By Arnon Puitrakul - 05 สิงหาคม 2021
บทความนี้เกิดจากความสงสัยล้วน ๆ เลยว่า SSD จาก WD ตัวที่เป็นรุ่น Green ต่างจาก Blue อย่างไร เมื่อเราไปดูราคา เราจะเห็นได้เลยว่ามันต่างกันหลายร้อยบาทเลย ในขณะที่รุ่น Green มีความจุอยู่ที่ 480 GB แต่ Blue ขนาด 500 GB ต่างกันแค่ 20 GB ไม่น่าจะทำให้ราคามันต่างกันได้ขนาดนี้ และเราเอามาใช้กับ Server และเราพึ่งมาเจอความต่าง เดี๋ยวมาเล่าให้อ่านกันว่า มันต่างกันอย่างแรงมาก ๆๆๆๆๆ
จุดประสงค์ของการซื้อ SSD เราก็คือ เราต้องการเอามาทำ Cache Drive ใน NAS ของเราเอง ซึ่งในนั้น นอกจากจะเป็น Cache ที่ใช้เก็บไฟล์ที่ Upload เข้าไปแล้ว ยังเป็น Drive สำหรับการเก็บพวก Docker Container และ VM ต่าง ๆ ที่เราใช้อีกด้วย จริง ๆ เว็บนี้ก็อยู่ในนี้แหละ ซึ่ง Traffic และโหลดของเว็บเรา และพวก Container ต่าง ๆ ของเรามันไม่ได้ต้องการ Disk I/O เยอะขนาดนั้น ตอนนั้นเลยคิดว่า เออ WD Green ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ลดต้นทุนด้วย พอแหละชิว ๆ ก็กด WD Green 480 GB มาเลย
พอใช้ ๆ ไป VM เริ่มเยอะ เริ่มไม่พอเลย จะกดอีก แล้วพอดี WD Blue ตอนนั้นมัน Flash Sale พอดี และราคาต่างจาก Green 480 GB ไม่เท่าไหร่ แต่เราได้ 500 GB มา มันก็โอเคนะ ตอนนั้นไม่รู้เลยว่า Performance จะต่างหรืออะไรยังไง เอาเป็นว่า เพิ่มอีกไม่เยอะมาก แต่เราได้พื้นที่เพิ่มเราโอเคละ เลยกดมาเลย 2 ลูก
ทำให้ Cache Drive ใน Server เราเลยมีทั้งหมด 4 ลูกด้วยกัน ประกอบด้วย WD Green 480 GB จำนวน 2 ลูก และ WD Blue 500 GB จำนวน 2 ลูก แล้วเอาทั้งหมดมา RAID5 กัน เพื่อเป็น Redundency อย่างน้อยก็จะได้เบาใจว่า พังสักลูกมันก็ยังพอรอดอยู่ ข้อมูลไม่หายทั้งหมด แต่สุดท้ายเราก็มาสงสัยอยู่นะว่า เอ๊ะ ทำไมความจุมันห่างกันไม่เยอะ แต่ทำไมราคามันต่างกันได้ขนาดนี้
เพื่อให้เราได้ข้อมูลที่ละเอียดขึ้น เราเลยลองเข้าไปหา Spec Sheet ในเว็บของ WD มานั่งดูทั้งของ WD Green และ WD Blue ขึ้นมา
Spec Sheet WD Green https://documents.westerndigital.com/content/dam/doc-library/en_us/assets/public/western-digital/product/internal-drives/wd-green-ssd/product-brief-wd-green-ssd.pdf
พบว่าการเรียงข้อมูลมีความแตกต่างกันเล็กน้อย เรามาดูเรื่องที่เราน่าจะดูกันก่อนคือ ความเร็วในการอ่านกันก่อน โดยที่ WD Green เคลมไว้ที่ 545 MB/s ถือว่าดูดีเลยนะ แต่ไม่ได้บอกความเร็วในการเขียนเอาไว้ ในขณะที่ถ้าเป็น WD Blue นางจเคลมความเร็วในการอ่านและเขียนอยู่ที่ 560 MB/s และ 540 MB/s ตามลำดับ จะเห็นได้ว่า เรื่องของความเร็วในการอ่านและเขียน WD Blue ก็ยังทำได้ดีกว่า
นอกจากความเร็วในการอ่านและเขียนแล้ว อีกค่าที่เราควรจะดูในเรื่องของ Performance คือค่า IOPS (Input/Output Operation Per Second) หมายความว่า ใน 1 วินาที SSD ตัวนี้สามารถอ่านเขียนได้กี่ Request ใน 1 วินาที ยิ่งเยอะ ก็ทำให้เครื่องเราตอบสนองได้เร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งใน WD Green นางไม่ได้เคลมเรื่องนี้ไว้เลย แต่ใน WD Blue เคลมการอ่านและเขียนไว้ที่ 84K และ 95K ตามลำดับ จะเห็นได้เลยว่า WD Blue มีการการันตี Performance ที่ดีกว่า WD Green มาก เราเข้าใจว่า การที่ WD Green นางไม่ได้เคลมเรื่องพวกนี้ เพราะมันเคลมไม่ได้นี่แหละ เลยทำให้ไม่มีเขียนใน Spec Sheet มาให้เรา
อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ อายุการใช้งาน โดยเราจะมาดูที่ 2 ค่าคือ TBW (Terabyte Written) หรือจำนวนข้อมูลที่เขียนลงไปหน่วยเป็น TB เพราะ NAND Flash ที่อยู่ใน SSD มันมีจำนวนครั้งในการเขียนที่จำกัด การใช้ TBW ก็เป็นการวัดความแข็งแรงในระดับนึงเลย อีกค่าคือ MTBF (Mean Time Between Failure) หรือค่าเฉลี่ยเวลาที่มันควรจะทำงานได้
SSD ทั้ง 2 รุ่นมีปริมาณตรงนี้ที่ไม่เท่ากันเลย ในส่วนของ TBW ตัว WD Green ไม่ได้เคลมเรื่อนี้มาให้เลย แต่ในขณะที่ WD Blue บอกมาเลยว่า มันสามารถเขียนได้ 200 TB กันไปเลย ถือว่าเยอะมาก ๆ แล้วละ ส่วน MTBF ทั้ง 2 รุ่นมีการเคลมมาให้เราทั้งคู่ โดยที่ WB Green มี MTBF อยู่ที่ 1M ชั่วโมงไปเลย ส่วน WD Blue ยิ่งกว่า เคลมมาที่ 1.75M ชั่วโมง
ทำให้จากสเปกเราสามารถสรุปได้เลยว่า WD Blue ไม่ได้เหนือกว่า WD Green แค่เรื่องของความจุเท่านั้น เรื่องของ Performance และ อายุการใช้งาน ก็แตกต่างกันด้วยเช่นกัน ทำให้เราว่ามันไม่น่าจะแปลกเท่าไหร่ที่จะมีราคาที่แตกต่างกันกันขนาดนั้น
เห็นสเปกมันต่างกันแล้ว งั้นเราลองมา Benchmark ขำ ๆ ละกัน ต้องบอกนะว่าขำ ๆ เพราะ ตอนนี้ SSD มันติดตั้งอยู่บน Server แล้ว และมันทำงานอยู่ การ Benchmark นี้ มันอาจจะไม่ได้ผลที่ถูกต้องเหมือนกับเราเอาไปเสียบคอมนิ่ง ๆ แล้วรัน Benchmark อันนี้มันมีการอ่านเขียนอยู่เรื่อย ๆ ทำให้ผลอาจจะคลาดเคลื่อนนิดหน่อยได้ ในการทดสอบ เราจะทำเป็น Write Speed Benchmark โดยการเขียนข้อมูลขนาดต่าง ๆ ลงไป ซึ่งเขาทำมาเป็น Docker Image ให้แล้วเพื่อความง่ายในการติดตั้งใน Server ของเรา โดยที่ SSD เราจะติดตั้งอยู่บน SATA Port ของ Motherboard (TUF Z370-PRO GAMING) ทั้งหมดเลย ทำให้การทดสอบนี้ควบคุม Controller ภายใน Board ด้วย
เริ่มต้น เราทดสอบกับ WD Green กันก่อน จากกราฟ เราจะเห็นได้ว่า ความเร็วในการเขียนของแต่ละขนาดข้อมูลมีการเหวี่ยงสูงมาก ๆ ตอนแรกเราคิดว่า หรือเป็นเพราะ Disk เราทำงานอยู่มันเลยออกมาแปลก ๆ แบบนี้ เลยทดลองอีกครั้งนึง แต่ก็ได้เหวี่ยง ๆ เหมือนกันเลย
งั้นเราลองเอาความเร็วจากการทดลองทั้ง 2 ครั้งเมื่อครู่มาหาเป็นค่าเฉลี่ยแทนเผื่อมันอาจจะหล่นกันคนละช่วง แล้วหาร ๆ กันมันก็น่าจะเท่า ๆ กันแหละ ลองดู ปรากฏว่าค่าจะวิ่งอยู่ที่ 31.305 - 202.910 MB/s เฉลี่ยอยู่ที่ 131.437 MB/s และ SD อยู่ที่ 61.681 MB/s ถือว่าเหวี่ยงเยอะอยู่พอตัว ถ้าเราดูที่กราฟ เราจะเห็นได้เลยว่า ช่วง 50-70% ก็คือหล่นเหมือนกันเลย เราว่านี่แหละคือสาเหตุที่ใน Spec Sheet ของ WD ไม่ยอมเขียน Write Speed ไม่งั้นโดนฟ้องตายแน่นอน
ใน WD Blue กันบ้าง ทำเหมือนกัน ใช้ Controller ตัวเดียวกัน แค่คนละ Port เท่านั้น จะเห็นได้เลยว่าในการทดลองทั้ง 2 ครั้ง WD Blue ทำได้ดีมาก ๆ ไม่ว่าจะเจอขนาดไฟล์เท่าไหร่ ความเร็วมันก็ยังไม่ตกมากนัก โดยเฉพาะครั้งที่ 2 ที่นิ่งเกือบจะตลอดทั้งการทดลองเลย
เมื่อเราเอาผลจากทั้ง 2 รอบของ WD Blue มาหาค่าเฉลี่ยและลอง Plot ออกมาดู เราจะเห็นได้เลยว่า ค่าเฉลี่ยของความเร็วในการเขียนจะวิ่งอยู่ที่ 449.885 - 525.695 MB/s เฉลี่ยอยู่ที่ 502.396 MB/s และ SD ที่ 28.49393627 เท่านั้น ถือว่าออกมาได้นิ่งมาก ๆ เมื่อเราเปลี่ยนขนาดของข้อมูลที่ใช้ในการเขียนลงไป เจอข้อมูลขนาดเท่าไหร่ ก็ไม่น่าหวาดหวั่นเลย
สุดท้าย เราเทียบจะนำ WD Blue 500 GB และ WD Green 480 GB มาเทียบกัน ตรง ๆ เลย เราจะเห็นได้เลยว่า ความเร็วต่างกันอย่างแรงมาก ๆ อาจจะถึง 2 เท่าเลย กับความเหวี่ยง WD Green ก็เห็นว่าจะมีมากกว่าด้วยซ้ำ
เรามาลองหาว่า WD Blue เร็วกว่า WD Green ขนาดไหนกันดีกว่าวัดออกมาเป็น Percentage โดยจะได้ค่าตั้งแต่ 149.558 - 1,451.343% หรือ 1.49 - 14.513 เท่าเลย เยอะมาก ๆ ส่วน SD อยู่ที่ 489.714% และค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 460.053% หรือประมาณ 4.6 เท่าเลย เมื่อเราดูในกราฟ เราจะเห็นเลยว่า ส่วนที่มันเพิ่มขึ้นเยอะ ๆ จะเป็นช่วง 50-80% มันคือช่วงที่ WD Green ความเร็วตก แต่ WD Blue ไม่ตก เลยทำให้มันได้ Performance ออกมาเยอะขึ้นเยอะมาก ๆ เป็น 10 เท่ากว่า ๆ เลย ถือว่าน่าตกใจมาก ๆ
จากการทดลองในครั้งนี้ เราสามารถสรุปได้ว่า WD Blue เขียนได้เร็วกว่า WD Green จริง ๆ เฉลี่ย 4.6 เท่ากันไปเลย ซึ่งถือว่าเยอะมาก ๆ จนน่าตกใจเลย นอกจากนั้น ข้อมูลที่เราทดลองมาทำให้เราเห็นอีกว่า ความเร็ว 545 MB/s สูงสุด เราได้มากสุดที่ 202.91 MB/s หรือ ก็คือ เราได้ Peak Speed แค่ 37.321% เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า มันอาจจะไม่ตรงกับที่ WD ทดลองมาใน Data
นอกจากนั้น ใน WD Green เราจะเห็นได้เลยว่า เวลามันเจอข้อมูลที่ขนาดไม่ใหญ่มาก มันสามารถเขียนแบบ Sequential ได้ค่อนข้างเร็วมากเมื่อเทียบกับขนาดไฟล์ที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เราว่าการที่ WD เคลมว่า WD Green เหมาะกับคนทั่ว ๆ ไป มันก็ Make Sense อยู่นะ เพราะคนทั่ว ๆ ไป เขาก็ไม่ได้เขียนไฟล์ขนาดใหญ่มาก ๆ อยู่แล้ว ส่วนใหญ่จุดประสงค์ของคนกลุ่มนี้คือแค่ต้องการ Storage Media สำหรับการ Boot OS และลงโปรแกรม ซึ่งมันไม่ได้ต้องการ Performance สูงอะไรมากอยู่แล้วมันเลยเหมาะกับคนทั่วไป และต้องการประหยัด Cost มาก ๆ
อันนี้แถม ๆๆๆๆ เรามี WD Blue อีกลูก รุ่นเดียวกัน ขนาดเท่านั้น ที่วิ่งอยู่ใน PCIe Controller รุ่น Marvell 88SE9215 PCIe 2.0 x1 4-port SATA 6 Gb/s Controller (aka. SATA Controller ราคาหลักร้อย หาซื้อได้ใน Shopee ทั่ว ๆ ไป) เราลองมาดูกันดีกว่าว่า Controller จะมีผลขนาดไหนกับความเร็วในการเขียนของเรา เราเริ่มเหมือนกันเลยคือ เราทดลองเขียนทั้งหมด 2 ครั้ง แต่ใน PCIe ผลเราจะเห็นเลยว่า 2 ครั้งที่เราทดลองผลใกล้เคียงกันมาก ๆๆๆๆๆ
และเราก็ทำเหมือนเดิมอีกคือเอา 2 รอบมาหาค่าเฉลี่ย โดยที่เราจะได้ความเร็วอยู่ที่ 390.895 - 403.905 MB/s ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 399.320 MB/s และ SD ที่ 4.100 MB/s ถือว่าใน PCIe Controller มีความเหวี่ยงน้อยกว่ามาก ๆ เลย
และสุดท้าย เราต้องการจะเทียบ Effect ของการใช้ Built-in Controller กับ Controller ภายนอกกัน เราเลยเอามาเทียบกันตรง ๆ เลย เราจะเห็นได้เลยว่า Built-in Controller ทำได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดเลย
เราลองหา Improvement Percentage ว่า Average Write Speed ใน Built-in Controller จะเร็วกว่าบน PCIe Controller มากแค่ไหน จากผลด้านบน เราจะเห็นได้เลยว่าค่าจะเหวี่ยงขึ้นลงนิดหน่อย โดยจะดีขึ้นตั้งแต่ 11.408 - 25.198 % ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 20.275% และ SD ที่ 4.670% ทำให้เราเห็นได้เลยว่า แค่เราเปลี่ยน Controller เราจะได้ความเร็วในการเขียนเพิ่มขึ้นเกือบ ๆ 1 ใน 4 เลยทีเดียว ดังนั้น จากการทดลองการเปลี่ยน Controller นี้สามารถสรุปได้ว่า การเลือก Controller สำหรับการเสียบ SSD บน SATA มีความสำคัญมาก ๆ ควรเลือกให้มีคุณภาพ ทั้งในเรื่องของความเร็วในการเขียน และ ความนิ่ง ของความเร็วในการเขียน
ในการใช้งานจริง เราเอา SSD ทั้ง 4 ลูก ผสมระหว่าง WD Blue และ WD Green มา RAID5 กัน และอยู่บน NAS โดยที่เราใช้ Link ความเร็วแค่ 1 Gbps เท่านั้น ไฟล์ส่วนใหญ่ที่เราอ่านเขียนทุกวันขนาดเฉลี่ยไม่เยอะมาก แค่ 5-100 MB เท่านั้น จะเป็นพวกไฟล์ Sketch บ้าง เป็นไฟล์ Document ต่าง ๆ ซึ่ง Cache Drive ไม่น่ามีปัญหาอะไรกับมัน
ส่วนการอ่านเขียนไฟล์ใหญ่ ๆ เช่นไฟล์ Video จากกล้อง Sony A6400 ไฟล์นึงอยู่ที่ 30 GB ++ เราเขียนลงไป ก็ทำความเร็วได้ 75 - 80 MB/s จาก Overhead ระหว่างทาง ก็ถือว่า การใช้ WD Green ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการใช้งาน NAS ตามบ้านได้แล้ว เพราะ Link Speed เราอยู่ที่ 1 Gbps เท่านั้น แต่ถ้าเราเอามาใช้บน 10 GbE หรือ Network Interface ที่ความเร็วสูงกว่านั้น เราว่าอย่างน้อยต้องไปเล่นพวก WD Blue หรือต้องขยับไปใช้ Interface ที่ความเร็วสูงขึ้นอย่าง NVMe แล้ว เพื่อให้มันเร็วพอที่จะรับกับ Bandwidth ของ Network Interface ได้
WD Green และ WD Blue ดูผ่าน ๆ มันคล้ายกันมาก อาจจะต่างกันแค่เรื่องของความจุเท่านั้น แต่เมื่อเราลองเอามาใช้งานจริง ๆ มาลองเทียบกันจริง ๆ เราจะเห็นได้เลยว่าทำไม WD ถึงแบ่งออกมาเป็น Segment แยกกันเลย จริง ๆ ก็คือต่างกันเยอะมาก ๆ ราคาก็ต่างกัน ไม่แปลกเลยที่ราคาจะต่างกัน ถ้าเราเข้าไปดูในพวก Shopee ตัว WD Blue ขนาด 500 GB ราคามันจะอยู่ที่ 2,990 และ WD Green 480 GB อยู่ที่ 1,890 ราคาต่างกัน 1,100 บาท ถือว่าต่างพอตัวเลยทีเดียว ทำให้ในสถาการณ์ปกติ ถ้าเราใช้งานทั่ว ๆ ไปตามบ้าน เราเลยมองว่าการใช้ WD Green ก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าเราต้องการทำงานที่จริงจังขึ้น หรือเอามาใส่เกม เราว่าการจ่ายเงินเพิ่มเพื่อไปเอา WD Blue หรือจ่ายเพิ่มหนัก ๆ เพื่อไปเอา WD Black เลยเราว่าก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมาก ๆ ส่วนการใช้งาน Server ตามบ้าน WD Green ยังโอเคใช้ได้เลย แต่ถ้าเป็นคนที่จริงจังหน่อย ๆ ก็อาจจะไปเอา WD Blue แต่ถ้าทำ Server จริง ๆ และมีเงิน เราว่าไปเล่นพวก NAS Grade อย่างพวก WD Red หรือจะเอาเป็น Enterprise NVMe อย่างพวก WD Gold เลยก็ได้นะ มันส์แน่นอน
หลังจากเมื่อหลายอาทิตย์ก่อน Apple ออก Mac รัว ๆ ตั้งแต่ Mac Mini, iMac และ Macbook Pro ที่ใช้ M4 กันไปแล้ว มีหลายคนถามเราเข้ามาว่า เราควรจะเลือก M4 ตัวไหนดีถึงจะเหมาะกับเรา...
จากตอนก่อน เราเล่าเรื่องการ Host Website จากบ้านของเราอย่างปลอดภัยด้วย Cloudflare Tunnel ไปแล้ว แต่ Product ด้าน Zero-Trust ของนางยังไม่หมด วันนี้เราจะมาเล่าอีกหนึ่งขาที่จะช่วยปกป้อง Infrastructure และ Application ต่าง ๆ ของเราด้วย Cloudflare Access กัน...
ทุกคนเคยได้ยินคำว่า Mainframe Computer กันมั้ย เคยสงสัยกันมั้ยว่า มันต่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันทั่ว ๆ ไปอย่างไรละ และ Mainframe ยังจำเป็นอยู่มั้ย มันได้ตายจากโลกนี้ไปหรือยัง วันนี้เรามาหาคำตอบไปด้วยกันเลย...
เคยมั้ยเวลา Deploy โปรแกรมสักตัว เราจะต้องมานั่ง Provision Infrastructure ไหนจะ VM และ Settings อื่น ๆ อีกมากมาย มันจะดีกว่ามั้ยถ้าเรามีเครื่องมือบางอย่างที่จะ Automate งานที่น่าเบื่อเหล่านี้ออกไป และลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Infrastructure as Code กัน...