อีก 1 ปีในมหิดลศาลายา จบปี 4 แล้วเฮ้ ! จาก Senior สู่ Freshman อีกครั้ง

ยังจำได้อยู่เลยเมื่อ 4 ปีก่อนที่มาเรียนปรับพื้นฐานที่คณะ ICT ครั้งแรก เราเห็นพี่ ๆ ห้อย Strap สีฟ้า (ปี 4) แล้วก็อยากได้บ้าง (เพราะเราชอบสีฟ้า ถถถถ) จนได้มาแล้ว แล้วก็เรียนจบแล้ว ทำให้นึกได้ว่า เออเวลามันผ่านมาเร็วจริง ๆ นะ เร็วจนเราตั้งตัวไม่ทันเลย รู้ตัวอีกทีคือ อ้าวจบแล้วเหรอ วันนี้เลยจะมาเขียนบอกเล่าเรื่องราวช่วงชีวิตปีสุดท้ายของการเรียนปริญญาตรีใน ICT มหิดลกันว่ามันเป็นยังไง

ชีวิตประจำวัน

ตั้งแต่ผ่านช่วงปี 3 ที่ไปแข่ง ทำโน้นนี่นั่นเต็มไปหมด ชีวิตช่วงปี 4 ก็เข้าสู่ความสงบสุขอีกครั้ง เพราะไม่ได้ไปแข่งอะไร จำไม่ได้แล้วว่าชีวิตเรามันยุ่งชิบหายเหมือนตอนนั้นตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่เอาเถอะ ช่วงนั้นก็รู้สึกว่าเป็นอีกช่วงของชีวิตที่เหมือนได้หายใจอย่างทั่วปอดมากขึ้น

ความพยายามในการจัดสรรเวลา และดูแลสุขภาพก็มากขึ้นเช่นกัน เพราะเรามีเวลามากขึ้นแล้วไง ตอนนั้นก็มีความพยายามในการออกไปปั่นจักรยานจริง ๆ จัง ๆ ทุกวันอาทิตย์เย็น ซึ่งก็ทำได้หลายเดือนอยู่ แต่ช่วงเวลาที่ได้หายใจมันก็หมดไปเร็วยังกะโดนผ้าคลุมกาลเวลาครอบ กับเรื่องของการกินที่พยายามมากขึ้นกว่าปีที่แล้วในการเลือกกิน สุดท้ายก็ห้ามปากตัวเองไม่ได้สักที สุดท้ายแก้ปัญหาด้วยการล๊อคห้องหนีไม่ให้ตัวเองออก ถถถถ

อีกสิ่งที่ตอนนั้นเริ่มทำคือ การเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา 💩 เฮ้ยเรื่องจริงนะ เมื่อก่อนไม่ได้คิดถึงอะไรแบบนี้เลย จนได้ลองทำดูแล้วก็มันช่วยได้อยู่นะ ตอนนั้นมีปัญหาว่าไปไหนก็ 💩 บางวันก็เข้า บางวันก็ไม่เข้า มันเป็นอะไรที่รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องดีเลย ก็เลยลองวิธีที่เพื่อนบอกมาคือ ตื่นเช้าในเราดื่มน้ำแล้วเชิญเข้าห้องน้ำเลย เดี๋ยวมันจะมาเอง สำหรับเราคือมันมาจริงหว่ะ !! Shit in the hole!!!

นอกจากนั้น เพื่อการบริหารจัดการเวลาที่ดีขึ้น ก็เอา To-Do List และ Calendar กลับมาใช้ เพื่อติดตามงานที่เราต้องทำในแต่ละวัน ว่าวันนี้เราต้องไปไหนบ้าง เวลาเท่าไหร่ ต้องทำอะไรบ้าง ช่วยได้ดีมากในเรื่องของการ กันลืม เพราะ To-Do List ที่เราทำในแต่ละวันจะบอกเลยว่า เราต้องเอาอะไรไปบ้าง ต้องเอาคอมไปรึเปล่า ต้องหยิบกระเป๋าในไหนไปอะไรทำนองนั้นเลย โดย List นี้จะมาจาก Calendar ที่เก็บไว้ว่าเราต้องไปไหนวันไหน แล้วค่อยเอามาทำ To-Do List ในแต่ละวัน

ซึ่งในทุก ๆ เช้าที่เข้าห้องน้ำไป 💩 ก็จะเอา iPad ไม่ก็ 📄 + ✏️ เข้าไปด้วยเพื่อทบทวนว่า วันนี้เราต้องทำอะไรให้เสร็จบ้าง ไปไหนบ้าง แล้วจะมีเวลาว่างเอา Task โน้นนี่นั่นไปใส่ตรงไหน บางวันเป็นวันกินเยอะก็จะใช้เวลานานหน่อย ก็จะเอา Task บางอย่างอย่างการเขียน Code เข้าไปนั่งคิดด้วยเลยว่า เราจะแก้ปัญหายังไง เพื่อให้เวลาเรามานั่ง Coding เราก็จะใช้เวลาน้อยลงนั่นเอง

จริง ๆ เราว่าสาเหตุที่คน Coding นาน ๆ ไม่น่าจะเป็นเพราะพิมพ์กันเท่าไหร่หรอก (ไม่นับว่าเป็นมือใหม่) น่าจะเป็นตรงที่คิดมากกว่า คิดไม่ออกแล้วก็นั่งอยู่น่าคอมไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะคิดออกนี่แหละ ส่วนตัวเราไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เพราะนั่งหน้าคอมนาน ๆ มันจะเมื่อย เสียสุขภาพหมด วิธีที่เราทำง่าย ๆ คือคิดแล้วเขียนใส่ 📄 มาก่อนแล้วค่อยมาเขียนใน 🖥 ก็จะช่วยให้เราสามารถลดเวลาหน้าคอมได้อีกด้วย ซึ่งมันก็นำไปสู่ทักษะที่เรามักจะบอกเด็กรุ่นใหม่ ๆ ว่า การ Coding ในกระดาษเป็นอะไรที่ควรฝึกมาก เพราะมันทำให้เรารู้จักคิดมากขึ้น เหมือนสมัยก่อนที่กล้องถ่ายรูปมันเป็น Film ตอนถ่ายก็ไม่รู้ว่าผลลัพธ์เป็นยังไง จะรู้ก็ตอนที่เอาไปล้างแล้ว พอมาสมัยนี้มีกล้อง Digital ก็ทำให้คน คิดก่อนกดน้อยลง กด ๆ เผื่อไป การเขียนโปรแกรมก็เช่นกัน สมัยนี้เราว่า พวกเราพึ่ง เครื่องกันมากเกินไป ทำให้เราลืมแก่นของการลำดับขั้นตอนและ Logic ต่าง ๆ ไป

เรื่องหนึ่งที่เรามองว่า มันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ กับเรา และน่าจะกับทุกคนเลยคือ เรื่องของ Work & Life Balance ที่บางครั้งเราอาจจะทำงานหรือเรียนมากไป จนไม่ได้ดูแลตัวเองเลย หรือบางคนก็แม่มไม่ทำงานเลยก็มีเหมือนกัน ถ้าเราสามารถจัดสรรเจ้างานและชีวิตของเรา หลาย ๆ เรื่องมันก็จะดีเอง อย่างที่เราเคยพูดเสมอว่า คนเราอาจจะไม่ได้มีสิ่งที่เท่ากันทุกคน สิ่งนั้นคือต้นทุนชีวิต แต่สิ่งนึงที่เราว่าทุกคนมีเท่ากันแน่ ๆ คือ เวลา ทุกคนมี 24 ชั่วโมงต่อวัน 30 วันต่อเดือน และ 12 เดืิอน ทุกคนไม่ว่าเขาจะรวย จน หรือตลาดล่างอะไรก็ว่าไป เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการเวลานี่แหละ จะเป็นสิ่งที่เราทำให้ชีวิตของเรางอกงามได้มากขึ้น

ถ้าเราบอกว่า ต้นทุนชีวิตคือเงินที่เรามี การใช้ชีวิตคือการใช้เงิน และการจัดสรรเวลาที่ดีคือการลงทุน แน่นอนครับว่าถึงต้นทุนจะไม่เท่ากัน แต่ถ้าเรารู้จักลงทุน และรู้จักใช้เงินไปพร้อม ๆ กัน เงินเข้า > เงินออก เงินเราก็จะไม่มีวันหมดตาม Logic ทั่วไป ชีวิตเราก็ไม่น่าต่างกันเท่าไหร่ มีขึ้นมีลง มีชิบหาย มีบรรลัย เอามาสร้างหนังชีวิตกันไป

เรียนในห้อง

ช่วงปี 4 ที่คณะจัดว่าเป็นช่วงที่เราว่ามันร่มรื่นที่สุดในทุก ๆ ปี เป็นรองแค่ปี 1 เท่านั้น เพราะเวลาเรียนมันก็ไม่ได้เยอะ แบบเรียนทุกวันเหมือนปี 1,2,3 แล้ว เรียนอยู่แค่ 4 ตัวที่เป็น Lecture + 1 Senior Project เท่านั้น ซึ่งแต่ละวิชามันก็จะชิว ๆ หน่อย


เป็นการบ้านที่จนปัญญามาก ไม่รู้จะทำยังไง ตอนนั้นคาราโอเกะชั้นใต้ดินมันกำลังมา รูปนี้จึงเกิดขึ้น

ไม่นับ Algorithm ที่สร้างความชิบหาย และปลดปล่อยสัญชาตญาณการเอาตัวรอดอย่างแท้จริงออกมา เพราะเรียนไม่รู้เรื่องเลย !!! แบบทำการบ้านยังทำไม่ได้เลยเอาจริง ๆ ไม่ต้องพูดถึงสอบนะ เละเป็น 💩 ไปเลย คือมันไม่รู้เรื่องแบบไม่รู้เรื่องจริง ๆ สุดท้ายก็ผ่านไม่ F เฟ้ยยยยยย แต่ได้หมาติดประจุมาแทน มองโลกในแง่ดีกว่า อย่างน้อยตรูก็รอดมาได้ อีกมุมก็ บ้าเอ้ย แย่ชิบ !!

อีกวิชาของ Track CS ที่ต้องเรียนคือ Embedded System อันนี้ก็ไม่เป็นมิตรกับเราพอกัน เพราะจับอะไรก็พังไปหมด ยิ่งเป็นพวก Board ที่ประกอบด้วยของชิ้นเล็ก ๆ นี่ยิ่งแล้วใหญ่ พังกันถ้วนหน้า แต่วิชานี้ก็ไม่ได้เรียนแค่ต่ออย่างเดียว เพราะเราต้องเรียนถึง Protocol ในการคุยกันของมัน ว่ามันทำงานยังไง เราจะออกแบบยังไงอะไรแบบนั้น ทำให้ได้ทั้งต่อ เขียนโปรแกรม และเข้าใจวิธีการทำงาน โชคดีตรงที่มันต้องจับคู่กันทำ ซึ่งเราก็อาศัยเพื่อนซะเยอะ ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ตรงการต่อ แต่ตรงทฤษฏีก็พอรอดอยู่ อย่าบอกอาจารย์นะ ชู่วววววส์ ! 🤫

นอกจาก 2 วิชานี้ในเทอมนี้ก็ต้องเรียน Ethics และ Communication Strategy เพิ่มอีกที่เป็นวิชาเรียนรวมกับเพื่อน ๆ ใน Track อื่น ด้วยวิชาเรียนแบบนี้ทำให้เวลาในการเจอเพื่อนเอาจริง ๆ มันก็น้อยลงเยอะมากเลย เพราะต่าง Track ก็จะเรียนกันคนละวันกัน ตารางเรียนมันก็จะว่าง ๆ หน่อยไม่เหมือนปีก่อน ๆ ที่เรียนเช้าบ่ายทุกวัน จ-ศ อันนี้อาจจะมีเรียนแค่ 3-4 วันก็ว่ากันไป (จำ Exactly ไม่ได้เหมือนกันว่าเรียนกี่วัน)

จุดที่พีคคือ เทอม 2 ของปีนั้นมีการเปิดวิชา Special Topic in Computer Science ขึ้นครั้งแรกในคณะ ซึ่งพูดง่าย ๆ คือวิชา Data Science นั่นแหละ ใน Class มันไม่ได้พีคอะไร จุดที่มันเด็ดคือ Project ก็คือให้เราจับคู่กับเพื่อนอีกคนนึง เราก็เลยไปชวนเพื่อนที่ชื่อเจนมา (เอ่ยชื่อได้ เจ้าตัวบอกว่า โอเคจะรออ่าน) อะอันนี้ก็ไม่มีอะไร เพราะก็รู้จักกันมาตั้งแต่ปี 1 เลยมั่ง แต่พอหัวข้อมันออกเท่านั้นแหละว่า เราต้องทำอะไรนี่หน้าสั่นไปเลย หัวข้อที่ได้มันเกี่ยวกับเรื่องการแพทย์นี่แหละ แล้วเราก็ต้องเข้าไปคุยกับอาจารย์หมอ วันแรกที่นัดคุยกับอาจารย์หมอคือ ตอนนั้นติดงานด่วนอะไรสักอย่างนี่แหละ เลยไปไม่ได้ ต้องปล่อยให้เจนไปเอง (เราขอโทษษษ 😱) ครั้งนั้นก็ไม่มีอะไร เจนก็เอาสิ่งที่คุยกันมาเล่าให้ฟัง เราก็ทำไป จนถึงไปคุยครั้งต่อไปเราก็ไปด้วย (ก็ครั้งที่แล้วแกเทเพื่อนขนาดนี้ !!) ก็ไปเลยแจ้ นั่งรถจากมหิดลศาลายา ไปโผล่โรงพยาบาลจุฬาฯ เดินไปที่ Reception ของชั้นที่คิดว่าอาจารย์อยู่ ปรากฏว่าอาจารย์ไม่อยู่เว้ย !! เอาหว่ะ จนได้พี่ที่ Reception โทรหาอาจารย์ แล้วพีคมากคือ อาจารย์บอกว่า อาจารย์มารอที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เด่ววววววววว (คืองานนี้อะมันเริ่มจาก อาจารย์ที่คณะ ICT ไปรู้จักกับอาจารย์ท่ีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน แล้วก็ต่อไปที่จุฬาอีกที ทำให้มี Stakeholder ทั้งหมดที่เป็นอาจารย์ 3 ท่านด้วยกัน) นี่ก็ต้องแหกตัววิ่งจากโรงพยาบาลจุฬากลับไปคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ซึ่งมันคือแถวอนุสาวรีย์ชัย ที่เรานั่ง 515 มาจากศาลายาไง !!! โว้ยยยยยยยย

เอาให้สนุกกว่านั้นอีก Data ที่ได้มาจากอาจารย์คือ หม่าย รู้ เหลือง เลย คือมันเป็นค่าที่คุณหมอใช้ประเมินคนไข้ในห้องฉุกเฉินทั้งนั้น ค่าตับ ค่าไต การประเมินความหนักของอาการต่าง ๆ นั่งเงิบกันไป 2 คนสิ ถึงอาจารย์จะพยายามอธิบายแล้วก็ หมุนติ้วกันไป เอาเป็นว่าจนสุดท้าย จนแล้วจนรอด จากที่อาจารย์เล่าไป และจากข้อมูลที่ดู ทำให้เราก็รู้จักกการทำงานของห้องฉุกเฉินไปโดยปริยายกันเลยทีเดียว สุดท้ายของตรงนี้ก็ต้องขอบคุณเจนมากที่ถึงแม้ว่าเราจะไม่ค่อยว่างมานั่งทำเลย แต่เจนก็ไม่ระเบิดลงหัวเรา ถถถถถ

Senior Project

นอกจากวิชาเรียนที่สร้างความหรรษาและความชิบหายไปพราง ๆ แล้ว ก็ยังมีสิ่งที่เรียกว่า Senior Project อีก ถ้าไม่รู้จักกัน เจ้า Project นี้มันเป็นเหมือนใบเบิกทางให้เราจบออกจากวังวนการเรียน ป.ตรี ถถถ ซึ่งในคณะที่เราเรียนเนี่ย การจะทำ Senior Project มันจะต้องมีสมาชิกมาร่วมหัวจมท้ายในงานทั้งหมด 4 คนคือ เราและเพื่อนอีก 2 คน กับอาจารย์ที่ปรึกษา

ตอนแรก ๆ ของการเริ่ม Senior Project คือการจับกลุ่มกัน ตอนนั้นก็คือมีคนนึงอยู่ใน List ละว่าเอามาแจมเพราะทำงานมาด้วยกันตั้งแต่ปี 1 ยันตอนนั้น แต่ขอไม่บอกชื่อละกัน ถถถถ ทำให้เหลือที่ว่างอีกที่ก็ไม่รู้จะเอาใครดี เลยไปปรึกษาอาจารย์ ท่านหนึ่ง คนเดิมเลยฮ่ะ เดากันได้ ก็แนะนำคนนึงมา เพราะว่าน่าจะเป็นคนที่ตามเราทันที่สุดแล้ว สุดท้ายเราก็ไปคุยแล้วก็ได้สมาชิกครบ 3 คน ถัดไป เราต้องหาอาจารย์ที่ปรึกษา งานนี้ควรจะทำด้วยความรวดเร็ว เพราะมันมีกฏอยู่ว่า อาจารย์ 1 ท่านจะรับได้ 3 กลุ่มเท่านั้น เลยทำให้งานนี้จะต้องรีบนิดนึง วิธีการเลือกนี่ก็เรื่องมากอีกไง คือมันไม่เอาใครก็ได้ไม่ได้ เพราะเขาคนนั้นก็จะเป็นคนกำหนดชีวิตเราเลย ตอนนั้นคิดว่า อยากทำงานอย่างมีความสุขก็เลือกให้ถูกซะ สุดท้ายก็ได้มา


บรรยากาศห้อง Present ของทุน YSTP รอบแรกที่บ้านวิทยาศาสตร์ฯ

นอกจากสมาชิกและอาจารย์แล้ว ถ้าไม่มีหัวข้อ แล้วเราจะทำอะไรละเนอะ ! ก็จริง ๆ หัวข้อเราได้มาตั้งแต่ตอนปลาย ๆ ปี 3 แล้วละ ได้มาเป็นงานทางด้าน NLP แล้วทำภาษาไทยอีก ที่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต ภาษาไทยตัวเองก็ไม่แข็งแรง แล้วก็นั่งหา นั่งทำมาเรื่อย ๆ เลย จนช่วงปิดเทอมปี 3 ก็เอางานส่งไปขอทุน Young Scientist and Technologist Programme (YSTP) แล้วก็ได้ซะงั้นเหอะ ๆ เลยทำให้เราได้ที่ปรึกษาพิเศษซึ่งเป็นนักวิจัยที่ NECTEC มาอีกคน ทำให้งานนี้มีผู้มาร่วมหัวจมท้ายกัน 5 คนแล้ว เย้ ~ แล้วการได้ทุนมันก็ต้องมีการไปปฐมนิเทศกัน ก็ทำให้เราได้เพื่อน ๆ พี่ ๆ หลายคน ได้คุยกับคนต่างอายุ ต่างสาขามากขึ้น จนกลายเป็นเพื่อนกันเฉย ๆ ฮ่า ๆ

ทำให้เปิดเทอมขึ้นปี 4 มามันก็จะไม่ได้ต้องพยายามดิ้นรนอะไรเยอะละ เพราะส่วนผสมสำคัญเราได้มาครบละ ตอนนั้นเรื่องของ Senior Project มันก็มีแต่การเอาส่วนผสมมายำรวมกันจนออกมาเป็นชิ้นงานออกมา ถามว่ายากมั้ย มันก็ยากอยู่นะ เพราะตอนนั้นไม่รู้อะไรเลย ก็คุยกับอาจารย์ คุยกับ Member ในกลุ่มแล้วพยายามลองผิด ลองถูกมาเรื่อย ๆ จนมันก็ได้อยู่นะ

ช่วงที่ทำงานตอนนั้นสารภาพบาปเลยว่า ทำงาน Senior Project สัปดาห์ละแค่ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น เวลาที่เหลือเอิ่ม... ก็ เออ เอาไปอ่าน Paper ไงงงงง แต่เป็น 2-3 ชั่วโมงที่ทำงานจริง ๆ ประกอบกับ เป็นคนทำงานเร็วอยู่แล้ว เลยไม่ได้มีปัญหาอะไร กับตอนนั้น Lead งานไปด้วย ทำเองด้วยแหละ เลยจะยุ่งหน่อย ๆ แต่ก็พอจะทำให้มันอยู่ใน 2-3 ชั่วโมงได้อยู่ มีคนเคยถามว่า ถ้าเราทำเองคนเดียวมันไม่เสร็จเร็วกว่าเหรอ

ไม่รู้สิ ก็คงเร็วกว่าหรือช้ากว่า แต่เรามองว่า การทำงานเป็นทีม คือการที่เราโตไปด้วยกัน กล่าวคือ ถ้าเราทำงานคนเดียว โอเค มันก็น่าจะเสร็จแหละถ้าฝีมือเราถึงพอที่จะแทนคนที่เหลือได้ทั้งหมด แต่ถ้าเราทำแบบนั้นมันคือการฆ่าเพื่อนเราทางอ้อมเลยนะ วันนึงเพื่อนเราจบออกไปทำงาน แล้วโดนถามนี่คือจะยังไง หรือถ้าคิดกลับหาตัวเองหน่อยมันคือเราจะแย่มากเลยนะ เพราะอะไร เพราะว่ามันจะทำให้เห็นเลยนะว่า เราสามารถทำงานเป็นทีมได้ โดยเฉพาะการทำงานจริง ๆ ที่ไม่ได้ทำงานคนเดียว ต้องทำงานกับหลาย ๆ คนทั้ง Programmer ด้วยกัน หรือแม้กระทั่ง AE ด้วยซำ้

เคยคุยกับน้อง ๆ หลายคนที่พึ่งเข้ามาเรียนใหม่ ๆ แต่ละคน เคยถามเราว่า ทำคนเดียวก็ได้นิพี่ จะทำกับคนอื่นทำไม ? ตอนนั้นคือ เอิ่ม... ตรูควรจะตอบว่าอะไร ???? เรามองว่าการทำงานกับคนอื่น มันทำให้เราได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ มากกว่าการที่เราทำงานคนเดียวเยอะ เช่น ง่าย ๆ เลยเวลาเราเขียน Code สัก Function ออกมา เราอาจจะคิดว่า เออ เราดัก Case ไว้หมดแล้ว รอดแน่นอน แต่พอเพื่อนเรามาช่วย Review เพื่อนที่มีประสบการณ์และมุมมองต่างจากเราอาจจะเห็น Case ที่หลุดรอดก็ได้ ใครจะรู้ ซึ่งจากการทำงานในงานนนี้ก็ทำให้รู้ว่า เออแมร่งใช่ 555 หลาย ๆ คนอาจจะมองว่า เราเป็นคนที่เขียนโปรแกรมมาเยอะ น่าจะไม่พลาดแล้วสิ ความจริงนั้นคือ แมร่งไม่ใช่เฟ้ยยย เราเนี่ยไม่ได้เขียนโปรแกรมเป็นเลย ความผิดพลาดนี่คือจัดเวลาเยอะเลยละ ดีที่เพื่อนในกลุ่มเข้ามาช่วยดู แล้วก็ช่วยกันแก้จนได้ออกมา มันก็เป็นความสนุกในการทำงานอย่างนึงเลยละ

เวลาทำก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า Weekly Meeting กับอาจารย์อย่างสม่ำเสมอ ? 555 อันนี้ก็แล้วแต่กลุ่มเนอะว่าจะจัดการกันยังไง ส่วนกลุ่มเรา เราก็ได้ประสบการณ์การทำงานจากหลาย ๆ งานอย่าง Open House มาแล้ว เลยทำให้เรารู้ว่า เราจะต้องเตรียมการประชุมยังไงให้คุยแล้วลื่นและเร็ว เพราะคนที่เสียเวลาไม่ได้มีแค่เรา แต่ยังมีคนในกลุ่มและอาจารย์อีก เพราะฉะนั้นการประชุมควรทำใช้เวลาที่สั้นและได้ใจความครบที่ต้องการ

เวลาเตรียมการประชุม เราและเพื่อน ๆ จะช่วยกันเขียนหัวข้อการประชุมลง Google Docs ก่อน เพื่อมาดูว่า เราต้องคุยอะไรบ้าง แล้วพวกเรากันเองมีอะไรที่ต้องรู้กันเองก่อน แล้วพอไปคุยกับอาจารย์ก็กาง หัวข้อนั่นแหละ แล้วคุยไล่ไปเรื่อย ๆ เลย ระหว่างที่คุย เราก็เขียนสรุปมันลงไป ทั้งหมดนี่ก็จะทำให้ การประชุมมันราบลื่นและใช้เวลาน้อยลงมาก ๆ คุยกันกับอาจารย์เฉลี่ยอาทิตย์ละ 1 - 1.30 ชั่วโมงเท่านั้นเอง มีนานกว่านั้นหน่อย ถ้าคุยเรื่องที่ยาวจริง ๆ

แต่ชีวิตช่วงที่ทำ Senior Project มันจะขาดไม่ได้เลยคือการสอบ Proposal และ Defence สุดหรรษา โดยส่วนผสมของความหรรษานี้จะประกอบไปด้วย แก๊งค์ Senior Project ทั้ง 4 และกรรมการหรือ Commitee อีก 2 คน ในการที่จะได้มาซึ่ง Commitee ก็คือ เราจะส่ง Abstract ของเราไปช่วงก่อนสอบ Proposal แล้วอาจารย์ที่ไม่ใช่ที่ปรึกษาเราจะมาจิ้มเลือกงานที่ตัวเองสนใจหรือถนัด แล้วมาเป็นคนสอบเรา

แจ๊คพอตหรืออะไร Commitee คือน่ากลัวมาก ฮื่อ ๆๆๆๆ ประกอบกับยิ่งทำงานมาด้วยกันนานแล้วด้วย จุดอ่อนของเราไม่ต้องพูดถึง รู้หมดเปลือก !!! เชี้ยยยยยย !!!! คือปกติที่คนเห็นว่าเราเก่งอย่างนู้นอย่างนี้ เพราะว่า เราเอาจุดแข็งมาปิดจุดอ่อนไง ถ้าไม่รู้มาก่อนก็จี้ไม่ถูกหรอก แต่อันนี้คือ มาเจอกับคนที่รู้จุดอ่อนไง เพราะฉะนั้นตอนนั้นวิธีแก้ปัญหาทางเดียวคือ ทำยังไงก็ได้ให้จุดอ่อนนั้นมันจางลง บ้าเอ้ยยย ถ้ามันทำได้ง่ายใคร ๆ ก็ทำกันไปแล้ว มันเหมือนกับเราจะปีนเขาเลย การที่เราก้าวผ่านจุดนึงของชีวิต มันก็เหมือนกับที่เราปีนเขาลูกนึงได้แล้ว เราก็จะไปเจอภูเขาลูกใหม่ที่สูงขึ้น และบรรลัยขึ้นเรื่อย ๆ

ตอนนั้นก็คิดนะว่า ตัวเราเองก็ผ่านอะไรมาเยอะ ทั้งแข่งโน้นนี่นั่น ได้รางวัลมาหลายอัน มันก็เหมือนภูเขาที่เราก้าวข้ามมาได้ ก็คิดแหละ ถ้าเราปีนมาได้ไกลขนาดนี้ ทำไมเราจะปีนต่อไม่ได้ ก็เลยพยายามต่อไปจนได้แหละ ตอนสอบคือ มือเย็น ตัวสั่น เหงื่อแตก ไปหมด ประกอบกับว่าเป็นมนุษย์ที่เป็นที่รู้จักของน้องเยอะมาก ๆ ทำให้ตอนสอบ Proposal ที่ให้ใคร ๆ ก็เข้าได้เลยเป็นห้อง Present ที่น้อง ๆ เต็มห้องไปหมด เต็มจนเห็นว่ามีคนไปยกเก้าอี้จากอีกห้องมา ชิบหายยยย ยิ่งกดดันเข้าไปใหญ่ สุดท้ายการ Present Proposal ก็ผ่านมาได้ด้วย รอยโดนยิงเป็นพันรู พร้อมกับคำถามอีกหลายข้อที่ตอบไม่ได้ ไม่ตายก็ต้องสู้ต่อไปทาเคชิ

หลังจาก Proposal ก็ทำไปเรื่อย ๆ แล้วก็จะเป็นการ Present Poster ก็คือจะเป็น Poster เป็นบูท ๆ แล้วก็จะมี Commitee มาให้เรา Present แล้วก็ถามตอบกันไป อันนี้ก็ไม่มีอะไรสนุก ๆ ก็มีน้อง ๆ มาถามบ้าง มาคุยบ้างก็ว่ากันไป

จุดพีคสุดท้ายคือการ Defence เข้ !! เป็นอะไรที่ตื่นเต้นมาก เพราะ Commitee ที่เราได้ตอนนั้นคือ ไม่เคยมีใครผ่านในการ Defence รอบเดียวเลยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เชี้ยยยยยยยยยย แล้วกรูจะทำยังไงงงงง จะรอดมั้ยยยย ประกอบกับเพื่อนที่เจอ Commitee คนเดียวกันสอบไปก่อนกลุ่มเราแล้วก็ไม่ผ่านต้องมาสอบใหม่ เลยเกิดแรงฮึด ใช้ความสามารถที่มีในการเตี๊ยมและเตรียมออกมาให้แจ่ม จนสุดท้าย Present เสร็จ เดินออกมาจากห้อง Present แล้วปล่อยให้อาจารย์คุยกัน นี่ก็นั่งรอผลด้วยความเสียววาบ ๆ ว่าจะผ่านมั้ย ผ่านไปสักพัก Commitee เดินออกไปจากห้อง แล้ว Advisor เราก็เรียกพวกเราเข้าไปคุย ปรากฏผ่านโว้ยยยยยยย เชี้ยยยย มันเป็นไปได้ยังไง !!! สรุปคือ น่าจะเป็นกลุ่มเดียวที่ผ่านในครั้งเดียว ในรอบ 2 ปีเลย มันเป็นไปได้ยังไง !!!

รู้สึกโล่งไปเลยเมื่อ Defence ผ่าน แต่ความสนุกก็ยังไม่หมด เพราะหลังจากนั้นเราก็ต้องเขียนเล่ม ซึ่งก่อนหน้านั้นเราก็แบ่งหน้าที่กันไปแล้วละ โดยเรารับหน้าที่ส่วนใหญ่ในการเขียน Code ทำให้เล่มเราก็ไม่ได้เขียนเยอะเท่าไหร่ และสุดท้ายมันก็เสร็จออกมาเป็นเล่มเย้ ~

อีกสิ่งที่เหมือนกับเอ๊ะขึ้นมาคือ วันแรกเราไม่รู้อะไรเลย เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราจะจัดการกับข้อมูลพวกนั้นยังไง แต่พอเวลาผ่านมา ทำไมเรารู้เยอะขึ้นมาก น่าจะพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่า นี่แหละงานของพวกเรา ! ต่างจากวันแรกลิบลับ ที่ไม่กล้าพูดเลยว่า พวกเราเป็นคนทำ

หาที่เรียนต่อ

ยังจำได้ว่า เมื่อ 4 ปีก่อนเราก็ดิ้นรนหาที่เรียนต่อจนได้ มาจนตอนนี้แล้วเราก็อยู่ในจุดที่ต้องหาที่เรียนต่ออีกครั้ง เอาจริง ๆ ความคิดแรกที่ฝุดขึ้นมาต่อเรื่องของการเรียนต่อคือ เราจะไปเรียนอะไรที่เป็น Medicine หรือไม่ก็ Biology ใช่ครับ อย่างที่เคยบอกไปเมื่อ Blog ก่อนว่า จริง ๆ เราไม่ได้ชอบเขียนโปรแกรมอะไรขนาดนั้น เราว่าคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่ดีในการใช้แก้ปัญหาที่เราเจอในชีวิตประจำวันได้ เลยหัดเขียนจนมาถึงทุกวันนี้ แต่ถามว่า Life Goal ของเราคือการอยู่กับคอมพิวเตอร์มั้ย ตอนนี้ก็คงตอบว่าไม่ เพราะฉะนั้นการเรียนต่อด้าน Computer Science จึงตกไป

จนได้ไปคุยกับอาจารย์หลายท่านก็แนะนำให้ไปเรียนสิ่งที่เรียกว่า Bioinformatics ตอนนั้นก็คือ เฮ้ย มันคืออะไรฟร๊ะ แต่พอไปอ่านดู เชี้ยยย ล้ำสาดดด เพราะส่วนตัวเราชอบเรียนชีวะมากเลยนะ แต่สิ่งที่ถนัดคือคอมพิวเตอร์ สายมันเป็นเหมือนลูกครึ่ง ระหว่างสิ่งที่เราชอบกับถนัดเข้าด้วยกัน เราเคยบอกว่า

ขนาดสิ่งที่เราไม่ได้ชอบ เรายังทำมันได้ขนาดนี้ ถ้าเราไปทำสิ่งที่เราชอบมันจะไปได้ไกลแค่ไหนกัน

กลับมาคุยกับอาจารย์อีกครั้ง อาจารย์ก็แนะนำว่า ไหน ๆ จะเรียนถึง PhD แล้วตอนนี้ก็ลองสมัครไปเลยสิ อะก็ลองดูสมัครไป 3-4 ที่ โดยพบว่า มันเป็นการกรอกเอกสารที่ยาวชิบ ! และต้องใช้ Recommendation ด้วย ยากมาก ถถถถ

ปรากฏว่า ติดมากสุดคือรอบสัมภาษณ์ออนไลน์ ตอนที่ได้อีเมล์ว่าติดรอบต่อไปคือดีใจมาก เพราะที่ก่อน ๆ ที่สมัครมา เราไม่ติดที่ไหนเลย ตอนนั้นก็สัมภาษณ์ไป สุดท้ายก็ลาก่อย เลยกลับไปบอกอาจารย์อีกรอบ


นี่คือไส้ดินสอที่เหลืออยู่ อันเดียว จำได้ว่าไส้ดินสออันนี้ซื้อเมื่อตอนปี 1

สุดท้ายอาจารย์ก็แนะนำอาจารย์อีกคนมา ให้ไปสอบที่ของศิริราช จุดที่พีคคือ ทำให้เรารู้ว่า เราไม่ได้ใช้ดินสอ ยางลบมาหลายเดือนมาก ๆ จนมันหายไปหมดแล้ว เหลือ อยู่แค่ดินสอกดกับปากกาน้ำเงิน ตอนสอบเปิดมา Part คอมโอเคง่ายมาก ที่เหลือ บรรลัยแล้วตรู นั่งขำ ไม่ได้ขำเพราะง่ายนะ อ๋อ ทำไม่ได้น่ะ ถถถถ ทำจนเสร็จเงยหน้าขึ้นมาผ่านไปแค่ชั่วโมงครึ่งเองจากเวลาสอบ 3 ชั่วโมง ไม่มีใครลุกเลย ก็นั่งไปเรื่อย ๆ ไม่อยากเปิดไง สุดท้ายทนไม่ไหวแล้วโว้ยยย ลุกแม่มเปิดเลย

แล้วสุดท้ายก็มาลงเอยที่ศิริราชเฉย ถถถ จนตอนนี้เวลาคนอื่นถามว่า ตอนนี้เรียนที่ไหน พอตอบว่า ศิริราช ไป ทุกคนแม่มจะต้องถามว่า เรียนหมอเหรอ ประมาณ 99% ของคนที่ถาม โว้ยยย จบ ICT มาจะเอาวุฒิและปัญญาที่ไหนไปเรียนหมอฟร๊ะ !!!

พอเริ่มหงุดหงิด เวลาคนอื่นถามใหม่ เราจะต้องหาวิธีจัดการให้ได้ โดยเปลี่ยนบทสนทนาดังนี้

คนอื่น : อ้าวแล้วสรุปแล้ว เราไปทำงานหรือเรียนเนี่ย ??
ฉัน : อ๋อ เรียนครับ ไม่อยากทำงาน
คนอื่น : แล้วเรียนที่ไหนละ ?

อ่าา ช๊อตนี้ ถ้าเราตอบว่าศิริราช ต้องโดนแน่ เปลี่ยนคำตอบดีกว่า

ฉัน : มหิดล ที่เดิมครับ

รอบนี้รอดแน่แก ฮึฮึ ๆๆๆๆๆ

คนอื่น : เรียนคณะอะไร ?
ฉัน : แพทยศาสตร์ครับ
คนอื่น : อ้าวเรียนหมอเหรอ ?

บ้าเอ้ยยยยยยย สุดท้ายก็ไม่รอด แม่มเอ้ยยยยย !!! 🤬 คือควรจะต้องตอบว่าอะไร แพศยา? คือก็ไม่ได้ขายตัวไง เลยตอบไม่ได้อีก โว้ยยย

ฉัน : อ่อเปล่าครับ ผมเรียน Bioinformatics
คนอื่น : มันคืออะไรอะ ?

อะเนี่ยสุดท้ายตรูก็ต้องมาอธิบายอีกว่า สิ่งที่ตรูเรียนมันคืออะไร !!!!! ก่อนอื่นเลย ก่อนจะไปว่าสิ่งที่เราเรียนมันคืออะไร บอกก่อนว่าในคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชเนี่ย มันไม่ได้มีแค่สาขาเดียวไงงงง !!! โอเคแพทย์เป็นส่วนหนึ่ง แต่มันก็มีอีกหลายสาขาเช่น Immunology, Pharmacology และอื่น ๆ อีกนอกจากหมออออออ อ่านซะ !! อ่าน ที่ เรา เขียนนะ

ตรู ไม่ ได้ เรียน หมอ !!!

ไหน ๆ ก็บ่นเรื่องนี้ละ ขอต่อซะหน่อย ตอน ป.ตรี เหมือนกันที่ เข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล มันก็จะเป็นดั่งบทสนทนาด้านล่างนี้

คนอื่น : อ้าวสรุปแล้วต่อไหนอะเราเนี่ย ??
ฉัน : มหิดลครับ

อ้าาาาห์ มาเหมือนเมื่อกี้เลย รอดแน่ ๆ

คนอื่น : เรียนหมอเหรอ ?

โอ้ยยยยยย มหิดลไม่ได้มีแค่หมอมั้ยละ !!! ก็จะตอบด้วยน้ำเสียงนิ่ม ๆ และเกี้ยวกราดว่า

ฉัน : เรียน ICT อ่อ คอมพิวเตอร์ครับ

อะ แน่นอนว่า คนทั่ว ๆ ไปไม่น่าจะเข้าใจคำว่า ICT แน่นอน เลยตอบไปว่า คอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นการตัดจบบทสนทนา สรุปคือ การโดนถามว่า เรียนหมอเหรอ ?? น่าจะเป็นอะไรที่เราควรจะชินได้แล้ว ดั่งกับที่เรามักจะโดนชาวต่างชาติโลกที่ 1 ถามว่า "ยู ขี่ช้างไปเรียนเหรอ ?" นั่นแหละ

กิจกรรม

ก็อย่างที่เล่าไปว่า ปีนี้เป็นปีที่ค่อนข้างเงียบสงบอีกปีที่ทำให้เรามีเวลาในการดื่มด่ำช่วงชีวิตของการเรียน ป.ตรี แบบเงียบ ๆ ได้ค่อนข้างเต็มที่

ช่วงต้นปีก็ได้มีโอกาสไปรับรางวัลในการ วันนักประดิษฐ์ จากการไปแข่งขันในรายการที่จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คือแบบ เฮ้ย เป็นงานที่เราไม่เคยคิดเลยว่า เราที่เป็นเด็ก ป.ตรี จะเข้าไปได้รางวัลอะไรกับงานใหญ่ ๆ แบบนี้กับเขาด้วย เพราะดูแต่ละงานตอนที่แข่งคือ โหดไปหมด น่ากลัวเวอร์ ไม่น่าจะรอดเลย สุดท้ายคือได้รางวัลเฉย ฮ่า ๆ เข้าในงาน งานที่ได้รับรางวัลคือ เป็นงานที่ทำกันมานานมากหลายปีสุด ๆ ในขณะที่เราก็ไม่ได้นานขนาดนั้น แต่เราก็ได้มา ก็จัดว่าเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์และโอกาสที่ได้รับ ทำให้เราได้มาในจุดนี้ได้ สำหรับงานนี้ก็หวังว่า จะส่ง Thesis ป.เอก (ถ้าได้เรียน และอาจารย์ไม่ไล่ออกก่อน) เข้าประกวด ถ้าตอนนั้นได้ ก็คงจะเป็นเกียรติมากมาย หวังว่านะ ~

อีกงานที่เป็นเหมือนสัญญาเลือดที่ต้องทำมาตลอดตั้งแต่ปี 2 คืองาน MUICT Open House ก็ต้องบอกว่า เป็นอีกปีที่ปัญหามันไม่เหมือนปีก่อน ๆ ซะที ทำมา 3 ปี ปัญหามันไม่เคยซำ้กันเลย แต่ถามว่าสนุกมั้ย ก็ตอบเลยนะว่า สนุกมาก และอย่างให้มันสนุกแบบนี้เรื่อยไป เรื่องของงานนี้เราได้เขียนแยกเป็นอีกตอนนึงแล้ว มาอ่านได้ ที่นี่

สรุป

และแล้วก็จบปี 4 สักที อ้าวเรียนจบแล้วนี่หว่าาา ซับเลือดกันรัว ๆ แต่มันก็สนุกดีนะ มีคนบอกว่าเหล็กจะแข็งแกร่งก็ต้องเกิดจากไฟที่ร้อน (บางทีมันก็แอบร้อนไปหน่อย จะละลายเอา Burn Baby Burn !! 🤯) ประสบการณ์จะสอนให้เรา เป็นเราในอนาคตที่เก่งขึ้นทุกวัน ปีหน้าก็จะเป็น Freshman (เขาใช้คำนั้นเหรอ ????) แต่ของ ป.โท อะนะ ถถถถ

สุดท้ายนี้ก็ต้องขอขอบคุณทุก ๆ คนที่เข้ามาในชีวิตและทำให้ชีวิตเรามีสีสัน มีเรื่อง แก้ปัญหามากมายให้เรา โดยเฉพาะเพื่อนในกลุ่ม Senior Project, Advisors และอาจารย์อีกหลาย ๆ ท่านที่ไม่ได้สอนแค่ความรู้ แต่ยังมอบโอกาส และสอนเราให้เรียนรู้ถึงการส่งต่อโอกาสให้กับคนอื่น ๆ ต่อไปด้วย ขอบคุณครับ

ปล. อ่านรีวิวชีวิตความบรรลัยใน ปี 1, ปี 2 และ ปี 3 ตอนต่อไปน่าจะเป็น รีวิวป.โทแล้วละ เขิลจังเรียนจบแล้ว