Review

รีวิวเครื่อง AVS จบปัญหา ไฟขาด ไฟเกิน

By Arnon Puitrakul - 21 ธันวาคม 2022

รีวิวเครื่อง AVS จบปัญหา ไฟขาด ไฟเกิน

ทุกวันนี้บ้านของหลาย ๆ คนเองก็มีเครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ หลาย ๆ ชิ้น ก็บอกเลยว่า ราคาสูงมาก ๆ เราก็คงไม่อยากให้มันเกิดปัญหา หรือเสียขึ้นมาแน่ ๆ ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่เราเจอกันเยอะมาก ๆ คือ เรื่องของคุณภาพของ Grid หรือไฟฟ้าที่บ้านเราเอง บ้านเราเองก็มีปัญหาเรื่องนี้เหมือนกัน เลยทำให้เราซื้อเครื่อง AVS มาใช้งาน วันนี้เราจะมาเล่ากันว่า มันช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

ปัญหาจากแรงดันไฟฟ้า

คุณภาพของ Grid ฝั่งไฟฟ้า เขาก็จะมีหลายเรื่องที่ใช้ในการบ่งบอกคุณภาพ แต่สิ่งที่เราอยากจะให้โฟกัสคือ เรื่องของแรงดันไฟฟ้า ซึ่งจากที่เราเรียนกันตอนประถม ประเทศไทยเรา มี Grid Code ที่กำหนดว่า จะใช้แรงดันอยู่ที่ 220V ด้วยกัน

แรงดันนี้ ถ้าเราไปต่างประเทศบางประเทศจะมีแรงดันที่แตกต่างกันนะ ไม่ได้เป็นมาตรฐานที่เราใช้ทั้งโลก เช่น เราไปญี่ปุ่น ก็จะใช้กันอยู่แค่ 100V เท่านั้นเอง ห่างจากไทยเราเรียกว่า เท่าตัวเลย หรือบางประเทศอย่างออสเตรเลีย ก็จะปล่อยอยู่ประมาณ 240V ก็จะมากกว่าไทยนิดหน่อย ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขายในแต่ละประเทศ เขาก็จะมีการรองรับแรงดันไฟฟ้าที่แตกต่างกัน หรือ อาจจะออกแบบให้สามารถใช้งานได้ในช่วงกว้าง ๆ ก็มีเหมือนกัน อย่างไทยเอง ส่วนใหญ่ก็จะออกแบบมาให้ใช้งานกับช่วง 220-230V ซะเยอะ

ค่าแรงดันพวกนี้ มันก็เรียกว่าเป็น มาตรฐาน ละกัน ในการใช้งานจริง ๆ มันก็อาจจะไม่ได้ตามที่กำหนดไว้เท่าไหร่ อาจจะมีบวก ลบ ไปบ้างแหละ เช่นบ้านเราเอง เรียกว่าเ_ย จัดเลย เราเจอไประดับ 244-245V ก็เจอมาแล้ว เอาเป็นว่า Solar Inverter คือตัด แล้วขึ้น Alarm Overvoltage เลย

ถามว่า แล้วถ้าแรงดันไฟฟ้าบ้านเรา สูงเกิน จะเกิดอะไรขึ้น สั้น ๆ มัน อันตรายละกัน ถ้าไม่ได้สูงกว่าเดิมเท่าไหร่ เช่น 240V เครื่องใช้ไฟฟ้าบางชิ้น ก็อาจจะยังไม่ได้เป็นอะไรในระยะสั้น แต่ในระยะยาว ทำให้อายุการใช้งานสั้นลง หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชิ้นมัน Sensitive มาก ๆ เพราะการออกแบบ ก็อาจจะทำให้มันเกิดความเสียหายได้ เรายกตัวอย่างอันที่เราเจอกับตัวเลยคือ Dyson Solarcycle เพราะเรื่องนี้ด้วยส่วนหนึ่ง ทำให้ Adapter แปลงไฟเราพังไปตัวนึงแล้ว ดีที่ยังอยู่ในประกันเลยเอาไปเคลมได้ ไม่งั้นก็คือ ชิบหายไปละ

หรือตรงข้ามกันไฟขาด หรืออาการพวก Undervoltage คือแรงดันไฟมันต่ำไป คิดว่า แรงดันต่ำแล้วจะไม่อันตราย แต่จริง ๆ แล้วก็ผลชิบหายพอ ๆ กัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ กับพวกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็นมอเตอร์ อย่างพัดลมเลย อาการที่เราจะเจอคือ ทำไมใบพัดมันหมุนช้า หรือหนักมาก ๆ คือไม่หมุนเลย จับเครื่องแล้วร้อนด้วย อันนี้ถ้าเจอรีบถอดปลั๊กเลย น่ากลัวมาก ๆ

พวกนั้นเป็นอาการที่เราเจอในระยะยาว แต่มันก็จะมีอาการที่เราเจอเป็นแว่บ ๆ เช่น ไฟตก หรือ ไฟกระชากอะไรพวกนั้น พวกนั้นคือ หนักเลยนะ เช่นบางที เวลาไฟกระชาก แรงดันมันโดดไปไกลมาก ๆ แบบ 250V ก็มี เครื่องใช้ไฟฟ้าบางตัวเอาไม่อยู่ก็คือ แตก จ้าาา พังยับก็มีเหมือนกัน

เรื่องพวกนี้ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เมื่อไหร่จะเกิด นั่นเป็นเหตุหนึ่งที่หลาย ๆ คนแนะนำว่า ถ้าเราไม่ได้ใช้ก็ถอดปลั๊กออก ส่วนนึงก็คือเรื่องประหยัดไฟแหละ แต่อีกส่วนที่สำคัญเลยคือ ความปลอดภัย ถ้าเกิดไฟกระชากตอนที่เราไม่อยู่ แล้วเกิดอะไรขึ้น มันก็ไม่โอเคเท่าไหร่ใช่มะ ถอดปลั๊กไว้ก่อนปลอดภัยกว่าเยอะเลย แต่ถ้าเกิดตอนเราใช้อยู่นั่นก็อีกเรื่องแหละ

เกิดจากอะไร ?

ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วมันเกิดจากอะไร เอาฝั่งที่มันสูง หรือ ต่ำ แบบปกติก่อนนะ คือ ระยะจากบ้านเราถึงแหล่งกำเนิดไฟ ถ้าคิดง่าย ๆ การส่งไฟฟ้ามาที่บ้านเราก็เหมือนน้ำเลย ถ้าการไฟฟ้าปล่อยแรงดันมาต่ำ ๆ เอาพอดีกับมาตรฐานเลย คนที่อยู่ใกล้ก็ดีไป แต่คนอยู่ไกล ๆ ละ แรงดันมันก็จะไม่ถึง แย่ ๆ เลยคือ มันใช้ไม่ได้เลย ทำให้การไฟฟ้าเขาก็ต้องพยายามเร่งแรงดันให้สูงขึ้นหน่อย เพื่อให้ปลายสายได้ไฟฟ้าใช้ด้วยเหมือนกัน

อย่างเคสบ้านเราเอง เราก็ไม่รู้นะว่า บ้านเราอยู่ห่างจากสถานีส่งอะไรเท่าไหร่ แต่คือ แรงดันสูงขึ้นจนน่ากลัวมาก ๆ 245V นี่เราไม่ตลกแล้วเหมือนกัน หรือบ้านบางหลังในต่างจังหวัดที่อาจจะอยู่ไกล ๆ หน่อย ก็เจอปัญหา Voltage ตกเยอะมาก ๆ เพราะมันอยู่ห่างจากสถานีส่งที่ใกล้ที่สุดมาก ๆ

ส่วนอาการที่มันเกิดขึ้นแบบกระทันหัน อย่างไฟตก คิดซะว่า เหมือนแรงดันมันตก ไม่พอใช้งาน พวกนี้ก็จะเกิดได้หลายเหตุมาก ๆ เช่น อยู่ ๆ เราโหลดไฟหนัก ๆ เลย ก็อาจจะทำให้มีอาการไฟตกได้ เช่น เราเสียบชาร์จรถเลย เอาแบบ 22 kW ไปเลย 2 คัน ถ้าเราออกแบบมาไม่ดีก็อาจจะเจออาการไฟตกได้ หรืออีกอันที่เราเจอกันบ่อย ๆ คือ เกิดจากสภาพอากาศที่บางครั้งพอฝนตกหนักมาก ๆ ก็อาจจะเจออาการแบบนี้ได้เหมือนกัน

AVS เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้

เพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้ ในทางไฟฟ้า มันเลยมีอุปกรณ์อย่าง AVS หรือ Automantics Voltage Stabiliser ขึ้นมา โดยที่มันเป็นอุปกรณ์ที่จะควบคุมแรงดันไฟฟ้าให้คงที่มากที่สุดโดยอัตโนมัติ ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ไม่ว่าอยู่ ๆ แรงดันจะตก หรือ พุ่งสูงผิดปกติ เครื่องนี้ มันก็จะพยายามที่จะปรับให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และ นิ่ง ที่สุดเท่าที่เครื่องจะทำได้

เราเองก็ไปตามหาอุปกรณ์ AVS มาใช้งานที่บ้านนี่แหละ และเราค่อนข้างไว้ใจ Brand อย่าง Schneider ถ้าใครที่ตามเราตอนรีวิวปรับปรุงระบบไฟบ้าน เพื่อรองรับที่ชาร์จ EV เราก็ใช้ของยี่ห้อนี้ทั้งหมด หรือ UPS เอง เราก็ใช้ของ APC ซึ่งเป็น Brand ลูกของ Schneider หมด เราเลยเริ่มจากลองหา AVS ของยี่ห้อนี้มาก่อนเลย จนเราไปกดรุ่น LS1000S ซึ่งมันรองรับที่ 1000VA หรือ 500W ซึ่งเพียงพอกับโต๊ะทำงานของเราอยู่ละ

แกะกล่องออกมา น้องดูเล็กน่ารักดีนะ ก็นะแค่ 500W เอง มันก็ลูกเล็กแหละ มีช่องเสียบ Output ให้เราถึง 3 ช่องเลย ก็คือ วางแอบที่ไหนก็เนียน ๆ อยู่

ตัวมันก็ใช้งานไม่ยาก แค่เราเสียบ AVS เข้ากับไฟบ้านเรา และเอา Load เสียบเข้ากับ AVS และเปิด Switch ด้านหลังที่ทำหน้าที่เป็นเหมือน Breaker ในตัวให้เราด้วย ในกรณีที่ไฟเกิน 500W มันก็จะตัด ซึ่งเราก็จะใช้ Switch ตรงนี้แหละในการ Reset Breaker ให้กลับมาเปิดใช้งานได้อีกครั้ง

พอเราเสียบใช้จริง เราก็ต้อง งง กับผลที่ได้คือ แมร่งไม่ต่างกันเลยค่าาาา ก็คือแรงดันของ Input และ Output จาก AVS แทบไม่ต่างกันเลย (ที่เห็นมันต่างกันหน่อย เพราะอย่าลืมว่า เราวัดกันคนละจุด การทดลองเลยไม่ได้ Valid ขนาดนั้นนะบอกก่อน) ก็ งง ว่า เอ๊ะ กรูโดนย้อมแมวเหรอ จนไปคุยกับเพื่อนมา ทำให้รู้ว่า อ่ออออ AVS มันมี 2 แบบ คือ Relay และแบบ Servo โดยที่ของ Schneider ที่เรากดมาเป็นรูปแบบของ Relay

กล่าวคือ มันจะใช้ Relay ในการเลือกที่จะปรับแรงดันหรือไม่ โดย Relay มันจะสับเมื่อแรงดันไฟฟ้ามันอยู่ในช่วงที่กำหนดไว้ เช่นของ Schneider เอง มันกำหนดไว้ที่ +- 10% ของ 230V ถ้าเอาตอนเกินเลยก็คือ 253V ขึ้นไป Relay ข้างในมันถึงจะตัดขึ้นไป เพื่อปรับแรงดันไฟ หรืออาจจะมีหลาย ๆ Step เช่น แรงดันถึงตรงนี้ ให้ปรับเท่านี้ ๆ อะไรแบบนั้น ซึ่งเราก็ยังไม่รู้นะว่าของ Schneider อันที่เรากดมา มันจะปรับตอนไหน เพราะแรงดันเราถึง 244V จน Solar Inverter ตัดไปแล้ว ก็ยังไม่เห็นมันทำอะไรสักอย่าง

ทำให้เราไปมองหา AVR ที่ทำงานแบบ Servo ซึ่งพวกนี้มันจะมีการปรับที่ละเอียดมาก ๆ ตัวที่เราเลือกซื้อมาคือจาก Brand อย่าง Zircon HDR ขนาด 2000VA หรือ 1600W ไปเลยแบบจุก ๆ ก็คือเกิดความต้องการไปเยอะเหมือนกัน

สำหรับของ Zircon เอง ขนาดของเครื่องใหญ่กว่าของ Schneider มากพอตัวเหมือนกัน ด้านหลัง เขาก็จะมี Output ให้เราเสียบเยอะมาก ๆ ถึง 6 ช่องด้วยกัน เสียบเอามันส์อะ

ส่วนด้านหน้า ก็จะเป็น Switch สำหรับการเปิดปิดเครื่อง และ อันเล็ก ๆ จะเป็น Delay เป็น Feature ที่ดีมาก ๆ สำหรับคนที่ต้องการเอามาใช้กับพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำความเย็นต่าง ๆ อย่างพวกตู้เย็น ลดโอกาสที่พอไฟกระชาก หรือ ตก แล้วทำให้อุปกรณ์พวกนี้มีปัญหาได้ กับด้านบน จะเป็นหน้าจอสำหรับแสดงผล แรงดันไฟฟ้าขาเข้าและขาออกจากเครื่อง AVS

โดยเราจะเห็นจากรูปเลยว่า แรงดันขาเข้า จะสูงกว่าขาออกเยอะมาก ๆ คือเครื่องมันพยายามปรับให้อยู่ในจุดที่โอเคละกัน เราไม่เล่าละเอียด เพราะเราก็ไม่รู้ ไม่ได้เรียนไฟฟ้ามาตรง ๆ แต่โดยรวม แรงดันที่เครื่องปรับมา ลดความน่ากลัวลงไปได้เยอะมาก ๆ อย่างมากที่เครื่องพาไปก็ 230V ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะสเปกมันบอกไว้ +-5% จาก 220V สูงสุดก็สัก 231V เท่านั้นเอง ในขณะที่ไฟบ้านเรามีช่วงโดดไป 244V มันก็ยังเอาอยู่สบาย ๆ เลย

AVS vs UPS

พออ่าน ๆ ไป หลาย ๆ คนอาจจะเกิดคำถามว่า แล้วมันแตกต่างจาก UPS อย่างไร สั้น ๆ เลยคือ UPS มันเอาไว้ใช้สำรองไฟ ในกรณีที่ไฟดับไปเลย UPS มันก็ทำให้เรายังสามารถรันอุปกรณ์ต่อไปได้จนกว่าไฟจะมา ซึ่งในกรณีของไฟตก หรือ ไฟกระชากจริง ๆ UPS บางตัวมันจะตัดตัวเองเข้าสู่ Backup Mode เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ที่ต่อพ่วงได้ หรือบางตัวแพงมาก ๆ อย่างในกลุ่มของ True Online เขาก็จะมีการควบคุมแรงดันไฟฟ้าด้วย

แต่ถามว่า UPS จะป้องกันได้มากขนาดนั้นเลยมั้ย ก็ต้องบอกเลยว่า ไม่ แน่นอน เพราะมันออกแบบมาให้ใช้สำรองไฟ ทำให้ถ้าเราใช้งานพวกอุปกรณ์ที่เปิดใช้งานตลอดเวลา และ มีความ Sensitive มาก ๆ การเติม AVS เข้าไปด้วยก็ทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้นว่า อุปกรณ์ของเราจะได้รับความปลอดภัยสูงสุดจากแรงดันไฟฟ้าที่ผิดปกติในการทำงานนั่นเอง

หรือในบางอุปกรณ์ เราไม่ได้ต้องการ การทำงานตลอดเวลา แต่ต้องการความเสถียร และ ปลอดภัย การใช้งาน AVS อาจจะเป็นตัวเลือกที่สมเหตุสมผลกว่าเยอะ เพราะราคาของ AVS ส่วนใหญ่ ในขนาดกำลังเท่า ๆ กัน UPS จะมีราคาที่สูงกว่า รวมไปถึงการบำรุงรักษาในระยะยาว UPS จะสูงกว่าด้วย ทำให้ถ้าเราไม่ได้ต้องการความต่อเนื่อง เราก็เลือกซื้อ AVS มาใช้งานได้

สรุป

เรื่องของแรงดันไฟ เราว่า มันเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนไม่ได้ให้ความสำคัญเลย เราเองก็ไม่ได้สนใจจนมาติด Solar Cell แล้วทำให้เราเห็นค่าแรงดันจาก Smart Metre ที่ติด ประกอบกับอุปกรณ์ไฟฟ้าหลาย ๆ อย่างในบ้านเราเสีย หรือ ทำงานผิดแบบไม่มีสาเหตุมาหลายชิ้นมาก ๆ พอเอา AVS มาใช้ เออ ปัญหาพวกนั้นหมดไปเลย เลยเดาว่า บ้านเรานี่ก็พอตัวเหมือนกัน ถ้าบ้านใคร เจอปัญหาคล้าย ๆ เราก็ลองหาซื้อ AVS ไปใช้งานกันได้

Read Next...

Macbook Pro 14-inch M1 Max ผ่านไป 3 ปีอาการเป็นยังไงบ้าง

Macbook Pro 14-inch M1 Max ผ่านไป 3 ปีอาการเป็นยังไงบ้าง

เวลามันผ่านไปเร็วมาก ๆ เรายังจำวันที่ Macbook Pro M1 Max ของเรามาส่งที่บ้านได้อยู่เลยว่า เรารู้สึกตื่นเต้นมาก ๆ เวลาผ่านไป 3 ปี หมดประกันเรียบร้อยแล้ว วันนี้เราจะมาเล่ากันว่า สภาพตอนนี้มันเป็นอย่างไร และยังจะสามารถใช้ได้อีกนานหรือไม่...

รีวิว Apple Watch Series 10 ในที่สุด ก็ได้กลับมาใส่ Titanium อีกครั้ง

รีวิว Apple Watch Series 10 ในที่สุด ก็ได้กลับมาใส่ Titanium อีกครั้ง

ไหน ๆ Apple Watch เข้าเลขสองหลักกันแล้ว มีหรือเราจะพลาด เพื่อเป็นการฉลองก็เลยจัดมาเลยเรือนนึง เป็น Apple Watch เรือนที่ 3 ของเราละ ผ่านมา 10 Series จะมีอะไรใหม่ ใส่แล้วเป็นอย่างไร วันนี้เราจะมารีวิวเล่าให้อ่านกัน...

รีวิว Macbook Pro 14-inch M4 Max ไปให้สุดหยุดที่หมดตัว v2 (Part Performance Analysis)

รีวิว Macbook Pro 14-inch M4 Max ไปให้สุดหยุดที่หมดตัว v2 (Part Performance Analysis)

จาก Part ที่แล้วเราเล่าไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ยังขาดประเด็นสำคัญนั่นคือ Performance ของ M4 Max ว่า มันเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงาน หรือทำให้การทำงานของเราเร็วขึ้นได้อย่างไร วันนี้จะเน้น Benchmark และพยายามมาหาสาเหตุกันว่า ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้นกัน...

รีวิว Macbook Pro 14-inch M4 Max ไปให้สุดหยุดที่หมดตัว v2 (Part 1)

รีวิว Macbook Pro 14-inch M4 Max ไปให้สุดหยุดที่หมดตัว v2 (Part 1)

หลังจาก Apple Transition ไปสู่ Apple Silicon มาจนถึงจุดที่การเปลี่ยนผ่านเสร็จสิ้น เราก็ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรกับ Apple Silicon อีกเลย จนกระทั่งตอนที่ M4 ออกนี่แหละ ที่เราคิดว่า มันถึงจุดที่ใช่ละ ฤกษ์มันมาแล้ว ก็จัดเลยสิครับ มาดูกันว่าฤกษ์มันจะตรงอย่างที่เราคิดหรือไม่...