Technology

EV101 : การชาร์จ Battery ให้อยู่กับเรานาน ๆ และเดินทางเร็วที่สุด

By Arnon Puitrakul - 06 เมษายน 2022

EV101 : การชาร์จ Battery ให้อยู่กับเรานาน ๆ และเดินทางเร็วที่สุด

ตอนก่อนหน้าเราคุยกันเรื่องของ Battery ไปแล้ว วันนี้เรามาดูอะไรที่มัน Practical มากขึ้นหน่อยอย่างการใช้งาน Battery โดยเฉพาะการ Charge ว่า ชาร์จแบบไหนดี หรือไม่ดีอะไรยังไง เราควรจะต้องทำตัวอย่างไรนั่นนี่เพื่อให้ เราเดินทางได้เร็วที่สุด และ อยู่กับเราได้นาน ๆ

Charging Mode

ในการชาร์จรถ EV จริง ๆ เราจะแบ่งมันออกเป็น 4 รูปแบบ หรือ 4 Mode ด้วยกัน ตามลักษณะของการชาร์จ

Mode 1 อันแรกจะเป็นอันที่ Plain ที่สุดคือ เราเอาสายไฟเสียบเข้ากับแหล่งจ่ายไฟ เช่น เต้าปลั๊ก แล้วเสียบเข้ากับ รถ โดยตรงเลย ไม่มีพวก Safety อะไรเลย เรื่องการควบคุมทั้งหมดเลยจะเป็นหน้าที่ของ BMS (Battery Management System) ที่แน่นอนว่า มันก็ไม่ได้น่าไว้ใจอะไรขนาดนั้น อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นเลยเป็น Mode ที่เราไม่ได้ใช้กันแล้ว และ ไม่ควรหาทำใช้

Mode 2 เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องของความปลอดภัย โดยการเพิ่มกล่องสำหรับควบคุมการชาร์จ และพวกอุปกรณ์สำหรับป้องกันอันตรายต่าง ๆ จากไฟฟ้าเข้าไปในสายเลย ถือว่าเป็น Mode ที่เพิ่มความปลอดภัยเข้ามา โดยทั่ว ๆ ไป ถ้าเราไปหาซื้อตามท้องตลาด เราก็จะเจออยู่ประมาณ 16A หรือ ประมาณ 3 kW ได้ ทำให้เราสามารถพกพาไปใช้ข้างนอกได้ สายชาร์จใน Mode 2 นี้ มักจะมาพร้อมกับรถ EV หลาย ๆ รุ่น ที่เราเรียกมันว่า สายชาร์จฉุกเฉิน (Emergency Charger)

Mode 3 จะดีกว่าหน่อยคือ มันจะเอากล่องที่ควบคุม และ ความปลอดภัยต่าง ๆ ออกมาเป็นเครื่องเลย ทำให้มันสามารถที่จะรองรับไฟได้ในขนาดที่สูงขึ้นได้อย่าง 7.3 kW จนไปถึง 22 kW สำหรับไฟ 3-Phase พวกนี้เราจะเรียกว่า Wall-Charger นั่นเอง บางรุ่นที่มากับรถเองส่วนใหญ่ก็จะเป็นที่ชาร์จปกติเลย ไม่ได้มี Feature อะไร แต่สำหรับที่ชาร์จแบบ Wall-Charge บางตัวก็จะมาเป็น Smart Charger ที่รองรับการควบคุมการชาร์จผ่าน App อะไรก็ว่ากันไป

Mode 4 ถือว่าเป็น Mode ที่มีกำลังชาร์จสูงที่สุดในทุก Mode แล้ว เพราะมันจะแปลงจาก AC ไปเป็น DC ที่ตู้เลย แล้วส่งเข้า Battery โดยตรงเลย ทำให้เราสามารถชาร์จได้เร็วมาก ๆ บางตู้อาจจะชาร์จได้ถึง 350 kW ไปเลย โดยที่ตู้พวกนี้ มักจะอยู่ในพวกปั้มซะเยอะที่เราจะต้องการความเร็วในการชาร์จสูง ๆ เราเลยมักจะเรียก Mode นี้ว่า Fast Charge

ใน Mode 1 - 3 ที่ผ่านมา จะเป็น Mode ที่เราเสียบไฟ AC เข้าไปในรถตรง ๆ และใช้สิ่งที่เรียกว่า On-Board Charger ในการแปลงไฟจาก AC ที่รับเข้ามาเป็น DC สำหรับเก็บเข้า Battery อีกที ที่จะแตกต่างกับ Mode 4 ที่การแปลงไฟจาก AC เป็น DC ที่นอกรถ แล้วส่งเข้า Battery โดยตรงเลย

โดยส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเป็นคนที่เป็นเจ้าของรถ EV เลย ไม่ได้เช่ามาใช้ชั่วคราว จะใช้กันอยู่ที่ Mode 3 สำหรับการใช้งานที่บ้าน และ Mode 4 สำหรับการใช้งานตอนเราเดินทางไกลเป็นหลักเลย อาจจะมี Mode 2 ในกลุ่มคนอาจจะเช่ามาขับ ไม่ได้มี Wall-Charge ในบ้าน หรืออาจะเป็นกลุ่มที่บ้านไม่สามารถติดตั้งที่ชาร์จแบบ Wall-Box ได้นั่นเอง

หัวชาร์จ

หลัก ๆ แล้ว ในไทย เราก็จะมีการใช้หัวชาร์จอยู่ทั้งหมด 2 รูปแบบด้วยกันคือ Type 2 และ CCS Combo 2 ส่วนประเภทอื่น ๆ เช่น Type 1 ที่เราจะเจอได้จากรถฝั่ง US ซะเยอะ และ CHAdeMo ที่มากับรถฝั่งญี่ปุ่นเลย

เอารูปแบบแรกกันก่อนที่เราได้เจอกันแน่นอน คือแบบ Type 2 พวกนี้เราจะเจอได้กับรถ EV ไม่ว่าจะเป็นพวก PHEV และ BEV แทบทุกคันในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ มันเป็นหัวสำหรับการเสียบชาร์จแบบ AC หรือกระแสสลับ ถ้ากลับไปที่เรื่อง Mode มันก็คือ Mode 1-3 นั่นเอง ที่จะใช้หัว Type 2 โดยที่มันจะมีความสามารถในการจ่ายไฟได้สูงสุดถึง 22 kW บนระบบ 3-Phase หรือ 7.2 kW บนระบบไฟ 1-Phase ไปเลย พวกนี้เราจะเจอได้ตามพวก Wall Charge ที่บ้านเรา, Emergency Charger ที่แถมมากับรถ และ ตามตู้ชาร์จบางที่ด้วย

CCS Combo 2

และอีกรูปแบบคือ CCS (Combined Charging System) Combo 2 หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่าหัวชาร์จเร็วนั่นเอง พวกนี้บอกก่อนว่าเราจะไม่เจอในบ้านเราแน่นอนในเวลาที่เขียนอะนะ ถ้าเราลองดูดี ๆ เราจะเห็นว่า มันประกอบด้วยหัวทั้งหมด 2 อัน มันเลยเรียก Combo หัวบน มันจะเป็นหัว Type 2 ที่เราคุยกันก่อนหน้านี้ และ ด้านล่างมันจะเป็นหัวที่ประกอบด้วย 2 Pin ด้วยกัน หัวพวกนี้ มันจะเป็นหัวที่จ่ายไฟแบบ DC เข้าไปที่ BMS แล้วเข้า Battery ตรง ๆ เลย ไม่ต้องผ่านพวก On-Board Charger ใด ๆ ทั้งสิ้นเลย ดังนั้น เราก็จะเจอได้กับ Mode 4 นั่นเอง ที่เราสามารถไปเสียบได้ตามปั้ม พวกนี้ก็จะชาร์จได้ด้วยกำลังที่สูงมาก ๆ ระดับ 300 kW น่าจะไม่เกินเอื้อมแล้ว แต่ ณ เวลาที่เขียน ในไทยตอนนี้เราเจอเยอะ ๆ เลยก็ 120 kW ของ ปตท หรือ 150 kW ของบางเจ้า แต่มากกว่านั้น ยังไม่เคยไปใช้บริการเหมือนกัน

ข้อควรระวัง

มาถึงข้อที่เราควรจะระวังกันหน่อย โดยเฉพาะการชาร์จใน Mode 2 ที่เราสามารถเสียบเข้ากับเต้าเสียบได้เลย อันนี้ เราไม่ค่อยแนะนำให้ใช้งานบ่อย ๆ หรือในระยะเวลาที่นาน เพราะการ Charge ใน Mode นี้ถึงจะจ่ายไฟได้ช้า เมื่อเทียบกับ Mode 3 และ 4 แต่ ถือว่าเยอะมาก ๆ เมื่อเทียบกับ การใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่ว ๆ ไป ทำให้ส่วนใหญ่แล้ว คนที่เขาเดินสายไฟที่ปลั๊กมาให้เรา อาจจะไม่ได้คิดเผื่อ อาจจะใช้งานได้ แต่ทำให้เกิดความร้อนสะสมภายในสาย และ เต้าเสียบ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น ในการใช้งาน Mode 2 เราแนะนำให้เสียบอยู่ในที่ ๆ เรามองเห็นได้หน่อย เผื่อมันเกิดอะไรขึ้น เราจะได้เข้าไปจัดการได้ก่อนที่มันจะเป็นเรื่องใหญ่นั่นเอง

ปล. Mode 1 ในไทยและหลาย ๆ ประเทศ ไม่อนุญาติให้ใช้แล้วนะ ดังนั้นก็อย่าหาทำเนอะ สายชาร์จ Mode 2 เยอะแยะ เผลอ ๆ แถมมากับรถแล้ว

อีกเรื่องที่เราอยากจะให้ระวังมาก ๆ คือ การใช้งานที่ชาร์จพวกนี้ ควรที่จะแยกวงจรออกจากเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ในบ้านเราเลย หรือก็คือให้มีการแยก Breaker ออกจากส่วนอื่น ๆ ของบ้านไปเลยจะดีกว่ามาก ๆ ไม่ว่า เราจะชาร์จใน Mode ไหนก็ตาม (Mode 2 ทั่ว ๆ ไปอาจจะยากหน่อยเนอะ เพราะ เรามักจะชาร์จในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเท่าไหร่ซะเยอะ)

และสุดท้ายคือ เวลาเราเดินสายไฟเพื่อใช้สำหรับการชาร์จรถในทุก ๆ Mode โดยเฉพาะใน Mode 2 ควรใช้สายที่เบอร์ใหญ่กว่าปกติไว้หน่อย เพื่อป้องกันการเกิดความร้อนสะสม จากการส่งกระแสปริมาณสูง และ เวลานาน ทำให้ปลอดภัยขึ้นเยอะมาก ๆ ของเราเองบน  Wall-Charge เราเดินเบอร์ 35 ไปเลย คือ Overkill มาก ๆ แต่เหลือจากเดินเมนก็เอาเถอะ ฮ่า ๆ

ถ้าสงสัยเรื่องของการเดินระบบไฟ เราเคยเขียนรีวิวเรื่องของการขอมิเตอร์ และ การเดินระบบไฟต่าง ๆ สำหรับการชาร์จรถ EV ภายในบ้านของเราไว้แล้ว กลับไปอ่านกันได้

ความเร็วในการชาร์จขึ้นกับอะไร ?

Charing Screen

คำถามที่หลาย ๆ คนมักจะถามคือ เราจะชาร์จแบตได้เร็วแค่ไหน เราจะสามารถเดินทางต่อได้เร็วขนาดไหน อันนี้เราต้องมาดูอยู่ 3 เรื่องก็คือ พลังของเครื่องจ่าย, พลังที่รถสามารถรับได้ และ ขนาดความจุของ Battery

เอาที่เรื่องของ พลัง หรือ Power กันก่อน อันนี้ง่าย ๆ เลยนะ ให้นับที่ ต่ำสุดของ เครื่องจ่าย และ ที่รถรับได้ เช่นเราบอกว่า เครื่องจ่ายป้อนได้สูงสุดที่ 250 kW แต่ถ้ารถเราได้แค่ 60 kW เราก็จะได้แค่ 60 kW สุดเท่านั้นนะ นอกจากน้ัน เวลาเราดูสเปก เราจะต้องดูแยกด้วยว่า ถ้าเป็นการชาร์จด้วย AC ตัว On-Board Charger ของรถรับได้เท่าไหร่ หรือถ้าเราชาร์จ Mode 4 ตัวรถเรารับ DC ได้ที่เท่าไหร่อีก จากตรงนี้ พอจะทำให้เราได้ พลังที่รถน่าจะรับได้คร่าว ๆ แล้วว่าเท่าไหร่

นอกจากนั้น อีกปัจจัยคือ ความจุของ Battery ด้วย ถ้าลูกใหญ่ ก็จะใช้เวลานานกว่าลูกเล็กที่พลังเท่ากันนั่นเอง คิดง่าย ๆ เลยนะ สมมุติว่า Battery ของเรามีขนาด 60 kWh เราบอกว่า เราชาร์จได้ที่ 7 kW นั่นแปลว่า 1 ชั่วโมง เราก็จะได้ 7 kWh ถามว่า 60 kWh เท่าไหร่เอา 7 หารเลย ก็จะประมาณ 8.57 ชั่วโมงได้ เพื่อจะจิ้มจาก 0 -> 100 %

แต่ ๆ เอาเข้าจริงแล้ว มันจะนานกว่านั้น ส่วนนึงเป็นเรื่องของ พลังงานที่หายไปในการชาร์จ ซึ่งอาจจะหายไปกับ ความร้อน และอื่น ๆ ได้อีกเยอะมาก ๆ นอกจากนั้นแล้ว เวลาชาร์จจริง ๆ เครื่องมันจะไม่ปล่อยพลังที่ชาร์จได้เต็ม ๆ ให้เราตลอด อันนี้ขึ้นกับ Battery เลยว่ามันมีลักษณะการชาร์จ (Charging Curve) อย่างไร แต่สั้น ๆ ก็คือ ยิ่งเปอร์เซ็นต์สูง มันก็ยิ่งปล่อยช้าลงเรื่อย ๆ

คิดภาพว่า การชาร์จแบตเหมือนกับเราเติมน้ำให้เต็มขวดเลย แรก ๆ เราก็เทแรง ๆ ได้ น้ำไหลเร็ว ๆ เลย เพราะเรารู้ว่า ยังไง ๆ ก็ไม่ล้นแน่ ๆ แต่พอเราเติมไปจนเต็ม ๆ ถ้าเราเติมเร็วเท่าเดิม มันมีโอกาสที่จะล้นได้ ดังนั้น เราก็ต้องค่อย ๆ เท เพื่อให้มันไม่ล้นนั่นเอง ส่วนใหญ่ มันก็จะเริ่มช้ามาก ๆ ที่ประมาณ 80% ทำให้เวลาเราเดินทางจริง ๆ บนการชาร์จแบบ Mode 4 เราก็จะจิ้มอยู่ไม่เกิน 80% หรือ แค่เอาให้ถึงสถานีต่อไป แล้วเดินทางต่อเลย ไม่เอาให้เต็มนะ เพราะมันช้ามาก ๆ ด้วยการเติมแบบนี้ ก็จะทำให้เราเติมแบตในช่วงที่มันชาร์จเร็วได้เยอะที่สุด นั่นแปลว่า มันก็จะลดเวลาในการชาร์จทำให้เวลาในการเดินทางน้อยลงนั่นเอง

เมื่อไหร่เราควรชาร์จ ?

ORA Good Cat Charging

สำหรับคนที่พี่งเข้ามาใช้งาน EV อาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ แล้วเวลาเราใช้งานจริง ๆ เนี่ย เมื่อไหร่ เราควรจะชาร์จนะ เราจิ้มมันทุกคืนเหมือนโทรศัพท์เลยได้มั้ย แล้วเราชาร์จไว หรือ Fast Charge บ่อย ๆ เนี่ยมันทำได้มั้ย

เอาเรื่องของเมื่อไหร่เราควรชาร์จก่อน ต้องยอมรับว่า คนไทยหลาย ๆ คนยังมีภาพจำอยู่ว่า การชาร์จแบตเนี่ย เราควรจะใช้ให้มันหมดก่อน หรือใกล้หมดแล้วเราค่อยชาร์จ นั่นเป็นเรื่องจริงนะ แต่เป็นกับ Battery ประเภทอื่น ๆ แต่ในพวก Battery ที่เป็น Lithium เอง เราจะชาร์จเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ขอให้ Maintain อยู่ที่ช่วง 20 - 80% กำลังดีเลย ดังนั้น เราใช้ ๆ ไปเหลือ 50% แล้วเราก็ชาร์จเป็น 80% ได้มั้ย ก็ได้เหมือนกัน ไม่ผิดนะ

ทำให้วิธีการชาร์จมันค่อนข้างยืดหยุ่นมาก ๆ คือ เราสามารถออกจากบ้านตอน 80% ไปทำงาน กลับมาจิ้มใหม่ให้ถึง 80% ทำได้มั้ย ก็ได้ หรือ เราจะโอเค ใช้ไปเรื่อย ๆ เลย เอาให้เหลือสัก 20-25% แล้วค่อยชาร์จถามว่าได้มั้ย ก็ได้เหมือนกัน ดังนั้น มันขึ้นกับการใช้ชีวิตของเรามากกว่า ว่า เราจัดการชีวิตของเราอย่างไร พยายามเลือกให้มันเข้ากับการใช้ชีวิตของเราให้มากที่สุด อย่าให้เรื่องพวกนี้มันทำให้เราปวดหัวกับการใช้ชีวิตเลย เราซื้อรถมาใช้นะแก

อย่างบ้านเราเอง บ้านเราใช้งาน ORA Good Cat ทั้งหมด 2 คันเลย แต่หน้าบ้าน เรามีพื้นที่ที่เอารถเข้ามาเสียบชาร์จได้แค่คันเดียวเท่านั้น ดังนั้น การที่เรากลับบ้านมา แล้วเสียบชาร์จกันทั้ง 2 คนเลย เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แน่นอน ดังนั้น พฤติกรรมของบ้านเราก็เลยเป็นการที่ชาร์จตอนจะหมด ถึงจะเอารถเข้าไปเสียบในบ้าน หรือเราเองที่ช่วงนี้ ปตท มันก็กำลังชาร์จฟรีอยู่ ทำให้ส่วนใหญ่ 99.999% เราก็จะจิ้มที่ ปตท ซะหมด ก็เป็นตัวอย่างแบบหนึ่งของคนที่อาจจะอาศัยอยู่ในคอนโดที่ไม่สามารถติดตั้งที่ชาร์จได้นั่นเอง ก็ไปอาศัยตู้สาธารณะเอา (ถ้า หมดฟรี เราก็จิ้มบ้านนะ)

เอาจริง ๆ ทำให้เราใช้แบตได้น้อยกว่าเดิมมั้ยนะ ?

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่เคยพูดถึงกันสักเท่าไหร่กับ ระยะทางของรถจริง ๆ นะ ปกติ เวลาเราคุยกันว่า รถคันนี้จะวิ่งได้เท่าไหร่ เช่น ORA Good Cat 500 Ultra ก็คือวิ่งได้ 500 km ตามมาตรฐาน NEDC ที่บางคนบอกว่า มันคือ Not even damn close!!! ฮ่า ๆ เออ เอาจริง สมควร ! ไว้จะมาเล่าละกัน ว่าทำไม

ถ้าเราเอาเลข 500 km มาใช้เลย มันคือการวิ่งตั้งแต่ 100% ถึง 0% ถามว่าเอาเข้าจริง ๆ เลยนะ ใครมันจะบ้าจี้ทำ เอาจริง ๆ เถอะนะ ปกติแล้วเวลาเราใช้งานจริง ๆ อะอย่างเราสัก 20% เราก็ใส่สั่นหาที่ชาร์จแล้ว และ อย่างที่บอกเพื่อเป็นการถนอมแบต และทำให้เราชาร์จได้เร็วที่สุด เราก็จะชาร์จอยู่ไม่เกิน 80% เท่านั้น ทำให้จำนวนเปอร์เซ็นต์ที่เราชาร์จเข้าไปจริง ๆ มันก็คือแค่ 60% เท่านั้นเอง ดังนั้นระยะทางที่เราจะวิ่งจริง ๆ ถ้าบอกว่า NEDC มันถูกเป๊ะ ๆ เลยนะก็คือประมาณ 300 km เท่านั้นเอง ถามว่ามันมีผลยังไงละ

มันมีผลตอนเราเดินทางไกลนี่แหละ อย่างที่บอกว่า การชาร์จมากกว่า 90% เป็นเรื่องที่ใช้เวลานานมาก ๆ ดังนั้นทำให้ระยะการเดินทางจริง ๆ ต่อชาร์จก็จะอยู่ที่ประมาณ 300 km เท่านั้นแทนที่จะเป็น 500 km ดังนั้นเวลาเราวางแผนการเดินทางจริง ๆ แล้ว ให้เราคำนึงเรื่องตรงนี้ไว้หน่อย อย่าหลงเอาแบบ 400-500 km มาใส่เด็ดขาด ไม่งั้นอาจจะเกมได้ ถ้าเจออากาศร้อน ๆ กับสัมภาระเยอะ ๆ

ใช้ Fast Charge บ่อย ๆ ดีมั้ย ?

PTT Charging Station

พอเราบอกว่า มันมี Mode 4 หรือ Fast Charge อยู่นะ งั้นเราบอกว่า ถ้าเราไม่ได้ชาร์จบ่อย ๆ เช่นอาทิตย์ครั้ง หรือจะหมดแล้วไปจิ้มทีนึง การใช้ Fast Charge ก็จะทำให้เราใช้เวลาในปั้มน้อยลงมาก ๆ  มันจะดีต่อ Battery มั้ย คำตอบสั้น ๆ เลยนะว่า ไม่ดี ในระยะยาว ๆ เลยละ

อย่างที่บอกในตอนก่อนว่า Battery เนี่ยมันไม่ชอบ ความร้อน ที่ร้อนมากไป การชาร์จเร็ว มันเป็นการอัดกระแสเข้าไปเป็นจำนวนมาก ๆ ในเวลาอันสั้น ทำให้เกิดความร้อนค่อนข้างมาก นั่นก็ไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่สำหรับ Battery ในระยะยาว

แต่ถามว่า ถ้าเราจำเป็นต้องเดินทางไกลจริง ๆ การใช้ Mode 4 หรือ Fast Charge ก็ทำให้เราถึงที่หมายได้เร็วขึ้นหลายเท่าตัวมาก ๆ ดังนั้น ก็ใช้ไปเถอะถ้าเราต้องใช้จริง ๆ แต่ถ้าเราบอกว่า เออ เราไม่จำเป็นก็ได้ เรารอได้ เช่น เรามี Wall-Box ที่บ้านอะไรแบบนั้น ถามว่า การใช้ Wall-Box บน Mode 3 กับ Mode 4 อันไหนดีต่อ Battery มากกว่า คำตอบก็คือ Mode 3 แหละ ดังนั้น ก็แนะนำว่า ถ้าตอนไหนที่ Mode 4 ไม่ได้ให้อะไรกับเรามาก เช่นแพงกว่า และ เราต้องไปหาที่อีก เราว่าไปจิ้ม Mode 3 ที่บ้าน ดีต่อใจของ Battery เยอะกว่าเยอะ

สรุป

การชาร์จ Battery บนรถ EV เอาจริง ๆ ด้วยความที่เทคโนโลยีอย่างแบต Lithium มันทำให้การใช้งานค่อนข้างยืดหยุ่นมาก ๆ แล้วขอแค่เราคงไว้ที่ 20 - 80 % พอแล้ว เราจะชาร์จเมื่อไหร่ก็ได้แล้ว ไม่มีพวก Memory Effect เหมือนกับเทคโนโลยีเก่า ๆ แล้ว กับถ้าเราไม่ได้ใช้ยาว ๆ เช่น เราบอกว่า เราอาจจะต้องจอดทิ้งไว้สักอาทิตย์ หรือเดือนเลย แนะนำว่าให้ Drain ให้เหลือสัก 50% กำลังดีเลยละ และ การชาร์จถ้าจำเป็นต้องเดินทางไกล การใช้ Fast Charge ก็เป็นเรื่องที่โอเคเลย ทำให้เราเดินทางได้เร็วมาก ๆ แต่ถ้าเราใช้ในชีวิตประจำวัน แล้ว Fast Charge ไม่ได้ฟรี แล้วเราจิ้มบ้านถูกกว่า เราแนะนำให้จิ้ม Mode 3 ดีกว่า แต่สิ่งสำคัญเลยนะคือ อย่าไปซีเรียสกับเรื่องพวกนี้เยอะ เอาที่เราสะดวกดีกว่า เราซื้อรถมาใช้ ไม่ได้เอามาเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์เนอะ

Read Next...

รวมวิธีการ Backup ข้อมูลที่ทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน

รวมวิธีการ Backup ข้อมูลที่ทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน

การสำรองข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ อารมณ์มันเหมือนกับเราซื้อประกันที่เราก็ไม่คาดหวังว่าเราจะได้ใช้มันหรอก แต่ถ้าวันที่เราจำเป็นจะต้องใช้การมีมันย่อมดีกว่าแน่นอน ปัญหาคือเรามีวิธีไหนกันบ้างละที่สามารถสำรองข้อมูลได้ วันนี้เราหยิบยกวิธีง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้านมานำเสนอกัน...

Trust ความเชื่อมั่น แต่ทำไมวงการ Cyber Security ถึงมูฟออนไป Zero-Trust กัน

Trust ความเชื่อมั่น แต่ทำไมวงการ Cyber Security ถึงมูฟออนไป Zero-Trust กัน

คำว่า Zero-Trust น่าจะเป็นคำที่น่าจะเคยผ่านหูผ่านตามาไม่มากก็น้อย หลายคนบอกว่า มันเป็นทางออกสำหรับการบริหาร และจัดการ IT Resource สำหรับการทำงานในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันคืออะไร และ ทำไมหลาย ๆ คนคิดว่า มันเป็นเส้นทางที่ดีที่เราจะมูฟออนกันไปทางนั้น...

แปลงเครื่องคอมเก่าให้กลายเป็น NAS

แปลงเครื่องคอมเก่าให้กลายเป็น NAS

หลังจากเราลงรีวิว NAS ไป มีคนถามเข้ามาเยอะมากว่า ถ้าเราไม่อยากซื้อเครื่อง NAS สำเร็จรูป เราจะสามารถใช้เครื่องคอมเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาเป็นเครื่อง NAS ได้อย่างไรบ้าง มีอุปกรณ์ หรืออะไรที่เราจะต้องติดตั้งเพิ่มเติม วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกัน...

รีวิว Ugreen Nexode Pro Charger ที่เบา กระทัดรัดที่สุด

รีวิว Ugreen Nexode Pro Charger ที่เบา กระทัดรัดที่สุด

เมื่อปีก่อน เรารีวิว Adapter 100W จาก UGreen ที่เคยคิดว่ามันเล็กกระทัดรัด น้ำหนักเบา พกพาง่ายที่สุดไปแล้ว ผ่านมาปีนึง เรามาเจออีกตัวที่มันดียิ่งกว่าจากฝั่ง Ugreen เช่นเดียวกันในซีรีย์ Nexode Pro วันนี้เรากดมาใช้เอง 2 ตัวคือขนาด 65W และ 100W จะเป็นอย่างไร อ่านได้ในบทความนี้เลย...