเซียยังไม่เลิกปัญญาอ่อนกัน ก็น่าจะพาค่า Ft ขึ้นไปอีก ทำให้เราประมาณการณ์ไว้ว่า ปีหน้าน่าจะมีประหยัดไป 60,000 บาทแถว ๆ นั้นแน่นอน
จากเดิม เมื่อปีก่อน เราคำนวณ ROI ไว้ที่ 8-9 ปีด้วยกัน แต่เมื่อเราเพิ่มระบบที่ 2 เข้าไป ทั้งราคาของตัวระบบที่ 2 เอง และ Optimiser ของระบบที่ 2 ทำให้ค่า ROI แย่ลงไปกว่าเดิมนิดหน่อย หลักวันเท่านั้น แต่ก็ยังอยู่ที่ 8-9 ปีเช่นเดิม อันนี้เราคำนวณจากว่า ถ้าแผงผลิตได้น้อยลงกว่าเดิม ค่าไฟเท่าเดิม ส่งผลให้ค่าประหยัดต่อเดือนเท่าเดิมนะ ซึ่งเห้ย จริง ๆ แล้ว อย่าลืมนะว่าข้อมูลที่เรามีตอนนี้ระบบ 2 มันยังลงไม่เต็มปีเลยนะ แต่เราได้ ROI ที่ใกล้เคียง ทำให้จริง ๆ แล้วเรา Underestimate มันไปนะ ดังนั้น การที่เราเพิ่มระบบ 2 เข้าไป อาจจะทำให้เรามี ROI เร็วกว่านั้นอีกหน่อยเลย อาจจะ 7-8 ปีเท่านั้น ถือว่า เร็วอยู่นะ และกำไรตลอดการติดตั้ง 25 ปี อยู่ที่ 683,793.86 บาท ก็ลงทุนเป็นเงินเย็นที่โอเค และ ในปีที่ 10 ที่เราสนใจ มันจะกำไรอยู่ที่ 57,313.14 ซึ่ง ก็อาจจะยังไม่คุ้มกับการลงทุนเปลี่ยนแผง Solar เท่าไหร่ แต่ถ้าปีที่ 11 ก็ไม่แน่ เพราะมันกำไรอยู่ที่ 102,007.10 น่าจะพอกับค่าแผงที่ ณ วันนั้น แผงที่เราใช้อยู่ก็น่าจะรุ่นเก่ามากแล้ว
เราลองประมาณการณ์คร่าว ๆ เลย ถ้าปีหน้าเราประหยัดได้ 60,000 บาทต่อปีเลย ใช่แล้ว เป็นอย่างที่เราเดาเลยคือ มันจะอยู่ที่ 7-8 ปีเลย และ กำไรตลอดการติดตั้ง 25 ปีอยู่ที่ 871,274.00 บาท
หลังจากติดตั้ง Solar Cell ผ่านไป 2 ปี ทำให้เราประหยัดบิลค่าไฟลงไปได้เยอะมาก ๆ จนถึงตอนนี้ ประหยัดลงไปแล้ว 115,700.23 บาท ในช่วงตั้งแต่ปี 2020 ถึง 2022 เรียกว่ายอดเยี่ยมมาก ๆ กับอีกเรื่องที่เราพึ่งมานึกได้คือ การที่เราลงทุนติดมันทำให้เราค่อนข้างเป็นอิสระจาก การขึ้นลงราคาค่าไฟอยู่พอสมควรเลยทีเดียว จากที่เราเห็นในข้อมูลมา เราจะเห็นว่า เมื่อค่า Ft มัน To the moon ขนาดนั้น เรากลับไม่ได้ผลกระทบอะไรมากมาย เราก็ยังสามารถใช้ไฟบ้าน และ รถ ได้โดยไม่ได้กังวลอะไรมาก ไม่ต้องกังวลว่าออกรถไปข้างนอกวันนี้เราจะต้องเสียเท่าไหร่ แต่การติด เรื่องนึงที่สำคัญมาก ๆ คือ การเลือกบริษัทที่เข้ามาติดตั้ง จากที่เราเล่าไป อย่าง ASolar เอง เราก็ว่าเป็นบริษัทใหญ่มาก ๆ แล้วนะ แต่เรากลับได้ประสบการณ์ที่เรียกว่า เลวร้าย มาก ๆ ระบบที่ไม่เรียบร้อย เจอปัญหาจุกจิกเยอะ ดังนั้นการเลือกบริษัทที่โอเค (ไม่รู้ว่าจะเลือกยังไง เพราะบริษัทแรกก็บรรลัยไปแล้ว อย่างที่เห็น) เลยเป็นปัจจัยที่สำคัญ ทั้งเรื่องของคุณภาพของ งานติดตั้ง และ การรับประกัน ส่วนในเรื่องของระบบที่เราติดตั้งเพิ่ม มันก็เข้ามาช่วยเราได้เยอะมาก ๆ โดยเฉพาะเมื่อเราจะชาร์จรถตอนกลางวัน ที่ 7 kW มันมากกว่าระบบเดิม การเติมเข้าไปเป็น 9.9 kWp ช่วยเราได้เยอะมาก ชาร์จรถไป เปิดแอร์ในบ้านไปได้ ถือว่าดีเลย และดูจากข้อมูลก็ไม่ได้ทำให้ระยะการคืนทุนมันเพิ่มขึ้นไปเยอะ เลยทำให้เป็นการตัดสินใจที่เราว่า น่าจะคิดถูกในการติดตั้งระบบที่ 2 มาก ๆ ก็ลองมาดูว่า ระบบที่ 1 มันจะแสดงอาการอะไรอีก ให้เวลาเป็นตัวตัดสินละกัน
ก่อนหน้านี้เราเคยปรามาสโทรศัพท์จอพับได้มาก่อน จนได้มาใช้ Galaxy Z Flip จนมาถึงรุ่นที่ 6 ที่เราต้องบอกเลยว่ามันสมบูรณ์กว่ารุ่นก่อนหน้าพอสมควร การเปลี่ยนแปลงจะมีอะไรไปอ่านได้ในบทความนี้เลย...
การตัดต่อวีดีโอมีการเปลี่ยนแปลงไปมาเป็นยุคที่เราต้องรีบเข็น Content ออกมาเร็วขึ้น การตัดต่อบนอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่าง โทรศัพท์ และ Tablet กลายเป็นปัจจัยสำคัญมากเลยก็ว่าได้ วันนี้เราจะมารีวิว App สำหรับการตัดต่อวีดีโอบน Mobile Platform ตัวแรก ๆ อย่าง LumaFusion กันว่า มันทำอะไรได้บ้าง และมันเหมาะกับใคร...
เราซื้อ Macbook มาใช้งาน ราคาแพงแสนแพง เราย่อมอยากใช้งานมันให้ยาวนานที่สุดอยู่แล้ว หนึ่งในอุปกรณ์ภายในเครื่องที่มักจะพังเป็นอันดับต้น ๆ เลยคือ Battery นั่นเอง วันนี้เราจะมาแนะนำ App อย่าง AlDente ที่จะเข้ามาช่วยถนอม Battery ของเราให้มีอายุยาวนานขึ้นได้...
หลังจากสั่งไปหลายเดือน วันนี้เราก็ได้มันมาแล้วกับ ลำโพงพกพาจาก Devialet รุ่น Mania แต่มันไม่ใช่ตัวปกติ เป็นตัวที่ไปร่วมมือกับ Fendi ออกมาเป็นลำโพง Limited ที่ตอนนี้ในไทยมีเพียง 5 ตัวเท่านั้น และตอนนี้มันอยู่กับเราแล้ว จะเป็นยังไงไปดูได้ในรีวิวนี้เลย...