Technology

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง

By Arnon Puitrakul - 06 กรกฎาคม 2021

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง

บริการ Streaming กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่บริการ Music Streaming อย่าง Spotify และ Apple Music แต่วันนี้เราจะมาคุยกันอีกประเภทของบริการ Streaming นึงที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันกันคือ Video Streaming อย่าง Netflix, Apple TV+ และน้องใหม่ในตลาดประเทศไทยอย่าง Disney+ Hotstar

บริการ Video Streaming แต่ละเจ้า ก็จะมีความสามารถที่ต่างกัน แต่ใน 3 เจ้าที่เรายกมาในวันนี้ ทุกคนจะมีการใช้ความละเอียดระดับ 4K พร้อมกับระบบภาพในรูปแบบ HDR ผ่านระบบ HDR10 หรือ Dolby Vision (ในทีวีที่รองรับ) และ ระบบเสียงตั้งแต่ 5.1 ยาวจนไปถึง Dolby Atmos DD+ แต่ถ้าเราลองดูเทียบ ๆ กัน จะเห็นได้เลยว่า ทำไมความละเอียด 4K เท่ากันเลยนะ แต่ทำไมภาพมันชัดไม่เท่ากัน เอ๊ะ ทำไมกันนะ วันนี้เราลองไปหาคำตอบพร้อม ๆ กัน

ภาพ คืออะไร ?

เราว่าหลาย ๆ คนอ่านหัวข้อนี้แล้วคือ อิหยังว้าาา ภาพก็คือภาพสิ ก็จริงแหละ ฮ่า ๆ แล้วมันเกี่ยวกับวีดีโอที่เรากำลังคุยกันยังไงละ จริง ๆ แล้ววีดีโอ ก็คือการเอาภาพมาต่อ ๆ กันนั่นเอง เหมือนกับที่เราค่อย ๆ วาดรูปลงไปในมุมของสมุดต่อ ๆ กันไปเรื่อย ๆ แล้วเปิดรูด ๆ เราก็จะเห็นมันเป็นภาพเคลื่อนไหวใช่ม่ะ ดังนั้น วีดีโอ จริง ๆ แล้วมันก็คือภาพต่อ ๆ กันนั่นเอง

เมื่อเราพูดถึงภาพ ภาพก็คือภาพ ถามแปลก ๆ แต่คอมพิวเตอร์ไม่ได้มองแบบนั้นน่ะสิ คอมพิวเตอร์มองทุกอย่างเป็นตัวเลขไปหมด แล้วเราจะทำให้ภาพมันกลายเป็นตัวเลขยังไงดี ถ้าเราคิดถึงรูปภาพสักหนึ่ง เราจะต้องวัดขนาดมันให้ได้ก่อน ซึ่งก็คือ กว้าง และ ยาว ซึ่งในคอมพิวเตอร์ เราจะใช้หน่วยเป็น Pixel

ตัวอย่างเช่น เราบอกว่า กล้องถ่ายรูปนี้สามารถถ่ายได้ 24 MP (ล้าน Pixel) ก็คือไฟล์รูปที่เราได้ออกมา เมื่อเอากว้างคูณยาว จะได้ ประมาณ 24 ล้านนั่นเองกลับมาที่วีดีโอ เราอาจจะเคยได้ยินอะไรประมาณว่า ความละเอียด แน่ ๆ

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

ในโลกของวีดีโอ มันก็จะไล่ไปได้หลายขนาดมาก ๆ แต่เราขอยกตัวอย่างตั้งแต่ HD ละกัน หรือบางคนเรียกว่า 720p ซึ่งเป็นการบอกว่า อะไรไม่รู้ละ แต่ความยาวต้องเป็น 720 ส่วนความกว้างจะเป็นเท่าไหร่ก็ได้ขึ้นกับ อัตราส่วน

คำใหม่มาอีกแล้วคือ อัตราส่วน มันก็คืออัตราส่วนระหว่างความกว้างและยาวของภาพ ตัวอย่างเช่น อัตราส่วนที่เรานิยมกันในวีดีโอคือ 16:9 หรือก็คือ กว้าง 16 ส่วน ยาว 9 ส่วน ดังนั้น ถ้าเรามี ยาว 720 คิดเป็น 9 ส่วน เราอยากรู้ความกว้าง เราก็แค่เอา 720 หารด้วย 9 และคูณด้วย 16 ก็จะได้เป็น 1280 ทำให้ วีดีโอที่ความละเอียด 720p ก็จะมีขนาดกว้าง และ ยาวอยู่ที่ 1280x720 Pixel นั่นเอง ลองทำขำ ๆ ดู ถ้าเป็น 4:3 ที่ 720p ละ จะได้ขนาดเท่าไหร่ คำตอบคือ 960×720 Pixel นั่นเอง บางคนจะเรียกขนาดว่า ความละเอียด

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

เรื่องขนาดมันก็เหมือนกับการปูพื้นที่ไปละ ทีนี้ เรามาพูดถึง Content ข้างในกันบ้างดีกว่า ถ้าเราลอง Zoom ลงไปในรูปจนเห็นว่ามันเป็น Pixel เราจะเห็นได้เลยว่าใน 1 Pixel จะมีแค่สีเดียวเท่านั้นเหมือนกับเราระบายสีลงไปในช่องนั่นเอง ถ้าเอาง่ายที่สุดเลย เราระบายได้แค่สีดำ หรือ ขาว เท่านั้น นั่นแปลว่า ใน 1 Pixel เราจะต้องใช้ 1 Bit ในการเก็บ ก็คือ 1 และ 0 โดยที่อาจจะให้ 1 แทนสีขาว และ 0 แทนสีดำก็ได้

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

ดีขึ้นมาหน่อย เราอาจจะใช้เป็น Greyscale เราไม่รู้จะเรียกภาษาไทยว่าอะไรเลย มันจะต่างจากขาวดำตรงที่มันจะมีการไล่เชดสีขึ้นมา แต่สีก็ยังเป็นสีดำ ถึงจนถึงขาวอยู่นะ แต่เวลาเก็บเราเก็บ 1 Bit เหมือนเดิมไม่ได้แล้วสิ เพราะเราต้องการเชดสีขาวดำ ก็แล้วแต่เราว่าจะเก็บเท่าไหร่ เช่น 8 Bits เราก็จะไล่ได้ 256 ระดับ มาจาก 2 ยกกำลัง 8

เรื่องของ สี กับการออกแบบโดย Programmer สู่ Programmer
สี เป็นเครื่องมือนึงที่ใช้ในการสื่อสารได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับการสร้าง First Impression ให้กับงานเรา วันนี้เราเลยจะมานำเสนอเรื่องของสี ว่าสีมันมีการอ้างอิงอย่างไร และ เราจะเลือกมันอย่างไรให้เข้ากับงานของเรา

แต่แหม่ ตอนนี้เราก็แสดงผลเป็นสีหมดแล้วสินะ แล้วมันเก็บยังไงดี เราเคยพูดเรื่องระบบสีมาแล้วลองไปอ่านได้ โดยปกติแล้ว เราจะใช้ RGB กันในวีดีโอนี่ละ ณ วันนี้พื้นฐานสุด ๆ เราจะใช้กันอยู่ที่ 8 Bits นี่ละ แต่เป็น 8 Bits ในแต่ละ Channel ก็คือ Red, Green และ Blue ทำให้ทั้งหมด เราจะต้องใช้เป็น 8 คูณด้วย 3 ก็คือ 24 Bits ต่อ 1 Pixel หรือถ้าเอาจำนวนเชด ก็อยู่ที่ประมาณ 16 ล้านสี พวกจำนวน Bit ที่เราใช้ในการอ้างอิงจำนวนสีพวกนี้แหละ เราจะเรียกมันว่า Bit Depth นั่นเอง เช่น เราบอกว่าวีดีโอนี้ Bit Depth เป็น 8 ก็คือใน 1 Pixel เราจะใช้ที่เก็บ 24 Bits นั่นเอง หรือวีดีโอ ที่เป็นพวก HDR Content สมัยใหม่ ๆ หน่อยก็อาจจะใช้ถึง 10 Bits หรือ 12 Bits กันเลยทีเดียว อันนี้เดี๋ยวเรามาเล่าเรื่องของ HDR อีกรอบนึงมันยาว

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

อย่างที่บอกว่าวีดีโอคือการต่อ ๆ กันของรูปภาพ ตอนที่เรารูดสมุดที่วาดรูปไว้ต่อ ๆ กัน ถ้าเรารูดเร็ว ๆ กับรูดช้า ๆ มันก็จะต่างกันแน่ ๆ ละ ความเร็วพวกนี้เราจะเรียกว่า Frame Rate หรือก็คือใน 1 วินาที เราต้องใช้ทั้งหมดกี่รูปกัน โดยที่ 1 รูป เราก็จะเรียกว่า 1 Frame ทำให้เราเลยเรียกหน่วยนี้ว่า FPS (Frame per Second) เหมือนกับที่คนเล่นเกมจะถามกันว่าได้กี่ FPS ก็คือเรื่องเดียวกันเลย

Bitrate

พอเรารู้ความละเอียดของวีดีโอแล้ว เรารู้ Bit Depth แล้ว เรารู้ Frame Rate แล้ว เราก็จะคำนวณได้ละว่า 1 วินาที มันจะต้องใช้ขนาดเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น เราบอกว่าวีดีโอนี้ มีความละเอียด 2160p บนอัตราส่วน 16:9 ใช้สีแบบ 10-Bits และ 25 FPS

ความละเอียด 2160p ถ้าเราเอาเป็นกว้าง และ ยาว ก็จะได้ 3840x2160 Pixel และ แต่ละ Pixel มากับ Bit-Depth 10 Bits ดังนั้น 1 Pixel ใช้ 30 Bits เราก็เอา 3840x2160x30 เราก็จะได้จำนวน Bit ใน 1 Frame แล้ว เราอยากรู้ 1 วินาที เรารู้ว่า 1 วินาที มันจะต้องใช้ 25 Frame เราก็คูณด้วย 25 อีกที 6,220,800,000 Bit/s หรือแปลงได้เป็น 6220.8 Mbps อันนี้แหละ คือ Bitrate เอาง่าย ๆ นิยามมันคือ จำนวน Bit ที่จะต้องใช้ใน 1 วินาทีนั่นเอง

ดังนั้น ถ้าเรามีความยาวของวีดีโอ เข้ามา เราก็จะสามารถเอา Bitrate มาคำนวณเป็นขนาดของไฟล์ได้เลย เช่นบอกว่า วีดีโอนี้มีความยาว 12 นาที เราต้องแปลงมันเป็นวินาทีก็จะได้ 720 วินาที เรารู้ว่า 1 วินาทีใช้ 6,220,800,000 Bit เราก็เอา 720 เข้าไปคูณก็จะได้ 4,478,976,000,000 Bits หรือ 559.872 GB

Video Compression

โหยยย วีดีโอ 4K แค่ 12 นาที กินไปแล้ว 500 GB หนังเรื่องนึงไม่หมด HDD สัก 10 ลูกเลยเหรอ ฮ่า ๆ  มันดูเวอร์ไปมั้ยเนี่ยยยย การเก็บวีดีโอแบบที่เราคำนวณกันมา เราเรียกพวกนี้ว่า Uncompressed Video หรือก็คือ Video ที่ไม่ได้ผ่านการบีบอัดอะไรเลย เป็นภาพต่อภาพเน้น ๆ ซึ่ง Bitrate อาจจะสูงถึง 61.1 Gbps เลยทีเดียว นี่แค่บนความละเอียด 2160p เท่านั้นนะ ซึ่ง Format พวกนี้ มักจะใช้ใน Studio เพื่อให้มั่นใจว่า สิ่งที่เขาถ่ายมา มันจะยังอยู่ 100% ทำให้มั่นใจได้ว่า มีความยืดหยุ่นในการทำงานสูงสุด (แต่เขาก็ไม่เก็บกันแบบนี้นะ เขาจะมีวิธีการบีบอัดแบบไม่เสียคุณภาพอยู่)

แต่ขนาดที่ใหญ่ขนาดนี้ ไม่สนุกแน่ ๆ ถ้าเราจะต้องจำหน่าย หรือต้องย้ายไปมา คิดง่าย ๆ ถ้าเราต้องใช้เน็ต 6000 Mbps ในการ Stream Netflix เราว่า ISP (Internet Sevice Provider) ตายก่อน ถ้าบ้านสัก 1000 หลัง Stream พร้อม ๆ กันก็กดไป 6,000,000 Mbps จะเอาระบบที่ไหนรองรับ หรือแม้กระทั่งซื้อแผ่นก็เถอะ เราไม่ต้องเจอเหมือนสมัย CD มี 2 แผ่น แต่เป็น Blu-Ray เลยเหรอ ก็ไม่ดี แน่ ๆ ใช่ม่ะ

ดังนั้น มันเลยต้องมีการบีบอัดเกิดขึ้น เพื่อให้ขนาดที่ใช้ในการขนส่ง เล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งในโลกของการบีบอัดข้อมูล เราสามารถแบ่งวิธีการบีบอัดได้ 2 ประเภทด้วยกันคือ Lossy และ Lossless ซึ่งก็คือ แบบที่สูญเสียคุณภาพ และ ไม่สูญเสียคุณภาพตามลำดับ โดยที่การใช้งานตามบ้านส่วนใหญ่ เราจะใช้แบบ Lossy กัน แต่มีการคุมคุณภาพการบีบอัดให้เสียคุณภาพพอควรที่ทำให้ทีวี หรือระบบตามบ้านมองไม่เห็น

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

วิธีการทำงานก็คือ เราก็จะเอา Video ของเรา เข้าไปใส่สิ่งที่เรียกว่า Encoder เราก็จะได้วีดีโอที่เข้ารหัสเรียบร้อย พร้อมส่งให้กับปลายทาง และปลายทางก็จะเอาไปใส่สิ่งที่เรียกว่า Decoder เพื่อถอดรหัสออกมาเป็นภาพให้เราได้ดูกัน

ซึ่งวิธีการเข้ารหัส และ ถอดรหัสมีอยู่หลากหลายรูปแบบมาก ๆ เช่น H.264 ที่เราใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และ กำลังจะถูกแทนที่ด้วย H.265 หรือบางคนเรียกว่า HEVC (High Efficiency Video Coding) หรือจะเป็น AV1 ที่ตอนนี้ Video Streaming หลาย ๆ เจ้าอย่าง Netflix, Apple TV+ และ Disney+ Hotstar ก็ใช้อยู่เหมือนกัน

เสียง

เรื่องของเสียงจริง ๆ แล้วก็เหมือนกับภาพเลย คือมี Bitrate เป็นของตัวเองเหมือนกัน ขึ้นกับระบบเสียงแล้วว่าจะใช้ตัวไหน และตัวนั้นต้องออกกี่ Channel เช่น บอกว่า 5.1 ก็คือเราใช้ลำโพงทั้งหมด 5 ตัว และ 1 Subwoofer นั่นเอง เช่นเดียวกับ 7.1 ก็จะต้องออกจาก 5 เป็น 7 ตัว ทำให้ยิ่งลำโพงเยอะ ก็ยิ่งต้องใช้ Bitrate สูงขึ้นเช่นกัน หรือถ้าเป็นระบบเสียงที่ใหม่ขึ้นอย่าง Dolby Atmos ก็จะมีการเก็บข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน ไว้เราจะมาคุยกันในเรื่องของเสียงอีกบทความละกัน เป็นข้อมูลส่วนใหญ่ ก็จะเล่นกันอยู่ที่ 48 Kbps สำหรับเสียง

เปรียบเทียบคุณภาพ Video Streaming แต่ละเจ้า

แต่ละเจ้า เขาก็จะมีข้อดีข้อเสียต่างกันอยู่ โดยส่วนใหญ่แล้วขั้นต่ำสุด ๆ ก็น่าจะเป็นวีดีโอที่ความละเอียด 1080p และเสียงแบบ Stereo ซึ่งแน่นอนว่าทีวีสมัยนี้ เรื่องแค่นี้ชิว ๆ เลยไม่มีอะไรเลย แต่สูงสุดส่วนใหญ่ก็จะดันไปที่ความละเอียด 4K พร้อมกับ HDR อย่าง HDR10 หรือ Dolby Vision พร้อมกับเสียงอย่าง Dolby Atmos เพื่อให้เราได้อรรถรสในการรับชมสูงสุด

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

เรื่องของ Bitrate เองก็แข่งกัน ๆ อย่างเมามันเหมือนกัน อย่าง Netflix เองที่เขาแนะนำคือ 25 Mbps สำหรับความเร็ว Internet ต่อ 1 เครื่อง เท่าที่ของ Inspect ดูมันจะใช้อยู่ที่ 15.5 Mbps สำหรับ Video ที่เป็น 4K Dolby Vision แต่ตัวที่พีคสุด ๆ ของ Streaming แล้วคือ Apple TV+ ที่ Stream กันอยู่ที่ 40 Mbps กันเลยทีเดียว สูงกว่า Netflix อย่างแรงเกือบ ๆ 2 เท่าได้เลย

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

และน้องใหม่ในไทยอย่าง Disney+ Hotstar เราลองดูหลาย ๆ เรื่องแล้วที่เป็น 4K Dolby Vision จะใช้ Video Bitrate อยู่ราว ๆ 22 Mbps ได้ ตัวอย่างรูปด้านบน เราเปิด Mandalorian บน Sony A9G กับ JBL Bar 9.1 มันก็น่าจะให้คุณภาพสุดแล้วนะ เครื่องเสียงกับทีวี รองรับสุด ๆ แล้ว

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

ทำให้ถ้าเราเอาเรื่อง Bitrate มาคุยกัน Apple TV+ คือกินขาดไปเลย และเมื่อดูจริง ก็คือความแตกต่างชัดมาก ๆ ถึงแม้จะเป็นคนที่ไม่ได้สนใจมาก แต่พอได้ดูเทียบกับคือ มันเห็นความแตกต่างมากว่า Apple TV+ จะให้ภาพที่ดูคมกว่ามาก ทั้ง ๆ ที่มันเป็น 4K HDR เหมือนกัน ดูบนจอเดียวกัน

Adaptive Streaming

ถ้าเราลองสังเกตุง่าย ๆ อย่าง Netflix ถึงหนัง หรือ ซีรีส์เรื่องนั้น ๆ จะรองรับ ความละเอียดแบบ 4K หรือจะเป็น Dolby Vision ก็ตาม หรือระบบเสียงแบบ Dolby Atmos ในทีวีบางเครื่อง ถ้าเราเปิดขึ้นมา ถึงจะเป็นเรื่องเดียวกัน มันจะไม่ขึ้น อาจจะขึ้นเป็น HD เฉย ๆ ไม่ก็ Ultra 4K อะไรแค่นั้น ถึงเราจะเปิดขึ้นมาแล้วก็ตาม มันก็จะไม่ยอม Stream คุณภาพสูงสุดของเรื่องนั้น ๆ ออกมา

ที่เขาต้องทำแบบนั้น เพื่อประหยัด Bandwidth ให้ได้มากที่สุด เพราะถึงจะ Stream ไฟล์ความละเอียดสูง ๆ HDR หรือ Dolby Atmos ที่กิน Bitrate สูงมาก ๆ แต่ถ้าเครื่องปลายทางมันไม่ถึง Bitrate ที่เพิ่มขึ้นมามันก็ไร้ค่าใช่ม่ะ ดังนั้น เพื่อเป็นการประหยัด Bandwidth ของต้นทางและปลายทาง มันเลยเลือก Stream ไฟล์ที่คุณภาพสูงสุดที่เครื่องปลายทางจะรองรับได้นั่นเอง

Streaming vs แผ่น Blu-Ray

หลาย ๆ คนอาจจะถามว่า แล้วถ้าเราเทียบกับพวกแผ่น Blu-Ray ที่ขายกันอยู่ละ ต้องบอกเลยว่า โดยปกติแล้วพวกแผ่นเหล่านี้มีความจุกันอาจจะถึง 50GB ต่อแผ่นไปเลย ทำให้เราอัด Bitrate ได้เยอะมาก ๆ ส่วนใหญ่ Bitrate อยู่ที่ 100 Mbps กันไปเลย หรือว่าก็คือ 4 เท่าของ Netflix ทำให้ภาพที่ได้ก็จะมีความคมมากกว่าเยอะ รายละเอียดดีกว่ามาก ๆ

นอกจากนั้น เสียงเองก็มีความต่างเช่นกัน เพราะ เสียงที่เล่นจาก Streaming หลาย ๆ เจ้าจะเป็นเสียงแบบ Lossy หรือผ่านการทอนคุณภาพลงไปแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นพวก Dolby Digital Plus แต่ถ้าเป็นพวกแผ่น Blu-Ray เสียงจะมาเป็นระดับ Lossless ที่ใช้พวก Dolby TrueHD บ้างก็เป็น 5.1, 7.1 หรืออาจจะเป็น Dolby Atmos ในบางเรื่องกันเลย

ทำให้เรายังถือว่า การใช้แผ่นก็ยังทำให้เราได้อรรถสูงสุดในการรับชมภาพยนต์ในบ้านไปเลย สูงขึ้นไปอีก เราก็จะไม่ได้เจอในบ้านละ เราจะได้เจอในระบบของโรงภาพยนต์แทน อาจจะอยู่ในระดับ 250 Mbps กันเลย ก็คือไฟล์ใหญ่มหาศาล จนต้องขนส่งด้วย HDD เลยทีเดียว

ทำไม Streaming Service ไม่ Stream ด้วย Bitrate สูงมาก ๆ

เรานั่งคุยปัญหานี้กับเพื่อนอยู่เหมือนกัน โอเคแหละ ประเทศเราเป็นประเทศที่มีความเร็ว Internet สูงระดับนึงเลย การเข้าถึงระดับ 100 Mbps ถือว่าเป็นเรื่องง่าย ๆ สำหรับบ้านทั่ว ๆ ไปที่ใช้ FTTH เลย แต่อาจจะลำบากกับ Cellular Network ในไทยอยู่บ้าง แต่ก็พอได้อยู่

แต่อีกปัญหานึงที่ตามมาไม่แพ้กันกับคนใช้เลยคือ ISP หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเรานี่ละ ถ้าสมมุตินะว่า Streaming Service ให้ Birate สูง ๆ นั่นแปลว่า คนที่รับภาระเต็ม ๆ เลยคือ ISP เช่น ถ้าเพิ่มจาก 25 Mbps เป็น 50 Mbps คือเพิ่มเป็น 2 เท่าเลย สำหรับเราดูอาจจะน้อยนะ แต่ ISP เขาต้องรับภาระของทั้งประเทศละ มันจะได้ขนาดไหนกัน เช่น ถ้าเราบอกว่าในเครือข่ายมีคน Stream พร้อม ๆ กันสัก 1,000 คน เราก็ต้องใช้ 50 Gbps แล้ว เพิ่มขึ้นมาเยอะพอตัวเลยนะ แต่ในความเป็นจริง เรากำลังพูดถึงหลักแสน ภาระมันจะต้องโหดมาก ๆ สำหรับ ISP

ถึงจะบอกว่าเน็ตบ้านส่วนใหญ่ ตอนนี้เราคุยกันระดับ 500-1000 Mbps กันแล้ว แต่เคยสงสัยกันบ้างมั้ยว่า เอ๊ะ ทำไม ISP สามารถที่จะเพิ่ม Bandwidth ให้เราได้ เช่นจาก 200 เป็น 500 Mbps โดยที่ไม่เสียเงินเลย เพราะเอาจริง ๆ คือ เราไม่ได้ใช้ถึงที่เราซื้อตลอดเวลา เช่น 500 Mbps เราก็ไม่ได้ใช้ 500 Mbps ตลอดเวลา หรือบางคนอาจจะใช้ไม่ถึง 50 Mbps ด้วยซ้ำ ทำให้ ISP ก็จะเพิ่มให้เราไปเรื่อย ๆ เป็นแผนการตลาดไงละ จากเดิมที่อาจจะต้องออกแบบระบบให้รองรับความเร็วสูงสุดที่แต่ละบ้านซื้อ 100% ก็อาจจะออกแบบระบบให้รับได้แค่ 50% ของความเร็วสูงสุดของทุกบ้านรวมกันยังได้เลย เผื่อมีบ้านสัก 25% โหลดไฟล์หนัก ๆ แล้ว Peak จะได้รับได้เนียน ๆ โดยที่เราไม่รู้

เปรียบเทียบคุณภาพบริการ Video Streaming ศึกแห่งห้องนั่งเล่นอันร้อนแรง Netflix, Apple TV+, Disney+ Hotstar

ถามว่า Streaming ทำให้ ISP หืดขึ้นคอกันได้ขนาดไหน เรามีข้อมูลจาก Cloudflare Radar มาให้ดูกัน กราฟด้านบนเป็นการแสดงจำนวน Traffic ในประเทศไทย เราจะเห็นว่ามันมีจุดนึงของกราฟที่ดีดขึ้นไปถึง 1.75x เลย วันนั้นเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2021 ก็คือคืนที่ Disney+ Hotstar เปิดให้ใช้งานในไทยได้นั่นเอง จะเห็นได้เลยว่า การ Streaming ทำให้ Traffic มันโดดได้ขนาดนี้

ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีในการบีบอัดวีดีโอ ก็ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้เราได้วีดีโอที่มีคุณภาพสูงขึ้น ยิ่งอนาคต เราจะไปสู่ความละเอียด 8K มันก็จะต้องเพิ่ม Bitrate ให้สูงขึ้น การบีบอัดก็ต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน

สรุป

ตอนนี้เรามีบริการ Video Streaming ออกมาเยอะมาก ๆ แต่ละเจ้ามีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป หนึ่งในนั้นคือ คุณภาพของการ Stream บางเจ้าก็ให้คุณภาพที่ปานกลาง เช่น Netflix และ Disney+ Hoststar หรือบางเจ้าอาจจะให้ Bitrate สูงมาก ๆ อย่าง Apple TV+ ที่ทำให้คุณภาพของภาพดูดีมาก ๆ แม้แต่ใช้ความละเอียดเท่า ๆ กันก็ตาม สำหรับคนที่ยังดูไม่ออกว่ามันส่งผลขนาดไหน แนะนำให้ลองดูเรื่องเดียวกันแล้วดูเทียบเลย อันนี้จะมองเห็นอย่างชัดเจนเลย โดยเฉพาะในทีวีขนาดใหญ่ ๆ หน่อยความละเอียดสัก 4K ก็เห็นแล้ว

Read Next...

Apple M4 รุ่นไหนเหมาะกับใคร

Apple M4 รุ่นไหนเหมาะกับใคร

หลังจากเมื่อหลายอาทิตย์ก่อน Apple ออก Mac รัว ๆ ตั้งแต่ Mac Mini, iMac และ Macbook Pro ที่ใช้ M4 กันไปแล้ว มีหลายคนถามเราเข้ามาว่า เราควรจะเลือก M4 ตัวไหนดีถึงจะเหมาะกับเรา...

Cloudflare Access ของดีขนาดนี้ ฟรีได้ไงวะ

Cloudflare Access ของดีขนาดนี้ ฟรีได้ไงวะ

จากตอนก่อน เราเล่าเรื่องการ Host Website จากบ้านของเราอย่างปลอดภัยด้วย Cloudflare Tunnel ไปแล้ว แต่ Product ด้าน Zero-Trust ของนางยังไม่หมด วันนี้เราจะมาเล่าอีกหนึ่งขาที่จะช่วยปกป้อง Infrastructure และ Application ต่าง ๆ ของเราด้วย Cloudflare Access กัน...

Mainframe Computer คืออะไร ? มันยังมีชีวิตอยู่ใช่มั้ย ?

Mainframe Computer คืออะไร ? มันยังมีชีวิตอยู่ใช่มั้ย ?

ทุกคนเคยได้ยินคำว่า Mainframe Computer กันมั้ย เคยสงสัยกันมั้ยว่า มันต่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันทั่ว ๆ ไปอย่างไรละ และ Mainframe ยังจำเป็นอยู่มั้ย มันได้ตายจากโลกนี้ไปหรือยัง วันนี้เรามาหาคำตอบไปด้วยกันเลย...

Infrastructure as Code คืออะไร ทำไมถึงสำคัญมากในปัจจุบัน

Infrastructure as Code คืออะไร ทำไมถึงสำคัญมากในปัจจุบัน

เคยมั้ยเวลา Deploy โปรแกรมสักตัว เราจะต้องมานั่ง Provision Infrastructure ไหนจะ VM และ Settings อื่น ๆ อีกมากมาย มันจะดีกว่ามั้ยถ้าเรามีเครื่องมือบางอย่างที่จะ Automate งานที่น่าเบื่อเหล่านี้ออกไป และลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Infrastructure as Code กัน...