iPhone เครื่องเต็ม ไม่อยากจ่ายค่า iCloud ทำยังไงดี ?
หลาย ๆ คนที่ใช้ iPhone น่าจะประสบปัญหาเหมือนกันคือ เครื่องเต็ม ทำให้มันขึ้นเตือนนั่นนี่ และ ถ้าเราไม่อยากจะลบพวก Content ออกจากเครื่องเรา วิธีการนึงคือการจ่ายค่า iCloud เพื่อเก็บมันบน iCloud แต่ก็ต้องเสียเงินเป็นรายเดือนแล้วค่อย ๆ งอกขึ้นไปเรื่อย ๆ วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีการอื่นกันดีกว่า
Photo Backup Device
เริ่มจาก Solution ที่ง่ายที่สุดกันก่อนคือพวก อุปกรณ์สำหรับการ Backup โดยเฉพาะ พวกนี้เขาจะเป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูล มาพร้อมกับพวก App สำหรับการ Backup Content ต่าง ๆ บนโทรศัพท์ของเรา โดยเฉพาะรูป
ยกตัวอย่างอุปกรณ์พวกนี้จาก Synology เลยละกันคือ BeeDrive เขาจะมี App สำหรับ Backup Content ของเราแบบอัตโนมัติเลย แค่เราเชื่อมต่อแล้วใช้งานผ่าน App ของเขา รูปทั้งหมด มันก็จะเข้าไปเก็บบน BeeDrive แล้วเราก็ลบรูปเราออกจากโทรศัพท์ได้เลย ถ้าเราต้องการจะเข้าถึงรูปที่เก็บไว้ เราก็แค่เชื่อมต่อกับ BeeDrive อีกรอบเท่านั้นเอง
ข้อดีของอุปกรณ์พวกนี้คือ ความง่าย เขาเตรียม Solution มาให้เราหมดแล้ว เราไม่ต้องทำอะไรเลย แค่เราเชื่อมต่อ และ จัดการตามคู่มือที่เขาทำมา เราก็จะเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลของเราก็จะถูกเก็บอย่างปลอดภัย และทั้งหมดส่วนใหญ่จะเป็นอัตโนมัติหมด ทำให้เราแทบไม่ต้องมานั่งกดอะไรเลย ทุกอย่างก็เสร็จได้
ข้อเสียคือ อุปกรณ์พวกนี้ราคาค่อนข้างสูงกว่าวิธีการอื่น ๆ ที่เราจะแนะนำในวันนี้ และ มีขนาดที่จำกัด เช่น BeeDrive มีให้เราเลือกที่ขนาด 1 และ 2 TB เท่านั้น สำหรับบางคนที่ถ่ายรูปเยอะมากจริง ๆ หรืออยากจะเก็บรูปทั้งหมดเลยเอาไว้ อาจจะไม่พอก็เป็นได้
ทำให้วิธีการนี้จึงเหมาะกับผู้ใช้ทั่วไปที่อาจจะไม่มีความรู้ในการจัดการอะไรมากเท่าไหร่ หรือต้องการขจัดความยุ่งยากในการจัดการให้หมดไปด้วย เงิน ! เหมาะมาก ๆ เลยละ
Network Attached Storage (NAS)
มาที่วิธีการที่เหนือกว่านั้นอีก คือ การวาง Network Attacked Storage หรือ NAS ไว้ในบ้านของเราเลย ตัว NAS มันก็คือ เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนึง สิ่งที่เราต้องทำจริง ๆ ก็คือ การเสียบปลั๊ก และ เชื่อมต่อ Internet เอาไว้แค่นั้นเลย
NAS บางเจ้า เขาจะมี Solution สำหรับการทำ Mobile Backup มาให้เราด้วย เช่นอันที่เราใช้คือ Synology Photo เขาก็จะมี Server ติดตั้งอยู่บน NAS ของเรา ทำหน้าที่เป็น Server สำหรับรอรับ และ เก็บรูปของเรา กับบนฝั่งมือถือเราก็จะมี App ให้เราติดตั้งและเปิดทิ้งไว้ เมื่อเราถ่ายรูปลงไปในโทรศัพท์ มันก็จะทำการเอารูปเราเข้าไปเก็บไว้บน NAS ให้เราทันที แล้วถ้าเราต้องการรูป เราก็แค่เปิด App ขึ้นมา เราก็จะเข้าถึงรูปทั้งหมดที่เราเก็บไว้ได้ทันที จากที่ไหนก็ได้ นอกจากนั้น มันยังฉลาดอีกว่า ถ้ารูปไหนเรา Backup ไปแล้ว เราไม่ต้องมานั่งกดลบเองนะ เราสามารถกดให้มันลบให้เราได้ มันจะเลือกเฉพาะรูปที่ Backup แล้วให้เรา
ข้อดี เหมือนกับวิธีก่อนหน้าเลยคือ ความง่ายในการทำงาน เราไม่ต้องทำอะไรเยอะมันก็จัดการให้เราหมด เราทำหน้าที่แค่ติดตั้งอุปกรณ์ กับพวก App บนโทรศัพท์ไว้ ก็เรียบร้อย นอกจากนั้น มันยังรองรับการทำงานจากหลาย ๆ อุปกรณ์พร้อม ๆ กันได้ เช่น เรามีสมาชิกหลาย ๆ คนในบ้าน เราก็สามารถให้เชื่อมต่อมาที่ NAS เครื่องเดียวกันได้ ทำให้ถ้าเรามีอุปกรณ์ที่ต้อง Backup หลาย ๆ อุปกรณ์ การใช้วิธีนี้อาจจะคุ้มมากกว่า นอกจากนั้น มันยังรองรับความจุขนาดใหญ่ ๆ ได้สบาย ๆ ขึ้นกับ NAS ที่เราซื้อมา รวมไปถึงการขยายถ้าเกิดมันไม่พอ เป็นตัวเลือกที่ยืดหยุ่นในการใช้งานสูงมาก ๆ เลยทีเดียว
ข้อเสียคือ ราคาเริ่มต้นที่ถือว่าสูงมากพอตัวเลยละ อยู่ในระดับหลักหมื่นได้เลย ขึ้นกับ NAS และ Harddisk ที่เราเลือก นอกจากนั้น มันยังต้องเปิดเครื่องทิ้งไว้ตลอดเวลา ทำให้เราจะต้องเสียค่าไฟในการเปิดเครื่องทิ้งไว้ทำให้มันก็จะมีค่าใช้จ่ายรายเดือนอีก พร้อมกับ ต้องต่อ Internet ไว้ตลอดเวลา อันนี้ส่วนใหญ่ตามบ้าน ก็อาจจะติด Internet อยู่แล้วเลยไม่มีปัญหาอะไรเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่ วิธีการนี้ อาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ละ
ทำให้เหมาะกับคนที่มีอุปกรณ์ที่ต้องการ Backup จำนวนเยอะ ๆ เลย พวกนี้จะคุ้มทุนได้เร็วมาก ๆ หรือ ใครที่ต้องการเก็บรูปภาพจำนวนเยอะมาก ๆ จริง ๆ ถ้าเก็บรูปจากโทรศัพท์ส่วนใหญ่ อาจจะได้เป็นล้านรูปได้เลย ใช้กันหลาย ๆ คนทั้งครอบครัว ทั้งบริษัทได้สบาย ๆ เลย นอกจากนั้น พอมันเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนึง เราก็สามารถลงโปรแกรมบางอย่าง เพื่อเอามาใช้งานอย่างอื่นได้อีกเยอะเลย
External Harddisk
และวิธีการสุดท้าย เป็นวิธีการที่ออกแนว Manual สักหน่อย คือการซื้อพวก External HDD หรือ SSD มาใช้ง่าย ๆ เลย เราแนะนำให้ลองไปดูพวก External HDD ราคาจะไม่แพง แต่แลกมากับ ความเร็วที่อาจจะช้าหน่อย แต่ถามว่า เราแคร์ขนาดนั้นมั้ยก็ไม่ เพราะ รูปที่เราจะยัดใส่เข้าไป มันไม่ได้ใหญ่ระดับรูปละ 1 GB มันอยู่ไม่ถึง 1 MB ด้วยซ้ำ ทำให้ความเร็วไม่ได้เป็นปัญหาเท่าไหร่
วิธีการก็ง่ายมากคือ เราซื้อ External HDD มา แล้วเราก็เอาโทรศัพท์ของเราเสียบกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ถ้าเป็น macOS เราก็อาจจะใช้ App ที่ชื่อ Image Capture ที่ Pre-Install มากับ macOS ทุกเครื่องอยู่ละ แล้วก็ Import เข้าไปแปะไว้ที่ External HDD ของเราได้เลย
ข้อดีของวิธีการนี้คือ ราคาต่อความจุ ได้ในราคาที่ถูกมาก ๆ พวก External HDD เดี๋ยวนี้ไม่แพงเลย เช่น 5 TB อาจจะอยู่ไม่เกิน 4,000 บาทเองมั้ง นั่นก็ถือว่าโคตรใหญ่มาก ๆ แล้วสำหรับคนทั่วไปนะ
ข้อเสียคือ มันค่อนข้าง Manual หน่อย คือ เราจะต้องมานั่งเปิดคอมแล้วเสียบโทรศัพท์ กับ External HDD เพื่อจะ Backup เองทุกครั้ง ถ้าเกิด โทรศัพท์เราเกิดมีปัญหาหรือหายขึ้นมาก่อนหน้าที่เราจะ Backup รูปที่ยังไม่ได้ Backup คือจบเลยเหมือนกัน ไหนจะเรื่องของการจัดการรูปต่าง ๆ ว่า เราจะแยก Folder อะไรยังไง ตอนเวลาเราจะหา เราก็ต้องค่อย ๆ ไล่หาไปเรื่อย ๆ อาจจะมีพวก Catalog Software บางอย่างมาช่วย แต่ก็ต้องมานั่งจัดการมันเองอยู่ดี และท้ายสุดคือ มันไม่มีพวก Redundance ถ้าเกิด External HDD เสียคือ จบเลยนะ วิธีการแก้คือ อาจจะซื้อมา แล้วก็ก๊อปใส่ External HDD 2 อันก็ทำได้เหมือนกัน
ทำให้วิธีการพวกนี้ อาจจะเหมาะกับคนที่มี อุปกรณ์พวก External HDD หรือ SSD เหลือใช้จากงานอื่น ๆ ไว้ในบ้านอยู่แล้ว แล้วอยากจะลดต้นทุนในการจัดเก็บ วิธีการนี้ก็ทำได้เหมือนกัน
สรุป
3 วิธีการที่เราเอามาเล่าให้อ่านกันในวันนี้ เป็นวิธีง่าย ๆ ในการเก็บพวกข้อมูลจากโทรศัพท์ของเรา เพื่อไม่ให้เครื่องมันเต็ม แต่เราก็ยังสามารถเก็บพวกรูปและข้อมูลต่าง ๆ ของได้อยู่ โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเป็นเดือน ๆ สำหรับค่า Cloud โดยส่วนตัวแล้ว เริ่มต้นสำหรับคนทั่ว ๆ ไป เรายังแนะนำให้จ่าย Cloud นะ แต่ถ้ามันเริ่มบวมแล้ว เราต้องจ่ายเยอะขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ตอนนั้นแหละ เป็นเวลาที่ดีในการเปลี่ยนมาเลือกใน 3 วิธีนี้ และเลิกจ่ายค่า Cloud น่าจะดีกว่า โดยวิธีการที่เราแนะนำที่สุดคือ การใช้ NAS มันจะง่ายที่สุดแล้ว แต่ก็มากับเงินที่แพงที่สุดเช่นกัน เลยแนะนำให้ใช้ Cloud ไปก่อนเพื่อสร้าง Volume ก่อนนั่นเอง