Technology

NAS vs DAS ต่างกันอย่างไร ? เราจะใช้อะไรดี ?

By Arnon Puitrakul - 22 ธันวาคม 2023

NAS vs DAS ต่างกันอย่างไร ? เราจะใช้อะไรดี ?

หลายบทความที่ผ่านมา เราได้แนะนำพวก NAS ไปเยอะมาก ๆ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย บางคนอาจจะไม่เหมาะกับ NAS วันนี้เราจะมาแนะนำอีกหนึ่งทางเลือก การใช้ DAS เรามาดูกันดีกว่าว่า มันแตกต่างจาก NAS และ เราจะเหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่ในบทความนี้กันเลย

Direct Attached Storage (DAS)

Direct Attached Storage หรือ DAS เป็นระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ต่อตรงเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา แตกต่างจาก NAS ที่เชื่อมต่อผ่านระบบ Network โดยหน่วยความจำที่เรานำเข้ามาต่อ อาจจะเป็น HDD, SSD หรืออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบอื่นก็ได้ อย่าง เทป เป็นต้น

การเชื่อมต่อจากเดิมที่ NAS เชื่อมต่อผ่านสายแลน หรือ การเชื่อมต่อ Network อื่น ๆ เช่น Fibre Optics แต่ DAS เราเชื่อมต่อตรงเข้ากับเครื่องของเราเลย เช่น SATA และพวก USB, Thunderbolt

อ่านมาขนาดนี้ เราว่า หลาย ๆ คนน่าจะเอ๊ะ ว่า มันคือพวก Flash Drive หรือ External HDD ใช่มั้ย คำตอบคือใช่แล้วฮะ ของพวกนี้มันเป็นหนึ่งใน DAS ที่เราสามารถใช้งานกันได้

ข้อดีของระบบ DAS คือ เราไม่จำเป็นต้องเปิดใช้งานตลอด ไม่ต้องเสียค่าไฟเปิดระบบทิ้งไว้เวลาที่เราไม่ได้ใช้ อีกทั้งอายุการใช้งานของระบบพวกนี้ส่วนใหญ่จะมากกว่า NAS เนื่องจากระบบไม่ได้เปิดทำงานอยู่ตลอดเวลา เปิดทำงานเมื่อเราเรียกใช้เท่านั้น อีกทั้งราคามีความหลากหลาย ตั้งแต่ราคาถูก จนไปถึงราคาแพงที่ได้ประสิทธิภาพ หรือ ความหนาแน่นของการจัดเก็บสูง ๆ เลยก็มี

ประสิทธิภาพของ DAS ถือว่าดีกว่า NAS พอสมควร เนื่องจาก Protocol ในการเชื่อมต่อมันแตกต่างกัน ฝั่ง NAS เราทำงานผ่าน Network ใช้เป็นพวก SMB พวกนั้นมี Overhead ในการทำงานมากกว่าฝั่งที่เราใช้ผ่าน USB หรือ Thunderbolt พอสมควรเลย ยังไม่นับว่า ถ้าอยากได้ NAS ที่เชื่อมต่อได้อย่างรวดเร็ว เราจะต้อง Upgrade ระบบ Network ของเราให้รองรับการเชื่อมต่อความเร็วสูงอีกด้วย ปกติ Network ตามบ้านตอนนี้เราทำงานผ่าน Gigabit Ethernet ให้ความเร็วอยู่ที่ 1 Gbps ถ้าอยากไปเร็วกว่านั้นเราต้องไล่ Upgrade หลายจุด ราคาสูงมาก ๆ แต่กลับกัน USB เองถ้าเอาเร็ว ๆ เลยก็ USB3.2 ความเร็วไปกันระดับ 10 Gbps กันสบาย ๆ แล้ว โดยที่เราไม่ต้องเปลี่ยนอะไรมาก เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ใหม่ ๆ หน่อยน่าจะมาพร้อมกับ USB3 ขึ้นไปอย่างน้อย 1 ช่องแล้ว

แต่ข้อเสียคือ การจะใช้งานระบบจำเป็นต้องเอาเครื่องมาเสียบทุกครั้ง ดังนั้นหากใช้งานระบบขนาดใหญ่ ๆ ทำให้เราไม่สามารถพกพา หรือเข้าถึงจากนอกบ้านหรือออฟฟิศได้เลย นอกจากนั้น ระบบส่วนใหญ่ยังไม่สามารถใช้งานพร้อม ๆ กันได้หลายคน ทำให้ไม่เหมาะกับการใช้งานในออฟฟิศที่บางครั้ง เราจำเป็นต้องเข้าถึงไฟล์พร้อม ๆ กันหลายคน

เรามาดูกันดีกว่าว่า ถ้าเราจะซื้อ DAS มาใช้งาน ระบบแต่ละแบบ เหมาะกับใครหรือการทำงานแบบใด ไล่ไปตามขนาด

ขนาดเล็กที่สุด : Internal Storage Device

Lian Li A79

สำหรับขนาดเล็ก และ ราคาต่อความจุสูงสุดคือ การที่เราเอาพวกอุปกรณ์เก็บข้อมูลเสียบเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราโดยตรงเลย สำหรับเคสทั่ว ๆ ไป การใช้ HDD เพิ่มอีกสัก 1-2 ลูกน่าจะเพียงพอกับการใช้งานแล้ว อาจจะเลือกเป็นขนาดที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย สัก 8 TB และถ้าเราเน้นการเก็บข้อมูลเฉย ๆ ไม่ต้องการความเร็วในการอ่านและเขียนสูงมาก อาจจะเลือกเป็น HDD รอบต่ำหน่อยเช่น 5,400 รอบ ราคาจะถูกลง และอายุการใช้งานจะดีกว่าพวกรอบสูงเน้น Performance มากพอสมควร

รีวิว Lian Li PC-A79 เคส Full Tower รุ่นเก่า แต่โคตรแซ่บ
เมื่อหลายอาทิตย์ก่อน เราไปงาน Jib Warehouse Sale ที่เป็นงานลดแลกแจกแถมของ Jib ไปสะดุดตากับเคสตัวนึงเข้าคือ Lian Li PC-A79 จะเป็นยังไงลองไปดูกัน

อีกจุดหนึ่งคือ เช็คก่อนว่า ขนาดของเคสเราสามารถใส่ HDD หรือ SSD เพิ่มได้เท่าไหร่ เพราะเคสบางตัวที่มีขนาดเล็กมาก ๆ อาจจะใส่เพิ่มไม่ได้เลย หรือ ใส่เพิ่มได้แค่ 1-2 ลูกเท่านั้น ไม่นับพวกเคสประหลาด ๆ เช่น Lian Li A79 ที่เราเคยเอามารีวิวเป็นเคสสำหรับทำ NAS

HBA Card

อีกจุดที่เราจำเป็นต้องคำนึงคือ Interface สำหรับการเชื่อมต่อ โดยทั่ว ๆ ไป เราจะใช้งานผ่าน SATA กัน อาจจะต้องเช็คกับ Mainboard ของเราว่า มีช่อง SATA สำหรับเสียบได้อยู่หรือไม่ ถ้ามีคือสบายจบ แต่ถ้าไม่มี อาจจะต้องอาศัย Host Bus Adapter (HBA) Card ที่เสียบเข้าช่อง PCIe และแปลงเป็น SATA จำนวนหลาย Port พวกนี้มันไม่ได้กิน Bandwidth สูงมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ x1 ซึ่งถ้า Mainboard เรามีช่อง x1 ส่วนใหญ่จะไม่ได้ถูกใช้อยู่ละ แนะนำลองไปหาดูตาม Shopping App ทั้งหลาย ราคาไม่กี่ร้อย กับซื้อสาย SATA และสายไฟมาเสียบก็จบแล้ว

กลุ่มนี้จะเหมาะกับคนที่ใช้งานเครื่อง Desktop PC เป็นหลัก แต่หากเราใช้งานพวก All-in-One System หรือ Laptop ตัวเลือกนี้เราตัดไปได้เลย เราไม่สามารถยัด HDD เพิ่มเข้าไปได้ง่ายขนาดนั้นแน่นอน

ง่ายที่สุด : External HDD/SSD

มาที่ตัวเลือกที่ง่ายที่สุดในทุกอันแล้ว นั่นคือ การใช้ External HDD หรือ SSD ทั้งหลาย น่าจะเป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลตัวเลือกต้น ๆ อยู่แล้วละ มีแบบ ยี่ห้อ และ ราคาให้เราเลือกหลากหลายตั้งแต่ External HDD ความจุไม่กี่ TB จนไปถึง SSD ความเร็วสูง ความจุสูง ๆ เลยทีเดียว

สำหรับการใช้งานทั่ว ๆ ไป ในการเก็บข้อมูลที่ไม่ใหญ่มาก เราแนะนำให้ไปใช้พวก External SSD น่าจะดีกว่า ราคาอาจจะแพงกว่าจริง แต่ด้วยขนาดที่เล็กกว่า และ ความคงทนที่มากกว่า ทำให้เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการใช้งานทั่ว ๆ ไป ยิ่งขนาดความจุไม่สูงมาก ราคาก็ถือว่าถูกมาก ๆ แล้วในปัจจุบัน

WD My Passport

แต่สำหรับคนที่ต้องการความจุสูงขึ้น เน้นการเก็บข้อมูลแบบเรื่อย ๆ นาน ๆ ทีค่อยใช้ ไม่พกพาบ่อยเท่าไหร่ การใช้ Portable HDD น่าจะเหมาะกับการใช้งาน พวกนี้ส่วนใหญ่ภายในจริง ๆ มันคือ 2.5-inch HDD สำหรับพวก Laptop แล้วเอามาใส่ Enclosure นี่แหละ มีหลายยี่ห้อให้เราเลือกใช้งานกัน เช่น WD My Passport ที่มีความจุสูงสุดถึง 5 TB ให้เราเลือกเลยทีเดียว เช่นตัวที่เราใช้งานอยู่ซื้อตั้งแต่ปี 2019 จนถึงวันที่เขียนปี 2023 เราก็ยังใช้งานได้ปกติดี แค่เวลาใช้งานพวก HDD เราอยากให้ระวังการสั่นสะเทือนทั้งระหว่างใช้งาน และ การเก็บรักษา จึงไม่เหมาะเท่าไหร่กับการที่เราจะขนใส่กระเป๋าไป ๆ มา ๆ ถามว่าได้มั้ย มันก็ได้แหละ อายุมันอาจจะไม่ยืนเท่าไหร่

รีวิว WD My Book External Hard Disk ตั้งโต๊ะหน้าตาดีย์
วันนี้มีของมารีวิวกัน หลังจากหายไปนานเลย วันนี้เรากลับมาพร้อมกับ WD My Book ที่เป็น External HDD ตั้งโต๊ะ

บางคนอาจจะต้องการความจุที่สูงกว่านี้ และ ต้องการ Performance มากกว่าเดิม ไม่ได้ต้องการพกพา เน้นการใช้งานบนโต๊ะทำงานเป็นหลัก เราสามารถเลือกซื้อเป็น Desktop External HDD ได้ พวกนี้ไส้ในจริง ๆ เหมือนกับ External HDD แบบพกพาทุกอย่าง แค่ว่าการจ่ายไฟเราต้องเสียบ Adapter จ่ายไฟข้างนอก ทำให้การจ่ายไฟเสถียรกว่า การจ่ายไฟผ่าน Port USB มากพอสมควร และยังใช้ 3.5-inch HDD ที่ส่วนใหญ่จะมีรอบการทำงานที่สูงกว่า และ มีความจุให้มากกว่า เช่น WD My Book ที่เราเคยรีวิวไป เขามีให้เลือกยันความจุ 22 TB ถือว่าสูงมาก ๆ สำหรับการใช้งานในระดับนึงแล้ว

แต่ถ้าเราบอกว่า พี่ มันเด็ก ๆ ไปอะ ของเล่นเด็กผมไม่ใช้หรอกนะ เราอยากได้อะไรที่ใหญ่ บิ๊ก ๆ กว่านี้ ความจุสูงกว่านี้มาก ๆ ก็ยังมีอีกทางเลือกคือ การใช้พวก External HDD ที่เขา Built-in RAID Controller เข้ามาให้ เช่น WD My Book DUO ที่เขามีช่องสำหรับใส่ HDD 2 ลูกด้วยกัน ซึ่งเราสามารถทำ RAID0 เพื่อเพิ่มความจุเท่าตัว และ ความเร็วอีกเกือบ ๆ เท่าตัว แต่ข้อควรระวังคือ การทำ RAID0 นั้นเพิ่มความเสี่ยงที่ข้อมูลจะสูญหาย เพราะหาก HDD สักลูกเกิดเสียขึ้นมา เท่ากับว่า ข้อมูลของเราหายทั้งหมด ตัวเลือกนี้ เราค่อนข้างแนะนำกับกลุ่มที่ซื้อ Portable HDD มาเยอะ ๆ แล้ว อยากจะรวบรวมเก็บมันให้อยู่ในที่เดียว เข้าถึงได้ง่าย ส่วนตัวยังไม่เคยใช้ My Book DUO เหมือนกันนะ เอารีวิวจาก JIB ไปประกอบการตัดสินใจเพิ่มดีกว่า ไม่กล้าพูดเองว่าดีมั้ย

อีกตัวเลือกคือ เรายังสามารถซื้อ Enclosure มาแล้วซื้อ HDD มาเองก็ได้เช่นกัน เราเองก็เลือกใช้วิธีแบบนั้นอยู่ เพราะเรามีพวก HDD เหลืออยู่พอดีเลยเอามาเสียบใช้ซะเลย วิธีนี้ เราเลือกได้หมดเลยว่า เราอยากจะได้ RAID Controller แบบไหน หรือ เราจะเลือกโหมดเป็น JBOD (Just a bunch of disk) แล้วใช้ Software RAID ใน OS ของเราในการทำงานเองก็ได้

Best of both worlds : Hybrid NAS/DAS

หรือหากใครบอกว่า เราต้องการแบบที่ดีที่สุดในทุก ๆ ด้าน อยากได้ข้อดีของ DAS ในความเร็วที่สูงมาก ๆ และการเข้าถึงข้อมูลพร้อม ๆ กันจาก NAS เรามีตัวเลือกที่น่าสนใจมาก ๆ ตัวนึงคือพวกกลุ่ม NAS ที่ทำหน้าที่เป็น DAS ได้ด้วย

เช่นของ QNAP เอง เขามีบางรุ่นที่เป็น NAS ใช้งาน Feature ของ NAS ได้เต็มรูปแบบปกติ แต่ว่า เรายังสามารถเสียบ Thunderbolt 4 เพื่อใช้งานมันเป็น DAS ได้เช่นกัน พวกนี้ส่วนใหญ่ต้องยอมรับว่า ราคาจะสูงกว่า DAS และ NAS ปกติไปพอสมควรเลย แต่ข้อดีของพวกนี้คือ มันทำงานได้ทั้งสองแบบ เหมาะกับการทำงานในบาง Workflow เช่นงาน Production ที่เราต้องมีการ Ingest Footage เข้ามาอาจจะผ่าน Network ความเร็ว 1 Gbps รอได้ และ มีคนเอา Footage มาทำงานพวกนี้เสียบตรงผ่าน Thunderbolt เพราะทำงานตัดต่อยิ่งหลาย ๆ Stream มันกิน Bandwidth มหาศาล

สรุป

DAS เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการเก็บข้อมูลนอกจาก NAS ที่มีข้อดีในเรื่องของราคาที่ส่วนใหญ่จะถูกกว่า และมีการเชื่อมต่อที่รวดเร็วกว่าพอสมควร แต่เสียในเรื่องของการเข้าถึงที่จะต้องเสียบเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราตรง ๆ ไม่สามารถเรียกใช้งานจากข้างนอกได้ การจะเลือกใช้ลักษณะไหน ขึ้นกับการใช้งานของเราแล้วว่า เราต้องการใช้กับข้อมูลลักษณะไหน และ ราคาที่เรารับได้มันอยู่ที่เท่าไหร่

Read Next...

Mainframe Computer คืออะไร ? มันยังมีชีวิตอยู่ใช่มั้ย ?

Mainframe Computer คืออะไร ? มันยังมีชีวิตอยู่ใช่มั้ย ?

ทุกคนเคยได้ยินคำว่า Mainframe Computer กันมั้ย เคยสงสัยกันมั้ยว่า มันต่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันทั่ว ๆ ไปอย่างไรละ และ Mainframe ยังจำเป็นอยู่มั้ย มันได้ตายจากโลกนี้ไปหรือยัง วันนี้เรามาหาคำตอบไปด้วยกันเลย...

Infrastructure as Code คืออะไร ทำไมถึงสำคัญมากในปัจจุบัน

Infrastructure as Code คืออะไร ทำไมถึงสำคัญมากในปัจจุบัน

เคยมั้ยเวลา Deploy โปรแกรมสักตัว เราจะต้องมานั่ง Provision Infrastructure ไหนจะ VM และ Settings อื่น ๆ อีกมากมาย มันจะดีกว่ามั้ยถ้าเรามีเครื่องมือบางอย่างที่จะ Automate งานที่น่าเบื่อเหล่านี้ออกไป และลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Infrastructure as Code กัน...

LLM จะเข้ามาทำให้เราเลิกใช้ Search Engine ได้จริงเหรอ ?

LLM จะเข้ามาทำให้เราเลิกใช้ Search Engine ได้จริงเหรอ ?

เมื่อหลายวันก่อน เราเลื่อนเฟสไปเจอความเห็นนึงที่อ่านแล้วถึงกับต้องขยี้ตาอ่านซ้ำบอกว่า ให้เราลองถาม ChatGPT ดูแล้วเราจะไม่กลับไปหา Google อีกเลย มันเป็นแบบนั้นได้จริงหรือไม่ วันนี้เราจะมาอธิบายในแง่หลักการทำงานของมัน และความเป็นไปได้กันว่า มันเป็นไปได้จริงหรือไม่อย่างไร...

ซื้อ NAS สำเร็จรูปหรือจะประกอบเครื่องเองเลยดี

ซื้อ NAS สำเร็จรูปหรือจะประกอบเครื่องเองเลยดี

ในปัจจุบันเราพึ่งพาการเก็บข้อมูลต่าง ๆ บนเครื่องคอมพิวเตอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับบางคนมากจนไม่สามารถเก็บได้ในเครื่องของเราอีกแล้ว ทำให้อาจจะต้องมองหาระบบจัดเก็บข้อมูลอื่น ๆ เข้ามาใช้งาน หนึ่งในนั้นคือการใช้ NAS หลายคนมีคำถามว่า แล้วเราควรจะเลือกซื้อ NAS สำเร็จรูป หรือ DIY ดี...