Technology

IP Address บ้านเลขที่แห่งโลก Internet

By Arnon Puitrakul - 21 มกราคม 2022

IP Address บ้านเลขที่แห่งโลก Internet

IP Address น่าจะเป็นของที่เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว เป็นชุดตัวเลขอะไรไม่รู้ ถ้าเราไม่ได้ทำงานในสาย Network เราก็อาจจะไม่ได้ใช้ แต่รู้กันมั้ยว่า มันอยู่ในทุก ๆ เครื่อง เราใช้งานมันทุก ๆ วัน แต่เราอาจจะไม่รู้มาก่อน วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับมันให้มากขึ้นว่า IP Address คืออะไร แล้วตัวเลขที่เราเห็น ๆ กัน ทำไมมันต้องเป็นแบบนั้น

การบอกที่อยู่บนโลกคอมพิวเตอร์

ก่อนที่เราจะไปอธิบายเรื่องยาก ๆ เราอยากจะให้เริ่มจินตนาการง่าย ๆ ก่อนว่า ถ้าเราต้องการจะให้เครื่องคอมพิวเตอร์ 2 เครื่องคุยกัน ในทางปฏิบัติ เราก็อาจจะเสียบสาย แล้วหวังว่ามันจะคุยกันเอง แต่เสียใจด้วย คอมพิวเตอร์มันโง่กว่าที่เราคิดไว้เยอะ การที่มันจะคุยกันได้ มันต้องการ Protocol หรือวิธีการที่มันจะคุยกัน

IP Address คืออะไร ?

ทีนี้เราข้ามเรื่องที่ว่า เราจะแยก Frame หรืออะไรกันยังไงไปเลยนะ เราเอาแค่เรื่องว่า เครื่องทั้ง 2 มันจะรู้ได้ยังไงว่าตัวเองมันจะเอาอะไรยังไง ใครจะเป็นใคร ถ้าเป็น 2 เครื่องมันก็อาจจะแข่งกันเลยว่า ใครจะเป็นตัวหลัก แล้วให้มัน Assign ชื่อมาให้เลย เช่น เธอชื่อ A นะ เราชื่อ B เองแล้วก็เริ่มส่งข้อมูลได้เลย

IP Address คืออะไร ?

งั้นเราทำให้ยากขึ้นหน่อย เราเพิ่มเป็น 3 เครื่องเลยละกัน เราก็อาจจะใช้วิธีเดิมได้นะ แต่ก็แข่งกันนัวขึ้นอีกหน่อย แล้วก็ตั้งชื่อไป A,B และ C แต่ ๆๆๆๆๆ สิ่งที่ต่างคือ เมื่อเราเชื่อมต่อกัน 3 เครื่อง เราจะเชื่อมต่อกันยังไงละ เป็น A -> B -> C หรือ เราจะทำให้ทั้งหมดมันต่อกันได้ หรือทำให้ บางเครื่องต่อกับอีกเครื่องเท่านั้น มันจะมีหลาย Combination มาก ๆ ทำให้ ถ้าเราต้องการให้ Protocol มัน Flexible เราจำเป็นที่จะต้องให้เครื่องแต่ละเครื่องเก็บว่า โอเค เราเชื่อมต่อกับคนนี้นะ ได้แค่นั้น ดังนั้น ถ้าเราต้องการจะเชื่อมต่อกับอีกเครื่อง เราก็ต้องไปไล่ถามทีละคนเลยว่า โอเค ชั้นจะไปที่นี่นะ เธอมีทางไปมั้ย แล้วก็ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนได้ Path ออกมา ดูเป็นเรื่องลำบากเนอะ แต่จริง ๆ แล้วมี Protocol ตัวนึงที่เราใช้งานกันอยู่ทำแบบนี้เลยเรียกว่า BGP (Border Gateway Protocol) ซึ่งถ้าเราเป็นเครือข่ายในบ้านเรา ถ้าทำแบบนั้น แหม่ มันก็ยากไปเนอะ แล้วจะตั้งชื่ออะไรมันก็ยากอีก

ทำให้เราจะต้องหาวิธีการตั้งชื่อแล้วว่า เราจะตั้งชื่อมันยังไงดีละทีนี้ แน่นอนว่า การตั้งชื่อว่า ตู่ หรือ หนู อะไรแบบนั้นในโลกของคอมพิวเตอร์มันเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ เพราะเครื่องไม่เข้าใจตัวหนังสือได้ง่ายเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เครื่องมันเข้าใจได้ง่ายกว่าคือ ตัวเลข นั่นเอง ทำให้ ที่อยู่ เราก็เลยจะใช้เป็นตัวเลข ซึ่งตัวเลขนั้นแหละ เราเรียกมันว่า IP Address

IP Address คืออะไร ?

IP Address (Internet Protocol Address) เป็นตัวเลขชุดหนึ่งที่ใช้ในการบอกที่อยู่ของอุปกรณ์นั้น ๆ ถ้าให้เรานึกภาพง่าย ๆ มันก็จะเหมือนกับ ที่อยู่บ้านเราจริง ๆ เช่น 112 แขวงพญาไท จ.กรุงเทพมหานคร อะไรแบบนั้น ทำให้ถ้าเราต้องการจะส่งข้อมูลไปหา เราก็แค่บอกที่อยู่หรือในที่นี้ก็คือ IP Address เท่านั้นก็ทำให้เราสามารถระบุที่อยู่ของอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้แล้ว

IP Address คืออะไร ?

โดยที่ IP Address ที่เราคุ้นเคยกัน มันจะประกอบไปด้วยเลข ทั้งหมด 4 ชุดด้วยกัน โดยจะแบ่งเป็นชุดละ 8 บิต ทำให้ IP Address จะมีขนาดอยู่ที่ 8x4 = 32 บิตด้วยกัน ตัวอย่างเช่น 192.168.1.1 ถ้าเราอยากรู้ว่าแปลงเป็น Bit เป็นยังไง เราก็เอาตัวเลขทีละชุดนี่แหละ แปลงเป็นเลขฐาน 2 ไป ก็จะเป็นดังภาพด้านบนเลย

ถ้าเราเรียนเรื่องความน่าจะเป็นมา เราจะรู้ว่า การหาความน่าจะเป็นแบบ Combination เกิดจากความเป็นไปได้ของแต่ละ Event มาคูณกัน เช่น เราบอกว่า เราทอยเหรียญ 2 เหรียญจะมี Event เกิดได้ทั้งหมดกี่ Event เรารู้ว่าเหรียญนึง ประกอบด้วย หัว และ ก้อย ทั้งหมด 2 เหตุการณ์ เราใช้ 2 เหรียญ ทำให้เราก็จะมีโอกาสเกิดทั้งหมด 4 Events ด้วยกัน

มองเป็น IP Address กันบ้าง เราบอกว่า 1 Bit ประกอบด้วย 0 และ 1 ทำให้แต่ละ Bit ก็จะมีโอกาสเกิดได้แค่ 2 เหตุการณ์เท่านั้น แล้ว IP Address มีขนาด 32 Bits ทำให้ทั้งโลกนี้ เราก็จะมี IP Address อยู่แค่ 2 ยกกำลัง 32 หรือ 4,294,967,296 ที่อยู่เท่านั้น

ณ วันที่ IP Address ถูกคิดขึ้นในช่วงปี 1982 ตอนนั้น เครื่องคอมพิวเตอร์มันยังเป็นอะไรที่ราคาแพงมาก ๆ ไม่ได้แพร่หลายเหมือนทุกวันนี้ ทำให้มันมีจำนวนเครื่องในระบบไม่เยอะมากเท่าไหร่ ไม่น่าจะเกิด 2 ยกกำลัง 32 เครื่องแน่ ๆ ทำให้ IP Address มันก็ใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหาเลย แต่ ๆ ถ้าเราลองมาดูในปัจจุบันของเรากัน จำนวนอุปกรณ์มันเพิ่มมากขึ้นจนน่าตกใจเลยละ คน ๆ นึง อาจจะถืออยู่ 3-4 อุปกรณ์เลย ตั้งแต่ โทรศัพท์, Tablet, Laptop, Smart Watch ไหนจะการมาถึงของ IoT (Internet of Things) อีก ทำให้อุปกรณ์เราทะลุ 2 ยกกำลัง 32 ไปตั้งนานแล้ว

การมาถึงของ IPv6

ทำให้ในช่วงปี 1998 ตอนนั้น ก็มีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้แล้ว ในเมื่อ IP Address ณ ตอนนั้นมันเก็บได้แค่ 2 ยกกำลัง 32 อุปกรณ์แล้วเรามีอุปกรณ์เยอะขึ้นเรื่อย ๆ จนจะเกินแล้ว วิธีการแก้ปัญหาแบบกำปั้นทุบดิน ณ ตอนนั้นคือ ในเมื่อ Bit ไม่พอ ก็เพิ่ม Bit แมร่งไปดิ รอเ_ยไรละ ทำให้เกิดมาตรฐานใหม่ขึ้นมาคือ IPv6 หรือ Internet Protocol Version 6 (RFC2460) ส่วน IP Address เดิม ให้เรียกว่า IPv4

ใน IPv6 มันจะเพิ่มจำนวน Bit จาก 32-Bits เป็น 128-Bits เลย ทำให้มันรองรับจำนวนอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นได้มหาศาลมาก ๆ เยอะกว่า IPv4 หลายเท่าเลย ลองไปหาดูว่าเท่าไหร่ แต่ ๆ ถ้าเราเขียนแบบเดิม บอกเลยว่า เดือดแน่นอน ทำให้มันจะต้องเปลี่ยนวิธีการเขียนใหม่

เรามี 128 Bits กับเราต้องการแบ่ง 8 ทำให้ เราจะต้องใช้หลักละ เอา 128 หารด้วย 8 ก็จะได้ 16 Bits ถ้าเราเขียนเลข 32 Bits เป็นฐาน 10 เราบอกเลยว่าเดือดเลยนะ แบบสูงสุด 65,000 กว่า ๆ ไม่ตลกเลยนะ แล้วทำยังไงดีละ ง่ายมาก ๆ ถ้าฐาน 10 มันแทนด้วยตัวเลขที่ใหญ่ไป เราก็แทนมันด้วย เลขฐานที่สูงขึ้นไป ซึ่งเลขฐานอีกฐานที่ในระบบคอมพิวเตอร์ใช้กันเยอะคือเลขฐาน 16 นั่นเอง ตัวอย่างเช่น ด้านบนเลย เราจะเห็นว่า มันจะแบ่งออกมาเป็น 8 หลักด้วยกันตามที่เราบอกเลย

IP Address คืออะไร ?

แต่ละหลักมันก็จะถูกแทนด้วย 16 Bits ด้วยกัน จำเรื่องเลขฐานกันได้มั้ยฮ่ะ ถ้าเราเอา 44c8 ในหลักที่ 2 จากด้านหน้ามาคิด มันก็จะเป็น 17,608 ในฐาน 10 นั่นเอง ถ้าเราบอกว่า เราอยากจะคิดเป็นฐาน 2 อีก เราก็คิดได้เลย แต่ถ้าเราเซียนเลขฐานหน่อย เราจะรู้ว่า เราสามารถแปลงฐาน 16 เป็น ฐาน 2 ได้โดยที่เราไม่ต้องแปลงเป็นฐาน 10 ให้เสียเวลา

IP Address คืออะไร ?

ง่ายมาก ๆ ก็คือ เราเอาแต่ละตัวของฐาน 16 แทนด้วย 4 Bits ได้เลย เช่น เราบอกว่า ตัวแรกคือ 4 ซึ่งมันก็คือ 0100 ในฐาน 2 นั่นเอง หรือ C คือ 12 หรือก็คือ 1100 นั่นเอง ทำให้ 44C8 ก้คือ 0100 0100 1100 1000 นั่นเอง

แต่ ๆๆๆๆๆ การแก้ปัญหาแบบกำปั้นทุบดิน ก็สร้างปัญหาอยู่พอตัว เพราะต้องเข้าใจก่อนว่า อุปกรณ์ และ Protocol อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ เวลานั้นมันถูกออกแบบเพื่อรองรับ IPv4 เท่านั้น ไม่ได้ออกแบบให้มันรองรับ IPv6 เลย ทำให้อยู่ ๆ เราจะใช้ IPv6 ทั้งโลกพร้อม ๆ กันเลยไม่ได้แน่นอน ดังนั้น มันจะต้องมีอะไรมาเป็นเหมือน Bandage ไปด้วย ควบคู่กับการทำให้ทั้ง 2 ระบบอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข แล้วค่อย ๆ ทยอยปั่นให้อุปกรณ์ใหม่ ๆ รองรับ IPv6 ไปเรื่อย ๆ สุดท้าย พวกอุปกรณ์ที่เป็น IPv4 ก็จะค่อย ๆ หายไปนั่นเอง

น้องแนต NAT (Network Address Translation)

โอเค ในเมื่อ IPv6 มันดูจะเข้ามาแก้ปัญหาแบบกำปั้นทุบดิน งั้นเราลองหาเวย์ที่ COMPROMISE กว่าเดิมดีกว่า ในเมื่อการเพิ่ม Bit มันไม่ได้ งั้นเราต้องทำอะไรบางอย่าง ทำให้ในปีถัดมาหลังจาก IPv6 ถูกประกาศบน RFC ก็มีอีกวิธีการที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ออกมา นั่นคือ NAT (Network Address Translation) หรือ RFC2663 หรือเราชอบเรียกว่า น้องแนต บ้างถ้าเอาน่ารักหน่อยก็เรียก แหนดดี้ !

IP Address คืออะไร ?

สิ่งที่ NAT ทำ ตามชื่อของมันเลยคือ มันจะทำการรับบทนางแปลง แปลงชื่อนั่นเอง จากปัญหา เราบอกว่า IP Address เรามีไม่พอ ทำให้เราไม่สามารถเอาอุปกรณ์ทั้งหมดมาใส่ได้ งั้นเราก็ให้ที่อยู่กับเครื่องบางเครื่องไปดิ เช่น เราอาจจะให้ที่อยู่จริง ๆ กับเครื่องที่เชื่อมต่อกับเพื่อน ๆ ในวงแล้ว เครื่องลูกทั้งหมด เราก็สร้าง Address ชุดใหม่ให้มัน ทำให้มันจะมีที่อยู่ทั้งหมด 2 ชุดด้วยกัน คือ Public IP Address และ Local IP Address

จากตัวอย่างด้าน บน เราบอกว่า เรามี 1 Public IP Address ที่เราได้รับมา แต่เราต้องการใช้กับ 4 เครื่อง วิธีก็คือ เราจะต้องมีเครื่อง ๆ นึง ทำหน้าที่ในการเป็น NAT โดยเครื่องนั้นจะเชื่อมต่อกับ Network ข้างนอก แล้วเครื่องที่เหลือก็เชื่อมต่อเข้ากับ เครื่องนั้นได้เลย โดยที่เครื่องที่อยู่ด้านในก็จะได้รับการแจกเป็น Local IP Address หมายความว่า ถ้าเราอยู่ข้างนอก เราจะไม่สามารถเข้าถึง Local IP Address ที่อยู่ใน NAT คนละวงไม่ได้นั่นเอง

โดยที่อุปกรณ์ที่จัดการ มันจะทำการสร้างตารางไว้เลยว่า เครื่องไหนมันเข้าออกยังไงแล้วมันจะทำหน้าที่ในการ Map ให้เราเลย ทำให้จริง ๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องมี IP Address ที่เป็น Public ในทุก ๆ เครื่อง เราสามารถให้สักเครื่องถือไว้ แล้วก็ทำหน้าที่เป็นคนเอาข้อมูล เข้าและ ออก ก็จะทำให้เราไม่จำเป็นต้องใช้ IP Address ทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ระบบเดิมยังสามารถใช้งานได้อยู่ แค่เราเพิ่ม Protocol ในส่วนนี้เข้าไป

นั่นแปลว่า ไม่ว่าเครื่องไหนในวงของ NAT จะทำการส่งข้อมูลเข้าและออก ภายนอกก็จะเห็นว่า ข้อมูลตรงนั้น มาจาก Public IP Address เพียงแค่อันเดียว นั่นคือข้อเสียเลย แต่ถามว่า มันใช้งานได้มั้ย มันก็ใช้งานได้ แต่ข้อเสียเดียวคือ ทำให้เราเข้าจากข้างนอกไม่ได้นั่นเอง

สมมุติว่า เครื่องภายใน NAT ทำการเปิด Server อาจจะเป็น Web Server ด้านนอกจะไม่สามารถเข้าถึงได้เลย เพราะมันติด NAT อยู่นั่นเอง นี่แหละคือสาเหตุที่ทำไมเน็ตบ้านที่เราใช้งาน มันไม่สามารถเปิด Server อะไรเองในบ้านได้ (เว้นแต่มีท่าพิเศษ)

Public vs Private IP

2 คำนี้ เราน่าจะเคยได้ยินกันมาเยอะแล้วละ โดยเฉพาะคนที่เล่นเกม หรือไม่ก็โหลดบิต ว่าถ้าเรามี Public IP จะทำให้เราเชื่อมต่อไปที่ Server ปลายทางได้ดีขึ้น ทำให้ค่า Latency มันน้อยลง หรือในฝั่งของการโหลดบิตเองที่บอกว่า มันทำให้เราเชื่อมต่อกับ Peer ได้เยอะขึ้น ทำให้เราโหลดได้เร็วขึ้นอะไรแบบนั้น น่าจะเป็นความเชื่อที่เล่ากันมา

ย้อนกลับไปที่เรื่องของ NAT ในส่วนของ Private IP เป็น IP Address ที่อยู่ภายใน ISP ของเรานั่นเอง ทำให้ข้างนอกไม่สามารถเข้าถึงเครื่องของเราได้โดยตรง ต้องผ่าน NAT เข้ามาเท่านั้น ทำให้เราไม่สามารถที่จะเปิด Service ต่าง ๆ บนเครื่องของเราแล้วหวังว่า ข้างนอกจะเข้าถึงได้นั่นเอง แต่กลับกัน Public IP จะเป็น IP Address ที่ไม่ผ่าน NAT เลย ทำให้เราสามารถเข้าถึง Service ต่าง ๆ ได้จากข้างนอกได้หมดเลย แต่ ๆ มันจะมีข้อจำกัดอีกเรื่องเดี๋ยวจะคุยกันในหัวข้อต่อไป

ซึ่งอย่างที่บอกว่า IP Address เป็นทรัพยากรที่จำกัดทำให้การที่เราจะได้ Public IP Address มาใช้ มันก็เลยเป็นเรื่องที่เรียกได้ว่า หรูหรา นิดนึง นั่นคือ ISP มักจะคิดค่าบริการเราเพิ่ม หรือในบาง Package ก็จะมีมาให้เราเลย ซึ่งใน Cost ที่เพิ่มเข้ามา น่าจะเพิ่มตรงส่วนของค่า Public IP ไปแล้วละ

หรือถ้าอ่านแล้วยัง งง ๆ เราอยากให้นึกภาพตามว่าพวก Public IP Address มันจะเหมือนกับ คนที่มีประตูหน้าบ้านเปิดออกมาแล้วเป็นถนนใหญ่ได้เลย แต่กลับกันคนที่ใช้ Private IP จะเป็นคนที่ถ้าจะเข้าบ้าน จะต้องผ่านประตูหมู่บ้านไปก่อน ดังนั้น ถ้าคนข้างนอกจะเข้ามาหาเรา มันก็จะต้องเดินผ่านประตูหมู่บ้านก่อน ซึ่งแน่นอนว่า ยามหน้าหมู่บ้าน ไม่ให้เข้าแน่นอน เพราะมันไม่รู้ว่าเป็นใครนั่นเอง

Fixed vs Dynamic IP Address

คำอีก 2 คำที่น่าจะเคยได้ยินกัน ก็คือ Fixed IP และ Dynamic IP อันนี้ในเคสทั่ว ๆ ไป ที่เราใช้กันตามบ้านเราจะได้เป็น Dynamic IP Address หมายความว่า IP Address ของเราจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ขึ้นกับการจัดสรรของ ISP เราเลย วันนี้เราอาจจะอยู่ IP Address นึง อีกวันนึง เราก็อาจจะไปอยู่อีกที่นึง หรือกระทั่ง เราปิด และ เปิด Router ใหม่ IP Address ของเราก็อาจจะเปลี่ยนได้

ถามว่า การที่มันเปลี่ยนแบบนี้มันดียังไง มันดีที่ ISP สามารถจัดสรร IP Address ที่อยู่ภายในวง NAT ของเขาได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องมานั่งคิดว่า Address นี้ให้ใครใช้อะไรยังไง 1 Local Address ของ ISP สามารถวนไปวนมาได้หลาย ๆ คนนั่นเอง เหมือนกับ ที่จอดรถทั่ว ๆ ไปที่ ถ้าคนนี้ ๆ ไม่ได้มาจอด เราก็ให้คนอื่นเข้ามาจอดได้ แล้วพอคนนั้นมา ที่ไหนว่าง ก็ไปจอดตรงนั้นแหละ นั่นคือ Dynamic IP Address

แต่ถ้าเราทำแบบนั้น ทำให้ถ้าเราทำพวก Web Server ตัว IP Address เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทำให้เราจะต้องไปบอกผู้ใช้ หรือ Domain Name ทุก ๆ ครั้งที่ IP Address เปลี่ยนว่า ตอนนี้เราเปลี่ยนเป็นอันนี้แล้วนะอะไรแบบนั้น ทำให้มันเลยมีบริการพวก Dynamic DNS ขึ้นมา อันนี้ลองไปหาอ่านกันได้ นั่นทำให้ถ้าเราต้องการที่จะเปิด Server ในบ้านของเรา แม้แต่เราจะเป็น Public IP ยังไง เราก็ไม่สามารถเข้าผ่าน IP ของเราได้ตรง ๆ ตลอดไป ก็ต้องผ่าน DDNS อยู่ดี

จากปัญหานี้ มันก็มีความต้องการที่จะ ได้ IP Address ของเราไปเลย ทำให้ ISP เองก็จะต้องมีอะไรมา Support เหมือนกัน ในที่นี้ก็คือการทำให้ที่อยู่มันเป็นแบบ Fixed IP ไปเลย หมายความว่า ISP จะจองเลข IP Address ที่เป็น Public IP Address ให้กับเราคนเดียวเลย คิดภาพง่าย ๆ เหมือนกับเราซื้อที่จอดรถไว้ ถ้าเราไม่ไปจอด ที่ตรงนั้นมันก็จะว่างรอเราไปจอดอยู่เสมอ ทำให้ IP Address ของเราไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้เราสามารถเปิดพวก Server ต่าง ๆ แล้วให้ Domain Name ชี้มาที่ IP Address ที่เราซื้อไว้เลยก็ได้

เช็คว่าเราสามารถใช้ IPv6 ได้หรือไม่ ?

IP Address คืออะไร ?

โดยทั่วไปแล้ว ณ วันที่เขียน สำหรับเราเอง ไม่ใช่ทุกเครื่องรองรับการใช้งาน IPv6 หรือแม้กระทั่งว่าอุปกรณ์ปลายทางเรารองรับ แต่ถ้าเครือข่ายของเราไม่รองรับ ก็จะใช้งานไม่ได้เหมือนกัน ซึ่งถ้าเราอยากจะเช็คง่าย ๆ มันจะมีเว็บให้เช็คอยู่ https://test-ipv6.com/ อันนี้เลย เข้าไปแล้วมันจะทำการเช็คให้เราเรียบร้อย แล้วขึ้นมาโชว์เลยว่า เราสามารถใช้ได้มั้ย อย่างภาพด้านบน เราใช้เน็ตบ้าน AIS อันนี้แน่นอนว่า ใช้ไม่ได้ เพราะเราปิด IPv6 Module บน Router ไว้ เลย ถึงแม้ว่า NIC บน Laptop จะรองรับ IPv6 แล้วก็ตาม

IP Address คืออะไร ?

แต่ถ้าเราเอาใหม่ เราต่อเข้ากับ Cellular เลย อันนี้เราใช้ 5G AIS แล้วใช้ Personal Hotspot เข้ามา เราจะเห็นว่า มันรองรับ IPv6 แล้ว

ถามว่า วันนี้ เราจำเป็นจะต้องเปิด IPv6 ใช้ตามบ้านมั้ย คำตอบคือ ไม่ต้อง ให้เป็นหน้าที่ของ ISP ในการจัดการเลย ถ้าเขาอยากให้เราเปิดให้เขาส่งคนมาทำเองไม่ต้องหาทำ ทำเองก็ได้ ให้ Professional ? มาจัดการ น่าจะดีกว่า

สรุป

IP Address เป็นเหมือนกับที่อยู่บนโลกของอินเตอร์เน็ต มันทำให้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้ามามีตัวตน สามารถที่จะเรียก และ เข้าถึงได้ ถ้าเราไม่มี IP Address ป่านี้ โลกของอินเตอร์เน็ต ก็น่าจะวนได้แบบปวดหัวมาก ๆ แล้ว เพราะมันจะลามไปถึงเรื่องของการ Routing ข้อมูลต่าง ๆ ที่เราไม่ได้พูดถึง และ Protocol อื่น ๆ ที่ทำงานอยู่บน IP Address ทั้งหลาย ทำให้พอช่วงที่ IPv6 ออกมา Protocol พวกนี้มันก็ต้องปรับเพื่อให้รองรับเช่นเดียวกันเลยทำให้เป็นเรื่องใหญ่พอตัวเลย ซึ่งทุกวันนี้เราก็มีหลายกลไกเพื่อให้เรายังอยู่ร่วมกับอุปกรณ์ที่ทำงานอยู่บน IPv4 ได้อยู่ในขณะที่เราก็ค่อย ๆ ปรับอุปกรณ์ใหม่ ๆ ให้เป็น IPv6 มากขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะผ่านพวก NAT หรือการทำ Tunnelling ต่าง ๆ (ไปหาอ่านกันได้ เราไม่ได้เล่า)

Read Next...

Apple M4 รุ่นไหนเหมาะกับใคร

Apple M4 รุ่นไหนเหมาะกับใคร

หลังจากเมื่อหลายอาทิตย์ก่อน Apple ออก Mac รัว ๆ ตั้งแต่ Mac Mini, iMac และ Macbook Pro ที่ใช้ M4 กันไปแล้ว มีหลายคนถามเราเข้ามาว่า เราควรจะเลือก M4 ตัวไหนดีถึงจะเหมาะกับเรา...

Cloudflare Access ของดีขนาดนี้ ฟรีได้ไงวะ

Cloudflare Access ของดีขนาดนี้ ฟรีได้ไงวะ

จากตอนก่อน เราเล่าเรื่องการ Host Website จากบ้านของเราอย่างปลอดภัยด้วย Cloudflare Tunnel ไปแล้ว แต่ Product ด้าน Zero-Trust ของนางยังไม่หมด วันนี้เราจะมาเล่าอีกหนึ่งขาที่จะช่วยปกป้อง Infrastructure และ Application ต่าง ๆ ของเราด้วย Cloudflare Access กัน...

Mainframe Computer คืออะไร ? มันยังมีชีวิตอยู่ใช่มั้ย ?

Mainframe Computer คืออะไร ? มันยังมีชีวิตอยู่ใช่มั้ย ?

ทุกคนเคยได้ยินคำว่า Mainframe Computer กันมั้ย เคยสงสัยกันมั้ยว่า มันต่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันทั่ว ๆ ไปอย่างไรละ และ Mainframe ยังจำเป็นอยู่มั้ย มันได้ตายจากโลกนี้ไปหรือยัง วันนี้เรามาหาคำตอบไปด้วยกันเลย...

Infrastructure as Code คืออะไร ทำไมถึงสำคัญมากในปัจจุบัน

Infrastructure as Code คืออะไร ทำไมถึงสำคัญมากในปัจจุบัน

เคยมั้ยเวลา Deploy โปรแกรมสักตัว เราจะต้องมานั่ง Provision Infrastructure ไหนจะ VM และ Settings อื่น ๆ อีกมากมาย มันจะดีกว่ามั้ยถ้าเรามีเครื่องมือบางอย่างที่จะ Automate งานที่น่าเบื่อเหล่านี้ออกไป และลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Infrastructure as Code กัน...