By Arnon Puitrakul - 30 มกราคม 2023
WiFi 6 ก็ได้ปล่อยออกมา จริง ๆ ก็หลายปีแล้วนะ จำได้ว่า ตอนที่ได้อ่านสเปกครั้งแรกบอกเลยว่า เราตื่นเต้นมาก ๆ ที่จะได้ใช้ มันเป็นการอัพเกรด ที่เรียกว่า ครั้งยิ่งใหญ่มาก ๆ ของ WiFi เลยก็ว่าได้ แก้ปัญหาที่มันค้างคามานานแสนนานแล้ว วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันคืออะไร และ เขาแก้ปัญหาอย่างไร
ปัญหาแรก เราอยากให้เรานึกถึงสมัยก่อนเลย อุปกรณ์ในยุคก่อนหน้าอย่าง Hub ที่มันทำหน้าที่ได้ง่าย และ โง่มาก คือ เมื่อใครสักคนส่งอะไรผ่านมา มันจะทำหน้าที่ Copy สัญญาณนั้นแหละ แล้วส่งให้กับคนที่เหลือที่ต่ออยู่กับ Hub เลย ฟิล ๆ ว่า เราที่เป็น Mr.A จะส่งหา Mr.B แต่ Hub ก็ส่งไปหา Mr.C ด้วย ซึ่งถ้ามันเจอว่ามันไม่ใช่ Package ที่ส่งให้ มันก็จะ Ignore ไป แต่ทุกวันนี้เรามีสิ่งที่เรียกว่า Switch อยู่แล้ว มันฉลาดกว่า Hub เยอะ แทนที่จะ Boardcast ให้ทั้งหมด มันก็เลือกที่จะโยนไปหาแค่ปลายทางเท่านั้น
ด้วยความที่มันทำการ Boardcast Packet ออกไปแบบนั้น ทำให้ในความเป็นจริง Access Point มันจะคุยได้แค่ทีละอุปกรณ์เท่านั้น มากกว่านั้นไม่ได้ การใช้งานในบ้าน เราว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะอุปกรณ์เราไม่ได้เยอะ แต่ถ้าเรากำลังพูดถึงสถานที่อย่างห้าง และ Office ที่มีความหนาแน่นของอุปกรณ์สูงมาก ๆ เราอาจจะเจอปัญหาว่า ทำไมเรากดแล้วมันไม่ไป
ซึ่ง WiFi รุ่นที่พัฒนาต่อ ๆ มา มันก็พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการที่รองรับ Bandwidth ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้มันสามารถส่งต่อรอบได้เยอะขึ้น ทำให้มันส่งต่อรอบใช้เวลาน้อยลง แล้วสลับไปคุยกับอีกคนได้เร็วขึ้น วน ๆ แบบนี้ไปเรื่อย ๆ แต่มันก็นะ มันไม่ได้แก้ปัญหาเดิมเลย มันแค่เหมือน Bandage Solution เท่านั้น
ถ้าเราเปรียบเทียบกับ ทางด่วน การเพิ่ม Bandwidth ก็ทำให้ถนนมันกว้างขึ้น รถผ่านได้มากขึ้น เปรียบกับ เราสามารถส่งข้อมูลได้มากขึ้น เช่น WiFi 4 เราอาจจะส่งได้ 150 Mbps เลนก็จะใหญ่ประมาณนึง แต่เราขยายขึ้นไปใช้ WiFi 5 อาจจะได้ 433 Mbps ถนนก็ใหญ่ขึ้น แต่สุดท้าย เราก็ยังส่งได้แค่ทีละอย่างเท่านั้นเอง
แน่นอนว่า WiFi ในปัจจุบัน ก็ทำแบบนั้นแหละ คือ มันทำการ Boardcast ไปให้ทุกอุปกรณ์นั่นแหละ และ ถ้าอุปกรณ์รู้ว่า นี่ไม่ได้เป็นข้อมูลสำหรับเรา มันก็จะ Ignore เหมือนกัน นั่นแปลว่าถ้าใครที่อยู่ใน WiFi ตัวเดียวกัน แล้วเรา Sniff Package ออกมา เราจะได้ของคนอื่นเข้ามาด้วย นั่น ไม่ ดี เลย นะ ทำให้เวลาการใช้งานจริง ๆ คือ เราจะแนะนำว่า อะไรที่เสียบสายได้ เสียบ อย่าหาทำใช้ WiFi มันไม่ปลอดภัย นั่นก็มี Countermeasure ด้วยการตั้งพวก WPA ทั้งหลายขึ้นมา
ปล. ถ้าอยากรู้ว่ามันโยนข้อมูลกันแบบนี้จริง ๆ มั้ย ลองหาพวกการใช้ Monitor Mode บน NIC และการ Sniff Package บน Wireshark
เอาหละ สิ่งที่ WiFi มันทำอย่างแรก ก่อนหน้า WiFi 6 คือ มันใช้สิ่งที่เรียกว่า OFDM (Orthogonal Frequency Division Multiplexing) คือ แทนที่เราจะสร้างถนนกว้างมาก ๆ แล้วมีเลนเดียว รถค่อย ๆ ไปได้ทีละคัน เรารู้ว่า เห้ย รถมันไม่ได้คันใหญ่ขนาดนั้น
ในเมื่อเรามีที่ถนนที่กว้างมากเกินว่าจะเอารถคันเดียววิ่ง เราก็ซอยมันออกมาเป็นเลนย่อย ๆ ซะเลยสิ ซึ่งเราเรียกว่า Subchannel เท่านี้ เราก็สามารถที่จะส่งข้อมูลพร้อม ๆ กันได้หลาย ๆ ส่วนแล้ว เหมือนกับเราเอารถหลาย ๆ คันวิ่งอยู่บนถนนเส้นเดียว
แต่ความตลกร้ายของเรื่องนี้คือ ถนนเส้นนี้ มันก็ยังไม่ได้แก้ปัญหาเดิมซะทีเดียว เพราะถนนนี้ มันจะใช้ได้แค่ทีละคนเท่านั้น แค่มีหลายเลนแค่นั้นเลย แล้วในความเป็นจริงส่วนใหญ่ เราก็ไม่ได้มีรถ หรือข้อมูลที่จะต้องส่งพร้อม ๆ กันขนาดนั้นอยู่แล้ว ทำให้หลาย ๆ ครั้ง เวลามันส่งกัน มันอาจจะใช้อยู่แค่ไม่กี่เลนเท่านั้นแหละ เมื่อ Access Point เห็นแบบนี้แล้ว มันก็เลย เช็คว่า เห้ย ในแถว ๆ นี้ มีคนส่งเลนนี้อยู่มั้ย ถ้าไม่ เราก็เสียบเลย ทำให้มันจัดการเรื่องของความหนาแน่นได้ดีขึ้น แต่ก็ยังติดเรื่องที่มันฟิคจำนวนเลนต่อ Access Point อยู่ดี
ใน WiFi 6 เขาเลยเปลี่ยนไปใช้ OFDMA (Orthogonal Frequency Division Multiple Access) ก็คือ เพิ่ม A มากอีกตัว หลักการเดียวกับ OFDM ก่อนหน้า แต่เราทำให้มันสามารถ เข้าถึงพร้อมกันได้หลาย ๆ อุปกรณ์ ตามชื่อของมันเลยคือ Multiple Access
ความเจ๋งมันมากกว่านั้นคือ ถนน 1 เลน หรือ 1 Subchannel แทนที่เราจะส่งได้แค่ทีละเรื่องเท่านั้น ใน OFDMA มันทำได้มากกว่านั้นอีกคือ มันสามารถโยนหลาย ๆ อย่างเข้าไปได้ โยนรถที่จะส่งไป A พร้อมกับ B ได้ นี่คือ Game Changer เลยนะ มันทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้นแบบก้าวกระโดดเลย
ในเมื่อมันสามารถโยนหลาย ๆ อย่างเข้าไปพร้อม ๆ กัน มันจะมีการกำหนดพวก ขนาด หรือความกว้างของ Subchannel ได้ด้วยเช่น เราดู Youtube อาจจะใช้ Bandwidth เยอะกว่า การเข้าเว็บเฉย ๆ AP จะมีการแบ่งกันเลยว่า ใครจะได้กว้างขนาดไหน เราเรียกว่า Resource Unit (RU) เมื่อ AP เป็นคนกำหนด ทำให้มันมีสิทธิ์ขาดในการจัดการ การรับ และ ส่งทั้งหมด
จากเดิมที่ จะรับ หรือ ส่ง จะต้องรอให้ทุกคนเงียบก่อนแล้วจะส่ง ทำให้เสียเวลาไปเยอะมาก ๆ ในเมื่อ Access Point มีสิทธิ์ขาด ทำให้มันสามารถบอกว่า โอเค ทุกคน เงียบ เอาหละ A ส่งได้ เรียกว่า มันแก้ปัญหาเมื่อเราใช้งาน WiFi ที่พื้นที่หนาแน่นมาก ๆ เราอาจจะเคยเจอปัญหาว่ามันโหลดไม่ไป มันเกิดจากตรงนี้แหละ ถ้าบอกให้ใครเงียบ ใครรับส่งได้ คือ ความสุดยอดมาก ๆ
นอกจากที่ Access Point จะบอกว่าใครเงียบ หรือใครส่งได้แล้ว มันยังตั้งเวลาได้ด้วย เช่น เราเป็นอุปกรณ์เราอาจจะต้องการส่งข้อมูลแค่ชั่วโมงละครั้ง ถ้าเป็นเมื่อก่อน เราอาจจะต้องต่อ WiFi ทิ้งไว้ตลอดเลย ซึ่งมันเป็นอะไรที่กินพลังงานสูงมาก ๆ มันเลยทำให้มีพวก Protocol อื่น ๆ อย่างพวก Zigbee อะไรพวกนี้เข้ามา แต่ใน WiFi 6 มีอีก Feature ที่เรียกว่า Target Wake-up Time (TWT) คือ อุปกรณ์ และ Access Point สามารถคุยกันได้ว่า โอเค อุปกรณ์จะปิดเสาอากาศนะ แล้วอีก 59 นาที เรามาเจอกันใหม่ การทำแบบนี้ทำให้ลดการใช้พลังงานได้เยอะเยอะมาก ๆ โดยเฉพาะพวก อุปกรณ์ที่ทำงานอยู่บน Battery หรือกระทั่งอุปกรณ์ที่เสียบปลั๊ก แต่มีจำนวนเยอะ ๆ เช่น IoT ในโรงงานขนาดใหญ่ ๆ คิดดูว่า ถ้ามันใช้พลังงานน้อยลงมันจะดีขนาดไหน กับโทรศัพท์เอง มันก็จะกินแบตน้อยลงเมื่อเราต่อ WiFi ด้วยอีกต่างหาก
ไหน ๆ เล่ามาขนาดนี้ละ ใน WiFi 6 มีอีก Feature ที่เพิ่มเข้ามาคือ Base Service Set (BSS) Colouring สิ่งนี้มันเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการช่องสัญญาณให้ดีขึ้นเข้าไปอีก สิ่งที่มันทำเหมือนกับการกำหนดสีไปเลย เช่น ใครที่คุยกับ Access Point A จะให้ Tag เป็นสีแดงนะ ใครที่คุยกับ อีก Access Point ให้เป็นอีกสีนึงไปเลย ทำให้ทั้งอุปกรณ์ และ Access Point คุยกันง่ายขึ้น ใช้ช่องสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเยอะ
นอกจากนั้น มันยังจัดการปัญหา Overlapping Basic Service Sets (OBSS) ได้อีก เพราะเมื่อ Access Point เห็นสีอื่นที่ไม่ได้เป็นของตัวเองในช่องนั้นเยอะ ๆ มันจะรู้แล้วว่า เอ๊ะ นี่ไม่ใช่ของชั้น และ คนใช้จอแจมาก ๆ งั้นเราย้ายกันเถอะ หรือเราส่งได้แค่เลนนี้เท่านั้นนะ ถึงจะทำให้เราโดนกวนน้อยที่สุด BSS Colouring เราบอกเลยว่า มันเห็นผลชัด ๆ เลยคือพวก คอนโดทั้งหลายนี่แหละ ชัดมาก ๆ เพราะทุกคนคือ ชิดกันเกิ้น และ ชอบเปิดสัญญาณแรง ๆ ตะโกนคุยกัน มันจะเข้ามาแก้ปัญหาพวกนี้อย่างฉลาดมาก สุดท้ายทุกคนก็จะส่งข้อมูลได้ โดยที่ไม่ต้องตะโกน แต่เป็นการ Tag สี (จริง ๆ มันคือตัวเลขที่อยู่ใน PHY Header ไปหาอ่านเพิ่มเอาละกัน)
พวก Feature ที่เราเล่าไปทั้งหมดตรงนี้ เราจะบอกเลยว่า มันค่อนข้างเอื้อให้พวก อุปกรณ์ IoT (Internet of Things) มาก ๆ เราต้องเข้าใจธรรมชาติของพวก IoT กันก่อนคือ พวกนี้จะเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็ก ๆ ซะเยอะ เน้นการส่งข้อมูลเล็ก ๆ เช่น Sensor วัดค่าฝุ่น วัดอุณหภูมิ มันก็อาจจะส่งทุกวินาที แต่ส่งแค่ตัวเลขชุดเดียวเท่านั้นแหละ แล้วเราอาจจะมีสัก 10 ตัวในบ้านของเรา
OFDMA เข้ามาช่วยเราได้เยอะมาก ๆ แทนที่ Access Point จะคุยกับ IoT ทีละเครื่อง แล้ววนไปเรื่อย ๆ ทีนี้ มันสามารถคุยได้พร้อม ๆ กันหลาย ๆ เครื่องเลย จำเรื่องเลนถนนกันได้ใช่มั้ย ข้อมูลพวกอุณหภูมิมันเล็กมาก ๆ เราไม่ได้จำเป็นต้องใช้ถนนทั้งเลนส่งเลยด้วยซ้ำ OFDMA ทำให้เราสามารถซอยเลนถนน แบ่งกับ IoT อื่น ๆ ได้อีก ทำให้การรับส่งข้อมูลมันมีประสิทธิภาพ และเข้าใกล้ Real-time มากขึ้นเรื่อย ๆ เลย
นอกจากนั้น TWT ยังเข้ามาช่วยเรื่องของการประหยัดพลังงานเข้าไปอีก จากเดิมที่อาจจะต้องเปลี่ยนถ่านเดือนละครั้ง หรือขยับหนีไปใช้ Protocol อื่น ๆ เราก็สามารถใช้ WiFi ที่อุปกรณ์หาได้ง่ายกว่า โดยที่เราไม่ต้องเปลี่ยนถ่านบ่อย ๆ ได้ กินพลังงานน้อยลง
ถ้าใครที่เล่นพวกอุปกรณ์ IoT จะรู้ดีเลยว่า ส่วนใหญ่แล้วอุปกรณ์ที่ต่อ WiFi ได้เขาจะรองรับแค่ย่านความถี่ 2.4 GHz เท่านั้น โอเค ส่วนนึงเป็นเพราะราคามันถูกกว่า แต่เราค่อนข้างให้ความสำคัญไปที่ ระยะส่ง มากกว่า ย่าน 2.4 GHz ส่งได้ไกลกว่า 5 GHz ที่เราใช้งานกันอยู่แล้ว ประกอบกับ OFDMA ทำให้เราไม่จำเป็นต้องวาง Access Point เยอะ เราก็สามารถจัดการกับอุปกรณ์ทั้งหมดได้แล้ว ณ วันนี้ ถ้าเราจะใช้งานย่าน 2.4 GHz เราจะต้องย้อนกลับไปใช้ WiFi มาตรฐานเก่าเลยคือ IEEE 802.11n หรือ WiFi 4 เลย แต่ใน WiFi 6 กลับมารองรับย่าน 2.4 GHz แล้ว อันนี้โคตรดีใจ
ถามว่า เห้ย ทำไมมันดูเอื้อไปทาง IoT ขนาดนั้น ถ้าเราไม่ได้ใช้ IoT เราจะได้ประโยชน์อะไรจากการ Upgrade อุปกรณ์เป็น WiFi 6 บางมั้ย คำตอบสำหรับคือ ใช่ และ ไม่ มันจะใช่ เมื่อในที่ ๆ เราใช้งานมีการใช้งานอุปกรณ์ที่หนาแน่นมาก ๆ เช่น ตามห้าง หรือ อาคารต่าง ๆ อันนี้ถ้าอุปกรณ์ทั้งตัว Access Point และ ผู้ใช้เองรองรับ ทุกอย่างบอกเลยว่าจะดีขึ้นเยอะมาก ๆ จาก Feature อย่าง OFDMA แต่ถ้าเราบอกว่า เราใช้งานในบ้าน อาจจะมีอุปกรณ์ต่ออยู่ 1-20 ตัว เราก็คงบอกได้แค่ว่า ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรนอกจากความเร็วที่สูงขึ้น ซึ่งเอาจริง ๆ คนส่วนใหญ่ก็ใช้ไม่เกิน 100 Mbps กันหรอก เลยจะไม่ได้เห็นประโยชน์อะไรจากมันเท่าไหร่
อ่านมาขนาดนี้แล้ว น่าจะอยากใช้กันบ้างแล้วละ การที่เราจะใช้งานได้ ทั้งอุปกรณ์ ส่ง และ อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อจะต้องรองรับมาตรฐาน WiFi 6 ทั้งคู่ นั่นแปลว่า เราจะต้องทำการ Upgrade ทั้ง Access Point และ อุปกรณ์ที่จะเชื่อมต่อด้วยทั้งหมด
เริ่มจาก Access Point กันก่อน เท่าที่เราดูมา หลาย ๆ ISP ก็มักจะให้กล่องที่รองรับกันหมดแล้วละ ถ้าเราได้กล่องพวกนี้มา ก็จะผ่านละ หรือ ถ้าเราไม่มี ณ วันนี้เราสามารถหาซื้อ Access Point ที่รองรับ WiFi 6 ได้ง่ายมาก ๆ เช่น ของ TP-Link ที่เราเคยรีวิวไปคือ TP-Link AX15000 ก็รองรับแล้วในราคาไม่แพงมากด้วย
กับในส่วนของอุปกรณ์ต่าง ๆ เอง อันนี้เราจะต้องไปดูที่สเปกแล้วละว่ามันรองรับมั้ย แต่ไม่ต้องตกใจนะว่า ถ้าเราเปลี่ยนเป็น WiFi 6 แล้ว อุปกรณ์ทั้งบ้านจะต้องรองรับหมด ไม่ต้องนะ มันมี Backward Compatibility เช่น เราอาจจะซื้อโทรศัพท์ใหม่ แล้วมันรองรับ WiFi 6 แต่เครื่องอื่น ๆ ไม่รองรับก็ยังใช้งานได้นะ แต่ Feature ของ WiFi 6 ก็จะใช้งานได้ในอุปกรณ์ที่รองรับเท่านั้น อุปกรณ์อื่น ๆ เขาก็จะรองรับ Feature Set สูงสุดที่มันรองรับ
ทำให้ ถ้าเราอยากจะลองจริง ๆ อย่างมาก เราก็ซื้อแค่ Access Point ใหม่ ถ้ามันไม่รองรับ และ อุปกรณ์ใหม่ที่รองรับ ก็เป็นอันเรียบร้อยแล้ว และเราไม่ต้อง Setup อะไรเลยนะ ถ้าทั้ง Access Point และ อุปกรณ์รองรับ มันจะคุยกันเองหมด เราไม่ต้องไปยุ่งกับมัน
จากที่เราเล่ามา เราจะเห็นว่า WiFi 6 มันไม่ได้เพิ่มแค่ความเร็วสูงสุดในการส่งข้อมูล เพื่อให้มันคุยกับแต่ละอุปกรณ์เสร็จเร็วขึ้น แล้วสับรางได้เร็วขึ้น แต่เลือกที่จะหันมาแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยการ Implement อะไรใหม่ ๆ ใส่เข้าไป เช่นสิ่งที่เราเรียกมันเป็นพระเอกเลยคือ OFDMA มันเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องความหนาแน่นได้แบบดีขึ้นมาก ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ เราเลยบอกว่า มันเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก ๆ สำหรับมาตรฐาน WiFi เลยก็ว่าได้ แต่ถามว่า เราต้องรีบ Upgrade วันนี้มั้ยสำหรับบ้าน เราก็ว่าไม่นะ ไว้ราคามันถูกกว่านี้ หรือเราได้แถมมา ก็.... ค่อยว่ากัน แต่สำหรับพื้นที่ที่หนาแน่นมาก ๆ คือมันน่าจริง ๆ น่า Upgrade มาก ๆ
หลังจากเมื่อหลายอาทิตย์ก่อน Apple ออก Mac รัว ๆ ตั้งแต่ Mac Mini, iMac และ Macbook Pro ที่ใช้ M4 กันไปแล้ว มีหลายคนถามเราเข้ามาว่า เราควรจะเลือก M4 ตัวไหนดีถึงจะเหมาะกับเรา...
จากตอนก่อน เราเล่าเรื่องการ Host Website จากบ้านของเราอย่างปลอดภัยด้วย Cloudflare Tunnel ไปแล้ว แต่ Product ด้าน Zero-Trust ของนางยังไม่หมด วันนี้เราจะมาเล่าอีกหนึ่งขาที่จะช่วยปกป้อง Infrastructure และ Application ต่าง ๆ ของเราด้วย Cloudflare Access กัน...
ทุกคนเคยได้ยินคำว่า Mainframe Computer กันมั้ย เคยสงสัยกันมั้ยว่า มันต่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันทั่ว ๆ ไปอย่างไรละ และ Mainframe ยังจำเป็นอยู่มั้ย มันได้ตายจากโลกนี้ไปหรือยัง วันนี้เรามาหาคำตอบไปด้วยกันเลย...
เคยมั้ยเวลา Deploy โปรแกรมสักตัว เราจะต้องมานั่ง Provision Infrastructure ไหนจะ VM และ Settings อื่น ๆ อีกมากมาย มันจะดีกว่ามั้ยถ้าเรามีเครื่องมือบางอย่างที่จะ Automate งานที่น่าเบื่อเหล่านี้ออกไป และลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Infrastructure as Code กัน...