Technology

EV101 : ในปี 2022 BEV มันใช้ได้จริงหรือยัง ?

By Arnon Puitrakul - 30 มีนาคม 2022

EV101 : ในปี 2022 BEV มันใช้ได้จริงหรือยัง ?

คำถามที่เราได้จากเพื่อน ๆ และ หลาย ๆ คนที่ทักเข้ามาถามเยอะมาก ๆ ว่า จริง ๆ แล้วการซื้อรถไฟฟ้าในปี 2022 มันใช้งานจริงได้หรือยัง แล้วมันใช้งานลำบากหรือไม่ และ ณ วันนี้มันเหมาะกับใคร เราจะมาตอบคำถามนี้ไปพร้อม ๆ กัน

รถ BEV มันใช้งานจริงได้หรือยัง​ ?

ในช่วงปีที่ผ่านมา ฝั่งของไทยเอง หลาย ๆ เจ้าก็เริ่มเอา BEV เข้ามาขายกันเยอะแล้วละ ต้องยอมรับเลยว่า ไทยเราตอบรับกับ BEV ได้เร็วมาก ๆ เผลอ ๆ เร็วกว่าฝั่งยุโรปเมื่อสัก 10 ปีที่แล้วอีก (จริง ๆ ฝั่งที่เขาเจริญแล้วน่ะ เขาใช้กันจนมันเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปแล้ว ไทยเราไม่เจริญ รอหน่อย) ดูจากการตลาดเมื่อ 2 ปีก่อน แล้วเทียบกับตอนนี้ จำนวนรุ่นที่เปิดมาในงาน Motor Show ที่ผ่านมาเยอะขึ้นแบบก้าวกระโดดเลยละ นอกจากนั้น คนไทยเองก็ยังมีความสนใจในรถ BEV เยอะมาก ๆ เลยทีเดียว ยิ่งทำให้ผู้ผลิตก็อยากจะเอาเข้ามาเลยทีเดียว

ในแง่ของการใช้งาน ณ รุ่นที่ขายอยู่ในไทย ณ วันที่เขียนเลย ระยะทางที่ไปได้ไกลสุด ก็น่าจะอยู่ที่ราว ๆ 750 km ต่อการชาร์จสักที อะโอเค อันนั้นมัน EQS ซึ่ง 6 ล้านกว่าบาทแน่นอน และยังไม่ขายจริงเน้นการจับกลุ่มตลาดรถ Premium โดยเฉพาะ อาจจะดูจับต้องได้ยากสำหรับคนทั่ว ๆ ไป อะงั้นเราลด Range ราคาลงไปหน่อยเป็นช่วง แสน ถึงล้านกว่า ๆ ก็น่าจะไปตกอยู่ในกลุ่มของ ORA Good Cat, MG EP และ MG ZS EV ที่ขายแล้ว ณ วันนี้ แก๊งค์นั้นก็จะวิ่งได้อยู่ 400 - 500 km ต่อการชาร์จ

นอกจากนั้น ฝั่งของสถานีชาร์จไฟเร็ว ก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเลยละ ก่อนหน้านี้เมื่อสัก 2 ปีก่อน คือเราบอกเลยว่า การใช้รถ BEV ในไทยคือ น่าจะลำบากพอสมควรเมื่อเราต้องเดินทางไกล เพราะสถานีชาร์จมันมีน้อยมาก ๆ แต่ ณ วันนี้ เราบอกเลยว่า หลาย ๆ เจ้าอย่าง PEA, EGAT, PTTOR และเอกชนเจ้าอื่น ๆ ลงมาเล่นกันเยอะมาก ๆ เราเดินทางไปในเส้นทางหลัก ๆ เช่น ถนนมิตรภาพ และ ถนนเพชรเกษม ถ้าเราลองเปิดดูก็จะเห็นเลยว่า มันมีเป็นรายทางเลย คือ เราสามารถจิ้มได้เรื่อย ๆ โดยที่ Range 400 - 500 km คือวิ่งกันได้ชิว ๆ เลย ยังไม่นับว่า ถ้ามันได้รับการตอบรับขนาดนี้

ดังนั้น จากทั้งฝั่งของ รถที่เอาเข้ามาขาย และ สถานีชาร์จไฟ (Charging Network) ในประเทศไทย เรามองว่า ก็ค่อนข้างพร้อมมาก ๆ แล้วสำหรับการใช้งานทั่ว ๆ ไป แบบรถบ้าน เราขับไปทำงาน ขับไปเที่ยวได้เลย ดูจากใน Vlog ของ Youtuber หลาย ๆ เจ้า ก็จะเห็นเลยว่า มันก็ไปได้นะ แต่.... มันก็จะมีความแตกต่างกับรถน้ำมันนิดหน่อย

อะไรเป็นอุปสรรค์ของการใช้ BEV ในไทย ?

โอเค เราบอกว่า จาก ความสนใจ ผู้ขาย และ Charging Network ที่มันค่อนข้างพร้อมมาก ๆ ในประเทศไทยแล้ว ถามว่า แล้วถ้าเราเอามาใช้ ณ วันนี้ เราจะต้องเจอกับอะไรที่มันแตกต่างกับการใช้งานรถน้ำมันปกติเลย

เรื่องแรกที่เรามองว่าสำคัญมาก ๆ คือ ต้องบอกเลยว่า ณ วันนี้ ต้องยอมรับว่า Charging Network ที่เราว่ามันค่อนข้างพร้อม แต่ถามว่า มันมีสถานีเยอะเท่ากับปั้มน้ำมันเลยมั้ย ก็คือ มันไม่เท่าอยู่แล้ว ถึงจะมีเป็นตามทางเลยก็ตาม เพราะหลาย ๆ คนคาดหวังว่า ก็เดินทางไกลแล้วเห็นปั้มแล้วเข้าได้เลย มันอุ่นใจกว่า อันนี้แหละ คือสิ่งที่คนใช้ BEV ในประเทศไทยช่วงปี 2022 ต้องยอมรับให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ถามว่า มันทำให้การเดินทางเป็นไปไม่ได้เลยมั้ย คำตอบคือ ไม่นะ ก็เดินทางได้ แต่ ๆๆๆ เราจะต้องแก้ปัญหาด้วยการทำสิ่งที่ทุกคนควรจะทำตอนเดินทางคือ การวางแผน ! และ เมื่อเราใช้ BEV ช่วงนี้ เราอาจจะต้องวางแผนเยอะหน่อยว่า เราจะจิ้มที่ไหนบ้าง จิ้มสักเท่าไหร่ดี และในสถานการณ์ว่า หัวชาร์จเกิดไม่ว่าง หรือเสียขึ้นมา เราจะไปที่ไหนเป็นที่สำรอง

ยังไม่นับว่า เมื่อ BEV ได้รับความนิยมเร็วเกินไป เราก็มีข้อกังวลขึ้นมาว่า จำนวนหัวชาร์จสาธารณะมันจะขึ้นเร็วมากเพียงพอกับความต้องการหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า การชาร์จไฟ มันไม่เหมือนเติมน้ำมันแค่ 5 นาทีแล้วไปต่อ มันใช้เวลาเยอะสุดก็ 1 ชั่วโมงเลย ทำให้ Turnaround Time (TAT) มันสูงกว่ามาก ๆ ดังนั้น 1 ปั้มมีหัว CCS2 Combo เพียง 1 หัวอาจจะไม่พอเสียแล้วก็ได้

การแวะจอดพัก จากเดิมที่เราใช้เวลาไม่เกิน 5 นาทีในการเข้าปั้มเพื่อเติมน้ำมันแล้วเราก็เดินทางต่อได้เลย อาจจะเพิ่มเวลาอีกสัก 10 นาทีในการเดินไปเข้าห้องน้ำ ยืดเส้นยืดสายหน่อย แต่ถ้าเป็นรถไฟฟ้า เติมนานสุดเลยจริง ๆ เช่นเหลือสัก 5% แล้วชาร์จให้ไปถึง 80% ก็อาจจะใช้เวลาสัก 1 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นหน่อยเลยก็ได้ ทำให้เรื่องนี้ เราอาจจะต้องเผื่อเวลาในการเดินทางขึ้นไปสักหน่อย เพราะต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีในการชาร์จ Battery ณ วันนี้เรายังไม่สามารถที่จะทำให้เราชาร์จเต็มใน 5 นาทีแบบรถน้ำมันได้ ก็อาจจะต้องไปยืดเส้นยืดสาย แวะกินข้าว หรือจะนอนดู Netflix แอบงีบไปพราง ๆ ก็ได้

เรื่องถัดไปที่หลาย ๆ คนกังวลคือ ถ้าแบตหมดแล้วรถจะดับเลยหรือไม่ ถ้าเอาทางเทคนิค มันจะไม่ดับเลย เพราะใน Battery ที่เราใช้งานจริง ๆ แล้วเมื่อถึง 0% ไฟในแบตยังไม่หมดจริง ๆ หรอก เพราะทางผู้ผลิตเขาป้องกันเรื่องนี้มาแล้วอาจจะให้มีไฟเหลือในนั้นสักหน่อย เพื่อไม่ให้ Battery ได้รับความเสียหาย ดังนั้นมันจะไม่หยุดวิ่งหรอก แต่มันอาจจะขึ้น Warning มาให้เราเอารถจอดข้างทางอะไรแบบนั้น ถ้ามันแบบ หมด แบบ หมดเลยจริง ๆ หรือคิดอีกมุมนะว่า ถ้าเราขับรถน้ำมันจริง ๆ อะ ถ้าน้ำมันหมด มันก็จอดข้างทางเหมือนกันนะ และสถานการณ์แบบนี้ส่วนใหญ่แล้วก็กลับไปที่เดิมคือ เรื่องของ การวางแผน

การ Maintenance

อีกเรื่องที่หลาย ๆ คนเป็นห่วงมาก ๆ คือ การ Maintenance หรือการบำรุงรักษา เบื้องต้นเราต้องบอกก่อนว่า การบำรุงรักษา รถ BEV เป็นเรื่องที่ง่ายมาก ๆ เพราะเอาเข้าจริงแล้วมันไม่มีชิ้นส่วนอะไรให้เราเปลี่ยน หรือของเหลวให้เราเปลี่ยนเยอะเท่ารถ ICE ทั่ว ๆ ไปเลย อย่างน้อย ถ่ายน้ำมันเครื่องที่เราต้องไปถ่ายกันทุก 10,000 km ก็หายไปแน่ ๆ ของเหลวที่เหลืออย่างเดียวก็น่าจะเป็นน้ำมันเบรก และน้ำมันเกียร์ ที่เราก็ไม่ได้ถ่ายบ่อย ๆ หรอก อาจจะทุก 60,000 km ได้เลยมั้งนะ ซึ่งที่เหลือจากเดิม ที่เราต้องถ่ายน้ำมันเครื่องทุกครั้ง เราก็เหลือแค่เปลี่ยนไส้กรองแอร์ กับการเช็คระบบไฟ และ ระบบการทำงานของรถทั่ว ๆ ไปเท่านั้น ทำให้การ Maintenance โดยรวม ราคาถูกกว่ารถที่เป็น ICE ค่อนข้างมากเลยทีเดียว

อีกความกังวลคือ เรื่องความเสื่อมของ Battery ส่วนตัวเรามองว่า อะส่วนนึงคือใช้งานไปมันก็ต้องเสื่อมอยู่แล้วละ เหมือนกับแบตโทรศัพท์ของเราแต่ Battery พวกนี้มันจะไม่ได้ใช้ ๆ ไป 2-3 ปีแล้วเสื่อมแน่ ๆ คืออายุของมันยาวกว่านั้นมาก อาจจะมีถึง 10 ปีเลยก็ได้ ถึงตอนนั้นอาจจะเสื่อมไม่เยอะ แต่ขึ้นกับการใช้งานของเราด้วยนะ ถามว่าแล้วถ้าถึงตอนนั้นจริง ๆ แล้วถ้าเราต้องเปลี่ยนแบต เราจะต้องเสียหลายแสน ยกทั้งก้อนเลยมั้ย คำตอบคือ ไม่

เพราะส่วนใหญ่รถ BEV ที่มี Battery ขนาดใหญ่ ๆ เขาจะไม่ได้ทำมาเป็นก้อนเดียวทั้งคัน แต่จะซอยย่อยเป็น Module เล็ก ๆ ทำให้เวลาเราเปลี่ยนจริง ๆ เราจะไม่ได้เปลี่ยนทุก Module หรอก ทำให้ราคาในการเปลี่ยน ไม่ได้แพงอะไรมากขนาดที่หลาย ๆ คนคิด

ณ วันนี้มันเหมาะกับใคร ?

จากสิ่งมีหลาย ๆ ฝั่ง ณ วันนี้ ถามว่า มันเหมาะกับใคร คนกลุ่มแรกเลยที่เราคิดถึง และเราก็เป็นหนึ่งในนั้นคือ กลุ่มคนที่ขับรถวันนึงไม่เกินระยะของรถ เช่น เราบอกว่า รถเราวิ่งได้สัก 500 km ถ้าวันนึง เราไปกลับแล้วไม่เกิน 500 km เรามองว่า โอเคเลยนะ เพราะ เราสามารถขับไปกลับ แล้วกลับมาจิ้มปั้มแถวบ้าน (ถ้ามี) หรือ เรากลับมาจิ้มที่บ้านได้ เรามองว่าเรื่องนี้คือลดต้นทุนการเดินทางไปเยอะมาก ๆ หรือถ้านาน ๆ ทีเราไปเที่ยวไกล ๆ เลย มันก็โอเคนะ

ทำให้ซอยไปเป็นอีกกลุ่มคือ คนในเมืองทั้งหลาย โดยเฉพาะตามหัวเมืองต่าง ๆ เช่น กทม, พัทยา, ขอนแก่น และ เชียงใหม่ พวกนี้คือ ที่ชาร์จเพียบ และ รถก็ค่อนข้างติด ทำให้การใช้ EV ประหยัดค่อนข้างมาก และ การชาร์จก็ไม่ต้องกลัวเลย ห่างกันไม่เกิน 10-15 km แน่นอนอย่างมากแล้วนะ

ส่วนคนที่ต้องเดินทางไกล ไกลว่าระยะที่รถทำได้บ่อย ๆ แบบทุกวันเลย เรามองว่า การใช้ EV ณ วันนี้อาจจะยังไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ ถ้าเราต้องเสียเวลาวันละ 1 ชั่วโมงในการจอดชาร์จมันก็แย่แล้วนะ เช่นเราบอกว่า เราต้องเดินทางจาก กทม ไป เชียงใหม่ไปกลับทุกวันหรือเดือนละ 10 ครั้ง ++ เรามองว่ามันเสียเวลาในการใช้ชีวิตมากเกินไป แต่ถ้าอนาคตเรามีรถที่วิ่งได้ไกลถึงที่ ๆ เราไปบ่อย ๆ ไปโดยที่เราไม่ต้องจิ้มทุก ๆ วันหรือ 80% ของชีวิตได้นั่นแหละตอนนั้นที่เรามองว่ามันตอบโจทย์มาก ๆ

และสุดท้ายที่เราว่า จริง ๆ มันก็เหมาะนะ แต่เรายังไม่เห็นฝั่งไทยเอาเข้ามาเล่นคือ กลุ่มของการขนของ พวกรถ Pick-up ทั้งหลาย เพราะกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้า การขับเคลื่อน มันไม่ใช่ปัญหาเลย และ ถ้ามันมาได้จริง ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ทั้งเรื่องน้ำมันที่จะกลายเป็นไฟฟ้า และ ค่า Maintenance มันก็จะถูกลงแบบเยอะมาก ๆ ส่งผลไปในเรื่องของต้นทุนของผู้ประกอบการ และ ก็สะท้อนไปที่ฝั่งของผู้บริโภคตามลงมาเรื่อย ๆ แต่ ๆๆๆ ณ วันที่เขียน ในไทยเอง เราก็ยังไม่เห็นเอาเข้ามา หรือในโลกเอง ตอนนี้เราก็ยังเห็นไม่เยอะนะ อาจจะต้องรอหน่อย

สรุป

วันนี้ EV เรามองว่า คนทั่ว ๆ ไป สามารถใช้งาน BEV ได้แบบไม่มีปัญหาเลย อาจจะต้องปรับตัวเล็กน้อยกับการวางแผนการเดินทางที่อาจจะต้องมากกว่าการใช้รถน้ำมันสักหน่อย แต่ก็แลกมากับความประหยัดค่าเชื้อเพลิง และ ค่าบำรุงรักษา ค่อนข้างมาก ถ้ารับได้กับอุปสรรค์ที่เราเล่าไป เรามองว่า โอเคเลยนะ แต่ถ้าเราบอกว่า เราเดินทางไกลทุก ๆ วันเลย ไกลว่าระยะที่รถทำได้อะนะ เราว่าใช้รถน้ำมันไปก่อนดีกว่า รอเวลาให้เทคโนโลยีของการชาร์จมันเร็วขึ้น และ Battery ไปได้ไกลขึ้นด้วย อาจจะไปเล่นพวก PHEV ก็ได้

Read Next...

AI Watermark กับความรับผิดชอบต่อการใช้ AI

AI Watermark กับความรับผิดชอบต่อการใช้ AI

หลังจากดูงาน Google I/O 2024 ที่ผ่านมา เรามาสะดุดเรื่องของการใส่ Watermark ลงไปใน Content ที่ Generate จาก AI วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า วิธีการทำ Watermark ใน Content ทำอย่างไร...

เราจำเป็นต้องใช้ NPU จริง ๆ เหรอ

เราจำเป็นต้องใช้ NPU จริง ๆ เหรอ

ก่อนหน้านี้เราทำ Content เล่าความแตกต่างระหว่าง CPU, GPU และ NPU ทำให้เราเกิดคำถามขึ้นมาว่า เอาเข้าจริง เราจำเป็นต้องมี NPU อยู่ในตลาดจริง ๆ รึเปล่า หรือมันอาจจะเป็นแค่ Hardware ตัวนึงที่เข้ามาแล้วก็จากไปเท่านั้น วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกัน...

Database 101 : Spreadsheet ไม่ใช่ Database โว้ยยยย

Database 101 : Spreadsheet ไม่ใช่ Database โว้ยยยย

บทความนี้ เราเขียนสำหรับมือใหม่ หรือคนที่ไม่ได้เรียนด้านนี้แต่อยากรู้ละกัน สำหรับวันนี้เรามาพูดถึงคำที่ถ้าเราทำงานกับพวก Developer เขาคุยกันบ่อย ๆ ใช้งานกันเยอะ ๆ อย่าง Database กันว่า มันคืออะไร ทำไมเราต้องใช้ และ เราจะมีตัวเลือกอะไรในการใช้งานบ้าง...

Hacker Crack โปรแกรมอย่างไร

Hacker Crack โปรแกรมอย่างไร

หากใครที่อายุใกล้ ๆ 30 ต้องเคยผ่านประสบการณ์โลกออนไลน์ในยุค 90s' มาไม่มากก็น้อย เป็นยุคที่เราเน้นใช้โปรแกรมเถื่อน ขายกันอยู่ในห้างพั____พ กันฉ่ำ ๆ ตำรวจตรวจแล้วเราไม่มีขายตัว แต่เคยสงสัยถึงที่มาของโปรแกรมเหล่านี้มั้ยว่า เขา Crack กันอย่างไร วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกัน...