Technology

เลือกซื้อ SSD ยังไงให้ปัง คุ้มค่าที่สุด

By Arnon Puitrakul - 16 กันยายน 2022

เลือกซื้อ SSD ยังไงให้ปัง คุ้มค่าที่สุด

SSD น่าจะเป็นอุปกรณ์ที่เราขาดไม่ได้ในเครื่องคอมพิวเตอร์เลย ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน มันยังแพง และเป็นอุปกรณ์ที่หลาย ๆ คนมองข้าม แต่ปัจจุบันนี้ มันมี SSD หลากหลายราคา หลายคุณภาพอยู่เต็มไปหมด วันนี้เราจะมาสอนดูกันว่า ถ้าเราจะซื้อ SSD สักลูก เราต้องดูอะไรบ้าง และซื้อยังไงให้คุ้มค่าเหมาะกับการใช้งานของเรามากที่สุด

ความจุ

เรื่องแรกสุด น่าจะเป็นเรื่องที่มันชัดเจนที่สุดแล้ว ไม่ว่าเราจะซื้อ SSD แบบไหนคือ ความจุ หรือขนาดของข้อมูลที่เราจะเก็บได้นั่นเอง ตอนนี้น่าจะมีตั้งแต่ 256 GB จนไปถึงหลาย TB ต่อลูกแล้วละ ซึ่ง มันก็ขึ้นกับการใช้งานของเราว่า เราต้องเอาไปทำอะไร

ตัวอย่างเช่น เราต้องการเอาไปลงระบบปฏิบัติการ ถ้าให้หลวม ๆ อยู่สบาย ๆ หน่อย เราก็อาจจะใช้สัก 512 GB ถึง 1 TB ก็น่าจะกำลังดี ลงโปรแกรม กับเก็บงานลงไปในนั้นได้นิดหน่อย ๆ เผื่อลงเกมอะไรได้อีกหน่อย ๆ

แต่ถ้าบอกว่าเราลงเกมเยอะหน่อย หรือเล่นพวก Call of Duty กดไปเลย ใหญ่ ๆ ถ้าใครที่เล่นก็จะบ่นว่า เกมบ้าอะไรขนาดเกือบครึ่ง TB เลย ใหญ่มาก ๆ ลงสัก 2 ภาค ก็คือ SSD สัก 1 TB น่าจะมีใกล้เต็มกันบ้างแหละ ดังนั้นกดไปเลยใหญ่ ๆ ไม่ต้องกลัวแพง เดี๋ยวซื้อเติมจะแพงกว่านี้อีก สำหรับคนที่ใช้งานทั่ว ๆ ไป ก็อาจจะเอาความจุสัก 256 GB เป็นขั้นต่ำ ก็ถือว่าค่อนข้างใช้งานในระดับพื้นฐานได้ดีมากละ กำลังดี ไม่ได้แย่เกินไป

Form Factor

มาถึงในเรื่องของ Form Factor หรือก็คือ เรื่องของขนาดหน้าตาของมัน โดยที่มันจะมีตั้งแต่แบบ 2.5 inch ขนาดใกล้ ๆ กับ Harddisk แต่บางกว่าเยอะเลย ส่วนใหญ่ เราจะเจอในพวก Laptop ใช้กัน ทำให้จริง ๆ แล้วถ้าเป็น Laptop ก็สามารถซื้อพวกที่เป็น 2.5 นิ้วได้เลยซะส่วนใหญ่ และ พวกนี้จะใช้การเชื่อมต่อแบบ SATA ซะหมด ก็คือ เราจะได้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 6 Gbps ซึ่งถือว่าช้าเมื่อเทียบกับความเร็วของ SSD ในปัจจุบันมาก แต่ข้อดีมันอยู่ที่ความจุมากกว่า เพราะขนาดของ Form Factor ที่ใหญ่มาก ทำให้ผู้ผลิตสามารถที่จะอัด NAND Chip เข้าไปเป็นจำนวนมากได้ ส่งผลให้ความจุสูงขึ้นนั่นเอง แค่แลกมากับความเร็วที่ลดลงจาก Port การเชื่อมต่อเท่านั้นเอง

นอกจากนั้น มันก็จะมีแบบที่เป็น M.2 อันที่ตัวเล็ก ๆ หน่อย อันนี้จะอยู่ในทั้งตั้งโต๊ะ และ Laptop เลย ซึ่งใน Form Factor ประเภทนี้ มันก็จะมี Port การเชื่อมต่อที่แตกต่างกันนิดหน่อย แยกกันไปอีกคือ M.Key และ B.Key หัวมันจะแตกต่างกันนิดหน่อย เวลาเราไปซื้อ แนะนำอย่างแรงกล้าว่า ให้เช็ดดูก่อนที่จะซื้อเสมอว่า เครื่องของเรา และ SSD ที่เราจะกดมา มันมีหัวแบบเดียวกัน ไม่งั้น บอกเลยว่า สนุกแน่นอน

ทำให้ ถ้าเราเลือก SSD สำหรับเก็บข้อมูลเน้นขนาด ไม่ได้ต้องการความเร็วสูงมาก การใช้ SSD แบบ 2.5 นิ้ว ก็เป็นทางเลือกที่ดีเลย ด้วยราคาที่ถูก และมีความจุสูงมาก แต่ถ้าเราบอกว่า งานที่เราทำนั้นต้องการ Performance ในการอ่าน และ เขียนข้อมูลที่เร็วมาก ๆ ตรงนี้แหละที่ M.2 จะเข้ามาเป็นพระเอกขี่ม้าขาวให้เราได้ แค่แลกมากับความจุที่อาจจะน้อยกว่า และ ราคาสูงกว่าลิบเลย

การเชื่อมต่อ

ในโลกของ SSD ที่ใช้งานกันตามบ้าน ณ วันที่เขียน หลัก ๆ เรื่องของการเชื่อมต่อ เราจะพูดกันรวม ๆ อยู่ประมาณ 2 คำด้วยกันคือ SATA และ NVMe สั้น ๆ คือ NVMe เร็วปรูดปราดมาก ส่วน SATA ช้ากว่าได้แค่ 6 Gbps เท่านั้น

SATA เป็น Protocol ในการเชื่อมต่อที่เราใช้กันมาอย่างช้านาน หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ใช้มันมาก่อน ถึงแม้ว่าจะไม่เคยใช้ SSD มาก่อนก็ตาม อาจจะ งง ว่าเราเคยด้วยเหรอ ใช่ฮ่ะ เคยแน่ เพราะมันคือ Protocol เดียวกับที่เราใช้ในการต่อ Hard Disk จานหมุนที่บางคนยังคงใช้กันอยู่นั่นเอง ด้วยความที่มันเป็น Protocol เก่า ทำให้เราต้องยอมรับว่า ความเร็วของมันก็เลยต่ำ เมื่อเทียบกับ Protocol สมัยใหม่หลาย ๆ ตัว ตามสเปกแล้ว SATA3 จะทำงานได้ที่ 6 Gbps หรือ 750 MB/s รวม ๆ Overhead ต่าง ๆ ก็น่าจะอยู่ราว ๆ 500 ปลาย ๆ ถึง 600 ต้น ๆ การใช้งานตามบ้าน เราสามารถมองหา SSD ที่ใช้ SATA ได้จาก 2 รูปแบบด้วยกัน

Form Factor แรกคือ SSD ที่เป็น 2.5  นิ้ว อันนี้บังคับหมดว่ามันเป็น SATA หมดเลย ไม่ยากเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็น M.2 นี่แหละที่ยากละ เพราะ SATA มันพูดยากว่าอันไหนคือ SATA กันแน่ เพราะ SATA มันใช้ได้หมดเลยไม่ว่าจะเป็น M หรือ B-Key ทำให้การที่จะดูอาจจะต้องไปดูที่สเปกจากเว็บไซต์ของผู้ผลิตโดยตรงจะดีกว่า หรืออาจจะดูความเร็วที่เขียนไว้หน้ากล่องก็ได้ ถ้าสัก 500 กว่าไม่ถึงพัน ก็เป็น SATA ละ

ส่วน NVMe ก็เป็นอีก Protocol นึงที่ออกแบบมาเพื่อทำงานกับ NAND Flash ที่อยู่บน SSD ตรง ๆ เลย ทำให้เราได้ความเร็วที่สูงมาก ๆ และยังวิ่งอยู่บนเลนของ PCIe บน CPU ของเราด้วย ทำให้การใช้งานตรงนี้เราจะเน้นเพิ่มสำหรับคนที่ต่อ PCIe เยอะ ๆ ว่าให้เช็คก่อนว่าเลนของ ๆ ที่เราใส่มันพอกับทั้งหมดมั้ย ก่อนที่จะใส่ เพราะมันทำงานแบบ  4 Lane ต่อใบเลย เพื่อไม่ให้ Performance ของแต่ละชิ้น Drop ไปด้วยนั่นเอง ในการที่จะหา SSD แบบ NVMe นั้นไม่ยากเลย มันจะอยู่แค่บน M.2 แบบ M-Type เท่านั้น

PCIe Version

สำหรับ SSD ที่เป็น NVME เขาจะทำงานอยู่บน PCIe เป็นหลัก ซึ่งใน Motherboard รุ่นใหม่ ๆ รองรับ PCIe 4.0 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้ความเร็วในการเชื่อมต่อเร็วกว่าเดิมมาก ๆ หลายขุมเลยทีเดียว แต่ ๆๆๆ

การที่เราจะใช้ความเร็วสูงสุดที่ SSD พวกนี้ทำได้ เราจำเป็นที่จะต้องใช้ Motherboard ที่รองรับ PCIe 4.0 ด้วยเช่นกัน ไม่งั้น มันก็จะกลับไปใช้ความเร็วเท่ากับ PCIe ที่เรารองรับได้นั่นเอง ดังนั้น ถ้าเราจะซื้อพวกนี้ แล้วมันต้องเพิ่มเงิน ให้เราดูที่ Motherboard ของเราด้วยว่า เราอะ รองรับมั้ย ไม่งั้นคือ เสียเงินเปล่า ๆ เลย

ความเร็ว

SSD แต่ละชนิด มันก็จะให้ความเร็วที่ไม่เท่ากันอีก อันนี้เราขอข้ามพวก SATA SSD ไปเลยนะ มันเร็วไปกว่านี้ไม่ได้แล้วเพราะ Interface มันให้ได้เท่านั้น SSD มันเร็วกว่านั้นมาก อันนี้เรามาพูดถึงกันเรื่องของ NVMe ล้วน ๆ เลย บางที ถ้าเราไปซื้อ ตัวอย่างเช่น WD Blue NVMe กับ WD Black NVMe เราจะเห็นว่า มันเป็น NVMe เหมือนกันนะ แต่ใน Specification ตัว WD Black มันสามารถดีดขึ้นไปถึง 3,000 MB/s ในการอ่านได้เลย แต่ทำไม WD Blue มันอ่านได้แค่ 2,400 MB/s  เท่านั้นเอง ห่างกันพอตัว ราคาก็ต่างกันเช่นกัน

เหตุผลที่ความเร็วมันต่างกัน มันมาได้จากหลายส่วนเช่น Controller ที่อยู่ใน SSD มันรองรับ Bandwidth ที่จำกัด หรือมีความเร็วในการนำเข้า และ ส่งออกข้อมูลไม่เท่ากัน หรือจะเป็นที่ตัว NAND Chip เลย ตัวอย่างเช่น WD Blue และ WD Black ที่เราจะเห็นว่าถึงขนาดจะเท่ากัน และเราบอกเลยว่าทั้งคู่เป็น SSD แบบ TLC ทั้งคู่ แต่ความเร็วไม่เท่า เพราะจำนวน Layer ที่ใช้มันไม่เท่ากันอีก WD Blue มี 96 Layer แต่ Black มีแค่ 64 Layer เท่านั้น

นอกจากนั้น SSD ที่เป็น NVMe มันทำงานอยู่บน PCIe ทำให้ Version ของ PCIe ก็มีผลเช่นกัน ตัวอย่างเช่น Sabrent 1TB Rocket NVMe ที่ทำงานอยู่บน PCIe 4.0 มันสามารถอ่านได้ถึง 5,000 MB/s ถือว่าเร็วกว่า WD Black ที่ทำงานอยู่บน PCIe3.0 มากพอตัวเลยทีเดียว แต่การที่จะใช้ได้ ไม่ใช่ว่าเราไปซื้อมาเสียบได้เลย แต่ Motherboard ของเราต้องรองรับด้วย

ในการเลือกซื้อ เราไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อเร็วที่สุดเพื่อเอามาบูทระบบปฏิบัติการก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้มันโหลดเร็วขึ้นเยอะแล้ว อาจจะใช้ WD Blue NVMe ก็พอจะตอบโจทย์ได้เยอะแล้ว แต่ถ้าบอกว่า ต้องการสุด ๆ จริง ๆ งบไม่อั้น นั่นก็อีกเรื่องนึง หรือ ถ้าเราเอามาทำงานพวกการตัดต่อวีดีโอที่เราจะต้องเล่นหลาย ๆ Stream มาก ๆ หรืองานที่ต้องใข้ I/O ของ Disk เยอะ ๆ ก็ไปเล่นตัวแพง ๆ ดีกว่า คิดซะว่า ซื้อเวลาด้วยเลย

อายุการใช้งาน

อายุการใช้งาน SSD เราจะนับแค่เรื่องของการเขียนเท่านั้น ไม่นับการอ่าน เพราะ การอ่าน มันก็แค่สแกนลงไปอ่านไฟขึ้นมาเป็น Bit ให้เครื่องเข้าใจก็จบแล้ว แต่การเขียน มันต้องไปเอาประจุที่ NAND Flash ออก แล้วก็เขียนอันใหม่ลงไป ซึ่ง จำนวนครั้งในการเอาเข้าออก มันมีจำกัด ดังนั้น ถ้าเราเขียนเยอะ ๆ ก็อาจจะทำให้ SSD ของเราลาโลกได้เร็วขึ้น

ต้องบอกว่า SSD ยิ่งแพงยิ่งมีอายุการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นตัวอย่างเดิมคือ WD Black กับ WD Blue ที่จำนวน Layer ไม่เท่ากัน พอมันไม่เท่ากัน แต่ความจุเท่ากัน ทำให้ WD Black ต้องใช้ NAND Chip จำนวนมากกว่า นั่นแปลว่า โอกาสที่ SSD จะต้องเขียนข้อมูลทับกันมันก็มีน้อยกว่า ทำให้อายุการใช้งานมันก็จะนานขึ้นนั่นเอง ถ้าเราเข้าไปดูใน Tech Specification ของมันที่ช่อง TBW หรือ จำนวนข้อมูลที่เขียนคิดเป็นหน่วย TB มันจะต่างกัน ถ้าเป็น Blue มากสุดก็ 600 TBW แต่ในขณะที่ Black เรากำลังพูดถึง 1,200 TBW เลยนะ ซึ่งห่างกัน 2 เท่าเลย ทำให้คนที่เขียนข้อมูลเยอะหน่อย น่าจะพอเข้าใจได้ว่า ถ้ามันเขียนเยอะ ๆ มันย่อมพังไวเป็นเรื่องธรรมดา

ทำให้ถ้าเรารู้ว่า การใช้งานของเรามีการเขียนข้อมูลเยอะ ๆ หน่อย เราอาจจะเลือก SSD ที่มีค่า TBW สูง ๆ หน่อย ก็จะทำให้เราสบายใจได้ว่า เราจะใช้มันได้อีกนานโขเลย ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะพังเพราะเราเขียนเยอะเกินไปนั่นเอง

สรุป

ตอนนี้มี SSD ออกมาขายเยอะมาก ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราก็ต้องมีสติในการเลือกมาใช้งานเยอะขึ้น ซึ่ง SSD แต่ละรุ่น มันก็จะมีข้อดี ข้อเสียของมันอยู่ ทำให้เราต้องเลือกมาให้เหมาะกับการใช้งานของเราเป็นหลักว่าเราจะเอามาทำอะไร เช่น เอามาบูทระบบปฏิบัติการ หรือ เอามาเก็บข้อมูลนิด ๆ หน่อย ถ้าเราเลือกให้มันเข้ากับการใช้งานของเราได้ นอกจากที่เรายังจะประหยัดเงินมากขึ้นแล้ว ก็ทำให้อายุการใช้งานมันอยู่ได้นานขึ้นด้วยเช่นกัน

Read Next...

หูฟัง Noise Cancelling อาจมีดีกว่าแค่ตัดเสียง

หูฟัง Noise Cancelling อาจมีดีกว่าแค่ตัดเสียง

ปัจจุบันหูฟังที่มีระบบ Noise Cancelling มีมากขึ้นเรื่อย ๆ หลาย ๆ คนอาจจะมองแค่ว่า มันทำให้เราสามารถฟังเสียงโดยมีเสียงรบกวนที่น้อยลง เพิ่มอรรถรสในการฟังได้ แต่จริง ๆ แล้วมันมีข้อดีมากกว่านั้นมาก ๆ วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันมีข้อดีอะไรอีกบ้าง...

สำรองข้อมูลไว้ก่อนจะสายด้วย Time Machine

สำรองข้อมูลไว้ก่อนจะสายด้วย Time Machine

การสำรองข้อมูลเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันข้อมูลของเราเอง วันนี้เราจะมาแนะนำเครื่องมือสำหรับการสำรองข้อมูลที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ อย่าง Time Machine กัน...

Disk Defragment ของเก่าจากอดีต ทำไมปัจจุบันเราไม่ต้องใช้แล้ว

Disk Defragment ของเก่าจากอดีต ทำไมปัจจุบันเราไม่ต้องใช้แล้ว

หลายวันก่อน นอน ๆ อยู่ก็นึกถึงการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สมัยก่อนขึ้นมา หนึ่งในสิ่งที่คนบอกว่าเป็นวิธีการทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์เร็วขึ้นคือการทำ Disk Defragment มันทำให้เครื่องเร็วขึ้นอย่างที่เขาว่าจริงมั้ย แล้วทำไมปัจจุบันมันมีเทคโนโลยีอะไรเข้ามาช่วย ทำให้เราถึงไม่ต้องทำแล้ว...

เมื่อ Intel กำลังทิ้ง Hyper-threading มันจะดีจริง ๆ เหรอ

เมื่อ Intel กำลังทิ้ง Hyper-threading มันจะดีจริง ๆ เหรอ

เชื่อหรือไม่ว่า Intel กำลังจะทิ้งสุดยอด Technology อย่าง Hyperthreading ใน CPU Generation ใหม่อย่าง Arrow Lake ทำให้เกิดคำถามว่า การที่ Intel ทำแบบนี้เป็นเรื่องดีหรือไม่ และเราที่เป็นผู้ใช้จะได้หรือเสียจาก CPU ใหม่ของ Intel ตัวนี้...