Technology

ทำไมถ่ายรูปไม่คม ?

By Arnon Puitrakul - 21 ตุลาคม 2022

ทำไมถ่ายรูปไม่คม ?

เรามักจะได้คำถามจากเพื่อน หรือหลาย ๆ คนเลยละว่า ทำไมเราถ่ายรูปออกมาแล้วมันคมจัง หรือเป็นเพราะเราใช้กล้องใหญ่เหรอ ทำไมมันคมได้ขนาดนั้น จริง ๆ แล้ว เราจะบอกว่า มันไม่เกี่ยวหรอก เว้นแต่ใช้เครื่องคิดเลขถ่าย วันนี้เราจะมาเล่ากันว่า ทำยังไง ถึงเราจะถ่ายรูปออกมาได้คมกริบอลังการเลย เราขอแยกสาเหตุออกมาเป็นทั้งหมด 4 สาเหตุคือ Shutter Speed, Aperture, ISO และ ชิ้นเลนส์

Shutter Speed

เรื่องแรกคือ Shutter Speed เป็นความเร็วในการให้แสงเข้าสู่ Sensor ของเรา ยิ่งเปิดนาน แสงยิ่งเข้าเยอะ เปิดสั้น แสงก็เข้าน้อย พวกนี้ดูเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา แต่ในความเป็นจริงคือ วัตถุที่เราถ่ายมักจะมีการขยับอยู่ตลอดเวลา ทำให้แสงที่เข้าไปใน Sensor มันมีการขยับตำแหน่งละ เช่นสีเขียวตำแหน่ง X มันขยับไปตำแหน่ง Y ทำให้ภาพที่ได้ออกมา มันจะเป็นเส้น ๆ ละ

โดยปกติ เราจะ Shutter Speed กันเป็นวินาที ซึ่งเราอาจจะเคยเห็นเป็น 1/250, 1/4 อะไรพวกนั้น หน่วยมันเป็นวินาที ถามว่า กล้องมันสามารถทำได้เท่าไหร่ ก็ขึ้นกับกล้องแล้วละ เช่น 1/8000 หรืออาจจะมากกว่านั้นไปอีก ถ้าเราใช้พวก Electronic Shutter (ระวังพวก Rolling Shutter ด้วยละกัน)

Olympus E-M5MarkII + Olympus 7-14mm f2.8 Pro at f/4.5, 1sec, ISO200

เทคนิคนี้เราก็เอามาใช้ในการถ่ายกัน เรียกว่า Long Exposure คือ เราก็เปิด Shutter Speed นาน ๆ เลยเพื่อให้แสงมันวิ่ง เลยได้เป็นเส้น ๆ เช่น ถ่ายริมถนนแล้วรถก็จะวิ่งไปวิ่งมา ทับเส้นไปเรื่อย ๆ ทำให้เกิดเส้นที่ดูแปลกตา ไม่ก็ใช้กับพวกพลุอะไรแบบนั้นก็มี

แต่ ๆ ในการถ่ายภาพทั่ว ๆ ไป เราต้องการความคมพอตัว ดังนั้น เราไม่สามารถทำวิธีนั้นได้ เราคงไม่สามารถบอกแบบว่า พี่ครับ รบกวนยืนนิ่ง ๆ สัก 1 วินาที ห้ามขยับแม้แต่นิดเดียวเลยนะครับ พี่เขาคงเอามือฟาดหัวเอา หรือกระทั่ง ตัวคนถ่ายเองที่เมื่อใช้มือ ก็อาจจะไม่นิ่งพอทำให้ชิบหายได้

Sony A6400 + Sony E PZ 18-105mm f4 G OSS at f/6.3, 1/200, ISO 100 

ส่วนตัวเรา การตั้งค่า Shutter Speed เราจะแยกเคสกัน ถ้าเราถ่ายพวก Landscape ต่าง ๆ ที่ภาพมันไม่ได้มี Movement มากนัก เราจะใช้สูตรโกงง่าย ๆ คือ 1/(Aperature x 10) เช่น เราบอกว่า เราใช้เลนส์ f/2.8 เราจะต้องปรับ Shutter Speed อย่างน้อย 1/20 เราใช้คำว่า อย่างน้อยนะ หรือในงานจริงคือ เราลงไปได้สุด ๆ จริง ๆ เปิดได้นานสุดที่ 1/20 sec โดยที่จะไม่สั่นจากตัวเราเท่านั้น ใช้งานจริงอาจจะโดดไป 1/50 หรือ 1/100 sec เลยกันเหนียว

Olympus E-M5MarkII + Olympus 12-100mm f/4 Pro at f/9, 1/20sec, ISO200

แต่ถ้าเราถ่ายภาพที่มี Movement เกิดขึ้น เช่น การ Portrait หรือ Street ที่มีคนเป็นส่วนประกอบ เราจะเลือกถ่ายที่ Shutter Speed สั้นกว่านั้นมาก จากประสบการณ์เรา เราจะกดไปที่ประมาณ 1/250 sec หรือ 1/500 sec ไปหรือสั้นกว่านั้นไปเลย ถ้าเป็นพวกเด็ก หรือสัตว์เลี้ยงที่ขยับเป็นลิงตลอดเวลา รูปตัวอย่างด้านบน จะเห็นว่า เรากดที่ 1/20 ไปเลย เป็นเพราะ เราต้องการเล่าเรื่องทำให้ภาพมันเกิด Movement มากขึ้น เห็นรถวิ่งแล้วเบลอ ๆ ทำให้ภาพนี้มันดูมีชีวิตชีวามากขึ้น ไม่แข็ง ๆ เห็นการใช้ชีวิตของคนแถวนั้น

หรือในเคสที่ Extreme กว่านั้นอีก เช่นพวก Sport Photography เรากำลังคุยกันระดับ 1/8000 sec ได้เลยนะ เพราะนักกีฬาเวลาเล่นกีฬา เราก็จะเห็นว่าเขาขยับอยู่ตลอดเวลา และเร็วมาก ๆ ด้วย เพื่อให้เก็บได้ทัน พลาดมาเขาน่าจะเอาไม้มาฟาดหัวเข้าให้ เราก็ต้องอัด Speed Shutter ไปให้สุดเท่าที่ แสง และ กล้องเราจะไปถึงเพื่อให้มั่นใจจริง ๆ ว่าเราเก็บได้ ไม่ใช่ว่าไปงก แล้วถ่ายออกมาเบลอหมดเลย เสียของเลยนะ

ตัวเลขที่เราเล่ามาตรงนี้ เป็นตัวเลขที่เราได้จากประสบการณ์เท่านั้น อย่าฟันว่าตัวเลขนี้จะเอามาใช้ได้เสมอนะ แนะนำว่า ให้ลองกดก่อน แล้วซูมดูว่า ภาพที่ได้มันคมมากพอมั้ย มันมีการสั่นหรือเบลออะไรมั้ย ถ้ามี เราก็ค่อย ๆ ปรับไป มันอาศัยประสบกาณ์ และ ความรู้จักระหว่างเรากับกล้องด้วย ว่าเรารู้จักขีดจำกัดของกล้องที่ตรงไหน

Aperture

มันคือความกว้างของรูตรงกลางนั่นแหละ ยิ่งเราเปิดเลขน้อย มันยิ่งกว้างขึ้นเรื่อย ๆ

Aperture หรือที่บางคนเรียกว่าค่า F คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า ยิ่งน้อยยิ่งเบลอหลังได้ละลายมากขึ้น (จริง ๆ ใช้ Focal Length ยาวขึ้นก็ช่วย) โอเคอะ ถูกแหละ ส่วนนึง แต่จริง ๆ แล้วค่า Aperture คือค่าความกว้างของทางเข้าของแสง ยิ่งเลขเยอะ ก็จะยิ่งแคบ เลขน้อยก็จะยิ่งกว้างมากขึ้นเท่านั้น

ถามว่าแล้วมันเกี่ยวอะไร อ่านมาถึงตรงนี้มันน่าจะเกี่ยวกับปริมาณแสงที่เข้ารึเปล่า ถ้า F เรายิ่งกว้าง เราเปิด Shutter Speed ได้สั้นมากขึ้นนิ ก็ใช่ เราเลยบอกว่า Shutter Speed ขั้นต่ำ เราลงไปได้มากสุด 1/(Aperature x 10) sec แต่จริง ๆ แล้วมันเกี่ยวกับเรื่องของความคมด้วย

เพราะเมื่อเราเปิด Aperture กว้างมากขึ้น (เลขน้อยลง) ระยะของ Depth of Field (DoF) เราจะสั้นลงเรื่อย ๆ ลงตามไปด้วย หมายความว่า ระยะชัดของเรามันจะสั้นลงมาก ๆ นั่นเป็นเหตุว่าทำไม เวลาเราถ่ายด้วยค่า Aperture ที่กว้างมาก ๆ แบบ หรือ Foreground มันเลยดูโดดขึ้นมามาก ๆ หลังละลายซะสวยเลยวุ้ย

พอระยะ DoF มันสั้นลงมาก ๆ เข้า เวลาเราถ่าย ต้องอย่าลืมว่า ทั้งเราเอง และวัตถุมันไม่ได้อยู่กับที่ตลอดเวลา ทำให้สุดท้ายถ่ายออกมา มันจะไม่คม เพราะระยะวัตถุมันเลยช่วง DoF ไปแล้ว ไปเป็น Background แทนทำให้ วัตถุ หรือแบบที่เราต้องการถ่าย แหม่ ละลายซะเ_ยเลยนะ ถ้าเทียบจากภาพด้านบน ระยะมันจะแคบมากจนวัตถุของเรามันดันไปอยู่ปริม ๆ เส้นระยะพอดี พอมือเราโยกไปมา ประกอบกับวัตถุโยกอีก ก็พังเข้าไปใหญ่

Sony A7IV + Sony FE85 F/1.4 GM at f/1.4, 1/8000sec, ISO100

ส่วนตัวเรา เวลาถ่าย Portrait เราก็จะชอบใช้ Aperture กว้าง ๆ ละลายหลังสวย ๆ นะ มันกำลังดี แต่ระวังหน่อย เพราะมันอาจจะทำให้เหมือนตัดต่อได้ โดดเกิ้นนน !!!! อะพลีชีพรูปตัวเองละหนึ่ง และเพื่อป้องกันความชิบหายของการหลุด Focus เราจะตั้งค่ากล้องให้ใช้ Continues Focus แทน เพื่อให้เวลาเรา หรือวัตถุมันเคลื่อนไหว กล้องมันจะพยายาม Focus ใหม่ตลอดเวลา ทำให้โอกาสที่จะหลุด Focus มันต่ำลง โอกาสได้ภาพเสียก็น้อยลงด้วย กล้องรุ่นใหม่ ๆ ที่มี Continues Eye AF ก็คือ ได้เปรียบกับการถ่าย Portrait ไปเลย

ถามว่า Magic Number ของเราเป็นเท่าไหร่ ยากเลย เอาทั่ว ๆ ไป ถ้าถ่าย Portrait แบบคนเดียว เราจะกดอยู่ 1.4 จนไปถึง 2.8 แถว ๆ นั้น แต่ถ้าเริ่มมีคนเยอะขึ้น เราจะโดดไป 4 หรือมากกว่านั้นหน่อย เพื่อให้หน้าคนทั้งหมดอยู่ใน Focus หมด

Sony A7II + Sony FE 16-35mm F4 ZA OSS at f/4.5, 1/80sec, ISO100

หรือถ้าเป็นพวกภาพวิว อันนี้ขึ้นกับการเล่าเรื่องละ ถ้าเราอยากได้ชัดทั้งภาพ และแสงพอ เราจะโดดไปมากกว่า 10 จนไปถึง 16 เลยก็มี แต่ถ้าเราต้องการเล่าเรื่องหน่อยมี Foreground อยู่ข้างหน้าให้เบลอหน้าชัดหลังไป เราก็จะกดอยู่แถว ๆ 4-6 แถว ๆ นั้น อันนี้ต้องทดลองกดเลยละ

ISO

อันนี้เราซูมมาให้ดู ถ่ายบน ISO 3,200 เราจะเห็นว่ามันเป็นจุด ๆ เต็มไปหมด ทำให้ภาพไม่คมเท่าที่ควร

ISO เป็นค่าความ Sensitive ของ Sensor หรือสมัยก่อนก็ต้องเป็นฟิล์ม ยิ่ง ISO เยอะก็แปลว่า Sensor ยิ่ง Sensitive ต่อแสงมากขึ้น รับแสงได้มากขึ้น แต่นั่นก็แลกมากับ Noise ที่เราเจอกันได้บ่อยมาก ๆ ที่คนชอบถามว่า ทำไมถ่ายออกมาแล้วมีจุด ๆ เล็ก ๆ เต็มไปหมดเลย จนไปดู ISO ก็คือ 4,000 เ_ย เก็บไว้ให้แม่มึ_ถ่ายเถอะ

พอมันมี Noise เยอะ ๆ มันก็จะทำให้ภาพมันดูไม่คม ดูคุณภาพเหมือนเอาเครื่องคิดเลขถ่าย (ใครมันเริ่มอีคำนี้ฟร๊ะ) ยิ่งกว่านั้นอีก เราก็ไม่อยากได้ Noise เราก็จะไปดันพวก Noise Reduction ที่ส่วนใหญ่ ถ้าปรับไม่เก่งจริงก็คือกิน Detail ของภาพ เรียกว่า ทำให้เบลอกว่าเดิมอีก

ดังนั้น เพื่อลด Noise ให้มากที่สุด เราจะพยายามปรับ ISO ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ง่าย ๆ คือ เราจะพยายามปรับ Aperture และ Shutter Speed ให้ได้ก่อน ถ้าไม่ได้จริง ๆ เราค่อยไปดัน ISO ขึ้นแต่ถ้ากล้องใครรุ่นใหม่ ๆ หน่อย มันจะมี Auto ISO แบบที่เราสามารถปรับจุดสูงสุดต่ำสุดได้

โดยเราจะปรับต่ำสุดเท่าที่กล้องมันจะไหว ส่วนตัวเราปรับไว้ 100 ไปเลย อันนี้คือใช้กลางแดดคือสบาย ๆ ละ กับสูงสุดอันนี้อยู่ที่กล้องเราละ คุณภาพ Sensor และเลนส์เราละว่าไปได้แค่ไหน ต้องอาศัยการใช้งานบ่อย ๆ เราจะพอรู้ว่า ISO ประมาณนี้เรารับได้ รับไม่ได้ ส่วนตัวเรา เราเคยชินกับกล้องเก่า ๆ เลยอย่าง Nikon D5300 ที่เจอ ISO 800 เข้าไปน้องกรีดร้อง Noise บาน ตอนนี้มาใช้ Sony A7IV มันไปได้อีก แต่เราก็ยังมั่นใจที่ไม่เกิน 800 เลยเซ็ตไว้แค่นั้น ซึ่งก็เพียงพอกับการใช้งานส่วนใหญ่ของเราหมด

ชิ้นเลนส์

ถ้าเราลองปรับทั้งหมดแล้วมันไม่รอดสักที กดยังไงก็ไม่คม Focus ไม่เข้าสักที อะส่วนนึงเป็นเพราะวัตถุที่เราถ่ายมัน Focus ยากมาก แต่เปลี่ยนเป็นอะไรที่ง่ายกว่านั้นแล้วก็ยังไม่รอดสักที ให้เราสงสัยที่เลนส์ก่อนเป็นอย่างแรกเลย

เพราะตัวที่จะทำให้ Focus เข้าหรือไม่เข้า เป็นที่เลนส์ของเรา ในเลนส์เขาจะมีมอเตอร์เพื่อปรับระยะชิ้นเลนส์เพื่อให้เข้า Focus ถ้าเกิดว่า ชิ้นเลนส์ หรือมอเตอร์ในเลนส์มันมีปัญหามันจะทำให้เรา Focus เข้ายากมาก หรือไม่เข้าเลย อันนี้ไม่ยาก เดินเข้าไปที่ศูนย์บริการให้เขาตรวจสอบได้ อันนี้ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเทคนิคละ แต่เป็นปัญหาที่ตัวเลนส์เลย เราแก้เองไม่ได้ละ

สรุป

Taken on iPhone 13 Pro Max (Original)

การถ่ายภาพแล้วอยากให้มันคม จริง ๆ แล้วมันไม่ได้ยากขนาดนั้น มันมีวิทยาศาสตร์อยู่เบื้องหลัง สำหรับการใช้งานจริง ๆ นั้น มันอาศัยประสบการณ์ และ ความรู้จักระหว่างเรากับอุปกรณ์ของเราค่อนข้างมาก เลยแนะนำว่า ถ้าอยากถ่ายให้ได้ ให้ออกไปถ่ายบ่อย ๆ ใช้งาน ทำความรู้จักกับอุปกรณ์ของเรา แล้วจะถ่ายออกมาอลังการขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอน

Read Next...

หูฟัง Noise Cancelling อาจมีดีกว่าแค่ตัดเสียง

หูฟัง Noise Cancelling อาจมีดีกว่าแค่ตัดเสียง

ปัจจุบันหูฟังที่มีระบบ Noise Cancelling มีมากขึ้นเรื่อย ๆ หลาย ๆ คนอาจจะมองแค่ว่า มันทำให้เราสามารถฟังเสียงโดยมีเสียงรบกวนที่น้อยลง เพิ่มอรรถรสในการฟังได้ แต่จริง ๆ แล้วมันมีข้อดีมากกว่านั้นมาก ๆ วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันมีข้อดีอะไรอีกบ้าง...

สำรองข้อมูลไว้ก่อนจะสายด้วย Time Machine

สำรองข้อมูลไว้ก่อนจะสายด้วย Time Machine

การสำรองข้อมูลเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันข้อมูลของเราเอง วันนี้เราจะมาแนะนำเครื่องมือสำหรับการสำรองข้อมูลที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ อย่าง Time Machine กัน...

Disk Defragment ของเก่าจากอดีต ทำไมปัจจุบันเราไม่ต้องใช้แล้ว

Disk Defragment ของเก่าจากอดีต ทำไมปัจจุบันเราไม่ต้องใช้แล้ว

หลายวันก่อน นอน ๆ อยู่ก็นึกถึงการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สมัยก่อนขึ้นมา หนึ่งในสิ่งที่คนบอกว่าเป็นวิธีการทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์เร็วขึ้นคือการทำ Disk Defragment มันทำให้เครื่องเร็วขึ้นอย่างที่เขาว่าจริงมั้ย แล้วทำไมปัจจุบันมันมีเทคโนโลยีอะไรเข้ามาช่วย ทำให้เราถึงไม่ต้องทำแล้ว...

เมื่อ Intel กำลังทิ้ง Hyper-threading มันจะดีจริง ๆ เหรอ

เมื่อ Intel กำลังทิ้ง Hyper-threading มันจะดีจริง ๆ เหรอ

เชื่อหรือไม่ว่า Intel กำลังจะทิ้งสุดยอด Technology อย่าง Hyperthreading ใน CPU Generation ใหม่อย่าง Arrow Lake ทำให้เกิดคำถามว่า การที่ Intel ทำแบบนี้เป็นเรื่องดีหรือไม่ และเราที่เป็นผู้ใช้จะได้หรือเสียจาก CPU ใหม่ของ Intel ตัวนี้...