By Arnon Puitrakul - 01 กุมภาพันธ์ 2025
หลังจากตอนที่แล้ว เรา Unbox Leica Q3 ไปเรียบร้อยแล้ว วันนี้เราจะมาเล่ากันต่อ ในเรื่องของลักษณะตัวกล้อง และ อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ว่าแต่ละจุดมันมีหน้าตายังไง และการออกแบบมาในลักษณะนั้นเรามี Comment กับการใช้งานอย่างไร
ปล. เราใช้กล้อง Sony เป็นหลักมาก่อน ดังนั้น รีวิวนี้ เราจะมีการเปรียบเทียบหลาย ๆ อย่างกับ Sony บ้าง เพราะมันเป็นประสบการณ์ที่เราต้องปรับตัวเข้ากับ Leica Q3 ตัวใหม่นี้ น่าจะเป็นประเด็นที่ดีสำหรับคนที่มีกล้อง Sony แล้วขยับมาเล่น Leica แบบเรา ส่วนคนอื่น ๆ ก็ข้าม ๆ ส่วนการเปรียบเทียบพวกนี้ไปก็ได้
หากอยากอ่าน Part แกะกล่องก่อน ย้อนกลับไปอ่านได้ที่ลิงค์ด้านบนเด้อ
ก่อนเราจะไปดูตัวกล้อง เราอยากจะเล่าสาเหตุก่อนว่า ทำไมเราที่มี Sony พร้อมเลนส์ GM เกือบทุกตัวพร้อมออกงานรบได้เต็มเหนี่ยว อยู่ดี ๆ ถึงมาจบที่ Leica Q3 ได้
เวลาเราไปเที่ยว แล้วเราถือ Sony พร้อมกับเลนส์สัก 3-4 ตัวไปเที่ยว หลาย ๆ ครั้งเรารู้สึกว่า มันเหมือนเราไปทำงานมากกว่า เป้าหมายคือการไปเก็บภาพดี ๆ สักภาพ ไม่ได้เป็นการเก็บความทรงจำของการไปเที่ยว ประกอบกับ เรารู้สึกว่าพอเราเริ่มถ่ายรูปมาเยอะประมาณนึง เราคิดหลายอย่างเร็วมากเกินไป จน Snap ไปเรื่อยเยอะไปหมด ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง เราอยากกลับมาทำให้มันช้าลง ฝึกคิดก่อนกด Shutter เหมือนช่วงแรก ๆ ที่หัดถ่ายภาพมากขึ้น เราเลยเริ่มไปมองหา Solution อื่นที่ทำให้เราโฟกัสกับการสร้างความทรงจำในการไปเที่ยวด้วยตาและความทรงจำ แล้วใช้กล้องเป็นแค่เครื่องมือสำหรับการเก็บเพื่อเตือนความจำเท่านั้น
จริง ๆ ณ ตอนนั้นมีหลายตัวเลือกเข้ามาตั้งแต่พวก A7C กับ A7CR ที่เราสามารถเปลี่ยนเลนส์ในคลังเรามาใช้ได้หมดเลย แต่นั่นทำให้เราไม่หยุดนิสัยพกเลนส์เท่าไหร่ก็ไม่พอสักที เลยลองขยับมาดูกลุ่ม Compact ที่เปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ เลยมาคิดถึง Fujifilm X100VI ที่เป็นที่นิยมมาก ๆ ประกอบกับตอนที่รุ่นน้องเอา Fujifilm X-T4 มาถ่ายครุยให้ตอนนั้น ชอบ Colour Profile ที่ทำเหมือนฟิล์มได้เก่งมาก ๆ จนเรียกว่า จบหลังกล้องได้เป็นส่วนใหญ่เลยแหละ แต่... มันเก่ง กับเร็วเกินไปอะ เลยลองไปหาอะไรที่ Software ขยะกว่านี้ แต่เน้นเรื่อง Optical Performance โหด ๆ เอา Raw Performance ดุดัน เพื่อเป็นการบังคับให้เรา Workaround แล้วไปหาวิธีการใหม่ ๆ ที่ทำให้การถ่ายภาพมันสนุกขึ้น แต่ก็ยังได้คุณภาพของภาพที่สูงอยู่ เลยมาจบที่ Leica Q3 นั่นเอง
ดังนั้นความคาดหวังของเรากับ Leica Q3 คือกล้อง Compact ที่เราสามารถพกไปได้ทุกที่ สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้ ไปเที่ยวได้ โดยเรายังได้คุณภาพของภาพที่สูงอยู่ และก็ยังช้ามากพอที่ทำให้เราฝึกคิดก่อนถ่ายได้อยู่ (เรื่องเยอะปะละ)
Leica Q3 เป็นกล้อง Compact Auto Focus จากฝั่ง Leica ตัวกล้องมาพร้อมกับ Full-Frame Triple Resolution Sensor ความละเอียด 62MP หมายความว่า หากเราเลือกถ่ายที่ภาพขนาดเล็กลงอย่าง 36MP และ 18MP ตัวกล้องจะยังคงใช้พื้นที่ Sensor เต็มอยู่เหมือนเดิม ทำให้ลด Noise ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนเลนส์ มาพร้อมกับ Summilux 28 f/1.7 ASPH และมาพร้อมกับ Marco Mode ที่ f/2.8 ระยะใกล้สุด 0.17m ตัว Body และ Image Processor ได้มาเป็น Maestro IV เรียกว่า ทั้ง Image Sensor และ Image Processor ได้ตัวเดียวกับ Leica M11 มาเลย
ตัว Body ทำจาก Magnesium Alloy และ Aluminium ที่ทำให้มีน้ำหนักเบามาก ๆ แต่ยังคงความแข็งแรงอยู่ ส่วนที่เราเห็นจากภาพด้านบนตรงกลางมีการหุ้มด้วยหนัง จับแล้วมันทำให้ไม่ลื่นมาก และได้สัมผัสที่ดีมาก ๆ แว่บแรกที่ได้จับกล้อง มันรู้สึกถึงความแข็งแกร่ง แน่น และ Solid มาก ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ
ที่สำคัญสุด ๆ มีจุดแดงเป็น Logo ของ Leica ด้านหน้าอีกด้วย เดินไปไหนคนเจอก็มองแน่ ๆ
ด้านข้างเป็นหูที่ทำจากโลหะสำหรับการคล้อง Strap เข้าไป แต่กล้องราคาระดับนี้ เราไม่อยากให้มันมีรอยจากการที่หูมันมาขรูดกับกล้องของเราแน่ ๆ ส่วนใหญ่พวกนี้ เราจะมีแผ่นหนักเล็ก ๆ ที่ค่อยรองสาย กับตัวกล้องเอาไว้อยู่ โดยสายที่มาในกล่อง เขาจะมีแผ่นหนังเล็ก ๆ ที่ว่ามาให้ด้วยเด้อ แต่ถ้าใครหาซื้อสายใหม่มาแล้วไม่มี ก็เอาแผ่นหนังที่มาในกล่องใส่เข้าไปได้
ที่ท้ายของกล้อง ไล่จากซ้ายไปขวา ซ้ายสุด Pin ทองแดง 3 Pin เป็นช่องสำหรับเสียบกับ Wireless Charging Grip ถัดออกมาอีกเป็นช่องสำหรับใส่ Memory Card ถัดออกมาอีกเป็น Thread สำหรับใส่กับ Plate ของขาตั้งกล้องทั่ว ๆ ไปได้เลย และสุดท้ายช่องใหญ่ ๆโล่ง ๆ ที่เห็นคือช่องสำหรับ ใส่ Battery เข้าไป เรื่องที่เราติดกับสไตล์ของ Leica คือการที่เขาไม่มี Battery Door หรือช่องปิด Battery เหมือนกล้องยี่ห้ออื่น ๆ ในตลาด ทำให้เราจะต้องใส่พวก Plate อีก มองโลกในแง่ดีคือ เราจะได้มีของแต่งเพิ่ม แต่เมิงงงง คือ กรูติด !!!! ทีช่องใส่ Memory แกยังมีฝาปิดได้เลย
ช่องสำหรับใส่ Memory เราสามารถเลื่อนออกมาทางหน้าจอ เราจะพบกับช่องสำหรับเสียบ Memory อยู่ โดยจะรองรับมาตรฐาน UHS-II ที่มีความเร็วสูงได้เลยแหละ และแนะนำด้วยว่าให้ใช้ UHS-II เพราะ Sensor ความละเอียดตั้ง 62 MP ไฟล์ภาพมันใหญ่โตอลังการมาก ถ้าการ์ดช้า กว่าจะเขียนลงการ์ด Buffer 8 GB ไม่มีทางพอแน่นอน
ถ้าเราลองดูดี ๆ เขาจะเขียนกำลังในการชาร์จไว้สูงสุดที่ 9V/2.5A หรือก็คือ 22W ผ่าน USB-C ถ้าจำกันได้ เราจะรู้ทันทีเลยว่า กำลังไฟที่กล้องรับได้สูงกว่า Charger มาก ๆ ทำให้เราแนะนำว่า ถ้าเราอยากจะชาร์จให้ไว น่าจะเสียบผ่าน USB-C จะเร็วกว่า และที่สำคัญยังเขียนบอกอีกว่ารองรับมาตรฐาน IP52 หรือก็คือ กันฝุ่นละอองได้ระดับนึง และกันได้แค่ละอองน้ำเท่านั้น ดังนั้น อย่าเอาไปโดนน้ำสาด หรือไปปะทะกับพายุทะเลทรายก็พอ
ด้านหลังของตัวกล้องเป็นส่วนที่ใช้ในการควบคุม ด้านบนเป็น EVF ความละเอียด 5.76M Dot ที่ 120 FPS อัตราส่วน 4:3 ถือว่าละเอียดมาก ๆ เลยนะ ให้ภาพที่คมชัดดีมาก ๆ แต่เราติดที่ว่า ขอบยางมันบางมาก ๆ ทำให้เราไม่สามารถเอาตาไปแนบได้ชิดมาก ๆ เวลาเราไปถ่ายในที่แสงเยอะ ๆ มันจะมองเห็นยากมาก ๆ
จุดที่อยู่ข้าง ๆ EVF เป็น Knob สำหรับปรับระยะ Focus ของ EVF เพื่อให้เข้ากับสายตาของเรา ถัดไปเป็นจุดเด่นของ Leica เลยละ ที่จะเขียนว่า Leica Camera Wetzlar Germary
ถัดไปอีกเป็นปุ่มอีก 2 ปุ่ม ที่ไม่มี Label บอกว่ามันเอาไว้ทำอะไร ทำให้ดู Minimal มากขึ้น แต่ก็เป็นการผลักภาระให้ผู้ใช้ไปเรียนรู้เองละกันนะ
ส่วนปุ่มด้านขวาสุดเป็นปุ่ม Play, ปุ่มเลื่อนเมนู และ Menu เป็นปุ่มที่เราน่าจะเคยเห็นกันบ่อย ๆ แล้วในกล้อง Leica และสุดท้ายเป็นหน้าจอ 3 นิ้ว แบบ TFT LCD จิ้มได้ ความละเอียด 1.843M Dot ที่ 384 PPI
โดยรวมเรื่องการแสดงผล ทั้ง EVF และจอ ถือว่าให้มามีความละเอียดสูงมาก ๆ เราคิดว่า ข้อเสียเดียวสำหรับมันก็คือ หน้าจอมันสู้แสงไม่เก่งเท่าพวกกล้อง Sony ที่เราเคยใช้งานมาเท่าไหร่ หน้าจอขนาด 3 นิ้วเราไม่ติดอะไรมากนะ ถ้า EVF มันสามารถใช้งานได้จริงในที่แสงจ้ามาก ๆ เพราะ Sony เราเองหน้าจอมันก็สู้แสงไม่ไหวเหมือนกัน แต่ของเขา EVF มันใช้งานได้จริงไง เลยไม่ติดปัญหามากเท่าไหร่
อีกส่วนที่เราอาจจะเห็นว่า ทำไมมันมีส่วนเว้าที่ Body ของกล้องด้วย มันเป็นส่วนที่ช่วยทำให้เราจับกล้องได้สะดวกขึ้น เวลาเราจับ เราสามารถเอานิ้วโป้งวางไว้ได้
ด้านบน เป็นส่วนการควบคุมอีกเช่นเดียวกัน เริ่มจาก Hot Shoe ที่สามารถเสียบ Flash ได้ โดยที่ด้านข้างมีการเขียนว่า Leica Q3 เพื่อเป็นการบอกรุ่นไว้ได้ด้วย
และถ้าเป็นรุ่น Q3 43 มันจะมีเขียนไว้เลยว่า Leica Q3 43 อีกด้วยนะ ส่วนรู ๆ ข้างละ 4 รู จะเป็นช่องสำหรับ Microphone เพราะเขาสามารถอัดวีดีโอได้ ถัดไปคือ Knob สำหรับการปรับ Speed Shutter
ส่วน Knob อันถัดไปเงิน ๆ ข้าง ๆ กัน จะเป็นปุ่ม Shutter อันเป็นเอกลักษณ์ของ Leica ที่เราสามารถซื้ออุปกรณ์เสริมอย่าง Soft Release Button มาหมุนใส่ได้ และในปุ่มเดียวกันเราสามารถบิดเพื่อเปิดปิดกล้องได้
และสุดท้ายด้านขวาสุดเป็น Knob ที่เราสามารถหมุนได้ ถ้าเราอยู่ใน Mode P เมื่อหมุนมันจะเป็นการปรับ F ซึ่ง งง นะ แต่ถ้าเราอยู่ใน Mode A และ S มันจะเป็นการปรับการชดเชยแสง
มาที่พระเอกอย่างเลนส์ Summilux 28 f/1.7 ASPH กันบ้าง ตัวมันทำจากวัสดุเดียวกับกล้องเป๊ะ ๆ สีเหมือนกันเป๊ะ ๆ
ด้านบนสุด จะเป็น Ring สำหรับหมุนปรับค่า Aperature หรือรูรับแสงได้ ตั้งแต่ 1.7 ถึง 16 ถ้าเราหมุนไปที่ A ก็คือ Auto Aperature ที่ปล่อยให้กล้องมันปรับให้เราเอง ส่วน Ring อันถัดไปจะเป็นการหมุน Focus โดย ค่าเริ่มต้นเราจะหมุนไว้ที่ AF หรือ Autofocus เป็นหลักก่อน แต่ถ้าเราต้องการใช้ Manual Focus เราสามารถกดสลักแล้วหมุนออกไป โดยเราจะเห็นว่า มันจะมีตัวเลขระยะกำกับ ตัวสีเหลืองหน่วยเป็น Feet และตัวสีขาวเป็นเมตร
และ Ring ตัวสุดท้ายในสุดคือ Ring สำหรับการเปลี่ยน Mode ระหว่าง Normal และ Marco Mode เราสามารถบิดเพื่อเปลี่ยนโหมดได้ และเมื่อเราบิด ตัวเลขระยะมันจะเลื่อนเปลี่ยนไปด้วย
Lens Cap เขามีมาให้ด้วยเช่นกัน ตัวมันทำจากโลหะแน่ ๆ จับแล้วรู้สึก Premium มาก ๆ มีการกดเป็น Logo ของ Leica เอาไว้ด้วย ลักษณะของมันแตกต่างจากกล้องอื่น ๆ ที่เราใช้มาคือ เจ้าฝานี้มันใช้การเสียบเข้าไปที่เลนส์เลยโดยไม่มีกลไกสปริงล๊อคเพิ่มเติมเหมือนกับเลนส์ตัวอื่น ๆ สักเท่าไหร่ ทำให้พอใช้จริง มันดึงเข้าดึงออกยากมาก ๆ โดยเฉพาะเราที่พอไม่ใช้กล้อง เราจะครอบเอาไว้ แต่พอต้องถ่ายจริง ๆ กว่าจะดึงฝาออกมา มันก็ไม่ทันซะแล้ว
ด้านข้างของตัวกล้อง จะมีช่องปิดสำหรับเสียบอุปกรณ์ต่าง ๆ เขาทำมาเป็นขอบยางน้ำกับฝุ่นจะได้เข้ายาก เดาว่าน่าจะเพราะรองรับมาตรฐาน IP52 แหละ เลยต้องกันน้ำและฝุ่นได้นิดหน่อย
เมื่อเราเปิดออกมา เราจะพบกับช่องเสียบทั้งหมด 2 ช่องด้วยกันคือ Micro-HDMI และ USB-C เราสามารถเสียบชาร์จแบตผ่านเจ้าช่องนี้แหละ รวมไปถึงการส่งผ่านข้อมูลตั้งแต่การ Import ภาพที่ถ่ายกลับที่คอมของเรา และยังรองรับ USB-C Audio จาก Microphone ต่าง ๆ เช่น เราสามารถเอา DJI Mic 2 มาเสียบเข้ากับช่องนี้ เพื่อเป็น Audio Input ได้ด้วยเช่นกัน
ครั้งแรกที่เราเข้ามาใช้งานกล้องตัวนี้ เรา งง ไปกับการใช้งานมันมาก ๆ คิดว่าเกิดจาก เราไม่เคยใช้ระบบของกล้อง Leica ใหม่ ๆ มาก่อน แต่หลังจากได้ลองใช้แล้ว เราพบว่า มันมีจุดที่ออกแบบมาดีมาก ๆ และจุดที่ทำให้ใช้งานยากมาก ๆ
เริ่มจากลูบหลัง เอาเรื่องดีก่อน เราคิดว่า Interface การถ่ายภาพ ทำมาได้ เข้าใจง่ายมาก ๆ ถ้าเราผ่านการเล่นกล้องมาก่อนแล้วอะนะ คือมันไม่ได้มีพวก Indicator บอกทุกอย่างเยอะแยะไปหมด แต่มันบอกเท่าที่จำเป็นจริง ๆ ให้อารมณ์เหมือนโทรศัพท์อยู่นะ ด้านบนจะเป็นพวก Focus Mode และการตั้งค่า File ต่าง ๆ พื้นฐาน รวมไปถึง Battery ซึ่งเป็นส่วนที่เมื่อเราเซ็ตแล้ว มันก็เหมือนเดิมตลอด เราไม่จำเป็นต้องดูบ่อย ๆ กลับกัน มันจะเอาส่วนที่เราต้องดูบ่อย ๆ มาไว้ที่ด้านล่าง คือพวก Mode, Shutter Speed, Aperture และการชดเชยแสง ทำให้สุดท้าย เวลาเราถ่ายภาพจริง ๆ เราไม่จำเป็นต้องขึ้นไปมองข้างบนก็ได้ ทำให้เราทำงานง่ายกว่าเดิม และเป็นมิตรกับผู้ใช้ใหม่มาก ๆ
เราเทียบกับ Sony เอาตัวเล็กหน่อย อย่าง A6400 ละกัน เราจะเห็นว่า Interface ของเขาจะเน้นการใส่ Icon เล็ก ๆ บอกนั่นนี่อยู่รอบ ๆ เต็มไปหมด ยังไม่นับว่า รอบไม่พอ มันมีแถว 2 อกอย่าง Bluetooth และ Location Embedding อะยังดีที่ว่า ค่าที่เราต้องดูบ่อย ๆ อย่าง Shutter Speed, Aperture และ ISO มันไปอยู่ด้านล่าง
คือเราไม่ได้บอกว่า Interface ของ Leica Q3 ดีกว่า Sony A6400 นะ แต่เรามองในโจทย์ว่า มันเป็นกล้อง Compact ที่เหมาะสำหรับการ Point & Shoot กล้องควรจะต้องช่วยเราให้เราโฟกัสกับการวางองค์ประกอบภาพ และกดได้อย่างรวดเร็วมากกว่า การแสดงข้อมูลเฉพาะที่สำคัญ มันทำให้ทั้งเข้าใจง่ายกว่า และไม่บดบังการแสดงผลภาพด้วย ทำให้เราให้เรื่อง
ย้ายไปฝั่งการตบหัวกันบ้าง พอทุกอย่างมันออกแบบมาให้ง่าย มันตัดทุกอย่างออกหมด แม้แต่ปุ่ม C ยังไม่มีเลย ทำให้หากเราต้องการตั้งค่ากล้องใหม่ มันจะต้องกดปุ่มเข้าไปหลายขั้นมาก ๆ
ตอนแรกเราไม่คิดว่ามันจะทำให้เราโมโหเท่าไหร่ จนกระทั่งเราได้ไปดูโชว์โลมา แล้วเราจะเปลี่ยนจาก Single Drive เป็น Continues เราต้องกด Menu แล้วกดเลือก อะ มันมี Continues หลายอันมาก จะเอาเร็วมาก เร็วโคตร ๆ แต่ได้แค่ 12-Bits RAW นะ AF ก็ไม่ได้นะ เยอะเกินไป สุดท้ายคือ เกือบถ่ายไม่ทันแล้ว หรือพอจะเปลี่ยนกลับก็ต้องกดหลายขั้นตอนอีก
นอกจากนั้น ถ้าเราเข้าไปในเมนูจริง ๆ ของกล้อง มันจะแบ่งออกเป็น 6 หน้า และดูจำนวนการตั้งค่าต่อหน้าแล้ว มันไม่ได้มีเยอะเท่าไหร่ ปัญหาคือ มันไม่มีหมวดหมู่ของการตั้งค่าเลย หากเราต้องการปรับตั้งค่าสักอย่างนึง เราจะต้องไล่ตั้งแต่หน้า 1 ไปเรื่อย ๆ จนเจออะ มันจะแตกต่างกับกล้องญี่ปุ่นหลาย ๆ Brand เขามีหมดบอกเลย เช่น AF ก็จะเป็นเมนูทั้งหมดที่เกี่ยวกับ Autofocus แต่มีหลายหน้าแยกออกไปทำให้หาง่ายมากกว่า แต่ถามว่า ถ้ามองในความเป็น Point & Shoot ประเด็นนี้ไม่ได้ Severe เท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ เราใช้ค่าเดิม ๆ ตลอดอยู่ละ
และสุดท้ายที่น่าหงุดหงิดมากถึงมากที่สุดแบบสุด ๆ ไม่รู้จะหาคำว่าสุดยังไงแล้วคือ Eye AF เป็นโหมดนึงของระบบ AF แยกออกมาเลย ทำให้ ถ้าเราเลือกเป็น Multi อยู่ มันจะไม่ใช้ Eye AF ให้นะ เราจะต้องกดเข้าไปตั้งค่าที่หลายขั้นตอน เปลี่ยนออกมาแล้ว ถ้าเจอคนมากกว่า 1 คนเท่านั้นแหละ มันจะขึ้นกรอบบนทุกคนเลย มันดีตรงที่ให้เราใช้ลูกศรเลื่อนได้ว่า เราอยาก Focus คนไหน แต่บ้าเอ้ย กรอบแมร่งขึ้นทุกคนเลย บังไปหมด ไม่รู้ละใครเป็นใคร กับถ้าคนมันขยับไปมา เราเลือกละว่าจะเอาคนนี้ คนขยับทีมันก็เปลี่ยนที จะเป็นบ้าเอา รบกวนเถอะ ปรับปรุง Software ของระบบ AF เถอะ ใช้กับคนเยอะ ๆ แล้วจะอ้วก
สำหรับการเชื่อมต่อ เราว่านี่แหละจุดแข็งของ Leica Q3 เลยแหละ เราสามารถเชื่อมต่อกล้องเราเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านสาย USB สำหรับการถ่ายโอนไฟล์ภาพออกมาได้ เป็นวิธีที่เราแนะนำมาก ๆ เพราะไฟล์ภาพมันใหญ่จริง ๆ RAW เต็ม ๆ เฉย ๆ ก็ 60 MB กว่า ๆ ต่อไฟล์แล้ว คิดว่าไปมาทริปนึงจะเท่าไหร่กันนะ
แต่เรื่องที่เราว่า มันดีมาก ๆ คือการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ผ่าน FOTOS App ซึ่ง เราสามารถทำได้หลายอย่างมาก ๆ ตั้งแต่การควบคุมกล้องที่สมมุติว่า เราตั้งกล้องไว้ แล้วเราต้องการกด Shutter ระยะไกลก็ทำได้ หรือจะเป็นการโหลดไฟล์ภาพลงโทรศัพท์ เวลาไปเที่ยวแล้วต้องการลงรูปใน Social ด่วน ๆ มันก็ทำได้
และเรายังสามารถทำ Geotagging ลงไปในไฟล์ภาพได้ด้วย เวลาเราถ่ายภาพมา เราจะรู้ได้ทันทีเลยว่า เราถ่ายจากที่ไหน เช่น หากเรา Import ภาพเข้าไปใน Adobe Lightroom Classic แล้วกด Map เราจะสามารถดูได้เลยว่า ภาพไหนถ่ายบริเวณไหนตรงไหนบ้าง
ซึ่ง Feature พวกนี้ หลาย ๆ คนฟังแล้วมองว่า ก็ทุกเจ้าเขาทำได้หมดแล้วนิ แต่เราต้องบอกเลยว่าใน Leica Q3 มันเสถียรกว่า และเร็วกว่ามาก ๆ การเชื่อมต่อเข้ากับ WiFi ก็เร็วมาก ๆ ที่สำคัญเลยนะ คือ Feature สำหรับการแนบ Geotagging ลงไปในรูปภาพ มันทำงานได้เสถียรมาก ๆ เราเปิดกล้องขึ้นมาแว่บเดียว มันต่อกับ iPhone 16 Pro Max ของเราเลย กลายเป็นว่า เราปิด ๆ เปิด ๆ กล้องเพื่อประหยัดพลังงาน แต่รูปที่เราถ่ายที่ญี่ปุ่นทั้งหมดมันมี Geotagging มาให้เราทั้งหมดและแม่นด้วย นั่นแปลว่า กล้องมันทำงานได้เร็วเหมือนกันนะ ถึงเชื่อมต่อ Bluetooth ขอ GPS Location จากโทรศัพท์ได้เร็วขนาดนี้
มาที่ Feature สนุก ๆ กันอย่าง Leica Look เราคิดว่า มันก็คือ Filter นั่นแหละ คือ Leica Q3 เราสามารถดาวน์โหลด Look เข้าไปเก็บภายในกล้องของเราได้สูงสุด 6 แบบด้วยกัน โดยแต่ละแบบ มันจะมีสไตล์เป็นของตัวเองทั้งหมด โดยที่ ถ้าเราถ่ายเป็น RAW File เราสามารถเอามาแก้ Look ทีหลังได้ แต่ถ้าเป็น JPG มันจะใส่มาให้เราเลย ซึ่งมันก็เหมาะกับการเอามาใช้เร็ว ๆ ได้เลย หรือกระทั่ง ถ้าเราไม่อยากเซฟมันลงไปในกล้อง เราสามารถโหลดภาพเข้าโทรศัพท์ผ่าน FOTOS แล้วเอามาแก้ใน App เองเลยก็ได้เหมือนกัน
แต่ ๆ Leica Look นี้มันจะไม่ Embedded เข้ามาใน RAW File ให้เราแก้ไขผ่าน Camera Profile บน Lightroom Classic นะ ดังนั้น ถ้าเราต้องการใช้งานมัน เราจะต้องใส่ Look แล้วแปลงเป็น JPG ก่อน แล้วเอาเข้า Lightroom ทีหลัง ซึ่งมันทำให้เราเสียความยืดหยุ่นในการทำงานไปเยอะมาก ๆ ดังนั้นเรามองว่า Leica Look มันให้อารมณ์ว่า เราไม่ต้องแต่งอะ ใส่ Filter แล้วลงได้เลย คล้าย ๆ กับ Film Simulation ของ Fujifilm นั่นแหละ แค่เด็กเล่นกว่าเท่านั้น
มาที่อุปกรณ์เสริมกันบ้างดีกว่า เรามีทั้งหมด 3 ชิ้นด้วยกัน คือ Grip, Soft Release Button และ Thumb Support เรามาดูกันทีละตัวกันดีกว่า
Grip อันนี้ เมื่อเราแกะออกมา เราจะเห็นว่า ด้านล่างส่วนที่ติดกับฐานกล้อง จะทำมาจากกำมะหยี่ เพื่อให้ฐานกล้องจริง ๆ ไม่เป็นรอย โดยจะยึดด้วยสกรูตัวเดียวกับที่เราใช้ใส่ฐานตั้งกล้อง และด้านซ้ายในรูป เราจะเห็นว่า มีจุด 3 จุด มันเป็นส่วน Contact ที่ติดกับกล้องเพื่อชาร์จ
ที่ฐาน จะเป็นพวกรายละเอียดต่าง ๆ โดยถ้าเราอ่านดู เราจะพบว่า Input มันเข้า 9V/1.1A หรือรับเข้า 9.9W เท่านั้นเอง ซึ่งถือว่าช้ามาก ๆ เมื่อเทียบกับการเสียบชาร์จผ่านสาย USB-C และยังเป็น IP52 เช่นเดียวกับตัวกล้องอีกด้วย ตรงกลางรูใหญ่ ๆ จะเป็นสกรูที่เชื่อมต่อกับตัวกล้อง และ รูด้านซ้ายใช้เสียบกับขาตั้งกล้องแทน ข้อสังเกตคือ ตำแหน่งของช่องเสียบขาตั้งกล้อง มันแอบแปลก ๆ มันไม่กลางเท่าไหร่
ส่วน Grip สำหรับจับ หุ้มด้วยหนัง เหมือนกับตัว Body ของ Leica Q3 เป๊ะ ๆ เลย ทั้งหน้าตา และสัมผัส กับเขามีรู Thread สำหรับเชื่อมต่อกับพวกขาตั้งกล้องได้ เราไม่แน่ใจว่ามันเอาไว้ทำอะไร เดาว่า มันน่าจะสำหรับเชื่อมต่อกล้องในแนวตั้งกับขาตั้งกล้อง
พอติดเข้าไปที่กล้อง ทำให้มันดูใหญ่ กับจริงจังขึ้นมาอีกนิดหน่อย แลกมากับทำให้การจับถือมันง่ายกว่าเดิมมาก ๆ โดยเฉพาะถ้าเราต้องถือกล้องนาน ๆ ด้วยแล้ว การมี Grip ตัวนี้ทำให้เราเมื่อยมือน้อยลงมาก ๆ เลยทีเดียว แต่เรื่อง Wireless Charging เราคิดว่า ในแง่การมีแท่นชาร์จแล้ววางชาร์จทิ้งไว้บนโต๊ะเลยเป็นอะไรที่เท่นะ แต่เอาเข้าจริง มันเหมาะกับคนที่ถือกล้องตัวนี้ไปไหนมาไหนทุกวัน หรือใช้งานบ่อย ๆ เพราะถ้าเราไม่ได้ใช้งานนาน ๆ เราคิดว่า เราควรจะเก็บใส่ตู้กันชื้นเพื่อป้องกันราที่มากับความชื้นจะดีกว่านะ
อีกข้อสังเกตคือ การที่มันใส่แล้วปิดฐานที่ทำให้เราเข้าถึงที่ใส่แบตไป นั่นแปลว่า เราจะต้องเอา Grip ออก ถึงจะสามารถถอดแบตและ Memory Card ได้ เรามองว่ามันไม่สะดวกเท่าไหร่ โดยเฉพาะกับเราที่จะถอดแบตออกทุกครั้งเวลาเก็บ แต่เราก็ไม่อยากจะหมุนเข้าหมุนออกเท่าไหร่ กลัวเกลียวจะหวานในสักวัน เลยยอมใส่แบตทิ้งไว้ก็ได้ แบตเปลี่ยนง่ายกว่าเปลี่ยนฐานตัวกล้องเยอะ
มาที่ Soft Release Button กันบ้าง หากเราไม่ใส่ เอา Plain เลยคือจะเป็นดั่งรูปด้านบน เราจะเห็นว่า ปุ่ม Shutter มันจะอยู่ด้านใน และมีที่บิดเพื่อเปิดปิดกล้องอยู่ด้านนอก ซึ่งถ้าเราใช้งานแบบไม่ใส่เลย เวลาเราเอานิ้วชี้กดลงไป มันจะกดได้ยากนิดนึง เพราะนิ้วเราจะโดนขอบของที่หมุน แล้วต้องกดลงไปอีกเพื่อจะกด Shutter ดังนั้น การจะควบคุมให้กดครึ่งนึง มันจะแอบยากสำหรับมือใหม่มาก ๆ
การใส่ปุ่ม Soft Release Button ทำให้ระยะมันสูงขึ้นมาอีก เลยขอบของ Knob สำหรับเปิดปิดไป ทำให้สามารถกดครึ่งเพื่อ Focus หรือกดเต็มเพื่อกด Shutter ได้สะดวกขึ้น อารมณ์มันคือการทำให้ปุ่ม Shutter มัน Sensitive มากขึ้นอะไรแบบนั้นแหละ
เราว่ามันน่าจะมีบางคนที่ใช้งานกล้อง ยกถ่าย กด Shutter ทำไมมันไม่ลงวะ อ่อ นิ้วชี้เราไปอยู่ที่ Body กล้องข้าง ๆ ปุ่ม Shutter จ้า การที่เขาออกแบบปุ่มมาให้มีขอบ ๆ ลักษณะนี้ มันเป็นเหมือนภาษาการออกแบบเพื่อสื่อสารกับเราว่าตรงนี้เป็นปุ่มนะ โดยที่เราไม่ต้องมองมันเลยก็ได้ ตัวอย่างที่อยู่ข้าง ๆ กันคือ Knob ที่เขาก็ทำมาให้มีขอบบาง ๆ เหมือนกัน
ไหน ๆ เห็นสีของปุ่มแล้ว Leica เรียกสีนี้ว่า Brass หรือ ทองเหลือง เอาจริงปะ ครั้งแรก เราคิดว่ามันทำจากพลาสติกชุบให้เป็นสีทองด้วยซ้ำ ผิวสัมผัสมันเหมือนมาก ๆ มันมีความลื่น ๆ จับแล้วรู้สึกได้ว่ามันแพงมาก ๆ (ซึ่งราคามันก็แพงจริง)
โดยรวมของ Soft Release Button เราคิดว่า เป็นอะไรที่น่าลงทุนมาก ๆ สำหรับคนที่เล่น Leica นะ เพราะ มันทำให้การใช้งานง่ายขึ้นเยอะเลย แต่ถามว่า แนะนำตัวนี้มั้ย เราคิดว่า มันมีตัวที่ให้สัมผัสที่ดีใกล้เคียง ในราคาที่ถูกกว่านี้มาก ๆ หรือบางคนอาจไปเล่นกลุ่มความสวยงามเป็นลายต่าง ๆ ไปเลย เราว่าพวกนั้น น่าจะอยู่หลักร้อยเท่านั้นเอง แต่ที่เรากดตัวนี้ เป็นเพราะ เราอยากให้มันเข้าคู่กับ Thumb Support ที่จะรีวิวเป็นอย่างต่อไปแค่นั้นแหละ
Leica Q3 เขาจะมีการเว้าส่วนหลังของกล้องนิดนึง เพื่อให้เราเอานิ้วโป้งวางลงไป ทำให้เราจับกล้องได้สะดวกมากขึ้น แต่เอาเข้าจริง เรารู้สึกว่า มันแอบจับยากไปหน่อย ไม่ชินเท่าไหร่ โดยเฉพาะถ้าไม่มี Grip ประกอบกับหนังที่หุ้ม ทำให้เรารู้สึกว่า จับแล้วเหมือนมันสามารถลื่นได้ตลอดเวลา ต้องห้อยคอตลอด แตกต่างจากกล้อง Sony ที่มันมี Grip จับแน่น ๆ กับยางที่ออกจะหนืดกว่า เลยรู้สึกมั่นคงมากกว่า
เพื่อแก้ปัญหานี้ Thumb Support เลยเข้ามาแก้ปัญหา ด้วยการใส่อุปกรณ์เสริมเข้าไปที่ช่อง Hot Shoe แล้วมันจะมีส่วนโค้งออกมาให้เราวางนิ้วโป้งเหมือนเดิม แต่ พอมันมีความโค้งออกมามาก ๆ เราสามารถค้ำมันด้วยนิ้วโป้งได้ ทำให้การจับถือแน่นหนามากขึ้นมาก ๆ ยิ่งถ้าเราใส่คู่กับ Grip เรารู้สึกว่า มันมั่นคง และสบายมาก ๆ เผลอ ๆ มากกว่า Sony ที่เราใช้งานอีกด้วยซ้ำ (ส่วนนึง อาจจะเพราะ GM Lens ที่เราใส่มันหนักด้วย)
ข้อสังเกตนึงคือว่า เราใส่มันเข้ากับช่อง Hot Shoe นั่นแปลว่า หากเราต้องการใช้งานร่วมกับ Flash ที่เชื่อมต่อผ่าน Hot Shoe เราจะไม่สามารถใส่ Thumb Support เข้าไปได้ ดังนั้น ใครที่คิดว่าจะใช้ Flash บ่อย ๆ อาจจะต้องพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย
ด้วยความที่เราซื้อของแท้ แน่นอนว่า สีทองเหลือง มันต้องเข้ากับ Soft Release Button ในสีเดียวกันแน่นอน และ ถ้าจำกันได้ บริเวณข้างปุ่ม Function ทั้งสอง มันจะมีการพิมพ์คำว่า Leica Camera Wetzear Germany ถ้าเราใส่อุปกรณ์เสริมนี้ไปมันจะบังไปหมด เขาก็เลยสลักใส่เข้าไปใน Thumb Support ล้อกันมาเลย ส่วนปุ่มก็จะเป็นปุ่มที่กดลงไปแล้วมันจะไปกดปุ่มจริงที่อยู่ด้านล่างอีกที เรารู้สึกว่า มันทำให้กดยากกว่าเดิมอยู่พอสมควร
ตอนแรก เรากะจะให้มันจบใน 2 Part แต่พอมานั่งเขียนจริง ๆ รายละเอียดข้อสังเกตมันเยอะมาก ๆ อยากจะให้ได้ข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และ Part นี้ เรามาเล่า Tour ตัว Leica Q3 ให้ดูกันว่า แต่ละส่วนมันมีหน้าตาอย่างไร มีจุดไหนที่เป็นข้อสังเกตบ้าง และอุปกรณ์เสริมที่เรากดมาอย่าง Grip, Soft Release Button และ Thumb Support มันทำให้ประสบการณ์การใช้งานกล้องดีขึ้นได้อย่างไร สำหรับ Part หน้า เราจะมาเล่าประสบการณ์ที่เราได้เอา Leica Q3 นี้ไปออกทริปญี่ปุ่น ว่า อะไรที่เราประทับใจในกล้องตัวนี้ และ อะไรที่เราไม่ชอบของกล้องตัวนี้กัน
หลังจากตอนที่แล้ว เรา Unbox Leica Q3 ไปเรียบร้อยแล้ว วันนี้เราจะมาเล่ากันต่อ ในเรื่องของลักษณะตัวกล้อง และ อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ว่าแต่ละจุดมันมีหน้าตายังไง และการออกแบบมาในลักษณะนั้นเรามี Comment กับการใช้งานอย่างไร...
หลังจากนั่งคิดอยู่หลายเดือน ตัดใจไปหลายรอบมาก ๆ สุดท้ายเราก็กดมันมาสักที กับกล้อง Compact ในฝันของใครหลาย ๆ คน ที่ขายหมด หาของยากกันสุด ๆ อย่าง Leica Q3 เราได้เอาไปลองถ่ายที่ญี่ปุ่นมาทริปนึงด้วย วันนี้ขอมาในฝั่ง Unboxing กันก่อนที่บอกเลยว่า ประสบการณ์มันดีมากจริง ๆ...
เป็นเวลากว่า 1 เดือนเต็ม ๆ แล้วที่เราได้ใช้งาน Macbook Pro 14-inch M4 Max ในการทำงานของเรา ความเห็นเราจะเปลี่ยนจากตอนที่เรารีวิวไปตอนแรกหรือไม่วันนี้เราจะมาบอกเล่าประสบการณ์ที่เราได้ใน 1 เดือนจาก Laptop เครื่องนี้กัน...
เวลามันผ่านไปเร็วมาก ๆ เรายังจำวันที่ Macbook Pro M1 Max ของเรามาส่งที่บ้านได้อยู่เลยว่า เรารู้สึกตื่นเต้นมาก ๆ เวลาผ่านไป 3 ปี หมดประกันเรียบร้อยแล้ว วันนี้เราจะมาเล่ากันว่า สภาพตอนนี้มันเป็นอย่างไร และยังจะสามารถใช้ได้อีกนานหรือไม่...