Technology

เลือกซื้อ SD Card อย่างไรให้เหมาะกับการใช้งาน

By Arnon Puitrakul - 01 กันยายน 2023

เลือกซื้อ SD Card อย่างไรให้เหมาะกับการใช้งาน

เวลาเราไปซื้อพวก SD Card ในท้องตลาดของเรามันมีหลายราคา หลายสเปกให้เราเลือกซื้อเยอะมาก ๆ ตั้งแต่ไม่กี่ร้อยยันหลายพันกันไปเลย ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วเราจะเลือกแบบไหน อันไหน ราคาไหนละ ที่จะเหมาะกับการใช้งานของเรา

ปล. เราจะขอยกตัวอย่างเป็น Sandisk เป็นหลักละกัน เพราะเป็นตัวที่ได้รับความนิยมสูง และหาซื้อได้ง่ายตามร้านทั่วไป

SD Card มีมาตรฐานของมัน

ถ้าเราไปดูที่หน้าการ์ดของ SD Card ทั้งหลาย มันจะมีสัญลักษณ์หลายอันมาก ๆ ซึ่งพวกนี้ มันเป็นพวกมาตรฐานต่าง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ ๆ จะปริ้นแปะก็ได้นะ แต่มันเป็นมาตรฐานที่ออกโดย SD Association โดยที่สมาคมนี้ตั้งโดย 3 บริษัทผู้ผลิต SD Card รายใหญ่มาก ๆ อย่าง Sandisk, Panasonic และ Toshiba

เขาทำหน้าที่ในการออกพวกมาตรฐานของ SD Card ที่เราใช้งานกัน ทำให้ถ้าเราซื้อ SD Card จากร้านที่ได้รับการรับรอง ของแท้ เราก็มั่นใจได้เลยว่า พวกสัญลักษณ์มาตรฐานทั้งหลาย มันจะใช้งานได้จริง ๆ งั้นเราไปดูกันดีกว่าว่า บนการ์ดที่เขียนมันประกอบอะไรบ้าง

ความเร็ว

บนการ์ดส่วนใหญ่ในวันนี้ เขามักจะเขียนพวกเลขความเร็วที่มันทำได้ เช่น Sandisk Extreme Pro 128 GB ของเราเอง เขาก็จะมีเลขเขียนอยู่ 170 MB/s ตัวเลขนี้มันเป็นตัวเลขที่บอก ความเร็วสูงสุดในการอ่านเท่านั้นนะ ย้ำว่าในหน่วย MB/s นะ และแน่นอนว่า คำว่า ความเร็วสูงสุด ไม่ใช่ความเร็วที่เราจะทำได้จริง ต้องเข้าใจตรงกันก่อนนะ

เราเอาการ์ดเราเสียบเข้ากับ Card Reader บน Macbook Pro M1 Max แล้วใช้โปรแกรม Blackmagic Disk Speed Test แล้วเลือก Target ไปที่ SD Card ของเรา แล้วทำการทดสอบ ปรากฏว่า ความเร็วในการอ่านที่ได้อยู่ที่ 90.0 MB/s เท่านั้น เลย 50% ของความเร็วที่เคลมมานิดเดียวเอง เลยบอกว่า ตัวเลขที่เขาเคลมไว้หน้าการ์ดมันเป็นความเร็วสูงสุดเท่านั้น

การ์ดบางตัว เขาจะมีความเร็วในการเขียนเอาไว้ด้วยเช่น การ์ดมันเขียนได้เร็วเท่าไหร่ เช่น Sony E Series 64GB ตัวปกติ จะเห็นว่ามีตัวเลขที่บ่งบอกความเร็วไว้ 2 ตัว คือ ความเร็วในการอ่านสูงสุด 270 MB/s และความเร็วการเขียน 70 MB/s เท่านั้นเอง

เมื่อเราเอามาทดสอบด้วย Config เดียวกันกับการทดลองก่อนหน้า เราจะเห็นว่า ความเร็วของ SD Card จาก Sony E Series มันทำความเร็วในการเขียนได้ 79.3 MB/s และอ่านที่ 244.3 MB/s ซึ่งก็ถือว่าไม่แย่ เมื่อเทียบกับสเปกความเร็วสูงสุดที่เคลมอยู่บนการ์ด

ทำให้เราสามารถถอดบทเรียนได้ว่า อย่าง Sandisk Extreme Pro ที่เราเห็นตัวเลขเขียนไว้ 170 MB/s ที่เป็นความเร็วในการอ่าน เทียบกับของ Sony เขียนไว้ 270 MB/s มันไม่ได้บ่งบอกถึงความเร็วในการเขียนนะว่ามันเท่าไหร่ หรือใครน้อยกว่า มากกว่าใคร ถ้าเราอยากรู้และเขาไม่ได้เขียนไว้ที่หน้าการ์ด ให้เราไปลองหาสเปกที่เว็บของผู้ผลิตเอา

Speed Class

จากการทดสอบของเรา จะเห็นได้ว่า ความเร็วที่ผู้ผลิตเคลม กับความเร็วจริงมันต่างกันเยอะมาก ๆ ทำให้เราอาจจะมีปัญหาเวลาเอามาใช้งานจริง มันจะมีปัญหาว่า มันเขียนไม่ทัน ทั้ง ๆ ที่ ความเร็วในการเขียนสูงสุดที่ผู้ผลิตเคลมไว้มันมากกว่าที่เราต้องใช้

เรายกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ถ้าเราเอามาถ่ายวีดีโอที่ Bitrate 300 Mbps เราแปลงกลับเราก็จะได้ 37.5 MB/s (แปลงไม่ยากเอา 8 หารเนอะ เพราะ 8 Bits = 1 Byte) ทำให้การ์ดที่เราจะใช้อัดใน Bitrate นี้จะต้องเขียนได้ 37.5 MB/s ด้วยกัน แล้วถ้าเกิดเราไปซื้อการ์ด อะเราดูความเร็วสูงสุดที่มันทำได้เช่น 90 MB/s แต่มันทำได้จริงอาจจะอยู่ที่ 30 MB/s ต่อเนื่อง เราก็จะอัดวีดีโอบน Bitrate เท่าที่เรายกตัวอย่างมาไม่ได้ หรืออาจจะกระตุก ๆ ได้

ทำให้มันเกิดมาตรฐานใหม่ขึ้นมา นั่นคือ Speed Class หาไม่ยาก มันคือกลม ๆ แล้ว มีตัวเลขข้างใน โดยจะมี 2,4,6 และ 10 ตัวเลขพวกนี้มันจะแทน ความเร็วเขียนขั้นต่ำที่มันทำได้ เช่น Class 10 ก็คือ ความเร็วในการเขียนขั้นต่ำที่มันทำได้คือ 10 MB/s ส่วนใหญ่ SD Card สมัยนี้ น่าจะอยู่ที่ Class 10 กันหมดแล้วละ น้อยมากที่จะไม่ถึง

UHS Speed Class

พอเวลาผ่านไปความต้องการในการใช้งานเราเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เราต้องการมากกว่า 10 MB/s ในการเขียนไปไกลมาก ๆ เช่น เราต้องการอัดพวกวีดีโอระดับ Full HD หรือมากกว่านั้นอีก ทำให้มาตรฐานเดิม มันไม่ได้แล้ว เลยทำให้มันเกิดมาตรฐานใหม่ขึ้นมาเพื่อระบุคือ UHS หรือ Ultra High-Speed

หาไม่ยาก มันจะเป็นรูปตัว U แล้วมีตัวเลขข้างใน โดยที่ มันจะมีเลข 1 หรือ 3 เช่น Sandisk Extreme Pro ของเรา เป็น U ข้างในเป็นเลข 3 แปลว่า ความเร็วในการเขียนอย่างน้อยมี 30 MB/s แน่นอน หรือกลับกัน ถ้าเราเจอเลข 1 ก็คือ ความเร็วเขียนขั้นต่ำ 10 MB/s

Video Speed Classes

หนักเข้าไปอีก พอกล้องอะไรมันดีขึ้นเรื่อย ๆ พวกการถ่ายวีดีโอที่ละเอียดขึ้นเรื่อย ๆ Bitrate สูงขึ้นเรื่อย ๆ Storage Media ซึ่งก็คือ Card ก็จะต้องมีความเร็วสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน และคนที่จำเป็นต้องใช้ความเร็วของการ์ดหนัก ๆ ก็น่าจะหนีไม่พ้นคนที่ถ่ายพวก Video ทั้งหลาย (ถ้าถ่ายภาพนิ่ง อย่างน้อยภาพส่วนนึงมันก็เก็บลง Buffer กล้องชั่วคราวรอถ่ายเข้าการ์ดได้) ทำให้มันเกิดอีกมาตรฐานนึงขึ้นมาคือ Video Speed Class

ตัวสัญลักษณ์ มันจะเป็นรูปตัว V แล้วตามด้วยตัวเลข โดยที่มันจะมีตั้งแต่ 6,10,30,60 และ 90 เลขพวกนี้ มันจะแทนความเร็วในการเขียนขั้นต่ำที่มันทำได้ เช่น Sandisk Extreme Pro ของเราบอกว่า V30 ก็คือ ความเร็วในการเขียนมันทำได้ขั้นต่ำ ๆ เลยอยู่ที่ 30 MB/s ซึ่งก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการอัดวีดีโอระดับ 4K ด้วยซ้ำ และ ถ้าเราบอกว่า ความเร็วเขียนต่ำ ๆ มัน 30 MB/s ถ้าเรากลับไปที่มาตรฐาน UHS มันก็จะเป็น U30 นั่นเองเหมือนกัน

Application Classes

นอกจากที่เราจะเอา SD Card มาใช้กับพวกกล้องที่เน้นการอ่านและเขียนไฟล์ใหญ่ ๆ แล้วอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่เราเอามาใช้กันเยอะมาก ๆ คือ พวกโทรศัพท์ สำหรับเก็บไฟล์ หรือ เกม ซึ่งการใช้งานลักษณะนี้ เราเน้นการอ่านและเขียนแบบ Random เพราะเรามีการเขียนไฟล์ขนาดเล็ก ๆ แต่หลายไฟล์เยอะมาก ๆ

ในการวัดประสิทธิภาพของการอ่านเขียนประเภทนี้ เราไม่สามารถใช้ ความเร็วในการอ่านเขียนสูงสุดที่ทำได้ในการวัดละ แต่เราจะต้องใช้การวัดว่า ในหน่วยเวลา การ์ดมันสามารถจัดการ อ่านและเขียนได้กี่รอบ ทำให้หน่วยเราจะใช้กันคือ IOPS หรือ Input/Output Operations Per Second

ซึ่งมาตรฐานก่อนหน้านี้ที่เรา Cover กันมาทั้งหมด มันไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลย ทำให้แน่นอน อีกแล้ว เราต้องมีมาตรฐานใหม่มาเพื่อรองรับด้วยด้วยคือ A Class หรือ Application Class โดยที่สัญลักษณ์ เขาจะเป็น ตัว A แล้วตามด้วยเลข 1 หรือ 2 ไม่ต้องไปจำว่าเลขไหนมันกำหนดเท่าไหร่ แต่ จำง่าย ๆ ว่า ยิ่งเลขเยอะยิ่งเร็ว และ แพงมากขึ้นแค่นั้นเลย

โดยที่พวกมาตรฐานนี้ มันจะไม่ได้อยู่กับ SD Card ขนาดปกติ แต่มันมักจะไปอยู่กับพวก Micro SD Card มากกว่า เพราะ เราใช้การ์ดพวกนี้ กับอุปกรณ์หลาย ๆ อย่างเช่น โทรศัพท์ หรือกระทั่งเครื่องเล่นเกมอย่าง Nintendo Switch ก็ใช้ Micro SD Card เช่นเดียวกัน

Connection Interface

ซ้ายคือ UHS-I และ ขวา UHS-II

พอการ์ดมันทำความเร็วได้สูงขึ้นเรื่อย ๆ การเชื่อมต่อแบบเดิม ๆ มันก็ไม่สามารถจะรองรับได้แล้ว ทำให้มันต้องงอกการเชื่อมต่อในมาตรฐานใหม่ออกมา ภาพที่เราเคยเห็นกันจาก SD Card ก็น่าจะเป็น แถบทอง ๆ แถวนึงอยู่ด้านหลัง พอเราเสียบเข้าไปที่เครื่องอ่าน มันก็จะมีแผ่นไปที่แตะ ที่แถบพอดีเป๊ะ ๆ ทำให้มันสามารถอ่านข้อมูลบนการ์ดออกมาได้ โดยมาตรฐานที่เราใช้กันในตัวแรกคือ UHS-I หรือ UHS-1 นั่นเอง ดูไม่ยาก คือ มีแถบทอง ๆ ด้านหลังแค่แถวเดียว ตัวนี้เขาจะให้ความเร็วสูงสุดไม่สนใจว่าจะอ่านหรือเขียนอยู่ที่ 104 MB/s เท่านั้น

ทำให้ถ้าเราไปเห็นการ์ดที่เขียนความเร็วสัก 300 MB/s แต่หันไปด้านหลังเจอแถบเชื่อมต่อแค่แถวเดียวก็ รู้ไว้ได้เลยว่า ฮั่นแน่ ของปลอมปะครับเนี่ย !!!!

แต่พอมาในยุคใหม่ ๆ อย่างการ์ดที่ใช้มาตรฐานแบบ UHS-II และ UHS-III อันนี้แหละ มันหน้าตาเหมือนกันเลยคือ แถบเชื่อมต่อมันจะมี 2 แถว ส่วนเราจะแยกมันออกจากกันจากการมองได้มั้ย ก็ต้องบอกเลยว่า ไม่ได้ เพราะ UHS-II และ UHS-I มันใช้ Pin การเชื่อมต่อเหมือนกันเป๊ะ ๆ เลย

เลยทำให้ถ้าเราจะดูว่า การ์ดเรามันเป็น UHS ตัวไหน I,II หรือ III เขาจะมีสัญลักษณ์เขียนไว้ที่หน้าการ์ดด้วย คือ I, II และ III เรายกตัวอย่างเช่น การ์ด Sandisk Extreme Pro 128 GB ของเรามี ตัว I อยู่ แปลว่า เป็น UHS-I ถ้าเราหันหลังดูแถบการเชื่อมต่อก็จะเห็นว่า มันเป็นแถวเดียว อันนี้ชัวร์ละว่าเป็น UHS-I แน่นอน

ถามว่า แล้ว UHS-II และ UHS-II มันเร็วเท่าไหร่ เร็วกว่า Generation ก่อนหน้าสักเท่าไหร่ก็ต้องบอกเลยว่า เยอะมากอยู่ เพราะมันเร็วได้สูงสุด 312 MB/s และ 624 MB/s สำหรับ UHS-II และ UHS-III ตามลำดับ ถ้าเอาข้างในเลยจริง ๆ มันเกิดจากการเบิ้ลพวก Clock Speed ในการคุยกันเข้าไป เลยทำให้ Data Rate ที่เราทำได้สูงขึ้นแค่นั้นเลย (แต่ ณ วันที่เขียน พวก UHS-III Card ยังไม่ออกมาเลย เพราะมาตรฐานมันต้องออกมาก่อนแล้วผู้ผลิตการ์ดค่อยตาม ๆ ออกกันมา)

ถ้าเกิดเราบอกว่า กล้องของเรารองรับ UHS-I เท่านั้น แล้วเราจะใช้ UHS-II ไปทำไม เป็นคำถามที่น่าสนใจ ถามว่ามันใช้ได้มั้ยก็ใช้ได้ อย่างที่เราบอกไปว่า มัน Backward Compatibility แน่นอน แต่ประโยชน์ของการใช้งานลักษณะนี้คือ เวลาเราเอาการ์ดเสียบคอมจะย้ายพวก Footage เข้าคอมเราเพื่อไปตัดต่อ และ Card Reader เรารองรับ UHS-II

สรุป

เอาจริง ๆ เลยนะ มาตรฐานการ์ดมันเยอะแยะยั่วเยี้ยมาก ๆ เลยแหละ แต่ถ้าถามเรา เอาง่าย ๆ เลยนะ ถ้าเราจะเอามาถ่ายรูป หรือ วีดีโอ ให้เราดูที่มาตรฐาน Video Class เลยก็ได้ ถ้าเราถ่ายวีดีโอสัก 4K เราว่า V30 เราก็ว่ากำลังดีแล้วแหละ หรือ ถ้าเราอยากได้เร็วกว่านี้หน่อยก็ไป V60 ก็ยังอยู่ในเรทราคาที่น่าสนใจพอสมควร แต่ถ้าเราใช้เป็น Micro SD Card สำหรับพวกเครื่องเล่นเกม หรือโทรศัพท์ เราก็แนะนำให้ไปดู Application Class เอา สั้น ๆ เลยไปเอาพวก A2 ไปเลย จบ ๆ จบทีเดียวแล้วไม่หงุดหงิดทีหลังแน่นอน และสุดท้ายการ์ดพวกนี้มันมีปลอมเยอะ ทริกง่าย ๆ ในการจับผิดคือ แต่ละมาตรฐานส่วนใหญ่มันจะพูดถึงพวกความเร็วสุงสุดที่มันทำได้ใช่มะ เช่นเขาเคลมว่า เขาเขียนได้ 60 MB/s ดังนั้น อย่างน้อย ๆ Class 10, U3, V60 มีแน่ ๆ ถ้ามันมีอะไรแปลก ๆ โผล่มา ก็นั่นแหละ อะจ๊ะเอ๋ ตัวเอง และ แนะนำว่า ให้เราซื้อกับร้านตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการจะดีที่สุดเด้ออออ

Read Next...

ยืดเวลาการใช้งานแบต Macbook ด้วย 3 ทริกง่าย ๆ

ยืดเวลาการใช้งานแบต Macbook ด้วย 3 ทริกง่าย ๆ

เวลาเราเอา Macbook ออกไปใช้งานนอกบ้าน บางครั้ง เราสามารถเสียบปลั๊กไฟได้ แต่งานก็ต้องทำ ก็คือทำงานแข่งกับเวลาเลยทีเดียว วันนี้เราจะมาบอกทริกการยืดเวลาการใช้งานบน Battery กันจาก 3 ทริกง่าย ๆ กัน...

Bittorrent คืออะไร ทำงานอย่างไร?

Bittorrent คืออะไร ทำงานอย่างไร?

การดาวน์โหลดไฟล์ผ่าน Internet เป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปสำหรับการใช้งานในปัจจุบันกันแล้ว ตั้งแต่การโหลดไฟล์เอกสารต่าง ๆ จนไปถึงการ Stream เพลง และหนังต่าง ๆ แต่วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับโลกอีกใบ อีกวิธีการของการแชร์ไฟล์บนโลก Internet กันนั่นคือ Bittorrent...

ปัญหาการโอนเงินไม่ผ่านแต่ผ่านกับ Two Generals' Problem

ปัญหาการโอนเงินไม่ผ่านแต่ผ่านกับ Two Generals' Problem

หลายวันก่อนไปซื้อชานมมา จ่ายเงินด้วย QR Code ปรากฏว่า จ่ายไม่ได้ แต่เครื่อง EDC บอกว่า จ่ายผ่านเฉยทำให้คิดถึงปัญหานึงที่น่าสนใจคือ Two Generals' Problem วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันคืออะไร และเกี่ยวอะไรกับการโอนเงิน...

Stream Apple Music อย่างไรให้ได้คุณภาพสูงสุด

Stream Apple Music อย่างไรให้ได้คุณภาพสูงสุด

เรื่องของเรื่องคือ เราทดลองเล่นเพลงผ่าน AirPlay 2 เข้ากับลำโพงแล้วเสียงมันแปลก ๆเลยไปหาข้อมูลมา เลยทำให้โป๊ะว่า อ้าว.... ชิบหาย Hi-Res ทิพย์นี่หว่า ทำไม เราไปดูเหตุผลในบทความนี้กัน...