Technology

เน็ต 1 Gbps ที่ไม่ใช่ 1 Gbps

By Arnon Puitrakul - 15 พฤษภาคม 2020

เน็ต 1 Gbps ที่ไม่ใช่ 1 Gbps

เมื่อหลายวันก่อน มีช่างจาก ISP ที่เราใช้บริการอยู่มาทำการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่บ้าน ทำให้เราได้คุยกันหลายเรื่องมาก ๆ แต่เรื่องนึงที่เราฟังแล้วก็แอบสงสารเขามาก แล้วมันไม่ได้เกิดจากเขาเลยนะ แต่มันทำให้เขาโดน Complain อยู่หลายรอบแล้วคือ คนที่ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็ว 1 Gbps พอติดแล้ว ทำการทดสอบ ไม่ได้ 1 Gbps จริง ๆ วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันว่า ช่างไม่ดีเอง หรือ เป็นที่อะไรกันแน่ สปอยเลยว่า ไม่ถึงแน่นอน และเราจะมาบอกว่าทำยังไงถึงจะได้เต็ม 1 Gbps
1 Bit ไม่เท่ากับ 1 Byte

ต้องเริ่มจากทำความเข้าใจก่อนว่า 1 Mbps (1 Mb/s) ไม่เท่ากับ 1 MBps (1 MB/s) สังเกตุอะไรมั้ยฮ่ะ มันคือ b (B ตัวพิมพ์เล็ก) และ B (B ตัวพิมพ์ใหญ่)
เพราะ b ตัวพิมพ์เล็กย่อมาจาก Bit แต่ B ตัวพิมพ์ใหญ่ย่อมาจากคำว่า Byte

1 Byte = 8 Bits

จะเห็นได้ว่า Byte กับ Bit ขนาดต่างกันนะ ดังนั้น การที่เราบอกว่า 8 B กับ 8 b นี่ต่างกันเยอะมาก คนที่กำลังอ่านบางคนน่าจะบอกว่า 8 b เขาไม่เขียนกันหรอก (น่าจะเขียนเป็น 8 Bits มากกว่า) ใจเย็น ๆๆ เราเปรียบเทียบให้เห็นภาพเฉย ๆ

ดังนั้นเรื่องแรกที่เราอยากจะบอกคือ เริ่มจาก เขียน Bit และ Byte ให้ถูกกันก่อนนะ เพื่อการสื่อสารที่ถูกต้อง และ เข้าใจตรงกันมากขึ้น เราเคยเจอคนเขียนมา 8 mb ห่ะ ?? งงไปเลย ต้องมานั่งตีความ โอเค m เนี่ยน่าจะเป็น M ตัวพิมพ์ใหญ่ที่มาจากคำว่า Mega- แล้ว b มันจะ Bit หรือ Byte ฟร๊ะ บางทีมันกำกวม

เวลาเราใช้งาน ทำไมเราต้องมีทั้ง Mbps และ MBps ละ นั่นเป็นเพราะมาตรฐานที่กำหนดออกมาของแต่ละส่วน ตอนออกนางไม่ได้คุยอะไรกันเล้ยว่าจะใช้หน่วยไหนกันแน่ เช่น ในแง่ของการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ถ้าเราไปดูตาม ISP ต่าง ๆ ไม่มีใครพูดนะว่า Package Internet 20 MBps ไม่มีนะ ไม่เคยเจอจริง ๆ มีแต่ 20 Mbps อย่างเดียว
หรือเวลาเรา Copy File ไปมา ก็ไม่มีการเขียนนะว่า นี่ ๆ ชั้น Copy File ด้วยความเร็ว 100 Mbps เขาใช้เป็น 100 MBps

1 Gbps เร็วแค่ไหน ?

เราว่า คนส่วนใหญ่อาจจะนึกภาพไม่ค่อยออกว่าจริง ๆ แล้ว 1 Gbps เร็วแค่ไหน เหมือนกับหน่วยวัดระยะทางในระบบ Metric และ US Standard ที่ใช้คำว่า กิโลเมตร กับ ไมล์นั่นแหละ
เราว่าคนน่าจะจำภาพที่ความเร็วที่อยู่บน Megabyte มากกว่า Megabit ดังนั้นเรามาแปลง 1 Gbps ให้เป็น GB/s กัน ง่าย ๆ ก็คือ หารด้วย 8 ก็จะได้ 0.125 GB/s หรือ 125 MB/s นั่นเอง

ทำไมเรามีเน็ต 1 Gbps แต่ใช้ได้ไม่ถึงละ

มาถึงคำถามที่ทุกคนน่าจะอยากรู้กันแล้ว ว่าทำไมเราสมัครอินเตอร์เน็ต 1 Gbps แต่เราได้ไม่ถึงละ ทำยังไงก็ไม่ถึงสักที

ภาพที่เราเคยเห็นกันปกติคือ ถ้าเราสมัครความเร็วที่ต่ำกว่านี้หน่อย เวลาเรา Speed Test จากหลาย ๆ เว็บเราก็มักจะได้เกิน เช่นสมัคร 500 Mbps ไป เทสออกมาก็ได้ 550-650 Mbps เลย ก็คือเกินไปด้วยซ้ำ

แต่กลับกัน พอเราสมัคร 1 Gbps ไป ทำไมเราได้อยู่ 800-900 Mbps ไม่เกินเหมือนคนอื่นเลย ขนาดตามสเปกยังไม่ได้เลย ทำไมฝันลำเอียงกันขนาดนี้ละ
ก่อนอื่นต้องวางถุงกาว และหายใจลึก ๆ มองเชิงเทียนก่อน ฮ่า ๆ ล้อเล่น เราค่อย ๆ มาวิเคราะห์ปัญหากันดีกว่า

ต้องบอกก่อนว่า ปัญหานี้ มันมีความซับซ้อนไปสักหน่อย เริ่มจาก เมื่อเราเชื่อมต่อ Internet ISP จะลากสายเส้นนึงเข้ามาเสียบกับอุปกรณ์ของ ISP เอง ก็ขึ้นกับบ้านเราแล้วว่า เราเดินแบบไหน ซึ่งในปัจจุบันปี 2020 นี้ เกือบทั้งหมดก็จะเป็น FTTx หรือ Fibre to the x หรือ FTTH ก็คือ Fibre to the home หมดละ

ตามชื่อมันเลย มันคือ Fibre Optics หรือภาษาไทย เราใช้คำว่า แก้วใยนำแสง ที่ให้ความเร็วสูงมาก ๆ เกิน 1 Gbps ไปอีก ดังนั้น ปัญหาน่าจะอยู่ที่ จุดต่อไปคือ จากกล่องของ ISP เข้าที่อุปกรณ์ของเรา ซึ่งมีทั้งแบบ ไร้สาย และ ใช้สาย

Case 1 : เชื่อมต่อโดยตรงผ่านสาย

เคสแรก เราจะพูดถึงการเชื่อมต่อผ่านสายกันก่อน วิธีนี้หลาย ๆ คนก็น่าเข้าใจว่า เป็นการเชื่อมต่อแบบที่น่าจะเรียกได้ว่า เสถียร และ ดีที่สุดในการเชื่อมต่อ เอ่อ มันก็ถูกแหละ

สายที่เราใช้เชื่อมต่อ ก็น่าจะเป็นสายทองแดง หรือที่เราชอบเรียกกันว่าสายแลนนั่นเอง หัวก็จะเป็นแบบ Ethernet ง่าย ๆ คือ สายแลนที่เราเรียกกันบ้าน ๆ ปกติ

โดยปกติแล้ว ถ้าเราเชื่อมต่อผ่าน Ethernet พวกนี้ที่มันดี เพราะปัจจัยต่าง ๆ มันสามารถถูกควบคุมได้อย่างง่ายดาย เช่น ที่ตัวสายมันก็มีฉนวนหุ้มอยู่แล้ว ทำให้สัญญาณรบกวนก็มีไม่เยอะเท่ากับผ่านระบบไร้สายเป็นต้น ทำให้การเชื่อมต่อผ่านสายเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนที่ต้องการความเสถียร และความเร็วสูงสุดในการเชื่อมต่อ

สายนั้นเป็นเพียงแค่ตัวกลางในการเชื่อมต่อเท่านั้น เวลาเราเชื่อมต่อจริง ๆ มันก็ต้องมีทั้งคนรับ และ คนส่ง ซึ่งทั้ง 2 คนจะต้องคุยกันด้วยภาษาเดียวกัน และพูดเร็วเท่า ๆ กันไม่งั้น คนพูดก็พูดไปเดะ คนฟังก็ห่ะ พูดอะไรเร็วจังสุดท้ายก็จะ Out-of-sync ไป งง ไปหมด แต่สุดท้ายถ้าคนพูดกับคนฟังรับได้หมด แต่ตัวกลางรับไม่ได้ก็จบเหมือนกัน

ในมาตรฐานการเชื่อมต่อผ่านสายก็จะมีอยู่หลายมาตรฐานด้วยกัน เช่น 1000Base-T, 2.5Base-T เป็นต้น ความดีงามของมาตรฐานพวกนี้ส่วนใหญ่มันจะ Backward Compatible ถ้าสมมุติว่า ด้านนึงเป็น 2.5Base-T อีกด้านเป็น 1000Base-T มันก็จะปรับเป็น 1000Base-T ทั้งคู่เหมือนกัน เพื่อให้ทั้งคู่คุยกันรู้เรื่อง

ง่าย ๆ ก็คือ แต่ละมาตรฐานก็จะมีวิธีการคุยไม่เหมือนกัน ความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลก็ไม่เท่ากันด้วยเช่น 1000Base-T จะให้ความเร็วสูงสุดตามทฤษฏีที่ 1 Gbps ในขณะที่ 2.5Base-T ให้ได้ที่ 2.5 Gbps และตัวที่เร็วสุดที่เราน่าจะเห็นได้ง่ายคือ 10GBase-T ให้ได้ที่ 10 Gbps (แต่ราคายังแพงชิบหายอยู่เลย)

ส่วนใหญ่ตอนนี้เราก็ยังอยู่ที่ 1000Base-T ตามบ้านอยู่ นั่นแปลว่า ความเร็วสูงสุดที่เป็นไปได้ ที่เราจะได้จากการเชื่อมต่อคือ 1 Gbps นั่นเอง เอ๊ะมันก็ได้เท่ากับที่เราสมัครนิ

แต่อย่างที่บอกว่า การที่เครื่องมันจะเลือกใช้ 1000Base-T หรือได้ความเร็วที่ 1 Gbps จริง ๆ ทั้ง ทุกอุปกรณ์ที่เป็นทางผ่านทั้งหมดต้องรองรับด้วย ส่วนใหญ่แล้วกล่องของ ISP ถ้าเราสมัคร Package ขนาดนี้ ก็จะเป็น Gigabit Port คือรับได้

ส่วนสาย ถ้าเราซื้อดี ๆ มีราคาหน่อยก็อาจจะได้มาเป็นสายมาตรฐาน CAT5e หรือไม่ก็ CAT6 ซึ่งรองรับความเร็วที่ 1 Gbps อยู่ละ

และสุดท้ายคือ ตัวรับ อันนี้แหละ ปัญหาเยอะสุด เพราะบางที ไปเจอเครื่องรุ่นเก่า ๆ ที่รองรับแค่ FE (Fast Ethernet) หรือ 100 Mbps Ethernet ก็คือ รับได้แค่ 100 Mbps ซึ่งแน่แหละ ห่างไกลจาก 1 Gbps ถึง 10 เท่าไปเลย ถ้าตัวรับเป็น FE และที่เหลือจะรองรับ 1 Gbps หมด ทดสอบยังไงก็ได้ไม่เกิน 100 Mbps แน่นอน

ถ้าอยากจะทำให้รองรับ ใช่ฮ่ะ ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ ถ้าเป็น PC ตั้งโต๊ะ อาจจะใช้การไปซื้อ NIC (Network Interface Card) หรือที่บ้าน ๆ เราเรียกว่าการ์ดแลน ที่รองรับ GbE มาใส่ก็เรียบร้อย ส่วน Laptop ก็.... ซื้อเครื่องใหม่เถอะนะ

แต่ฝั่งของกล่องของ ISP เองก็อาจจะเป็นประเด็นได้เหมือนกัน เพราะบางทีเรายกตัวอย่างง่าย ๆ เลย กล่องรุ่นเก่าของ ISP เจ้านึงเวลาเราใช้งานมันจะมี 2 กล่อง ๆ แรกรับ Fibre Optics เข้ามา ไม่น่ามีปัญหา แต่พอขาออก มันแปลงไปเป็น Gigabit Ethernet ไปที่กล่องที่ 2 แล้วค่อยปล่อยมาให้เรา ดังนั้นถึงกล่องแรกจะรับได้เท่าไหร่ แต่สุดท้ายมันก็ไปตันที่กล่อง 2 ซึ่งเป็น Router อยู่ดี

Case 2 : เชื่อมต่อผ่าน WiFi

เคสนี้มีความซับซ้อนมากขึ้นหน่อยคือ การเชื่อมต่อผ่าน WiFi เพราะมันมีปัจจัยเยอะกว่าการเชื่อมต่อผ่านสายมาก แต่มันก็แลกมาด้วยความสะดวกแน่ ๆ ที่ทำให้เราสามารถใช้งานได้จากจุดไหนก็ได้ ? ของบ้านเราโดยที่เราไม่ต้องลากสายให้มันรกบ้าน

ใน WiFi เองก็มีมาตรฐานเหมือนกัน ก็คือ IEEE802.11 ตั้งแต่ IEEE802.11 a,b,g,n,ac,ax ยาว ๆ ไปแต่พึ่งมีการเพิ่มชื่อเรียกมาตรฐานให้มันง่ายขึ้น เป็น WiFi 6,5,4 ไปเรื่อย ๆ มันคือตัวเดียวกัน แค่ทำให้คนทั่ว ๆ ไปคุยกันง่ายขึ้น (นี่คือชินกับการเรียก ac,ax อะไรพวกนี้ไปแล้วถ้าหลุดมาก็ให้เข้าใจว่ามันคือสิ่งเดียวกันนะโอเค๊ !)
มาตรฐานแต่ละตัว ก็มีการใช้ย่านความถี่ที่แตกต่างกัน และ แน่นอนว่า ให้ความเร็วไม่เท่ากันด้วย ตัวอย่างเช่น IEEE802.11g หรือ WiFi 3 ใช้คลื่นความถี่ที่ 2.4 GHz ในการเชื่อมต่อ และให้ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 54 Mbps เท่านั้น หรือ WiFi 6 ที่เรากำลังตื่นเต้นกันใช้ย่านความถี่ 5 GHz และให้ความเร็วจนถึงระดับ 1 Gbps กันเลยทีเดียว

หนึ่งในตัวแปรที่ทำให้ความเร็วมัน Vary มาก ๆ เราว่ามี 2 เรื่องคือ สัญญาณรบกวน และ ระยะห่าง

ต้องเข้าใจก่อนว่ามาตรฐาน WiFi ออกมาแบบนี้แล้วใช้กันทั้งโลก รวมไปถึงคนในระแวกบ้านเรา บ้านข้าง ๆ เราที่อยู่ติดกันและยิ้มให้กันที่หน้าปากซอย (ถ้าเก็ต ก็จงรู้ตัวว่าแก่ได้แล้ว) แต่สัญญาณมันมีอยู่อย่างจำกัด เช่นถ้ามาตรฐานบอกว่าเราใช้งานที่ 2.4 GHz เราก็ใช้ยาวไปถึง 2.5 GHz ไม่ได้มันทำให้เราใช้งานได้แค่ช่วงนึงเท่านั้น วิธีการก็คือ เขาก็จะตั้งออกมาเป็นช่อง (Channel) โดยการซอยความถี่ที่มีอยู่ออกมา เหมือนคลื่นวิทยุ

ดังนั้น ถ้าเรา และ ข้างบ้านเราใช้ช่องสัญญาณเดียวกัน มันก็ทำให้คลื่นของอีกคนมันก็จะกลายเป็นสัญญาณรบกวนของอีกคนนึง ทำให้เราอาจจะเจออาการที่ว่า เวลาเราเล่นเน็ต กดแล้วมันไม่ไป ซึ่งพวกตัวกระจายสัญญาณดี ๆ หน่อย มันก็จะฉลาดในการที่จะหลบหลีกให้เอง

สัญญาณรบกวน ก็ไม่ได้มาจาก WiFi ข้างบ้านเราเท่านั้น แต่มันยังมาจากอย่างอื่นได้อีก เช่นถ้าเราใช้ WiFi ที่ใช้คลื่นที่ย่าน 2.4 GHz เราก็จะมีโอกาสไปตบตีแย่งชิงกับอุปกรณ์ที่ใช้ความถี่เดียวกันอย่าง Bluetooth และ Zigbee ได้อีก (เสริมให้ว่า ย่าน 2.4 GHz และ 5 GHz เป็นย่านความถี่แบบ Unlicensed หรือก็คือเป็นช่วงความถี่ที่เราสามารถใช้งานได้อย่างเสรีโดยที่ไม่ต้องไปขออนุญาติกับ กสทช. เขา เคลม ว่ามันเป็นสมบัติของชาติอะนะ เหมือนที่ Mobile Operator ต้องไปประมูลเอาคลื่นมาทำ 4G,5G ให้เราใช้อะ พวกนั้นเรียก Licensed Band)

อีกปัจจัยคือ ระยะห่าง ถ้าเราบอกว่าคลื่นมันต้องเดินทางไปมาระหว่างเรากับตัวกระจายสัญญาณ เพราะเวลาสัญญาณเดินทางผ่านตัวกลาง กำลังมันก็จะค่อย ๆ อ่อนลงเรื่อย ๆ เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Attenuation พอมันอ่อนถึงจุดนึงจนฝั่งใดฝั่งนึงรับไม่ได้ก็จบ (Sensitivity ของ ตัวรับส่งก็สำคัญ แต่ไว้เล่าในบทความต่อ ๆ ไปละกัน) เช่นเดินทางผ่านอากาศก็อาจจะอ่อนลงน้อยหน่อย แต่ถ้าเดินทางผ่านกำแพงเหล็กก็จะอ่อนลงมาก ๆๆๆ ขึ้นกับตัวกลางด้วยว่าต้องผ่านอะไรบ้าง
ลองง่าย ๆ เอาโทรศัพท์ของเราต่อ WiFi ในบ้านเรา แล้วยืนหน้าตัวกระจายสัญญาณแล้วทดสอบความเร็วเลย แล้วอาจจะเดินไปอีกห้องนึง แล้วทดสอบใหม่ เราจะรู้เลยว่าความเร็วมันไม่เท่ากันจริง ๆ เพราะสัญญาณมันต้องเดินทางข้ามห้องไง

นั่นแปลว่า ถึงตัวรับของเรา และ กล่องของ ISP จะรองรับ WiFi 6 ที่มันให้ความเร็วเกิน 1 Gbps ไปอีก แต่เราไปยืนห่างจากกล่องมาก เราก็จะไม่ได้ 1 Gbps หรือเผลอ ๆ ยืนหน้ากล่องก็อาจจะไม่ได้เลยก็ได้ ตัวแปรมันเยอะมากพูดยากเหมือนกัน

ส่วนถ้าเครื่องคอมพิวเตอร์เราไม่รองรับมาตรฐาน WiFi รุ่นใหม่ ๆ อย่าง WiFi 6 (802.11ax) ก็อาจจะไปหาพวก Wirelress Adapter ต่าง ๆ ที่รองรับการเชื่อมต่อในมาตรฐานที่เราต้องการ หรือถ้าเป็นเครื่องตั้งโต๊ะ อาจจะไปหา NIC ที่เสียบตรงเข้า PCIe เลย ก็จะทำให้การทำงานเสถียรมากขึ้น และสุดท้าย โทรศัพท์ และ อุปกรณ์เคลื่อนที่ หมดสิทธิ์ อัพไม่ได้
ปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

หากเราตรวจสอบอุปกรณ์ของเราแล้ว มันก็รองรับนะ แต่ทำไมเราทดสอบแล้วไม่ได้ หรือความเร็วที่ได้คือ ห่างจากที่ควรจะเป็นเยอะมาก อย่างเช่น 1 Gbps แต่ทดสอบได้ 600 Mbps อันนี้ช่างที่มา เล่าให้ฟังว่าเจอ เลยขอดูเครื่องหน่อย ปรากฏว่า พอ Speed Test ไป CPU Utilisation ดีดขึ้นไป 100% เลย เพียงแค่ Speed Test
ไม่แปลกเลยที่จะไม่ได้ความเร็วสูงสุดที่มันควรจะเป็น เพราะ CPU มันไม่ถึง วิธีแก้ปัญหาคือ การเปลี่ยน CPU ใหม่เลย

ความเร็วสูงสุด

ความเร็วที่เราบอกไป มันเป็นเพียง ความเร็วสูงสุดตามทฤษฏี เท่านั้น แน่นอนว่า เวลาเราใช้งานจริงยากมากที่จะได้ความเร็วเท่ากับในทฤษฏีจริง ๆ เพราะโลกแห่งความเป็นจริงมันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ความเร็วเราได้น้อยกว่า

ตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ๆ ก็คือ WiFi ถึงจะบอกว่า WiFi 6 ที่ได้ 1.2 Gbps เอาจริง ๆ เวลาใช้งาานจริงมันไม่ถึงแน่นอน อาจจะได้แค่ 800 Mbps เวลาใช้งานจริงก็ได้

การเชื่อมต่อผ่านสายเองที่ถึงจะบอกว่าดีที่สุดก็เถอะ บางทีสายก็อาจจะทำมาไม่ดี คุณภาพวัสดุไม่ดี หรือหัวเองที่อาจจะเข้าไม่เรียบร้อย ทำให้ Pin มันหลวม ๆ หลุด ๆ ติด ๆ ก็เป็นไปได้เหมือนกัน ความเร็วมันก็ลดไปได้เช่นกัน

แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าสายเราจะดีแค่ไหน ไม่ว่า WiFi เราจะเทพแค่ไหนเราก็ไม่มีทางได้ 1 Gbps พอดีเป๊ะ ๆ แน่นอน เพราะการเชื่อมต่อ มันก็จะมี Overhead อยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมดา อาจะเกิดจาก Protocol ต่าง ๆ ทำให้พวกที่ความเร็วอย่าง 500 ก็ทดสอบได้เกิน เพราะส่วนที่มันเป็น Overhead มันยังวิ่งได้อยู่เพราะมันยังไม่ถึงความเร็วสูงสุดของสายนั่นเอง

ตัวอย่างเช่น เราใช้การเชื่อมต่อแบบสายที่ 1 Gbps แต่เวลาเราใช้งานจริง ๆ มันจะไป Peak อยู่ที่ราว ๆ 980 Mbps เท่านั้นไม่ถึง 1 Gbps หรือ ราว ๆ 122.5 MB/s จาก 125 MB/s เท่านั้นเอง เพราะมันมี Overhead ต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลัง

ถ้าเราอยากใช้ 1 Gbps จริง ๆ เราต้องใช้อุปกรณ์ที่ให้ความเร็วสูงสุดเกินความเร็ว 1 Gbps ทั้งระบบ เช่น อาจจะไปใช้เป็น 2.5 GbE ขึ้นไปหรือ WiFi ที่รองรับเกิน 1 Gigabit เช่น 4x4 MIMO บน WiFi 6 หรือ 2x2 MIMO บน WiFi 6

Gigabit Internet ไม่ได้เหมาะกับทุกคน

จากที่เราเล่ามา เราจะเห็นได้ว่า การที่เราจะใช้ Gigabit Internet ได้เต็มจริง ๆ แล้วมันอาจจะยังไม่ได้เหมาะกับทุกคนในตอนนี้เท่าไหร่ เพราะอุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่เราใช้กันก็จะอยู่ในระดับไม่เกิน 1 Gbps กัน ส่วนใหญ่พวก 10 Gbps ยังอยู่ในพวกอุปกรณ์แพง จนการใช้งานในบ้านยังเอื้อมไม่ถึง หรือบางคนก็ยังใช้อุปกรณ์ที่ยังไม่ได้รองรับ 1 Gigabit เลยก็มีเหมือนกัน

ถึงแม้ว่าอุปกรณ์เราจะรองรับแล้ว แต่ Content หลาย ๆ อย่างที่เราเสพกัน ก็ไม่ได้ต้องการความเร็วระดับ 1 Gbps อยู่ดี เช่น Netflix 4K ก็ใช้อยู่แค่ 25 Mbps ด้วยซำ้

แต่ Internet ความเร็วสูง ๆ มันจะเหมาะกับบ้านที่อยู่กันหลาย ๆ คน แล้วทุกคนใช้กันหนักมาก ทุกคนดู Netflix 4K พร้อม ๆ กัน แล้วโหลดไฟล์หนัก ๆ ไปด้วยจนความเร็วมันเกินที่เคยสมัครไว้อยู่ การอัพเป็นความเร็วที่สูงขึ้นอย่าง 1 Gbps ก็ช่วยได้ แต่บ้านหรือคอนโดไหนที่ใช้งานไม่ถึงอัพไปมันก็ไม่ได้ช่วยอะไร

นอกจากเราจะบ้าตัวเลขอะ อันนั้นก็เอาเลย มันสนองได้จริง ๆ นะ ฮ่า ๆ

สรุป

การที่เราสมัคร Internet แล้วทดสอบออกมาแล้วมันได้ไม่เท่ากับ Package มันขึ้นกับหลายปัจจัยมาก ๆ ตั้งแต่ ความหนาแน่นของเครือข่ายแถวนั้น อุปกรณ์ทั้งฝั่งเรา และ ISP เอง แต่ถึงแม้ว่าทั้งหมดจะถึงจริง แต่อย่าลืมว่านั่นเป็นความเร็วสูงสุดทางทฤษฏี โลกแห่งความเป็นจริงมันได้ไม่ถึงหรอก เพราะปัจจัยที่มารบกวนมันเยอะ เช่นสัญญาณรบกวน และความเสื่อมของทั้งตัวรับและตัวส่ง ถ้าทดสอบออกมาแล้วห่างกันกับ Package ไม่เยอะ ก็ใจเย็นอย่าพึ่งไปด่าช่างเขาเนอะ แต่ถ้ามันห่างเยอะมาก อันนี้ก็ต้องมาเช็คละว่า อุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบเป็น จุดอ่อน ต้องมาเล่นเกมกำจัดจุดอ่อน เพื่อจะได้หาต้นตอว่ามันเกิดจากอะไร แล้วก็เปลี่ยนมันซะ

Read Next...

ยืดเวลาการใช้งานแบต Macbook ด้วย 3 ทริกง่าย ๆ

ยืดเวลาการใช้งานแบต Macbook ด้วย 3 ทริกง่าย ๆ

เวลาเราเอา Macbook ออกไปใช้งานนอกบ้าน บางครั้ง เราสามารถเสียบปลั๊กไฟได้ แต่งานก็ต้องทำ ก็คือทำงานแข่งกับเวลาเลยทีเดียว วันนี้เราจะมาบอกทริกการยืดเวลาการใช้งานบน Battery กันจาก 3 ทริกง่าย ๆ กัน...

Bittorrent คืออะไร ทำงานอย่างไร?

Bittorrent คืออะไร ทำงานอย่างไร?

การดาวน์โหลดไฟล์ผ่าน Internet เป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปสำหรับการใช้งานในปัจจุบันกันแล้ว ตั้งแต่การโหลดไฟล์เอกสารต่าง ๆ จนไปถึงการ Stream เพลง และหนังต่าง ๆ แต่วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับโลกอีกใบ อีกวิธีการของการแชร์ไฟล์บนโลก Internet กันนั่นคือ Bittorrent...

ปัญหาการโอนเงินไม่ผ่านแต่ผ่านกับ Two Generals' Problem

ปัญหาการโอนเงินไม่ผ่านแต่ผ่านกับ Two Generals' Problem

หลายวันก่อนไปซื้อชานมมา จ่ายเงินด้วย QR Code ปรากฏว่า จ่ายไม่ได้ แต่เครื่อง EDC บอกว่า จ่ายผ่านเฉยทำให้คิดถึงปัญหานึงที่น่าสนใจคือ Two Generals' Problem วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันคืออะไร และเกี่ยวอะไรกับการโอนเงิน...

Stream Apple Music อย่างไรให้ได้คุณภาพสูงสุด

Stream Apple Music อย่างไรให้ได้คุณภาพสูงสุด

เรื่องของเรื่องคือ เราทดลองเล่นเพลงผ่าน AirPlay 2 เข้ากับลำโพงแล้วเสียงมันแปลก ๆเลยไปหาข้อมูลมา เลยทำให้โป๊ะว่า อ้าว.... ชิบหาย Hi-Res ทิพย์นี่หว่า ทำไม เราไปดูเหตุผลในบทความนี้กัน...