Technology

ตอบคำถาม การเปลี่ยนจากรถน้ำมันเป็นรถไฟฟ้า มันคุ้มจริงเหรอ ด้วยคณิตศาสตร์ และ สถิติ

By Arnon Puitrakul - 21 สิงหาคม 2023

ตอบคำถาม การเปลี่ยนจากรถน้ำมันเป็นรถไฟฟ้า มันคุ้มจริงเหรอ ด้วยคณิตศาสตร์ และ สถิติ

หลังจากที่เราสิงอยู่ในกรุ๊ปพวก EV และ เราก็เป็นคนใช้ BEV เป็นหลักด้วย มันมีคำถามนึงที่น่าสนใจมากกว่า การที่เราจะเปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้ามันคุ้มจริง ๆ เหรอ หรือภาษาอังกฤษ เราใช้คำว่า Financially make sense จริง ๆ มั้ย ส่วนใหญ่ที่เห็นตอบ ๆ กันคือ แบบ อิหยังวะ วันนี้เพื่อมาตอบคำถามด้านตัวเลข เราก็จะเอาตัวเลขนี่แหละมาคุยกันจริง ๆ ด้วย คณิตศาสตร์ และ สถิติเลยว่า จริง ๆ แล้วมันคุ้มจริง ๆ เหรอ

ในการวิเคราะห์นี้ เราจะแบ่ง Parameter ออกมาทั้งหมด 3 มิติที่เราจะเจอบ่อย ๆ คือ ค่าเชื้อเพลิง, ค่าประกัน และ Maintenance โดยอ้างอิงจากสถานการณ์ของเราเอง คือ เราเปลี่ยนจาก Honda City RS 1.0 Turbo เป็น ORA Good Cat 500 Ultra

ปล. ค่า Parameter ส่วนใหญ่ จะมาจากสถิติการใช้งานของเราเอง (อันไหนที่เราประมาณ เราจะบอกว่ามีการประมาณ และ วิธีการประมาณ) บนเส้นทางที่เราใช้งานประจำ บนลักษณะการใช้งานของเรา (เราวิ่งทั้งสองคันเส้นทางเดียวกัน และ Lifestyle คล้าย ๆ กัน จึงสามารถเอามาเทียบได้ บ้านก็บ้านเดิม) ดังนั้น ถ้ามันน้อยกว่า หรือมากกว่าที่คุณคิดก็อย่าดราม่า การใช้งานมันไม่เหมือนกันในแต่ละคนเนอะ

ปล 2. Sheet ที่เราใช้ในการวิเคราะห์ สามารถโหลดได้จาก Link นี้ เลย แล้วอาจจะเอาไปเปลี่ยน Parameter เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ของแต่ละคนเท่านั้นนะ

Fuel Cost

สำหรับการวัดค่าเชื้อเพลิงที่ใช้งาน ในรถไฟฟ้า และ รถน้ำมัน มันก็จะคล้าย ๆ กันเลยคือ รถจะรายงานค่าการใช้พลังงาน หรือเชื้อเพลิงเฉลี่ยมาให้เรา เราสามารถเอาจากตรงนี้แหละไปคิดต่อได้

คันเก่าเราคือ Honda City RS 1.0 Turbo ณ ตอนที่เราขับ เราได้อัตราสิ้นเปลืองอยู่ที่ 14 km/l เราขอใช้ราคานำ้มัน E20 ของ ณ วันที่ 6 July 2023 คืออยู่ที่ 33.4 บาท/ลิตร ทำ Cross Manipulation ตัด ๆ ไปมา เราก็จะได้อยู่ที่ 2.38 บาท ต่อกิโลเมตร

มาที่คันใหม่ของเราคือ ORA Good Cat 500 Ultra ส่วนใหญ่ เราจะขับเฉลี่ย ๆ ตีที่ Mean + 2SD เลย เราจะได้อยู่ที่ 12 kWh/100km และค่าไฟบ้านเรา ด้วยความที่เป็น Solar Cell ดังนั้น ค่าไฟเราจะคิดจาก ราคาที่เราคำนวณจาก ระบบประมาณการค่าไฟ ของ PEA จากหน่วยที่ระบบของ Solar Cell รายงานในแต่ละเดือน โดยเอาหน่วยที่ใช้จริงทั้งบ้านและรถรวมกัน ลบ กับ หน่วยที่ Solar Cell ผลิต เราก็จะได้ค่าไฟออกมา แล้วหารกับ จำนวนหน่วยที่ใช้จริง เราก็จะได้ค่าเฉลี่ยราคาไฟต่อหน่วยในแต่ละเดือนออกมา แล้วเราก็เอาย้อนหลังทั้งหมด 9 เดือนคือ 10/22 - 6/23 มาหาค่าเฉลี่ย ทำให้เราได้อยู่ที่ 0.96 บาท/kWh เหมือนเดิม เอามา Cross Manipulation หา ๆ ออกมา เราก็จะได้อยู่ที่ 0.12 บาท ต่อกิโลเมตร

หรือถ้าบอกว่า เราใช้ Off-Peak TOU ชาร์จไม่มีระบบ Solar ราคาไฟต่อหน่วยก็จะอยู่ที่ 2.60 บาท เราขอตีเป็น 3 บาท เลยละกัน ยังไงต้องรวม ค่าบริการ, Ft และ VAT อีก ก็จะทำให้ราคาต่อระยะทางจะอยู่ที่ 0.36 บาท ต่อกิโลเมตร ก็ยังถูกกว่ารถน้ำมันคันเดิมของเราแน่นอน

ตารางที่ 1

ถ้าเราเอาราคาต่อระยะทางมาดู เราก็จะเห็นได้เลยว่า รถไฟฟ้า เราจะใช้น้อยกว่า ประมาณ 19.83 เท่า ทำให้ สมมุติฐานแรกที่ชอบพูดกันว่า ราคาต่อระยะทางของรถไฟฟ้าถูกกว่ารถน้ำมันก็ถือว่าเป็นเรื่องจริง

ตารางที่ 2

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น สำหรับหลาย ๆ คน เราเลยทำตารางอีกอันขึ้นมา เป็นค่าเชื้อเพลิง โดยอ้างอิงจากระยะทางที่เราวิ่งในแต่ละเดือน ถ้าเราเดาได้ว่า เราวิ่งเดือนนึงระยะทางประมาณเท่าไหร่ น่าจะประมาณคร่าว ๆ ได้แล้วว่า เดือน ๆ นึงเราเสียค่าเชื้อเพลิงทั้งหมดเท่าไหร่ เช่นเราเอง ส่วนใหญ่ เราจะวิ่งไม่เกิน 1,500 กิโลเมตร ทำให้ จากเดิม เราจะเสียค่าน้ำมันอยู่ 3,572.14 บาท เหลืออยู่ 173.46 ปัดขึ้นกลม ๆ เป็น 200 บาทต่อเดือนเลยก็ได้ ทำให้เรามีส่วนต่างอยู่ที่ 3,398.68 บาทต่อเดือน

Monthly Installment Break Even

มีหลาย ๆ คนตั้งคำถามว่า แล้วถ้าเราเปลี่ยนมาใช้งานรถไฟฟ้าเลย เรากู้เงินมาเลย เราสามารถเอาส่วนต่างระหว่างการเติมน้ำมันกับไฟฟ้า มาเป็นจ่ายค่างวดได้มั้ย

เพื่อตอบคำถามนี้ เราเลยไปหามาว่า ถ้าเกิด เราซื้อผ่อนทั้งสองคัน โดยเราเลือกผ่อน 72 เดือน และเงินดาวน์ทั้งหมด 25% สำหรับ Honda City RS 1.0 Turbo เราจะต้องเสีย 8,224.00 บาทต่อเดือน (อ้างอิงจาก Honda Leasing) และ ORA Good Cat เราจะต้องเสียอยู่ 12,239.00 บาทต่อเดือน (อ้างอิงจากตารางผ่อน ORA Good Cat ของ GWM)

ดูผ่าน ๆ จากตารางที่ 1 เราจะเห็นว่า การผ่อน ORA Good Cat แอบแพงกว่าเกือบ ๆ สองเท่าเลย ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการคือ เงินที่เราจ่ายควรจะน้อยกว่า หรือเท่าเดิม ซึ่งประกอบด้วย ค่าผ่อน (Installment) และ ค่าเชื้อเพลิง (Fuel Price) มาบวกกัน จากตาราง เราเอา City อยู่ซ้าย และ Good Cat อยู่ขวา สิ่งที่เราต้องการ Good Cat ต้องน้อยกว่า ดังนั้น ลบออกมา แล้วต้องได้ค่าเป็นลบ ถึงจะเป็น Break Even Point ผลลัพธ์จากตารางที่ 2 ก็คือ ถ้าเราขับประหยัดเท่านี้ และ ค่าไฟเท่านี้ เราจะต้องขับเดือนละ ประมาณ 1,800 กิโลเมตร จะทำให้ส่วนต่างเราพ้น Break Even Point และ มีส่วนต่างอยู่ที่ 63.42 บาท หรือ 761.04 บาท ใน 12 เดือน

ถ้าเราอยากจะ Optimise ให้มันถึง Break Even Point โดยใช้ระยะทางน้อยกว่าเดิม สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือ การที่เราลดค่างวดต่อเดือนลงไป ทำให้สิ่งที่เราจะทำได้อีก ก็คือ การลงเงินดาวน์ให้สูงขึ้น อันนี้อาจจะทำให้เป็นไปได้ง่ายขึ้นเยอะมาก เช่นคันที่เราขับเองก็ไม่ได้ดาวน์ 25% นะ ดาวน์ไป 50% ถ้าคำนวณออกมา ก็ยัง Financially make sense อยู่นะ

ดังนั้น การจะตอบสมมุติฐานที่ว่า ถ้าเราเอาเงินส่วนต่างค่าเชื้อเพลิงมาเป็นค่างวดรถแทนนั้น เราก็ต้องไปดูว่า ค่างวดเรามันน้อยขนาดไหน และ การขับเรามากขนาดไหน นั่นเอง

Fuel Cost Throughout Expectation Life Comparison

จากการวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ เราวิเคราะห์เป็นระดับเดือน ๆ ไป แล้วถ้าเราเกิดบอกว่า โอเค เรารอได้ละกัน เราอยากรู้ว่า ถ้าเราขับรถทั้งสองคันนี้ไปเรื่อย ๆ เราจะเสียค่าเชื้อเพลิงต่างกันเท่าไหร่

ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจก่อนนะว่า เพราะ ราคาต่อระยะทาง ของทั้งสองคันมันไม่เท่ากัน ทำให้ ยิ่งเราใช้งานไปเรื่อย ๆ ความถ่าง หรือ Margin มันก็จะเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเรื่องปกติเนอะ

ตารางที่ 3

เราเลยลองคำนวณตั้งแต่ 10,000 โลแล้วขาย จนไปถึง 150,000 โลแล้วขายไปเลย ออกมาเป็นตารางที่ 3 เราจะเห็นว่า ถ้าเราขับไปสัก 150,000 กิโลเมตร ส่วนต่าง ของเราจะอยู่ที่ประมาณ 339,867.96 บาท ถ้าราคาน้ำมัน และ ค่าไฟคงที่ หรือคิดเป็น 35.44% ของราคารถ ซึ่ง 150,000 กิโลเมตร ก็คือพึ่งหมดระยะรับประกันของตัวรถเองนะ การรับประกันของ Battery ยังไม่หมดด้วย มันจะไปหมดที่ 180,000 กิโลเมตร ใครที่คิดว่า ใช้ไป 150,000 กิโลเมตร แล้วเกิดแบตมีปัญหาขึ้นมา มันก็ยังอยู่ในประกันเด้อ

แต่ดูจากการใช้งานของบ้านเรา อย่างมาก ๆ แล้ว ก็น่าจะไม่เกิน 100,000 กิโลเมตร มั้งนะ ทำให้ ส่วนต่างเชื้อเพลิงจะอยู่ที่ 226,578.64 บาทด้วยกัน ดังนั้น ถ้าเราอยากจะได้กำไร ทำให้ค่า MA และ ประกันทั้งหมดจะต้องไม่เกินงบเท่านี้ให้ได้

Fuel with MA Cost

เรามาลองคิด รวม Parameter ค่าเชื้อเพลิง รวม กับค่า Maintenance หรือในที่นี้เราจะเรียกว่า MA ละกันนะ ในแง่ของราคาต่อระยะทาง เราดึงมาจากการวิเคราะห์ก่อนหน้า ส่วนค่าใช้จ่ายในการ Maintenance เราดึงมาจากเว็บของผู้ผลิตเลย

โดยที่ Honda City RS 1.0 Turbo เขาจะให้เราเข้าทุก 6 เดือน หรือ 10,000 กิโลเมตร แต่ตอนเราใช้ ศูนย์แนะนำว่า เพราะมันเป็นเครื่อง Turbo เลยให้เราเข้าทุก 9,000 กิโลเมตร จำได้ว่ามันสั้นมาก ๆ แปบ ๆ เข้าอีกละ แต่มาเป็น ORA Good Cat กลายเป็นเข้าทุก 1 ปี หรือ 15,000 กิโลเมตร เรียกว่าพอเป็นรถไฟฟ้า ความถี่ในการเข้ารับบริการมันเลยไม่เยอะเท่ารถน้ำมันเท่าไหร่

สำหรับรถน้ำมัน การเข้าเช็คระยะส่วนใหญ่ เราก็จะเปลี่ยนพวกของเหลวทั้งหลาย แต่พอมาเป็นรถไฟฟ้าเลยทำให้ส่วนใหญ่ เราก็จะเปลี่ยนพวกแผ่นกรองอากาศ และ อาจจะมีของเหลวอย่าง น้ำมันเบรก และ น้ำมันเกียร์เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ทำให้หลาย ๆ คนเลยบอกว่า ค่า MA รถไฟฟ้า มันน้อยกว่ารถน้ำมันเยอะมาก ๆ มาดูกันว่า สมมุติฐานนี้เป็นจริงมั้ยจากตารางด้านล่างนี้เลย

ตารางที่ 4

เราลองเอาค่าใช้จ่ายในการ MA ของแต่ละระยะ และ แต่ละคันมาใส่ใน Column ที่ชื่อว่า MA Cost แล้วเราทำการหาผลรวมลงไปเรื่อย ๆ เลยเป็นช่อง Cumu. MA (Cummulative MA) เป็นตารางที่ 4 อย่างแรกที่เราอาจจะเห็นแล้วสงสัยคือ ทำไมของ Good Cat ค่าบำรุงรักษาช่วงแรกถึง 80,000 กิโลเมตร ถึงไม่เสียเงินเลย เป็นเพราะเราซื้อรถช่วงที่มันมีโปรแถมจนถึง 75,000 กิโลเมตร หรือ 5 ปี ทำให้ในช่วงนี้เราจะไม่เสียค่าบำรุงรักษาอะไรเลย แค่เข้าศูนย์ตรงเวลา ตามเวลาและระยะทางเท่านั้นเอง แต่ใน Honda City ที่เราใส่เต็มหมด เพราะตอนนั้นเราไม่ได้ส่วนลดอะไรเลย เราก็เลยใส่ตามที่ Honda บอกไว้ในเว็บเลย

แล้วถ้าเรา ขับปีละประมาณ 20,000 km เราก็จะเจอปัญหาว่า เมื่อครบ 8 ปี ที่เป็นระยะการรับประกัน Battery กลายเป็นว่า เราขับอยู่แค่ 160,000 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ระยะการรับประกันตามระยะทางจะอยู่ที่ 180,000 กิโลเมตร ทำให้อาจจะเป็นประเด็นที่บางคนอาจจะกังวล แต่สำหรับเรา เราเฉย ๆ เลย เพราะอย่างที่เราบอกคือ เราคาดว่า เราไม่น่าใช้เกิน 100,000 กิโลเมตร ยังไง มันก็อยู่ที่ประมาณ 5 ปีเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้อะไร ถึง Battery จะมีปัญหาขึ้นมาในช่วงเวลาที่เราใช้งาน ที่ไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ ยังไง ๆ ประกันของ GWM ก็ต้อง Cover ของเราแน่นอน ทำให้เราก็ งง ว่า จะกังวลอะไรกัน งง มาก หรือถ้าเกิด หมดประกันแล้ว Worst Case คือ วิ่งไป 180,001 กิโลเมตร แบตเสียแบบรุนแรงมาก ใช้งานไม่ได้เลย เราก็ว่าก็เฉย ๆ แล้ว

เมื่อเราขับไป 150,000 กิโลเมตร เราจะเสียค่า MA ต่างกันค่อนข้างมาก ๆ ถ้าเป็น Honda City RS 1.0 Turbo เราจะเสียเงินทั้งหมด 43,160.50 บาท แต่เทียบกับ ORA Good Cat ที่เราได้โปรโมชั่นมา ทำให้เราจะเสียอยู่ทั้งหมด 11,267 บาท ด้วยกัน เรียกว่า ห่างกันประมาณ 3.8 เท่าไปเลย หรือ ถ้าเอาเคสบ้านเราส่วนใหญ่ที่ขับไป 100,000 กิโลเมตร ก็ต่างเยอะจนตกใจเลยคือ จ่ายอยู่ 1,959 บาทเท่านั้นเอง ตกใจเหมือนกันนะ

จากข้อมูลที่เห็นสามารถสรุปได้ชัด ๆ เลยว่า สมมุติฐานที่ว่าค่า MA ของ ORA Good Cat จะถูกกว่า Honda City RS 1.0 Turbo เป็นเรื่องจริงละ

แล้วถ้าเราเอาค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิง รวมกับค่า MA ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เราจะต้องจ่ายแน่ ๆ เมื่อเราใช้รถ เราจะยิ่งเห็นความแตกต่างที่กว้างเข้าไปอีก ถ้าเราขับแค่ 100,000 กิโลเมตร เราจะมีส่วนต่างค่าใช้จ่ายของรถทั้งสองคันอยู่ที่ 255,506.64 เรียกว่า เราเพิ่มเงินอีกไม่เยอะ คิดว่า น่าจะพอเอาไปดาวน์รถคันใหม่ เมื่อเราต้องการได้เลยหรือถ้าเราขับไปสุด ๆ เลย 150,000 กิโลเมตร ส่วนต่างมันจะไปที่ 371,761.46 บาทเลย

Combinded Parameters

อ่านมาถึงตอนนี้คนที่เบียวรถน้ำมันอาจจะบอกว่า เห้ย ใช่แหละ ค่าเชื้อเพลิง กับค่า MA ยังไงมันก็ถูกกว่าอยู่แล้ว แต่ค่าประกันมันอ่วมเลยนะ ต่างกันเยอะมาก ๆ งั้นเรามาลองดูกันดีกว่า

เพื่อให้เราสามารถคำนวณ Parameter ของค่าเชื้อเพลิงได้ เราจำเป็นต้องเพิ่ม Parameter ในส่วนของ ระยะทางที่ขับในแต่ละปี เราตีกลม ๆ ไปเลยว่า เราวิ่งประมาณ 20,000 กิโลเมตร หรือ 1,600 กิโลเมตร กว่า ๆ ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับการใช้งานของเราที่สุด

นอกจากนั้น ค่าประกัน เราจะเลือกเป็นประกันประเภทที่เราใช้งานอยู่แล้ว นั่นคือ ประกันชั้น 1 และ ซ่อมห้างนะเราไม่เคยซื้อซ่อมอู่อยู่แล้ว และ ราคาประกันของ Honda City เราจำไม่ได้แล้ว เลยต้องไปหามา มาเจอเป็นของวิริยะ อยู่ที่ 16,900 บาทด้วยกัน และสำหรับ ORA Good Cat เราได้ประกันจากวิริยะฟรีในปีแรก เลยขอไม่คิด (เพราะมันเป็นสถานการณ์จริงของเรา ถ้าคุณไม่ใช่ก็เติมเข้าไปเอาเด้อ) ทำให้ประกันในปีที่ 2 อันนี้ของจริงสำหรับคันเราเลย อยู่ที่ 32,515 บาท แต่ไม่ใช่ของวิริยะนะ บอกเลยว่า จากประสบการณ์ในปีแรก แมร่งขอบาย บ้าปะ คู่กรณีเป็นต่างชาติเจ้าหน้าที่พูดอังกฤษไม่ได้ เราที่พูดได้ เราต้องไกล่เกลี่ยเอง "น้องคุยเลย..." แล้วกรูจะมีประกันไว้ทำซากอะไร ปัดโธ่ !

และ เราไม่รู้ว่า ปกติค่าเบี้ยประกันมันประเมินยังไง เราเลยใช้วิธีการทางบัญชีเลยละกันคือ รถเราจะตีค่าเสื่อมที่ 5 ปี ทำให้แต่ละปี เราจะลดค่าเบี้ยประกันลงไปปีละ 20% ของปีก่อนหน้า ซึ่งเราทราบดีว่า อาจจะไม่สะท้อนความเป็นจริงเท่าไหร่ โดยเฉพาะปีท้าย ๆ ที่เราคิดว่า ค่าเบี้ยมันไม่น่าจะลด 20% แล้ว มันน่าจะต่ำกว่านั้นหน่อย แต่ยังไง ไม่ว่าคันไหน เราก็จะใช้กฏเดียวกัน น่าจะพอ..... เป็นตัวแทนได้ ประกอบกับ เราจะคำนวณสูงสุดที่ 7 ปีเท่านั้น เพราะเรารู้ค่า MA ถึงแค่ 150,000 กิโลเมตรเท่านั้น ในปีที่ 8 มันจะเลยไปที่ 160,000 กิโลเมตร จึงขอตัดออกจากการวิเคราะห์ไป

ตารางที่ 5

จากตารางที่ 5 ถ้าเราเอาตาม Expectancy Life ของเราอยู่ที่ 100,000 กิโลเมตร ถ้าตีเป็นเวลา ก็น่าจะประมาณ 5 ปี ค่า MA, เชื้อเพลิง และ ประกัน ของรถทั้งสองคันนี้จะแตกต่างกันอยู่ที่ 200,221.20 บาท และ ถ้าเราใช้ไปสุด ๆ เลย คือ 7 ปี หรือประมาณ 140,000 กิโลเมตร เราจะมีส่วนต่างอยู่ประมาณ 265,858.32 บาทด้วยกัน

ดังนั้นถึงเราจะบอกว่า ค่าประกัยภัยของ รถไฟฟ้ามันแพงกว่า รถน้ำมันเยอะมาก ๆ แต่สุดท้าย แล้ว ในเคสนี้แค่ ค่าน้ำมัน อย่างเดียวก็แพงกว่ามหาศาลแล้ว ทำให้ยังไง ๆ ถ้าเราคิดออกมา การเปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้า ก็ดูจะ Make Sense พอสมควรเลยนะ แต่เคสไหนละ ที่มันจะเริ่มไม่โอเค เราคิดว่าถ้ารถก่อนหน้าเราเป็นคันเดิม แล้วคันไฟฟ้า เราไป Tesla ค่าประกันตีว่า 50,000 บาทต่อปี ถ้ามันยังน้อยกว่าค่าน้ำมัน เราคิดว่า ข้อสรุปที่ได้ก็ยังคงเดิมอยู่

Battery Degradation Concern

ไหน ๆ คนไม่ใช้ ก็ชอบยกเรื่องของแบตเสื่อมขึ้นมาเล่นกัน งั้นเรามาคุยกันเรื่องนี้นิดหน่อยละกัน เราเคยเล่าเรื่อง การดูแลรักษาแบต กับพวกกลไกที่เกี่ยวของที่ทำให้แบตเสื่อมไว้คร่าว ๆ แล้วกลับไปอ่านได้

ณ วันนี้ เราต้องยอมรับว่า ณ วันที่เขียนบทความนี้ขึ้นมา ประเทศเรามีข้อมูลการเสื่อมของ Battery ย้อนหลังกันเยอะ ๆ ก็น่าจะไม่เกิน 2-3 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ก่อนหน้านั้นอาจจะมีของรุ่นเดียวคือ MG ZS EV เราก็ไม่อาจจะเอาข้อมูลจากรถรุ่นเดียวมาเป็นตัวแทนสำหรับรถไฟฟ้าได้หรอก

กลับกัน ถ้าเราเข้าไปดูข้อมูลจากต่างประเทศ เราจะพบว่า เมื่อเราใช้งานไปนาน ๆ แบตมันไม่ได้เสื่อมไปเยอะอย่างที่ทุกคนคิด และ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระยะทางที่วิ่งได้มากอย่างที่คิดเช่นกัน เราอาจจะเคยเห็น Tesla ที่วิ่งกันหลักล้านกิโลเมตรมาแล้ว นั่นคือ Extreme Case หรือในเคสทั่ว ๆ ไป เราก็ยังไม่เจอปัญหาของอาการแบตเสื่อมเยอะมาก แต่ ๆๆๆๆ เราอาจจะบอกว่า แหม่ ก็บ้านเขาอากาศมันเย็นนิ อุณหภูมิมีผลต่อสุขภาพของ Battery เยอะมากนะ

นี่ไง ถ้าเราลองไปดูตามกลุ่มผู้ใช้ EV ที่เอาค่า SoH ของ Battery ในรถแต่ละคนออกมา บางคนไม่ถึงปี ไม่ถึง 50,000 km เท่านั้น ค่า SoH ของ Battery ตกไปเหลือ 87% กว่า ๆ แล้ว โห ไม่ถึงปียังขนาดนี้ แล้วถ้าเวลาผ่านไปมันไม่ลงชิบหายเลยเหรอ

คำตอบ มันคือ ไม่จริง โดยทั่ว ๆ ไป การสูญเสียความสามารถการเก็บประจุของ Li-Ion Battery มันจะไม่ได้ลดลงในลักษณะ Linear อย่างที่ทุกคนคิด แต่มันจะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็วมาก ๆ เพราะสารเคมีที่อยู่ใน Battery มันกำลังปรับตัวเข้าที่ แล้วจึงเข้าสู่จุดที่มันเริ่มนิ่งแล้ว ค่อย ๆ ลดช้ามาก ๆ ช้ากว่าในช่วงแรกมหาศาล เราจะเรียกว่า Psudo-Linear จนถึงจุดนึงที่อยู่ ๆ สุขภาพของแบตจะตกลงอย่างรวดเร็วมาก ๆ นี่แหละ Valley of Doom ของจริง

จริง ๆ ไม่ได้เกิดกับแค่แบตใน BEV เท่านั้นนะ จริง ๆ แบตหลาย ๆ อย่างก็มีลักษณะสำคัญของการเสื่อมที่คล้าย ๆ กันเลย เช่น Macbook Pro 14-inch ของเรา ตอนแรก SoH ตกลงเร็วมาก ๆ เร็วจน ได้เคลมแน่ ทันชัวร์ ๆ จน SoH เรามันประมาณ 85% ทีนี้นิ่งเลย ไม่ขยับไปนานมาก ๆ

ดังนั้น ข้อมูลที่เราเห็นกัน ณ วันนี้ เราก็เลยเห็นแค่ช่วงแรกของกราฟเท่านั้นเอง อาจจะยังไม่เข้าสู่จุดที่เป็น Psudo-Linear ด้วยซ้ำ เลยทำให้พอคนมาดูแล้ว ก็ตกใจว่า เหยย ทำไมมันลงเร็วได้ขนาดนั้น แท้จริงแล้วคือ เราเห็นข้อมูลมันยังไม่ครบ และตัดสินโดยตั้งข้อสมมุติฐานว่า มันจะลดลงในลักษณะ Linear เมื่อเวลาผ่านไป เราอาจจะได้เห็นชุดข้อมูลที่ออกมาในลักษณะเหมือนที่เราเล่าเลย

EV101 : Battery รถ EV เสื่อมง่ายขนาดนั้นเลยเหรอ
แบตเสื่อม เป็นเหตุที่คนไม่ได้ใช้ EV ส่วนใหญ่เป็นห่วงกันมาก ฟิล ๆ คนใช้ไม่ได้ห่วง คนห่วงไม่ได้ใช้เยอะมาก จนเราไปคุยกับหลาย ๆ คนมา ทำให้เราถึงกับช๊อคกับความจริงที่เจอคือ เขาคิดว่า แบตโทรศัพท์ ไม่ต่างจากแบตรถ BEV เข้ !!!! ช๊อค !!! ก็ว่า ทำไมถึงคิดว่า แบตมันจะเสื่อมอะไรเร็วขนาดนั้น

อีกส่วนที่หลาย ๆ คนอาจจะกังวลกัน เพราะคิดว่า แบตรถ BEV คือ แบตโทรศัพท์ขยายส่วน จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เลย ถึงจะเป็น Li-ion Battery เหมือนกัน แต่มันมีหลายประเภทนะ เราเคยเล่าไปในบทความด้านบนนี้แล้วกลับไปอ่านได้ สั้น ๆ คือ พวกโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ จะใช้ Lithium Cobalt Oxide (LCO) ที่พวกนี้จะใช้ Charging Cycle อยู่ประมาณ 500 - 1,000 รอบเท่านั้น แต่กลับกัน แบตรถ BEV เราใช้แบบ Lithium Ion Phosphate (LFP) และ Lithium Nikel Manganese Cobalt Oxide (NMC) ที่มี Charging Cycle อยู่กันหลัก 3,000 หรือมากกว่ารอบได้เลย ทำให้เราไม่สามารถเอามาตรฐานของแบตโทรศัพท์มาเทียบกับรถไฟฟ้าได้เด้อ คนละเรื่อง คนละประเภทกันเลย อย่ามั่ว.... เด้อ

สรุป

สำหรับเคสของเราที่เปลี่ยนจาก Honda City RS 1.0 Turbo ไปเป็น ORA Good Cat 500 Ultra โดยใช้ Parameter จากการขับขี่จริง, ค่าน้ำมัน ณ เวลาหนึ่ง และ ราคาค่าไฟต่อหน่วยจริง เมื่อเฉลี่ย 9 เดือนย้อนหลัง ณ วันที่เขียน ทำให้เราเห็นได้ว่า ถ้าเรากู้เงินมาซื้อตามเงื่อนไขที่ได้ทำการวิเคราะห์ เราจะต้องขับเดือนละ 1,800 กิโลเมตร เพียงเพื่อจะให้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่เกิดจาก ค่าเชื้อเพลิง และ ค่างวดน้อยลงได้ ซึ่งในเคสของเราจะขับอยู่เดือนละ 1,500 กิโลเมตรเท่านั้น (แต่ในความเป็นจริง ค่างวดเราจะถูกกว่านี้พอสมควร เพราะเราดาวน์ 50%) ทำให้คนที่อาจจะกู้เงินมาเพื่อเปลี่ยน เราคิดว่า อาจจะต้องพิจารณาดี ๆ ว่ามันทำให้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนมันเพิ่มขึ้นมาอีกเท่าไหร่ และ เราสามารถรับมันได้มั้ย เราคิดว่า ตรงนี้แหละที่จะเป็น Deal Breaker เลย บางครั้ง การที่เราขับคันเดิมไม่เปลี่ยน อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าก็ได้ เช่น ถ้าคันเดิมเป็น Hybrid อัตราสิ้นเปลืองมันอาจจะโดดไป 25 km/L เราว่า มันน่าจะทำให้ Outcome เปลี่ยนไปได้เลย อันนี้แหละ ในแง่ของการเงิน มันอาจจะไม่ตอบโจทย์ละ แต่ถ้ามาจากรถน้ำมันเลย อันนี้แหละ อาจจะ Works ก็ได้นะ

และเมื่อเราลองใส่ Parameter อื่น ๆ เข้าไปคือ ค่า MA และค่าเบี้ยประกันต่อปี โดยเราคาดหวังว่าจะใช้รถอยู่ที่ประมาณ 100,000 โล ไม่ว่าเราจะลองถอด Parameter บางอย่างออก เราก็จะเห็นได้ว่า ส่วนต่างมันจะอยู่ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทเสมอ ซึ่งสำหรับเราเอง เรามองว่า มันเป็นส่วนต่างที่เราสามารถเอาไปดาวน์รถคันใหม่ได้ ถึงแม้ว่า ORA Good Cat ที่เราใช้งานไป 100,000 กิโลเมตรแล้ว มันจะขายได้ 0 บาท (เพราะเราไม่รู้ว่า ราคามันจะตกเร็วขนาดไหน เอา Worst Case ไปเลย) คิดว่าก็เติมเงินอีกหน่อย เพื่อดาวน์รถคันต่อไปได้ ทำให้เรามองว่า การเปลี่ยนรถเป็น ORA Good Cat มันค่อนข้าง Financially make sense สำหรับเรามาก ๆ

นอกจากนั้น การคำนวณนี้ เราคิดว่า เราให้ Bias รถน้ำมันเยอะมากนะ เพราะ แนวโน้มราคาน้ำมันตอนนี้มันเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วมาก ๆ แต่ในการวิเคราะห์นี้ เราใช้สมมุติฐานที่ว่า ราคาน้ำมันจะไม่เพิ่มหรือลดเลย ทำให้เราอาจจะคำนวณในจุดที่แทบจะเป็น Best Case ด้วยซ้ำ ต่างจากค่าไฟที่ เราใช้ Solar Cell เป็นหลัก ซึ่งมันจะทำให้มันค่อนข้างทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาที่สูงกว่ามาก

โดยสรุปข้อมูลทั้งหมดที่เอามาวิเคราะห์ในบทความนี้เป็น Condition ของเราเท่านั้น การที่เห็นว่าในบทความนี้มันดูคุ้มมาก ๆ เราไม่ได้มาเชียร์ว่า พี่ครับซื้อเลยรถไฟฟ้า เราทำหน้าที่แค่ให้ข้อมูลเท่านั้น Takeaway ที่เราอยากจะให้ได้ไปคือ จริง ๆ เราสามารถลองคำนวณเพื่อหาความคุ้มค่าให้กับเราได้ ผ่านวิธีที่เราใช้ในการวิเคราะห์นี้ได้เลย สามารถโหลด Excel เราไปลองแก้ ๆ แล้วประเมินดูได้เลย ผมอาจจะคุ้ม แต่คุณอาจจะไม่ Condition แต่ละคนมันต่างกันเนอะ สำคัญสุด ๆ เลยคือ เลิกเอาความรู้สึกมาเดาตัวเลข แล้วมาลองคำนวณกันจริงจังแล้วค่อยมาเถียงกันเนอะ

BONUS: ความเห็นต่อราคาขายต่อ กับความมั่นคงทางการเงิน

พอมันออกมาเป็นแบบนี้ เราจะเห็นได้เลยว่า ใช่แล้ว รถน้ำมันเอาจริง ๆ คือ ราคาขายต่อ เราทราบ เพราะเราอยู่กับมันมานาน แต่กลับกัน ความไม่มั่นคงในราคาขายต่อของรถไฟฟ้าน่ากลัวมาก ๆ ทำให้เราคิดว่า มันเป็น Paradigm shift ในแง่ของการลงทุนมากคือ จากเดิมรถที่เราใช้ ๆ ไป เราขาย เราได้เงินก้อนมาเป็นเงินดาวน์คันต่อไป กลับกันในรถไฟฟ้า เราจะเน้นการเก็บเงินส่วนต่างที่เราประหยัดเข้าไปเรื่อย ๆ จนวันนึง มันเป็นเงินก้อน สำหรับการไปดาวน์รถคันต่อไปได้เช่นกัน

เราจะเห็นว่า โอเค สุดท้าย เราก็จะได้เงินก้อนไปดาวน์รถคันใหม่เหมือนกัน แต่การเข้าถึงเงินก้อนนี้มันต่างกัน เพราะบางคนอาจจะมี Cash Flow เลยไม่ต้องกังวลอะไรมาก สามารถเก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อย ๆ จนถึงเวลาที่ได้ผลตอบแทน อาจจะรวมกับค่าขายรถ (ถ้าได้ ขำ ๆ นะ 30% ของราคารถ สัก 280,000 รวมกับ 200,000 บาทเมื่อเราใช้งานไป 100,000 กิโลเมตร ก็ไม่เลวเลยนะจริง ๆ ไม่ต้องลุ้นราคาขายต่อมาก) รวมกันออกมา อาจจะมากกว่ารถน้ำมันขายไปเฉย ๆ แต่บางคนใช้รถเป็นสินทรัพย์ ที่เราก็ไม่รู้ว่าเราจะต้องใช้เมื่อไหร่ มูลค่าของรถมันไม่ควรจะตกเยอะในวันที่ขายรถ

เลยทำให้ การใช้รถน้ำมัน เราคิดว่า มันก็ยังมีข้อดีจากราคาขายต่อที่เราทราบและคาดเดาสถานการณ์กันได้อยู่แล้วจากข้อมูลย้อนหลัง และสามารถขายต่อเพื่อเอาเงินก้อนมาได้ทันที ทำให้มันมีความมั่นคงทางการเงินที่สูงกว่ามาก ๆ อันนี้ก็ขึ้นกับ Condition ของแต่ละคนละว่า เรารับความเสี่ยงได้มากขนาดไหน สุดท้ายมันก็กลับมาเหมือนเดิมว่า High Risk High Return ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ

Read Next...

Apple M4 รุ่นไหนเหมาะกับใคร

Apple M4 รุ่นไหนเหมาะกับใคร

หลังจากเมื่อหลายอาทิตย์ก่อน Apple ออก Mac รัว ๆ ตั้งแต่ Mac Mini, iMac และ Macbook Pro ที่ใช้ M4 กันไปแล้ว มีหลายคนถามเราเข้ามาว่า เราควรจะเลือก M4 ตัวไหนดีถึงจะเหมาะกับเรา...

Cloudflare Access ของดีขนาดนี้ ฟรีได้ไงวะ

Cloudflare Access ของดีขนาดนี้ ฟรีได้ไงวะ

จากตอนก่อน เราเล่าเรื่องการ Host Website จากบ้านของเราอย่างปลอดภัยด้วย Cloudflare Tunnel ไปแล้ว แต่ Product ด้าน Zero-Trust ของนางยังไม่หมด วันนี้เราจะมาเล่าอีกหนึ่งขาที่จะช่วยปกป้อง Infrastructure และ Application ต่าง ๆ ของเราด้วย Cloudflare Access กัน...

Mainframe Computer คืออะไร ? มันยังมีชีวิตอยู่ใช่มั้ย ?

Mainframe Computer คืออะไร ? มันยังมีชีวิตอยู่ใช่มั้ย ?

ทุกคนเคยได้ยินคำว่า Mainframe Computer กันมั้ย เคยสงสัยกันมั้ยว่า มันต่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันทั่ว ๆ ไปอย่างไรละ และ Mainframe ยังจำเป็นอยู่มั้ย มันได้ตายจากโลกนี้ไปหรือยัง วันนี้เรามาหาคำตอบไปด้วยกันเลย...

Infrastructure as Code คืออะไร ทำไมถึงสำคัญมากในปัจจุบัน

Infrastructure as Code คืออะไร ทำไมถึงสำคัญมากในปัจจุบัน

เคยมั้ยเวลา Deploy โปรแกรมสักตัว เราจะต้องมานั่ง Provision Infrastructure ไหนจะ VM และ Settings อื่น ๆ อีกมากมาย มันจะดีกว่ามั้ยถ้าเรามีเครื่องมือบางอย่างที่จะ Automate งานที่น่าเบื่อเหล่านี้ออกไป และลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Infrastructure as Code กัน...