By Arnon Puitrakul - 02 ธันวาคม 2024
ไหน ๆ Apple Watch เข้าเลขสองหลักกันแล้ว มีหรือเราจะพลาด เพื่อเป็นการฉลองก็เลยจัดมาเลยเรือนนึง เป็น Apple Watch เรือนที่ 3 ของเราละ ผ่านมา 10 Series จะมีอะไรใหม่ ใส่แล้วเป็นอย่างไร วันนี้เราจะมารีวิวเล่าให้อ่านกัน
สิ่งที่เราจะเลือกได้จากตัวเรือนของ Apple Watch Series 10 มี 2 อย่างใหญ่ ๆ คือ ขนาด และ วัสดุที่ใช้ทำตัวเรือน
ขนาดหน้าปัด รอบนี้มีให้เราเลือก 2 ขนาดด้วยกันคือ 42 และ 46 มม. หากเทียบกับรุ่นก่อนหน้าอย่าง Series 9 คือ ทุกขนาดจะเพิ่มมา 1 mm ด้วยกัน ส่วนตัวเรามองว่า ถ้าอยากทำให้ดู Masculine มากกว่า เราคิดว่า 46 มม. จะเหมาะกว่า รวมไปถึงยังเหมาะกับคนที่อาจจะมีวงรอบแขนที่ใหญ่ ใส่ไปแล้วมันจะเข้ากับขนาดแขนเรามากกว่า ส่วน 42 มม. จะเหมาะกับคนที่มีแขนเล็กหน่อย ใส่ 46 มม. แล้วดูแขนเล็กไปหน่อย ก็แล้วแต่เราจะชอบเลย ส่วนตัวเราใส่ 46 มม. ทำให้สัดส่วนแขนเราดูพอดีสุดละ
และวัสดุที่ใช้ทำตัวเรือน มี 2 แบบคือ Aluminium และ Titanium นอกจากวัสดุตัวเรือนจะแตกต่างกันแล้ว วัสดุที่ใช้ทำหน้าจอก็แตกต่างกันด้วย หากเป็นตัวเรือนแบบ Aluminium จะใช้กระจกแบบ Ion-X ที่จะให้ความแข็งแรงประมาณนึง แต่ถ้าเราใช้ตัวเรือนแบบ Titanium จะใช้ผลึกแซฟไฟร์ที่ทนทานมากกว่าเข้ามา เกิดรอยขนแมวได้ยากกว่า แต่ลักษณะภายนอกมองผ่าน ๆ ก็ใสไม่ต่างกันเท่าไหร่ และหากตัดปัจจัยเรื่องของราคาออกไป เราคิดว่ามันน่าจะอยู่ที่ว่า เราชอบลักษณะตัวเรือนแบบไหนมากกว่า หากเราชอบแบบเงา ๆ ดูเรียบหรู ในรอบนี้ Titanium ดูจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่ามาก ๆ ทำให้ใส่ออกมาแล้วดูโดดเด่นมาก ๆ แต่ถ้าชอบเรียบ ๆ ตัวเรือนแบบ Aluminium ก็จะเข้ากันมากกว่า เพราะเขาทำมาในลักษณะด้าน ๆ ใส่กับเสื้อผ้าได้ง่ายกว่า
ในวันนี้เรากลับมาใช้ตัวเรือนวัสดุที่เราชอบอีกครั้งอย่าง Titanium ชอบตั้งแต่ Series 5 ละ แต่แค่เสียดายที่รอบนี้ Apple ทำออกมาเป็นขัดเงาแทนซะงั้น จริง ๆ ชอบแบบ Series 5 ที่เป็นด้าน ๆ มากกว่า แต่ถามว่า มันดูแย่มั้ย ต้องบอกนะว่า มันไม่ได้แย่ เผลอ ๆ มันดูแพงกว่าแบบด้านด้วยซ้ำ แค่ว่าเราเป็นคนไม่ชอบใส่อะไรเงา ๆ มันดูเรียกร้องความสนใจไปหน่อย ชอบอะไรเรียบ ๆ ง่าย ๆ แต่ดูแพงมากกว่า
ตัวกล่องในรอบนี้ของ Apple Watch มาเป็นรูปแบบที่ประหยัดกว่าเดิม เพราะมันเป็น Apple Product ตัวแรกที่เป็น Carbon Neutral Product ทำให้เขาต้องลดขนาดของ Packaging ลงไป เพื่อให้สามารถขนส่งได้ประหยัดพลังงานมากขึ้น ลดของที่ไม่จำเป็นออกไป แต่ดูเผิน ๆ จากภาพด้านบน เราไม่ได้เห็นความแตกต่างมากเท่าไหร่ เขามาเป็นกล่องกระดาษสีขาว ที่ตรงกลางมีการบุ Logo ของ Apple Watch เอาไว้เท่านั้น
ด้านหลังเป็นพวกรายละเอียดต่าง ๆ ของตัวเรือน ส่วนที่ Censor ออกไปคือพวก Serial No และข้อมูลจำเพาะของตัวเรือนเราเด้อ
เมื่อเปิดออกมา เราจะพบกับกล่องของตัวเรือนวางอยู่อย่างสวยงาม
ส่วนอีกกล่องหนึ่ง จะเป็นสายนาฬิกา ขึ้นกับว่าเราจะเลือกตัวไหนมา หากเราไปซื้อที่ Apple Store หรือ Apple Online Store เราสามารถ Config ตัวเรือน และ สายได้ตามใจชอบเลย เพราะเขาจะมี Stock ของตัวเครื่องและสายแยกกัน เขาก็แค่เอา กล่องตัวเรือน และกล่องสายวางแล้วห่อด้วยกระดาษที่เราเห็นนี่เลย
เริ่มจากกล่องตัวเครื่องกันก่อน โดยมันจะมีรูปภาพของตัวเรือนของเราตามสีที่เราเลือก เช่น เราเลือกสี Natural Titanium มา มันก็จะเป็นสีอย่างที่เราเห็นในภาพเลย
ด้านหลังเป็นพวกรายละเอียดของตัวเครื่องอย่าง IEMI และ Serial Number ต่าง ๆ
แกะกล่อง Apple กี่ครั้ง ก็ยังขอชื่นชมทุกครั้ง กับ Pull Tab ที่ทำให้เราสามารถแกะโดยไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรทั้งสิ้น
เมื่อเปิดกล่องออกมา เราจะเจอกับตัวเรือน และกล่อง Paperwork ต่าง ๆ
เมื่อเปิดออกมา เราจะเจอกับสายชาร์จ โดยสายเป็นสายถักแล้วอะ ดีใจมากเลย เพราะตอนที่ซื้อ Series 5 และ 8 ที่ผ่านมา สายมันย่อยสลายตัวเองเร็วมาก ๆ แต่พอทำมาเป็นสายถัก มันจะมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น ย่อยสลายตัวเองช้าลง และด้านบนเป็นขั้นตอนวิธีการสำหรับการแปะเพื่อชาร์จ
และภายในกล่องนั้นยังมีพวก Paperworks และคู่มือสำหรับการเริ่มต้นอย่างรวดเร็ว Quick Started Guide หลัก ๆ ในกล่องมีเพียงเท่านี้เลย มีเฉพาะกับสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น
เราแอบเสียดายอีกว่า รอบนี้เขาไม่มีสาย Sport Band แถมมาให้อีกเส้นในกล่องเหมือนสมัยก่อนละ ตอนที่เราซื้อ Series 5 ตัวเรือน Titanium และ Series 8 Hermes มันจะแถม Sport Band มาให้เราอีกเส้นด้วย โดยเฉพาะ Series 8 Hermes ตัวเรือนสีเงิน มันจะได้ Sport Band สีส้ม Hermes อีก แต่ตอนนี้คือ ขนาดเรากด Titanium มา ก็ไม่เห็นมี Sport Band แถมอะไรเลย
ตัวเรือนถูกใส่ไว้ใน Cover อย่างดี เพื่อป้องกันรอยต่าง ๆ ระหว่างการขนส่ง
ด้านหลังจะมีการเขียนขนาดของตัวเรือนเอาไว้ด้วย
หน้าจอเป็นแบบ LTPO3 OLED ที่ทำให้เพิ่มมุมมองการมองเห็น เราสามารถเหลือบมองมันได้ง่ายขึ้น เห็นชัดขึ้น แถมหน้าจอยังมีความสว่างมากขึ้นทำให้เราสามารถที่จะมองเห็นได้ชัดขึ้นเวลาที่เราอยู่กลางแดด โดยมันสามารถดันความสว่างสูงสุดได้ถึง 2,000 nits ในขณะที่หรี่ได้ลงไปต่ำสุดเพียง 1 nit เท่านั้นสำหรับเวลาที่เราอยู่ในที่มืดเช่นโรงหนัง มันจะไม่เปล่งแสงออกมารบกวนคนอื่น
เพื่อให้เห็นภาพว่า ตัวเรือนขนาด 45mm และ 46mm แตกต่างกันแค่ไหน เราเอาเรือนเก่าของเราอย่าง Apple Watch Series 8 Hermes มาเทียบ เอาเข้าจริง ขนาดตัวเรือนมันไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่เลยนะ แต่จุดที่ทำให้เรารู้สึกว่า มันใหญ่กว่ามาก ๆ คือ ใน Series 10 เขาทำให้หน้าจอมันกินพื้นที่ตัวเรือนมากกว่าเดิม ทำให้เราได้หน้าจอที่ใหญ่ขึ้น แต่ตัวเรือนขนาดต่างกันนิดเดียว นั่นแปลว่า เวลาเราใช้งานจริง เราจะกดอะไรได้ง่ายและสะดวกขึ้นกว่าเดิม เพราะหน้าจอที่ดูใหญ่ขึ้น
ด้านหลังเป็นพวก Sensor สำหรับวัดค่าของตัวเรา เช่นพวกอัตราการเต้นของหัวใจ, ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (SpO2) และอื่น ๆ อีกมากมาย และรอบ ๆ เราจะเห็นว่ามันมีตัวหนังสือเยอะไปหมด มันเป็นจุดที่เขียนพวก Feature และรุ่นของเราเช่น Apple Watch Series 10 ขนาด 46mm ตัวเรือนแบบ Titanium
ด้านข้างเป็นลำโพงสำหรับเล่นเสียงได้ โดยในรุ่นนี้ เขาบอกว่าลำโพงดังมากกว่าเดิมเยอะมากจนสามารถเล่นเพลง และ Podcast ออกจากลำโพงเล็ก ๆ ตัวนี้ได้เลย แต่เอาเข้าจริง เราก็ไม่ได้ทดลองเหมือนกันนะ เพราะถ้าเราไปออกกำลังกายจริง ๆ เราคงใส่หูฟังอะ ไม่มานั่งใช้ลำโพงเล็ก ๆ ขนาดนี้เปิดอะไรฟังแน่นอน กับเราขี้งก เราก็ไม่อยากแชร์หรอกนะว่า เราฟังอะไรอยู่น่ะ
เราจะสังเกตได้ว่า ตัวเรือนที่ทำจาก Titanium มีความมันวาว เงามาก ๆ ทำให้ถ้าใครที่ไม่ระวัง เราบอกได้เลยว่า รอยขนแมวมาแน่ ๆ ดังนั้น เวลาใส่ เราแนะนำให้ระวัง ๆ หน่อยละกัน กลัวจะเสียโฉม
อีกข้างจะเป็นปุ่มสำหรับควบคุมเครื่อง โดยจะมี Digital Crown คิดซะว่ามันเป็นเม็ดมะยมบนนาฬิกา On-Steroid นอกจากที่เราจะหมุน และ กดได้แล้ว มันทำหน้าที่เป็นขั้วรับสัญญาณไฟฟ้าเวลาเราวัด EKG ด้วย คือ เวลาเราที่ต้องการจะวัด EKG เราจะต้องเอานิ้วไปแตะ มันจะครบวงจร ดังนั้นเห็นว่ามันเป็นปุ่มที่ดูธรรมดา แต่มันก็ไม่ธรรมดาขนาดนั้น เลื่อนลงมาเป็นรูเล็ก ๆ คือ Microphone สำหรับคุยโทรศัพท์ ใช่แล้ว เราสามารถรับโทรศัพท์จาก Apple Watch และคุยได้จริง ๆ และสุดท้าย ปุ่มด้านล่างสุด เมื่อเรากดมันจะเรียก Control Centre ขึ้นมา หรือถ้าเรากดสองครั้งมันจะเรียก Apple Pay ขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่า ยังใช้งานในประเทศไทยไม่ได้เด้อ เมื่อไหร่นะ เขาจะเอาเข้ามา ความเศร้าคือ ถ้าเราใช้ตัว Apple Watch Ultra ขึ้นไป เราจะสามารถตั้ง Shortcut บนปุ่มนี้ได้ว่า ถ้ากดแล้วจะให้มันทำอะไร
ไหน ๆ เรากดตัวเรือนใหม่ เราจะต้องมีสายที่เข้ากันสักหน่อย เราขอกลับสู่สามัญ เลือกสายแบบแรกที่เราอยากได้ตั้งแต่ Apple Watch Series 5 คือสายแบบ Milanese Loop เพื่อให้เข้ากับตัวเรือนสี Natural Titanium เราเลยเลือกสายเป็นสี Natural เพื่อให้เหมือนกับตัวเรือนไปเลย เข้ากันสุด ๆ โดยตัวกล่อง จะคล้าย ๆ กับกล่องสำหรับสาย Apple Watch ที่ผ่านมา คือบาง ๆ ไม่หนามาก และด้านหน้าเป็นรูปของตัวสาย
ด้านหลังของกล่องเป็นพวกรายละเอียดทั้งหมดของตัวสาย และที่สำคัญ Apple Watch และ Mac Mini เป็น Apple Product ตัวแรกที่เป็น Carbon Neutral ดังนั้น มันจะต้องพิมพ์สัญลักษณ์เอาไว้ด้วย
ด้านบนจะมีบอกขนาดของตัวเรือนที่สามารถใช้งานได้เข้ามาให้ เช่นตัวเรือนของเราเป็นขนาด 46mm เราก็จะต้องซื้อสาย 46mm หรือถ้าเราใช้รุ่นก่อนหน้าที่เป็น 45mm มันใช้งานด้วยกันได้ปกติเลย และ M/L คือสายตัวนี้มันมี 2 ขนาด โดยทั่ว ๆ ไปถ้าแขนเราไม่ได้เล็กมาก ๆ แบบผู้หญิงตัวเล็ก ๆ เราคิดว่า Size M/L ถือว่าโอเคละสำหรับคนทั่วไป
ด้านล่างจะมีเขียนว่า มันเป็นสายอะไร ก็คือสาย Natural Stainless Steel Milanese Loop ดังนั้น แน่นอนว่า มันทำจาก Stainless Steel ดังนั้นไว้ใจความแข็งแรงได้เลยว่า สายมันะโอเคไม่ฟังในเร็ว ๆ นี้แน่นอน
แน่นอนว่า ชม แล้ว ชม อีก ชมไม่หยุดคือ เราสามารถดึงแถบเพื่อแกะกล่องออกมาได้เลย
เมื่อเราเปิดกล่องออกมาแล้ว เราจะพบกับตัวสายที่เสียบอยู่ในกล่อง โดยที่กล่องทำหน้าที่เหมือนซองเอกสารเล็ก ๆ เพื่อใส่สาย และข้อความต่าง ๆ เท่านั้น พร้อมกับด้านบนเป็นวิธีเสียบสายเข้าไป เราว่า ถ้าใครใช้ Appple Watch อยู่แล้วก็ข้ามไปเลยก็ได้
ส่วนของสาย เราสามารถดึงออกมาจากกล่องได้ โดยมันจะแพคอยู่ในกระดาษแผนนึง เราแค่เอามันมาก็ใช้งานได้เลย
จากประสบการณ์ที่ใช้สายประเภทนี้มาก่อน เราอยากเตือนเรื่องส่วนปลายที่อาจจะเป็นรอยได้ จากภาพ ด้านบน คือสายเส้นสีดำ ที่เราซื้อใช้งานมาตั้งแต่ Series 5 และสายสีเงิน ๆ ธรรมชาติ คือสายเส้นใหม่ เราเห็นว่าที่ปลายของสีดำ มันจะมีรอยอะไรอยู่ มันเกิดจากเวลาเรานั่งทำงานบนโต๊ะแล้วบางที ข้อมือเราครูดกับโต๊ะไปมา ทำให้มันเกิดรอยอย่างที่เห็น ดังนั้นใช้สีธรรมชาติก็เบา ๆ มือ ระวังหน่อยละกัน
สำหรับ Feature ใหม่ที่เราคิดว่าน่าสนใจจริง ๆ นอกจากจอที่เทพกว่าเดิม มีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ การชาร์จไว (Fast Charge), Sensor สำหรับวัดความลึก และอุณหภูมิของน้ำสำหรับพวกกิจกรรมทางน้ำ และการเตือนการหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)
Apple บอกว่า เขามีการพัฒนาระบบสำหรับชาร์จ Apple Watch ให้ไวขึ้นด้วยการพัฒนาพวกขวดลวดสำหรับรับไฟให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เราสามารถชาร์จจนถึง 80% ได้ภายในเวลาเพียงแค่ 30 นาทีเท่านั้น นั่นแปลว่า เราสามารถใส่มาทั้งวัน แปะชาร์จระหว่างอาบน้ำ ออกมาใส่นอนต่อเพื่อเก็บข้อมูล และเช้าวันใหม่ตอนไปอาบน้ำ เราก็แปะชาร์จไว้ จะออกจากบ้านก็ใส่ต่อไปได้เลย เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เพราะมันทำให้เราสามารถเก็บข้อมูลสุขภาพเราได้ตลอดเวลาจริง ๆ
นำไปสู่อีก Feature ใหม่ในสายสุขภาพ อย่างการตรวจจับภาวะการหยุดหายใจระหว่างหลับ (Sleep Apnea) มันเป็นภาวะที่ค่อนข้างน่ากลัวมาก ๆ เลยนะ เพราะมันเกิดตอนเรานอนไม่รู้เรื่อง เราไม่มีทางรู้เลยว่าเรามีปัญหานี้อยู่ ส่วนใหญ่จะมาเริ่มสงสัยกันเมื่อมันส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตแล้ว เช่นทำไมนอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ ทำไมตื่นแล้วรู้สึกเหนื่อยมาก ๆ ส่งผลให้เราไม่สดชื่นที่จะไปใช้ชีวิตประจำวันของเราเอง ปกติแล้วการตรวจพวกนี้ เราจะต้องทำ Sleep Test ที่ต้องติดเครื่องมือมากมายไปหมด แต่ Apple บอกว่า อื้ม เราสามารถทำ Screening Test ได้โดยการแค่ใส่ Apple Watch เท่านั้น ด้วยการตรวจจับ อัตราการเต้นของหัวใจ, อัตราการหายใจและ อุณหภูมิของข้อมือ จับคู่กับ Machine Learning Model ที่ Apple พัฒนาขึ้นมา ทำให้สามารถ Screen ภาวะ Sleep Apnea ได้
Sensor สำหรับวัดความลึก และอุณหภูมิของน้ำ ทำให้เราสามารถวัดค่าเวลาเราเล่นกิจกรรมทางน้ำได้ โดยที่ Sensor วัดความลึกสามารถวัดได้ลึกสุด 6 เมตรด้วยกัน เราสามารถใช้มันกับพวกการดำน้ำตื้น ๆ และว่ายน้ำในสระว่ายน้ำได้ เช่นคนที่ออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำก็สามารถใช้ Apple Watch Series 10 นี้ในการจับค่าการออกกำลังกายของเราได้ และสิ่งที่สนุกกว่าคือ มันรู้ตัวด้วยว่าเราอยู่ในน้ำ เพราะเมื่อเราเอา Apple Watch ดำน้ำลงไปมันจะแสดงผลค่า Sensor ใต้น้ำออกมาให้เราเองด้วย
หลังจากการใช้งาน Apple Watch Series 10 มา ส่วนตัวเราไม่รู้สึกถึงความแตกต่างในการใช้งานอะไรเลยเมื่อเทียบกับ Series 8 Hermes ของเรา นอกจากหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น สว่างขึ้น แค่นั้นเลย ซึ่งผิดกับที่เราคาดหวังมาก เพราะตอน Series 9 ออก เราบอกเพื่อนว่า อื้ม มันกั๊กมารอออก Series 10 ป่าว แบบครบรอบ 10 ปีอะไรแบบนั้น สรุปออกมาจริง มันไม่ต่างอะไรกับ Yearly Update ในแต่ละปีเลย มันทำให้เราย้อนกลับไปที่คำถามที่เราถามทุกปีที่ Apple Watch และ Smart Watch อื่น ๆ ออกมาว่า จะใส่อะไรมาอีกวะ เพราะ ณ วันนี้คือ มันใส่ทุกอย่างที่เราจะคิดออกมาได้แล้ว สุดท้ายทำให้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่ละเจ้าไม่ได้ใส่อะไรใหม่เข้าไปเท่าไหร่ ทำให้เรามองว่า ถ้าเราถือ Series 7 หรือสูงกว่าอยู่ การโดดมา Series 10 ไม่ใช่ตัวเลือกที่คุ้มเท่าไหร่ เว้นแต่จะพังชิบหายไปแล้ว แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่เคยใช้ Apple Watch มาก่อน บอกเลยว่า Series 10 จะเป็นตัวที่สมบูรณ์แบบมากตัวนึงเลย เราการันตี
ไหน ๆ Apple Watch เข้าเลขสองหลักกันแล้ว มีหรือเราจะพลาด เพื่อเป็นการฉลองก็เลยจัดมาเลยเรือนนึง เป็น Apple Watch เรือนที่ 3 ของเราละ ผ่านมา 10 Series จะมีอะไรใหม่ ใส่แล้วเป็นอย่างไร วันนี้เราจะมารีวิวเล่าให้อ่านกัน...
จาก Part ที่แล้วเราเล่าไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ยังขาดประเด็นสำคัญนั่นคือ Performance ของ M4 Max ว่า มันเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงาน หรือทำให้การทำงานของเราเร็วขึ้นได้อย่างไร วันนี้จะเน้น Benchmark และพยายามมาหาสาเหตุกันว่า ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้นกัน...
หลังจาก Apple Transition ไปสู่ Apple Silicon มาจนถึงจุดที่การเปลี่ยนผ่านเสร็จสิ้น เราก็ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรกับ Apple Silicon อีกเลย จนกระทั่งตอนที่ M4 ออกนี่แหละ ที่เราคิดว่า มันถึงจุดที่ใช่ละ ฤกษ์มันมาแล้ว ก็จัดเลยสิครับ มาดูกันว่าฤกษ์มันจะตรงอย่างที่เราคิดหรือไม่...
หลังจากผ่านไป 3 ปี ในที่สุดวันที่เรารอคอยกันก็มาถึง iPad Mini ออกรุ่นใหม่แล้วแกร แต่เอ๊ะ หน้าเดิมนิ แล้วมันมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง และส่งผลกระทบต่อการใช้งานอย่างไรบ้าง วันนี้เราได้ทดลองใช้แล้วจะมารีวิวให้อ่านกัน...