Technology

ถ้ารถน้ำมันโดนแบน ระบบไฟฟ้าเราจะเอาอยู่มั้ย

By Arnon Puitrakul - 01 พฤษภาคม 2023

ถ้ารถน้ำมันโดนแบน ระบบไฟฟ้าเราจะเอาอยู่มั้ย

เราเคยไปอ่านในกรุ๊ปพวก EV หลาย ๆ กรุ๊ป มีประเด็นนึงที่น่าสนใจมาก ๆ คือ ถ้าเราใช้รถไฟฟ้ากันเยอะ ๆ แล้วระบบไฟฟ้าของประเทศเรามัน พัง แน่ เราก็คง งง ว่าได้เหรอ งั้นวันนี้เราจะมาจำลองสถานการณ์กันดีกว่าว่า ถ้าเกิดว่า เช้าวันต่อมาประเทศเราแบนรถน้ำมัน แล้วไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) กันหมด ไม่นับเรื่องของการเมือง เอาแค่เรื่องของระบบไฟฟ้าภายในประเทศ ระบบมันจะเอาอยู่มั้ย วันนี้เราจะลองเอาข้อมูลมา Plot และ ประมาณกันคร่าว ๆ กันดีกว่า

ปล.ทั้งหมดที่เราประมาณ เป็นแค่การ ประมาณ คาดการณ์เท่านั้นนะ อาจจะมี Factor ที่เราไม่รู้อีก

Car & Distance Landscape

เราขอเริ่มจากสถานการณ์รถในประเทศไทยกันก่อน เป็นจำนวนของรถดีกว่า เราเลยเข้าไปหาข้อมูลจำนวนรถจดทะเบียนสะสม เราเลยไปเจอเว็บของ กลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก มันจะมี เว็บ ที่รวบรวมสถิติการจดทะเบียนรถ

เราโหลดข้อมูลสถิติของปี 2565 ขึ้นมา เราจะพบว่า ทั้งประเทศเราตอนนี้มีรถที่จดทะเบียนอยู่ทั้งหมด 43,394,104 คันด้วยกัน แต่มันจะแบ่งออกเป็นรถหลายประเภทมาก ๆ เราเลยขอเป็นเฉพาะพวกรถที่ใช้งานในบ้าน ไม่เอารถจักรยานยนต์ รถพ่วง รถสามล้อ รถ Taxi ทั้งหมด รถบดถนน รถในงานเกษตรกรรม บวก ๆ ออกมา เราจะได้รถทั้งหมด 18,876,745 คันด้วยกัน หรือคิดเป็น 45% ของรถทั้งหมดอยู่ในชุดข้อมูล

จากนั้น เราไปข้อมูลต่อว่า แล้วคนไทยเรา น่าจะขับรถเฉลี่ยปีละกี่กิโลเมตร ซึ่ง เราก็หาไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าจะมีใครเก็บอะไรแบบนั้นมั้ย ถ้าแบบนั้น เราเอาประมาณง่าย ๆ ละกัน โดยปกติ รถ ICE จะต้อง Maintenance ทุก 6 เดือน หรือ 10,000 กิโลเมตร อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน เราเลยประมาณเป็นปีละ คันละ 20,000 กิโลเมตร ต่อปี น่าจะเป็นค่ากลาง ๆ สำหรับคนทั่ว ๆ ไปละกัน

เมื่อเอาไปคูณกับจำนวนรถที่เราหามาได้ ทำให้ในไทยเรา เฉพาะรถบ้าน ก็จะขับกันอยู่ที่ 377,532,900,000 กิโลเมตร หรือ 377,532.9 ล้านกิโลเมตรต่อปีด้วยกัน โหววว เยอะมาก แต่อย่าลืมว่า ทั้งประเทศ ทั้งปีเลยนะ ว้าววว

Energy Landscape

กำลังผลิตในระบบไฟฟ้า – สถิติรายปี - การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(หน่วย: เมกะวัตต์)

กลับไปในด้านของพลังงานกันบ้าง เราเข้าไปหาจนเจอหน้าสถิติของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) เราเจอแค่ของปี 2564 ทั้งหมดอยู่ที่ 46,682.37 MWh

ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด - Open Government Data of Thailand
ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของประเทศไทย จำแนกรายปี

แต่ถ้าเราเข้าไปหาข้อมูลว่า Peak Load จริง ๆ ของระบบเป็นเท่าไหร่ ไปเจอในเว็บของ DGA แต่ข้อมูลเขามีถึงปี 2564 แต่มีสถิติออกมาบอกว่า ในปี 2565 Peak เพิ่มขึ้นไปเป็น 30,936 MW ด้วยกัน ทำให้จริง ๆ แล้วเราน่าจะมีไฟเหลืออยู่ 15,746.37 MW ในช่วง Peak นะ เพราะจริง ๆ มันน่าจะจะอยู่ช่วงนั้นตลอดแน่นอน น่าจะเจอแค่ช่วงหน้าร้อนที่คนรุมเปิดแอร์เท่านั้นแหละ

การผลิตและซื้อพลังงานไฟฟ้า – สถิติรายปี - การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(หน่วย: ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง)

ถามว่า แล้วปี ๆ นึง เราผลิตไฟไปเท่าไหร่จากข้อมูลของ EGAT ในปี 2564 จะอยู่ที่ 194,868.69 ล้านหน่วย

ชาร์จรถปีนึง ต้องใช้พลังงานเท่าไหร่ ?

เราพูดในแง่ของพลังงานก่อนละกัน ถ้าเราบอกว่า รถ BEV เลย ขับใช้พลังงานเฉลี่ยประมาณ 14.0 Wh/km หรือ 0.14 kWh/km เราก็แค่เอามาคูณกับจำนวนกิโลเมตรที่รถส่วนตัวทั้งไทยวิ่ง ก็คือ เอา 0.14 x 377,532,900,000 จะได้ออกมาเป็น 52,854,606,000 kWh หรือ 52,854.606 ล้านหน่วยด้วยกัน อันนี้เราไม่ได้รวมพวกค่าการสูญเสียพลังงานในขั้นตอนต่าง ๆ เข้าไปอีกนะ ถ้ารวม เราตีว่าน่าจะต้องเพิ่มมาอีกประมาณ 20% ทำให้น่าจะอยู่ที่ 63,425.527 ล้านหน่วย

นั่นทำให้เราจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 32.54% ของพลังงานที่ผลิตได้ใน 1 ปี บอกเลยว่า โคตรเยอะมาก ๆ แบบ มาก ๆ จริง ๆ เพราะถ้าเราไปดูสถิติย้อนหลังของ EGAT คำนวณอัตราการเพิ่มขึ้นและลดลงเฉลี่ย ตั้งแต่ปี 2560 - 2564 อยู่ที่ 1.03% และปี 2550 - 2559 อยู่ที่ 2.97% จะเห็นว่า น้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับ 32.54% ที่จะงอกขึ้นมา

ทำให้เกิดคำถามต่อว่า แล้วถ้าเรายังเพิ่มการผลิต และ ใช้งานในเรทเดิม เราจะต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่เพื่อจะรองรับ 32.54% ที่จะเพิ่มขึ้นมา คำตอบ เราก็หารตรง ๆ เลย ก็ประมาณ 32 ปีได้ โหยยย นานมาก ๆ เลยใช่ป่ะ แต่อย่าลืมว่า นั่นคือ เคสที่แย่ที่สุดว่า วันนี้รัฐบาล แบนรถน้ำมัน และ พรุ่งนี้เช้าปีใหม่มา มีแต่รถไฟฟ้าวิ่งกันหมดนะ (ไม่นับรถขนส่ง และ รถสาธารณะ) ซึ่งในความเป็นจริง รถไฟฟ้าในไทยเราไม่ได้เติบโตแบบไหน ไม่สิ อีบ้า ที่ไหนก็ไม่เติบโตแบบนี้โว้ยยย

ถ้าเป็นแบบนี้ทำให้โรงไฟฟ้าต้องผลิตเยอะขึ้นสิ

คำตอบนี้คือ ทั้งใช่ และ ไม่ใช่ ถ้าเราไปดูสถิติการซื้อขายไฟประเทศเรา จะพบว่า จริง ๆ แล้วการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ทุกคนคิดว่า ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก จริง ๆ แล้วผลิตอยู่แค่ 32% เท่านั้น ที่เหลือจะมาจากการจัดหาพลังงานในแหล่งอื่น ๆ เช่น ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) 31% แต่ตัวเลขที่น่าสนใจคือ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) คือกลุ่มที่ผลิตไฟน้อยมาก ๆ ตัวอย่างคือ คนที่ขายไฟจาก Solar Rooftop ตามบ้านให้กับการไฟฟ้านั่นแหละ มีอยู่ 8%

แต่ถ้าเราไปดูพวกบทวิเคราะห์ธุรกิจ Solar Cell ในไทยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เรียกว่าก้าวกระโดดมาก ๆ ทำให้เราเดาว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ากลุ่ม VSPP ก็จะสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ยิ่งถ้ามีนโยบายสนับสนุนอีกก็คือ บานแน่นอน (เอาจริง ๆ คือตัวเลขที่เห็น ก็น่าจะเป็นอย่างน้อยด้วยซ้ำ เพราะมันก็จะมีเยอะมาก ๆ ที่ไม่ได้ขออนุญาติเลยทำให้ไม่มีข้อมูล)

เท่าที่เราดูข้อมูลกับข่าวมาจากหลาย ๆ ที่ก็พบว่าจริง ๆ แล้วในไทยเรา กลุ่มของ IPP ยังไม่ได้ผลิตเต็มกำลังที่ทำได้เลยด้วยซ้ำ หรือบางที่ก็คือ Standby เครื่องไว้เฉย ๆ ไปเลย ทำให้ในความเป็นจริงแล้ว เรายังมีความสามารถที่จะรองรับการใช้พลังงานได้อีกเยอะมาก ๆ หรือถ้าบอกว่า มันยังไม่พออีก จริง ๆ ก็คือ เราก็มีการซื้อไฟฟ้าเข้ามาในประเทศ

อ่านแล้ว เอ๊ะ ซื้อเข้ามาจากต่างประเทศ มันน่าจะแพงกว่าเราผลิตเองสิ แต่จริง ๆ แล้ว ไม่เลย เผลอ ๆ ถูกกว่า เกือบ ๆ ครึ่งของค่าเฉลี่ยที่ซื้อกันในไทยซะอีก เพราะ เรามีกำลังสำรองเยอะ นั่นแปลว่า บางครั้งเราไม่ได้ใช้ด้วยซ้ำ แต่เราต้องเดินเครื่อง Stand-by เอาไว้นั่นก็เป็นรายจ่ายที่งอกขึ้นมาอีก ประกอบกับเพื่อนบ้านอย่างลาวเอง ก็มีเขื่อนอะไรเยอะมาก ๆ เขาจะตั้งตัวเองเป็นแบตเตอรี่แห่งอาเซียนแล้ว มีไฟจากพลังงานน้ำที่ถูกมาก ๆ ขายให้อีก

ตรงนี้แหละที่ทำให้มีหลายคนออกมาตั้งข้อสังเกตว่า เพราะประเทศเราเซ็นต์ซื้อไฟจากเอกชนเพื่อเป็นพลังงานสำรองในปริมาณที่มากเกินไปโดยอ้างความมั่นคงทางพลังงาน ทำให้เราต้องเสียค่าไฟมากกว่าที่จะเป็นมาก ๆ โดยปกติประเทศอื่น ๆ เราจะสำรองกันไม่น่าเกิน 35% แต่ประเทศเรา รักความมั่นคงมาก ๆ กดไป 50% กว่า ๆ เลย

สุดท้ายแล้วเป็นหน้าที่ของ EGAT ละว่า จะจัดสรรการผลิตอย่างไร เพื่อให้ไฟฟ้าในประเทศเพียงพอตลอดเวลา และ เครื่องผลิตไฟฟ้าทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อเป็นการลดต้นทุนต่อหน่วยไฟลง นั่นส่งผลถึงราคาค่าไฟฟ้าของเรานั่นเอง

ถ้าเราชาร์จพร้อม ๆ กันทำให้ Grid แตกได้มั้ย

ในแง่ของ กำลังไฟฟ้ากันบ้าง เรายกเคสที่แย่สุด ๆ เลยนะ บ่าย ๆ วันที่ร้อนที่สุดของปีคนรุมเปิดแอร์กัน และแอร์ทำงานหนักมาก ๆ รถกว่า 10% ของประเทศเสียบชาร์จบ้านกันเลย เราจะมีกำลังที่เพิ่มขึ้นเท่าไหร่

คิดไม่ยาก ปกติแล้วรถถ้าเราเสียบ Wall-Charger เราให้อยู่ที่ 7 kW ละกันเป็นมาตรฐานของรถจีน ณ วันนี้อยู่ ซึ่งคิดเป็นเกิน 80% ของ BEV ในไทย ณ วันนี้ ทำให้ เราจะต้องใช้กำลังไฟเพิ่มขึ้นที่ 13,213,721,5 kW หรือ 13,213.7215 MW ดูผ่าน ๆ แล้วก็ยังรอดนะ

เพราะในความเป็นจริง ถ้าเราเอา 10% ของรถส่วนตัวที่เราเอามาคำนวณ นั่นก็คือ รถเกือบ 2 ล้านคัน รุมกันชาร์จบ้านในเวลาเดียวกันนะ ยังไม่นับว่า ดันชาร์จกันในตอนบ่ายของวันที่ร้อนที่สุดในรอบปีอีกนะ (สั้น ๆ คือ พวก แก ไม่ ไป ทำงาน กัน เหรอ) ทำให้ในองค์รวมของประเทศ เราคิดว่า ไม่ใช่ปัญหาเท่าไหร่

ในระดับพื้นที่ ส่วนใหญ่ของประเทศเราว่าไม่น่ามีปัญหาเท่าไหร่ เว้นแต่ที่อาจจะไกล ๆ หรือต่างจังหวัดบางพื้นที่ ที่อาจจะมีการวางหม้อแปลงขนาดเล็กไม่สามารถรับโหลดพร้อม ๆ กันมหาศาลได้ ซึ่งเท่าที่เราเห็นส่วนใหญ่ เขาก็จะวางหม้อขนาดใหญ่กว่าความเป็นจริงมาก ๆ อยู่แล้วด้วยซ้ำ แต่มันก็จะมีบางที่จริง ๆ แหละอาจจะยังไม่พอ ซึ่งถ้ามันไม่พอจริง ๆ จนมันดับมาก ๆ เราว่า การไฟฟ้าที่ดูแลพื้นที่ก็ต้องเข้าไปเปลี่ยน

เราจะทำยังไงให้ลดภาระของ Grid มากที่สุด

ในการผลิตไฟฟ้าจริง ๆ เราอยากให้ใช้ไฟแบบคงที่ที่สุด เพื่อให้ผู้ผลิต ไม่จำเป็นต้องเร่ง หรือลดกำลังการผลิต จะทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพที่สุด และ ทำให้ประมาณการใช้ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้นด้วย อย่างที่เรายกตัวอย่างเมื่อครู่ การที่เรารุมกันชาร์จแบบนั้นทำให้โหลดมันสูงขึ้นแบบมาก ๆ เราจะทำยังไงให้โหลดก้อนนี้มันไปเสียบในเวลาที่มันใช้ไฟฟ้าน้อยให้ได้มากที่สุดละ หรือพูดง่าย ๆ คือ เราจะทำให้กราฟพลังงานมันเรียบที่สุดได้ยังไง

โดยธรรมชาติแล้ว การใช้พลังงานมันจะเป็นช่วงกลางคืนหลังเที่ยงคืนไปจะต่ำมาก ๆ เพราะอากาศค่อนข้างเย็นแล้ว ทำให้แอร์ที่เปิดตามบ้าน ก็เริ่มลดการทำงาน หรือบางบ้านก็ปิดแอร์ แล้วนอนไปแล้ว จากนั้นการใช้ไฟจะเพิ่มขึ้นในช่วงเช้าละ เพราะคนไปทำงาน ออฟฟิศ และ โรงงานก็ทำงานไป จนช่วงเลิกงาน ก็ค่อย ๆ ลดลง ไปเรื่อย ๆ จนอากาศเย็นขึ้นเรื่อย ๆ คนเริ่มนอน ก็จะวนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ

ทำให้ เราจะเห็นว่า เห้ย เราใช้กำลังไฟฟ้าน้อย ก็คือ ช่วงดึก ๆ จนถึงเช้าเลย เราจะทำยังไงให้คนพยายามใช้ไฟในช่วงนั้นแทนละ เลยทำให้มีวิธีการคิดค่าไฟแบบ TOU หรือ Time of Use ขึ้นมา โดยจะมีช่วงที่คนใช้ไฟเยอะ ๆ จะคิดค่าไฟแพงหน่อย และ ช่วงที่คนใช้น้อย ๆ ก็จะคิดถูกหน่อย

แล้วมันไปเข้ากับคนที่เสียบรถไฟฟ้าเลย เพราะส่วนใหญ่ กลางวันที่ค่าไฟแพง เราก็ไปทำงานกัน อยู่ข้างนอกซะมากกว่า จนเรากลับมา เราขึ้นไปนอน กลางคืน เราก็ชาร์จในช่วงราคาถูกก็ได้ แล้วเราไม่ได้ชาร์จนาน อาจจะกดอย่างมากก็ 3 ชั่วโมงเองมั้ง ทำให้ยังไง ๆ ก็ยังอยู่ในช่วงราคาที่ถูกแน่นอน

นอกจากนั้น มันยังไปทำให้อีกกลุ่มได้ราคาไฟฟ้าดีขึ้นคือ กลุ่มที่ลง Solar Rooftop ทั้งในสำนักงาน และ บ้านทั้งหลาย เพราะพวกนี้ กลางวัน โหลดมันจะไปลงกับพวก Solar Cell อยู่แล้ว ทำให้ลดโหลดที่จะไปลงกับ Grid ก็เป็นการลดภาระการทำงานของ Grid เข้าไปอีก เป็นอีกกลุ่มที่เหมาะกับการคิดค่าไฟแบบ TOU มาก ๆ

แปลว่า ถ้าเราทำแบบนั้น ก็จะช่วยทำให้กราฟมันเปลี่ยนไปละ จากเดิมที่ Peak ในช่วงกลางวัน เพราะโรงงาน และ สำนักงานใช้ไฟเยอะ ๆ ก็ลดลงไป แล้วกลางคืนที่ใช้น้อย ๆ เราก็ให้คนเข้ามาใช้มากขึ้น มันก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้กราฟมันจะดูเรียบขึ้น ดีขึ้นกับ Grid แน่นอน

อีกส่วนคือการขอซื้อไฟฟ้าแบบ Low Priority อันนี้การไฟฟ้าทั้ง 2 การไฟฟ้า ออกมาสำหรับผู้ประกอบการเครื่องชาร์จรถโดยเฉพาะเลย อันความว่าเครื่องพวกนี้ มันใช้กำลังไฟสูงมาก ๆ อาจจะทำให้ Grid แถวนั้นแตกได้ ตัวการขอซื้อไฟฟ้าแบบนี้ เขาจะเช็คตลอดเวลา ถ้าเกิดว่า Grid บริเวณนั้นมันจะไม่ไหว มันจะลดกำลังที่จ่ายให้เครื่องชาร์จไป ก็จะทำให้คนที่เข้ามาเสียบได้กำลังไฟไม่คงที่ 100% แต่ก็แลกมากับราคาที่ถูกกว่าเดิมเยอะมาก ๆ

หรืออันที่ Peak ขึ้นไปอีก คือ พวกเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง V2G หรือ Small Plant ทั้งหลาย ที่ให้บ้านเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ๆ แทนแล้วก็จ่ายไฟเข้าสู่ Grid เหมือนช่วงที่ Tesla Implement Tesla Virtual Plant เพื่อจ่ายไฟจาก Powerwall ที่เป็น Battery เข้าสู่ Grid ได้ ทำให้เป็นการเสริมความมั่นคงทางพลังงานเข้าไปได้อีกขั้นเลย แล้วถ้าเรามีรถไฟฟ้ามากขึ้น เราก็สามารถใช้แบตรถนี่แหละ เป็น แบตสำหรับการจ่ายไฟเข้าสู่ Grid ได้เช่นกัน (เราเรียกว่า V2G)

สรุป

สำหรับคำถามที่ว่า ถ้าเกิดวันนี้ไทยแบนรถน้ำมัน แล้วพรุ่งนี้เราทุกคนใช้รถไฟฟ้ากันทั้งประเทศ ระบบไฟฟ้าเราไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนะ อาจจะมีอาการไฟตกในบางพื้นที่ ที่หม้อแปลงปลายทางอาจจะยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับการใช้งานสูงสุด และถ้าเกิดขึ้น ไฟกำลังไม่พอจริง ๆ มันก็มีวิธีการแก้ปัญหาเชิงนโยบายเช่น การคิดค่าไฟฟ้าแบบ TOU ซึ่งไทยเราก็มีให้เราใช้งานแล้ว ที่ทำให้คนหันไปใช้ไฟเยอะ ๆ ไปชาร์จรถกันช่วงที่ประเทศมีกำลังใช้งานไฟฟ้าไม่สูงมาก ลดภาระโหลดของ Grid ไปได้มหาศาล ในอนาคตเรา การใช้งาน Solar Rooftop ก็มีท่าทางจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราลดภาระของ Grid ได้มากเข้าไปอีก ประกอบกับ เคสที่เรายกมาวันนี้คือเคสที่แย่สุด ๆ แล้วนะ และคิดว่าน่าจะเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะถ้ากำหนดนโยบายนี้ออกมา ก็คือ โดนด่าก่อนเลยค่าาา จะบ้าเหรอ ! กับการไฟฟ้า และ กระทรวงพลังงานเขาก็มีนโยบายเพื่อจัดการเรื่องพวกนี้ด้วย ทำให้เราไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องพวกนี้เท่าไหร่

Read Next...

Trust ความเชื่อมั่น แต่ทำไมวงการ Cyber Security ถึงมูฟออนไป Zero-Trust กัน

Trust ความเชื่อมั่น แต่ทำไมวงการ Cyber Security ถึงมูฟออนไป Zero-Trust กัน

คำว่า Zero-Trust น่าจะเป็นคำที่น่าจะเคยผ่านหูผ่านตามาไม่มากก็น้อย หลายคนบอกว่า มันเป็นทางออกสำหรับการบริหาร และจัดการ IT Resource สำหรับการทำงานในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันคืออะไร และ ทำไมหลาย ๆ คนคิดว่า มันเป็นเส้นทางที่ดีที่เราจะมูฟออนกันไปทางนั้น...

แปลงเครื่องคอมเก่าให้กลายเป็น NAS

แปลงเครื่องคอมเก่าให้กลายเป็น NAS

หลังจากเราลงรีวิว NAS ไป มีคนถามเข้ามาเยอะมากว่า ถ้าเราไม่อยากซื้อเครื่อง NAS สำเร็จรูป เราจะสามารถใช้เครื่องคอมเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาเป็นเครื่อง NAS ได้อย่างไรบ้าง มีอุปกรณ์ หรืออะไรที่เราจะต้องติดตั้งเพิ่มเติม วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกัน...

รีวิว Ugreen Nexode Pro Charger ที่เบา กระทัดรัดที่สุด

รีวิว Ugreen Nexode Pro Charger ที่เบา กระทัดรัดที่สุด

เมื่อปีก่อน เรารีวิว Adapter 100W จาก UGreen ที่เคยคิดว่ามันเล็กกระทัดรัด น้ำหนักเบา พกพาง่ายที่สุดไปแล้ว ผ่านมาปีนึง เรามาเจออีกตัวที่มันดียิ่งกว่าจากฝั่ง Ugreen เช่นเดียวกันในซีรีย์ Nexode Pro วันนี้เรากดมาใช้เอง 2 ตัวคือขนาด 65W และ 100W จะเป็นอย่างไร อ่านได้ในบทความนี้เลย...

Tor Network ทำงานอย่างไร ทำไมถึงตามยากนัก

Tor Network ทำงานอย่างไร ทำไมถึงตามยากนัก

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนนานมาก ๆ แล้ว ตำรวจไทยได้จับกุมเจ้าของเว็บ AlphaBay ขายของผิดกฏหมายรายใหญ่ ซึ่งเว็บนั้นมันอยู่ใน Dark Web ที่จำเป็นต้องเข้าถึงผ่าน Tor Network วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันทำงานอย่างไร และทำไมการตามตัวในนั้นถึงเป็นเรื่องยากกัน...