Calibrate หน้าจอไปทำไมและทำอย่างไร
Technology

Calibrate หน้าจอไปทำไมและทำอย่างไร

south

เรื่องของเรื่องคือ เราซื้อจอ Dell Ultrasharp 32 นิ้วมาใหม่ และมักนำมาใช้ทำงานพวก Colour Grading และ แต่งรูป ด้วย เรื่องสีเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ไปนั่งคุยกับเพื่อนก็คือ เพื่อนมาทำเลยให้ค่าาา วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า ทำไม เราจำเป็นต้องทำ Display Calibration และ หลักการเบื้องหลังคืออะไร

การแสดงผล และ Colour Space

การที่เราจะเห็นสีต่าง ๆ เกิดจากคลื่นที่มีความถี่ในช่วง Visible Light หรือช่วงคลื่นที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่ 400-700nm ไล่ตามสายรุ้งตั้งแต่ ม่วงจนถึงแดงไป ซึ่งตาของเราเป็นเหมือน Sensor ที่สามารถแปรผลคลื่นพวกนี้แหละ ให้ออกมาเป็นสีที่เราเข้าใจได้

สิ่งที่หน้าจอทำกันคือ การแปลงสิ่งที่ต้องแสดงผลออกมาเป็นคลื่นแสงความถี่ต่าง ๆ เช่น Pixel นี้ ถูกรับผิดชอบด้วยหลอดทั้งหมด 4 หลอด เป็นสีแดง ตัวหลอดทั้ง 4 จะต้องปล่อยคลื่นที่มีความยาวคลื่น 400 nm ออกมา โดยที่โลกของเรามีเทคโนโลยีหลายตัวในการที่จะสร้างคลื่น หรือ แสง ที่มีสีตามที่เราต้องการหลากหลายตัว เช่น LED และ OLED ในปัจจุบัน

ซึ่งเทคโนโลยีการแสดงผล ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จากสมัยก่อนหน้าจอแสดงผลสีได้น้อยมาก ๆ ตอนนี้กลับกลายเป็นเราแสดงผลได้เยอะกว่าเดิมมาก ๆ มันเลยทำให้เราจะต้องมีการกำหนดขอบเขตการแสดงผล เช่น หน้าจอตัวนี้สามารถแสดงผล หรือปล่อยคลื่นแสงสีได้มากขนาดไหน

By The original uploader was Cpesacreta at English Wikipedia. - Transferred from en.wikipedia to Commons by aboalbiss., CC BY 2.5, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=8359333

ขอบเขตสีที่ว่านี้ เราเรียกว่า Colour Space มีออกมาหลากหลายแบบมาก โดยแต่ละแบบนั้นมีขนาดแตกต่างกันออกไป โดยมาตรฐานที่เรามักเจอคือ sRGB น่าจะเป็นตัวที่มีขอบเขตน้อยที่สุดแล้ว พบได้ในจอทั่ว ๆ ไป จนไปถึงตัวที่กว้างมาก ๆ เจอได้ในกลุ่มพวก จอที่มีราคาสูง และออกแบบสำหรับงานที่ทำงานกับสีคือ DCI-P3

รีวิว Dell Ultrasharp U3223QE หน้าจอเทพ สีตรง ครบจบใน USB-C เส้นเดียว
ถ้าใครที่ติดตามเรามา น่าจะเคยเห็นโต๊ะทำงานเรามาก่อนว่า เราใช้จอขนาด 27 นิ้ว 2 จอ ซึ่งเราประสบปัญหาพื้นที่การทำงานมันไม่พอ เลยจัดจอมาใหม่เป็นตัวที่อยากได้นั่นคือ Dell Ultrasharp รุ่น U2332QE จอขนาด 32 นิ้ว ที่ต้องบอกเลยว่า มันเป็นจอเทพสำหรับการทำงานอย่างแท้จริง จะเทพยังไงอ่านได้ในรีวิวนี้เลย

หากเราไปซื้อจอที่มีราคา หรือออกแบบมาสำหรับการทำงานระดับ Professional หน่อย เขาจะมีสเปกบอกว่า หน้าจอนี้สามารถแสดงผลได้คิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ของ Colour Space นั้น ๆ เช่น Dell Ultrasharp U3223QE ที่เราซื้อมา บอกว่า รองรับ 100 sRGB และ 99% DCI-P3 ถือว่าเป็นสเปกที่ค่อนข้างโอเคกับการนำมาใช้ในงานระดับกึ่ง ๆ Professional ละ หากเทียบกับหน้าจอสำหรับการทำงานเอกสารทั่ว ๆ ไปราคาไม่สูงมาก เขาไม่ได้ต้องการความสามารถในการแสดงผลที่สูงมาก อาจจะกดอยู่ราว ๆ 60% ของ sRGB เท่านั้นเอง

สีตรงคือตรงกับใคร ? ทำไมต้องทำให้สีตรง?

การที่เราบอกว่าสีตรง มันไปตรงกับใคร คำตอบคือ ตรงกับความเป็นจริงที่เรามองเห็น เช่น เมื่อจอบอกว่าต้องการแสดงผลสีแดง สิ่งที่จอแสดงออกมาจะต้องเป็นสีแดง ไม่ใช่แดงแปลก ๆ หรือผิดสีไปเลย (ถ้าอย่างหลังก็พังแล้วมั้งเนี่ย)

ในเมื่อเราดูของเราเอง แล้วทำไมเราจะต้องทำให้สีตรงกันด้วยละ นั่นเป็นเพราะ เรามีการเปิด Content ที่มาจากเครื่องอื่น หรือของคนอื่นที่ใช้อุปกรณ์แตกต่างจากเรา มันคงจะตลกมากถ้า เครื่องของคนทำ เขาทำออกมาได้สีโอเคตามที่ผู้สร้างผลงานต้องการ พอเอาไปเปิดในเครื่องคนนึงติดเขียว อีกคนติดฟ้าก่ำไปเลย มันก็ไม่น่าจะสนุกเท่าไหร่ ทำให้หน้าจอในปัจจุบันจะต้องมีการทำตามมาตรฐานการแสดงผล

Lightroom

โดยเฉพาะคนที่ทำงานเป็น Colourist และช่างภาพต่าง ๆ คนพวกนี้ทำงานกับสีเยอะมาก หากสีจอเราไม่ตรงกับความเป็นจริง เวลาเราทำงานออกไป งานจะมีความแปลก ๆ ทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน ตั้งแต่ต้องไปแก้สีใหม่ ยันถ่ายใหม่ทั้งหมดเลยก็มีเหมือนกัน หรือกระทั่ง หากเราเป็นช่างภาพเอง เราทำภาพส่งกลับไปหาลูกค้า โดน Complain กลับมาว่า ทำไมสีรูปมันอมสีแปลก ๆ ก็เป็นไปได้ ดังนั้น ในกลุ่มคนที่เป็น Professional การ Calibrate หน้าจอของตนนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ

การที่หน้าจอแต่ละตัว มันมีความสามารถในการแสดงผลสีได้เที่ยงตรงขนาดไหน ขึ้นกับคุณภาพของ Panel จอ หากคุณภาพสูงก็จะแสดงผลได้อย่างแม่นยำ แต่หากเป็น Panel คุณภาพต่ำหน่อยก็จะแสดงผลได้ไม่ตรงเท่าไหร่ นี่แหละ จุดแยกจุดหนึ่งที่จอถูกกับจอแพงมันแตกต่างกัน

จอแสดงผลสีได้เยอะ แต่ไม่ได้แปลว่าตรงทุกตัว

จอบางตัว เคลมมาเลยว่า ตัวเองสามารถรองรับการแสดงผล DCI-P3 ได้ 100% ไปเลยจุก ๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จอตัวนั้นจะแสดงสีได้อย่างเที่ยงตรงตั้งแต่แกะกล่อง แค่ว่ามันสามารถ ไม่ได้แปลว่า มันจะออกมาตรง

Dell Ultrasharp Factory Calibration Report

ทำให้จอบางตัว ที่ราคาสูงขึ้นมาหน่อย มีการ Calibrate มาจากโรงงาน เช่น Dell Ultrasharp ที่เรากดมานั้น เขาบอกว่า เขาทำมาให้เราหมดแล้ว โดยมีค่า Delta-e น้อยกว่า 2 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีที่มาก ๆ แต่เราจะบอกว่า มันไม่ได้ออกมาตรงมากขนาดนั้นหรอก

ถึงเราจะ Calibrate ไปแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ จอของเราจะแสดงสีผลผิดเพี้ยนมากขึ้นเรื่อย ๆ อาการนี้เรียกว่า Colour Drift เกิดจาก Panel ที่มีการเสื่อมสภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการใช้งาน ทำให้ ถึงแม้ว่าเราจะ Calibrate หน้าจอแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป เราจำเป็นต้อง Calibrate ใหม่เรื่อย ๆ เพื่อความเที่ยงตรงในการแสดงผลอยู่ตลอดเวลา เช่น จอสำหรับการทำงานระดับ Professional บางตัวอาจจะจำเป็นต้อง Calibrate ทุก ๆ 1-2 เดือนได้เลยทีเดียว

แต่สำหรับจอที่ใช้งานในระดับ Prosumer หรือ Semi-Professional ส่วนใหญ่ เราอาจจะไม่จำเป็นต้อง Calibrate บ่อยขนาดนั้น เพราะเรื่องค่าใช้จ่ายและเวลาในการ Calibrate เพราะหากเราจ้างคนมาทำ อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอยู่ 400-1,000 บาท/จอ/ครั้ง และเวลาอีกหลายชั่วโมงต่อรอบเลยทีเดียว เรียกว่าเป็น Cost ที่ต้องจ่ายเยอะพอสมควร ทั้งในเรื่องของเวลา และ เงิน

ดังนั้น สำหรับเราเอง ที่ไม่ได้ทำงานที่ต้องใช้ความแม่นยำสูงอะไรมากมาย เราอาจจะ Calibrate กันประมาณปีละครั้งก็ยังได้เลย เพื่อลด Cost ในการทำงานด้วย สั้น ๆ ว่า เงินเยอะ งานเยอะ ทำเยอะ เงินน้อย ทำน้อย

การ Calibrate ทำอย่างไร ?

ภาพที่เราเห็นจากการทำ Calibration คือการเอาเครื่องมาวางไว้ที่จอ แล้วกด Start ในโปรแกรมก็น่าจะจบแล้ว ไม่น่าจะใช้เวลาในการทำมากเท่าไหร่ ตอนเพื่อนบอกว่าจะมาทำให้ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก นึกว่าแปบเดียว แต่พอมาดูในรายละเอียดจริง ๆ มีอะไรมากกว่าที่เราคิดเยอะมาก

โดยทั่ว ๆ ไป การทำ Calibration เป้าหมายคือ การทำให้หน้าจอของเราสีตรงกันมากที่สุด โดยวิธีการต่าง ๆ แบบง่ายที่สุดคือ ใช้ตาเรานี่แหละเป็น Sensor ในการมอง โปรแกรมพวกนี้ส่วนใหญ่แล้วจะให้ค่าที่ตรง.... อยู่..... ประมาณหนึ่งเท่านั้น เพราะบางครั้งตาเรามองอาจจะแยกสีที่แตกต่างน้อย ๆ ไม่ออก แต่ถือว่าเพียงพอสำหรับการปรับแบบหยาบ ๆ ในการใช้งานทั่ว ๆ ไปได้อยู่

แต่สำหรับการใช้งานในระดับ Professional เราต้องการความเที่ยงตรงมากกว่านั้น มากกว่าที่จุดเล็ก ๆ ที่ตาเราอาจจะแยกไม่ออก หรือเบลอไปได้ ทำให้เราต้องใช้อุปกรณ์สำหรับ Calibrate เข้ามาช่วย เจ้าสิ่งนี้มันคือ Sensor แปะอยู่บนหน้าจอ คอยอ่านค่าสีที่จอมันแสดงผลออกมา แล้วโปรแกรมจะเอามาเทียบกับสีที่โปรแกรมสั่งให้จอแสดงผลออกมา เราจึงสามารถเปรียบเทียบความต่างของสีที่แสดงผลเทียบกับสิ่งที่โปรแกรมสั่งให้แสดงผลได้นั่นเอง ถ้าเราเข้าไปดูตามท้องตลาด เราจะพบว่า เครื่อง Calibrate นั้นมีหลากหลายราคาให้เราเลือกซื้อเยอะมาก เราคุยกับเพื่อนเราและได้ความรู้มาว่า เครื่องพวกนี้ เมื่อราคามันสูงถึงจุดหนึ่ง คุณภาพของ Sensor มันไม่ได้ต่างกันมากเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ทำให้มันมีราคาแพงคือ Software สำหรับการ Calibrate มากกว่า

ในรอบนี้เพื่อนเรามาพร้อมกับเครื่องสำหรับการ Calibrate เลย โดยมันจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ ขั้นตอนที่เราจะต้องมาปรับค่าสี และ ความสว่างต่าง ๆ ที่ตัวจอ เพื่อให้มันเที่ยงตรงที่สุดก่อน โดยตัวโปรแกรมเขาจะมี Wizard ออกมาช่วยเราจัดการ ตั้งแต่การปรับ Brightness, Contrast และ จอบางตัวสามารถปรับสมดุลสี RGB ได้ ขั้นตอนนี้แหละที่กินเวลาเยอะมาก ๆ เพราะการปรับบนหน้าจอ

เมื่อปรับสีที่หน้าจอได้ตรงที่สุด ถึงตาของ Software กันบ้าง ส่วนนี้เครื่องมันจะพยายามไปปรับค่าสีที่สั่งจออีกทีหนึ่ง ถ้าเป็นไส้ในของมันจริง ๆ คือการสร้างสิ่งที่ลักษณะเหมือน LUT ขึ้นมาว่า ถ้ามันต้องการให้แสดงผลสีนี้ แล้วจะสั่งให้จอมันแสดงผลสีอะไร เพื่อให้ออกมาตรงในหน้าจอที่สุด และตรงจุดนี้แหละ ที่แต่ละ Software มีความแตกต่างกัน ตัวที่ราคาสูง ๆ หน่อย เขามักจะทดสอบด้วยสีจำนวนมาก เพื่อให้มั่นใจว่า สีที่ได้ มันจะตรงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

และสุดท้าย เมื่อเราปรับค่าสีบนจอ และ บนเครื่องของเราแล้ว บางโปรแกรมมีการทดสอบออกมาด้วยว่า ค่าสีที่เราปรับไปใน 2 ขั้นตอนที่ผ่านมา มันทำให้สีเที่ยงตรงมากขนาดไหน โดยความเที่ยงตรงของค่าสี เราใช้เป็นค่าที่เรียกว่า Delta-E เราไม่ขอลงลึกว่ามันคำนวณอย่างไรละกัน คิดง่าย ๆ ว่า หาก Delta-E ยิ่งน้อยเท่าไหร่แปลว่า จอของเราแสดงผลสีได้ใกล้กับมาตรฐานมากเท่านั้น โดยทั่ว ๆ ไปที่เวลาเขา Calibrate จากโรงงาน เขาจะวัดทุก ๆ สีแล้วเอามาเฉลี่ย ๆ กันเป็นค่า ๆ เดียว แต่สำหรับโปรแกรม Calibrate พวกนี้ เขาจะวัดแยกออกเป็นหลาย ๆ สี แล้วทำเป็นรายงานออกมาให้เราดูเลย ทำให้เราพอจะดูได้เลยว่า สีไหน โทนไหนที่มันเพี้ยนมากเพี้ยนน้อย ซึ่งหลังจากที่เราเห็นค่าตรงนี้ เราสามารถเอามาค่อย ๆ เริ่มขั้นตอนทั้งหมดใหม่ เพื่อให้ได้การแสดงผลที่เที่ยงตรงที่สุด

ยากกว่านั้นใน Setup ที่มีมากกว่า 1 จอ เพราะนอกจากที่เราจะทำให้สีเที่ยงตรงมากที่สุด ยังต้องทำให้สีของจอทั้งหมดมันใกล้เคียงให้มากที่สุดด้วย ขนาดจอรุ่นเดียวกัน ซื้อพร้อมกันยังได้สีไม่ตรงกันเลย ยิ่งในเคสเรา ใช้จอคนละยี่ห้อ คนละขนาด คนละรุ่น ต่างกันไปหมด

เพราะมันทำวน ๆ แบบนี้สัก 2-3 รอบนี่แหละมันเลยใช้เวลานานกว่าที่เราคิด เพื่อนเรามา 5 โมง แล้วกลับไปตอน 5 ทุ่ม อื้ม.... จากที่คิดว่า จอละ 5 นาทีเสร็จอ่อ.... ไม่ นานกว่านั้นเยอะ เป็นงานที่ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์มาก ๆ

สรุป: ผลที่ได้ละคุ้มมั้ย ?

ต้องบอกเลยนะว่า ขอบคุณเพื่อนเรามาก ๆ ที่เข้ามาทำให้ เพราะผลที่ได้นั้นน่าเหลือเชื่อมาก ๆ จากเดิมที่ทั้งสองจอให้สีที่แตกต่างกันมาก เห็นได้ชัดตอนเราใช้ Lightroom ทั้งสองจอ ออกมาสีต่างกันคนละเรื่อง หลังจากที่จอผ่านการ Calibrate แล้ว มันได้สีออกมาเรียกว่า ใกล้เคียงกันสุด ๆ ทำให้การทำงานเราง่ายกว่าเดิมเยอะ ไม่ต้องคิดเผื่อว่า จอแต่ละจอมันจะออกมาเพี้ยนจากจอเราตรงไหนบ้าง และ เวลาเห็น Content อะไร มันรู้สึก ใจฟู มาก ๆ ขาวคือขาว สีไหนสีนั้นตรงมาก ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ โดยรวมแล้วหากใครทำงานที่เกี่ยวกับสีจริงจังมาก ๆ เราแนะนำให้ไปทำสักครั้ง แล้วจะติดใจเลยละ

Read Next...

Apple M4 รุ่นไหนเหมาะกับใคร

Apple M4 รุ่นไหนเหมาะกับใคร

หลังจากเมื่อหลายอาทิตย์ก่อน Apple ออก Mac รัว ๆ ตั้งแต่ Mac Mini, iMac และ Macbook Pro ที่ใช้ M4 กันไปแล้ว มีหลายคนถามเราเข้ามาว่า เราควรจะเลือก M4 ตัวไหนดีถึงจะเหมาะกับเรา...

Cloudflare Access ของดีขนาดนี้ ฟรีได้ไงวะ

Cloudflare Access ของดีขนาดนี้ ฟรีได้ไงวะ

จากตอนก่อน เราเล่าเรื่องการ Host Website จากบ้านของเราอย่างปลอดภัยด้วย Cloudflare Tunnel ไปแล้ว แต่ Product ด้าน Zero-Trust ของนางยังไม่หมด วันนี้เราจะมาเล่าอีกหนึ่งขาที่จะช่วยปกป้อง Infrastructure และ Application ต่าง ๆ ของเราด้วย Cloudflare Access กัน...

Mainframe Computer คืออะไร ? มันยังมีชีวิตอยู่ใช่มั้ย ?

Mainframe Computer คืออะไร ? มันยังมีชีวิตอยู่ใช่มั้ย ?

ทุกคนเคยได้ยินคำว่า Mainframe Computer กันมั้ย เคยสงสัยกันมั้ยว่า มันต่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันทั่ว ๆ ไปอย่างไรละ และ Mainframe ยังจำเป็นอยู่มั้ย มันได้ตายจากโลกนี้ไปหรือยัง วันนี้เรามาหาคำตอบไปด้วยกันเลย...

Infrastructure as Code คืออะไร ทำไมถึงสำคัญมากในปัจจุบัน

Infrastructure as Code คืออะไร ทำไมถึงสำคัญมากในปัจจุบัน

เคยมั้ยเวลา Deploy โปรแกรมสักตัว เราจะต้องมานั่ง Provision Infrastructure ไหนจะ VM และ Settings อื่น ๆ อีกมากมาย มันจะดีกว่ามั้ยถ้าเรามีเครื่องมือบางอย่างที่จะ Automate งานที่น่าเบื่อเหล่านี้ออกไป และลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Infrastructure as Code กัน...