Technology

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง

By Arnon Puitrakul - 06 กรกฎาคม 2021

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง

บริการ Streaming กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่บริการ Music Streaming อย่าง Spotify และ Apple Music แต่วันนี้เราจะมาคุยกันอีกประเภทของบริการ Streaming นึงที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันกันคือ Video Streaming อย่าง Netflix, Apple TV+ และน้องใหม่ในตลาดประเทศไทยอย่าง Disney+ Hotstar

บริการ Video Streaming แต่ละเจ้า ก็จะมีความสามารถที่ต่างกัน แต่ใน 3 เจ้าที่เรายกมาในวันนี้ ทุกคนจะมีการใช้ความละเอียดระดับ 4K พร้อมกับระบบภาพในรูปแบบ HDR ผ่านระบบ HDR10 หรือ Dolby Vision (ในทีวีที่รองรับ) และ ระบบเสียงตั้งแต่ 5.1 ยาวจนไปถึง Dolby Atmos DD+ แต่ถ้าเราลองดูเทียบ ๆ กัน จะเห็นได้เลยว่า ทำไมความละเอียด 4K เท่ากันเลยนะ แต่ทำไมภาพมันชัดไม่เท่ากัน เอ๊ะ ทำไมกันนะ วันนี้เราลองไปหาคำตอบพร้อม ๆ กัน

ภาพ คืออะไร ?

เราว่าหลาย ๆ คนอ่านหัวข้อนี้แล้วคือ อิหยังว้าาา ภาพก็คือภาพสิ ก็จริงแหละ ฮ่า ๆ แล้วมันเกี่ยวกับวีดีโอที่เรากำลังคุยกันยังไงละ จริง ๆ แล้ววีดีโอ ก็คือการเอาภาพมาต่อ ๆ กันนั่นเอง เหมือนกับที่เราค่อย ๆ วาดรูปลงไปในมุมของสมุดต่อ ๆ กันไปเรื่อย ๆ แล้วเปิดรูด ๆ เราก็จะเห็นมันเป็นภาพเคลื่อนไหวใช่ม่ะ ดังนั้น วีดีโอ จริง ๆ แล้วมันก็คือภาพต่อ ๆ กันนั่นเอง

เมื่อเราพูดถึงภาพ ภาพก็คือภาพ ถามแปลก ๆ แต่คอมพิวเตอร์ไม่ได้มองแบบนั้นน่ะสิ คอมพิวเตอร์มองทุกอย่างเป็นตัวเลขไปหมด แล้วเราจะทำให้ภาพมันกลายเป็นตัวเลขยังไงดี ถ้าเราคิดถึงรูปภาพสักหนึ่ง เราจะต้องวัดขนาดมันให้ได้ก่อน ซึ่งก็คือ กว้าง และ ยาว ซึ่งในคอมพิวเตอร์ เราจะใช้หน่วยเป็น Pixel

ตัวอย่างเช่น เราบอกว่า กล้องถ่ายรูปนี้สามารถถ่ายได้ 24 MP (ล้าน Pixel) ก็คือไฟล์รูปที่เราได้ออกมา เมื่อเอากว้างคูณยาว จะได้ ประมาณ 24 ล้านนั่นเองกลับมาที่วีดีโอ เราอาจจะเคยได้ยินอะไรประมาณว่า ความละเอียด แน่ ๆ

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

ในโลกของวีดีโอ มันก็จะไล่ไปได้หลายขนาดมาก ๆ แต่เราขอยกตัวอย่างตั้งแต่ HD ละกัน หรือบางคนเรียกว่า 720p ซึ่งเป็นการบอกว่า อะไรไม่รู้ละ แต่ความยาวต้องเป็น 720 ส่วนความกว้างจะเป็นเท่าไหร่ก็ได้ขึ้นกับ อัตราส่วน

คำใหม่มาอีกแล้วคือ อัตราส่วน มันก็คืออัตราส่วนระหว่างความกว้างและยาวของภาพ ตัวอย่างเช่น อัตราส่วนที่เรานิยมกันในวีดีโอคือ 16:9 หรือก็คือ กว้าง 16 ส่วน ยาว 9 ส่วน ดังนั้น ถ้าเรามี ยาว 720 คิดเป็น 9 ส่วน เราอยากรู้ความกว้าง เราก็แค่เอา 720 หารด้วย 9 และคูณด้วย 16 ก็จะได้เป็น 1280 ทำให้ วีดีโอที่ความละเอียด 720p ก็จะมีขนาดกว้าง และ ยาวอยู่ที่ 1280x720 Pixel นั่นเอง ลองทำขำ ๆ ดู ถ้าเป็น 4:3 ที่ 720p ละ จะได้ขนาดเท่าไหร่ คำตอบคือ 960×720 Pixel นั่นเอง บางคนจะเรียกขนาดว่า ความละเอียด

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

เรื่องขนาดมันก็เหมือนกับการปูพื้นที่ไปละ ทีนี้ เรามาพูดถึง Content ข้างในกันบ้างดีกว่า ถ้าเราลอง Zoom ลงไปในรูปจนเห็นว่ามันเป็น Pixel เราจะเห็นได้เลยว่าใน 1 Pixel จะมีแค่สีเดียวเท่านั้นเหมือนกับเราระบายสีลงไปในช่องนั่นเอง ถ้าเอาง่ายที่สุดเลย เราระบายได้แค่สีดำ หรือ ขาว เท่านั้น นั่นแปลว่า ใน 1 Pixel เราจะต้องใช้ 1 Bit ในการเก็บ ก็คือ 1 และ 0 โดยที่อาจจะให้ 1 แทนสีขาว และ 0 แทนสีดำก็ได้

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

ดีขึ้นมาหน่อย เราอาจจะใช้เป็น Greyscale เราไม่รู้จะเรียกภาษาไทยว่าอะไรเลย มันจะต่างจากขาวดำตรงที่มันจะมีการไล่เชดสีขึ้นมา แต่สีก็ยังเป็นสีดำ ถึงจนถึงขาวอยู่นะ แต่เวลาเก็บเราเก็บ 1 Bit เหมือนเดิมไม่ได้แล้วสิ เพราะเราต้องการเชดสีขาวดำ ก็แล้วแต่เราว่าจะเก็บเท่าไหร่ เช่น 8 Bits เราก็จะไล่ได้ 256 ระดับ มาจาก 2 ยกกำลัง 8

เรื่องของ สี กับการออกแบบโดย Programmer สู่ Programmer
สี เป็นเครื่องมือนึงที่ใช้ในการสื่อสารได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับการสร้าง First Impression ให้กับงานเรา วันนี้เราเลยจะมานำเสนอเรื่องของสี ว่าสีมันมีการอ้างอิงอย่างไร และ เราจะเลือกมันอย่างไรให้เข้ากับงานของเรา

แต่แหม่ ตอนนี้เราก็แสดงผลเป็นสีหมดแล้วสินะ แล้วมันเก็บยังไงดี เราเคยพูดเรื่องระบบสีมาแล้วลองไปอ่านได้ โดยปกติแล้ว เราจะใช้ RGB กันในวีดีโอนี่ละ ณ วันนี้พื้นฐานสุด ๆ เราจะใช้กันอยู่ที่ 8 Bits นี่ละ แต่เป็น 8 Bits ในแต่ละ Channel ก็คือ Red, Green และ Blue ทำให้ทั้งหมด เราจะต้องใช้เป็น 8 คูณด้วย 3 ก็คือ 24 Bits ต่อ 1 Pixel หรือถ้าเอาจำนวนเชด ก็อยู่ที่ประมาณ 16 ล้านสี พวกจำนวน Bit ที่เราใช้ในการอ้างอิงจำนวนสีพวกนี้แหละ เราจะเรียกมันว่า Bit Depth นั่นเอง เช่น เราบอกว่าวีดีโอนี้ Bit Depth เป็น 8 ก็คือใน 1 Pixel เราจะใช้ที่เก็บ 24 Bits นั่นเอง หรือวีดีโอ ที่เป็นพวก HDR Content สมัยใหม่ ๆ หน่อยก็อาจจะใช้ถึง 10 Bits หรือ 12 Bits กันเลยทีเดียว อันนี้เดี๋ยวเรามาเล่าเรื่องของ HDR อีกรอบนึงมันยาว

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

อย่างที่บอกว่าวีดีโอคือการต่อ ๆ กันของรูปภาพ ตอนที่เรารูดสมุดที่วาดรูปไว้ต่อ ๆ กัน ถ้าเรารูดเร็ว ๆ กับรูดช้า ๆ มันก็จะต่างกันแน่ ๆ ละ ความเร็วพวกนี้เราจะเรียกว่า Frame Rate หรือก็คือใน 1 วินาที เราต้องใช้ทั้งหมดกี่รูปกัน โดยที่ 1 รูป เราก็จะเรียกว่า 1 Frame ทำให้เราเลยเรียกหน่วยนี้ว่า FPS (Frame per Second) เหมือนกับที่คนเล่นเกมจะถามกันว่าได้กี่ FPS ก็คือเรื่องเดียวกันเลย

Bitrate

พอเรารู้ความละเอียดของวีดีโอแล้ว เรารู้ Bit Depth แล้ว เรารู้ Frame Rate แล้ว เราก็จะคำนวณได้ละว่า 1 วินาที มันจะต้องใช้ขนาดเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น เราบอกว่าวีดีโอนี้ มีความละเอียด 2160p บนอัตราส่วน 16:9 ใช้สีแบบ 10-Bits และ 25 FPS

ความละเอียด 2160p ถ้าเราเอาเป็นกว้าง และ ยาว ก็จะได้ 3840x2160 Pixel และ แต่ละ Pixel มากับ Bit-Depth 10 Bits ดังนั้น 1 Pixel ใช้ 30 Bits เราก็เอา 3840x2160x30 เราก็จะได้จำนวน Bit ใน 1 Frame แล้ว เราอยากรู้ 1 วินาที เรารู้ว่า 1 วินาที มันจะต้องใช้ 25 Frame เราก็คูณด้วย 25 อีกที 6,220,800,000 Bit/s หรือแปลงได้เป็น 6220.8 Mbps อันนี้แหละ คือ Bitrate เอาง่าย ๆ นิยามมันคือ จำนวน Bit ที่จะต้องใช้ใน 1 วินาทีนั่นเอง

ดังนั้น ถ้าเรามีความยาวของวีดีโอ เข้ามา เราก็จะสามารถเอา Bitrate มาคำนวณเป็นขนาดของไฟล์ได้เลย เช่นบอกว่า วีดีโอนี้มีความยาว 12 นาที เราต้องแปลงมันเป็นวินาทีก็จะได้ 720 วินาที เรารู้ว่า 1 วินาทีใช้ 6,220,800,000 Bit เราก็เอา 720 เข้าไปคูณก็จะได้ 4,478,976,000,000 Bits หรือ 559.872 GB

Video Compression

โหยยย วีดีโอ 4K แค่ 12 นาที กินไปแล้ว 500 GB หนังเรื่องนึงไม่หมด HDD สัก 10 ลูกเลยเหรอ ฮ่า ๆ  มันดูเวอร์ไปมั้ยเนี่ยยยย การเก็บวีดีโอแบบที่เราคำนวณกันมา เราเรียกพวกนี้ว่า Uncompressed Video หรือก็คือ Video ที่ไม่ได้ผ่านการบีบอัดอะไรเลย เป็นภาพต่อภาพเน้น ๆ ซึ่ง Bitrate อาจจะสูงถึง 61.1 Gbps เลยทีเดียว นี่แค่บนความละเอียด 2160p เท่านั้นนะ ซึ่ง Format พวกนี้ มักจะใช้ใน Studio เพื่อให้มั่นใจว่า สิ่งที่เขาถ่ายมา มันจะยังอยู่ 100% ทำให้มั่นใจได้ว่า มีความยืดหยุ่นในการทำงานสูงสุด (แต่เขาก็ไม่เก็บกันแบบนี้นะ เขาจะมีวิธีการบีบอัดแบบไม่เสียคุณภาพอยู่)

แต่ขนาดที่ใหญ่ขนาดนี้ ไม่สนุกแน่ ๆ ถ้าเราจะต้องจำหน่าย หรือต้องย้ายไปมา คิดง่าย ๆ ถ้าเราต้องใช้เน็ต 6000 Mbps ในการ Stream Netflix เราว่า ISP (Internet Sevice Provider) ตายก่อน ถ้าบ้านสัก 1000 หลัง Stream พร้อม ๆ กันก็กดไป 6,000,000 Mbps จะเอาระบบที่ไหนรองรับ หรือแม้กระทั่งซื้อแผ่นก็เถอะ เราไม่ต้องเจอเหมือนสมัย CD มี 2 แผ่น แต่เป็น Blu-Ray เลยเหรอ ก็ไม่ดี แน่ ๆ ใช่ม่ะ

ดังนั้น มันเลยต้องมีการบีบอัดเกิดขึ้น เพื่อให้ขนาดที่ใช้ในการขนส่ง เล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งในโลกของการบีบอัดข้อมูล เราสามารถแบ่งวิธีการบีบอัดได้ 2 ประเภทด้วยกันคือ Lossy และ Lossless ซึ่งก็คือ แบบที่สูญเสียคุณภาพ และ ไม่สูญเสียคุณภาพตามลำดับ โดยที่การใช้งานตามบ้านส่วนใหญ่ เราจะใช้แบบ Lossy กัน แต่มีการคุมคุณภาพการบีบอัดให้เสียคุณภาพพอควรที่ทำให้ทีวี หรือระบบตามบ้านมองไม่เห็น

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

วิธีการทำงานก็คือ เราก็จะเอา Video ของเรา เข้าไปใส่สิ่งที่เรียกว่า Encoder เราก็จะได้วีดีโอที่เข้ารหัสเรียบร้อย พร้อมส่งให้กับปลายทาง และปลายทางก็จะเอาไปใส่สิ่งที่เรียกว่า Decoder เพื่อถอดรหัสออกมาเป็นภาพให้เราได้ดูกัน

ซึ่งวิธีการเข้ารหัส และ ถอดรหัสมีอยู่หลากหลายรูปแบบมาก ๆ เช่น H.264 ที่เราใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และ กำลังจะถูกแทนที่ด้วย H.265 หรือบางคนเรียกว่า HEVC (High Efficiency Video Coding) หรือจะเป็น AV1 ที่ตอนนี้ Video Streaming หลาย ๆ เจ้าอย่าง Netflix, Apple TV+ และ Disney+ Hotstar ก็ใช้อยู่เหมือนกัน

เสียง

เรื่องของเสียงจริง ๆ แล้วก็เหมือนกับภาพเลย คือมี Bitrate เป็นของตัวเองเหมือนกัน ขึ้นกับระบบเสียงแล้วว่าจะใช้ตัวไหน และตัวนั้นต้องออกกี่ Channel เช่น บอกว่า 5.1 ก็คือเราใช้ลำโพงทั้งหมด 5 ตัว และ 1 Subwoofer นั่นเอง เช่นเดียวกับ 7.1 ก็จะต้องออกจาก 5 เป็น 7 ตัว ทำให้ยิ่งลำโพงเยอะ ก็ยิ่งต้องใช้ Bitrate สูงขึ้นเช่นกัน หรือถ้าเป็นระบบเสียงที่ใหม่ขึ้นอย่าง Dolby Atmos ก็จะมีการเก็บข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน ไว้เราจะมาคุยกันในเรื่องของเสียงอีกบทความละกัน เป็นข้อมูลส่วนใหญ่ ก็จะเล่นกันอยู่ที่ 48 Kbps สำหรับเสียง

เปรียบเทียบคุณภาพ Video Streaming แต่ละเจ้า

แต่ละเจ้า เขาก็จะมีข้อดีข้อเสียต่างกันอยู่ โดยส่วนใหญ่แล้วขั้นต่ำสุด ๆ ก็น่าจะเป็นวีดีโอที่ความละเอียด 1080p และเสียงแบบ Stereo ซึ่งแน่นอนว่าทีวีสมัยนี้ เรื่องแค่นี้ชิว ๆ เลยไม่มีอะไรเลย แต่สูงสุดส่วนใหญ่ก็จะดันไปที่ความละเอียด 4K พร้อมกับ HDR อย่าง HDR10 หรือ Dolby Vision พร้อมกับเสียงอย่าง Dolby Atmos เพื่อให้เราได้อรรถรสในการรับชมสูงสุด

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

เรื่องของ Bitrate เองก็แข่งกัน ๆ อย่างเมามันเหมือนกัน อย่าง Netflix เองที่เขาแนะนำคือ 25 Mbps สำหรับความเร็ว Internet ต่อ 1 เครื่อง เท่าที่ของ Inspect ดูมันจะใช้อยู่ที่ 15.5 Mbps สำหรับ Video ที่เป็น 4K Dolby Vision แต่ตัวที่พีคสุด ๆ ของ Streaming แล้วคือ Apple TV+ ที่ Stream กันอยู่ที่ 40 Mbps กันเลยทีเดียว สูงกว่า Netflix อย่างแรงเกือบ ๆ 2 เท่าได้เลย

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

และน้องใหม่ในไทยอย่าง Disney+ Hotstar เราลองดูหลาย ๆ เรื่องแล้วที่เป็น 4K Dolby Vision จะใช้ Video Bitrate อยู่ราว ๆ 22 Mbps ได้ ตัวอย่างรูปด้านบน เราเปิด Mandalorian บน Sony A9G กับ JBL Bar 9.1 มันก็น่าจะให้คุณภาพสุดแล้วนะ เครื่องเสียงกับทีวี รองรับสุด ๆ แล้ว

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

ทำให้ถ้าเราเอาเรื่อง Bitrate มาคุยกัน Apple TV+ คือกินขาดไปเลย และเมื่อดูจริง ก็คือความแตกต่างชัดมาก ๆ ถึงแม้จะเป็นคนที่ไม่ได้สนใจมาก แต่พอได้ดูเทียบกับคือ มันเห็นความแตกต่างมากว่า Apple TV+ จะให้ภาพที่ดูคมกว่ามาก ทั้ง ๆ ที่มันเป็น 4K HDR เหมือนกัน ดูบนจอเดียวกัน

Adaptive Streaming

ถ้าเราลองสังเกตุง่าย ๆ อย่าง Netflix ถึงหนัง หรือ ซีรีส์เรื่องนั้น ๆ จะรองรับ ความละเอียดแบบ 4K หรือจะเป็น Dolby Vision ก็ตาม หรือระบบเสียงแบบ Dolby Atmos ในทีวีบางเครื่อง ถ้าเราเปิดขึ้นมา ถึงจะเป็นเรื่องเดียวกัน มันจะไม่ขึ้น อาจจะขึ้นเป็น HD เฉย ๆ ไม่ก็ Ultra 4K อะไรแค่นั้น ถึงเราจะเปิดขึ้นมาแล้วก็ตาม มันก็จะไม่ยอม Stream คุณภาพสูงสุดของเรื่องนั้น ๆ ออกมา

ที่เขาต้องทำแบบนั้น เพื่อประหยัด Bandwidth ให้ได้มากที่สุด เพราะถึงจะ Stream ไฟล์ความละเอียดสูง ๆ HDR หรือ Dolby Atmos ที่กิน Bitrate สูงมาก ๆ แต่ถ้าเครื่องปลายทางมันไม่ถึง Bitrate ที่เพิ่มขึ้นมามันก็ไร้ค่าใช่ม่ะ ดังนั้น เพื่อเป็นการประหยัด Bandwidth ของต้นทางและปลายทาง มันเลยเลือก Stream ไฟล์ที่คุณภาพสูงสุดที่เครื่องปลายทางจะรองรับได้นั่นเอง

Streaming vs แผ่น Blu-Ray

หลาย ๆ คนอาจจะถามว่า แล้วถ้าเราเทียบกับพวกแผ่น Blu-Ray ที่ขายกันอยู่ละ ต้องบอกเลยว่า โดยปกติแล้วพวกแผ่นเหล่านี้มีความจุกันอาจจะถึง 50GB ต่อแผ่นไปเลย ทำให้เราอัด Bitrate ได้เยอะมาก ๆ ส่วนใหญ่ Bitrate อยู่ที่ 100 Mbps กันไปเลย หรือว่าก็คือ 4 เท่าของ Netflix ทำให้ภาพที่ได้ก็จะมีความคมมากกว่าเยอะ รายละเอียดดีกว่ามาก ๆ

นอกจากนั้น เสียงเองก็มีความต่างเช่นกัน เพราะ เสียงที่เล่นจาก Streaming หลาย ๆ เจ้าจะเป็นเสียงแบบ Lossy หรือผ่านการทอนคุณภาพลงไปแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นพวก Dolby Digital Plus แต่ถ้าเป็นพวกแผ่น Blu-Ray เสียงจะมาเป็นระดับ Lossless ที่ใช้พวก Dolby TrueHD บ้างก็เป็น 5.1, 7.1 หรืออาจจะเป็น Dolby Atmos ในบางเรื่องกันเลย

ทำให้เรายังถือว่า การใช้แผ่นก็ยังทำให้เราได้อรรถสูงสุดในการรับชมภาพยนต์ในบ้านไปเลย สูงขึ้นไปอีก เราก็จะไม่ได้เจอในบ้านละ เราจะได้เจอในระบบของโรงภาพยนต์แทน อาจจะอยู่ในระดับ 250 Mbps กันเลย ก็คือไฟล์ใหญ่มหาศาล จนต้องขนส่งด้วย HDD เลยทีเดียว

ทำไม Streaming Service ไม่ Stream ด้วย Bitrate สูงมาก ๆ

เรานั่งคุยปัญหานี้กับเพื่อนอยู่เหมือนกัน โอเคแหละ ประเทศเราเป็นประเทศที่มีความเร็ว Internet สูงระดับนึงเลย การเข้าถึงระดับ 100 Mbps ถือว่าเป็นเรื่องง่าย ๆ สำหรับบ้านทั่ว ๆ ไปที่ใช้ FTTH เลย แต่อาจจะลำบากกับ Cellular Network ในไทยอยู่บ้าง แต่ก็พอได้อยู่

แต่อีกปัญหานึงที่ตามมาไม่แพ้กันกับคนใช้เลยคือ ISP หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเรานี่ละ ถ้าสมมุตินะว่า Streaming Service ให้ Birate สูง ๆ นั่นแปลว่า คนที่รับภาระเต็ม ๆ เลยคือ ISP เช่น ถ้าเพิ่มจาก 25 Mbps เป็น 50 Mbps คือเพิ่มเป็น 2 เท่าเลย สำหรับเราดูอาจจะน้อยนะ แต่ ISP เขาต้องรับภาระของทั้งประเทศละ มันจะได้ขนาดไหนกัน เช่น ถ้าเราบอกว่าในเครือข่ายมีคน Stream พร้อม ๆ กันสัก 1,000 คน เราก็ต้องใช้ 50 Gbps แล้ว เพิ่มขึ้นมาเยอะพอตัวเลยนะ แต่ในความเป็นจริง เรากำลังพูดถึงหลักแสน ภาระมันจะต้องโหดมาก ๆ สำหรับ ISP

ถึงจะบอกว่าเน็ตบ้านส่วนใหญ่ ตอนนี้เราคุยกันระดับ 500-1000 Mbps กันแล้ว แต่เคยสงสัยกันบ้างมั้ยว่า เอ๊ะ ทำไม ISP สามารถที่จะเพิ่ม Bandwidth ให้เราได้ เช่นจาก 200 เป็น 500 Mbps โดยที่ไม่เสียเงินเลย เพราะเอาจริง ๆ คือ เราไม่ได้ใช้ถึงที่เราซื้อตลอดเวลา เช่น 500 Mbps เราก็ไม่ได้ใช้ 500 Mbps ตลอดเวลา หรือบางคนอาจจะใช้ไม่ถึง 50 Mbps ด้วยซ้ำ ทำให้ ISP ก็จะเพิ่มให้เราไปเรื่อย ๆ เป็นแผนการตลาดไงละ จากเดิมที่อาจจะต้องออกแบบระบบให้รองรับความเร็วสูงสุดที่แต่ละบ้านซื้อ 100% ก็อาจจะออกแบบระบบให้รับได้แค่ 50% ของความเร็วสูงสุดของทุกบ้านรวมกันยังได้เลย เผื่อมีบ้านสัก 25% โหลดไฟล์หนัก ๆ แล้ว Peak จะได้รับได้เนียน ๆ โดยที่เราไม่รู้

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

ถามว่า Streaming ทำให้ ISP หืดขึ้นคอกันได้ขนาดไหน เรามีข้อมูลจาก Cloudflare Radar มาให้ดูกัน กราฟด้านบนเป็นการแสดงจำนวน Traffic ในประเทศไทย เราจะเห็นว่ามันมีจุดนึงของกราฟที่ดีดขึ้นไปถึง 1.75x เลย วันนั้นเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2021 ก็คือคืนที่ Disney+ Hotstar เปิดให้ใช้งานในไทยได้นั่นเอง จะเห็นได้เลยว่า การ Streaming ทำให้ Traffic มันโดดได้ขนาดนี้

ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีในการบีบอัดวีดีโอ ก็ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้เราได้วีดีโอที่มีคุณภาพสูงขึ้น ยิ่งอนาคต เราจะไปสู่ความละเอียด 8K มันก็จะต้องเพิ่ม Bitrate ให้สูงขึ้น การบีบอัดก็ต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน

สรุป

ตอนนี้เรามีบริการ Video Streaming ออกมาเยอะมาก ๆ แต่ละเจ้ามีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป หนึ่งในนั้นคือ คุณภาพของการ Stream บางเจ้าก็ให้คุณภาพที่ปานกลาง เช่น Netflix และ Disney+ Hoststar หรือบางเจ้าอาจจะให้ Bitrate สูงมาก ๆ อย่าง Apple TV+ ที่ทำให้คุณภาพของภาพดูดีมาก ๆ แม้แต่ใช้ความละเอียดเท่า ๆ กันก็ตาม สำหรับคนที่ยังดูไม่ออกว่ามันส่งผลขนาดไหน แนะนำให้ลองดูเรื่องเดียวกันแล้วดูเทียบเลย อันนี้จะมองเห็นอย่างชัดเจนเลย โดยเฉพาะในทีวีขนาดใหญ่ ๆ หน่อยความละเอียดสัก 4K ก็เห็นแล้ว

Read Next...

ซื้อ NAS สำเร็จรูปหรือจะประกอบเครื่องเองเลยดี

ซื้อ NAS สำเร็จรูปหรือจะประกอบเครื่องเองเลยดี

ในปัจจุบันเราพึ่งพาการเก็บข้อมูลต่าง ๆ บนเครื่องคอมพิวเตอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับบางคนมากจนไม่สามารถเก็บได้ในเครื่องของเราอีกแล้ว ทำให้อาจจะต้องมองหาระบบจัดเก็บข้อมูลอื่น ๆ เข้ามาใช้งาน หนึ่งในนั้นคือการใช้ NAS หลายคนมีคำถามว่า แล้วเราควรจะเลือกซื้อ NAS สำเร็จรูป หรือ DIY ดี...

SELECT count(id) เร็วกว่า count(*) จริง ๆ เหรอ

SELECT count(id) เร็วกว่า count(*) จริง ๆ เหรอ

เราไปเจอความเชื่อนึงเกี่ยวกับ SQL Query มาว่า เนี่ยนะ ถ้าเราจะ Count หรือนับแถว เราอย่าไปใช้ count(*) นะ ให้เราใช้ count(id) หรือด้านในเป็น Primary Key ใน Table นั้น ๆ จะทำให้ Query ได้เร็วกว่า วันน้ีเรามาทดลองกันดีกว่า ว่ามันเป็นแบบนั้นจริง ๆ หรือไม่...

การเบลอรูปภาพ มันทำได้อย่างไร ทำไมภาพถึงเบลอได้

การเบลอรูปภาพ มันทำได้อย่างไร ทำไมภาพถึงเบลอได้

เคยสงสัยกันมั้ยว่า Filter ที่เราใช้เบลอภาพ ไม่ว่าจะเพื่อความสวยงาม หรืออะไรก็ตาม แท้จริงแล้ว มันทำงานอย่างไร วันนี้เราจะพาไปดูคณิตศาสตร์และเทคนิคเบื้องหลังกันว่า กว่าที่รูปภาพจะถูกเบลอได้ มันเกิดจากอะไร...

AI Watermark กับความรับผิดชอบต่อการใช้ AI

AI Watermark กับความรับผิดชอบต่อการใช้ AI

หลังจากดูงาน Google I/O 2024 ที่ผ่านมา เรามาสะดุดเรื่องของการใส่ Watermark ลงไปใน Content ที่ Generate จาก AI วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า วิธีการทำ Watermark ใน Content ทำอย่างไร...