By Arnon Puitrakul - 09 สิงหาคม 2021
2-3 ปีที่มี NAS อยู่ในบ้าน เราบอกเลยว่า มันทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะในหลาย ๆ เรื่องมาก เมื่อก่อน ก็ใช้คอมพิวเตอร์เครื่องเก่าแล้วมาใส่ HDD เพิ่มเข้าไปเพื่อเก็บข้อมูล แล้วมันก็งอกขึ้นมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้เดิน Fibre Optics แล้ว และ ตอนนี้เว็บที่ทุกคนกำลังอ่านอยู่ตอนนี้ก็ทำงานอยู่บน NAS ด้วย วันนี้เราจะมาป้ายยาทุกกันว่า การมี NAS มันมีประโยชน์กว่าที่เราคิดเยอะมาก
NAS หรือ Network Attach Storage เป็นอุปกรณ์ประเภทหนึ่งที่ต่อเข้ากับระบบ Network ของเรา ที่ทำให้เราสามารถจัดการ หรือ เก็บข้อมูลบนนั้นได้ จริง ๆ แค่นั้นเลย หลัก ๆ คือ การเก็บข้อมูลนั่นเอง
จากเดิมที่เราอาจจะเก็บข้อมูลลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา แต่พอเราไปทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์อีกเครื่อง เราก็อาจจะต้อง Copy ใส่ Flash Drive แล้วไปทำงานอีกเครื่อง ทำแบบนี้วนไปเรื่อย ๆ มันก็เป็นเรื่องที่ลำบากมาก ๆ เลยทีเดียว การที่เราเอาไฟล์งานของเราไว้บนระบบ Network เลย เราก็ไม่ต้องทำอะไรเลย เราก็สามารถเดินไปที่เครื่องคอมพิวเตอร์อีกเครื่อง เปิดไฟล์จาก Network ของเรา และ เริ่มทำงานต่อได้เลย เห็นได้เลยว่า มันทำให้เราสะดวกขึ้นมาก ๆ
หรืออีกเคสที่เจอเยอะมาก ๆ และเราป้ายยาให้ซื้อสำเร็จเลยคือ คนที่เก็บข้อมูลเยอะ ๆ ปกติ เวลาเราเก็บข้อมูล ถ้าไม่ใหญ่มาก เราอาจจะเก็บใส่ Flash Drive แล้วพกพา ง่ายดี แต่ถ้าข้อมูลเรามีจำนวนเยอะมาก ๆ มีขนาดที่ใหญ่มาก ๆ เราอาจจะต้องพกสิ่งที่เรียกว่า External HDD หรือ SSD อาจจะมีขนาดอย่างมาก ก็ 5-6 TB ก็เยอะมากแล้ว แล้วถ้าข้อมูลเราเยอะกว่านั้นละ เราก็ต้องไปซื้อมันมาเพิ่มอีก ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ รู้ตัวอีกที คือ เราอาจจะมี External HDD เป็นกล่องแล้วก็ได้ เวลาเราจะมาหาไฟล์ เราก็ต้องค่อย ๆ มานั่งหาว่า มันอยู่ลูกไหนว้าา เสียบ ๆ ถอด ๆ อยู่นั่นกินเวลาเยอะมาก หรือทำให้เป็นระบบหน่อย ทำเป็น Database ย่อม ๆ เลยว่าไฟล์นี้อยู่ที่ลูกไหน แล้วก็ไปหาดึงขึ้นมา เห็นความลำบาก และ ความเสียเวลามั้ยว่า มันทำให้เราปวดหัวได้ขนาดไหน ยังไม่นับว่า เก็บ ๆ ไว้ จะกลับมาหา เสียบเข้าไปปุ๊บ แตกจ๊ะ !! พังไปแล้ว ข้อมูลก็คือ Gone เลยนะ หายไปเลย ไม่ใช่สิ่งที่ดีแน่ ๆ ทำให้ NAS เข้ามาตอบโจทย์ในเรื่องนี้มาก ๆ
เพราะใน NAS เราสามารถที่จะใส่ HDD หรือ SSD มากกว่า 1 ลูกลงไปได้ พร้อมกับทำสิ่งที่เรียกว่า RAID ที่ทำให้เราสามารถรวม Storage หลาย ๆ ลูกให้กลายเป็น Drive เดียวได้ นอกจากนั้นใน RAID บางประเภทยังรองรับการทำ Redundancy ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องที่ HDD ใช้ ๆ ไปอาจจะมีปัญหา จากเดิมที่ข้อมูลของเราจะหายไป กลายเป็นว่า เราก็ไปซื้อ HDD มาเสียบแทน ข้อมูลทั้งหมดก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม เหมือนจะเป็น MAGIC แต่จริง ๆ แล้วมันคือ พลังของคณิตศาสตร์ ลองเข้าไปอ่านในบทความ RAID ที่เขียนไว้ได้
ดังนั้นสรุปโดยสั้น ๆ NAS จริง ๆ ก็เหมือน External HDD ที่เราใช้งาน แต่แทนที่มันจะเป็น USB ให้เราเสียบเข้าคอมพิวเตอร์ มันกลายร่างเป็นหัว RJ45 หรือหัวแลนให้เราเสียบเข้าระบบ Network ของเรานั่นเองที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงไฟล์ต่าง ๆ จากที่ไหนก็ได้ โดยที่เราไม่ต้องพกอุปกรณ์แล้วหายบ้าง ตกพังบ้าง อีกสารพัด
อ่าน ๆ มาเราเก็บไฟล์ไว้บนระบบ Network แล้วเข้าจากที่ไหนก็ได้ เออ มันก็เหมือนกับพวก Cloud อย่างพวก Google Drive เลยนิ เราก็ใช้งานพวกนั้นก็ได้นิ จะว่าใช่ก็เอ่อ มันก็ไม่ใช่สาระสำคัญของบทความนี้สิ เอ๊ะ เด่วนะ ฮ่า ๆ ล้อเล่น จริง ๆ มันก็ใช้งานได้คล้าย ๆ กันแหละ แต่มันมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันอยู่
อย่างแรกคือ ราคา และ ขนาดพื้นที่การจัดเก็บข้อมูล ถ้าเราใช้งานพวกนี้อยู่ เราจะเห็นว่าเปิดเริ่มต้นมา เราจะใช้งานได้ฟรีเลย แต่พอถ้าเราต้องการเก็บข้อมูลที่ขนาดใหญ่ขึ้น มันจะไม่ฟรีละ เราจะต้องเสียเงินละ ราคาก็จะขึ้นกับแต่ละ Brand เลยว่าจะคิดเท่าไหร่ ซึ่งถ้าเราเป็นคนที่เก็บข้อมูลเยอะ ๆ จริง ๆ การจ่ายเป็นรายเดือนไปเรื่อย ๆ มันก็ไม่สนุกเหมือนกัน ทำให้ถ้าราเก็บข้อมูลจำนวนมาก ๆ การใช้ NAS และเก็บข้อมูลเองเลย น่าจะเป็นทางที่ประหยัดกว่าในระยะยาว เรายกตัวอย่างง่าย ๆ เลยอย่างของ Google เอง เก็บ 2 TB เราต้องจ่าย 3,500 บาทต่อปี แต่ถ้าเราวาง NAS ที่บ้านเราเอง เอาแค่ค่าไฟปีละประมาณ 3,124 บาท แต่เราใส่ HDD ไป 25 TB ถ้าเก็บเต็ม ๆ ก็คือ คุ้มกว่าการเช่า Google Drive หลายเท่าตัวมาก ๆ
และอีกเรื่องที่สำคัญมาก ๆ คือ ความเป็นส่วนตัว การเก็บข้อมูลบน Cloud หลาย ๆ เจ้าก็บอกแหละว่า โหหห เราให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมาก ๆ นะ แต่เอาจริง ๆ เถอะ เราก็ยังต้องกังวลอยู่ดี เพราะความเป็น Cloud เรารู้นะว่าข้อมูลมันมีอยู่ เราเข้าถึงได้ แต่ประเด็นคือ เราไม่รู้ไงว่า มันอยู่ที่ไหน การที่เราเก็บข้อมูลกับเราเอง มันทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้นว่า เออ ข้อมูลมันอยู่ตรงนี้ ถ้ามันจะหลุดจริง ๆ ก็เพราะเราเองแล้วละ ฮ่า ๆ จริง ๆ มันก็เหมือนกับการเดินทางนั่นแหละ ถ้าเราเก็บไว้บน Cloud มันก็เหมือนกับเราเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ (ที่ไม่ใช่ของไทยอะนะ) ที่เราจะต้องพึ่งมันตลอดเวลา ถ้าเกิดมันมีปัญหาอะไรขึ้นมา เราก็แตกเหมือนกัน แต่ถ้าเราใช้ NAS เก็บข้อมูลเอง มันก็เหมือนกับเราซื้อรถมาขับเองนั่นแหละ แรก ๆ จ่ายแพงหน่อย แต่มันได้เรื่องความสะดวกสบาย เราจะเข้าถึงไฟล์ได้เร็ว ๆ จากบ้าน หรือออฟฟิศเราเลย ไม่ต้องอ้อมออกไปใน Internet แล้ววิ่งกลับมา
ดังนั้น NAS ทำให้เรามั่นใจได้ว่า ข้อมูลของเราจะถูกเก็บอย่างปลอดภัย ไม่ต้องกังวลว่าข้อมูลของเราจะอยู่ที่ไหน เพราะเรารู้ดีกว่ามันอยู่ไหน และยังทำให้เราลดการพึ่งพาระบบอื่น ๆ ลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาภายนอกได้ อย่างที่บอกเหมือนกับซื้อรถมาขับเอง แรก ๆ มันก็แพงแหละ แต่ถ้าเราใช้ไปเรื่อย ๆ เผลอ ๆ มันจะถูกกว่าการไปเช่า Cloud เก็บข้อมูลเยอะขึ้นเรื่อย ๆ จ่ายเยอะขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง
เครื่อง NAS เอาจริง ๆ เดี๋ยวนี้ มันก็คือเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนึงธรรมดานี่แหละ ไม่ใช่อะไรที่แปลกเลย แต่แค่เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เปิด และ Online อยู่ตลอดเวลา พอมันเป็นแบบนี้ ทำให้เราสามารถติดตั้ง และ รันโปรแกรมต่าง ๆ ได้หลายอย่างมาก ๆ
ตัวอย่างเช่น เราลงตัว NVR สำหรับกล้องวงจรปิดลงไปได้เลย จากเดิมที่ถ้าเรามีกล้องวงจรปิด เราอาจจะต้องซื้อกล่อง NVR มาเพื่อบันทึกภาพจากกล้อง ก็หลายบาทอยู่ไหนจะค่า Harddisk สำหรับเก็บอีก แล้วก็ทำได้แค่บันทึกเลย แต่พอเรามี NAS เราก็สามารถที่จะรันพวกโปรแกรม NVR อย่าง MotionEye ลงไปได้ และเราก็ยังเอาไปต่อกับ Python Server ของเราที่เขียนออกมาเป็นโปรแกรมสำหรับการทำ Facial Recognition ได้อีกด้วย ทำให้เราสามารถดูได้เลยว่า ใครเข้าออกจากบ้านเราตอนไหน คนส่งของจากไหนมา อะไรแบบนั้นเลย เราทำขนาดที่ว่าจำหน้าคนส่งของ แล้วบอกได้แล้วว่า Kerry หรือ Flash มาส่ง มันขนาดนั้นแล้ว ฮ่า ๆ (สั่งของกันเยอะจัด ๆ พนง ส่งของคนเดิม ๆ แหละ)
อีกตัวอย่าง คือการทำ Media Server เราใช้โปรแกรมชื่อ Plex ในการทำ เมื่อก่อน ถ้าเราซื้อแผ่นมา จะเปิดเล่นที เราก็ต้องเดินไปเอาแผ่นมาใส่เครื่องแล้วเปิด พีคอีกทีวีที่จะดูไม่ได้ต่อเครื่องเล่นไว้ เราก็ต้องลงไปดูอีกเครื่องอะไรแบบนั้น มันก็เป็นเรื่องที่ปวดหัว เลยทำให้เกิดการ Rip แผ่นขึ้นมา (อันนี้ไม่ผิดกฏหมายนะ ถ้าแผ่นเราซื้อมา และเรา Rip เพื่อดูในบ้านของเราเท่านั้น) แล้วเราก็เก็บไฟล์ลงไปใน Media Server และติดตั้ง Plex ลงไปในทีวีของเรา แค่นั้นเลย เราก็เปิด App ขึ้นมา และเลือกดูได้เหมือนมี Personal Netflix อยู่ในบ้านของเราเองเลย
สุดท้ายคือ เราสามารถ Host พวก Password Manager ไว้ที่บ้านเราได้ด้วย สำหรับเรา เราใช้ Bitwarden ที่ Host ไว้ใน NAS ของเราเลย ทำให้เรามั่นใจได้เลยว่า Password ต่าง ๆ จะถูกเก็บอย่างปลอดภัยในบ้านของเราเอง ไม่ได้เอาไปเก็บที่ไหนก็ไม่รู้ โดยที่เรายังได้ใช้ Password Manager แบบ Full-Feature และ Sync ไปตามอุปกรณ์ของเราได้ทั้งหมดเลย เราเคยรีวิวไว้ละ ลองเข้าไปอ่านในรีวิวของเราได้ด้านบนนี้เลย
BONUS สำหรับเราก็คือ การเก็บ Website ที่ทุกคนกำลังอ่านอยู่ตอนนี้ไว้ที่บ้านเราเองเลย ทำให้เราสามารถออกแบบระบบ หรือเลือกใช้ Platform ได้ตามที่เราต้องการเลย เลยทำให้เรามาจบที่ Ghost ซึ่งเป็น CMS ที่อยากใช้มานานมาก ๆ แล้ว แต่เมื่อก่อน การจะไปหา Shared Hosting ที่เป็น Node.js มันไม่มี มันก็ต้องไปเช่า Cloud ซึ่งต้องบอกเลยว่า มันมีค่าใช้จ่ายหลาย ๆ อย่าง ซึ่งไม่เหมาะกับเว็บที่ยังไม่มีรายได้แบบเราสักเท่าไหร่
เดี๊ยวนี้ NAS ไม่ได้แพงอย่างที่คิดเลย มีหลาย ๆ Brand ออกมาทำ NAS เยอะมาก ๆ ถ้าเอาตัว Basic สุด ๆ แบบ NAS เก็บข้อมูลย่อม ๆ ในบ้านได้สบาย ๆ เราว่า WD My Cloud Home ก็เป็นตัวเลือกที่ดีเลย มันทำอะไรไม่ได้เยอะหรอก แต่มันสามารถทำหน้าที่ของความเป็น NAS เก็บข้อมูลได้ดี เหมาะกับมือใหม่ Setup ง่ายมาก ๆ เสียบสาย กด ๆ ใช้งานได้เลย ไม่ต้องมานั่งหาซื้อ HDD หรือ Maintenance อะไรเลย
แต่ที่ดัง ๆ จริง ๆ ก็น่าจะหนีไม่พ้น Synology รุ่นเริ่มต้น อาจจะกดมาให้มีสัก 2 Bay หรือก็คือใส่ HDD ได้ 2 ลูกก็น่าจะเพียงพอกับการใช้งานในบ้านแล้ว อย่าง DS220j มันก็เริ่มอยู่หลัก 5,000 กว่าบาทเท่านั้นเอง
หรือจะโดดไปสูงกว่านั้นอย่างพวก DS220+ อะไรแบบนั้นที่ CPU และสเปกเครื่องโดยรวมสูงขึ้น รองรับการทำ Transcoding ที่ทำให้เราสามารถรันพวก Media Server ในบ้านเราได้สบาย ๆ เลย ถ้ามีงบขึ้นไปอีก เราก็อาจจะกระโดดไปเล่นรุ่นที่จำนวน Bay มากขึ้นก็ทำได้อีกเหมือนกัน จะเห็นได้เลยว่า ขนาดเราซื้อเครื่องสำเร็จมันมีให้เลือกเยอะมาก ๆ แล้ว
อย่างที่บอกว่า NAS จริง ๆ มันก็คือเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนึง ทำให้ถ้าเราอยากจะได้สเปกที่ Custom เองได้เลย เราก็อาจจะไปซื้ออุปกรณ์แต่ละชิ้นมาประกอบเอง เหมือนกับเราประกอบคอมพิวเตอร์เองก็ได้เหมือนกันอย่างที่เราเคยประกอบเมื่อปีก่อน ก็ใช้งบแค่ 5,000 กว่าบาทเท่านั้นเอง แต่ก็ได้ NAS แรงพอที่จะรันอะไรได้หลาย ๆ อย่างมาก ๆ แถมยังประหยัดไฟอีกด้วย
NAS เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้เราสามารถเก็บข้อมูลผ่านระบบ Network ของเราได้ เปรียบเสมือนกับ External HDD ที่หัวเสียบเป็นสายแลนนั่นเอง ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากที่ไหนก็ได้ โดยที่เราไม่ต้องพกอะไรเลย แค่เดินที่เครื่องอีกเครื่องไฟล์ก็อยู่ตรงนั้นแล้วชีวิตง่ายขึ้นโคตรเยอะ นอกจากนั้น มันทำให้เราสามารถรัน Service อะไรได้อีกหลาย ๆ อย่างที่เรายกตัวอย่างไปเช่นพวก Media Server และ NVR Server ได้อีกเยอะมาก คุ้ม ๆ สุด เพราะราคาเริ่มต้นเดี๋ยวนี้ต้องบอกเลยว่าไม่แพงเหมือนเมื่อก่อนแล้ว มีให้เลือกเยอะมาก ๆ มาขนาดนี้ ของมันต้องมีแล้วแหละ
Homebrew เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เราชอบมาก ๆ มันทำให้เราสามารถติดตั้งโปรแกรม และเครื่องมือต่าง ๆ ได้เยอะแยะมากมายเต็มไปหมด แต่วันนี้ เราจะมาแนะนำ 5 Homebrew Package ที่เรารักส์และใช้งานบ่อยมาก ๆ กันว่าจะมีตัวไหนกันบ้าง...
การสำรองข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ อารมณ์มันเหมือนกับเราซื้อประกันที่เราก็ไม่คาดหวังว่าเราจะได้ใช้มันหรอก แต่ถ้าวันที่เราจำเป็นจะต้องใช้การมีมันย่อมดีกว่าแน่นอน ปัญหาคือเรามีวิธีไหนกันบ้างละที่สามารถสำรองข้อมูลได้ วันนี้เราหยิบยกวิธีง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้านมานำเสนอกัน...
คำว่า Zero-Trust น่าจะเป็นคำที่น่าจะเคยผ่านหูผ่านตามาไม่มากก็น้อย หลายคนบอกว่า มันเป็นทางออกสำหรับการบริหาร และจัดการ IT Resource สำหรับการทำงานในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันคืออะไร และ ทำไมหลาย ๆ คนคิดว่า มันเป็นเส้นทางที่ดีที่เราจะมูฟออนกันไปทางนั้น...
หลังจากเราลงรีวิว NAS ไป มีคนถามเข้ามาเยอะมากว่า ถ้าเราไม่อยากซื้อเครื่อง NAS สำเร็จรูป เราจะสามารถใช้เครื่องคอมเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาเป็นเครื่อง NAS ได้อย่างไรบ้าง มีอุปกรณ์ หรืออะไรที่เราจะต้องติดตั้งเพิ่มเติม วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกัน...