Technology

Solar Cell ติดแล้วอาจจะไม่คุ้มอย่างที่คิด มันจะคืนทุนเมื่อไหร่

By Arnon Puitrakul - 18 เมษายน 2023

Solar Cell ติดแล้วอาจจะไม่คุ้มอย่างที่คิด มันจะคืนทุนเมื่อไหร่

วันนี้เรานั่งอ่านข่าว แล้วเจอข่าวบอกว่า เนี่ยมีคนติด Solar Cell แล้วค่าไฟจากหลายพันเลย เหลืออยู่ 70 กว่าบาทเองเท่านั้น อ่านพาดหัวไป เราว่าคนแบบว่าโอ้โหหหหห ชิบหาย มันต้องมาแล้วปะวะ ของมันต้องมี แต่บทความนี้ เราอยากแทงสวนว่า ใจเย็น ๆ ก่อน วันนี้เราจะพามาดูกันว่า เราจะรู้ได้ยังไงว่า ถ้าเราติด Solar Cell ไปแล้วจะคุ้ม การใช้ไฟแบบไหนถึงคุม แล้วมันจะคืนทุนเมื่อไหร่

Setup ในข่าว

โอ้โห หนุ่มติดโซลาร์เซลล์ เปิดแอร์กลางวันจุกๆ 4 ตัว จ่ายค่าไฟแค่ 71 บาท
หนุ่มติดโซลาร์เซลล์ เปิดแอร์กลางวัน 4 ตัว กลางคืน 3 ตัว ค่าไฟจาก 4-5 พัน เหลือ 71 บาท เผยราคาต้นทุน

จากในพาดหัวข่าว เขาบอกว่า เขาค่าไฟแค่ 71 บาท เท่านั้น เพราะเขาใช้ Solar Cell แล้วเปิดแอร์กลางวัน 4 ตัว กลางคืน 3 ตัว ค่าไฟลดจาก 4-5 พัน เหลือ 71 บาท มันโหววว อะไรขนาดนั้น กับตัวระบบนี้ เขาบอกว่า เขาติดเอง ทำเองหมด และพวกของที่ใช้ทั้งหมดก็ราคาประมาณ 3 แสนบาทถ้วน ๆ

ถ้าดูคร่าว ๆ ระบบที่คนในข่าวติด เราเรียกว่าระบบ Hybrid หมายความว่า เรามีการติด Battery ไว้ด้วย คือ เมื่อเราโหลดไฟเกินที่ Solar Cell มันผลิตได้ หรือ อาจจะเป็นกลางคืน มันก็จะไปดึงไฟจาก Battery เข้ามาก่อน แล้วถ้า Battery ต่ำมาก ๆ มันถึงจะไปดึงไฟจากการไฟฟ้า กลับกัน ถ้า Solar Cell ผลิตไฟได้เกินการใช้งาน​ ณ ขณะนั้น มันก็จะเอามาชาร์จ Battery นั่นเอง ระบบการทำงานง่าย ๆ แบบนี้เลย (พื้น ๆ มันง่ายแหละ แต่ข้างในซับซ้อนกว่านั้นเยอะ)

ถ้าเขาบอกว่า เดือนนึงเขาลดค่าไฟจาก 4-5 พันบาท เราตีที่ 4,500 บาทกลาง ๆ ละกัน เหลือ 71 บาท ทำให้เดือนนึง เขาจะประหยัดไปเดือนละ 4,429 บาทด้วยกัน ถ้าบอกว่า ระบบทั้งหมด 3 แสนบาท เขาจะต้องใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 68 เดือน หรือ 5 ปีกับ 8 เดือน เพื่อจะคืนทุนทั้งหมดไม่รวมค่าบำรุงรักษา ซึ่งเดาว่า เขาจัดการเองได้แหละ ติดเองขนาดนี้ ฮ่า ๆ

Solar Cell ระบบต่าง ๆ

เมื่อกี้เราพูดถึงระบบ Solar Cell แบบ Hybrid ไปแล้ว จริง ๆ แล้ว เรายังสามารถติดตั้งระบบแบบอื่น ๆ ได้อีกคือ ระบบแบบ On-Grid และ Off-Grid

ตัวระบบ On-Grid มีการทำงานที่ง่ายที่สุดแล้วคือ เรามี Solar Cell ต่อเข้ามาแล้วเราก็ขนานไฟที่ผลิตได้จาก Inverter เข้าบ้านเราตรง ๆ เลย โดยที่ไม่มีระบบการจัดเก็บพลังงานอะไรทั้งนั้น ทำให้ ถ้ากลางวัน เราโหลดไฟมากกว่าที่ Solar Cell ผลิตได้ เราก็ยังสามารถดึงจากการไฟฟ้าได้ หรือกลางคืน เราก็ต้องดึงจากการไฟฟ้าอย่างเดียวเลย ข้อดีคือ ระบบไม่ซับซ้อนมาก มีราคาถูกที่สุดในทุกแบบ บำรุงรักษาได้ง่าย เพราะมันตัดส่วนที่แพงมาก ๆ อย่าง Battery ออกไป เลยเหมาะกับบ้านทั่ว ๆ ไปที่ใช้งานเวลากลางวันค่อนข้างเยอะ

อีกระบบคือ Off-Grid อันนี้ตรงข้ามเลย คือ เราจะไม่เชื่อมต่อกับการไฟฟ้าเลยพวกนี้คือ เราไม่ต้องยุ่งอะไรกับการไฟฟ้าเลย ไม่ต้องขออนุญาติอะไรทั้งนั้น สิ่งที่เป็นคือ ไฟที่ผลิตจากแผงก็จะขนานเข้าบ้านของเรา แล้วเราก็ใช้ไฟจากตรงนั้นเลย แต่ถ้าเกิดไฟไม่พอ เราก็ต้องโหลดจาก Battery เข้ามาช่วย และถ้า Battery ไม่พออีก ก็เป็นอันจบเลย ดังนั้นพวกนี้ ข้อดีคือ เราไม่ต้องลากสายการไฟฟ้าไป แต่ข้อเสียก็คือ ราคาค่อนข้างสูงมาก ๆ เพราะ Battery ด้วยกับระบบต่าง ๆ ก็แพงเช่นกัน เลยจะไปเหมาะกับพื้นที่ห่างไกลมาก ๆ ที่การลากสายไฟอาจจะทำได้ยากหรือราคาสูงกว่านั่นเอง บ้านธรรมดาข้ามไปเลย

และ ระบบแบบ Hybrid ก็เหมือนที่เราเล่าไปก่อนหน้านี้แล้ว คือ เหมือนกับ On-Grid เลย แต่เราใส่ Battery เข้ามาเป็น Buffer ก่อนแค่นั้นเลย ทำให้ข้อเสียมันเลยจะไปตกที่ราคาค่อนข้างสูงมาก ๆ  แต่ข้อดีคือ Hybrid Inverter บางตัว มันสามารถผลิตเวลาที่ไฟดับในตัวเดียวได้ด้วย

การคิดจุดคุ้มทุน

ถ้าเราบอกว่า เราจะติด เราอยากจะให้คิดถึงจุดคุ้มทุนกันก่อนว่า มันจะนานเท่าไหร่ เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเพิ่มเติมได้

วิธีการคิดง่ายมาก ๆ เราคิดให้อ่านไปแล้วรอบนึงคือ เราเอาค่าใช้จ่ายทั้งหมดมาบวกกัน ตั้งแต่ค่าติดตั้ง ค่าอุปกรณ์ และ ค่าบำรุงรักษามารวมกันเลย แล้วหารด้วยค่าไฟที่เราประหยัดได้ต่อเดือน เราก็จะได้ออกมาเป็นเดือนที่มันจะใช้ในการคืนทุนออกมา อยากได้เป็นปีก็เอา 12 หารเอาจบ ถ้าเราไม่รู้ว่า ค่าไฟที่เราจะประหยัดได้เท่าไหร่ อันนี้เราแนะนำให้คุยกับพวกที่เขารับติดได้เลย เขาจะมีวิธีประมาณให้เราอยู่

เมื่อได้มา อย่างแรกที่เราอยากให้ดูต่อคือ เวลาที่เราจะคืนทุน มันจะถึงก่อนระยะรับประกันของอุปกรณ์ใช่มั้ย เพราะถ้าเกิดว่า ระยะการคืนทุนของเรามันนานกว่า ระยะการรับประกันของอุปกรณ์ที่สั้นที่สุด มันมีโอกาสที่ถ้าเกิดอุปกรณ์ชิ้นนั้นเสียก่อนถึงระยะเวลาคืนทุน นั่นคือ เราจะต้องเสียเงินเพิ่มก่อนเราจะคืนทุนด้วยซ้ำ เลยจะเป็นสิ่งที่เราไม่แนะนำเท่าไหร่

และอีกส่วนที่สำคัญคือ เราอยากให้คิดว่ามันเป็นการลงทุน ระยะเวลาคืนทุนที่เราได้มา เรารับได้มั้ยดีกว่า ถ้าเราบอกว่า มันช้าไป โอเค เราก็อาจจะไม่เหมาะละ อันนี้ต้องลองคิดดู เทียบกับ ค่าไฟที่อาจจะแพงขึ้นทีละนิด ๆ ด้วย ก็อาจจะทำให้ระยะการคืนทุนอาจจะเร็วขึ้นนิดหน่อยด้วยซ้ำนะ

Case 1 : ติดแบบนี้ยังไงก็ไม่คุ้มหรอกนะ

เราลองมาจำลองเคสของคนที่ติดแล้วจะไม่คุ้มกันดีกว่า

นาย P เป็นพนักงานออฟฟิศมีกิจวัตรที่เช้า 7 โมงออกจากบ้านไปทำงาน และ กลับมาบ้านอีกทีสัก 3 ทุ่มกว่า ๆ โดยที่กลางวันบ้านของนาย P ไม่ได้มีอะไรเปิดไว้เลยนอกจากพวกกล่องอินเตอร์เน็ต, ตู้เย็น, เครื่องฟอกอากาศ และ อุปกรณ์ที่เสียบปลั๊กคาไว้ ทำให้ ช่วงกลางวันบ้านของนาย P อาจจะมีการใช้ไฟอยู่อย่างมากแค่ 400-500W ทำให้กลางวันเขาน่าจะใช้ไฟอยู่ที่ประมาณ 4.5 kWh เท่านั้น

กลางคืน ตอนกลับบ้านมา นาย P เปิดแอร์ขนาด 15,000 BTU สักตัวในห้องนอนตัวเอง โหลดไฟสัก 1.5 kW แล้วรวมกับของที่เสียบ ๆ ทิ้งไว้อีกตีขำ ๆ ว่า 2 kW เปิดไป จนเช้าออกไปทำงาน ก็น่าจะ 18 kWh ได้

ทำให้ลักษณะการใช้ชีวิตบ้านของนาย P จะใช้ไฟกลางวันต่อกลางคืนอยู่ที่ 1/4 ได้เลย แน่นอนว่า นาย A ก็เลือกที่จะติดระบบ Solar Cell แบบ On-Grid ขนาด 5kWp เพราะอ่านข่าวมาแล้วอยากคุ้มบ้าง เลือกบริษัทมาติดตั้งเป็นเงินตอนนี้เราว่ามี 210,000 บาท นั่นแปลว่า นาย A จะลดค่าไฟได้ประมาณ 4.5 kWh คูณ 30 วัน เป็น 135 หน่วย เทียบจากเดิมจะต้องใช้ 675 kWh

ถ้าเราอยากรู้ว่ามันจะประหยัดเท่าไหร่เลย เรากลับไปเว็บเดิม ระบบประมาณการค่าไฟฟ้า ของ PEA ทางซ้ายมือ เป็นราคาก่อนที่จะใช้ Solar Cell คือ 3,667.48 บาท และขวามือเป็นหลังจากหัก Solar Cell ไปแล้วเป็น 2,893.8 บาท อันหลังนี่แหละคืออันที่นาย P จะต้องจ่ายจริง

ดังนั้นส่วนต่างที่ประหยัดไปได้ก็คือ 463.68 ทำให้ นาย P จะต้องใช้เวลาอย่างมาก 444 เดือน หรือ ประมาณ 37 ปีในการคุ้มทุน ซึ่งเลยระยะการรับประกันไปไกลมาก ๆ แล้วละ พวกนี้ปกติ Inverter ก็สัก 10 ปี และ แผงสัก 25 ปีแถว ๆ นั้น นั่นทำให้ การติดตั้ง Solar ของนาย P เป็นเรื่องที่โง่มาก ๆ เลยทีเดียว เอาเงินไปลงกองทุนความเสี่ยงต่ำ ๆ อาจจะได้กำไรเยอะกว่าแล้วละ

แต่ ๆ บริษัทที่ติด Solar ให้นาย P บอกว่า นี่ ๆ คุณ ๆ ถ้ากลางวันไม่อยู่บ้าน เราจะขายไฟได้นะ ณ วันที่เขียนการไฟฟ้ารับซื้อคืนที่ 2.2 บาท/หน่วยเท่านั้น ถ้าเราติดระบบขนาด 5 kWp มี 5 ชั่วโมงแดด เราก็ควรจะได้วันละประมาณ 25 kWh หักที่เราใช้เองไป 4.5 kWh แปลว่าหน่วยที่ขายได้จริง ๆ ก็จะเป็น 20.5 kWh หรือคิดเป็นเงิน 45.1 บาท เดือนนึงเต็ม ๆ ถ้าโชคดีแดดส่องทุกวันก็จะได้เงินมา 1,353 บาทด้วยกัน เป็นค่าประหยัด เราเอาไปรวมกับค่าเดิมคือ 463.68 บาท เป็น 1,816.68 บาทด้วยกัน นั่นทำให้ระยะการคืนทุนเลยลดลงไปเหลือประมาณ 116 เดือน หรือ 9.7 ปี ก็เรียกว่า ปลิ่ม ๆ กับประกัน Inverter เลยนะ ไหวอะป่าวเบเบ๊ (เบเบ๊อะไหว แต่กูอะไม่ไหว ! คนอะไรวะ ออกกำลังกายเก่งชิบหาย)

Case 2 : เกือบจะฉลาดละ.... แต่ชิบหายกว่าเดิม

เสี่_ เห้ย นาย O มาบ้านนาย P แล้วเห็น Solar Cell บอกว่า เชร็ดดดด อยากติดบ้างหวะ แต่เราใช้ชีวิตเหมือนกันกับนาย P เลยเพราะก็อยู่ออฟฟิศเดียวกัน นาย P เลยบอกว่า เอางี้ ถ้าขายไฟไม่รุ่ง เราติด Battery เข้าไปเก็บไฟเลยละกัน จะได้ประหยัด ๆ จะประหยัดจริงรึเปล่าไปดูกัน

https://www.godungfaifaa.com/product/Huawei-LUNA-2000-Battery-Smart-Kit-15-kWh-a50af709

เราสมมุติเลยนะว่า การใช้ไฟอะไรเหมือนกันเลยนะ แต่สิ่งที่ต่างคือ ค่าติดตั้งที่เพิ่มขึ้น เพิ่มจากค่าติด Solar Cell ขนาด 5 kWp ก่อนคือ 210,000 บาท และ ติดตั้ง Battery ด้วย แน่นอนว่า นาย O ไม่เคยรู้เรื่องเ_ยอะไรอยู่แล้ว ทำให้เขาไม่สามารถใช้ Battery ประกอบเองที่ดูแลยากได้ ทำให้ เขาจะต้องใช้ Battery สำเร็จ เอาอันไม่แพงมากของ Huawei รุ่น Luna 2000 จำนวน 1 Tower เต็ม ๆ 15 kWh เลย ราคารวมค่าติดตั้งตีกลม ๆ ประมาณ 400,000 บาท เมื่อรวมกับระบบ Solar Cell ไปแล้วก็จะอยู่ที่ 610,000 บาท

ถามว่า ทำไมพี่ในข่าวของเขาราคาถูกจัง เช่น Battery ดูจากในรูปได้ คือเขาซื้อ Battery Module มาต่อเอง แล้ววางบนชั้นง่าย ๆ แบบนั้นเลย ถามว่ามันได้มั้ย ได้ แต่เอาจริง ๆ มันควรจะมีอะไรปิดมากกว่านี้หน่อย ทำให้ในบ้านทั่ว ๆ ไป เราจะใช้พวก Battery สำเร็จ ยี่ห้อดี ๆ จะได้มั่นใจด้วยว่า การรับประกันมันจะได้ตามนั้น มันเลยแพงกว่าหลายขุมเลย ราคาที่เราเอามาเล่าคือราคาจริง ๆ ที่ใช้ของเกรดกลาง ๆ ค่อนสูงเลยนะ Inverter ก็ไม่ใช่ No name อะไรนะ ระดับ Huawei เลยด้วยซ้ำ

ดังนั้น กลางวันไฟส่วนเกินทั้งหมด 20.5 kWh ก็จะไหลเข้าไปใน Battery แต่ได้แค่ 15 kWh เท่านั้นนะ เพราะแบตมีความจุเท่านั้น ทำให้ การใช้ไฟที่ซื้อของบ้านนี้จริง ๆ ก็คือเอา 18 kWh ที่เป็นการเปิดแอร์ช่วงกลางคืน มาลบกับ 15 kWh ที่เป็นไฟที่เก็บไว้ใน Battery ก็จะใช้วันละ 3 kWh เท่านั้น ทำให้ใน 1 เดือนก็จะโดนเก็บค่าไฟที่ 90 หน่วย หรือ 416.34 บาท เชี้ยยย นาย O ดูฉลาดเนอะ นอกจากมี เอ่ออ เยอะแล้ว ยังฉลาดเลือก แต่หยุดก่อนอานนท์

ถ้าเราคำนวณว่า ก่อนมีระบบที่ว่ามา เขาจะเสียค่าไฟ 3,667.48 บาท พอติดระบบไปเหลือ 416.34 บาท แปลว่าเดือน ๆ นึงนาย O จะประหยัดไป 3,251.14 ถ้าเอามาคิดระยะคืนทุนละ มันก็จะกลายเป็น 188 เดือน หรือเกือบ ๆ 16 ปีคืนทุน หนักกว่านาย P อีก สรุปคือ เคสนี้เหมือนนาย O จะฉลาด แต่จริง ๆ ก็คือ ชิบหาย พังหนักกว่านาย P อีกหวะ

Case 3 : บ้าน สว.

คุณหญิง S เป็น Working Woman ออกไปทำงานทุก ๆ วันเหมือนกับนาย P และ นาย O ???? แหละ แต่ที่บ้านของคุณหญิง S นอกจากที่คุณหญิง S จะอาศัยอยู่แล้วนั้น แม่ของคุณหญิง S ก็ยังอาศัยอยู่ด้วย และ แม่ของคุณหญิง S ก็คือเกษียณงานแล้ว ระดับ สว. (สูงวัย) ก็อยู่บ้านทำงานอดิเรกไป ทำให้บ้านของคุณหญิง S ก็คือ มีการเปิดแอร์อยู่ตลอดเวลาเลย

กลางวันบ้านคุณหญิง S ก็อาจจะมีการเปิดแอร์สักตัวกับเสียบนั่นนี่ทิ้งไว้ กินเหมือนบ้านก่อนหน้าเลยละกันคือ 2 kW ทำให้ช่วงเวลาสัก 7am-6pm ก็จะกินไฟไป 24 kWh ได้ และ กลางคืนคุณหญิง S กลับจากที่ทำงานมา ก็จะเปิดแอร์ตัวเล็ก ๆ เพิ่มขึ้นอีกเพิ่มอีกสัก 800W รวมเป็น 2.8 kWh เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ก็จะเป็นไฟ 33.6 kWh รวม 24 ชั่วโมงก็จะเป็น 57.6 kWh

คุณหญิง S เห็นว่า ค่าไฟอ่วมมาก ๆ เดือนนึงก็กดไป 1,728 หน่วย เป็นเงิน 9,702.14 บาท ไม่ได้แล้วละ เลยไปติด Solar Cell ระบบ On-Grid ขนาด 5 kWp เลยละกัน ในราคา 210,000 บาท แหม่ น่าจะบริษัทเดียวกับนาย P กับ O แหละ

ถ้าเราดูช่วงกลางวันที่เราประมาณคร่าว ๆ ระบบ 5 kWp ใน 5 ชั่วโมงแดด น่าจะทำให้เราได้ไฟประมาณ 25 kWh และ บ้านของคุณหญิง S กลางวันคุณแม่เปิดแอร์นอนอยู่บ้านก็กินประมาณ 24 kWh เรียกว่า Solar Cell Cover ไปหมดเลยทำให้ เราหักส่วนของกลางวันออกไปได้เลย

นั่นแปลว่า บิลค่าไฟที่จะเกิดขึ้นก็น่าจะเป็นแค่วันละ 33.6 kWh คูณ 30 วัน เป็น 1,008 kWh ต่อเดือนเท่านั้น ถ้าคิดเป็นค่าไฟ 5,585.67 บาท ทำให้เดือน ๆ นึงคุณหญิง S จะประหยัดไปได้ประมาณ 4,116.47 บาทต่อเดือน และ ระยะการคืนทุนจะอยู่ที่ 51 เดือน หรือ 4 ปีนิด ๆ เท่านั้น เรียกว่านอกจากจะไม่ขาดทุนแล้ว ก็กลายเป็นว่าเหมือนกับใช้ไฟฟรีไปอีก 6 ปีก่อนที่ Inverter จะหมดประกัน เกิดพังทันที แล้วอาจจะต้องเปลี่ยน

สรุป : คนแบบไหนละ ที่ติด Solar แล้วคุ้ม

จากทั้ง 3 เคสนี้เราพอจะเห็นอะไรมั้ยครับ อย่างแรกคือ การที่เราลงทุนกับ Battery แล้วเราเสียเงินกับการไฟฟ้าน้อยลง อาจจะยังไม่ใช่ทางออก บางเคสมันทำให้ชิบหายกว่าเดิมได้อีก และ ถ้าเราบอกว่า ไม่เอา Battery แต่เรามีการใช้ไฟกลางวันน้อยมาก ๆ มันก็จะทำให้ Solar Cell คืนทุนช้ามาก ๆ แต่ใน Case 3 เราจะเห็นว่า บ้านของคุณหญิง S เขามีการใช้ไฟหนักตลอดเวลา ทำให้ระบบ Solar Cell ผลิตไฟอย่างเต็มที่ใช้งานเกือบ ๆ หมด ทำให้มันคุ้มทุนไวมาก ๆ จนเรียกว่ากำไรเลย

ดังนั้นบ้านที่เราจะแนะนำให้ติด Solar Cell คือบ้านที่มีการใช้ไฟกลางวันเยอะมาก ๆ ถามว่าเยอะเท่าไหร่ เราให้ Guideline ง่าย ๆ เลย พวกเปิดแอร์ทั้งวันทั้งคืน กลางวันใช้เกิน 24 kWh เราว่า บ้านทั่ว ๆ ไปลงระบบ 5 kWp ก็คือคุ้มแบบบ้านคุณหญิง S แล้ว ส่วนพวกบ้านใหญ่กว่านี้ลองใช้ Guideline ที่เราให้ไปคำนวณดูได้ และ บ้านที่เราโคตรจะไม่แนะนำเลยคือ บ้านที่ไม่มีใครอยู่ตอนกลางวัน กลางวันไม่มีการใช้ไฟเลย หรือมีการใช้ไฟน้อยมาก ๆ ต่ำกว่า 24 kWh

เสริม : ถามว่า ถ้าเราใช้น้อยกว่า 24 kWh สัก 10-15 kWh แล้วเราจะลงระบบสัก 3 kWp จะดีมั้ย อันนี้เราแนะนำว่า ไม่แนะนำเหมือนกัน เพราะราคาค่าอุปกรณ์และติดตั้งระบบ 3 kWp ต่ำกว่า 5 kWp อยู่ไม่เยอะมาก ทำให้ระบบ 5 kWh มันเป็นอะไรที่เราคิดว่าคุ้มค่าที่สุดสำหรับบ้าน ณ วันที่เขียนแล้ว

Read Next...

Full-Disk Encryption อีกหนึ่งเครื่องมือเสริมความเป็นส่วนตัวให้คอมพิวเตอร์

Full-Disk Encryption อีกหนึ่งเครื่องมือเสริมความเป็นส่วนตัวให้คอมพิวเตอร์

วันนี้เราจะมาเล่าถึงอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยลดโอกาสที่คนร้ายจะเข้าถึงข้อมูลเครื่องของเราได้ด้วยการใช้ Full-Disk Encryption กัน...

Direct Air Capture เทคโนโลยีแห่งอนาคตสู่ Negative Net Carbon

Direct Air Capture เทคโนโลยีแห่งอนาคตสู่ Negative Net Carbon

เมื่ออาทิตย์ก่อน เราเห็นข่าวเรื่องการเปิดใช้งานเครื่องดักจับก๊าชเรือนกระจกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ วันนี้ชื่อว่า Mammoth ที่มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องก่อนหน้าถึง 10 เท่า วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่าการทำ Direct Air Capture เขาทำกันยังไง ทำไมเทคโนโลยีของเจ้านี้ถึงน่าสนใจ...

ลองกันอีกสักตั้ง iPad Pro ใช้แทนคอมพิวเตอร์ได้มั้ย

ลองกันอีกสักตั้ง iPad Pro ใช้แทนคอมพิวเตอร์ได้มั้ย

เมื่อ 3 ปีก่อน เรามีความพยายามที่จะใช้ iPad Pro เครื่องเดิมแทนคอมพิวเตอร์ ไหน ๆ ตอนนี้เราเปลี่ยน iPad Pro ใหม่แล้ว เราจะมาลองกันอีกสักตั้งว่า เมื่อเวลาผ่านไป มันใช้งานจริงได้มากขึ้นหรือไม่...

ทำไม iPad ยังเป็น iPad ไม่เป็น Mac

ทำไม iPad ยังเป็น iPad ไม่เป็น Mac

ตั้งแต่ iPad Pro M4 และ iPad Air M2 เปิดตัวและเริ่มจำหน่ายออกไป Reviewer หลายคนเริ่มมองเห็นแล้วว่า ปัญหาจริง ๆ ของ iPad ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจาก iPad แต่เกิดจาก iPadOS บางเจ้าบอกว่า อยากให้เอา macOS มาใส่ด้วยซ้ำ มันยังไงกันนะ วันนี้เราจะมาเล่าประเด็นและความเห็นจากเราให้ให้อ่านกัน...