Review

รีวิว Lamy 2000 งานออกแบบเหนือกาลเวลา

By Arnon Puitrakul - 07 มีนาคม 2021

รีวิว Lamy 2000 งานออกแบบเหนือกาลเวลา

จริง ๆ จะไม่เอามาเขียนรีวิวละ เพราะไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอได้มาอ่านเรื่องของปากกกาที่ใช้อยู่มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เริ่มอินกับมัน และตกใจในการออกแบบของมันมากขึ้นเรื่อย ๆ พูดง่าย ๆ โดนตกแล้วนั่นเอง เราจะยอมโดนตกคนเดียวได้ไง มาโดนด้วยกันซะดี ๆ กับ Lamy 2000 ปากกาที่งาน Design เหนือกาลเวลาไปไกล ที่ขายมาตั้งแต่ปี 1966 จนตอนนี้ 2021 ก็ 55 ปีแล้วแก่กว่าเราอีก พอได้เห็นแล้วก็ยังหลงรักอยู่

First Impression

ต้องบอกก่อนว่า เราไม่ใช่คนที่เล่นปากกาแบบจริงจังขนาดนั้น เราแค่หาปากกาที่เหน็บกระเป๋าเสื้อแล้วแสดงถึงความเป็นตัวเราได้ ใช่ฮ่ะ เป็นเครื่องประดับ กับอีกส่วนคือ หาปากกาที่เขียนสนุก เขียนได้ตลอด เพราะเป็นคนที่ยังจดอะไรหลาย ๆ อย่างลงกระดาษอยู่ กับก่อนหน้านี้ เราใช้ของ Sheaffer มาตลอด ไม่เคยมี Lamy สักด้าม

เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา เราก็ได้ไปเดินที่ Shop ของ Lamy สาขานึง ตอนแรกบอกเลยว่า เรากะว่าเออ ไปซื้อสักแท่งขอสวย ๆ เข้าไปในร้านมันก็มีหลายแบบให้เราเลือก จนเราเดินไปที่ตู้นึง ด้วยอะไรบางอย่างทำให้เราต้องเหลี่ยวไปมองมันอย่างไม่น่าเชื่อ เห้ยย ทำไมแมร่งสวยชิบหายเลย นี่แหละ ตอบโจทย์ !!! แต่ลองดูอันอื่นก่อน ๆ ที่จะตัดสินใจ ก็เดินวนอยู่ในร้านสักพัก สุดท้ายก็ต้องเดินกลับมาที่ตู้นี้ซึ่งเป็นตู้ที่วาง Lamy 2000 อยู่นั่นเอง ซึ่งก็ซื้อมาแบบไม่รู้อะไรเลยว่าประวัติอะไรมันยังไง

เรียกได้ว่าเป็น Love at first sight จริง ๆ กับปากกาแท่งนี้ ทำให้เป็นแท่งที่เรารักเป็นพิเศษ ใช้ค่อนข้างบ่อยกว่าแท่งอื่น ๆ ที่มีไปเลย ทำให้รีวิววันนี้จะไม่ใช่รีวิวเหมือนคนอื่น ๆ ทั่ว ๆ ไป ที่เนื้อหาเทคนิคมาเต็ม แต่เป็นรีวิวที่เอาปากกานี้ไปเป็นเพื่อนคู่คิด ใช้มันในชีวิตประจำวันในการเขียนจริง ๆ กัน

ความ น่าตื่นเต้นของ Lamy 2000

ถ้าพูดถึง Lamy น่าจะเป็น Brand ที่หลาย ๆ คนน่าจะรู้จักว่า เขาเป็น Brand ที่ผลิตเครื่องเขียนมานานมาก ๆ แล้ว จริง ๆ ก็ตั้งแต่ปี 1930 จนถึงตอนนี้ ก็ยังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่น่าจะรู้จักกันในกลุ่มสถาปนิกอะไรพวกนั้นซะเยอะ

ปากการุ่นนึงที่ออกมาเป็น Flagship หรือเรือธงในสมัยปี 1966 และยังเป็นปากการุ่นแรกเลยที่ใช้นักออกแบบชาวเยอรมันมาออกแบบทั้งหมด จนตอนนี้ก็ยังคงเป็นแบบนั้นอยู่ ถ้าเราลองเข้าไปในเว็บของ Lamy แล้วลองไล่ดูชื่อ Designer ที่ออกแบบปากกาแต่ละรุ่นก็จะเห็นว่าเป็นชาวเยอรมันทั้งหมดเลย ย้อนกลับไปปี 1966 จนถึงตอนนี้ปี 2021 ก็นับว่าเป็นเวลากว่า 55 ปีแล้วที่ Lamy 2000 ยังคงอยู่ในตลาดและเป็นรุ่นที่หลาย ๆ คนให้คำยอมรับว่ามันเป็นปากกาที่งานออกแบบเหนือกาลเวลามาก

สำหรับ Lamy 2000 นั้นมีตั้งแต่ Fountain Pen (ปากกาหมึกซึม), Ballpoint Pen, Rollerball Pen, Multifunctional Pen และ Mechanical Pencil (ดินสอกด) อันที่ดูจะเป็นอันที่คนซื้อกันเยอะ ๆ ก็น่าจะเป็น Fountain Pen แหละ

ส่วนเรื่องสี อันที่เรารีวิวในวันนี้จะเป็นด้ามสีดำ แต่ถ้าใครไม่ชอบ อาจจะไปเพิ่มความหรูหราอีกแบบด้วยสีเงินที่ทำจาก Steinless Steel ที่บอกเลยว่าสวยไปอีกแบบ นอกจากนั้น ในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา Lamy ก็ออก Lamy 2000 รุ่นพิเศษเช่น สี Black Amber ออกมาในปี 2016 สำหรับฉลองที่ Lamy 2000 ออกจำหน่ายครบ 50 ปี

และสี Dark Blue Bauhaus ที่ออกมาเมื่อปี 2019 แล้วออกมาแค่ 1919 ชุดเท่านั้น ซึ่งมันตรงกับปีที่โรงเรียนศิลปะ Bauhaus ก่อตั้งขึ้น เห็นครั้งแรกคือกรี๊ดดด หนักมาก ทำไมเราไม่รู้จัก Lamy ให้เร็วกว่านี้

แกะกล่อง Lamy 2000

ตัวกล่องของ Lamy 2000 จะไม่เหมือนกับรุ่นอื่น ๆ ในรุ่นนี้กล่องทำจากกระดาษเหมือนรุ่นอื่น ด้านขวาล่างใส่ Logo ของ Lamy มาเงิน ๆ เงา ๆ ไม่รู้ทำไม แต่ดูแล้วรู้สึกถึงความเรียบหรูแบบบอกไม่ถูกเหมือนกัน

ด้านหลังก็ไม่มีอะไร แต่อยากให้ดูลายของกระดาษ ดูเผิน ๆ มันเหมือนกับกระดาษสีเทา ๆ ธรรมดา แต่จริง ๆ แล้วมันมีลายเป็นลายเส้นแนวนอนอยู่

ในกล่องก็มีกล่องซ้อนอีกชั้น โดยที่ผิวสัมผัสก็ยังคงเป็นกระดาษสีเดิมที่มีลายแนวนอนเหมือนปลอกของมันเลย

ด้านหน้าของกล่องก็จะเป็น Logo ของ Lamy วางอยู่ตรงกลางสวย ๆ ไปเลย

ที่ข้างกล่อง เราก็จะเห็นว่ามันมีร่องสำหรับการเปิดฝาอยู่ ถือว่าทำมาดีเลยทีเดียว การเปิดความแน่นก็ไม่ได้ทำมาแน่นจนต้องออกแรก แค่เปิดออกมาก็ได้เลยสวย ๆ

เปิดฝาออกมา ด้านในจะเป็นกำมะหยี่ทั้งหมด เพิ่มความหรูหรามากเข้าไปอีก โดยที่ฝาเราจะเห็นว่า มี Logo ของ Lamy อยู่ด้วย

ตัวปากกาก็จะวางอยู่ในกล่องอย่างสวยงาม อันนี้เราแกะออกมาใช้นานแล้วเอากลับมาใส่ใหม่ จำไม่ได้ว่าวางมาเป็นยังไง แต่ก็ประมาณนี้แหละ ด้วยความที่เป็นกำมะหยี่นอกจากจะดูหรูหราแล้ว ยังทำให้ปากกาเราไม่เป็นรอยอีกด้วย

ที่ใต้แผ่นกำมะหยี่ที่ใช้วางปากกา ยกขึ้นมา เราจะเจอกับบัตรรับประกัน อันนี้ถ้าเราซื้อกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยเราก็จะมีบัตรนี้ขึ้นมา และใบหลังจะเป็น Catelog สินค้าของ Lamy ที่สำคัญมากสำหรับคนที่ไม่เคยใช้ ด้านหลังเขาจะเป็นวิธีการเติมหมึก อ่านก่อนที่จะเติมด้วยจะดีมาก

ตัว Lamy 2000 เองมันถอดหลอดหมึกออกมาเหมือนกับรุ่นอื่นไม่ได้ เป็นปิดตายไปเลย ทำให้หมดสิทธิ์เรื่องของการใช้หลอดสำเร็จเลย ต้องเติมจากขวดอย่างเดียว เลยเอาขวดหมึกมารีวิวด้วยเลยละกัน อันนี้เป็นหมึกสีดำ ขวดใหญ่ขนาด 50 ml เขียนยาว ๆ เลย

มี 2 เรื่องที่น่าสนใจของขวดหมึก อย่างแรกคือ ตัวขวดมันจะทำเป็นหลุมเล็ก ๆ ลงไปเลย มันจะทำให้เราไม่มีปัญหาเวลา ใช้หมึกก้นขวด ก็คือใช้ได้หมดจนหยดสุดท้าย

อีกเรื่องคือ ขวดหมึกนางจะมีม้วนกระดาษมาให้เราเอามาเช็ดตัวปากกาหลังจากที่เราเอาหัวจุ่มลงไปด้วยเลย

ตัวขวดจะทำจากแก้วเลย ฝาเป็นพลาสติก ทำมาก็ดูดีเลย แต่สุท้ายเราก็ใส่กล่องไว้อยู่ดี ฮ่า ๆ

อย่างที่บอกว่า มันมีม้วนกระดาษสำหรับเช็ดหัวปากกาอยู่ข้างล่างด้วย ซึ่งกระดาษมันจะแข็งหน่อย เวลาโดนหมึกมันก็จะไม่ย๊วย จนติดหัวนะ มันเช็ดได้ดีเลยละ แล้วก็มันจะมีเหมือนเป็นรอยประที่กระดาษเหมือนกระดาษทิชชู่ให้เราดึงได้เลยง่ายดี

นั่นก็เป็นการแกะกล่องคร่าว ๆ ในกล่องก็ไม่มีอะไรมากนอกจากปากกา คู่มือ และใบรับประกันแค่นั้นเลย

Lamy 2000

Lamy 2000 เป็นปากกาที่น่าสนใจด้วยการออกแบบที่ยังคงความทันสมัยมาอย่างยาวนาน ตัวด้ามมีลักษณะเป็นสีดำด้านมีการขัดมาอย่างสวยงาม ทำจาก Makrolon ซึ่งเป็นวัสดุที่ดูสวยงาม แต่ยังคงน้ำหนักที่กำลังพอดีไม่ได้หนักมาก แต่ถ้าใช้ตัวที่ Body เป็น Steinless Steel เลย น้ำหนักมันจะมากกว่านี้เยอะมาก บางคนที่ไม่ชอบปากกาหนัก ๆ อาจจะไม่ชอบ

ที่หัวก็จะมี Clip สำหรับนีบกับเสื้อเรา ทำจาก Steinless Steel ซึ่งเป็นส่วนที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากในปากกาแท่งนี้เลย ทำให้เวลาเราจะเขียนจริง ๆ ถ้าเราเอาฝาปากกามาเสียบที่ท้ายของด้าม ทำให้มันถ่วงนำ้หนักทำให้เราเขียนได้ง่ายขึ้น ถ้าเรามองเข้าไปที่หัวหน่อย เราจะเห็นว่ามันมีการสลักคำว่า Lamy อยู่ด้วย

ส่วนตัวเราชอบ Clip แบบนี้มาก ๆ แบบที่มันตรง ๆ แล้วเป็นโลหะด้าน เวลาเราเหน็บกับกระเป๋าเสื้อมันดูหรูหรา แต่มันก็ไม่ได้เงาจนแสบตาจากท้ายซอยไปปากซอยขนาดนั้น มันดูหรู ในความเรียบอะ ชอบมาก ๆ กับการที่มันทำมาตรง ๆ ก็คือแบบที่เราชอบไปเลย

ด้านในของ Clip คนที่ใช้จริง ๆ อาจจะไม่ได้มองกัน เราเองก็ด้วยเหมือนกัน มันจะมีการเขียนคำว่า Germany 2 อันนี้เราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร วอนผู้รู้บอกที เราสงสัยเหมือนกัน

ด้านบนของตัวฝา จะเป็นพลาสติกดำเงา ที่ต้องมีความระมัดระวังในการใช้งานสักหน่อย เพราะอาจจะเกิดรอยขนแมวได้

มาที่ท้ายของปากกา ดูเหมือนจะไม่มีอะไรแต่มันมีนะ ที่ท้ายด้าม เราสามารถหมุนได้ โดยจะใช้เป็นกลไกในการเติมหมึก ซึ่งเป็นการเติมหมึกที่แปลกมาก ๆ เราไม่เคยเจอมาก่อนเลย เขาเรียกว่า Piston-Filler วิธีการคือ เราก็จะ หมุนขึ้นเพื่อกดันแท่งสูบลงให้สุด แล้วจุมลงไปในขวด เราก็หมุน ๆ ลงไปมันก็จะดูดหมึกเข้าไปในแท่งปากกา ก็เรียบร้อย ซึ่งระบบนี้เป็นรุ่นเดียวของ Lamy เลยที่ใช้ และถ้าเทียบกับยี่ห้ออื่น ๆ ระบบนี้จะอยู่ในปากกาที่ราคาสูงกว่านี้เยอะเลย ทำให้ถ้าเราอยากได้ระบบนี้ Lamy 2000 ก็ดูจะเป็นอะไรที่ถูกสุดแล้ว แต่ที่เราว่ามันเจ๋งมาก ๆ คือ การที่มันซ่อนได้เนียนมาก เราว่าน่าจะตัดแบบแต่ละแท่งเลยมั่ง ถ้าทำเป็นชิ้นแยก ๆ ออกมา มันไม่น่าจะปิดได้เนียบขนาดนี้

ก่อนถึงหัวปากกา ในภาพเราจะเห็นว่ามันมีเหมือนช่วงสั้น ๆ ที่เหมือนจะใส ๆ อันนั้น ตอนที่เราซื้อมา มันจะใสกว่านี้ แต่อันนี้เราเติมหมึกเข้าไปแล้ว ถ้าหมึกมันใกล้จะหมด เราก็จะเห็นว่ามันเป็นสีขาวขุ่น ๆ หน่อยก็คือ หมึกมันลงไปต่ำกว่านี้แล้ว ลงมาอีกหน่อย เราจะเห็นเหล็กชิ้นเล็ก ๆ อันนั้นเป็นเหล็กสำหรับล๊อคฝากับตัวด้ามตอนที่เราปิดฝานั่นเอง บางคนอาจจะรำคาญ แต่ส่วนตัวเรา เราเฉย ๆ นะ เพราะมันไม่ได้เป็นแง่งออกมามากจนรำคาญ

จนลงไปด้านล่าง เราจะเห็นว่ามันเป็นโลหะ มันจะทำจาก Steinless Steel ที่ขัดแล้วติดกับส่วนที่เป็น Makrolon ได้เนียนอยู่นะ เวลาเราจับไปโดนเราไม่ค่อยรู้สึกว่ามันเป็นหลุม ๆ อะไรให้เรารำคาญเลย

ตัวหัวของ Lamy 2000 เป็นหัวที่ไม่เหมือนกับชาวบ้านเขาเท่าไหร่ เพราะมันเป็นหัวที่พิเศษนิดนึง เพราะมันเป็นหัวแบบกึ่งครอบ ที่ทำจากทองคำ 14K เคลือบ Platinum เรียกได้ว่า Premium สุด ๆ ไปเลย ถ้าเราดูที่หัวจริง ๆ มันดูเหมือนว่ามันจะมล ๆ เขียนได้ง่าย ๆ แต่จริง ๆ แล้วเขาแอบเจียรมาให้มันมีความเบี้ยวนิดนึงเพื่อให้เข้ากับมุมที่เราจะเขียนด้วยมือขวาพอดิบพอดี ทำให้คนที่ใช้มือซ้ายอาจจะเจอปัญหาในการเขียนสักหน่อย เดี๋ยวมาว่ากันในประสบการณ์

จากในรูปจะเห็นว่า หมึกมันมีเลอะอยู่ที่ปลายมันเยอะมาก ๆ อันนี้แหละคือความแย่ของการที่เราใช้พวกที่ผิวมันขัดมาเป็นลาย ๆ ทำให้เวลาเช็ดด้วยกระดาษที่มาในขวดหมึก มันจะเช็ดออกไม่หมด อาจจะต้องใช้น้ำช่วยเช็ดหน่อยถึงจะออกหมด

หันไปด้านหลัง เราจะเห็นว่ามันมีรูอยู่ ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่ารูอะไรเหมือนกัน จนไปเปิดคู่มือดู อ่อ ต้องเอารูใหญ่ ๆ นี่แหละจุ่มลงไปที่ขวดหมึกเลย ก่อนหน้านี้เราเติมไปรอบนึงคิดว่า แค่เอาปลายหัวจุมแล้วหมุน ๆ ก็ได้แล้ว ปรากฏว่าเขียนไม่ออก​ฮ่า ๆ ไม่เคยใช้ปากกาที่มีหัวดูดระบบนี้มาก่อนเลย

ประสบการณ์ใช้งานจริง

ขอบอกอีกครั้งว่า เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปากกาอะไรทั้งสิ้น ดังนั้นการรีวิวในส่วนนี้เราจะรีวิวมาจากความรู้สึกในการใช้งานเป็นปากกาแท่งหลักในการเขียนทุกอย่าง โดยเฉพาะการจด Note ต่าง ๆ ในการทำงานเป็นหลักละกัน

ความยาวของตัวด้าม ทำมาได้พอดีเลยไม่ได้ยาว หรือสั้นเกินไป ก็คือเวลาจับแล้ว เราไม่ต้องมานั่งระแวงว่ามันจะหมดด้าม จับปลายไป ต้นไป ทำให้เส้นมันออกมาแปลก ๆ อันนี้สมดุลสำหรับมือเราพอดีเลย และด้วยความที่พื้นผิวของตัวด้ามเป็นแบบขัด ทำให้มันก็จะมีลาย ๆ อยู่ เวลาเราเขียนนาน ๆ เหงื่อออกที่มือเยอะ ๆ มันจะไม่ลื่นมากเท่ากับแท่งที่มาเป็นผิวสัมผัสแบบมัน ๆ

เดิมทีปากกาพวกนี้มันออกแบบมาให้คนถนัดขวาเขียนอยู่แล้ว แต่เราถนัดซ้ายไง ประกอบกับหัวของมันที่ออกแบบมาให้มีมุมในการเขียนที่ค่อนข้างแคบ ก็คือถ้าเราหมุน ๆ หรือเปลี่ยนทิศทางสักหน่อย ก็ทำให้เราเจออาการเส้นขาด กับมันจะกินกระดาษ แล้วเราก็จะกด ๆ มันเข้าไปอีกสุดท้ายมันก็จบที่หัวงอเสียเลยนะ ทำให้คนถนัดซ้ายมาเขียนอาจจะลำบากไปหน่อย แรก ๆ เขียนไม่เป็นยังไม่รู้อะไรเลย เขียนออกมาเส้นขาดกระจายเลยจ้าาา แต่ถ้าเราเริ่มรู้องศาการเขียนของมันแล้ว เราบอกเลยว่ามันเป็นปากกาที่เขียนโคตรสนุกมาก มันลื่น เขียนสบายมาก ๆ แท่งนึงเลย

จนตอนนี้เราไม่เจออาการเส้นขาดเลยไม่ว่าเราจะเขียนเร็วขนาดไหน มันก็ยังไม่เจออาการเส้นขาดเลย กับความลื่นที่ทำให้การเขียนมันสนุกกว่าปากกาหลาย ๆ แท่งที่เราใช้งานมากเลย เพราะเหตุนี้แหละที่ทำให้เราใช้งานมันเป็นแท่งหลัก

ส่วนเรื่องของความยืดหยุ่น เราเห็นด้วยกับหลาย ๆ เจ้าเลยว่ามันมีความยืดหยุ่นที่แย่มาก ๆ ทำให้มีความแตกต่างของเส้นที่ไม่ได้เยอะมากเท่าไหร่ แต่อันนี้เรามองว่าเป็นเรื่องดีนะ เพราะส่วนตัวเราเป็นคนชอบปากกาที่เขียนออกมาแล้วมันได้เส้นที่ใกล้เคียงกันหมด (ก็คือไปใช้ลูกลื่นม่ะ ฮ่า ๆ) แต่เราก็ยังอยากได้ความหมึกซึมอยู่ เราเลยมองว่ามันเป็นข้อดีสำหรับเราละกัน

ดังนั้นเราว่าจริง ๆ แล้ว Lamy 2000 ถ้าเทียบ มันก็น่าจะเหมือนกับม้าสวยที่พยศไปหน่อย ที่ตอนแรก ๆ เราอาจจะต้องใช้เวลากับมันหน่อย ฝึกใช้กับมันไป แต่ถ้าเราเข้าใจมัน เรารู้มุมมันหน่อย เราก็จะสามารถเขียนมันได้โคตรเพลินแท่งนึงเลย

สรุป

Lamy 2000 เป็นปากกาที่เราค่อนข้าง Hype มาก เพราะการออกแบบที่ใครจะไปคิดว่ามันออกแบบก่อนที่เราจะเกิด แต่วันนี้เรามองมันเราก็ยังรู้สึกว่ามันยัง Modern ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ขนาดที่เราไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน แค่มองผ่านหางตา ถึงกับต้องเหลี่ยวกลับมาดูทันที มันดูดีขนาดนั้น ด้วยวัสดุที่เป็น Makrolon ขัดเป็นลายหน่อย ๆ ก็ทำให้มันดูมี Pattern บางอย่างขึ้นมาหน่อย แต่ก็ไม่ได้หวือหว่าอะไรมาก ทำให้มันเป็นปากกาที่เราสามารถนำมาใช้ได้ในหลายวาระโอกาส กับหลายการแต่งตัวมาก ๆ ตั้งแต่ Formal จนไปถึง Casual เลยก็ยังได้ ระบบการสูบหมึกก็เป็นแบบ Piston-Filler ที่เป็นรุ่นเดียวเลยใน Lamy ที่ทำออกมา และในยี่ห้ออื่น เราก็จะเจอระบบนี้ได้ในปากกาที่ราคาสูงมาก ในเรื่องของการเขียนเอง Performance ก็สุด ๆ อีกเช่นกันด้วยหัวที่ทำจากทอง 14K เคลือบ Platinum ที่ให้การเขียนค่อนข้างลื่นไหล แต่ก็แอบมีปัญหาเรื่องมุมในการเขียนที่อาจจะแคบไปหน่อย บางคนอาจจะไม่ชอบเท่าไหร่ โดยเฉพาะ คนที่ถนัดซ้ายอาจจะต้องใช้เวลากับมันหน่อย กับเรื่อง Line Variation ที่น้อยไปมาก บางคนอาจจะมองเป็นข้อเสีย แต่สำหรับเรา เราค่อนข้างชอบมาก โดยรวม บอกเลยว่าเป็นปากกาที่เรารักมากแท่งนึงเลย

Read Next...

Macbook Pro 14-inch M1 Max ผ่านไป 3 ปีอาการเป็นยังไงบ้าง

Macbook Pro 14-inch M1 Max ผ่านไป 3 ปีอาการเป็นยังไงบ้าง

เวลามันผ่านไปเร็วมาก ๆ เรายังจำวันที่ Macbook Pro M1 Max ของเรามาส่งที่บ้านได้อยู่เลยว่า เรารู้สึกตื่นเต้นมาก ๆ เวลาผ่านไป 3 ปี หมดประกันเรียบร้อยแล้ว วันนี้เราจะมาเล่ากันว่า สภาพตอนนี้มันเป็นอย่างไร และยังจะสามารถใช้ได้อีกนานหรือไม่...

รีวิว Apple Watch Series 10 ในที่สุด ก็ได้กลับมาใส่ Titanium อีกครั้ง

รีวิว Apple Watch Series 10 ในที่สุด ก็ได้กลับมาใส่ Titanium อีกครั้ง

ไหน ๆ Apple Watch เข้าเลขสองหลักกันแล้ว มีหรือเราจะพลาด เพื่อเป็นการฉลองก็เลยจัดมาเลยเรือนนึง เป็น Apple Watch เรือนที่ 3 ของเราละ ผ่านมา 10 Series จะมีอะไรใหม่ ใส่แล้วเป็นอย่างไร วันนี้เราจะมารีวิวเล่าให้อ่านกัน...

รีวิว Macbook Pro 14-inch M4 Max ไปให้สุดหยุดที่หมดตัว v2 (Part Performance Analysis)

รีวิว Macbook Pro 14-inch M4 Max ไปให้สุดหยุดที่หมดตัว v2 (Part Performance Analysis)

จาก Part ที่แล้วเราเล่าไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ยังขาดประเด็นสำคัญนั่นคือ Performance ของ M4 Max ว่า มันเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงาน หรือทำให้การทำงานของเราเร็วขึ้นได้อย่างไร วันนี้จะเน้น Benchmark และพยายามมาหาสาเหตุกันว่า ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้นกัน...

รีวิว Macbook Pro 14-inch M4 Max ไปให้สุดหยุดที่หมดตัว v2 (Part 1)

รีวิว Macbook Pro 14-inch M4 Max ไปให้สุดหยุดที่หมดตัว v2 (Part 1)

หลังจาก Apple Transition ไปสู่ Apple Silicon มาจนถึงจุดที่การเปลี่ยนผ่านเสร็จสิ้น เราก็ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรกับ Apple Silicon อีกเลย จนกระทั่งตอนที่ M4 ออกนี่แหละ ที่เราคิดว่า มันถึงจุดที่ใช่ละ ฤกษ์มันมาแล้ว ก็จัดเลยสิครับ มาดูกันว่าฤกษ์มันจะตรงอย่างที่เราคิดหรือไม่...