Technology

WiFi 6E คืออะไร ? ทำไมถึงน่าสนใจ ?

By Arnon Puitrakul - 27 เมษายน 2022

WiFi 6E คืออะไร ? ทำไมถึงน่าสนใจ ?

มาตรฐาน WiFi สำหรับท่านที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยเท่าไหร่ เป็นมาตรฐานสำหรับการเชื่อมต่อ WiFi ที่ทุกคนใช้กันตอนนี้เลย ซึ่งเมื่อก่อนเราอาจจะเคยได้ยินว่ามันจะเป็นมาตรฐาน IEEE802.11 แล้วลงท้ายด้วย a,b,g,n,ac และ ax แต่เพื่อความง่ายต่อการเรียกมากขึ้น IEEE ได้ทำการเปลี่ยนเป็นตัวเลขแทน ซึ่งใน Version ล่าสุดที่เราใช้งานกันอยู่ก็น่าจะเป็น WiFi 5 กับ WiFi 6 สำหรับอุปกรณ์ใหม่ ๆ กันแล้ว อาจจะมี WiFi 4 สำหรับพวก IoT อยู่บ้างก็มีเหมือนกัน แต่มาตรฐานที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้เป็น WiFi 6E ที่เป็นมาตรฐานที่เหนือกว่า WiFi 6 ที่แรงอยู่แล้วให้แหล่มแมวเข้าไปอีก มันจะเจ๋งยังไง วันนี้เราจะมาอธิบายให้อ่านกันแบบง่าย ๆ

ปล. WiFi 6E ไม่ใช่มาตรฐานใหม่อะไรเลยนะ มันออกมานานมากแล้วตั้งแต่แถว ๆ ปี 2020 แล้วแต่ตอนนั้นยังไม่ได้ใช้ เพราะการจัดสรรย่านความถี่ในแต่ละประเทศยังไม่อนุญาติให้ใช้ ย่านความถี่ 6 GHz ส่วนวันนี้บางประเทศใช้งานได้แล้ว ไทยก็รอกสทชหน่อยละกัน

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ WiFi

ก่อนที่เราจะไปลงเรื่องของ WiFi 6E กัน เรามาทำความรู้จักกับ WiFi กันก่อน เพราะจริง ๆ แล้วหลาย ๆ คนอาจจะเข้าใจว่า มันเป็นอะไรที่วิเศษมาก ๆ ทำให้เราสามารถต่อ Internet แบบไร้สายได้ แต่จริง ๆ แล้ว มันไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า การคุยกันด้วยสัญญาณวิทยุเลย (Radio Frequency)

ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว WiFi ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ ทำงานอยู่บนย่านความถี่ที่ 2.4 GHz และ 5 GHz อยู่แล้ว เราอาจจะคุ้นเคยกับ WiFi บ้านเราเองนี่แหละ ที่เราอาจจะเจอชื่อ WiFi (SSID) บ้านเราต้องแยกเป็น ชื่อแล้วตามด้วย 2.4 และ 5G นี่แหละมันคือการแยกชื่อ WiFi ตามย่านความถี่ แต่สำหรับบน Access Point ที่ดี ๆ หน่อย เขาก็จะมีพวก Band Steering ที่จะเลือกย่านความถี่ที่เหมาะสมกับอุปกรณ์ต่าง ๆ เอง ผู้ใช้ก็จะเห็นแค่ชื่อ WiFi ของเราอันเดียวเท่านั้นก็มี

ความรู้ฟิสิกส์พื้นฐานเลย ถ้าเราใช้ย่านความถี่ที่สูงกว่าในการส่ง จะทำให้ระยะทางมันไปได้สั้นกว่าแน่นอน เมื่อเทียบกับเราส่งด้วยย่านความถี่ที่ต่ำกว่า มันก็มี Data Rate หรืออัตราในการส่งข้อมูลต่อหน่วยเวลาที่น้อยกว่าด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นการ Trade-off กันละกันนะ ทำให้ในย่าน 2.4 GHz ข้อดีของมันคือระยะที่ไกลกว่ามาก เราตั้ง Access Point จุดนึง กระจายสัญญาณได้ไกลมาก ๆ แต่ความเร็วในการเชื่อมต่อก็คือช้ากว่า 5 GHz แน่นอน ส่วน 5 GHz เองก็มีข้อดีในการรับและส่งข้อมูลได้เร็วกว่า 2.4 GHz มาก ๆ แต่ระยะก็น้อยลงไปอีก

แต่ ๆ ปัญหาของมันอยู่ที่ว่า เมื่อ WiFi มันราคาถูกลง คนก็เข้าถึงได้มากขึ้น เราคงปฏิเสธไม่ได้เลยนะว่า แทบจะทุกที่ก็มี WiFi เป็นของตัวเองหมดเลย ตั้งแต่ธุรกิจห้างร้าน จนไปถึงห้องใน Condo สูง ๆ ก็มีเหมือนกัน ทำให้มันเกิดเรื่องนึงที่ขึ้นมาที่เราเรียกว่า Congestion

เข้าไปอ่านเต็ม ๆ ได้ในเว็บของ กสทช. (คือพี่... ทำไมทำ URL ภาษาไทยฟร๊ะ !!!) https://www.nbtc.go.th/spectrum_management/%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%9A%E0%B8%97/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%96%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%96%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4-%E0%B8%9E-%E0%B8%A8-2558-National-T.aspx?lang=en-us

เพราะการติดต่อผ่านสัญญาณวิทยุ มันมีการกำหนด ช่วง ของคลื่นความถี่ที่สามารถรับและส่งได้ ต้องเข้าใจว่า ในคลื่นสัญญาณ มันมีช่วงที่เราใช้ได้จำกัด บางย่านความถี่อาจจะเอาไปใช้กับพวก Cellular Network ต่าง ๆ เช่น 2100 MHz ที่เราใช้กับ 5G และ LTE เป็นต้น ดังนั้น ใน WiFi เอง มันก็จะมีการกำหนดไว้ชัดเจนเลยว่าบนย่าน 2.4 GHz เราจะมีพื้นที่อยู่ประมาณ 80 MHz ในการขนส่งข้อมูล และสำหรับ 5 GHz ก็จะเยอะหน่อยคือ 500 MHz ไปเลย ถือว่าเยอะมาก ๆ

ถ้าเปรียบเลขความกว้างพวกนี้มันก็เหมือนกับถนนนั่นเองที่เลขยิ่งเยอะ ก็เหมือนกับถนนที่กว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าเราคิด ๆ ดูมันก็น่าจะน่าเสียดายมากเลยนะ ถ้าเราบอกว่า เรามีถนนกว้างขนาดนั้น แต่เราก็ใช้งานมันคนเดียว

ดังนั้น มันเลยมีการซอยย่านความถี่ภายใน 2.4 และ 5 GHz ออกมาเป็นช่อง ๆ เสมือนกับเราแบ่งเลนให้รถวิ่งไปมานั่นเอง ความเจ๋งอีกอย่างคือ เราสามารถเลือกได้ด้วยว่า เราจะจองเพื่อใช้กี่เลนในการขนส่งข้อมูลเช่น เราอาจจะบอกว่าบนย่าน 5 GHz เราต้องการใช้ 80 MHz การส่งข้อมูล ก็ทำได้ แต่ ๆ ปัญหามันก็จะไปอยู่ที่ว่า เราจองเลนทับกับเพื่อนบ้าน หรือคนที่อยู่ใกล้ ๆ เรามั้ย

เช่น บ้านข้าง ๆ ใช้ Channel ที่ 1-4 อยู่แล้วเราก็เรียกใช้ Channel เดียวกันพอดี หรือกระทั่งจองความถี่เยอะจนทำให้ Channel. ทับกัน มันก็เปรียบได้กับ ถนนเส้นนั้น มันมีรถของทั้งเรา และ ข้างบ้านวิ่งด้วยกันอยู่ แน่นอนว่า มันอาจจะมีการชนกันได้ ทำให้การเชื่อมต่ออาจจะมีสะดุด หรือช้ากว่าที่ควรจะเป็นได้ นี่แหละคือปัญหาของ WiFi ณ วันนี้ เพราะจำนวนคนใช้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ แต่จำนวน Channel มันมีจำกัด เลยทำให้ WiFi 6E ต้องแก้ไขปัญหานี้

การมาถึงของย่าน 6GHz

การแก้ปัญหาของ WiFi 6E คือในเมื่อช่องความถี่ 2.4 และ 5 GHz มันแน่นแล้วเนี่ย เราก็หาย่านความถี่อื่นมาเสริมสิ เออ เอาแบบนี้เลย โดยที่เขาเห็นว่าย่าน 6 GHz มันเป็น Unlicensed อยู่แล้ว เลยกำหนดมาเป็นมาตรฐานซะเลย ทำให้ใน WiFi 6E เราก็จะมีอีกย่านขึ้นมาคือ 6 GHz ไปเลย แน่นอนว่า ระยะการส่งสั้นกว่า 5 GHz แน่นอน เอาจริง ๆ นะ ของเดิมก็สั้นอยู่แล้ว อันนี้สั้นหนักเลย

แต่เรื่องที่ต้องยอมมันเลยคือ ความถี่ที่สูงขึ้นนั่นหมายความว่า มันสามารถส่งข้อมูลได้เร็วมาก ๆ กว่าย่าน 2.4 และ 5 GHz แน่นอน พร้อมกับความกว้างของสัญญาณถึง 1200 MHz เลย คือแบบว่า กว้างมาก ๆ เพราะเราสามารถใช้ถนนโดยที่เราไม่ทับไลน์กันเลย ได้ถึง 59 ช่องสัญญาณ หรือถ้าเราซอยแบบเอาช่องใหญ่ ๆ เลย 160 MHz ไปเลย มันจะมีถึง 7 ช่องให้เราเลือกใช้เลย คือ โหดมาก !!! ประกอบกับย่าน 6 GHz มันถี่มากไปได้สั้น ดังนั้น โอกาสที่เราจะตบกับข้างบ้าน หรือข้างห้องเพื่อแย่งช่องสัญญาณก็น้อยลงไปด้วยอีก ช่องเยอะแล้วใช้กันระยะสั้น ๆ ยิ่งสบายเลย

แต่ ๆ ณ วันที่เราเขียน เรายังไม่เห็นพวกอุปกรณ์ที่เป็น WiFi 6E และรองรับ 6 GHz มาเลยนะ คิดว่า กสทช น่าจะยังไม่อนุมัติให้ใช้งานเป็น Unlisensed ในไทยละมั้งนะ แต่ถ้าเข้ามา มันจะทำให้อลังการงานสร้างสนุกเข้าไปอีกเยอะ

Mesh WiFi ที่โหดขึ้นอีกขั้น

ต้องยอมรับเลยว่า ณ วันนี้เองที่เราใช้ย่านความถี่ 5 GHz บน Access Point ปกติ (ไม่นับพวก Long Range ของระดับ Business/Enterprise) มันจะสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้เพียง 1 ชั้น หรือไม่กี่ห้องเท่านั้น ทำให้เราจะต้องมี Solution เข้ามาช่วย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการใช้ Mesh WiFi

บางตัวดีหน่อยที่เราสามารถเสียบสายเพื่อเป็น Uplink ต่อไปที่ตัวหลักได้เลย แต่บางตัว หรือ บางบ้าน ก็ไม่สามารถที่จะเดินสายใหม่ได้ อาจจะเพราะยุ่งยาก หรืออะไรก็ตามทำให้เราจะต้องใช้วิธีการคุยกับ Access Point หลักด้วย WiFi กันเองนี่แหละ ถ้าเราบอกว่าเราใช้ย่าน 5 GHz เราก็จะต้องเสียเวลาในการสลับไปมาระหว่าง เรากับ Access Point นั่นเอง ทำให้บาง Mesh System เขาจะทำเสาสำหรับ 5 GHz แบ่งเป็น 2 เสาเลย โดยเสานึงไว้คุยกับอุปกรณ์โดยตรง กับอีกเสาไวคุยกับ Access Point ตัวก่อนหน้าได้เลย ทำให้มันทำงานทั้งคู่ได้พร้อม ๆ กันเลย

แต่เมื่อเรามี WiFi 6E บนย่านความถี่ 6 GHz ช่วงแรก ๆ ที่อุปกรณ์ยังรองรับไม่เยอะ เราสามารถปรับให้ย่านความถี่ 6 GHz ใช้เพื่อคุยกับ Access Point ใกล้เคียงได้ ทำให้เราที่เชื่อมต่อ 5 GHz อยู่สามารถทำงานได้ความเร็วสูงสุดเท่าที่มันจะทำได้เลย เป็นการลดปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเราใช้งาน Mesh WiFi ได้เป็นอย่างดี

เราจำเป็นต้อง Upgrade จริง ๆ เหรอ

การที่เราจะใช้งาน WiFi มาตรฐานอะไรได้ เราจะต้องแยกออกเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ และ อุปกรณ์สำหรับปล่อยสัญญาณ (Access Point) ทั้งคู่จะต้องรองรับกันนะ ถึงจะใช้งานได้ ดังนั้น ถ้าเรารู้ตัวว่า อุปกรณ์ที่เราใช้ ไม่ได้รองรับการทำงานของ WiFi 6E การ Upgrade Access Point ก็ไม่ได้ช่วยอะไรอยู่ดีนะ เพราะเราก็จะรับเท่าที่โทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ของเรารองรับได้นั่นเอง

แต่ถ้าเราบอกว่า ไม่เป็นไร อิชั้น สายเปย์จ๊ะแม่ เราได้หมดเลย จะเปลี่ยนอะไรก็ได้ เราอยากให้มองเรื่องของความจำเป็นกันก่อน ไม่ต้องไปถึง WiFi 5 เอง ณ วันนี้พวกอุปกรณ์ราคาถูกมาก ๆ และ ส่วนตัวเรามองว่า บ้านไหนที่ไม่ได้ใช้ WiFi เยอะ เน้นเสียบสายซะเยอะ ใช้ WiFi ไม่กี่เครื่อง แล้วก็แค่ดู Netflix ไม่ได้โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ ๆ ตลอดเวลา เรามองว่า เรายังไม่จำเป็นต้องไปหาทำ เอาเงินไปฟาดกับ WiFi ใหม่ ๆ เลย เราประหยัดเงินเอาไปลงอย่างอื่นดีกว่าเยอะมาก

แต่ถ้าใครบอกว่า ที่บ้านเราใช้ WiFi เยอะมาก ๆ ต้อง Transfer ไฟล์ขนาดใหญ่มาก ๆ บ่อย เชื่อมต่ออุปกรณ์เยอะ ๆ เรามองว่า พวกนี้แหละมองหาอุปกรณ์ที่รองรับมาตรฐานใหม่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราจะได้เชื่อมต่อด้วยความเร็วสูงสุดเท่าที่ Access Point และ อุปกรณ์ของเราจะรองรับได้ จะได้ล่นเวลาในการทำงานไปได้เยอะเลย

สรุป

WiFi 6E เป็นส่วนต่อขยายของ WiFi 6 ที่นำย่านความถี่ใหม่อย่าง 6 GHz เข้ามาใช้งานเพื่อลดการติดขัด และ ล้นของช่องสัญญาณที่เราใช้งานกันบนย่านความถี่ 2.4 และ 5 GHz ด้วยช่องจำนวนมากถึง 59 ช่องไปเลยบนย่านความถี่ 6 GHz แถมยังความถี่สูงขนาดนี้ เรื่องความหน่วง ความช้าคือน้อยลงแน่นอน ดีมาก ๆ เลยละ แต่ ๆ ณ วันที่เขียนในไทยเราก็ยังไม่สามารถใช้งาน WiFi 6E ได้เด้อ อาจจะต้องรอ กสทช จัดสรรย่านความถี่ให้เสร็จก่อน อุปกรณ์ทั้งหลายจะได้เข้ามา Register ใช้งานได้

Read Next...

Apple M4 รุ่นไหนเหมาะกับใคร

Apple M4 รุ่นไหนเหมาะกับใคร

หลังจากเมื่อหลายอาทิตย์ก่อน Apple ออก Mac รัว ๆ ตั้งแต่ Mac Mini, iMac และ Macbook Pro ที่ใช้ M4 กันไปแล้ว มีหลายคนถามเราเข้ามาว่า เราควรจะเลือก M4 ตัวไหนดีถึงจะเหมาะกับเรา...

Cloudflare Access ของดีขนาดนี้ ฟรีได้ไงวะ

Cloudflare Access ของดีขนาดนี้ ฟรีได้ไงวะ

จากตอนก่อน เราเล่าเรื่องการ Host Website จากบ้านของเราอย่างปลอดภัยด้วย Cloudflare Tunnel ไปแล้ว แต่ Product ด้าน Zero-Trust ของนางยังไม่หมด วันนี้เราจะมาเล่าอีกหนึ่งขาที่จะช่วยปกป้อง Infrastructure และ Application ต่าง ๆ ของเราด้วย Cloudflare Access กัน...

Mainframe Computer คืออะไร ? มันยังมีชีวิตอยู่ใช่มั้ย ?

Mainframe Computer คืออะไร ? มันยังมีชีวิตอยู่ใช่มั้ย ?

ทุกคนเคยได้ยินคำว่า Mainframe Computer กันมั้ย เคยสงสัยกันมั้ยว่า มันต่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันทั่ว ๆ ไปอย่างไรละ และ Mainframe ยังจำเป็นอยู่มั้ย มันได้ตายจากโลกนี้ไปหรือยัง วันนี้เรามาหาคำตอบไปด้วยกันเลย...

Infrastructure as Code คืออะไร ทำไมถึงสำคัญมากในปัจจุบัน

Infrastructure as Code คืออะไร ทำไมถึงสำคัญมากในปัจจุบัน

เคยมั้ยเวลา Deploy โปรแกรมสักตัว เราจะต้องมานั่ง Provision Infrastructure ไหนจะ VM และ Settings อื่น ๆ อีกมากมาย มันจะดีกว่ามั้ยถ้าเรามีเครื่องมือบางอย่างที่จะ Automate งานที่น่าเบื่อเหล่านี้ออกไป และลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Infrastructure as Code กัน...