By Arnon Puitrakul - 21 กุมภาพันธ์ 2020
การสำรองข้อมูล น่าจะเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนน่าจะทำกันบ้างแหละ ต้องยอมรับเลยว่า ปัจจุบัน เรามีข้อมูลเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลบางอย่างมีค่ามากกว่าทองซะอีก ถ้าเป็นผู้ใช้ทั่วไปก็อาจจะเป็นรูปภาพต่าง ๆ ที่ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปถ่ายได้อีกแล้ว วันนี้เราจะมาแนะนำเกี่ยวกับการสำรองข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลของเราปลอดภัยที่สุดกัน
ก่อนที่เราจะมาแนะนำเรื่องของการสำรองข้อมูล เราต้องทำความเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการสำรองข้อมูลกันก่อน
ข้อมูลที่เราเก็บอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ เราก็เห็นแหละว่า มันก็อยู่ไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะไปลบ แต่ เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นได้ นึกย้อนกลับไปเมื่อนานมาแล้ว ตอนเราเด็ก ๆ วันนึงที่ฝนตก แล้วเราก็เล่น The Sims 1 อยู่ในบ้านสบายใจ ฟ้าผ่าดัง เปรี๊ยงงงง ⚡️ ตอนนั้นเอง ไฟในบ้านก็ดับ พรึ่บบบบ รวมถึงคอมพิวเตอร์ที่เรากำลังใช้เล่นเกมอยู่เช่นกัน
สักพักไฟมา เราจึงลองเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์อีกครั้ง ปรากฏว่า เปิดแล้วมัน Boot ไม่ขึ้น มันบอกว่า หา Boot Device ไม่เจอ พอเข้าไปดูใน BIOS ก็รู้เลยว่า เครื่องมันหา Hard Disk ไม่เจอ งามไส้แล้วไงงง สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยน Hard Disk ใหม่ และ แน่นอนว่าบ้านที่สร้างไว้ใน The Sims ก่อนหน้านั้นก็หายหมด
อันนี้คือ ตัวอย่างที่ดูจะเป็นเรื่องเล็กสำหรับใครหลายคน หายหมดก็สร้างใหม่สิฟร๊ะ แต่เห้ย มันไม่ได้แล้วไง บ้านที่เราสร้างไว้ในเกม มันก็ถือเป็นข้อมูลเหมือนกัน ถ้าวันนั้น เราสำรองบ้านในเกมไว้สักที่ก่อน เราก็ไม่ต้องมานั่งเสียดายในวันนี้
เหมือนกัน ข้อมูลที่สำคัญสำหรับเรา หรือ องค์กร มาก ๆ การที่มันหายไป มันไม่ใช่เรื่องดีแน่ หนึ่งในวิธีที่จะช่วยไม่ให้มันหายไปจากเราได้คือ การสำรองข้อมูล นั่นเอง
จริง ๆ อีกประโยชน์ของการสำรองข้อมูลที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่ได้พูดถึงคือ การป้องกัน Integreity ของข้อมูล อาจจะ งง เรายกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าเรามีข้อมูลบัญชีขององค์กรอยู่ แล้วเราก็ไม่ได้สำรองข้อมูลเลย วันดีคืนดี บางอย่างเกิดขึ้น ทำให้ข้อมูลไม่ได้หาย แต่มีการเปลี่ยนแปลงไปนิดเดียว อาจจะเป็น Glitch บางอย่างที่ทำให้ข้อมูลเปลี่ยนไปไม่กี่ Bit
ด้วย Routine Workflow เราแทบไม่มีทางรู้เลยว่า ข้อมูลที่เรา Save ตอนเลิกงานเมื่อวาน กับข้อมูลที่เราเปิดมาตอนเริ่มงานของอีกวัน มันจะเป็นอันเดียวกันมั้ย การทำ Daily Backup ก็จะช่วยรักษา Integreity ของข้อมูลได้เป็นอย่างดี
จะเห็นได้ว่า การสำรองข้อมูล เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ไม่ว่า เราจะเป็นคนใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไป จนไปถึง องค์กรใหญ่ ๆ เลยทีเดียว
โห เขียนเองยังอึ้งในคำที่ใช้เลยฮ่า ๆ กลยุทธ์ หรือ เราเรียกให้น่ารัก ลดความเป็นทางการลงน่าจะเป็น Trick ละกัน ว่าเราสำรองข้อมูลอย่างไร สำหรับเราเอง การสำรองข้อมูล เราจะให้ความสำคัญใน 2 เรื่องคือ จำนวน Copy ของข้อมูล และ ความสม่ำเสมอ ในการสำรองข้อมูล
จำนวน Copy ของข้อมูล เราจะพยายามที่จะเก็บข้อมูลสำคัญ ๆ ไว้มากกว่า 2 Copy เสมอ โดยอาจจะเก็บไว้ในคนละ Hard Disk คนละลูกกันก็ได้ นอกจากนั้น ถ้าข้อมูลสำคัญมาก ๆ เราจะไม่ใช่แค่เก็บไว้หลาย Copy เฉย ๆ แต่เราจะเก็บ Media ทีใช้สำรองไว้หลาย ๆ ที่ด้วยเช่นกัน เผื่อมีขโมยเข้ามาเอาไป หรือเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ที่ตรงนั้นมันพังนั่นเอง
เรื่องที่สองคือ ความสม่ำเสมอ ถ้าเราทำงานกับข้อมูลบางอย่างทุกวัน นั่นหมายความว่า ข้อมูลของเรามีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน การสำรองข้อมูลก็ควรจะทำทุกวันเช่นกัน ไม่งั้น ถ้าเกิดข้อมูลหาย ข้อมูลที่เราจะเรียกคืนกลับมาได้ ก็จะเป็นข้อมูลที่ไม่ใช่อันล่าสุด แน่นอนแหละ มันก็ยังเป็นความยุ่งยากที่ต้องมานั่ง Update ให้มันอยู่ใน State เดียวกันข้อมูลที่หายไปอยู่ดี
การสำรองข้อมูลผ่าน Cloud เป็นวิธีการสำรองข้อมูลที่น่าจะง่ายที่สุดแล้ว เพราะอุปกรณ์ส่วนใหญ่มักจะมากับระบบสำรองข้อมูลแบบอัตโนมัติอยู่แล้ว อย่าง iPhone เอง ก็จะมี iCloud Backup สำหรับสำรองข้อมูลแบบทั้งเครื่องอยู่แล้ว หรือจะเป็นฝั่ง Android ก็จะมี Serevice ต่าง ๆ ให้เราสำรองข้อมูลได้หลากหลายเช่น รูปภาพ ฝั่ง Android ก็จะมี Google Photo ให้เราใช้งานได้ โดยที่ ถ้าเราเปิดไว้ตั้งแต่ตอนที่เรา Setup เครื่อง มันก็จะสำรองข้อมูลเองทั้งหมด ทำให้ข้อดีของวิธีนี้คือ ง่าย และ สะดวก เพราะเราไม่ต้องทำอะไรเลย แถม โอกาสที่ข้อมูลจะหายก็ยากมาก เพราะ Cloud พวกนี้ถูกดูแลโดยผู้เชียวชาญอยู่แล้ว อุบัติเหตุพวกนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก
แต่ข้อเสียคือ ถ้าข้อมูลเราเริ่มเยอะขึ้นเรื่อย ๆ จนมันเกินความจุที่สามารถใช้งานได้ฟรี วิธีนึงที่แก้ปัญหานี้คือ การจ่ายเงินเพื่อซื้อ Storage ไปเรื่อย ๆ พอข้อมูลเราเยอะขึ้นอีก เราก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก ทำให้จริง ๆ แล้ว การใช้ Cloud มันก็ไม่ได้ยั่งยืนมากขนาดนั้น ถ้าเรามีข้อมูลเป็นจำนวนมาก ยังไม่นับว่า ถ้างานที่เราทำมันเฉพาะทางมาก ๆ อย่างเช่นการถ่ายวีดีโอ ยิ่งถ่ายมาเป็น 4K ด้วยแล้วละก็ สนุกเลยทีนี้ ซื้อ Cloud เท่าไหร่ก็ไม่พอ
ตัวอย่างของ Cloud ที่ใช้ Backup ข้อมูล หลัก ๆ ที่เราใช้ก็จะมีอยู่ 2 เจ้าด้วยกันคือ iCloud ของ Apple สำหรับเก็บข้อมูลพวก ปฏิทิน, Contact และ State ต่าง ๆ ใน macOS อีกเจ้าที่เราใช้งาน ก็คือ Google Drive จาก Google นั่นเอง อันนี้เราจะไว้ใช้ในการเก็บไฟล์ รวมไปถึงเอกสารต่าง ๆ ที่เราทำงานบน Google Suite เพราะมันจะไม่นับไฟล์ที่ทำจากพวก Google Doc, Google Sheet และ Google Slide ก็ทำให้เราสามารถเก็บเอกสารพวกนี้ได้เรื่อย ๆ เลย
ถ้าเรามีข้อมูลจำนวนมาก หรือ เราไม่ต้องการที่จะเก็บข้อมูลร่วมกับผู้อื่น การสำรองข้อมูลไว้ที่เราเอง ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเราสามารถควบคุมการเก็บข้อมูลได้ตามที่เราต้องการ ซึ่งถ้าเราไปซื้ออุปกรณ์สำหรับเก็บข้อมูลมา มันก็มีหลายแบบให้เราเลือกมากมาย ตามราคา และ ความจุ
อันที่เล็กที่สุด ที่เราเจอคนเอามาสำรองข้อมูลคือ Flash Drive มันเป็นของที่เราว่า คนไม่น่าเอามาสำรองเลย แต่เออ มันก็มีแหละ แล้วมันก็พอที่จะทำได้อยู่แหละ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เราเคยไปคุ้ยห้องตัวเองแล้วเจอ Flash Drive อันเก่าที่หายไปนานมาก เปิดขึ้นมา ก็เจอข้อมูลเก่า ๆ เต็มไปหมดเลย ทำให้ข้อดีของ Flash Drive คือ หาซื้อง่าย ราคาถูก แต่ปัญหาก็มีเรื่อง ความเร็ว และ ความจุที่อาจจะน้อยไปซะหน่อยสำหรับบางคน
ขยายขนาดขึ้นมาอีก จะเป็น External HDD กันบ้าง เราว่า มันน่าจะเป็นอะไรที่ดี สำหรับคนทั่ว ๆ ไป เราแค่ Copy ข้อมูลที่เราต้องการจำสำรองไว้ใน External HDD เกิดข้อมูลที่จาก Disk ที่เราใช้หลักเกิดหายขึ้นมา เราก็ยังดึงข้อมูลจาก External HDD ของเราออกมาได้เลย
ถ้าเราไปซื้อ เราจะพบว่า มันมีตั้งแบบ ตั้งโต๊ะ และ พกพา โดยที่แบบ พกพา จะเสียบแค่ USB ทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าเป็นแบบตั้งโต๊ะ จะมีขนาดใหญ่กว่า และต้องเสียบปลั๊กไป สำหรับการสำรองข้อมูล เราแนะนำให้ไปซื้อแบบพกพาดีกว่า เพราะด้วยขนาดที่เล็กของมัน ทำให้เราเก็บได้ง่ายกว่านั่นเอง แต่สำหรับใครที่คิดว่าข้อมูลเยอะ ก็อาจจะไปพิจารณาเป็นแบบตั้งโต๊ะแทน
แต่มันจะไปสุดที่ว่า ถ้าข้อมูลของเรามันเยอะจนเกินความจุที่ External HDD จะรับไหว Solution การใช้งาน External HDD อาจจะไม่ตอบโจทย์ละ ยกเว้นว่าเรา จะซื้อ External HDD มาหลายลูก แล้วเก็บไปเรื่อย ๆ เราจะเจอได้เยอะมาก ๆ กับคนที่ทำงานกับวีดีโอ เพราะต้องยอมรับเลยว่า ไฟล์วีดีโอเดี๋ยวนี้คือ ใหญ่อลังการงานสร้างมาก ๆ มีที่เก็บเท่าไหร่ก็ไม่พอแน่ ๆ
ดังนั้นมันเลยต้องมี Solution อื่นเข้ามานั่นคือ การทำ DAS (Direct Attach Storage) มันก็คล้าย ๆ กับ External HDD แหละ แต่พวกนั้นมันเป็น DAS ประเภทนึง แบบที่เราจะเอามาบอกก็คือ แบบที่ เราสามารถซื้อ HDD ใส่เองได้หลาย ๆ ลูกเลย อย่างของ Orico เอง ก็จะมี 2-5 ลูกกันไปเลย เพื่อให้เราสามารถเก็บข้อมูลได้เยอะขึ้นนั่นเอง ถามว่า แล้วเราจะเก็บได้เท่าไหร่นั้น ก็ต้องไปดูว่า เราซื้อ HDD แต่ละลูก ความจุเท่าไหร่ แล้วก็หักความจุที่จำเป็นต้องให้กับ RAID ด้วย ขึ้นกับว่า เราเลือกใช้ RAID อะไร เช่น RAIO 1 คือ Mirror Data ก็คือ เราจะเสียพื้นที่ความจุไปถึง 50% ของความจุที่เราใส่เข้าไปนั่นเอง
การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ จะเหมาะกับคนที่มีข้อมูลเยอะขึ้นมาหน่อย อยู่คนเดียว และ ไม่ได้มีงบมาก แต่อยากจะแก้ทีเดียวแล้วจบการใช้ DAS ก็ดูเป็นทางเลือกที่ดีอยู่พอสมควรเลย ทำให้เราไม่จำเป็นต้องจ่ายรายเดือนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากข้อมูลที่เรามีเยอะขึ้น และ ด้วยความที่มันอยู่ในบ้านเราเอง ทำให้การเชื่มมต่อ การเรียกข้อมูล และ การจัดเก็บข้อมูลทำได้อย่างรวดเร็วมาก ๆ แต่ข้อเสียคือ ด้วยความที่มันอยู่ใกล้นี่แหละ ทำให้มันเป็นปัญหาได้ สมมุติว่าที่ ๆ เราเก็บ มีอุบัติเหตุบางอย่างขึ้นมา ข้อมูลเราก็จะหายไปตลอดกาลเลย ไหนจะปัญหาเรื่องของการเก็บ และ การบำรุงรักษาที่เราอาจจะไม่ได้ทำดีเท่ากับ Cloud Service หรอก ทำให้ข้อมูลอาจจะหายตอนที่เราไม่รู้ตัวเลยก็เป็นได้
และ Solution สุดท้าย ที่เราว่าใหญ่ที่สุดแล้ว ไม่รู้จะใหญ่กว่านี้ได้ยังไงแล้ว นั่นคือการทำ NAS (Network Attach Storage) มันก็จะมีอยู่หลายแบบ หลายขนาด หลายยี่ห้อ ให้เราเลือกมากมาย ตามการใช้งานของเรา ตั้งแต่ 2 Bay จนไปถึง 8 Bay เลยก็มี ยิ่งจำนวน Bay เยอะแน่แหละ มันก็แพงขึ้นเหมือนกัน ดังนั้น เราก็ต้องคิดก่อนจะซื้อเลยว่า เราจะเก็บข้อมูลประมาณขนาดไหน และ เผื่ออนาคตไว้สักหน่อย ข้อดีของการใช้ NAS สำเร็จรูปคือ ติดตั้ง และ จัดการได้ง่าย โปรแกรมมันบอกเราหมดเลย ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง เมื่อไหร่อย่างไร เราก็แค่ทำตามมันก็เรียบร้อยแล้ว แต่ข้อเสียคือ ราคามันก็แพงกว่าอีกแบบที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไป
กับอีกแบบคือ NAS ที่เป็นเครื่องประกอบเอง ก็คือ ประกอบคอมพิวเตอร์ขึ้นมาเพื่อการทำ NAS โดยเฉพาะเลย เหมือนกับที่เราเคยเอามาทำเป็น Vlog ไปก่อนหน้านี้แล้ว การทำแบบนี้ ทำให้เราสามารถเลือก Hardware ได้ตามการใช้งานของเราได้เจาะจงมากขึ้น ทำให้ความคุ้มค่าต่อการใช้งานก็ค่อนข้างสูงเลย เพราะเราได้เลือกมาแต่สิ่งที่เราจะใช้ แต่ข้อเสียคือ การจะประกอบ ติดตั้ง และ ดูแล ก็อาาจจะเป็นเรื่องที่ยากไปหน่อยสำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานกับระบบคอมพิวเตอร์อะไรขนาดนั้น
โดยรวมแล้ว สำหรับ DAS และ NAS ก็จะต่างกันนิดหน่อยคือ เรื่องของการเชื่อมต่อ ก็ตามชื่อเลย DAS ส่วนใหญ่จะเชื่อมต่อผ่าน USB หรือไม่ก็ที่แพง ๆ ก็จะผ่าน Thunderbolt ทำให้ต้องยอมรับเลยว่า Bandwidth ของ DAS จะมากกว่า NAS ที่เชื่อมต่อผ่าน LAN ก็จะขึ้นกับว่าเราเดินสายและอุปกรณ์ Network ที่เราใช้อยู่ระดับไหน เช่น ถ้าเราเดิน Network ระดับ 1 Gbps ความเร็วที่จะเชื่อมต่อ NAS ได้ก็จะอยู่ที่ไม่เกิน 1 Gbps นั่นเอง
แต่ความดีงามของ NAS มันจะอยู่ที่ มันรองรับการเชื่อมต่อได้จากหลาย ๆ คนพร้อม ๆ กัน ถ้าเป็น DAS และ เราต้องการทำงานพร้อม ๆ กันหลาย ๆ คน มันทำไม่ได้เลย แต่ NAS เพียงแค่ ทุกคนอยู่ใน Network เดียวกัน ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้แล้ว หรือ NAS บางตัวก็มีพวก Feature อย่าง DDNS ที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลจากที่ไหนก็ได้บนโลกที่มีอินเตอร์เน็ตเลย เหมือนเรามี Personal Cloud อยู่ในบ้านเลย
บางคนที่ใช้งานมาเยอะ ๆ หน่อยก็บอกเราว่า นี่ไง เราใช้ RAID ถ้า Hard Disk เสียสักลูก ข้อมูลก็ไม่หายแล้ว เออ ครับมันก็จริงแหละ แต่เราจะบอกเลยว่า RAID ไม่ใช่การสำรองข้อมูลนะ มันเป็นแค่ระบบที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันข้อมูลสูญหายจากความผิดพลาดของ Hardware เท่านั้นแหละ
ถ้าเราไปลบข้อมูลเอง มันก็หายอยู่ดี หรือแม้กระทั่ง ถ้าโดนโจมตีโดย Malware ต่าง ๆ ก็บอกเลยว่า ไม่รอดนะ เพราะมันก็เหมือนกับเรามานั่งแก้ไขข้อมูลเองแหละ มันไม่รู้เลยนะว่า ใครทำอะไรกับมัน หน้าที่มันก็คือ แค่การกระจายข้อมูลตาม Hard Disk ลูกต่าง ๆ ใน Array และ ทำ Parity Bit (สำหรับ RAID ที่ใช้) เท่านั้นแหละ
ทำให้เราบอกไม่ได้นะว่า การทำ RAID เป็นการสำรองข้อมูลแล้ว ถ้าเรามีระบบ RAID อยู่แล้ว เราก็ยังควรที่จะหาระบบมาสำหรับการสำรองข้อมูลเพิ่มเติมด้วยนะ
การสำรองข้อมูล บางทีเราอาจจะทำให้ข้อมูลไฟล์นึงมีหลาย ๆ Copy แต่จากตรงนี้ เรายังไม่ได้คิดเผื่อในกรณีที่ว่า ที่ ๆ เราเก็บ Backup ของเราเกิดมีปัญหาขึ้นมา สมมุติเลยนะ ถ้าเราเก็บ Backup Hard Disk ไว้ในบ้าน แล้วบ้านไฟไหม้อะ ก็ End Game เลยนะ ไม่ว่าเราจะมี Backup อยู่กี่ Copy สุดท้ายมันก็ Burn Baby Burn อยู่ในบ้านหลังนั้นอยู่ดี
ทำให้เกิด Concept ที่เรียกว่า Off-Site Backup ขึ้นมานั่นเอง ง่าย ๆ มันก็คือ การที่เราเก็บ Backup ของเราไว้ที่อื่น หมายถึงที่อื่นแบบ Physically ที่อื่นจริง ๆ อาจจะเป็น Office อีกที่ หรือบ้านอีกหลังอะไรแบบนั้น
หลาย ๆ คนอาจจะมองว่า การทำ Off-Site Backup ดูจะเป็นอะไรที่เกินการใช้งานในบ้านไปสักหน่อย แต่เรามองว่า มันก็ทำได้แหละ แต่อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องทำ Automated Off-Site Backup หรือ ทำแบบ Real-Time อะไรแบบนั้นก็ได้ เราอาจจะแค่ มี External HDD เก็บไว้อีกที่นึงเท่านั้นเอง
อีกคำถามที่หลาย ๆ คนอาจจะถามเข้ามาคือ แล้วถ้าเรามี Storage สำหรับการสำรองข้อมูลแล้ว พวกโปรแกรมสำหรับการสำรองข้อมูลมันจำเป็นมั้ย แค่ Copy จะได้มั้ย
คำตอบคือ ถ้าข้อมูลของเราไม่ได้ซับซ้อนมาก การนั่ง Copy เองด้วยมือ มันก็พอได้แหละ แต่ถ้าเราต้องการความสม่ำเสมอ หรือ ต้องการลดเวลาการทำงานลง เราว่า การไปหาซื้อ โปรแกรมสำหรับการสำรองข้อมูลมา ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีเลยทีเดียว
สำหรับเรา ที่ใช้ macOS ซะเกือบทั้งหมดในการทำงาน ก็จะใช้โปรแกรมที่มีมาพร้อมกับเครื่องเลยก็คือ Time Machine ใครที่ใช้ macOS ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีเลย นอกจากจะดีแล้ว มันยังมาพร้อมกับเครื่องฟรี ๆ เลย ไม่ต้องไปเสียเงินเพิ่ม
หรืออีกโปรแกรมนึง ที่เราใช้ในการสำรองข้อมูลอื่น ๆ อย่างเช่น Footage หรืองานต่าง ๆ ที่เราทำผ่าน External HDD หลาย ๆ ตัว เราใช้ Get Backup Pro ถ้าใครที่ Subscribe Setapp ก็จะมีมาให้เราใช้เลย
การสำรองข้อมูลมันก็เหมือนการซื้อประกันแหละ เราไม่อยากใช้เท่าไหร่ แต่ถ้าวันที่เราต้องใช้มันต้องมีให้เรา บางทีอุบัติเหตุมันก็เกิดขึ้นได้เสมอ อาจจะเกิดจาก Hardware มีปัญหาบ้าง หรือโดน Malware รุกรานบ้าง ทำให้การสำรองข้อมูลเป็นวิธีการป้องกันการสูญหาของข้อมูลได้เป็นอย่างดี ข้อมูลไหนสำคัญกับเราก็อย่าลืมสำรองไว้ก่อนที่จะมีเรื่องละกันนะ
หลังจากเมื่อหลายอาทิตย์ก่อน Apple ออก Mac รัว ๆ ตั้งแต่ Mac Mini, iMac และ Macbook Pro ที่ใช้ M4 กันไปแล้ว มีหลายคนถามเราเข้ามาว่า เราควรจะเลือก M4 ตัวไหนดีถึงจะเหมาะกับเรา...
จากตอนก่อน เราเล่าเรื่องการ Host Website จากบ้านของเราอย่างปลอดภัยด้วย Cloudflare Tunnel ไปแล้ว แต่ Product ด้าน Zero-Trust ของนางยังไม่หมด วันนี้เราจะมาเล่าอีกหนึ่งขาที่จะช่วยปกป้อง Infrastructure และ Application ต่าง ๆ ของเราด้วย Cloudflare Access กัน...
ทุกคนเคยได้ยินคำว่า Mainframe Computer กันมั้ย เคยสงสัยกันมั้ยว่า มันต่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันทั่ว ๆ ไปอย่างไรละ และ Mainframe ยังจำเป็นอยู่มั้ย มันได้ตายจากโลกนี้ไปหรือยัง วันนี้เรามาหาคำตอบไปด้วยกันเลย...
เคยมั้ยเวลา Deploy โปรแกรมสักตัว เราจะต้องมานั่ง Provision Infrastructure ไหนจะ VM และ Settings อื่น ๆ อีกมากมาย มันจะดีกว่ามั้ยถ้าเรามีเครื่องมือบางอย่างที่จะ Automate งานที่น่าเบื่อเหล่านี้ออกไป และลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Infrastructure as Code กัน...