By Arnon Puitrakul - 15 พฤษภาคม 2020
เมื่อหลายวันก่อน มีช่างจาก ISP ที่เราใช้บริการอยู่มาทำการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่บ้าน ทำให้เราได้คุยกันหลายเรื่องมาก ๆ แต่เรื่องนึงที่เราฟังแล้วก็แอบสงสารเขามาก แล้วมันไม่ได้เกิดจากเขาเลยนะ แต่มันทำให้เขาโดน Complain อยู่หลายรอบแล้วคือ คนที่ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็ว 1 Gbps พอติดแล้ว ทำการทดสอบ ไม่ได้ 1 Gbps จริง ๆ วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันว่า ช่างไม่ดีเอง หรือ เป็นที่อะไรกันแน่ สปอยเลยว่า ไม่ถึงแน่นอน และเราจะมาบอกว่าทำยังไงถึงจะได้เต็ม 1 Gbps
1 Bit ไม่เท่ากับ 1 Byte
ต้องเริ่มจากทำความเข้าใจก่อนว่า 1 Mbps (1 Mb/s) ไม่เท่ากับ 1 MBps (1 MB/s) สังเกตุอะไรมั้ยฮ่ะ มันคือ b (B ตัวพิมพ์เล็ก) และ B (B ตัวพิมพ์ใหญ่)
เพราะ b ตัวพิมพ์เล็กย่อมาจาก Bit แต่ B ตัวพิมพ์ใหญ่ย่อมาจากคำว่า Byte
1 Byte = 8 Bits
จะเห็นได้ว่า Byte กับ Bit ขนาดต่างกันนะ ดังนั้น การที่เราบอกว่า 8 B กับ 8 b นี่ต่างกันเยอะมาก คนที่กำลังอ่านบางคนน่าจะบอกว่า 8 b เขาไม่เขียนกันหรอก (น่าจะเขียนเป็น 8 Bits มากกว่า) ใจเย็น ๆๆ เราเปรียบเทียบให้เห็นภาพเฉย ๆ
ดังนั้นเรื่องแรกที่เราอยากจะบอกคือ เริ่มจาก เขียน Bit และ Byte ให้ถูกกันก่อนนะ เพื่อการสื่อสารที่ถูกต้อง และ เข้าใจตรงกันมากขึ้น เราเคยเจอคนเขียนมา 8 mb ห่ะ ?? งงไปเลย ต้องมานั่งตีความ โอเค m เนี่ยน่าจะเป็น M ตัวพิมพ์ใหญ่ที่มาจากคำว่า Mega- แล้ว b มันจะ Bit หรือ Byte ฟร๊ะ บางทีมันกำกวม
เวลาเราใช้งาน ทำไมเราต้องมีทั้ง Mbps และ MBps ละ นั่นเป็นเพราะมาตรฐานที่กำหนดออกมาของแต่ละส่วน ตอนออกนางไม่ได้คุยอะไรกันเล้ยว่าจะใช้หน่วยไหนกันแน่ เช่น ในแง่ของการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ถ้าเราไปดูตาม ISP ต่าง ๆ ไม่มีใครพูดนะว่า Package Internet 20 MBps ไม่มีนะ ไม่เคยเจอจริง ๆ มีแต่ 20 Mbps อย่างเดียว
หรือเวลาเรา Copy File ไปมา ก็ไม่มีการเขียนนะว่า นี่ ๆ ชั้น Copy File ด้วยความเร็ว 100 Mbps เขาใช้เป็น 100 MBps
เราว่า คนส่วนใหญ่อาจจะนึกภาพไม่ค่อยออกว่าจริง ๆ แล้ว 1 Gbps เร็วแค่ไหน เหมือนกับหน่วยวัดระยะทางในระบบ Metric และ US Standard ที่ใช้คำว่า กิโลเมตร กับ ไมล์นั่นแหละ
เราว่าคนน่าจะจำภาพที่ความเร็วที่อยู่บน Megabyte มากกว่า Megabit ดังนั้นเรามาแปลง 1 Gbps ให้เป็น GB/s กัน ง่าย ๆ ก็คือ หารด้วย 8 ก็จะได้ 0.125 GB/s หรือ 125 MB/s นั่นเอง
มาถึงคำถามที่ทุกคนน่าจะอยากรู้กันแล้ว ว่าทำไมเราสมัครอินเตอร์เน็ต 1 Gbps แต่เราได้ไม่ถึงละ ทำยังไงก็ไม่ถึงสักที
ภาพที่เราเคยเห็นกันปกติคือ ถ้าเราสมัครความเร็วที่ต่ำกว่านี้หน่อย เวลาเรา Speed Test จากหลาย ๆ เว็บเราก็มักจะได้เกิน เช่นสมัคร 500 Mbps ไป เทสออกมาก็ได้ 550-650 Mbps เลย ก็คือเกินไปด้วยซ้ำ
แต่กลับกัน พอเราสมัคร 1 Gbps ไป ทำไมเราได้อยู่ 800-900 Mbps ไม่เกินเหมือนคนอื่นเลย ขนาดตามสเปกยังไม่ได้เลย ทำไมฝันลำเอียงกันขนาดนี้ละ
ก่อนอื่นต้องวางถุงกาว และหายใจลึก ๆ มองเชิงเทียนก่อน ฮ่า ๆ ล้อเล่น เราค่อย ๆ มาวิเคราะห์ปัญหากันดีกว่า
ต้องบอกก่อนว่า ปัญหานี้ มันมีความซับซ้อนไปสักหน่อย เริ่มจาก เมื่อเราเชื่อมต่อ Internet ISP จะลากสายเส้นนึงเข้ามาเสียบกับอุปกรณ์ของ ISP เอง ก็ขึ้นกับบ้านเราแล้วว่า เราเดินแบบไหน ซึ่งในปัจจุบันปี 2020 นี้ เกือบทั้งหมดก็จะเป็น FTTx หรือ Fibre to the x หรือ FTTH ก็คือ Fibre to the home หมดละ
ตามชื่อมันเลย มันคือ Fibre Optics หรือภาษาไทย เราใช้คำว่า แก้วใยนำแสง ที่ให้ความเร็วสูงมาก ๆ เกิน 1 Gbps ไปอีก ดังนั้น ปัญหาน่าจะอยู่ที่ จุดต่อไปคือ จากกล่องของ ISP เข้าที่อุปกรณ์ของเรา ซึ่งมีทั้งแบบ ไร้สาย และ ใช้สาย
เคสแรก เราจะพูดถึงการเชื่อมต่อผ่านสายกันก่อน วิธีนี้หลาย ๆ คนก็น่าเข้าใจว่า เป็นการเชื่อมต่อแบบที่น่าจะเรียกได้ว่า เสถียร และ ดีที่สุดในการเชื่อมต่อ เอ่อ มันก็ถูกแหละ
สายที่เราใช้เชื่อมต่อ ก็น่าจะเป็นสายทองแดง หรือที่เราชอบเรียกกันว่าสายแลนนั่นเอง หัวก็จะเป็นแบบ Ethernet ง่าย ๆ คือ สายแลนที่เราเรียกกันบ้าน ๆ ปกติ
โดยปกติแล้ว ถ้าเราเชื่อมต่อผ่าน Ethernet พวกนี้ที่มันดี เพราะปัจจัยต่าง ๆ มันสามารถถูกควบคุมได้อย่างง่ายดาย เช่น ที่ตัวสายมันก็มีฉนวนหุ้มอยู่แล้ว ทำให้สัญญาณรบกวนก็มีไม่เยอะเท่ากับผ่านระบบไร้สายเป็นต้น ทำให้การเชื่อมต่อผ่านสายเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนที่ต้องการความเสถียร และความเร็วสูงสุดในการเชื่อมต่อ
สายนั้นเป็นเพียงแค่ตัวกลางในการเชื่อมต่อเท่านั้น เวลาเราเชื่อมต่อจริง ๆ มันก็ต้องมีทั้งคนรับ และ คนส่ง ซึ่งทั้ง 2 คนจะต้องคุยกันด้วยภาษาเดียวกัน และพูดเร็วเท่า ๆ กันไม่งั้น คนพูดก็พูดไปเดะ คนฟังก็ห่ะ พูดอะไรเร็วจังสุดท้ายก็จะ Out-of-sync ไป งง ไปหมด แต่สุดท้ายถ้าคนพูดกับคนฟังรับได้หมด แต่ตัวกลางรับไม่ได้ก็จบเหมือนกัน
ในมาตรฐานการเชื่อมต่อผ่านสายก็จะมีอยู่หลายมาตรฐานด้วยกัน เช่น 1000Base-T, 2.5Base-T เป็นต้น ความดีงามของมาตรฐานพวกนี้ส่วนใหญ่มันจะ Backward Compatible ถ้าสมมุติว่า ด้านนึงเป็น 2.5Base-T อีกด้านเป็น 1000Base-T มันก็จะปรับเป็น 1000Base-T ทั้งคู่เหมือนกัน เพื่อให้ทั้งคู่คุยกันรู้เรื่อง
ง่าย ๆ ก็คือ แต่ละมาตรฐานก็จะมีวิธีการคุยไม่เหมือนกัน ความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลก็ไม่เท่ากันด้วยเช่น 1000Base-T จะให้ความเร็วสูงสุดตามทฤษฏีที่ 1 Gbps ในขณะที่ 2.5Base-T ให้ได้ที่ 2.5 Gbps และตัวที่เร็วสุดที่เราน่าจะเห็นได้ง่ายคือ 10GBase-T ให้ได้ที่ 10 Gbps (แต่ราคายังแพงชิบหายอยู่เลย)
ส่วนใหญ่ตอนนี้เราก็ยังอยู่ที่ 1000Base-T ตามบ้านอยู่ นั่นแปลว่า ความเร็วสูงสุดที่เป็นไปได้ ที่เราจะได้จากการเชื่อมต่อคือ 1 Gbps นั่นเอง เอ๊ะมันก็ได้เท่ากับที่เราสมัครนิ
แต่อย่างที่บอกว่า การที่เครื่องมันจะเลือกใช้ 1000Base-T หรือได้ความเร็วที่ 1 Gbps จริง ๆ ทั้ง ทุกอุปกรณ์ที่เป็นทางผ่านทั้งหมดต้องรองรับด้วย ส่วนใหญ่แล้วกล่องของ ISP ถ้าเราสมัคร Package ขนาดนี้ ก็จะเป็น Gigabit Port คือรับได้
ส่วนสาย ถ้าเราซื้อดี ๆ มีราคาหน่อยก็อาจจะได้มาเป็นสายมาตรฐาน CAT5e หรือไม่ก็ CAT6 ซึ่งรองรับความเร็วที่ 1 Gbps อยู่ละ
และสุดท้ายคือ ตัวรับ อันนี้แหละ ปัญหาเยอะสุด เพราะบางที ไปเจอเครื่องรุ่นเก่า ๆ ที่รองรับแค่ FE (Fast Ethernet) หรือ 100 Mbps Ethernet ก็คือ รับได้แค่ 100 Mbps ซึ่งแน่แหละ ห่างไกลจาก 1 Gbps ถึง 10 เท่าไปเลย ถ้าตัวรับเป็น FE และที่เหลือจะรองรับ 1 Gbps หมด ทดสอบยังไงก็ได้ไม่เกิน 100 Mbps แน่นอน
ถ้าอยากจะทำให้รองรับ ใช่ฮ่ะ ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ ถ้าเป็น PC ตั้งโต๊ะ อาจจะใช้การไปซื้อ NIC (Network Interface Card) หรือที่บ้าน ๆ เราเรียกว่าการ์ดแลน ที่รองรับ GbE มาใส่ก็เรียบร้อย ส่วน Laptop ก็.... ซื้อเครื่องใหม่เถอะนะ
แต่ฝั่งของกล่องของ ISP เองก็อาจจะเป็นประเด็นได้เหมือนกัน เพราะบางทีเรายกตัวอย่างง่าย ๆ เลย กล่องรุ่นเก่าของ ISP เจ้านึงเวลาเราใช้งานมันจะมี 2 กล่อง ๆ แรกรับ Fibre Optics เข้ามา ไม่น่ามีปัญหา แต่พอขาออก มันแปลงไปเป็น Gigabit Ethernet ไปที่กล่องที่ 2 แล้วค่อยปล่อยมาให้เรา ดังนั้นถึงกล่องแรกจะรับได้เท่าไหร่ แต่สุดท้ายมันก็ไปตันที่กล่อง 2 ซึ่งเป็น Router อยู่ดี
เคสนี้มีความซับซ้อนมากขึ้นหน่อยคือ การเชื่อมต่อผ่าน WiFi เพราะมันมีปัจจัยเยอะกว่าการเชื่อมต่อผ่านสายมาก แต่มันก็แลกมาด้วยความสะดวกแน่ ๆ ที่ทำให้เราสามารถใช้งานได้จากจุดไหนก็ได้ ? ของบ้านเราโดยที่เราไม่ต้องลากสายให้มันรกบ้าน
ใน WiFi เองก็มีมาตรฐานเหมือนกัน ก็คือ IEEE802.11 ตั้งแต่ IEEE802.11 a,b,g,n,ac,ax ยาว ๆ ไปแต่พึ่งมีการเพิ่มชื่อเรียกมาตรฐานให้มันง่ายขึ้น เป็น WiFi 6,5,4 ไปเรื่อย ๆ มันคือตัวเดียวกัน แค่ทำให้คนทั่ว ๆ ไปคุยกันง่ายขึ้น (นี่คือชินกับการเรียก ac,ax อะไรพวกนี้ไปแล้วถ้าหลุดมาก็ให้เข้าใจว่ามันคือสิ่งเดียวกันนะโอเค๊ !)
มาตรฐานแต่ละตัว ก็มีการใช้ย่านความถี่ที่แตกต่างกัน และ แน่นอนว่า ให้ความเร็วไม่เท่ากันด้วย ตัวอย่างเช่น IEEE802.11g หรือ WiFi 3 ใช้คลื่นความถี่ที่ 2.4 GHz ในการเชื่อมต่อ และให้ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 54 Mbps เท่านั้น หรือ WiFi 6 ที่เรากำลังตื่นเต้นกันใช้ย่านความถี่ 5 GHz และให้ความเร็วจนถึงระดับ 1 Gbps กันเลยทีเดียว
หนึ่งในตัวแปรที่ทำให้ความเร็วมัน Vary มาก ๆ เราว่ามี 2 เรื่องคือ สัญญาณรบกวน และ ระยะห่าง
ต้องเข้าใจก่อนว่ามาตรฐาน WiFi ออกมาแบบนี้แล้วใช้กันทั้งโลก รวมไปถึงคนในระแวกบ้านเรา บ้านข้าง ๆ เราที่อยู่ติดกันและยิ้มให้กันที่หน้าปากซอย (ถ้าเก็ต ก็จงรู้ตัวว่าแก่ได้แล้ว) แต่สัญญาณมันมีอยู่อย่างจำกัด เช่นถ้ามาตรฐานบอกว่าเราใช้งานที่ 2.4 GHz เราก็ใช้ยาวไปถึง 2.5 GHz ไม่ได้มันทำให้เราใช้งานได้แค่ช่วงนึงเท่านั้น วิธีการก็คือ เขาก็จะตั้งออกมาเป็นช่อง (Channel) โดยการซอยความถี่ที่มีอยู่ออกมา เหมือนคลื่นวิทยุ
ดังนั้น ถ้าเรา และ ข้างบ้านเราใช้ช่องสัญญาณเดียวกัน มันก็ทำให้คลื่นของอีกคนมันก็จะกลายเป็นสัญญาณรบกวนของอีกคนนึง ทำให้เราอาจจะเจออาการที่ว่า เวลาเราเล่นเน็ต กดแล้วมันไม่ไป ซึ่งพวกตัวกระจายสัญญาณดี ๆ หน่อย มันก็จะฉลาดในการที่จะหลบหลีกให้เอง
สัญญาณรบกวน ก็ไม่ได้มาจาก WiFi ข้างบ้านเราเท่านั้น แต่มันยังมาจากอย่างอื่นได้อีก เช่นถ้าเราใช้ WiFi ที่ใช้คลื่นที่ย่าน 2.4 GHz เราก็จะมีโอกาสไปตบตีแย่งชิงกับอุปกรณ์ที่ใช้ความถี่เดียวกันอย่าง Bluetooth และ Zigbee ได้อีก (เสริมให้ว่า ย่าน 2.4 GHz และ 5 GHz เป็นย่านความถี่แบบ Unlicensed หรือก็คือเป็นช่วงความถี่ที่เราสามารถใช้งานได้อย่างเสรีโดยที่ไม่ต้องไปขออนุญาติกับ กสทช. เขา เคลม ว่ามันเป็นสมบัติของชาติอะนะ เหมือนที่ Mobile Operator ต้องไปประมูลเอาคลื่นมาทำ 4G,5G ให้เราใช้อะ พวกนั้นเรียก Licensed Band)
อีกปัจจัยคือ ระยะห่าง ถ้าเราบอกว่าคลื่นมันต้องเดินทางไปมาระหว่างเรากับตัวกระจายสัญญาณ เพราะเวลาสัญญาณเดินทางผ่านตัวกลาง กำลังมันก็จะค่อย ๆ อ่อนลงเรื่อย ๆ เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Attenuation พอมันอ่อนถึงจุดนึงจนฝั่งใดฝั่งนึงรับไม่ได้ก็จบ (Sensitivity ของ ตัวรับส่งก็สำคัญ แต่ไว้เล่าในบทความต่อ ๆ ไปละกัน) เช่นเดินทางผ่านอากาศก็อาจจะอ่อนลงน้อยหน่อย แต่ถ้าเดินทางผ่านกำแพงเหล็กก็จะอ่อนลงมาก ๆๆๆ ขึ้นกับตัวกลางด้วยว่าต้องผ่านอะไรบ้าง
ลองง่าย ๆ เอาโทรศัพท์ของเราต่อ WiFi ในบ้านเรา แล้วยืนหน้าตัวกระจายสัญญาณแล้วทดสอบความเร็วเลย แล้วอาจจะเดินไปอีกห้องนึง แล้วทดสอบใหม่ เราจะรู้เลยว่าความเร็วมันไม่เท่ากันจริง ๆ เพราะสัญญาณมันต้องเดินทางข้ามห้องไง
นั่นแปลว่า ถึงตัวรับของเรา และ กล่องของ ISP จะรองรับ WiFi 6 ที่มันให้ความเร็วเกิน 1 Gbps ไปอีก แต่เราไปยืนห่างจากกล่องมาก เราก็จะไม่ได้ 1 Gbps หรือเผลอ ๆ ยืนหน้ากล่องก็อาจจะไม่ได้เลยก็ได้ ตัวแปรมันเยอะมากพูดยากเหมือนกัน
ส่วนถ้าเครื่องคอมพิวเตอร์เราไม่รองรับมาตรฐาน WiFi รุ่นใหม่ ๆ อย่าง WiFi 6 (802.11ax) ก็อาจจะไปหาพวก Wirelress Adapter ต่าง ๆ ที่รองรับการเชื่อมต่อในมาตรฐานที่เราต้องการ หรือถ้าเป็นเครื่องตั้งโต๊ะ อาจจะไปหา NIC ที่เสียบตรงเข้า PCIe เลย ก็จะทำให้การทำงานเสถียรมากขึ้น และสุดท้าย โทรศัพท์ และ อุปกรณ์เคลื่อนที่ หมดสิทธิ์ อัพไม่ได้
ปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
หากเราตรวจสอบอุปกรณ์ของเราแล้ว มันก็รองรับนะ แต่ทำไมเราทดสอบแล้วไม่ได้ หรือความเร็วที่ได้คือ ห่างจากที่ควรจะเป็นเยอะมาก อย่างเช่น 1 Gbps แต่ทดสอบได้ 600 Mbps อันนี้ช่างที่มา เล่าให้ฟังว่าเจอ เลยขอดูเครื่องหน่อย ปรากฏว่า พอ Speed Test ไป CPU Utilisation ดีดขึ้นไป 100% เลย เพียงแค่ Speed Test
ไม่แปลกเลยที่จะไม่ได้ความเร็วสูงสุดที่มันควรจะเป็น เพราะ CPU มันไม่ถึง วิธีแก้ปัญหาคือ การเปลี่ยน CPU ใหม่เลย
ความเร็วที่เราบอกไป มันเป็นเพียง ความเร็วสูงสุดตามทฤษฏี เท่านั้น แน่นอนว่า เวลาเราใช้งานจริงยากมากที่จะได้ความเร็วเท่ากับในทฤษฏีจริง ๆ เพราะโลกแห่งความเป็นจริงมันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ความเร็วเราได้น้อยกว่า
ตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ๆ ก็คือ WiFi ถึงจะบอกว่า WiFi 6 ที่ได้ 1.2 Gbps เอาจริง ๆ เวลาใช้งาานจริงมันไม่ถึงแน่นอน อาจจะได้แค่ 800 Mbps เวลาใช้งานจริงก็ได้
การเชื่อมต่อผ่านสายเองที่ถึงจะบอกว่าดีที่สุดก็เถอะ บางทีสายก็อาจจะทำมาไม่ดี คุณภาพวัสดุไม่ดี หรือหัวเองที่อาจจะเข้าไม่เรียบร้อย ทำให้ Pin มันหลวม ๆ หลุด ๆ ติด ๆ ก็เป็นไปได้เหมือนกัน ความเร็วมันก็ลดไปได้เช่นกัน
แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าสายเราจะดีแค่ไหน ไม่ว่า WiFi เราจะเทพแค่ไหนเราก็ไม่มีทางได้ 1 Gbps พอดีเป๊ะ ๆ แน่นอน เพราะการเชื่อมต่อ มันก็จะมี Overhead อยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมดา อาจะเกิดจาก Protocol ต่าง ๆ ทำให้พวกที่ความเร็วอย่าง 500 ก็ทดสอบได้เกิน เพราะส่วนที่มันเป็น Overhead มันยังวิ่งได้อยู่เพราะมันยังไม่ถึงความเร็วสูงสุดของสายนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น เราใช้การเชื่อมต่อแบบสายที่ 1 Gbps แต่เวลาเราใช้งานจริง ๆ มันจะไป Peak อยู่ที่ราว ๆ 980 Mbps เท่านั้นไม่ถึง 1 Gbps หรือ ราว ๆ 122.5 MB/s จาก 125 MB/s เท่านั้นเอง เพราะมันมี Overhead ต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลัง
ถ้าเราอยากใช้ 1 Gbps จริง ๆ เราต้องใช้อุปกรณ์ที่ให้ความเร็วสูงสุดเกินความเร็ว 1 Gbps ทั้งระบบ เช่น อาจจะไปใช้เป็น 2.5 GbE ขึ้นไปหรือ WiFi ที่รองรับเกิน 1 Gigabit เช่น 4x4 MIMO บน WiFi 6 หรือ 2x2 MIMO บน WiFi 6
จากที่เราเล่ามา เราจะเห็นได้ว่า การที่เราจะใช้ Gigabit Internet ได้เต็มจริง ๆ แล้วมันอาจจะยังไม่ได้เหมาะกับทุกคนในตอนนี้เท่าไหร่ เพราะอุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่เราใช้กันก็จะอยู่ในระดับไม่เกิน 1 Gbps กัน ส่วนใหญ่พวก 10 Gbps ยังอยู่ในพวกอุปกรณ์แพง จนการใช้งานในบ้านยังเอื้อมไม่ถึง หรือบางคนก็ยังใช้อุปกรณ์ที่ยังไม่ได้รองรับ 1 Gigabit เลยก็มีเหมือนกัน
ถึงแม้ว่าอุปกรณ์เราจะรองรับแล้ว แต่ Content หลาย ๆ อย่างที่เราเสพกัน ก็ไม่ได้ต้องการความเร็วระดับ 1 Gbps อยู่ดี เช่น Netflix 4K ก็ใช้อยู่แค่ 25 Mbps ด้วยซำ้
แต่ Internet ความเร็วสูง ๆ มันจะเหมาะกับบ้านที่อยู่กันหลาย ๆ คน แล้วทุกคนใช้กันหนักมาก ทุกคนดู Netflix 4K พร้อม ๆ กัน แล้วโหลดไฟล์หนัก ๆ ไปด้วยจนความเร็วมันเกินที่เคยสมัครไว้อยู่ การอัพเป็นความเร็วที่สูงขึ้นอย่าง 1 Gbps ก็ช่วยได้ แต่บ้านหรือคอนโดไหนที่ใช้งานไม่ถึงอัพไปมันก็ไม่ได้ช่วยอะไร
นอกจากเราจะบ้าตัวเลขอะ อันนั้นก็เอาเลย มันสนองได้จริง ๆ นะ ฮ่า ๆ
การที่เราสมัคร Internet แล้วทดสอบออกมาแล้วมันได้ไม่เท่ากับ Package มันขึ้นกับหลายปัจจัยมาก ๆ ตั้งแต่ ความหนาแน่นของเครือข่ายแถวนั้น อุปกรณ์ทั้งฝั่งเรา และ ISP เอง แต่ถึงแม้ว่าทั้งหมดจะถึงจริง แต่อย่าลืมว่านั่นเป็นความเร็วสูงสุดทางทฤษฏี โลกแห่งความเป็นจริงมันได้ไม่ถึงหรอก เพราะปัจจัยที่มารบกวนมันเยอะ เช่นสัญญาณรบกวน และความเสื่อมของทั้งตัวรับและตัวส่ง ถ้าทดสอบออกมาแล้วห่างกันกับ Package ไม่เยอะ ก็ใจเย็นอย่าพึ่งไปด่าช่างเขาเนอะ แต่ถ้ามันห่างเยอะมาก อันนี้ก็ต้องมาเช็คละว่า อุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบเป็น จุดอ่อน ต้องมาเล่นเกมกำจัดจุดอ่อน เพื่อจะได้หาต้นตอว่ามันเกิดจากอะไร แล้วก็เปลี่ยนมันซะ
Homebrew เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เราชอบมาก ๆ มันทำให้เราสามารถติดตั้งโปรแกรม และเครื่องมือต่าง ๆ ได้เยอะแยะมากมายเต็มไปหมด แต่วันนี้ เราจะมาแนะนำ 5 Homebrew Package ที่เรารักส์และใช้งานบ่อยมาก ๆ กันว่าจะมีตัวไหนกันบ้าง...
การสำรองข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ อารมณ์มันเหมือนกับเราซื้อประกันที่เราก็ไม่คาดหวังว่าเราจะได้ใช้มันหรอก แต่ถ้าวันที่เราจำเป็นจะต้องใช้การมีมันย่อมดีกว่าแน่นอน ปัญหาคือเรามีวิธีไหนกันบ้างละที่สามารถสำรองข้อมูลได้ วันนี้เราหยิบยกวิธีง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้านมานำเสนอกัน...
คำว่า Zero-Trust น่าจะเป็นคำที่น่าจะเคยผ่านหูผ่านตามาไม่มากก็น้อย หลายคนบอกว่า มันเป็นทางออกสำหรับการบริหาร และจัดการ IT Resource สำหรับการทำงานในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันคืออะไร และ ทำไมหลาย ๆ คนคิดว่า มันเป็นเส้นทางที่ดีที่เราจะมูฟออนกันไปทางนั้น...
หลังจากเราลงรีวิว NAS ไป มีคนถามเข้ามาเยอะมากว่า ถ้าเราไม่อยากซื้อเครื่อง NAS สำเร็จรูป เราจะสามารถใช้เครื่องคอมเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาเป็นเครื่อง NAS ได้อย่างไรบ้าง มีอุปกรณ์ หรืออะไรที่เราจะต้องติดตั้งเพิ่มเติม วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกัน...