Technology

รีวิวเจาะลึกการติดตั้ง On-Grid Solar Cell คุ้มจริงรึเปล่า เสียเงินเท่าไหร่ เขาทำอะไรบ้าง ?

By Arnon Puitrakul - 12 สิงหาคม 2020

รีวิวเจาะลึกการติดตั้ง On-Grid Solar Cell คุ้มจริงรึเปล่า เสียเงินเท่าไหร่ เขาทำอะไรบ้าง ?

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีเรื่อง COVID-19 ทำให้หลาย ๆ คนต้องนั่งทำงานที่บ้านกัน ค่าไฟพุ่งกระฉูด แบบฉุดไม่อยู่ ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า จะต้องเสียเงินค่าไฟได้เยอะขนาดนี้ ทางเลือกนึงในการที่จะลดค่าไฟคือ การใช้พลังงานสะอาด ชนิดที่หลาย ๆ คนน่าจะมองกันก็คือ Solar Cell หรือการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์นั่นเอง ตอนนี้เราติด และใช้งานมาสักพักแล้ว เราจะมาเล่าประสบการณ์สำหรับคนที่อยากจะติดตั้งกัน

Solar Cell มีแบบไหนบ้าง

หลัก ๆ ถ้าเราไปดูตามท้องตลาด มันจะมีการใช้งาน Solar Cell อยู่ 3 แบบ แบ่งตามการใช้ไฟคือ On-Grid, Off-Grid และ Hybrid

เริ่มต้นจากระบบที่ง่ายที่สุดก่อน นั่นคือ Off-Grid แบบนี้ถือว่าไม่ต้องยุ่งกับใคร ไม่ต้องขอใคร เพราะเราไม่ได้เชื่อมต่อกับใครเลย ง่ายที่สุดคือเราต่อแผง Solar Cell จากนั้นเข้า Inverter สำหรับแปลงไฟกระแสตรงเป็นกระแสสลับ และเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าได้เลย หรืออาจจะเสียบ Battery สำหรับการเก็บไฟเข้าไปเพื่อใช้ในช่วงที่ไม่มีแสง หรือแสงไม่พอ ข้อดีของระบบแบบนี้คือ เราไม่ต้องยุ่งกับใคร ไม่ต้องกังวลว่าไฟจะดับมั้ย ไม่ต้องขออนุญาติใครทั้งนั้น เพราะเราอยู่ในระบบของตัวเองทั้งหมด แต่กลับกันข้อเสียคือ ถ้าเกิดแดดไม่แรงพอ แล้วเราใช้ไฟจน Battery หมด ก็คือไฟดับ กลับไปยุคหิน นั่นคือข้อเสียที่สำคัญมาก

ทำให้ระบบ On-Grid เข้ามาช่วยเรื่องนี้ คือ เราต่อไฟบ้านเรา และ แผง Solar Cell เข้าเครื่อง Inverter โดยที่ มันก็จะรับไฟจาก Solar Cell แปลงเป็นไฟกระแสสลับเหมือนเดิม แต่เราเพิ่มพวก Meter สำหรับวัดโหลดเอาไว้ ถ้าโหลดอยู่ต่ำกว่าที่ผลิตได้ มันก็จะไม่ดึงไฟจาก Grid มาใช้งาน แต่ถ้าเราใช้เกิน หรือกำลังผลิตจาก Solar Cell ไม่เพียงพอ มันจะไปดึงไฟจาก Grid มาด้วย ทำให้ตัดปัญหาเรื่องไฟจาก Battery ไม่พอ ในช่วงกลางคืน หรือวันที่แดดไม่จัดได้เลย ข้อเสียคือ เวลากลางคืน เราก็ยังต้องใช้ไฟจาก Grid อยู่ดี ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึงระบบนี้แหละ

และสุดท้ายคือแบบ Hybrid ง่าย ๆ คือ รวมมันทั้ง 2 แบบเข้าด้วยกัน คือ เริ่มต้นจะเหมือนกับ On-Grid คือมีการต่อเข้ากับ Grid แต่ จะเพิ่ม Battery สำหรับเก็บไฟในช่วงที่มีแดด เพื่อใช้ในช่วงที่ไม่มีแสง ทำให้แผงที่เราติดสามารถผลิตไฟได้เต็มประสิทธิภาพตราบใดที่เรามีโหลด และ Battery ยังไม่เต็ม กลางคืน เราก็ยังสามารถใช้ไฟจาก Battery ได้ จนเมื่อ Battery หมด มันก็จะสลับไปใช้ไฟจาก Grid ทำให้มันได้ข้อดีจากทั้ง Off-Grid และ On-Grid มาหมด แต่ปัญหาของระบบพวกนี้คือราคาของ Battery ที่ปัจจุบันยังต้องยอมรับว่ายังแพง และ อายุการใช้งานยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุนสักเท่าไหร่ ทำให้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากเท่ากับ On-Grid

แต่ละระบบเหมาะกับใคร ?

คำถามต่อไปคือ แล้วแต่ละแบบ มันเหมาะกับใคร และถ้าเราอยากติดตั้ง เราต้องติดตั้งแบบไหนกัน เราไปดูทีละระบบกัน

ระบบ Off-Grid จะเหมาะกับการติดตั้งในสถานที่ที่สายไฟลากเข้าไปไม่ถึง เพราะพวกนี้ ไม่ต้องพึ่งการลากสายไฟเข้าไปเลย เพียงแค่เราอยู่ในที่ที่มีแสงแดดจัด ๆ เราก็สามารถผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้งานในนั้นได้แล้ว หรืออาจจะเป็นพวกอุปกรณ์บางอย่างที่เราไม่อยากจะเดินสายไฟเข้าไปก็ได้ ตัวอย่างที่เจอเยอะ ๆ คือ พวกเครื่องสูบน้ำในไร่ ที่เขาจะวางเครื่องอยู่ในไร่ แล้ววาง Solar Cell เพื่อผลิตไฟตรงนั้นเลย ทำให้เขาไม่ต้องมานั่งลากสายไฟเข้าไปให้ยุ่งยาก พวกนี้การใช้งานส่วนใหญ่ก็จะทำในกลางวันอยู่แล้วทำให้หมดปัญหาเรื่อง Battery หมดเลย

กลับกันสถานที่ที่เราสามารถเชื่อมต่อกับ Grid ได้ แนะนำไปเป็นพวก On-Grid หรือไม่ก็ Hybrid จะดีกว่า เพราะจะได้ไม่ต้องกังวลว่า Battery จะหมดเลย สุดท้ายหมดไป เราก็สามารถไปดึงจาก Grid มาได้ ถามว่า แล้วเราจะใช้ On-Grid หรือ Hybrid ดีละ ?

ถ้าที่ ๆ เราเอาไปใช้งานมีการใช้งานช่วงกลางวันเยอะกว่ากลางคืน เราแนะนำให้ไปใช้พวก On-Grid ดีกว่า เพราะจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อ Battery และ ค่าบำรุงรักษาของมันอีก ที่ต้องบอกเลยว่ามันไม่น้อยเลย ทำให้กว่าจะคุ้มทุนจัดว่านานไปอีก แต่ถ้าอนาคต Battery ที่ดีกว่านี้ เข้ามาทำตลาดถึงตอนนั้นเราค่อยมาดูกันอีกที

กลับกัน ถ้าเราบอกว่า เราอยากจะผลิตไฟตอนกลางวัน แล้วเอามาใช้ตอนกลางคืนแต่กลัวไฟหมด ทำให้เราเหลือทางเลือกเดียวคือ Hybrid เพราะเรามี Battery เพื่อให้แผง Solar Cell ชาร์จในช่วงกลางวัน และเราก็ใช้งานเยอะในช่วงกลางคืนไป แบบไม่ต้องกลัวไฟหมดนั่นเอง เพราะมันสามารถไปดึงไฟจาก Grid มาได้

สำหรับบ้านทั่ว ๆ ไป เราแนะนำให้ไปเล่น On-Grid น่าจะคุ้มทุนเร็วกว่า แนะนำเลยสำหรับบ้านที่มีการใช้ไฟในช่วงกลางวันเยอะ ๆ พวกนี้ช่วยเรื่องค่าไฟได้ดีเลยถ้าติดดี ๆ เผลอ มิเตอร์วัดไฟที่ซื้อจาก Grid จะไม่วิ่งเลย วิ่งแค่กลางคืนอย่างเดียว และถ้าค่าไฟเราแบบ ไม่ถึงพันอีก เราก็ไม่แนะนำให้มีหนี้เล่น ๆ เช่นกัน ต้องบอกเลยว่า ราคา มันไม่ได้ถูกเลยนะ หลักแสน หมดเลย ดังนั้น บางเรื่องอย่าหาทำเนอะ

ถ้าเราจะติด ติดเยอะแค่ไหนถึงจะพอ ?

เอาหละ ถ้าตัดสินใจแล้วว่าจะติด มันจะมีตัวเลือกให้เราเลือกอีกว่า เราจะติดเพื่อให้มันผลิตไฟเยอะขนาดไหน โดยที่มันจะมีหน่วยเป็น kWh หรือภาษาบ้านเราเรียกว่า หน่วย นั่นเอง มันก็คือ 1 kWh = 1 หน่วย ส่วนค่าไฟที่เราจ่ายมันก็จะเป็น จำนวนหน่วยที่เราใช้ คูณกับราคาหน่วย ของเดือนนั้น แล้วรวมกับค่าใช้บริการอื่น ๆ และ Ft มันก็จะออกมาเป็นจำนวนเงินที่เราต้องจ่าย สามารถดูได้ในค่าไฟเราเลย ว่าเราใช้ไปเท่าไหร่ มันจะเขียนไว้หมด

จำนวนที่เราจะต้องติดให้ไปดูว่าเราใช้เท่าไหร่ และเราใช้ไฟกลางวันเยอะแค่ไหน เช่นบอกว่ากลางวันเราใช้แอร์อย่างมากก็ตัวเดียว และเครื่องใช้ไฟฟ้าเล็ก ๆ สัก 1.5-2 kWp ก็น่าจะพอแล้ว หรือถ้าเราต้องการใช้มากกว่านั้น ลองคูณเข้าไปดู เราคูณง่าย ๆ เลยคือ แอร์ 1 ตัวเป็น 1 kWp ไปเลย และ เครื่องคอมพิวเตอร์ เราก็บวกไปถ้าเป็นเครื่องปกติ เราก็บวกไป 0.06 Wp หรือถ้าเป็นเครื่องที่ประสิทธิภาพสูงหน่อยก็อาจจะถึง 0.6 ก็ได้เหมือนกัน ขึ้นกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราใช้งานล้วน ๆ

และเราอาจจะเอาไฟที่เราคำนวณได้บวกไปอีกสัก 20% เผื่อเวลาแสงน้อย ๆ เราจะได้ไฟที่เพียงพอต่อการใช้งานมากขึ้นได้เหมือนกัน อันนี้อาจจะปรึกษากับ Sale ของบริษัทที่เราจะติดตั้ง

นอกจากที่เราต้องคำนึงถึงกำลังไฟที่เราใช้งานแล้ว พื้นที่ของหลังคา ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าพื้นที่หลังคาเราเล็ก แต่เราใช้ไฟเยอะมาก ๆ มันจะไม่มีที่พอสำหรับลงแผง Solar Cell เพื่อผลิตไฟให้ได้ตามปริมาณที่เราต้องการ เรื่องนี้ก็แนะนำให้สอบถาม Sale หรือตอนที่เขามา สำหรับหน้างานก่อนการติดตั้ง ก็ได้ว่าพื้นที่เราจะพอมั้ย

ถามต่อว่า แล้วถ้าสมมุติเราติดที่ 5.5 kWp เราจะได้ตามนั้นเลยมั้ย คำตอบคือไม่นะ 5.5 คือ ปริมาณ สูงสุด เท่าที่จะผลิตได้ ทำให้หน้างานจริง ๆ อาจจะได้น้อยกว่านี้ ก็ได้ อาจจะเป็นเพราะปริมาณแสง และ มุมของหลังคาบ้านเราก็มีผลเช่นกัน เช่น ถ้าเราเอาไปวางบนดาดฟ้า จ่อเข้าแดดตรง ๆ ย่อมได้มากกว่าการวางไว้บนหลังคาที่เฉียง ๆ แน่นอน

กันย้อน คืออะไร ?

ถ้าใครที่คิดจะติดแล้วเข้าไปหาข้อมูลน่าจะเจอคำว่า กันย้อน มาบ้าง หลาย ๆ เจ้าบอกให้ติดเอาไว้ด้วย แต่อาจจะยัง งง ๆ ว่ามันคืออะไรอยู่

ในระบบ On-Grid เราจะเชื่อมต่อ Solar Cell เข้ากับบ้านแล้วออก Grid ไป ทีนี้ ถ้าเราไม่มีกันย้อน และไฟจาก Solar Cell มันผลิตได้เกินมันจะวิ่งย้อนกลับไปที่ Meter ของการไฟฟ้าที่อยู่หน้าบ้านเรา ซึ่งแน่นอนว่ามัน ผิด เพราะ Meter เราจะหมุนย้อนกลับ มันจะไม่ผิดเมื่อเราไปขอเป็นผู้ขายไฟคืนให้การไฟฟ้า ณ ตอนที่เราเขียน เราซื้อไฟจากการไฟฟ้าทุกวันนี้หน่วยละ 4 บาทนิด ๆ แต่ถ้าเราขายคืนไป มันก็จะได้มาหน่วยละ 1 บาทกว่า ๆ เท่านั้นเอง ดังนั้นถ้าหวังว่า จะขายไฟเพื่อคืนทุน เลิกคิดไปได้เลย ไม่คุ้มมาก ๆ

มันดีสำหรับคนที่มีการใช้งาน Solar Cell และ บางทีอาจจะใช้ไม่หมดกรุบกริบ ก็อาจจะขายส่วนที่ไม่ได้ใช้คืนให้กับการไฟฟ้าไป เท่ากับว่าเดือนนึง เราก็จะต้องเอาค่าไฟที่ใช้จาก Meter ไปหักกับกำไรที่ได้จากการขายไฟนั่นเอง นั่นแหละที่บอกกันว่า ขายไฟ ๆ คือแบบนี้เอง

กลับมาที่เคสของกันย้อน มันจะเป็น Meter ที่ต่อเข้ากับเครื่อง Inverter เพื่อวัดไฟที่ไหลออกสู่ Grid เพื่อเป็นตัวบอกให้ Inverter ควบคุมการผลิตไฟให้พอดีกับการใช้งานไฟในบ้านเรานั่นเอง ซึ่งถามว่า ถ้าเกิดเราติดตัวกันย้อนแล้ว วันนึงเราจะขายไฟ มันจะทำได้มั้ย ?

คำตอบคือได้ เพราะ อุปกรณ์กันย้อนที่เราเอามาติด มันเป็นแค่ Meter สำหรับวัดค่าเฉย ๆ คนที่ควบคุมการจ่ายไฟจริง ๆ คือ Inverter นั่นคือ วันนึงถ้าเราจะขายไฟ เราก็สามารถให้การไฟฟ้าเข้ามาติดตั้ง Meter สำหรับขายไฟ และ ช่างเข้ามาปิดระบบกันย้อนให้เราก็เรียบร้อยแล้ว

ถ้าเกิดว่าไฟดับ แล้วบ้านที่ติด Solar จะดับในตอนที่มีแสงด้วยมั้ย ?

หลาย ๆ คนอาจจะถามว่า แล้วถ้าตอนกลางวัน แดงกำลังแรงเลย ถ้าไฟจาก Grid ดับ ไฟบ้านเราจะดับด้วยมั้ย หลายคนอาจจะเดาว่า ไม่ดับสิ เพราะ Solar Cell มันก็ผลิตไฟให้เราใช้งานอยู่

แต่จริง ๆ คือ ดับ เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น เราต้องบอกว่า ปกติอะ ไฟจาก Grid มันไม่ควรจะดับ ถ้ามันดับ แปลว่ามันอาจจะมีการซ่อมบำรุง หรือเกิดความเสียหายจนต้องส่งคนมาซ่อม ถ้าเกิด Inverter ไม่ตัดไฟตอนที่ Grid ไฟดับ มันอาจจะทำให้มีไฟวิ่งอยู่ใน Grid จากบ้านเรา ทำให้เกิดอันตรายกับผู้ที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย เมื่อ Grid ดับ ระบบ Inverter จะหยุดจ่ายไฟทันที

หรือถ้าเราอยากจะให้ระบบมันรันอยู่ ไม่ดับตาม Grid ไปด้วยวิธีเดียวคือ เราจะต้องเปลี่ยนจากระบบ On-Grid เป็น Hybrid ด้วยการเอา Battery มาต่อกับเข้า Inverter พอ Grid มีปัญหา มันก็จะจ่ายไฟจาก Battery เพื่อใช้งานในบ้านได้ต่อนั่นเอง แต่ถ้า Grid ดับนานจนแบตเหลือไม่พอก็ไปเลยเช่นกัน ดังนั้น ตอนที่ใช้ Battery ก็ต้องเปิดแต่สิ่งที่จำเป็นเท่านั้นเพื่อให้ Battery มีไฟเพียงพอสำหรับระบบสำคัญ ๆ ในบ้าน

เราควรเลือกบริษัทเจ้าไหนเข้ามาติดตั้งให้เรา

สำหรับการติดตั้ง หลัก ๆ พวกอุปกรณ์ที่เราต้องใช้แบบที่ Certified ในไทย เราสามารถหาซื้อได้ตามร้านต่าง ๆ เลย ตั้งแต่แผง และ Inverter สำหรับแปลงไฟ แต่ถ้าเราไปซื้อเอง บอกเลยว่ายากมาก เพราะพวกนี้มันไม่ได้แค่เสียบ ๆ แล้วจะใช้ได้เลย มันต้องมีการยึดแผงกับหลังคาอีก การเดินสาย และอื่น ๆ อีกมากมาย ถ้าคิดว่าตัวเองทำได้ก็เอาเลยไม่ว่ากัน แต่ข้อเสียของการทำเองคือ การรับประกันที่ไม่มีการรับประกันงานติดตั้ง เพราะติดตั้งเอง หรือพวกประกันแผง และ Inverter ที่ถ้ามีปัญหามันก็ยากอีก

ดังนั้น วิธีที่เราแนะนำคือ การติดตั้งจากบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญจะดีกว่ามาก เพราะบริษัทคือ เขาจะจัดการให้หมดเลย ตั้งแต่การสำรวจหน้างาน การจัดหาอุปกรณ์ การทำเรื่องกับการไฟฟ้า การติดตั้ง และ การรับประกันต่าง ๆ คือ มีหมดเลย โดยที่เราทำแค่เสียเงินให้เขาอย่างเดียว ไม่ต้องไปกังวลอะไรเลย

เกณฑ์การเลือกบริษัทของเรา คือ ต้องมีการรับประกันที่สมเหตุสมผล ซึ่งถ้าเราไปเปิดหาดู เราจะเจออยู่หลายบริษัทเลย แต่อีกเรื่องที่เราอยากได้คือ เราอยากได้ Inverter ของ Huawei เพราะ เพื่อนที่เรารู้จักนางใช้ยี่ห้อนี้มาหลายปีแล้วไม่เจอปัญหา และอีกอย่างคือ เมื่อเราเข้าไปดูในฝั่ง Developer มันมี Library สำหรับการดึงค่าออกมาเพื่อทำระบบการจัดการพลังงานในบ้าน (ไว้จะมาเขียน Blog เล่าอีกที) พอลอง ๆ หาดู มันก็ไปตกอยู่ที่เจ้านึงคือ Asolar ดู ๆ จากในเว็บแล้วมันก็ดู โอเค ไม่น่ามีปัญหาอะไร เลยติดต่อไปดู

บันทึกการติดตั้ง : ก่อนการติดตั้ง

เมื่อเราโอเคแล้ว ที่จะเลือกบริษัทนี้ เราเลยติดต่อผ่าน Line ไปว่าสนใจ ขอเบอร์ติดต่อ เราก็อะโอเค ติดต่อไป เขาก็บอกว่า ถ้างั้นเดี๋ยวให้ Sale เข้ามาดูหน้างาน กับให้รายละเอียดเพิ่มเติมก่อน แล้วค่อยตัดสินใจ เราก็บอกบ้านอยู่ไหน และ นัดวันไป

พอถึงวันที่นัด Sale ก็มาที่บ้าน พร้อมกับสำรวจหน้างานว่า บ้านเราน่าจะติดตั้งได้มากขนาดไหน และเราต้องใช้เยอะขนาดไหน พร้อมกับประเมินเวลาให้คร่าว ๆ (ตอนนั้นบอกไว้ว่า 2.5 วัน) รายละเอียดอยู่ใน Brochure ที่ให้มา ก็จะเป็นพวกรายละเอียดราคา และ อัตราการผลิตต่าง ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ เขาก็ให้ Line สำหรับการติดต่อเอาไว้

จากนั้น เราคุยกับที่บ้าน ก็โอเค ไฟเขียว เอาเลย ก็ไปติดต่อ Sale จาก Contact ที่ให้ไว้แหละว่า โอเค เราจะติดตั้งตาม Package ที่เราเลือกไป เราเลือกเป็น 5 kWp ไป เขาก็จะขอพวก ที่อยู่ เบอร์โทร โดยละเอียดเพื่อเปิด Quotation (ใบเสนอราคา) มาให้เรา เขาก็ส่งผ่าน Line มาให้เช็คก่อนแหละว่าข้อมูลถูกต้องหรือผิดยังไง จะได้แก้ก่อน และนัดวันมาทำสัญญาได้เลย

พอถึงวันที่ทำสัญญา Sale เขาก็จะเอาพวกเอกสารหลาย ๆ อย่างมาให้เราเซ็นต์พร้อมกับเก็บเงินกี่เปอร์เซ็นต์เท่าไหร่จำไม่ได้ละ อันนี้คือที่ตกลงกันแต่แรก ว่าจะมีการเก็บเงินอยู่ 3 ครั้งคือ ตอนทำสัญญา วันแรกที่ติดตั้ง และ หลังจากการติดตั้งเสร็จ จากนั้นก็จะสามารถลงวันในการติดตั้งได้ ซึ่งตอนนั้นก็คือ มาทำสัญญาช่วงต้นเกือบ ๆ กลาง ๆ เดือน กรกฏาคม แต่คิวว่างอีกที 22 กรกฏาคม เลยอะ ก็ได้ไม่มีปัญหา ตอนนั้นก็คือ ดีลไว้ว่าน่าจะ 2 วันครึ่ง ก็คือ เราเลยเผื่อไว้ 3 วันละกัน เพื่อให้ติดตั้งได้วันนั้นเลย เราก็เลยต้องเลื่อนงานหลายอย่างออกไป หรือไม่ก็ต้องนัด Online Meeting แทนอะไรก็ว่ากันไป

บันทึกการติดตั้ง : งานติดตั้งจริงอันแสนจะกำหมัด

หลังจากที่รออยู่หลายอาทิตย์ ในวันก่อนถึงวันติดตั้งที่นัดไว้ 1 วันเราก็ Line ไปถาม Sale ว่า ช่างจะเข้ามาติดตั้งกี่โมง ก็บอกว่าไม่น่าเกิน 11 โมง

Day 1 เราเดาเลยว่าทำทั้งวันแน่ ๆ เราเลย โอเค งั้นรีบเผ่นไปหาของกินก่อนดีกว่า ยังไม่ทันถึงบ้านเลย ช่างก็โทรเข้ามา พีคจริง คือ เขาบอกว่าวันนี้จะเอาอุปกรณ์มาวางไว้ก่อน แล้วจะมาเริ่มติดตั้งวันพรุ่งนี้

พอถึงบ้านเจอช่างที่กำลังจะกลับพอดี เราก็ถามอีกรอบว่า อ้าว ทำพรุ่งนี้เหรอ เขาก็บอกว่า ใช่ครับ เพราะ Site ที่ติดตั้งก่อนหน้า มันล่าช้าเพราะฝนตก เลยถามต่อว่า เอ่อออ แล้วมันจะติดเสร็จตามกำหนดเดิม หรือต้องเลื่อนยังไงมั้ย เขาก็บอกว่า น่าจะได้อยู่ตามกำหนดเดิมนะ

ตอนนั้นคือ ยอมรับเลยว่า ฟาคคคคคคคคคคค แบบ ฟาคคค จริง ๆ เพราะตอนแรกคิดว่าจะต้องอยู่เฝ้าทั้งวัน แต่ไม่จ๊ะ พี่เอาของมาวางแล้วจากไปแบบนิ่ม ๆ ทิ้งฉันที่อึ้งอยู่ในบ้านอย่างอ้างว้าง โดยที่เลื่อนนัดงานไปหมดแล้ว ฮัลโหลลล เอาเวลาชั้นคืนมา !!!

Day 2 เขาก็เข้ามาเหมือนเดิม วันนี้เขาก็มากัน 2 คน กับบอกว่า เขาจะขึ้นตัว Inverter ไปก่อน แล้วค่อยขึ้นพวกโครงสำหรับยึดแผง ในวันต่อไป ก็ได้ อะ ก็เลยไปเลือกตำแหน่งที่จะวาง Inverter ซึ่งต้องบอกว่า Inverter ของ Huawei มัน Design ดู Modern กลืนไปกับพวก Furniture ในบ้านเราได้อยู่แล้ว ตอนนั้นเราก็คุยกับแม่แหละว่า จะวางตรงไหนอะไรเรียบร้อย สุดท้ายพังจ้าาาา เพราะเขาบอกว่า อยากให้วางใกล้ ๆ กับ Main Breaker ของบ้านไปเลย จะได้ไม่ต้องเจาะบ้านเพื่อลากสายเยอะ แต่ใครที่อาจจะเคยดู Vlog เราในการวางระบบ Network มา น่าจะเคยเห็นแล้วว่าตรงนั้นมีตู้ Rack อยู่แล้ว คือถ้าเอา Inverter มาวางอีก ก็คือ แน่นแน่นอน สุดท้ายก็พ่ายแพ้ ต่อคำว่า ต้องเจาะบ้านเพื่อเดินสายเยอะมาก เลยยอมติดข้าง ๆ กับ Main Breaker และ Rack กะดะ

สำหรับคนที่จะติด การเลือกที่ติด Inverter เรายังต้องคำนึงถึง การถ่ายเทของอากาศ ในที่ ๆ เราจะติดตั้งด้วย เพราะในการใช้งานจริง Inverter มันมีการปล่อยความร้อนออกมาด้วย ถ้าเราเอาไปวางในที่ ๆ อากาศไม่ถ่ายเท เวลาใช้งานจริง Inverter ก็จะร้อน พอมันร้อนมาก ๆ เข้า มันจะลดกำลังการผลิตตัวเองลง เพื่อทำให้อุปกรณ์ไม่ได้รับความเสียหายจากความร้อน ดังนั้น เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด เราควรที่จะวางในที่มีอากาศถ่ายเท

สิ่งที่ช่างจะต้องติดตั้งคือ ตัว Inverter, Smart Load Sensor สำหรับวัดไฟที่จ่ายออกไป และพวกท่อสำหรับโยงสายต่าง ๆ ซึ่งในการจะติดตั้ง Inverter ก็คือ ช่างจะต้องติดตั้งตัวยึดก่อนด้วยการเจาะกำแพงแน่นอน ความเงิบในวันนั้น (เงิบจริง ๆ) คือ หลังจากที่ยึด Inverter กับพนังเรียบร้อยแล้ว ช่างก็ เอ๊ะ ขึ้นมาว่า เห้ยมันผิดรุ่นนนน กำลังไฟอะเท่ากัน แต่มันเป็นรุ่นไฟ 3 Phase แต่บ้านเราเป็นไฟ 1 Phase ก็ต้องให้ Sale เอามาให้ใหม่ ความพีคคือ ขนาดของเครื่องมันเล็กกว่าทำให้ ต้องเลื่อนที่ยึดขึ้นมา แน่นอนว่าต้องเจาะใหม่ ทำให้มีร่องรอยแห่งความผิดพลาด เป็นรูโบ๊อยู่ (สุดท้ายเขาโปะให้) นี่คือ วอททททททท ตอนติดตั้งไม่ได้เช็คก่อนเหรอ หรือดูแค่กำลังไฟแล้วจบเลย บ่าย ๆ นิด ๆ หน่อยเขาก็ขึ้น Inverter เสร็จก็ไป บอกว่าจะเอาช่างมาขึ้นโครงในวันต่อไป

Day 3 เขาก็มาเวลาเดิม แต่มาพร้อมกับช่าง 3-4 คนเลยมั่ง จำไม่ได้ เขาก็มาขึ้นโครงที่ได้บอกไว้ เราไม่รู้นะว่าขั้นตอนอะไรมันเป็นยังไง แต่ถ้าไม่รวมกับวันที่เขาเอาอุปกรณ์มาวางไว้ มันก็คือวันที่ 2 ซึ่งช่างบอกว่าน่าจะเสร็จ ทำให้เราอะ โอเค คาดหวังว่าวันนี้จะได้ปิดงานแล้วจบเรื่องสักที ปรากฏว่า ไม่เสร็จจ้าาาาาา เราก็เอาละ เพราะมันเป็น Long Weekend วันเกิดคนนั้น กับชดเชยสงกรานต์ พอดี ทำให้แน่นอนว่าช่างต้องหยุดแน่นอน ทำให้เหลืออีกวันก่อนวันหยุด เขาก็บอกว่า จะมาอีกทีพรุ่งนี้คิดว่างานจะเสร็จ

Day 4 ก็มาเวลาเดิม วันนี้ก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษ ก็คือยังขึ้นโครงหลังคาเหมือนเดิม ผีเข้าไปอีกคือ ช่วงบ่ายฝนล่อตกตั้งแต่บ่าย ๆ ยันเกือบเย็นเลย แน่นอนว่าทำให้ช่างทำงานไม่ได้แน่นอน วันนั้นก็คือ จอบอ ละ ก็ต้องทิ้งงานไว้ช่วง Long Weekend และช่างหยุดยาวทั้งอาทิตย์ไปเลย เขาก็ทิ้งพวกบันได กับเชือกที่ห้อยไว้อยู่ที่ระเบียงห้องชั้นนนนนน เวลาไม่ใส่แว่นเปิดม่านมาคือ ช๊อค นึกว่าตัวอะไรเกาะอยู่ที่ระเบียงฮ่า ๆๆๆๆๆ และก็นัดไปเป็นช่วงประมาณวันที่ 3 สิงหาคม ไปเลย

ตอนนั้นยอมรับเลยว่า เห้ย มันเริ่มไม่โอเคแล้ว เพราะตอนแรกบอกเราไว้ 2.5 วันเท่านั้นนี่กดไป 4 วันแล้วมันเริ่มไม่ตลกแล้วแหละ ส่วนนึงก็เข้าใจว่า Day 3 มันมีฝนปรอย ๆ มันก็ทำให้หลังคาลื่น ทำงานไม่ได้แน่ ๆ กับ Day 4 ฝนโหมกระหน่ำไปหลายชั่วโมง ประกอบกับ Day 4 มันตกวันเสาร์พอดี งานมันต้องขึ้นหลังคา และหมู่บ้านก็ไม่อนุญาติให้ช่างเข้ามาทำงานวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดต่าง ๆ ด้วยอะไรแบบนั้นก็เสียว ๆ อยู่ แต่การขึ้นโครงแรก ๆ มันก็ไม่ได้เสียงดังอะไรนะ

Day 5 ยังไม่ทันถึงวันที่นัดไว้เลย วันที่ 30 กรกฏาคม Sale ก็โทรมาตอนสาย ๆ เลยสัก 9.29 ถามเราว่า วันนี้เราอยู่บ้านมั้ย ถ้าจะให้ช่างเข้าไปทำงานได้มั้ย ด้วยความที่ เออ จะได้จบ ๆ ไวขึ้น เราก็อะ ได้ เข้ามาได้เลย เขาก็เข้ามาทำงาน จัดการโครงของเขาต่อไป ช่างก็มากัน 2 คน เข้ามาจัดการโครงหลังคาต่อ แต่จะยังไม่ขึ้นแผงนะ เพราะช่างไม่พอ ยังไม่หมดวันหยุด ก็จัดการไปงานก็ยังไม่เสร็จแน่ ๆ อันนี้ทำใจละ เพราะยังขาดคนขึ้นแผง ก็แอบขอบคุณในใจเบา ๆ ว่าอุตส่าห์กลับมาก่อนวันหยุดเพื่อมาทำงานต่อเลย

Day 6 วันนั้นช่างก็มาหลายคนละ เพราะหมดวันหยุดแล้วอะไรแบบนั้น เขาก็กลับมาจัดการขึ้นโครงต่อ และกลับช่วงเย็น ๆ เหมือนเดิม

Day 7 ช่างก็เข้ามาทำงานเหมือนวันที่ผ่าน ๆ มา จนช่วงบ่ายแก่ ๆ หน่อยก็เริ่มมีการขึ้นแผง โดยที่บ้านเราจะติดทั้งหมด 3 ด้านของบ้านเลย ในวันแรก เขาก็ขึ้นไปได้ทั้งหมด 2 ด้านจาก 3 ด้านละ เออใกล้เสร็จแล้ววววววว สิ่งที่วันนั้นเห็นแล้ว ฟาคคค อีกคือ เวลาขึ้นแผง เขาจะมีคน 1 คนอยู่บนพื้น เกี่ยวตัวแผงกับเชือกแล้วจากนั้นคน 2 คนที่อยู่บนหลังคาจะดึงเชือกที่มีแผงอยู่ขึ้นไปเพื่อติดแผงกับที่ยึด ความฟาคคค ที่เห็นคือ เราไปดูตอนที่เขากำลังเอาแผงขึ้นคือ เขาลากแผงผ่านรางน้ำที่ติดอยู่รอบหลังคาสำหรับระบายน้ำฝนเลย คือรางน้ำมันก็ห่วยอยู่แล้ว ฝนตกน้ำขังจนนกมาอาบน้ำเล่น กับทิ้ง 💩 ไว้รอบบ้านแล้ว ยังมาเจอภาพที่แผงหนัก ๆ รูดผ่านราง ใจคือ คลืดดดดดดดดด ไปตามแผงที่ผ่านรางน้ำเลย มันจะหลุดมั้ย จะหลุดมั้ย ฮื่ออออ

วันนั้นก่อนช่างไปเราก็แอบถามเขานะว่า ทำไมขึ้นโครงนานจัง เขาก็บอกว่า เพราะหลังคาบ้านเรามันชันมมาก ทำให้ทำงานลำบากมาก เลยทำให้ใช้เวลามากกว่าที่คิดเยอะมาก เราก็อื้ม... โอเคครับ มันอาจจะชันกว่าบ้านอื่นจริง ๆ แหละ เราไม่รู้

Day 8 ช่างมาทำงานต่อ โดยการมาขึ้นแผงด้านสุดท้าย จนเย็น ๆ สัก 4 โมงหน่อยมั่ง ไม่ก็ 3 เกือบ 4 อะ งานติดตั้งอะไรก็เรียบร้อย เหลือขั้นตอนการ Setup เครื่อง ช่างแกก็มาขอพวก ชื่อนามสกุล อีเมล์ อะไรพวกนั้น เราก็ งง ว่าขอเพื่ออออ เขาบอกว่า เพื่อให้บริษัทเปิด Account สำหรับการเข้ามาดูการผลิตผ่าน App ได้ ตอนนั้นก็เอ๊ะ งง ๆ ละ เด๋ววว มันแปลก ๆ ละ อะ ตอนนั้นก็ ไม่เป็นไร ให้ไป เขียนใส่ Postit ไปให้

ซึ่ง App ที่เขาให้เราใช้คือ FusionSolar ของ Huawei เอง มันก็ดูปกติเนอะ แต่ เราเริ่มสัมผัสได้ถึงกลิ่นแปลก ๆ หลังจากที่ช่างบอกว่าบริษัทจะเปิด Account ให้เราแล้ว พอเรา Login อะไรตามที่เขาให้มาแล้ว เปลี่ยนรหัสผ่าน เข้ามามันก็จะเป็นหน้าจอที่บอก กำลังการผลิต และการใช้แบบ Realtime เลย โดยที่สิ่งที่เราทำได้คือ มีแค่ดูข้อมูลเฉย ๆ เลย เราไม่สามารถ Config อะไรได้เลย (ถึงทำได้ ก็จะ Config อะไร๊ !!)

ด้วยความที่กว่าจะ Setup Account และ Inverter เสร็จมันก็เย็นมากแล้ว 5 โมงเลยมั่ง การจะทดสอบว่าเครื่องทำงานได้ปกติมั้ย มันเป็นไปไม่ได้ เพราะแดดมันหมดแล้ว เขาเลยบอกว่า ถ้าไฟมันไม่จ่าย หรือยังไง ก็คือติดต่อมา

และก่อนที่จะไปก็ไม่ลืมที่จะอุดรูแห่งความผิดพลาดที่ทำไว้ตั้งแต่วันที่ 2 ของการติดตั้ง พอมาดูดี ๆ แล้วคือ ฟาคคคค อีก ดูจากรูปจะเห็นเลยว่า มันไม่เนียน ไม่เสมอ คือรู้ว่า Burn Baby Burn 🔥 มาก เรื่องนี้ไม่พอใจมาก ๆ ถ่ายส่งไปให้เพื่อนวิศวะดูคือถึงกับด่า หัวร้อนกว่าเราก็เพื่อนเรานี่แหละ สรุปบ้านใคร ????

Day 9 ปัญหามันก็เกิดจริง ๆ เพราะไฟมันไม่ยอมจ่ายออกจาก Inverter ซึ่งทางบริษัทเป็นคนติดต่อมานะ เพราะเขาสามารถ Monitor ระบบได้จากฝั่งเขาเลยนะ ว่าเขาจะส่งช่างเข้ามาเช็คอีกทีว่าเกิดอะไรขึ้น แต่วันนั้นเป็นวันที่ 3 สิงหาคม ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่ว่าง เลยให้เข้ามาอีกทีในวันที่ 4 เราจะได้มีเวลา Clear นัด สรุปคือ ตัว Inverter มันหา Smart Meter ไม่เจอ เลยทำให้มันไม่ยอมจ่ายไฟ ไม่รู้ว่าเขาทำยังไง มันก็หายเป็นปกติ จ่ายไฟได้อยู่

ทั้งหมดสุทธิกดไปทั้งหมด 9 วันด้วยกัน ในการติดตั้ง และแก้ปัญหาเพื่อให้ระบบมันทำงานได้ จากตอนแรกที่บอกไว้ 2.5 วันก็คือล่าช้าจากที่ประมาณให้ไว้ ประมาณ 6.5 วันหรือก็คือ 6 วันครึ่งอะ ยังไม่นับเรื่องวันหยุดยาวอีกนะ ถ้านับก็บวกไปอีก 3-4 วัน

เราอะมีปัญหากับเรื่องการประเมินเวลาติดตั้งมาก เพราะ การที่ตอนแรกประเมินมาให้เรา 2.5 วัน เราก็ โอเค Clear นัดแค่ในช่วงที่บอกมา บวกลบนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร เข้าใจว่าอาจจะมีฝนตกทำให้ทำงานไม่ได้ (ซึ่งก็มีจริง สัก 2 วันที่ฝนตก) แต่นี่ล่อไปเกือบ 10 วันเลย คือโชคดีที่เรารู้สึกอยากหยุดต่อเลยทำให้ช่วงวันที่ 30 สิงหาคม เราเลยไม่ได้มีนัดอะไร ยาวไปถึงวันที่ 1-2 สิงหาคม ที่มันตกวันอาทิตย์พอดี

เราเข้าใจว่า บริษัทนี้น่าจะผ่านลูกค้ามาหลายงานแล้ว เรื่องการประเมินเวลาน่าจะเที่ยงตรงกว่านี้มาก หรือถ้ามันล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นเรามองว่าช่างที่มาทำหน้างานก็น่าจะประเมินได้เที่ยงตรงกว่านี้นี่คือ ณ ตอนที่ติดตั้ง เราไม่รู้เลยนะว่า มันจะจบเมื่อไหร่ เราต้องเลื่อนนัดเท่าไหร่ ไปเมื่อไหร่ไม่รู้ มันไม่โอเคมาก ๆ

บันทึกการติดตั้ง : หลังติดตั้ง การกำหมัดที่แน่นขึ้น

หลังจากการติดตั้ง ระบบก็ใช้งานได้ เกือบ จะปกติ มันจ่ายไฟได้อะไรได้แหละ แต่พอมันต่อ Cloud ไปแปบ ๆ มันก็หลุด อันนี้เข้าใจว่า น่าจะ เกิดจากระบบ Network ของเราเองแหละ ก็ต้องมาแก้ เพื่อให้มันทำงานได้ไป แต่เรื่องที่จะกำหมัดให้มากขึ้นคือ ระบบที่เขาใช้ในการ Monitor นั่นเอง

ตัว Inverter ของ Huawei มีความสามารถในการเชื่อมต่อกับสิ่งที่เรียกว่า Management System ได้ หรือภาษาง่าย ๆ คือการต่อ Cloud นั่นแหละ มันก็จะส่งพวกค่าการผลิตพลังงาน การใช้งาน และ การตั้งค่าต่าง ๆ เข้าไปที่ระบบของ Huawei เอง ซึ่งมันจะมีเรื่องของการทำ Access Control อยู่ 2 Role ด้วยกันคือ ผู้ใช้ทั่วไป คือ เราเอง และ ผู้ติดตั้ง

โดยที่ผู้ใช้สามารถดูอัตราการผลิตพลังงาน และอัตราการใช้พลังงานในบ้านของเราได้ผ่าน App FusionSolar อย่างที่เราบอกไป

กลับกันในฝั่งบริษัทเอง ก็สามารถ Monitor การใช้งานเหมือนที่เราเห็นจากใน Application ได้เหมือนกัน แต่เขาสามารถเข้าถึงการ ตั้งค่าของเครื่องได้จากระยะไกล หรือ แม้กระทั่งทำผ่าน Web ได้เลย ในหน้า Web มันจะแสดงแต่ละ Site ที่ทางบริษัทเชื่อมเอาไว้ จะเห็นหมดเลยว่าบ้านไหน หรือ Site ไหน มีการใช้ไฟอะไรเท่าไหร่หมด เขาบอกว่า เพื่อให้ถ้ามี Alarm หรือการแจ้งเตือนปัญหาจากระบบ เขาจะสามารถเข้ามา Service ให้เราได้ทันที

หลาย ๆ คนที่เราคุยด้วยนึกไม่ถึงเลยนะว่า การที่บริษัทได้เห็นข้อมูลตรงนี้มัน อาจจะ ส่งผลเสียอะไรได้บ้าง เรายกตัวอย่างง่าย ๆ นะคือ ถ้าเกิดเห็นว่าบ้านเรามีการใช้ไฟน้อย ๆ มัน Imply ได้มั้ยว่า เราไม่อยู่บ้าน ถ้าเป็นโจรคือ ลัก ไปแล้ว เราไม่ได้บอกว่าบริษัทเป็นโจรนะ นี่คือเคสที่เป็นไปได้ หรือจะเอาข้อมูลไปขายต่อ ก็ย่อมทำได้โดยที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำ หรือถ้าบริษัทไม่ได้ทำเองตรง ๆ เราก็ไม่รู้อีกว่า ใครบ้าง ที่มีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลนี้บ้าง เช่นช่างที่เข้าระบบได้มีกี่คน Sale ที่เข้าได้มีกี่คน หรือ ผู้บริหารที่ดูได้มีใครบ้าง เราไม่รู้เลย ซึ่งในทางกฏหมายมันมีเรื่องของ GDPR ที่พึ่งออกมาใช้อยู่แล้ว เราอ่าน ๆ แล้วคิดว่าข้อมูลการใช้ไฟตรงนี้มันน่าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลได้เช่นกัน ซึ่งปกติมันต้องมีการขอ Consent ซึ่งเราอ่านเอกสารทุกฉบับที่เซ็นต์หลายรอบแล้วก็ยังไม่เจอว่ามีตรงไหนบอกว่าจะขอดูข้อมูลเลย

ถามว่าแล้ว Huawei ในกรณีนี้เขาผิดด้วยมั้ย คำตอบคือ ไม่ผิด เพราะตอนที่เราเข้า App ครั้งแรก มันจะให้เราเปลี่ยนรหัสผ่าน และ มีให้เรากดยอมรับข้อตกลงการใช้งานในนั้นเขาเขียนไว้ชัดเจนเลยว่า จะมีการเก็บข้อมูลอะไรบ้างอย่างละเอียด (หากปกติใครไม่ได้อ่าน แล้วกด Accept อย่างเดียว แนะนำให้อ่านหน่อย) นอกจากนั้นในระบบของผู้ติดตั้งเอง เวลาเขาจะเพิ่มอุปกรณ์ลงไป มันจะมีให้ติ๊กเลยว่าเขาทำการขอ User แล้ว ด้วยเพื่อเป็นการป้องกันอีกขั้น แต่ก็นะ ฮ่า ๆๆๆๆๆๆๆๆ

อ่านแล้วอาจจะงงนิด ๆ นะ เอาเป็นว่าหลัก ๆ เราไม่ไว้ใจบริษัทมากขนาดที่จะให้ดูข้อมูลแบบ Realtime ขนาดนั้น ประกอบกับไม่มี Consent Form อะไรมาแจ้งเลย และ ตัว Huawei เองที่เป็นบริษัทจากประเทศที่แบนหมีพูห์ เพราะโดนเอามาล้อเลียนกับท่านผู้นำ มันไม่น่าไว้ใจทั้งคู่ สิ่งที่เรายอมรับได้คือ อย่างน้อยที่สุดคือ บริษัทที่ติดตั้งไม่ควรเห็นข้อมูล หรือทำการ Config เครื่องก่อนได้รับอนุญาติ ส่วนที่เห็นข้อมูล Huawei ก็พอโอเค เราว่าพอได้อยู่

ดังนั้นเราเลยบอก Sale ไปว่า เราเห็นว่า Account มันถูก Control ด้วยบริษัท เราไม่ไว้ใจ กับเราต้องการที่จะ Access ค่าจากตัวเครื่องผ่านโปรแกรม มันจะเข้าไม่ได้ถ้าเราไม่ได้เป็น Installer ถ้าจะขอ Admin Account มาเองเลยได้มั้ยอะไรแบบนั้นไป ตอนแรกก็ยังยืนยันกันอยู่นะว่าไม่ได้ เพราะมันต้องใช้ Service ลูกค้า แต่เราก็บอกว่า เราดูแลได้

เราเลยบอกว่า งั้นเอางี้ เราไม่ไว้ใจให้เห็นข้อมูลจากระบบ และเราเองก็เข้าไป Config ตัวเครื่องไม่ได้ งั้นเรา Block จาก Router เราเลยละกัน เราจะ Block ไม่ให้ข้อมูลจาก Inverter ผ่านออก Internet ไป ดังนั้นฝั่งบริษัทจะเห็นว่าระบบมัน Offline อยู่นะ กับเราถาม Sale ในวันที่มารูดบัตรเก็บเงินรอบสุดท้ายว่า ถ้าเรา Reset เครื่องแล้วตั้งค่าใหม่เลยได้มั้ย ตั้งค่า Account ใหม่เลยได้มั้ย โดยที่ไม่ผ่านบริษัท เขาก็บอกว่าได้

พอวันถัดไป เราก็ลองเข้าไปเล่นตัวระบบ Management System หรือก็คือตัวที่บริษัทเอาไว้ใช้ Monitor ให้กับลูกค้าทุกราย เลยทำให้รู้เลยว่าเห็นข้อมูลเยอะแค่ไหน และ พอเราจะเพิ่มเครื่องของเราเข้าไป ปรากฏว่า มันติดเพิ่มไม่ได้ มันบอกว่า เครื่องของเรามันไปผูกเข้ากับ Account อื่นแล้ว นั่นก็คือ Account ของบริษัทนั่นแหละ

เราก็เลยแจ้ง Sale ไปว่า ให้บริษัทเอาเครื่องของเราออกจากระบบ เพื่อที่เราจะเพิ่มเครื่องของเราเข้าสู่ระบบได้ เวลาผ่านไปหลายวัน ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อใด ๆ จาก Sale เลย เราเลยลองโทรไปถาม เขาก็บอกว่า เมื่ออาทิตย์ก่อน เขาบอกหัวหน้าช่างในที่ประชุมให้เอาเครื่องของเราออกแล้ว ง่าย ๆ คือ แจ้งให้บริษัทดำเนินการไปแล้ว น่าจะเสร็จภายในอาทิตย์นี้ จน ณ วันที่เขียนก็ยังไม่ได้เอาออกนะ ต้องรอดูต่อไปว่าจะเอาออกให้เมื่อไหร่

ทำไมเราถึงอยากที่จะ Access ข้อมูลจากตัวเครื่อง

คำเตือน ส่วนนี้ Geek มาก ถ้าไม่ใช่ Developer ก็ข้ามไปได้ ไม่เก่ียวกับการใช้งานใด ๆ

ตอนนี้เรากำลังทำ Prototype ของระบบ Smart Home อยู่ การได้ข้อมูลจาก Inverter มันช่วยเราได้เยอะมาก นั่นเป็นส่วนนึงที่ทำให้เราเลือกใช้ Inverter ของ Huawei เพราะอ่านคู่มือมันมาล่วงหน้าจนรู้แล้วว่า เราสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่าน Modbus Protocol ได้ ซึ่งมันก็มีคนเขียนออกมาเป็น Python Library ให้เราโหลดมาใช้ได้เลย มันชื่อ huawei-solar ลองเข้าไปดูกันได้

คร่าว ๆ เราพยายามจะทำระบบควบคุมอุณหภูมิภายในบ้านในช่วงกลางวันโดยที่ลดการใช้ไฟจาก Grid ให้ได้มากที่สุด กับระบบในการ Monitor ประสิทธิภาพของแผง Solar พร้อมกับแจ้งเตือนความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเราแบบอัตโนมัติด้วย Machine Learning เราว่ามันเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก แต่มันจะเป็นไปไม่ได้ถ้าเราไม่ได้สิทธิ์การเข้าถึงพวก API เหล่านี้

นอกจากนั้น เราพยายามที่จะ Integrate Dashbaord ของทั้งบ้านเข้าด้วยกันผ่าน Grafana ตอนนี้คือมี Sensor กระจายอยู่ในบ้าน บอกค่าต่าง ๆ พร้อมกับเชื่อมเข้ากับ InfluxDB เรียบร้อยแล้ว ก็หวังว่า เราก็ต้องเชื่อมต่อ Inverter ของ Huawei เข้าไปเช่นกัน

ประสบการณ์การใช้งาน: อิสระภาพในการใช้ไฟที่แท้จริง

เปิดมันให้หมดจ๊ะแม่ เปิดเข้าไปแอร์น่ะ !!!

ฉันรู้ แฟนคลับรู้ ทุกคนรู้ หลังจากที่เราติดตั้ง และใช้งาน Solar Cell เราบอกเลยว่า ปกติอยู่บ้าน เราไม่อยากจะเปิดแอร์เลย เพราะถ้าเราทำงานที่บ้านทุกวัน เราใช้คอมพิวเตอร์ ใช้แอร์ทุกวันขนาดนั้น ค่าไฟคืออ่วมแน่นอน เหมือนช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เจอบิลค่าไฟไปคือ หน้าสั่นเลยเหมือนกัน ไม่คิดว่า บ้านที่เราอยู่จะเสียค่าไฟเดือนละ 5000 กว่าบาทได้ มันดูตลกมาก ประกอบกับตอนเรียน ป.ตรี เราก็อยู่หอ ซึ่งหลาย ๆ คนก็น่าจะรู้แหละว่า ค่าไฟหอ ราคาต่อหน่วยมันแพงกว่าบ้านพอสมควรเลย ทำให้เรากลัวที่จะใช้ไฟมาก ๆ

แต่พอมาใช้ Solar Cell คือ เปิดมันเข้าไป เปิดมันเยอะ ๆ ทุกวันนี้คือ กลายเป็นคนติดห้องแอร์ไปเฉยเลย แอร์บางตัวแทบจะเปิดตลอดเวลา พักอยู่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น เพื่อนเราบอกว่า เปิด ๆ ไปเถอะ เราก็อะ ได้ ๆๆๆ คือยอมรับเลยว่ามันขัดกับสามัญสำนึกที่เคยมีมาว่าประหยัดไป ตอนนี้คือ เปิดรัว ๆ เลยจ๊ะแม่ !!!

ส่วนบ้านเราเองไม่ได้ขายไฟนะ เพราะเรายังรู้สึกว่า ราคามันยังไม่คุ้ม และเราก็นั่งทำงานอยู่บ้านเกือบจะตลอด ทำให้กลางวันก็ใช้ไฟอยู่แทบจะตลอด ขายไปเอาจริง ๆ เราว่ามันไม่ได้คุ้มขนาดนั้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายเพื่อให้บริษัททำเรื่องในการขอขายไฟกับการไฟฟ้ามันเกือบ 2 หมื่นบาท เราเลยขอบายละกัน ไว้ถ้า Smart Grid เปิดให้ใช้งาน และ ราคาการขายไฟคืนดีกว่านี้ค่อยพิจาณาดูอีกทีก็ไม่เสียหาย

แม้กระทั่งเว็บที่ทุกคนกำลังอ่านอยู่ตอนนี้มันก็ Host อยู่ในบ้านของเราเองนะ ตอนนี้ใช้ไฟจาก Solar Cell เช่นกัน เป็นเครื่อง Server ตัวเล็ก ๆ ที่ก่อนหน้านี้กลัวมันร้อนมาก ๆ เพราะมันอยู่ชั้น 2 จะอบ ตอนนี้คือ เปิดแอร์ให้น้องอยู่ทั้งวันเลย น้องก็อยู่ในห้องไม่เกิน 24 องศาตลอดทั้งวันไปเลย ฮ่า ๆๆ เรียกได้ว่า น่าจะเป็น Green Website มาก เพราะเราใช้พลังงานจาก Grid น้อยมาก ช่วงกลางคืนโหลดไม่เยอะ เครื่องทำงานน้อยลง ก็กินไฟน้อยลงเช่นกัน

ถามว่า แล้วที่เราติดมา มันเป็นขนาด 5.5 kWp เราได้เต็ม 5.5 จริง ๆ มั้ย สำหรับบ้านเรามีช่วงเวลาที่ได้ 5.5 kW อยู่จริง ๆ นะ แบบ Inverter จ่ายออกมาเท่ากับ Max อยู่นานมาก มองออกไปข้างนอกแดด จัดมาก ตากผ้าไว้คือ ไม่ถึง 2 ชั่วโมงมีแห้งแน่นอน จริง ๆ ตอนแรกกังวลมาก ตอนที่ช่างบอกว่า หลังคาบ้านมันเอียงเยอะ พอมันเอียงเยอะ การรับแสงมันจะทำได้ไม่ดีเท่ากับ เราวางหงายขึ้นฟ้าเลย แต่ถ้าได้ Max Load ขนาดนี้เราก็พอใจละ

ติด Solar Cell แล้วจะคุ้มมั้ย ?

เป็นคำถามที่เราก็ถามตอนที่เราจะติดตั้งถึงความคุ้มค่าหลังจากการติดตั้ง เรื่องนี้เราก็คงจะตอบเหมือนที่เพื่อนเราตอบเรามาก่อนหน้านั้นว่า ขึ้นกับการใช้งานของเรา ถ้าเราใช้งานกลางวันเยอะ มันก็จะคืนทุนเร็ว แต่ถ้าเราใช้ไฟกลางวันน้อย มันก็จะคืนทุนช้าลง หลัก ๆ เราว่า เกิน 10 ปีอะ กว่าจะคืนทุน และเริ่มได้กำไร ซึ่งมันจะเกิดที่บริษัทบอกเรามาอยู่ละ เพราะที่เขาวัดมันคือแบบ Ideal เลย แต่การใช้งานจริงมันได้น้อยกว่านั้น ขึ้นกับการใช้งานของเราเน้น ๆ

ทำให้เราไม่แนะนำกับบ้านที่ไม่ได้อยู่บ้านในเวลากลางวัน หรือมีการใช้ไฟเยอะในช่วงกลางวัน เพราะมันกว่าจะคืนทุนคือ นานมาก ๆ เผลอ ๆ นานกว่าอายุของ Solar Cell อีก

การบำรุงรักษา

หลังจากที่เราติดตั้งไป มันก็เป็นเรื่องปกติที่เราจะต้องมาทำการเช็ค หรือ บำรุงอะไรที่มันอาจจะเก่าไปอะไรพวกนั้น โดยหลัก ๆ แล้ว ระบบพวกนี้ไม่ค่อยจะต้องมีอะไรให้เราบำรุงรักษามากมาย นอกเสียจากว่า เราจะเห็นความผิดปกติบนแผง เช่น นก 💩 ใส่ อันนี้รีบเรียกช่างมาล้างแผงเลย เห็น Sale บอกว่าถ้าปล่อยไว้ อาจจะทำให้ตัวแผงเป็นด่างได้ หรืออีกเคสคือ ฝุ่นจับ จนทำให้แสงส่องเข้าแผงได้น้อย ทำให้ผลิตไปไม่ได้เยอะเท่าที่ควร

โดยปกติ พวกฝุ่น หรือสิ่งสกปรก ที่เกาะอยู่ตามแผง น่าจะโดนชะล้าง โดยน้ำฝนไปบ้างแหละ แต่ถ้าที่ ๆ เราติดตั้งมันไปอยู่ในที่ ๆ มีฝุ่นเป็นจำนวนมาก อาจจะทำให้ฝุ่นมันสะสมเยอะมากก็เป็นได้ ง่าย ๆ เหมือนเคสแรกคือ เรียกช่างมาล้างแผงก็จบ

หลัก ๆ ให้เราสังเกตุปริมาณไฟที่ผลิตได้ เทียบกับวันอื่น ๆ ว่ามันอยู่ในช่วงที่ใกล้เคียงหรือไม่ ถ้าอยู่ ๆ มาวันที่แดดออกจัด ๆ เลย แต่ผลิตไฟได้น้อยมาก ๆ เราก็ควรจะเรียกช่างเข้ามาเช็คว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบ

สรุป

การติด Solar Cell ในบ้านที่มีการใช้ช่วงกลางวันเยอะ ๆ ถือว่าเป็นอะไรที่คุ้มค่ามาก ๆ มันช่วยลดค่าไฟที่ใช้ในเวลากลางวันได้เลย เผลอ ๆ ถ้าติดแล้วใช้พอจริง ๆ ทั้งเดือน เราก็จะจ่ายแค่ค่าไฟของช่วงกลางคืน ไม่ก็วันที่ฝนตกเท่านั้นเอง แต่ไม่แนะนำสำหรับคนที่ไม่อยู่บ้าน หรือไม่ได้มีการใช้ไฟในช่วงกลางวันที่เยอะมาก มันจะไม่คุ้มเอา ส่วนคนที่ติดเพราะอยากจะขายไฟ ณ ตอนที่เขียน ไม่แนะนำอย่างแรง ไม่คุ้มโคตร ๆ แต่ถ้าเราใช้แล้วเหลืออยู่แล้วขายไปกำไรกรุบกริบ เรื่องนั้นไม่มีปัญหา เป็นผลพลอยได้ไป รีวิวนี้ น่าจะช่วยคนที่คิดว่าจะติด Solar Cell ในบ้านได้นะฮ่ะ ถ้าสนใจ แล้วอยากได้รายละเอียดเพิ่มเติม ก็ลองหาบริษัทที่เราไว้ใจ และติดต่อเขาไปก็ได้นะ ประสบการณ์ที่เราได้ กับถ้าคนอื่นติดอาจจะไม่เหมือนกัน ลองอ่านจากที่อื่นควบคู่ไปด้วยนะ สำหรับวันนี้ จบ สวัสดี

Read Next...

Trust ความเชื่อมั่น แต่ทำไมวงการ Cyber Security ถึงมูฟออนไป Zero-Trust กัน

Trust ความเชื่อมั่น แต่ทำไมวงการ Cyber Security ถึงมูฟออนไป Zero-Trust กัน

คำว่า Zero-Trust น่าจะเป็นคำที่น่าจะเคยผ่านหูผ่านตามาไม่มากก็น้อย หลายคนบอกว่า มันเป็นทางออกสำหรับการบริหาร และจัดการ IT Resource สำหรับการทำงานในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันคืออะไร และ ทำไมหลาย ๆ คนคิดว่า มันเป็นเส้นทางที่ดีที่เราจะมูฟออนกันไปทางนั้น...

แปลงเครื่องคอมเก่าให้กลายเป็น NAS

แปลงเครื่องคอมเก่าให้กลายเป็น NAS

หลังจากเราลงรีวิว NAS ไป มีคนถามเข้ามาเยอะมากว่า ถ้าเราไม่อยากซื้อเครื่อง NAS สำเร็จรูป เราจะสามารถใช้เครื่องคอมเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาเป็นเครื่อง NAS ได้อย่างไรบ้าง มีอุปกรณ์ หรืออะไรที่เราจะต้องติดตั้งเพิ่มเติม วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกัน...

รีวิว Ugreen Nexode Pro Charger ที่เบา กระทัดรัดที่สุด

รีวิว Ugreen Nexode Pro Charger ที่เบา กระทัดรัดที่สุด

เมื่อปีก่อน เรารีวิว Adapter 100W จาก UGreen ที่เคยคิดว่ามันเล็กกระทัดรัด น้ำหนักเบา พกพาง่ายที่สุดไปแล้ว ผ่านมาปีนึง เรามาเจออีกตัวที่มันดียิ่งกว่าจากฝั่ง Ugreen เช่นเดียวกันในซีรีย์ Nexode Pro วันนี้เรากดมาใช้เอง 2 ตัวคือขนาด 65W และ 100W จะเป็นอย่างไร อ่านได้ในบทความนี้เลย...

Tor Network ทำงานอย่างไร ทำไมถึงตามยากนัก

Tor Network ทำงานอย่างไร ทำไมถึงตามยากนัก

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนนานมาก ๆ แล้ว ตำรวจไทยได้จับกุมเจ้าของเว็บ AlphaBay ขายของผิดกฏหมายรายใหญ่ ซึ่งเว็บนั้นมันอยู่ใน Dark Web ที่จำเป็นต้องเข้าถึงผ่าน Tor Network วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันทำงานอย่างไร และทำไมการตามตัวในนั้นถึงเป็นเรื่องยากกัน...