Review

รีวิว Sony WF-1000XM4 หูฟังตัดเสียงรบกวนตัวตึงจากแดนปลาดิบ

By Arnon Puitrakul - 12 มิถุนายน 2023

รีวิว Sony WF-1000XM4 หูฟังตัดเสียงรบกวนตัวตึงจากแดนปลาดิบ

วันนี้เรากลับมากับรีวิวหูฟัง ตัวเดิม แต่รุ่นใหม่ กับการกลับมาของเจ้าแห่งหูฟังตัดเสียงรบกวนอย่างผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Sony วันนี้เขากลับมาทวงบัลลังก์แห่งหูฟังตัดเสียงรบกวนแล้ว กับ Sony WF-1000XM4 มาดูกันดีกว่าว่า มันจะสมมงที่นางควรจะได้มั้ย

แกะกล่อง

ตัวกล่องรอบนี้ เป็นไปตาม Sony ในยุคใหม่ ๆ ละ คือ ลดการใช้วัสดุให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะพลาสติก ตัวกล่องจะเป็นวัสดุ Recycle สักอย่างนี่แหละ ฟิล ๆ เป็นกระดาษแต่แข็งแรงมาก ไม่ต้องกลัวมันจะบุบสลายระหว่างการขนส่งนะ แล้วก็มีการคาดกระดาษที่ด้านหน้าเขาจะมีรูปของตัวหูฟัง และบอกรุ่นชัดเจนเลยว่าคือ WF-1000XM4

Sony WF-1000XM3

เทียบกับกล่องจากรุ่นที่แล้ว เราจะเห็นเลยว่า ขนาดของมันก็คือคนละเรื่องเลยนะ กับพวกการใช้วัสดุต่าง ๆ ก็ทั่ว ๆ ไปไม่ได้รักษ์โลกอะไร ตอนนั้นเราว่า Trend เรื่องพวก Ecofriendly มันยังไม่ถึงมั้ง ก็ถือว่าเป็นการเทียบ ๆ กันละกัน

ด้านข้างก็จะมีสติ๊กเกอร์แปะเป็นพวกการลงทะเบียนการรับประกันอะไรพวกนั้น จริง ๆ ถ้าเราใช้งานกับ App ของ Sony ที่เดี๋ยวจะเล่าให้อ่านกัน เขาจะลงทะเบียนให้เราอัตโนมัติผู้กับ My Sony Account ของเราให้เลย ไม่ต้องเสียเวลาจัดการเอง

ด้านข้างอีกข้างก็จะเป็นพวกรายละเอียดสินค้านั่นนี่อะนะ แต่ที่เห็นว่ามันขาด ๆ เพราะเราแกะเช็คที่ร้านแล้ว มันเลยมาในสภาพนี้ฮ่า ๆ และก็น่าจะเห็นราคาแล้วละอยู่ที่ 8,990 บาทสำหรับราคาเต็มอะนะ

ส่วนด้านใต้อันนี้เราซื้อจาก Shop ของ Sony ที่ Siam Paragon เลยทำให้มีสติ๊กเกอร์อันนี้ เท่าที่เห็น ถ้าเราซื้อจากที่อื่น มันก็จะไม่มีสติ๊กเกอร์อันนี้ ถ้าเปิดมาแล้วไม่เจอก็ไม่ต้องตกใจไป

ด้านบน เขาก็จะมีการบรรยายสรรคุณต่าง ๆ ใช้กับนั่นนี่ได้ เป็น Hi-Res Audio กับได้ 5 ดาวจาก What HI-FI? ด้วยนะ เดี๋ยวรู้เลยว่า มันจะสมราคาคุยมั้ย กับ Battery หน้ากล่องเคลมเลยนะว่า ตัวหูมันใช้ได้ 8 ชั่วโมง บวกกับกล่องอีก 18 ชั่วโมง เป็น 24 ชั่วโมง ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติของหูฟัง Truly Wireless ราคาแบบนี้แล้วละ

เมื่อเราเอากระดาษที่คาดออก อื้อหือออ เขาทำมาสวยใช้ได้เลยนะ แล้วก็ Ecofriendly ด้วย คือ เขามีการกดเป็น 1000X Series เอาไว้ด้วย บอกเลยว่า ตัวตึงนะ ตัวตึงจริง ๆ

จริง ๆ ฝากล่องมันดึงออกมาได้เลยนะ แต่ตอนที่เราเปิด เรากรีดสติ๊กเกอร์แค่ด้านเดียวเลยทำให้เปิดข้างออกมาแบบนี้ เมื่อเราเปิดออกมา เราก็จะเจอกับกล่องหูฟังนอนอยู่ในกล่องโดยไม่มีอะไร Wrap เลยนะ แต่ก็เข้าใจได้ เพราะเขาออกแบบกล่องมาให้ Fitting พอดีกับตัวกล่องหูฟังเลย ถ้า Seal ทั้งหมดมันถูกต้อง เราขนส่งมันก็ไม่ไปกระแทกอะไรหรอก กับกระดาษพวกนี้ไม่ทำให้กล่องหูฟังเป็นรอยหรอก ก็เรียกว่าเป็นการออกแบบที่ฉลาด ลดการใช้พลาสติก

เอาหูฟังออกมา เราจะเจอกับ Quick Start Guide เอาจริง ๆ มันก็อธิบายเจ้าใจง่ายนะ ตอนที่เราหยิบขึ้นมาครั้งแรก ก็ยัง งง ๆ เหมือนกันว่าต้องทำยังไง ยังชินกับ AirPods Pro อยู่ที่แค่แกะ เปิดฝา มันขึ้น Pair เลย แต่อันนี้ไม่เลยจะแอบ งง ภาพช่วยได้เยอะ

ถ้าหยิบมันขึ้นมาก็คือ หนามากเจ้าค่ะ มันคือกล่องสำหรับใส่พวก Paperwork เหมือนกับรีวิวอื่น ๆ คือ ผ่านค่าาา

ด้านล่างสุดก็จะเป็น Compartment สำหรับพวกอุปกรณ์ที่ติดมากับตัวหูฟังละ

เริ่มจากด้านล่างก็จะเป็นสาย USB-C to USB-A เส้นสั้น ๆ สำหรับชาร์จตัวกล่องหูฟัง แต่เอาจริงเลยนะ ถึงเส้นมันสั้น คุณภาพมันดีจริง ๆ นะพวกหัวเสียบคือ แน่นใช้ได้ดีมาก ๆ เสียดายแค่ว่าอีกด้านเป็น USB-A เท่านั้นแหละ

และด้านบนจะเป็นจุกหูฟัง โดยที่ตัวหูฟัง เขาจะใส่เป็น Size M มาแล้ว แล้วจะมี Size S และ L เพื่อให้เข้ากับขนาดหูของแต่ละคน โดยที่เป็นสไตล์ Sony ที่เขาจะทำสีที่หลังจุก เพื่อบอก Size ด้วย แต่ที่เห็นว่าทำไม Size S สีไม่เหมือนกัน เพราะจริง ๆ คือ อันเขียวคือ Size M เราสลับใส่ หูเราไม่เท่ากัน ข้างนึง M ข้างนึง S

เราจะบอกเลยว่า เรื่องของ ขนาดจุกหูฟัง มันสำคัญมาก ๆ สำหรับหูฟังที่เป็น Noise Cancelling เลย ถ้าเราใช้ใหญ่ไปใส่ไปมันจะปวดหัว แต่ถ้าเล็กไปเสียงจะเล็ดรอดเข้ามาได้ ทำให้เสียประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก

จากรุ่นก่อน เขาจะแถมจุกมาทั้งหมด 2 แบบคือ ยาง และ โฟม ขึ้นกับความชอบของเรา แต่ในรุ่นนี้ เขาแถมมาแค่แบบโฟม ซึ่งเอาจริง ๆ โฟมพวกนี้มันจะกันเสียงรบกวนได้มากกว่า แต่เราว่ามันจะแอบจุก ๆ มันจะแนบสนิทเราจริง ๆ เดี๋ยวมาเล่าตอนการใช้งานละเอียดอีกที

โดยสรุปแล้วหลัก ๆ ในกล่อง ก็จะไม่มีอะไรมาก นอกจากกล่องหูฟัง, Paperworks, จุกหูฟัง 2 ขนาด และ สาย USB-A to USB-C เท่านั้น ตาม Concept Packaging สมัยใหม่หน่อย รักษ์โลกมากขึ้น แถมของน้อยลง

Sony WF-1000XM4

เราเริ่มจากกล่องหูฟังกันก่อนละกัน สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน และแฟน ๆ โซนี่น่าจะดีใจโห่ร้องว่าทำไม มึ_ ไม่ทำตั้งแต่รอบก่อนคือ ขนาดของกล่องที่เล็กลงเป็นอย่างมาก และเราบอกเลยนะว่า มันเป็นครั้งแรกเลยนะ ที่เรามองว่า Design กล่องหูฟังมันสวยกว่า AirPods เนี่ย ไม่ต้องไปนับอี Generation ก่อนหน้าเลยนะ อันนั้นสาปส่งมาก แต่ทุกคนดูภาพด้านบนสิ มันอยู่ในอุ้งมือเราได้เลย ขนาดเล็กมาก ๆ และ วัสดุของมันบอกเลยว่า จับแล้วฟิลมันดีมาก มันไม่ใช่พลาสติกเฉย ๆ อะ เขาทำให้สัมผัสมันคล้าย ๆ ยางมี Grip ในการจับแล้วไม่หลุดมือ ไม่เป็นรอยนิ้วมือ ไม่เป็นขนแมว ดูเรียบสวยเลย

เราเทียบขนาดกับ AirPods Pro Gen 1 ที่เราใช้มา เราว่าความกว้างยาว ก็ใกล้เคียงกันเลย

แต่ถ้าเป็นความหนา ก็จะเห็นเลยว่า WF-1000XM4 หนากว่า AirPods Pro เล็กน้อย ทำให้ถ้าถามเราว่า ถ้าเราพกพา ใส่กระเป๋ากางเกง เราให้ AirPods Pro ชนะนะ เพราะเวลาเราเอาใส่กระเป๋ากลางเกง พื้นที่กว้างยาว เรามีพอสมควรแล้ว แต่ความนูน ถ้ามันหนามาก ๆ จะทำให้กระเป๋ากางเกงมันนูนดูไม่ดีเท่าไหร่ โดยเฉพาะบางคนที่ใส่กางเกงขาเดฟหน่อย มันก็จะยัดเข้าไปยาก ส่วนถ้าเราถือกระเป๋าอยู่แล้ว ก็จบไม่มีปัญหา

เปิดกล่องออกมา เราจะเจอกับหูฟังที่อยู่ในกล่องอย่างดีเลย จากรูปอาจจะเห็นไม่ชัดมาก เขาจะมีไฟแสดงสถานะของหูฟังไว้ให้เราด้วย เช่นถ้ามันพร้อมใช้งาน แบตเยอะมันก็จะเป็นเขียว หรือถ้ามันกำลังชาร์จมันก็จะเป็นสีส้ม หรือถ้าแบตใกล้หมดจะเป็นสีแดงอะไรแบบนั้น แล้วพอเราปิดฝา ไฟมันแล๊บออกมาแล้วคือ โคตรเรียบหรูเลย

ที่ฝา นางก็มีลูกเล่นนะ คือเวลาเราเปิดฝา เราง้างมันถึงจุดนึง ถ้าเราปล่อยนิ้วออกจากฝา มันก็จะงับปิดเองเป็นกลไกของมัน

แต่ถ้าเราง้างมันขึ้นไปอีก มันจะมีล๊อคของมันอยู่ ถ้าเราปล่อยนิ้ว ฝามันก็จะเปิดคาอยู่แบบนี้เลย ถามว่า กลไกแบบนี้มันดียังไง มันดีตอนเราใช้งานจริง เราจะหยิบหูฟัง เราก็ต้องใช้มือนึงจับกับกล่อง อีกมือหยิบหูฟังใส่หูเรา เราคงไม่ได้เอานิ้วคาไว้ที่ฝากล่องแน่ ๆ ถ้าเราสามารถที่จะง้างฝาให้ค้างไว้ได้ เราก็จะหยิบได้ง่ายขึ้นนั่นเอง เป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่เวลาใช้จริงมันช่วยเราได้เยอะมาก ๆ

ด้านบนของกล่อง เขาทำมาเป็นโค้ง ๆ เล็กน้อย เวลามันโดนแสง มันจะดูไม่เรียบเหมือนรุ่นก่อน คิดว่าน่าจะเป็นส่วนนึงที่ทำให้เวลาเรามองมัน แล้วรู้สึกว่าสวยมาก ๆ กับมีการพิมพ์ Sony เป็นสีทอง ๆ นิด ๆ อยู่ด้วย เพิ่มความหรูหราเข้าไปอี๊กกกก

ที่ก้นของกล่องหูฟัง มันก็จะเป็นพวกรายละเอียดของตัวกล่อง และ หูฟังเอง อาจจะดูไม่ชัดมากนะ คือ ก้นของกล่อง เขาจะทำเป็นเรียบ ๆ แล้ว ทำให้เราสามารถที่จะตั้งมันได้แล้ว จากรุ่นก่อนที่ทำมาเป็นโค้ง ๆ จะวาง เราก็ต้องจับมันนอน ก็อาจจะดูไม่สวย

ตอนนี้เราก็วางมันตั้งได้แล้ว รู้สึกว่า วางแบบนี้ ดูดีกว่าจับมันนอนเยอะมาก ๆ กับเวลามันวางในลักษณะนี้ เราสามารถหยิบมันมาใช้งานได้ง่ายกว่านะ จากเดิมที่พื้นสัมผัสข้างมันจะโค้ง ๆ แล้ววางนอนอีก จับยาก อันนี้คือเป็นก้อนขึ้นมา เราหยิบมันได้ง่ายมาก ๆ

และอีกประโยชน์ของการที่มันวางตั้งได้คือ เขาใส่ Feature ในกรชาร์จผ่านแท่นชาร์จไร้สายมาแล้วโว้ยยยย สักทีเถอะ รุ่นก่อนเรามีปัญหามาก ที่มันชาร์จไรสายไม่ได้ เราต้องเสียบสายเอา พอมันเป็นไร้สาย เรากลับบ้านมา เราวางมันกับแท่น เช้ามามันก็เต็มพร้อมเอาออกไปใช้ต่อ เทียบกับต้องกลับมาเสียบสาย ไร้สายดีกว่าเห็น ๆ

ด้านหลังของกล่อง ก็จะมีรู USB-C สำหรับเสียบชาร์จก็ได้เหมือนกัน โดยใช้สายที่เขาให้มานั่นแหละเสียบชาร์จได้เลย

มาดูที่หูฟัง พระเอกของเรากันบ้าง เราชอบที่เขามีท่ออากาศออกที่ทำมาเป็นสีออก Rose Gold นิด ๆ เหมือนเป็นจุดที่บอกได้คร่าว ๆ ว่า เวลาเราวางเข้าไป มันจะต้องวางไว้ซ้ายหรือขวา แค่หันท่อนี่ออกก็พอแล้ว

ที่ตัวหูเลย เราบอกไปละว่ามันมีท่อ และ แผ่นกลม ๆ นูน ๆ ที่เราเห็น เขาจะเป็น Touch Sensor  โดยเราสามารถแตะ หรือทำ Guesture อื่น ๆ เพื่อสั่งงานได้ โดย Gesture พวกนี้ เราสามารถเข้าไปตั้งค่าใน Headphone Application บนโทรศัพท์ได้เลย จากการใช้มา เราว่ามันแอบไม่ค่อย Sensitive หน่อย แอบใช้ยากกว่าการบีบบน AirPods Pro เยอะ เราแตะใช้งานเร็ว ๆ มันบ้างก็ติดบ้างก็ไม่ติด แต่ถ้าเราค่อย ๆ แตะ แตะเข้าไปเน้น ๆ อะติดเลยใช้ได้เลย อาจจะต้องอาศัยเวลาให้เราชินด้วยมั้ง

ด้านหลังหูฟังเอง ที่เราเห็นเป็นจุด ๆ สีทอง อันนั้นจะเป็นขั้ว Contact สำหรับติดกับกล่องชาร์จ และที่เราเห็นเงา ๆ ดำ ๆ ใกล้ ๆ กัน เขาจะเป็น Sensor สำหรับเช็คว่า เราใส่หูฟังอยู่มั้ย ถ้าอยู่ ๆ เราถอดออก มันก็จะหยุดเล่นเพลงเอง และสุดท้าย ที่เห็นเป็นตัว L คือเป็นตัวระบุข้างนะ ข้างซ้ายก็จะเป็นอย่างที่เห็นเลย มีตัว L และพื้นหลังสีขาว ส่วนข้างขวาจะเป็นพื้นออกส้ม ๆ เขียน R ไว้ ทำให้เราสามารถมองมันผ่าน ๆ ด้วยสีก็เดาได้แล้วละ แต่เวลาใช้จริง เราหยิบออกจากกล่องมา มันก็จะเอาใส่หูด้านที่อยู่ในกล่องแหละ มันก็จะไม่ค่อยสับสนเท่าไหร่ เว้นแต่ เราใช้เสร็จจะวางไว้ข้างนอก แล้วค่อยเอามาใส่เท่านั้นแหละ

รูปทรงของหูฟังรอบนี้ เราว่าก็ออกแบบมาดีกว่าเดิมเยอะ จากเดิมที่เวลาเราใส่ เราจะต้องเสียบเข้าหู แล้วบิด อันนี้เราสามารถยัดเข้าหูตรง ๆ ได้เลย ความหนาไม่เยอะ ทำให้ไม่รู้สึกว่า ใส่แล้วเหมือนหูฟังเป็นส่วนเกิน รู้สึกคล่องตัวอยู่

อีกข้างมีการพิมพ์ Brand Sony เอาไว้เหมือนกับที่ฝากล่องเก็บ ส่วนตัวแอบเฉย ๆ กับอันนี้ สุดท้าย เราก็ไม่ค่อยได้มองเท่าไหร่อยู่ละ

ด้านล่างนี้ เราจะเห็นมันเป็นรู อันนี้เราไม่แน่ใจนะว่า มันเป็นรูอะไร ไมค์ หรือ ท่อระบายเบส จริง ๆ อาจจะสลับกับท่อที่เราพูดถึงก่อนหน้าเมื่อกี้ด้วยมั้ง อันนี้ไม่ชัวร์นะ ลองไปหาอ่านรีวิวเจ้าอื่นประกอบด้วยก็ได้

Connectivity

การเชื่อมต่อ แน่นอนว่า พอเป็นหูฟัง Truly Wireless เราก็ต้องเชื่อมต่อไร้สายตามชื่อของมันแน่นอน ใน Sony WF-1000XM4 นี้ เขาก็ได้ทำการ Upgrade มาใช้ Bluetooth 5.2 ที่ทำให้การเชื่อมต่อเสถียร และ ใช้พลังงานน้อยลงมาก ๆ

และยังเป็นรุ่นแรกในตระกูล WF-1000 ที่รองรับ Bluetooth Codec ที่ให้เสียงระดับ Hi-Res อย่าง LDAC ของ Sony เองบนฝั่ง Android และ สำหรับ Apple Device ทั้งหลาย เราใช้งาน LDAC ไม่ได้ ก็กลับบ้านไปใช้ AAC ที่ให้เสียงความละเอียดประมาณนึงต่อไปละกัน

เราก็ทดลองเทียบความต่างของ LDAC บนโทรศัพท์เครื่องเก่า ๆๆๆๆๆ ของเราคือ Sony Xperia X Compact ใช่แล้ว เราก็เคยเป็นสาวกอายธรรมเหมือนกัน ก่อนจะเข้าสู่วงการทุนนิยมผลไม้แหละ เอาจริง ๆ มีความต่างมั้ยใน Track และ Source เดียวกัน เราว่ามี เราได้ยินหลายจุดที่พอเราไปใช้ LDAC มันมีรายละเอียดเล็ก ๆ ขึ้นมา แต่ถ้าเป็นคนทั่ว ๆ ไปฟังเพลงเฉย ๆ ไม่ได้เป็น Audiophile ไม่ได้ผ่านลำโพงหลักแสนมา เราว่าไม่รู้สึกความต่าง ดังนั้นสบายใจได้ ถึงเราจะใช้ AAC แต่ก็โอเค

ระยะการใช้งาน เราลอง LDAC แล้วระยะมันสั้นมาก ๆ คือ ถ้าเราไปออกกำลังกาย ตัวออกห่างจากโทรศัพท์หน่อยก็คือกระตุกละ เข้าใจได้ว่า มันอาจจะอาศัย Bandwidth เยอะแหละ เลยทำให้มันไม่ทนต่อความไม่เสถียร แต่ถ้าเราต่อกับ iPhone 14 Pro มันไปได้ไกลมาก ๆ เดาว่า น่าจะนี่แหละ เรื่อง Codec ด้วยส่วนนึง

ไหน ๆ เราพูดเรื่องการออกกำลังกายแล้ว ใน Generation นี้ เขาพัฒนาใส่ Feature การกันน้ำระดับ IPX4 หรือก็คือ พวกเหงื่อ ละอองน้ำ น้ำกระเซ็น ไม่มีปัญหาเลย แต่ดำน้ำไม่ได้เด้อ

Sound

คุณภาพเสียง รอบก่อน เราบอกไปแล้วแหละว่า เสียงมันออกสะอาด ๆ หน่อย ซึ่งใน Mark 4 Sony ก็ยังคงรักษาคุณภาพนั้นไว้ได้ รวมไปถึง Character เสียงอุ่น ๆ ของ Sony ฟังสบาย ๆ ฟังง่าย เข้าถึงง่าย ไม่จำเป็นต้องเป็น Audiophile ถึงจะสัมผัสความสนุกจากมันได้ และ สนุกได้กับแนวเพลงหลาย ๆ แนว แต่ไม่ได้เน้นไปทางใดทางหนึ่ง ดังนั้น เรามองว่า เสียงมันออกโทนไปในแนวของคนใช้งานทั่ว ๆ ไปฟังเลย ไม่ได้ฟิคแนวตายตัว

Sound Stage ไม่ได้กว้างมาก แต่ถือว่า กว้างมากเมื่อเทียบกับหูฟัง Truly Wireless หลาย ๆ ตัว ด้วยความที่ Driver มันก็ได้เท่านี้แหละ มันจะไปสู้กับ Driver ของ Overhead หรือ Speaker เลย เราว่ามันก็จะเกินตัวไปหน่อย ชกกันคนละรายการเลย

แต่เรื่องที่มันได้รับการแก้ไข แล้วฟิลเปลี่ยนหน้ามือหลังเท้าเลยคือ ย่านเบส จากเดิมที่เบสแทบไม่มา อันนี้คือ มาเป็นลูก ๆ นวล ๆ ไม่แหลมบาดหู ไม่กินย่านเสียงอื่น หรือกินก็น้อยมาก ๆ เสียงร้องยังอยู่เกือบ ๆ ครบ ไม่ทำให้ Sound Stage อวน ๆ แคบ ๆ ด้วย ถือว่า เห้ย ทำได้ดีขึ้นเยอะมาก

จุดเล็ก ๆ อย่างพวกเสียง Effect เล็ก ๆ ข้างหลัง มันก็ทำได้ดีกว่า Generation ก่อนด้วยเช่นกัน บางเพลงเช่น Slave to the Rhythm ของ Micheal Jackson ในท่อน Intro เขาจะมีเสียง Bass ทุบ ๆ ที่หนักมาก ๆ แต่ด้านในเขาใส่ลูกเล่นเป็นเสียงกรุก ๆ เล็ก ๆ ตัวหูฟังถ่ายทอดออกมาได้เป็นอย่างดีถือว่า ดีในระดับของ Truly Wireless เลยทีเดียว

หรือถ้าเราไปฟังเจ้าแม่เสียงปรี๊ดดดดด อย่าง Whitney Houston เอาเพลงที่เราชอบละกันคือ Greatest Love of All ทำให้เห็นข้อด้อยเลยคือ เสียงสูง ๆ หน่อย หูฟังตัวนี้พาเราไปได้ไม่ถึงเสียงของ Whitney Houston เลยนะ เราลองเพลงเดียวกันใน Spotify, Apple Music และ Tidal บน Xperia X Compact ใช้ LDAC แล้วก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ แปลว่าไม่เกี่ยวกับ Source ละ ถ้าชอบเพลงพวกนี้ ฟังเพลงกลุ่มนี้เป็นหลัก เราคิดว่าอาจจะยังไม่ใช่หูฟังสำหรับคุณเท่าไหร่

อีกด้าน ก็คือ การรับเสียง Microphone ก็ทำได้ดีขึ้นมากจริง ๆ จากเดิมที่เรียกว่า ขยะสังคม ตอนนี้น้องกลับเข้าสู่สังคมได้แล้ว โอเค อาจจะยังซัดกับ Gold Standard อย่าง AirPods ไม่ได้ แต่ถือว่าตี ๆ ได้กับหูฟัง Truly Wireless หลักร้อยได้แล้ว เป็นความก้าวหน้าที่ดีขึ้น

รักษาคุณภาพเสียงเดิม และเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ได้ แล้วแก้ไขข้อด้อยจาก Generation ก่อนอย่างเห็นได้ชัด เรื่องนี้ เราขอชื่นชม Sony ในเรื่องนี้มาก ๆ ที่ทำให้หูฟัง Truly Wireless ของตัวเองสมบูรณ์มากขึ้น ก็หวังว่าใน Generation หน้าก็จะรักษาคุณภาพเดิมแล้วพัฒนาให้มันดีขึ้นไปอีก เราว่าเดินถูกทางละ Sony เดินต่อไป ๆ

Noise Cancelling

อีกจุดเด่นของหูฟังใน Series นี้ของ Sony คือการทำ Noise Cancelling แน่นอนว่า เขาจะกลับมาทวงบัลลังก์แห่งหูฟังตัดเสียงรบกวน เขาอัดเต็มเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะเลย

รอบนี้เขาอัด Microphone มาเพิ่มเป็นข้างละ 2 ตัวเลยนะ คือ Feed-forward และ Feed-back Microphone ที่หันออกด้านนอกคอยรับเสียงจากด้านนอก และอีกอันหันใส่หูเรา เพื่อกลบเสียงให้ได้มีประสิทธิภาพที่สุด

แล้วเราอย่าลืมนะว่า เวลาเราทำ Adaptive Noise Cancelling แบบนี้ มันต้องทำแบบ Real-time นะ ไม่ใช่ทำยังก็ได้นะ ประกอบกับพอเรามี Microphone เพิ่มมากขึ้น นั่นส่งผลให้ ปริมาณข้อมูลที่ตัวหูฟังมันต้องประมวลผลมันเยอะขึ้นแบบทวีคูณเลย เพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้ Sony เลยเลือกที่จะทำ Custom SoC ในรุ่น V1 ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้เลย

โม้สรรพคุณไปเยอะละ ในการใช้จริง เจอหูฟังแบบนี้ แน่นอนว่า เราก็ต้องพามันไปทดสอบในที่ ๆ เดือด ๆ หน่อย อย่างบนเครื่องบนจุก ๆ ไปเลย จากเดิมรุ่นก่อน เราลองมันก็ยังมีเสียงเครื่องบินเล็ดรอดเข้ามาได้บ้าง แบบบ้างมาก ๆ นะ อันนี้คือ หายแบบหายไปเลย หรือกระทั่งเรานั่งพิมพ์บทความนี้อยู่ เราใช้ Machanical Keyboard แบบ Blue Switch เลย เปิดเพลง กับ Noise Cancelling ไป เสียง Keyboard คือไม่มีเลย ถือว่า Amazing มาก ๆ

อีกปัญหาที่เราเจอกันเวลาเราใช้หูฟัง Noise Cancelling คือพวก ลม เช่นเวลาเราขึ้นพี่วิน แล้วเราใส่กับเปิด Noise Cancelling ก็คือ เละ เจ้าค่ะ เสียงลมกินเสียงหมดเลย แตกยับ อันนี้เขาป้องกันไว้แล้ว เราเลยไปลองปั่นจักรยานเร็ว ๆ ดู ก็ไม่มีปัญหาเลย ยอดเยี่ยมาก

กลับกันถ้าเราใช้ Ambient Sound ด้วยความที่ Microphone เขาได้รับการพัฒนาขึ้นมา เสียงภายนอกที่ดูดเข้ามา ก็ทำได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น ยังไม่ถึงจุดที่เราจะใส่หูฟังคุยกับคนข้างนอก เพราะเรารู้สึกว่า มิติของเสียงมันยังเลียนแบบหูเราได้ไม่เก่งมากเท่าไหร่ เช่น มีคนกำลังกระซิบกันไม่ไกลมาก ถ้าเราไม่ใส่หูฟังเราไม่ค่อยได้ยิน แต่พอเราใส่ปุ๊บมันได้ยินเต็ม ๆ เลย มัน Sensitive ไปหน่อย แต่ถ้าฟังผ่าน ๆ ไม่คิดอะไร แบบรอรถ คือว่าดีขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก ๆ

กับพวก Speak-to-Chat เป็นอีก Feature ที่ได้รับการปรับปรุง การทำงานของมันคือ เมื่อหูฟังมันรู้ว่า เราพูด มันจะตัดเข้าสู่โหมด Ambient Sound ให้เราเอง แล้วพอเราพูดเสร็จมันก็ตัดกลับไป Noise Cancelling รอบก่อนเขาใช้แค่ Microphone เฉย ๆ แต่รอบนี้เขาไปอีกขั้น เขาใช้ Bone Conduction Sensor หรือ Sensor ที่จับการสั่นสะเทือนบริเวณหูของเรา เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงได้อีกส่วน ทำให้ความแม่นยำมันสูงขึ้นมาก ๆ

อีกจุดที่ทำให้การทำ Noise Cancelling ดีขึ้นเยอะมาก ๆ คือ จุกหูฟัง อย่างที่เราบอกไปแล้วว่า การที่มันเป็นโฟม พวกนี้มันจะซีลเสียงได้ดีกว่าเดิมเยอะมาก ๆ เราลองเทียบบนเครื่องบินคือ ใส่ผิดขนาดไปตั้งใจให้เสียงผ่านเข้ามา กับใส่ขนาดที่ถูกต้อง ยังไม่ต้องเปิด Noise Cancelling ก็ทำให้เสียงเครื่องบินหายไปเกินครึ่งแล้ว ดังนั้น การที่เราได้ Noise Cancelling ดีขนาดนี้ ก็เป็นเพราะ จุกหูฟัง และระบบ Noise Cancelling ที่ยอดเยี่ยมของ Sony

แต่ ๆๆๆๆๆๆ จุดที่ Sony ทำได้แย่มากสำหรับ Noise Cancelling คือ ความเป็นธรรมชาติ คือเราเข้าใจว่า Noise Cancelling มันต้องเงียบ แบบ เงียบจริง ๆ แต่มันทำให้เวลาเราใส่ไปแล้วเปิด Noise Cancelling มันจะเงียบเกินไปจนรู้สึกอึดอัดมาก ๆ แต่ Sony ก็แก้ปัญหานี้ด้วยการที่ทำให้เราสามารถปรับระดับของ Noise Cancelling เอาได้

ดังนั้น ในแง่ของการทำ Noise Cancelling ถือว่าเก่งมาก ๆ เก่งจริง ๆ นะ ดีกว่า Gold Standard อย่าง AirPods Pro Gen 2 อีก ทำออกมาได้โคตรเงียบ เงียบจนอึดอัด ทำให้มันก็เป็นดาปสองคมเหมือนกัน ทำให้ฝั่งของ Sony WF-1000XM4 เขาจะซัดไปด้านเงียบเลย แต่ AirPod Pro Gen 2 เขารักษาสมดุลได้ดีกว่ามาก ก็ขึ้นกับคนชอบละ ถ้าเราเดินทางด้วยเครื่องบินเยอะ ๆ เราโคตรแนะนำ Sony เลย ช่วยให้เรานอนหลับบนเครื่องได้สบายขึ้นเยอะ

สรุป

โดยสรุป Sony WF-1000XM4 เป็นหูฟังที่อาจจะไม่ได้ดีที่สุดในทุก ๆ ด้าน มันมีด้านเด่น ๆ ของมันคือ เรื่อง Noise Cancelling ที่ยอมรับเลยว่า มันเก่ง มันเงียบจริง ๆ ยิ่งถ้าคนชอบด้วย เราว่ามันจะรักเลย กล่องขนาดกำลังดี การสวมใส่สบาย จุกขึ้นกับคนชอบละ แต่เราก็สามารถไปหาเปลี่ยนได้แหละ ไม่ยากอยู่ละ พอมาใช้เทียบกับ Generation ก่อน เราเห็นถึงความตั้งใจของ Sony มาก ๆ ในการทำหูฟัง Series นี้ออกมาเรื่อย ๆ รอบนี้ เขาพยายามปิดจุดอ่อนที่สำคัญหลาย ๆ จุดของ Generation ก่อนไปเยอะ และยังรักษาจุดเด่นของตัวเอง จนทำให้มันกลับมาทวงบัลลังก์ได้แบบชิว ๆ Nailed it มาก ๆ กลายเป็น The king of truly wireless ได้เลย หวังว่าใน Generation ต่อ ๆ ไป Sony จะยังคงทำได้ดีเหมือนเดิมเด้อ

Read Next...

รีวิว Apple Password Manager จากเรื่องง่าย ทำให้ทุกอย่างยาก

รีวิว Apple Password Manager จากเรื่องง่าย ทำให้ทุกอย่างยาก

หนึ่งใน Feature ใหม่ที่เปิดออกมาทั้งใน macOS Sequoia, iPadOS 18 และ iOS 18 คือ App ที่ชื่อว่า Password เป็น Password Manager ของ Apple วันนี้เราได้ทดลองใช้งานมันมาประมาณ 1 อาทิตย์แล้ว จะมาเล่าให้อ่านกันว่าอาการมันเป็นยังไง มันทำให้ชีวิตเราเหนื่อยขึ้นได้อย่างไร...

รีวิว macOS Sequoia การอัพเดทที่ทำให้ Ecosystem แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

รีวิว macOS Sequoia การอัพเดทที่ทำให้ Ecosystem แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

เป็นประจำในทุก ๆ ปีที่ Apple จะเปิดตัว macOS Version ใหม่ออกมาให้ผู้ใช้ Mac ได้ Upgrade กัน ในปีนี้เอง Crack Marketing Team ก็ทำหน้าที่ของตัวเองในการออกไปหาชื่อใหม่ให้กับ macOS ในปีนี้ชื่อว่า macOS Sequoia จะมี Feature อะไรเด็ด ๆ บาง วันนี้เรารวมเอามาเล่าให้อ่านกัน...

รีวิว iOS 18 การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยแต่ยิ่งใหญ่

รีวิว iOS 18 การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยแต่ยิ่งใหญ่

หลังจาก Apple เปิดตัว iOS18 และ iPadOS18 วันนี้เราจะมาเล่าพวก Feature ต่าง ๆ ที่เราได้ทดลองใช้งานมาหลายวันพร้อมกับบอก Use Case การใช้งานต่าง ๆ ว่ามันเอามาทำอะไรได้บ้าง...

รีวิว iPhone 16 Pro Max รุ่นใหม่ มีอะไรใหม่นะ?

รีวิว iPhone 16 Pro Max รุ่นใหม่ มีอะไรใหม่นะ?

อีกหนึ่งรีวิวที่หลาย ๆ คนถามเข้ามากันเยอะมาก นั่นคือ รีวิวของ iPhone 16 Pro Max วันนี้เราได้เครื่องมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วันนี้เราจะมารีวิวประสบการณ์การใช้งาน จับข้อสังเกตต่าง ๆ รวมไปถึงตอบคำถามที่สำคัญว่า iPhone รุ่นนี้เหมาะกับใคร...