Technology

HTTP/2 อนาคตของการเชื่อมต่อบนโลกอินเตอร์เน็ต

By Arnon Puitrakul - 20 มิถุนายน 2017

HTTP/2 อนาคตของการเชื่อมต่อบนโลกอินเตอร์เน็ต

ก่อนจะเล่าว่า HTTP/2 คืออะไร ผมขอพาทุกคนย้อนกลับไปเมื่อปี 1989 ที่ HTTP Protocol ถูกสร้างขึ้นมาเป็นครั้งแรก ในตอนนั้น Protocol นั้นถูกออกแบบมาเพื่อใช้บนเครื่องที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้นนั่นคือ CPU Clock Speed อยู่ราว ๆ 25 MHz และ Ram มีอยู่แค่ไม่กี่ MB เท่านั้น

แต่เมื่อเวลาผ่านไป คอมพิวเตอร์สมัยนั้น กับในปัจจุบันมันช่างต่างกันราวฟ้ากับดิน ตอนนี้ Clock Speed เราอยู่ในระดับ GHz และ Ram เล่นกันในระดับ GB กันไปแล้ว นอกจากนั้นความเร็วในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่สูงปรี๊ดกันระดับ Gbps แต่เราก็ยังใช้ Protocol ในสมัย 25 Mhz ในการเชื่อมต่อ

และแน่นอนว่า มันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง (แหงแหละ ! ไม่งั้นก็ Obsolete ไปเถอะ) ที่เกิดขึ้นในปี 2015 โดย The Internet Engineering Task Force (IETF)

TL;DR

  • HTTP คือ Protocol ที่ใช้ในการเชื่อมต่อระหว่างเรา (Client) และ Server

  • HTTP/2 เป็นมาตรฐานใหม่ของ HTTP Protocol ที่จะเข้ามาทดแทน Version เดิมที่เก่ากว่า 10 ปีมาแล้ว

  • HTTP มาตรฐานใหม่นี้ไม่มีความสามารถ Backward compatibility กับ HTTP เวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ได้ ฉะนั้น Web Browser เวอร์ชั่นเก่า ๆ จึงไม่สามารถใช้งานได้

  • HTTP มาตรฐานใหม่จะทำให้ เราสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้รวดเร็วขึ้น

  • Web Browser ตัวใหม่ ๆ ก็มีการรองรับ และ เว็บไซต์หลายเว็บตอนนี้ก็เริ่มมีการเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว รวมถึงเว็บผมด้วยเช่นกันที่มีการเปลี่ยนแปลงบ้างแล้วในบางส่วน

แล้ว HTTP คืออะไร ?

HTTP หรือ Hypertext Transfer Protocol มันถือว่าเป็นเบื้องหลังของเว็บเลยก็ว่าได้ เพราะมันทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อ ระหว่างเราที่เป็นคนเรียก และ Server หรือก็คือ Web Server

ตัวอย่างเช่น เราอยากจะเข้าหน้าเว็บของ arnondora.in.th เราก็เริ่มจากพิมพ์ URL เข้าไปใน Web Browser และมันก็จะยิง Request ไปที่เว็บ Server โดยใช้ HTTP Protocol และ Server ก็จะตอบ (Response) ที่เป็นหน้าเว็บไซต์กลับมาให้เครื่องเราเพื่อเอาไปแสดงผลให้เราดูต่อไป (ส่วนวิธีที่มันเชื่อมต่อกันนั้นจะอยู่ในเรื่องของ TCP/IP ที่ไม่ได้อธิบายในบทความนี้)

เอาให้ลึกกว่านั้น HTTP Protocol เป็น Stateless Protocol หมายความว่า จะไม่มีความสัมพันธ์ระหว่าง Transaction อีกนัยก็คือ แต่ละ Request นั้นไม่เกี่ยวข้องกัน นึกภาพง่าย ๆ เหมือนกับคนที่มันถามคำตอบคำอะ คำถามก่อนหน้านี้ จะไม่เกี่ยวข้องกับคำถามข้อถัดไปเลย

แต่มันก็ทำให้มีเครื่องมือช่วยสร้างสัมพันธ์ได้ ผ่านของ 3 อย่างนี้คือ Cookie, Session และ URL Rewriting

เอาให้ลึกกว่านั้นอีก เวลาเราจะส่ง Request หรือ Server จะ Response กลับมันก็ต้องมีข้อมูลที่จะบอกให้กับอีกฝั่ง เราเรียกมันว่า HTTP Message ที่ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

  • Start-Line ที่จะบอก HTTP Method, URI และ Version ของ Protocol ที่ใช้ (HTTP/1.0, HTTP/1.1, HTTP/2.0)
  • Headers ที่จะบอกข้อมูล และกฏต่าง ๆ ในการเชื่อมต่อเช่น ต้องการข้อมูลเป็นอะไร (Accept: text/html), ไปที่ Host ไหน (HOST: google.com) อะไรพวกนี้
  • Body คือข้อมูลที่เราต้องการจะส่งให้ปลายทาง​เช่น​ Server​ ส่ง​ตัว​หน้าเว็บ​กลับ​ไป​ ตัวหน้า​เว็บ​ก็​จะ​อยู่​ใน​ Body นี่​แหละ​ หรือ​เรา​ต้อง​การ​จะ​ Request ข้อมูล​สัก​อย่าง​จาก​ Server​ เรา​ก็​สามารถ​เอา​ Parameter ต่าง​ๆ​ แปะ​ลง​ไป​ใน​ Body ได้​เช่นกัน​

จากเมื่อสักครู่อ่านแล้วน่าจะเจอคำว่า HTTP Method ที่อยู่บน Start-Line มันเป็น Method ที่ใช้ระบุว่า ให้ส่งข้อมูลยังไง โดยหลัก ๆ มันจะมีอยู่ 2 ตัวคือ GET กับ POST ที่สำหรับใครที่เขียนเว็บน่าจะเคยได้ยินอยู่ ที่ GET จะส่งค่าไปพร้อมกับ URL แต่ POST จะซ่อนค่าไว้แล้วส่งไป นั่นแหละคือนี่เลย

กับอีกส่วนที่เราน่าจะเคยเห็นเวลาเราเข้าเว็บแล้วเจอ Error 404 หรือ 500 Internal Server Error อะไรพวกนั้น นั่นคือ Code ที่ Server จะตอบเรากลับมาพร้อมกับ Response HTTP Message เพื่อเป็นการบอกสถานะของการตอบ โดยจะแบ่งเป็น

  • 1xx (Information Response) ตัว Code 1xx นี้ผู้ใช้ทั่วไปไม่น่าจะได้เจอได้ทั่วไป เพราะมันเป็น Code สำหรับแจ้งข้อมูลเช่น Code 101 เป็นการบอกว่า เราจะเปลี่ยน Protocol ในการเชื่อมต่อแล้วนะ อะไรแบบนี้
  • 2xx (Success) อันนี้ก็น่าจะเป็นอีกตัวที่ไม่ค่อยได้เห็นกันเท่าไหร่ แต่เราก็ได้มันอยู่ทุกวัน และเป็น Code ส่วนใหญ่ที่เราได้ด้วย เพราะมันเป็นการบอกว่าการส่งมันสำเร็จแล้วนะอะไรแบบนี้ (200 Success) หรือจะเป็นบอกว่า Transaction สำเร็จ (201 Created)
  • 3xx (Redirection) จะเป็นเรื่องของการ ย้ายหน้าอะไรทำนองนี้ เช่นถ้าเราได้ 301 Moved Permanently หมายความว่า Address ถูกย้ายแล้วนะ ถ้าเข้ามาใหม่ให้เข้าไปที่อีก Address นึงนะทำนองนั้น
  • 4xx (Client Error) จะเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดจากทางฝั่งของผู้ใช้เองเช่นที่เราเจอบ่อย ๆ จะเป็น 404 Not Found ที่จะเกิดขึ้นตอนที่เรากรอกพวก URI ผิด
  • 5xx (Server Error) เป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจาก Server ที่อาจจะมาจากการตั้งค่า หรือเขียน Code ผิดพลาดบางอย่างเลยทำให้เกิด Error นี้ขึ้น

และแน่นอนว่าเราสามารถดูตัว HTTP Message ที่ถูกตอบกลับมาจาก Server ได้ โดยผ่านโปรแกรมหลาย ๆ ตัว ถ้าเอาแบบง่าย ๆ เลย เราสามารถใช้ Web Browser อย่าง Google Chrome ดูได้

โดยการคลิกขวาที่หน้าแล้วกด Inspect แล้วเลือกไปที่ Tab Network แล้วลอง Refresh หน้าอีกรอบ เราจะเห็นไฟล์อยู่หลายอันมาก ลองกดสักอัน มันจะมีข้อมูลขึ้นมา นั่นแหละคือ Response HTTP Message

HTTP/2

หลังจากที่เราเข้าใจหลักการทำงานของ HTTP กันไปอย่างยืดยาวแล้ว เรามาดูฟีเจอร์ หรือความเปลี่ยนแปลงของ HTTP/2 กัน

แต่ก่อน เวลาเราส่งข้อมูลผ่าน HTTP ข้อมูลจะถูกส่งในรูปแบบของ Textual Data หมายความว่า มันถูกส่งในรูปแบบของข้อความเพียว ๆ เลย (ที่มนุษย์สามารถเปิดอ่านได้)

ทำให้โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดนั้นสูงมาก เพราะมันอาจเกิดความผิดพลาดในการส่ง บนจุดที่เรามองเห็นได้ยากเช่น Space หายไปอันนึงอะไรแบบนี้ หรือบางทีก็ข้อมูลบางส่วนของหน้าหายไปเลยก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้

นึกถึงโทรทัศน์ตอนที่ยังเป็น Analog อยู่เราจะเห็นว่าบางทีถ้าสัญญาณไม่ดี มันก็จะดูได้แบบซ่า ๆ หน่อย ๆ แต่ถ้าเป็นโทรทัศน์แบบ Digital เราจะไม่เห็นซ่า ๆ นั่นเลย ถ้าดูได้ก็ได้เลย แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่ได้เลย

Binary Data ก็เหมือนกับ Digital TV นั่นแหละ ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ ไม่ค่อยมีซ่าให้เห็น

พอมาในเวอร์ชั่น 2 ได้มีการแก้ไขให้มีการส่งเป็น Binary Data เพื่อป้องกันปัญหานี้ พร้อมทั้งยังแบ่งแยกออกมาเป็นอีก 2 Sub-Frame ย่อยนั่นคือ Header Frame และ Data Frame

ซึ่งก็จริงที่มันช่วยในเรื่องของความผิดพลาด และความยาวหรืออะไรต่าง ๆ แต่มันก็สร้างความบรรลัยไว้เช่นกันนั่นคือ ถ้าเราทำให้เป็น Binary แปลว่า ถ้า Server ส่งมาเป็น Binary แล้วฝั่ง Client ยังใช้ HTTP/1.x หรือ HTTP/1 อยู่ ก็จะอ่านไม่รู้เรื่องไปเลย

แต่ก็นะ Web Browser ส่วนใหญ่ ๆ ในปัจจุบัน แทบจะทั้งหมดแล้ว รองรับ HTTP/2 เป็นที่เรียบร้อยแล้วสบายใจได้

Request/Response Multiplexing

เมื่อก่อนตอน HTTP/1 หน้าเว็บก็ยังไม่มีอะไรมาก เผลอ ๆ มีแค่หน้า HTML หน้าโง่ ๆ ไฟล์เดียว ก็แค่เรียกมันผ่าน TCP/IP ก็ทำ Three-Way Handshake กันปกติ รับส่งกันทีละไฟล์ เหมือนภาพด้านบน (18+ เล็กน้อย) รับส่งกันทีก็ต้องเปิด TCP รูนึง ค่อย ๆ ทำทีละรูไปเรื่อย ๆ

แต่พอเวลาผ่านไป หน้าเว็บก็เริ่มมี สื่อต่าง ๆ ที่ต้องมาแสดงผลด้วย ถ้าจะค่อย ๆ รับ/ส่งกันที่ละไฟล์ก็ไม่ต้องดูหน้าเว็บกันแล้ววันนี้ HTTP/1.1 เลยแก้ปัญหาด้วยการ เปิด TCP Connection พร้อมกันหลาย ๆ รู ทำให้สามารถรับ/ส่ง ข้อมูลพร้อมกันได้

ซึ่งการเปิดช่อง TCP มันก็มีราคาของมันเหมือนกัน ก่อนที่ช่อง TCP สักช่องมันจะเปิดได้ มันจะประกอบด้วย 3 ช่วงใหญ่ ๆ คือ Connection Set-up, Data Tranfer และ Tear-Down เหมือนกับเราบอกว่า เราจะเริ่มคุยกันแล้วนะ และเราก็คุยกัน และสุดท้ายเราก็บอกลากัน

อ้าวแล้วมันเกี่ยวอะไร ? สิ่งที่เกี่ยวคือ เวลาเราจะเริ่ม (Connection Set-Up) และสิ้นสุดการคุย (Tear-Down) เราจะต้องทำสิ่งที่เรียกว่า Three-way handshake ที่ 1 ครั้งมันจะกินอยู่ที่ 3 RTT (Round-Trip Time) ซึ่งรวมกันต้นจะจบที่ทำ Modified Three-way handshake อีก 3 RTT

ทั้งหมดจะอยู่ที่ 6 RTT ถ้วน ถ้าสมมุติว่าหน้าที่เราเรียก มีสัก 10 ไฟล์ที่ต้องโหลด เราก็ต้องเสียเวลาทั้งหมด 6 * 10 = 60 RTT เพียงเพื่อเชื่อมต่อ และจบการเชื่อมต่อ

HTTP/2 Data Stream

มาใน HTTP/2 จึงนำเรื่องของ Multiplexing มาใช้ โดยปกติที่เราจะต้องเปิดรู TCP หลาย ๆ รู และเสีย RTT เพื่อรับข้อมูล เราบอกว่า เราเปิดรูเดียว (ต่อ 1 Origin) และทำ Three-way handshake แค่ต้นและจบเพียงครั้งเดียว แต่เรารับและส่งข้อมูลได้หลายไฟล์พร้อม ๆ กัน โดยการแบ่งข้อมูลเหล่านั้นออกมาเป็น Frame แล้วส่งไป และมีเรื่องของ Priority เข้ามาเกี่ยวด้วย ทำให้มันสามารถจัดการคิวในการส่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น

นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนบอกกันว่า HTTP/2 มันทำให้การโหลดหน้าเว็บเร็วขึ้น เพราะว่า เราทำ Three-Way Handshake ต่อ Orgin เพียงครั้งเดียว และข้อมูลก็ยังสามารถแบ่งส่วนมาได้อีก ทำให้เรารู้สึกว่าหน้ามันโหลดเร็วขึ้นนั่นเอง

Server Push

ฟีเจอร์นี้ก็เป็นอีกตัวที่เจ๋ง และผมชอบมาก สั้น ๆ เลย ปกติเวลา Web Browser ส่ง Request ไปที่ Server

Server ก็จะตอบกลับได้แค่ Response เดียว แต่พอมาในเวอร์ชั่น 2 นี้ Server สามารถตอบกลับได้หลาย Response ภายใน 1 Request อาจจะมองไม่เห็นภาพว่า มันดียังไง ลองมาดูตัวอย่างนี้กัน

สมมุติว่าผมทำ App สำหรับแชท แปลว่า ผมจะต้องสามารถส่ง และรอรับข้อความจากอีกฝ่ายเสมอ วิธีเก่าคือ ผมก็ต้อง Request เรื่อย ๆ เพื่อรับแต่ละข้อความ แต่พอมาในตอนนี้เราก็ส่ง Request ไปอันเดียว แล้วพอมีข้อความใหม่ Server ก็จะยิง Response ไปที่ปลายทางให้เองได้ นี่แหละคือสิ่งที่มันเจ๋งมาก

เมื่อ​สักครู่​เป็น​แค่​ตัวอย่าง​ที่​ทำ​ให้​เห็น​ภาพ​ง่าย​ๆ​ ตัวอย่าง​จริงๆ​ คือ​สมมุติ​ว่า​เรา​ (Client) ขอ​ index.html ไป​และ​ Server รู้​ว่า​ index.html​ จะ​ต้อง​เรียก​ style.css​ ตัว​ Server​ จะทำ​การ​ PUSH style.css​ ไป​ให้​ Client ก่อน​ที่​ Client จะขอ​

ทำให้​การ​โหลด​หน้า​เป็น​ไป​ได้​เร็ว​ขึ้น​ เพราะ​ไม่​ต้อง​รอ​ Client ส่ง​ Request ไป​ขอ​นั่น​เอง

Header Compression

ลองนึกสภาพว่า หน้าเว็บนึงมีประมาณ 10 ไฟล์ที่ต้องโหลด และสมมุติอีกว่าแต่ละไฟล์มี Header ขนาดสัก 140 kB แล้วทุกไฟล์ต้องมี Header คิดดูสิครับว่า มันจะสนุกขนาดไหนกันเชียว อย่างเว็บหลาย ๆ เจ้าก็บอกว่า การที่เราแยกไฟล์หน้าเว็บของเราเยอะ มันจะทำให้เว็บมันโหลดช้ามากขึ้น เพราะ Overload มันเยอะมาก ๆ เหตุส่วนหนึ่งมาจาก Header นี่แหละ

มาในเวอร์ชั่นนี้ ได้มีการแก้ไขเรื่องของ Header นี้ด้วย 2 วิธีใหญ่ ๆ

อย่างแรกคือ การใช้ Encoding Algorithm ที่มีชื่อว่า HPACK (RFC7541) เพื่อลดขนาด Header ของแต่ละอัน

นอกจากนั้นอีกสเต็ปนึงคือ การเก็บ Index ของแต่ละ Field ที่ส่งไป ฉะนั้นถ้า Field ไหนที่เคยส่งไปแล้วมีค่าเดียวกัน มันจะแค่ส่ง Index ไปก็ทำให้ลด Overhead ที่เกิดจาก Header ได้เป็นจำนวนมาก มาก มาก เลย

Security

เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะมีคำถามเรื่องของความปลอดภัย แต่จริง ๆ แล้ว HTTP Protocol นั้นไม่ได้พูดถึงเรื่องความปลอดภัย หรือการเข้ารหัสอะไรเลย แต่ HTTP จะต้องใช้ร่วมกับ SSL/TLS เพื่อเข้ารหัสระหว่าง Server และ Client ถ้าสนใจสามารถหาเรื่องของ HTTPS กับพวก SSL/TLS อ่านเพิ่มได้ จริง ๆ Concept ไม่ได้เข้าใจยากอะไรขนาดนั้น

แล้วทำไมไม่เป็น HTTP/1.2 แต่กลายเป็น HTTP/2 ซะงั้นละ

เรื่องนี้ ถ้าเป็นโปรแกรมเมอร์ หรือคนที่ทำงานกับเรื่องของมาตรฐานที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์น่าจะเข้าใจเรื่องนี้ดี มาดูเรื่องของเลขเวอร์ชั่นกัน

เราน่าจะเคยเห็นจากโปรแกรม หรือระบบหลาย ๆ อย่างก็จะมีเลขเวอร์ชั่นที่หน้าตาทำนองนี้เหมือนกันเกือบหมด 3 หลัก 4 หลักก็ว่ากันไป ระบบนี้เราเรียกว่า Semantic Versioning มันเป็นวิธีในการตั้งเลขเวอร์ชั่น

โดยที่เราบอกว่า ตัวเลขตัวแรกเป็น Major Version บอกว่า จะเป็นอะไรที่เปลี่ยนไปแล้ว เวอร์ชั่นก่อน ๆ จะใช้ไม่ได้ หรือเรียกว่า non Backward compatibility

ตัวเลขตัวถัดไปคือ Minor Version บอกว่าเป็นการเพิ่มเติมฟีเจอร์ หรือสิ่งต่าง ๆ เข้ามา (ที่ไม่ใช่การแก้บัค หรือ Hotfix ต่าง ๆ) แต่ก็ยังสามารถทำงานร่วมกับเวอร์ชั่นก่อนหน้าได้ หรือเรียกว่า Backward compatibility

ในกรณีของ HTTP/2 บอกว่ามีการเพิ่มเรื่องของ Binary Faming Layer เข้ามา จึงทำให้ไม่สามารถทำงานร่วมกับ HTTP/1.0 และ HTTP/1.1 ได้เลยต้องปล่อยมาตรฐานออกมาโดยการอัพเกรด Major Verion ไปนั่นเอง ~~~

แต่ก็มีอีกคำถามว่า สรุปแล้วเราต้องเขียนว่า HTTP/2.0 หรือ HTTP/2 กันแน่ ?

คำตอบคือเป็น HTTP/2 นะ อ้างอิงจากเอกสารของ IETF บอกว่าใช้ 2 ไม่มีจุดเพื่อป้องกันความสับสนระหว่าง 2 และ 1.x นะจ๊ะ !

สรุป

เป็นบทความที่ยาวมาก สรุปคือ HTTP/2 จะเข้ามาแทนที่ HTTP เวอร์ชั่นก่อน ๆ ในไม่ช้า ขณะนี้เว็บไซต์ต่าง ๆ ก็ได้มีการเปลี่ยนไปใช้กันบ้างแล้ว รวมถึงเว็บของผมในบางส่วนด้วย จากที่เราอ่านกันมา HTTP มาตฐานใหม่นี้ ที่เหมือนกับแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงของอินเตอร์เน็ตของเรา จะเข้ามาช่วยทำให้การทำงานของเว็บเป็นไปได้ราบลื่นมากขึ้น นักพัฒนาสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้มากขึ้น และทำให้ User Experience ดียิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ก็จะทำให้อนาคตของ Web Platfrom ไปได้ไกลยิ่งขึ้น กว่าที่เป็นอยู่

Read Next...

Apple M4 รุ่นไหนเหมาะกับใคร

Apple M4 รุ่นไหนเหมาะกับใคร

หลังจากเมื่อหลายอาทิตย์ก่อน Apple ออก Mac รัว ๆ ตั้งแต่ Mac Mini, iMac และ Macbook Pro ที่ใช้ M4 กันไปแล้ว มีหลายคนถามเราเข้ามาว่า เราควรจะเลือก M4 ตัวไหนดีถึงจะเหมาะกับเรา...

Cloudflare Access ของดีขนาดนี้ ฟรีได้ไงวะ

Cloudflare Access ของดีขนาดนี้ ฟรีได้ไงวะ

จากตอนก่อน เราเล่าเรื่องการ Host Website จากบ้านของเราอย่างปลอดภัยด้วย Cloudflare Tunnel ไปแล้ว แต่ Product ด้าน Zero-Trust ของนางยังไม่หมด วันนี้เราจะมาเล่าอีกหนึ่งขาที่จะช่วยปกป้อง Infrastructure และ Application ต่าง ๆ ของเราด้วย Cloudflare Access กัน...

Mainframe Computer คืออะไร ? มันยังมีชีวิตอยู่ใช่มั้ย ?

Mainframe Computer คืออะไร ? มันยังมีชีวิตอยู่ใช่มั้ย ?

ทุกคนเคยได้ยินคำว่า Mainframe Computer กันมั้ย เคยสงสัยกันมั้ยว่า มันต่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันทั่ว ๆ ไปอย่างไรละ และ Mainframe ยังจำเป็นอยู่มั้ย มันได้ตายจากโลกนี้ไปหรือยัง วันนี้เรามาหาคำตอบไปด้วยกันเลย...

Infrastructure as Code คืออะไร ทำไมถึงสำคัญมากในปัจจุบัน

Infrastructure as Code คืออะไร ทำไมถึงสำคัญมากในปัจจุบัน

เคยมั้ยเวลา Deploy โปรแกรมสักตัว เราจะต้องมานั่ง Provision Infrastructure ไหนจะ VM และ Settings อื่น ๆ อีกมากมาย มันจะดีกว่ามั้ยถ้าเรามีเครื่องมือบางอย่างที่จะ Automate งานที่น่าเบื่อเหล่านี้ออกไป และลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Infrastructure as Code กัน...