Technology

ถ้ารถน้ำมันโดนแบน ระบบไฟฟ้าเราจะเอาอยู่มั้ย

By Arnon Puitrakul - 01 พฤษภาคม 2023

ถ้ารถน้ำมันโดนแบน ระบบไฟฟ้าเราจะเอาอยู่มั้ย

เราเคยไปอ่านในกรุ๊ปพวก EV หลาย ๆ กรุ๊ป มีประเด็นนึงที่น่าสนใจมาก ๆ คือ ถ้าเราใช้รถไฟฟ้ากันเยอะ ๆ แล้วระบบไฟฟ้าของประเทศเรามัน พัง แน่ เราก็คง งง ว่าได้เหรอ งั้นวันนี้เราจะมาจำลองสถานการณ์กันดีกว่าว่า ถ้าเกิดว่า เช้าวันต่อมาประเทศเราแบนรถน้ำมัน แล้วไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) กันหมด ไม่นับเรื่องของการเมือง เอาแค่เรื่องของระบบไฟฟ้าภายในประเทศ ระบบมันจะเอาอยู่มั้ย วันนี้เราจะลองเอาข้อมูลมา Plot และ ประมาณกันคร่าว ๆ กันดีกว่า

ปล.ทั้งหมดที่เราประมาณ เป็นแค่การ ประมาณ คาดการณ์เท่านั้นนะ อาจจะมี Factor ที่เราไม่รู้อีก

Car & Distance Landscape

เราขอเริ่มจากสถานการณ์รถในประเทศไทยกันก่อน เป็นจำนวนของรถดีกว่า เราเลยเข้าไปหาข้อมูลจำนวนรถจดทะเบียนสะสม เราเลยไปเจอเว็บของ กลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก มันจะมี เว็บ ที่รวบรวมสถิติการจดทะเบียนรถ

เราโหลดข้อมูลสถิติของปี 2565 ขึ้นมา เราจะพบว่า ทั้งประเทศเราตอนนี้มีรถที่จดทะเบียนอยู่ทั้งหมด 43,394,104 คันด้วยกัน แต่มันจะแบ่งออกเป็นรถหลายประเภทมาก ๆ เราเลยขอเป็นเฉพาะพวกรถที่ใช้งานในบ้าน ไม่เอารถจักรยานยนต์ รถพ่วง รถสามล้อ รถ Taxi ทั้งหมด รถบดถนน รถในงานเกษตรกรรม บวก ๆ ออกมา เราจะได้รถทั้งหมด 18,876,745 คันด้วยกัน หรือคิดเป็น 45% ของรถทั้งหมดอยู่ในชุดข้อมูล

จากนั้น เราไปข้อมูลต่อว่า แล้วคนไทยเรา น่าจะขับรถเฉลี่ยปีละกี่กิโลเมตร ซึ่ง เราก็หาไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าจะมีใครเก็บอะไรแบบนั้นมั้ย ถ้าแบบนั้น เราเอาประมาณง่าย ๆ ละกัน โดยปกติ รถ ICE จะต้อง Maintenance ทุก 6 เดือน หรือ 10,000 กิโลเมตร อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน เราเลยประมาณเป็นปีละ คันละ 20,000 กิโลเมตร ต่อปี น่าจะเป็นค่ากลาง ๆ สำหรับคนทั่ว ๆ ไปละกัน

เมื่อเอาไปคูณกับจำนวนรถที่เราหามาได้ ทำให้ในไทยเรา เฉพาะรถบ้าน ก็จะขับกันอยู่ที่ 377,532,900,000 กิโลเมตร หรือ 377,532.9 ล้านกิโลเมตรต่อปีด้วยกัน โหววว เยอะมาก แต่อย่าลืมว่า ทั้งประเทศ ทั้งปีเลยนะ ว้าววว

Energy Landscape

กำลังผลิตในระบบไฟฟ้า – สถิติรายปี - การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(หน่วย: เมกะวัตต์)

กลับไปในด้านของพลังงานกันบ้าง เราเข้าไปหาจนเจอหน้าสถิติของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) เราเจอแค่ของปี 2564 ทั้งหมดอยู่ที่ 46,682.37 MWh

ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด - Open Government Data of Thailand
ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของประเทศไทย จำแนกรายปี

แต่ถ้าเราเข้าไปหาข้อมูลว่า Peak Load จริง ๆ ของระบบเป็นเท่าไหร่ ไปเจอในเว็บของ DGA แต่ข้อมูลเขามีถึงปี 2564 แต่มีสถิติออกมาบอกว่า ในปี 2565 Peak เพิ่มขึ้นไปเป็น 30,936 MW ด้วยกัน ทำให้จริง ๆ แล้วเราน่าจะมีไฟเหลืออยู่ 15,746.37 MW ในช่วง Peak นะ เพราะจริง ๆ มันน่าจะจะอยู่ช่วงนั้นตลอดแน่นอน น่าจะเจอแค่ช่วงหน้าร้อนที่คนรุมเปิดแอร์เท่านั้นแหละ

การผลิตและซื้อพลังงานไฟฟ้า – สถิติรายปี - การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(หน่วย: ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง)

ถามว่า แล้วปี ๆ นึง เราผลิตไฟไปเท่าไหร่จากข้อมูลของ EGAT ในปี 2564 จะอยู่ที่ 194,868.69 ล้านหน่วย

ชาร์จรถปีนึง ต้องใช้พลังงานเท่าไหร่ ?

เราพูดในแง่ของพลังงานก่อนละกัน ถ้าเราบอกว่า รถ BEV เลย ขับใช้พลังงานเฉลี่ยประมาณ 14.0 Wh/km หรือ 0.14 kWh/km เราก็แค่เอามาคูณกับจำนวนกิโลเมตรที่รถส่วนตัวทั้งไทยวิ่ง ก็คือ เอา 0.14 x 377,532,900,000 จะได้ออกมาเป็น 52,854,606,000 kWh หรือ 52,854.606 ล้านหน่วยด้วยกัน อันนี้เราไม่ได้รวมพวกค่าการสูญเสียพลังงานในขั้นตอนต่าง ๆ เข้าไปอีกนะ ถ้ารวม เราตีว่าน่าจะต้องเพิ่มมาอีกประมาณ 20% ทำให้น่าจะอยู่ที่ 63,425.527 ล้านหน่วย

นั่นทำให้เราจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 32.54% ของพลังงานที่ผลิตได้ใน 1 ปี บอกเลยว่า โคตรเยอะมาก ๆ แบบ มาก ๆ จริง ๆ เพราะถ้าเราไปดูสถิติย้อนหลังของ EGAT คำนวณอัตราการเพิ่มขึ้นและลดลงเฉลี่ย ตั้งแต่ปี 2560 - 2564 อยู่ที่ 1.03% และปี 2550 - 2559 อยู่ที่ 2.97% จะเห็นว่า น้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับ 32.54% ที่จะงอกขึ้นมา

ทำให้เกิดคำถามต่อว่า แล้วถ้าเรายังเพิ่มการผลิต และ ใช้งานในเรทเดิม เราจะต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่เพื่อจะรองรับ 32.54% ที่จะเพิ่มขึ้นมา คำตอบ เราก็หารตรง ๆ เลย ก็ประมาณ 32 ปีได้ โหยยย นานมาก ๆ เลยใช่ป่ะ แต่อย่าลืมว่า นั่นคือ เคสที่แย่ที่สุดว่า วันนี้รัฐบาล แบนรถน้ำมัน และ พรุ่งนี้เช้าปีใหม่มา มีแต่รถไฟฟ้าวิ่งกันหมดนะ (ไม่นับรถขนส่ง และ รถสาธารณะ) ซึ่งในความเป็นจริง รถไฟฟ้าในไทยเราไม่ได้เติบโตแบบไหน ไม่สิ อีบ้า ที่ไหนก็ไม่เติบโตแบบนี้โว้ยยย

ถ้าเป็นแบบนี้ทำให้โรงไฟฟ้าต้องผลิตเยอะขึ้นสิ

คำตอบนี้คือ ทั้งใช่ และ ไม่ใช่ ถ้าเราไปดูสถิติการซื้อขายไฟประเทศเรา จะพบว่า จริง ๆ แล้วการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ทุกคนคิดว่า ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก จริง ๆ แล้วผลิตอยู่แค่ 32% เท่านั้น ที่เหลือจะมาจากการจัดหาพลังงานในแหล่งอื่น ๆ เช่น ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) 31% แต่ตัวเลขที่น่าสนใจคือ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) คือกลุ่มที่ผลิตไฟน้อยมาก ๆ ตัวอย่างคือ คนที่ขายไฟจาก Solar Rooftop ตามบ้านให้กับการไฟฟ้านั่นแหละ มีอยู่ 8%

แต่ถ้าเราไปดูพวกบทวิเคราะห์ธุรกิจ Solar Cell ในไทยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เรียกว่าก้าวกระโดดมาก ๆ ทำให้เราเดาว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ากลุ่ม VSPP ก็จะสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ยิ่งถ้ามีนโยบายสนับสนุนอีกก็คือ บานแน่นอน (เอาจริง ๆ คือตัวเลขที่เห็น ก็น่าจะเป็นอย่างน้อยด้วยซ้ำ เพราะมันก็จะมีเยอะมาก ๆ ที่ไม่ได้ขออนุญาติเลยทำให้ไม่มีข้อมูล)

เท่าที่เราดูข้อมูลกับข่าวมาจากหลาย ๆ ที่ก็พบว่าจริง ๆ แล้วในไทยเรา กลุ่มของ IPP ยังไม่ได้ผลิตเต็มกำลังที่ทำได้เลยด้วยซ้ำ หรือบางที่ก็คือ Standby เครื่องไว้เฉย ๆ ไปเลย ทำให้ในความเป็นจริงแล้ว เรายังมีความสามารถที่จะรองรับการใช้พลังงานได้อีกเยอะมาก ๆ หรือถ้าบอกว่า มันยังไม่พออีก จริง ๆ ก็คือ เราก็มีการซื้อไฟฟ้าเข้ามาในประเทศ

อ่านแล้ว เอ๊ะ ซื้อเข้ามาจากต่างประเทศ มันน่าจะแพงกว่าเราผลิตเองสิ แต่จริง ๆ แล้ว ไม่เลย เผลอ ๆ ถูกกว่า เกือบ ๆ ครึ่งของค่าเฉลี่ยที่ซื้อกันในไทยซะอีก เพราะ เรามีกำลังสำรองเยอะ นั่นแปลว่า บางครั้งเราไม่ได้ใช้ด้วยซ้ำ แต่เราต้องเดินเครื่อง Stand-by เอาไว้นั่นก็เป็นรายจ่ายที่งอกขึ้นมาอีก ประกอบกับเพื่อนบ้านอย่างลาวเอง ก็มีเขื่อนอะไรเยอะมาก ๆ เขาจะตั้งตัวเองเป็นแบตเตอรี่แห่งอาเซียนแล้ว มีไฟจากพลังงานน้ำที่ถูกมาก ๆ ขายให้อีก

ตรงนี้แหละที่ทำให้มีหลายคนออกมาตั้งข้อสังเกตว่า เพราะประเทศเราเซ็นต์ซื้อไฟจากเอกชนเพื่อเป็นพลังงานสำรองในปริมาณที่มากเกินไปโดยอ้างความมั่นคงทางพลังงาน ทำให้เราต้องเสียค่าไฟมากกว่าที่จะเป็นมาก ๆ โดยปกติประเทศอื่น ๆ เราจะสำรองกันไม่น่าเกิน 35% แต่ประเทศเรา รักความมั่นคงมาก ๆ กดไป 50% กว่า ๆ เลย

สุดท้ายแล้วเป็นหน้าที่ของ EGAT ละว่า จะจัดสรรการผลิตอย่างไร เพื่อให้ไฟฟ้าในประเทศเพียงพอตลอดเวลา และ เครื่องผลิตไฟฟ้าทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อเป็นการลดต้นทุนต่อหน่วยไฟลง นั่นส่งผลถึงราคาค่าไฟฟ้าของเรานั่นเอง

ถ้าเราชาร์จพร้อม ๆ กันทำให้ Grid แตกได้มั้ย

ในแง่ของ กำลังไฟฟ้ากันบ้าง เรายกเคสที่แย่สุด ๆ เลยนะ บ่าย ๆ วันที่ร้อนที่สุดของปีคนรุมเปิดแอร์กัน และแอร์ทำงานหนักมาก ๆ รถกว่า 10% ของประเทศเสียบชาร์จบ้านกันเลย เราจะมีกำลังที่เพิ่มขึ้นเท่าไหร่

คิดไม่ยาก ปกติแล้วรถถ้าเราเสียบ Wall-Charger เราให้อยู่ที่ 7 kW ละกันเป็นมาตรฐานของรถจีน ณ วันนี้อยู่ ซึ่งคิดเป็นเกิน 80% ของ BEV ในไทย ณ วันนี้ ทำให้ เราจะต้องใช้กำลังไฟเพิ่มขึ้นที่ 13,213,721,5 kW หรือ 13,213.7215 MW ดูผ่าน ๆ แล้วก็ยังรอดนะ

เพราะในความเป็นจริง ถ้าเราเอา 10% ของรถส่วนตัวที่เราเอามาคำนวณ นั่นก็คือ รถเกือบ 2 ล้านคัน รุมกันชาร์จบ้านในเวลาเดียวกันนะ ยังไม่นับว่า ดันชาร์จกันในตอนบ่ายของวันที่ร้อนที่สุดในรอบปีอีกนะ (สั้น ๆ คือ พวก แก ไม่ ไป ทำงาน กัน เหรอ) ทำให้ในองค์รวมของประเทศ เราคิดว่า ไม่ใช่ปัญหาเท่าไหร่

ในระดับพื้นที่ ส่วนใหญ่ของประเทศเราว่าไม่น่ามีปัญหาเท่าไหร่ เว้นแต่ที่อาจจะไกล ๆ หรือต่างจังหวัดบางพื้นที่ ที่อาจจะมีการวางหม้อแปลงขนาดเล็กไม่สามารถรับโหลดพร้อม ๆ กันมหาศาลได้ ซึ่งเท่าที่เราเห็นส่วนใหญ่ เขาก็จะวางหม้อขนาดใหญ่กว่าความเป็นจริงมาก ๆ อยู่แล้วด้วยซ้ำ แต่มันก็จะมีบางที่จริง ๆ แหละอาจจะยังไม่พอ ซึ่งถ้ามันไม่พอจริง ๆ จนมันดับมาก ๆ เราว่า การไฟฟ้าที่ดูแลพื้นที่ก็ต้องเข้าไปเปลี่ยน

เราจะทำยังไงให้ลดภาระของ Grid มากที่สุด

ในการผลิตไฟฟ้าจริง ๆ เราอยากให้ใช้ไฟแบบคงที่ที่สุด เพื่อให้ผู้ผลิต ไม่จำเป็นต้องเร่ง หรือลดกำลังการผลิต จะทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพที่สุด และ ทำให้ประมาณการใช้ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้นด้วย อย่างที่เรายกตัวอย่างเมื่อครู่ การที่เรารุมกันชาร์จแบบนั้นทำให้โหลดมันสูงขึ้นแบบมาก ๆ เราจะทำยังไงให้โหลดก้อนนี้มันไปเสียบในเวลาที่มันใช้ไฟฟ้าน้อยให้ได้มากที่สุดละ หรือพูดง่าย ๆ คือ เราจะทำให้กราฟพลังงานมันเรียบที่สุดได้ยังไง

โดยธรรมชาติแล้ว การใช้พลังงานมันจะเป็นช่วงกลางคืนหลังเที่ยงคืนไปจะต่ำมาก ๆ เพราะอากาศค่อนข้างเย็นแล้ว ทำให้แอร์ที่เปิดตามบ้าน ก็เริ่มลดการทำงาน หรือบางบ้านก็ปิดแอร์ แล้วนอนไปแล้ว จากนั้นการใช้ไฟจะเพิ่มขึ้นในช่วงเช้าละ เพราะคนไปทำงาน ออฟฟิศ และ โรงงานก็ทำงานไป จนช่วงเลิกงาน ก็ค่อย ๆ ลดลง ไปเรื่อย ๆ จนอากาศเย็นขึ้นเรื่อย ๆ คนเริ่มนอน ก็จะวนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ

ทำให้ เราจะเห็นว่า เห้ย เราใช้กำลังไฟฟ้าน้อย ก็คือ ช่วงดึก ๆ จนถึงเช้าเลย เราจะทำยังไงให้คนพยายามใช้ไฟในช่วงนั้นแทนละ เลยทำให้มีวิธีการคิดค่าไฟแบบ TOU หรือ Time of Use ขึ้นมา โดยจะมีช่วงที่คนใช้ไฟเยอะ ๆ จะคิดค่าไฟแพงหน่อย และ ช่วงที่คนใช้น้อย ๆ ก็จะคิดถูกหน่อย

แล้วมันไปเข้ากับคนที่เสียบรถไฟฟ้าเลย เพราะส่วนใหญ่ กลางวันที่ค่าไฟแพง เราก็ไปทำงานกัน อยู่ข้างนอกซะมากกว่า จนเรากลับมา เราขึ้นไปนอน กลางคืน เราก็ชาร์จในช่วงราคาถูกก็ได้ แล้วเราไม่ได้ชาร์จนาน อาจจะกดอย่างมากก็ 3 ชั่วโมงเองมั้ง ทำให้ยังไง ๆ ก็ยังอยู่ในช่วงราคาที่ถูกแน่นอน

นอกจากนั้น มันยังไปทำให้อีกกลุ่มได้ราคาไฟฟ้าดีขึ้นคือ กลุ่มที่ลง Solar Rooftop ทั้งในสำนักงาน และ บ้านทั้งหลาย เพราะพวกนี้ กลางวัน โหลดมันจะไปลงกับพวก Solar Cell อยู่แล้ว ทำให้ลดโหลดที่จะไปลงกับ Grid ก็เป็นการลดภาระการทำงานของ Grid เข้าไปอีก เป็นอีกกลุ่มที่เหมาะกับการคิดค่าไฟแบบ TOU มาก ๆ

แปลว่า ถ้าเราทำแบบนั้น ก็จะช่วยทำให้กราฟมันเปลี่ยนไปละ จากเดิมที่ Peak ในช่วงกลางวัน เพราะโรงงาน และ สำนักงานใช้ไฟเยอะ ๆ ก็ลดลงไป แล้วกลางคืนที่ใช้น้อย ๆ เราก็ให้คนเข้ามาใช้มากขึ้น มันก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้กราฟมันจะดูเรียบขึ้น ดีขึ้นกับ Grid แน่นอน

อีกส่วนคือการขอซื้อไฟฟ้าแบบ Low Priority อันนี้การไฟฟ้าทั้ง 2 การไฟฟ้า ออกมาสำหรับผู้ประกอบการเครื่องชาร์จรถโดยเฉพาะเลย อันความว่าเครื่องพวกนี้ มันใช้กำลังไฟสูงมาก ๆ อาจจะทำให้ Grid แถวนั้นแตกได้ ตัวการขอซื้อไฟฟ้าแบบนี้ เขาจะเช็คตลอดเวลา ถ้าเกิดว่า Grid บริเวณนั้นมันจะไม่ไหว มันจะลดกำลังที่จ่ายให้เครื่องชาร์จไป ก็จะทำให้คนที่เข้ามาเสียบได้กำลังไฟไม่คงที่ 100% แต่ก็แลกมากับราคาที่ถูกกว่าเดิมเยอะมาก ๆ

หรืออันที่ Peak ขึ้นไปอีก คือ พวกเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง V2G หรือ Small Plant ทั้งหลาย ที่ให้บ้านเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ๆ แทนแล้วก็จ่ายไฟเข้าสู่ Grid เหมือนช่วงที่ Tesla Implement Tesla Virtual Plant เพื่อจ่ายไฟจาก Powerwall ที่เป็น Battery เข้าสู่ Grid ได้ ทำให้เป็นการเสริมความมั่นคงทางพลังงานเข้าไปได้อีกขั้นเลย แล้วถ้าเรามีรถไฟฟ้ามากขึ้น เราก็สามารถใช้แบตรถนี่แหละ เป็น แบตสำหรับการจ่ายไฟเข้าสู่ Grid ได้เช่นกัน (เราเรียกว่า V2G)

สรุป

สำหรับคำถามที่ว่า ถ้าเกิดวันนี้ไทยแบนรถน้ำมัน แล้วพรุ่งนี้เราทุกคนใช้รถไฟฟ้ากันทั้งประเทศ ระบบไฟฟ้าเราไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนะ อาจจะมีอาการไฟตกในบางพื้นที่ ที่หม้อแปลงปลายทางอาจจะยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับการใช้งานสูงสุด และถ้าเกิดขึ้น ไฟกำลังไม่พอจริง ๆ มันก็มีวิธีการแก้ปัญหาเชิงนโยบายเช่น การคิดค่าไฟฟ้าแบบ TOU ซึ่งไทยเราก็มีให้เราใช้งานแล้ว ที่ทำให้คนหันไปใช้ไฟเยอะ ๆ ไปชาร์จรถกันช่วงที่ประเทศมีกำลังใช้งานไฟฟ้าไม่สูงมาก ลดภาระโหลดของ Grid ไปได้มหาศาล ในอนาคตเรา การใช้งาน Solar Rooftop ก็มีท่าทางจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราลดภาระของ Grid ได้มากเข้าไปอีก ประกอบกับ เคสที่เรายกมาวันนี้คือเคสที่แย่สุด ๆ แล้วนะ และคิดว่าน่าจะเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะถ้ากำหนดนโยบายนี้ออกมา ก็คือ โดนด่าก่อนเลยค่าาา จะบ้าเหรอ ! กับการไฟฟ้า และ กระทรวงพลังงานเขาก็มีนโยบายเพื่อจัดการเรื่องพวกนี้ด้วย ทำให้เราไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องพวกนี้เท่าไหร่

Read Next...

หูฟัง Noise Cancelling อาจมีดีกว่าแค่ตัดเสียง

หูฟัง Noise Cancelling อาจมีดีกว่าแค่ตัดเสียง

ปัจจุบันหูฟังที่มีระบบ Noise Cancelling มีมากขึ้นเรื่อย ๆ หลาย ๆ คนอาจจะมองแค่ว่า มันทำให้เราสามารถฟังเสียงโดยมีเสียงรบกวนที่น้อยลง เพิ่มอรรถรสในการฟังได้ แต่จริง ๆ แล้วมันมีข้อดีมากกว่านั้นมาก ๆ วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันมีข้อดีอะไรอีกบ้าง...

สำรองข้อมูลไว้ก่อนจะสายด้วย Time Machine

สำรองข้อมูลไว้ก่อนจะสายด้วย Time Machine

การสำรองข้อมูลเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันข้อมูลของเราเอง วันนี้เราจะมาแนะนำเครื่องมือสำหรับการสำรองข้อมูลที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ อย่าง Time Machine กัน...

Disk Defragment ของเก่าจากอดีต ทำไมปัจจุบันเราไม่ต้องใช้แล้ว

Disk Defragment ของเก่าจากอดีต ทำไมปัจจุบันเราไม่ต้องใช้แล้ว

หลายวันก่อน นอน ๆ อยู่ก็นึกถึงการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สมัยก่อนขึ้นมา หนึ่งในสิ่งที่คนบอกว่าเป็นวิธีการทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์เร็วขึ้นคือการทำ Disk Defragment มันทำให้เครื่องเร็วขึ้นอย่างที่เขาว่าจริงมั้ย แล้วทำไมปัจจุบันมันมีเทคโนโลยีอะไรเข้ามาช่วย ทำให้เราถึงไม่ต้องทำแล้ว...

เมื่อ Intel กำลังทิ้ง Hyper-threading มันจะดีจริง ๆ เหรอ

เมื่อ Intel กำลังทิ้ง Hyper-threading มันจะดีจริง ๆ เหรอ

เชื่อหรือไม่ว่า Intel กำลังจะทิ้งสุดยอด Technology อย่าง Hyperthreading ใน CPU Generation ใหม่อย่าง Arrow Lake ทำให้เกิดคำถามว่า การที่ Intel ทำแบบนี้เป็นเรื่องดีหรือไม่ และเราที่เป็นผู้ใช้จะได้หรือเสียจาก CPU ใหม่ของ Intel ตัวนี้...