Review

เปรียบเทียบสถานีชาร์จ EV ที่ไหนดีที่สุด 2022

By Arnon Puitrakul - 02 กันยายน 2022

เปรียบเทียบสถานีชาร์จ EV ที่ไหนดีที่สุด 2022

ในปี 2022 นี้ การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเพียว ๆ หรือ BEV กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอนว่าสถานีชาร์จก็ต้องเยอะขึ้นเป็นเงาตามตัวเหมือนกัน วันนี้เราเลยจะมารีวิวสถานีชาร์จในแต่ละเจ้าถึงแง่มุมต่าง ๆ ว่าเจ้าไหนน่าใช้หรือไม่น่าใช้อย่างไรบ้าง

สำหรับเรา เกณฑ์ของเราในการหาสถานีที่ชอบ มีอยู่ไม่กี่ข้อคือ ความเร็วในการชาร์จจะเร็วที่สุดสำหรับรถของเรา, ในสถานีมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่นร้านอาหาร และ ร้านขนมอะไรพวกนั้น กับห้องน้ำที่สะอาด สามารถพี่ลี่คู่ได้อย่างสบายใจ สุดท้าย การจ่ายเงินที่ง่าย

ราคาค่าชาร์จ

เริ่มจากเรื่องแรก เป็นเรื่องที่เราว่าหลาย ๆ คนน่าจะให้ความสนใจเป็นเรื่องหลัก นั่นคือเรื่องของราคา โดยทั่วไปแล้ว เราจะแบ่งออกเป็น 3 แบบใหญ่ ๆ

แบบที่ 1 คือ การคิดราคา ต่อหน่วยไฟที่เราชาร์จ พวกนี้เขาจะบอกเลยว่า ไฟฟ้าที่ชาร์จหน่วยละเท่าไหร่ เช่นของ EleX By EGAT เขาจะคิดราคาแบบคงที่ตลอดเวลา ณ ที่เขียนคือ 7.5 บาท/หน่วย หรือก็คือ ไม่ว่าเราจะชาร์จเวลาไหน เราก็จะเสียเงินอยู่ที่ 7.5 บาท/หน่วยเสมอ

แบบที่ 2 คือ การคิดราคาแบบ TOU (Time of Use) ซึ่งจะซับซ้อนกว่าเดิมนิดนึงคือ จะแบ่งราคาตามเวลา โดยที่ 9.00 - 22.00 ของวันธรรมดา เราจะเรียกว่าช่วง On-Peak และ เวลาที่เหลือคือ 22.00 - 09.00 จะเรียกว่าช่วง Off-Peak โดยการคิดราคาในลักษณะนี้ จะมีอยู่ 2 เจ้าคือ PEA Volta ที่คิดช่วง On-Peak ที่ 7.9 บาท และ Off-Peak 4.5 บาท และอีกเจ้าคือ PTT EV Station จะคิด On-Peak ที่ 7.5 บาท และ Off-Peak 7.5 บาท

แบบที่ 3 คือ การคิดตามเวลาการชาร์จ แบบนี้คนทั่ว ๆ ไปน่าจะพอเข้าใจได้ง่ายมาก คิดง่าย ๆ เหมือนกับเวลาเราเข้าที่จอดรถบางที่ ที่มันจะต้องเสียเงินค่าที่จอด พวกนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในพวกลานจอดรถตามห้างร้านต่าง ๆ เช่นบางตู้ของ EA Anywhere เขาจะคิดเลย เช่น เราจอด 1 ชั่วโมงจะเป็น 100 บาท อะไรพวกนั้น โดยที่ไม่ได้สนใจว่า เราจะรับไฟได้เท่าไหร่ เท่าที่ดูของ EA Anywhere ตู้ที่เสียเงินในลักษณะนี้ มักจะเป็นตู้ชาร์จแบบ AC ซะมากกว่า ทำให้รถบางคันที่รองรับการชาร์จแบบ 1-Phase หรือ 7kW นั่นเสียเปรียบไปสักหน่อยเมื่อเทียบกับรถที่ใช้งาน 3-Phase หรือ 22kW ที่จะดึงได้เต็มประสิทธิภาพของเครื่องชาร์จ

บางครั้งเราอาจจะเจอผสมกันเลยก็มี คือ เราจะต้องเสียค่าไฟตามด้วยหน่วย พร้อมกับเสียค่าจอดด้วย อันนี้ก็แล้วแต่เจ้าแล้วละว่า เขาจะทำยังไง หรือ บางเจ้าเผ็ดกว่านั้นอีก ค่าที่จอดคิดโดยอาคารที่จอด ตอนที่เราเข้ามา แล้วมาเสียค่าไฟกับตู้ชาร์จเอา

กำลังการชาร์จสูงสุด

กำลังการชาร์จ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เราเลือกสถานีชาร์จด้วยเช่นกัน โดยในไทยเอง เอาจริง ๆ คือ เราไม่ค่อยมีเครื่องชาร์จกำลังสูง ๆ เท่ากับต่างประเทศเท่าไหร่ แต่ ๆ เราพอจะเข้าใจอยู่ เพราะ รถไฟฟ้าในไทยส่วนใหญ่ จะไม่ได้รองรับกำลังไฟที่สูงมาก ๆ เช่น 200kW ก็ยังไม่เห็นมีขับบนถนนไทยเยอะเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 60kW ในกลุ่มรถจีนทั้งหลาย เช่น ORA Good Cat และ MG ZS EV ทำให้การลงทุนในเครื่องชาร์จกำลังสูง ๆ อาจจะยังไม่คุ้มสำหรับผู้ประกอบการ ณ เวลานี้เท่าไหร่

แต่สำหรับ รถที่ชาร์จได้เร็วกว่านั้น ในไทยเรา ณ วันที่เขียนจะมีเครื่องที่แรงที่สุดอยู่ที่ 150 kW ไปเลย นั่นคือเครื่องของ PTT EV Station เป็นสถานีที่เรามองว่า น่าสนใจมาก ๆ เพราะตู้ส่วนใหญ่ของเรา จะรองรับขั้นต่ำที่ 120 kW หมดเลย ทำให้เราไม่ต้องมานั่งลุ้นว่า เอ๊ะ มันจะได้เท่าไหร่นะ เราจะต้องนั่งรอนานมั้ยอะไรแบบนั้น

ส่วนตัวที่รองลงมาหน่อย ก็จะเป็น EleX By EGAT เขาจะรับได้ 125 kW ห่างจาก PTT นิดหน่อย พวกนี้จะเป็นกลุ่มที่ชาร์จเร็วมาก ๆ เกือบ ๆ สุดในไทยที่เรามี ณ วันที่เขียนแล้ว

ส่วนเจ้าที่เล็กสุด ณ วันที่เขียนคือ PEA Volta ที่จ่ายได้สูงสุด 50kW เท่านั้น แต่ข่าวบอกว่า เขาจะเอาเครื่องชาร์จ Generation ใหม่เข้ามาแล้วไม่รู้ว่าเท่าไหร่เหมือนกัน น่าจะมากกว่า 150 kW มั้งนะไม่งั้น ก็จะช้าไปละ (ล่าสุดเขาจะเอาเครื่องชาร์จ 300 kW เข้ามานิ)

ดังนั้น รถส่วนใหญ่ในไทยที่รับได้แค่ 60kW เรามองว่า ณ วันที่เขียนในไทยเรา ที่ไหนว่าง เราก็เข้าได้เลย เพราะสุดท้าย เร็วที่สุดที่รถเรารับได้ก็แค่ 60kW แต่ถ้าเราไปตู้ DC ที่ช้าที่สุด เราก็จะอยู่ที่ 50kW ซึ่ง อะรอนานกว่าเดิมหน่อย แต่ก็ไม่แย่ขนาดนั้น ส่วนรถที่ชาร์จได้เร็วกว่านั้น หาตู้ที่ใกล้เคียงกับที่เรารับได้เลย

การจ่ายเงิน

การจ่ายเงิน หลัก ๆ แล้วเราจะแยกออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ การจ่ายผ่านบัตรเครดิต และ การเติมเงินเข้าไปก่อน เอาแบบแรกกันก่อน พวกนี้ตรง ๆ เลยคือ เราจะต้องทำการเพิ่มบัตรเครดิตเข้าไปก่อน เรียกว่าเป็น Model ที่ทุกเจ้าทำกันหมด เช่น PTT EV Station ที่เมื่อก่อนมีปัญหาการ Hold เงินแล้วคืนทีหลังซึ่งช้ามาก แต่เท่าที่ลองใช้ล่าสุด ก็ไม่หักละ กับอีกเจ้าที่โอเคเรื่องนี้พอกันเลยคือ EleX By EGAT อันนี้ดีจริง

ส่วนอีกแบบคือ PEA Volta ที่ใช้ลักษณะการเติมเงินก่อนเข้าไป ซึ่งพวกนี้จะเติมเงินผ่านช่องทางการจ่ายเงินอื่น ๆ ได้ คือ Thailand QR Code ได้เลย ทำให้ถ้าเกิดว่า เราไม่มีบัตรเครดิต เราก็ยังสามารถจ่ายเงินค่าชาร์จได้อยู่ แต่ปัญหาคือ เราจะต้องทำการเติมเงินให้เพียงพอก่อนเราจะชาร์จ ไม่เช่นนั้น เมื่อเราชาร์จไปถึงจำนวนเงินที่เรามีแล้วมันจะตัดเลย แล้วบอกว่า เงินในบัญชี ไม่เพียงพอ

ส่วนตัวเรามองว่า เราชอบการตัดผ่านบัตรเครดิตมากกว่า เพราะเอาเข้าจริงมันง่ายกว่า ไม่ต้องมาเอาภาระในการจัดการเงินใส่ตัว ชาร์จเสร็จเราก็สั่งจ่ายไปที่บัตรได้เลย โยนภาระให้ธนาคารไปเลย จะเรียกเก็บได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องของผู้ให้บริการละ แต่การใช้ QR Code ก็จะง่ายกับคนที่ไม่มีบัตรเครดิตมากกว่า

สิ่งอำนวยความสะดวก

ในส่วนนี้ เราขอพูดถึงแค่เจ้าใหญ่ ๆ ที่อยู่ตามทางระหว่างจังหวัดละกัน คือ PTT EV Station, PEA Volta, EleX By EGAT และ EA Anywhere

โดยที่สถานีชาร์จพวกนี้ส่วนใหญ่ เขาก็จะดีลกับปั้มไว้แล้วละ คือของ PTT ก็แน่นอนว่า อยู่กับปั้ม ปตท แน่นอน, PEA Volta อยู่กับปั้มบางจาก กับตาม Office ของ PEA, EleX By EGAT อยู่กับปั้ม PT กับโรงไฟฟ้า และ EA Anywhere มักจะอยู่ตามพวกห้างร้านต่าง ๆ ซะเยอะ ที่เราเจอบ่อย ๆ น่าจะเป็นกลุ่มพวกร้านขายวัสดุก่อสร้างอะไรพวกนั้น

เจ้าที่เรามองว่า เข้าไป ยังไงก็คือรอดเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกแน่นอนคือ PTT EV Station เพราะต้องเข้าใจว่าปั้ม ปตท เขายืนหนึ่งเรื่องนี้อยู่แล้ว ห้องน้ำสะอาดเยอะ ร้านอาหาร ซื้อของเยอะ เรียกว่า จอดชาร์จแล้วไปเข้าห้องน้ำ หาอะไรกินได้แบบ เลือกตามที่อยากได้เลย มีร้านกาแฟ Amazon เอง

กลุ่มปั้มบางจาก ก็จะรองลงมาหน่อย บางสถานีคือ ไม่มีอะไรเลย แต่ถ้ามีเขาก็จะมีไม่เยอะมากเท่าไหร่ กับพวก PT อันนี้ส่วนใหญ่ที่เราเข้ามาส่วนใหญ่ก็แห้งเลย มี PT แถวบ้านเราเองที่เปิดใหม่ อะนั่นคือ เจ๋งเลย คูล และสุดท้าย EA Anywhere ที่อยู่ตามห้างร้าน เรามองว่า เรื่องห้องน้ำไม่มีปัญหาหรอก แต่เรื่องหาของกิน เราว่า อาจจะยากสำหรับบางจุดสักหน่อย

และหนักสุดคือ ไม่มีอะไรเลย นั่นคือพวกของ EleX By EGAT ที่อยู่ในโรงไฟฟ้าและ PEA Volta ที่อยู่ในสำนักงานของสาขา PEA ต่าง ๆ ซึ่งอันนี้เองมันก็พอจะเข้าใจได้ เพราะมันตั้งอยู่ในสำนักงาน ทำให้ถ้าเรามาชาร์จนอกเวลาราชการ ก็จะเจอปัญหาว่า มันไม่มีอะไรเลย นอกจากเครื่องชาร์จ รถ และ เรา ไม่มีห้องน้ำ ไม่มีอะไรเลย

สรุป

ส่วนตัวเรา ณ วันที่เขียนนี้ ถ้าเราจะหาสถานีชาร์จไฟสาธารณะ เราจะเลือก PTT EV Station เป็นอันดับแรก เพราะ เป็นสถานีที่ชาร์จได้เร็ว มีห้องน้ำสะอาด และ ร้านอาหารเยอะมาก ทำให้เราเดินไปซื้อของ และ เข้าห้องน้ำระหว่างชาร์จได้ด้วย ที่สำคัญ ราคาคิดเป็นแบบ TOU ด้วย ราคาช่วง Off-Peak เท่ากับของ PEA Volta ที่เข้าไป โอกาสไม่มีอะไรเลยสูงกว่า ในขณะที่ On-Peak ปตท ก็ทำราคาได้ดีกว่า คือ 7.5 บาท

ลงมาอีก เราก็จะไปหาพวก PEA Volta เพราะให้ราคาที่ไม่ต่างจาก PTT EV Station มากของช่วง On-Peak กับไม่ต่างอะไรเลยในช่วง Off-Peak (ที่คนทำงานอย่างเราเดินทางออกต่างจังหวัดไปเที่ยว) ก็อาจจะยอมว่า บางครั้ง อาจจะไม่ได้เข้าไปชาร์จในปั้ม หรือในปั้มอาจจะไม่ค่อยมีอะไรเท่าไหร่ แต่ก็พอจะได้อยู่ ส่วน EleX by EGAT ถ้าใครที่ไม่ได้ใช้รถที่มีความสามารถในการรับไฟที่กำลังสูงมาก ๆ เราก็มองว่า ราคาแอบแพงกว่าคู่แข่งไปเยอะเลย ส่วนนึงเพราะไม่ได้คิดราคาแบบ TOU ด้วยแหละ

และสุดท้าย เจ้าอื่น ๆ ที่มีตู้เยอะ ๆ อย่าง EA Anywhere น่าจะเป็นเจ้าแรก ๆ เลยปะที่เข้ามา ส่วนตัวเรามองว่า มันไม่ได้มีจุดที่ทำให้น่าสนใจอะไรขนาดนั้น กับถ้าเราต้องชาร์จจริง ๆ มันก็ยากที่จะการันตีว่า ตรงนั้นจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างจาก PTT ไปเยอะมาก เพราะอันนั้นเขาเป็นเจ้าของปั้มที่ขายเรื่องร้านค้าอะไรอยู่แล้ว มันไม่แปลกที่เขาจะมี หรืออย่าง Evolt เอง เราว่า เขาเหมือนไม่ได้เจาะตลาดที่ตรงนี้เท่าไหร่เหรอ ไปเน้นพวก AC Charge ตามตึกกันไป ส่วนเจ้าอื่น ๆ รายย่อยกว่านี้เรายังไม่เคยได้ใช้ เลยยังไม่กล้าพูดอะไรเยอะเท่าไหร่

สุดท้ายเรามองว่า การมาถึงของ BEV จะทำให้ลักษณะการออกแบบปั้มมันเปลี่ยนไปเยอะ เพราะลักษณะการใช้งาน มันเปลี่ยนไปจากเดิมเราอยู่ในปั้มไม่เกิน 10 นาที เติมแล้วก็ไป ไม่ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไร แต่การชาร์จไฟมันนานกว่านั้น เรามองว่า Revenue Model ก็เปลี่ยนไปด้วย ปั้มจากเดิมหากินจากค่านำ้มัน เปลี่ยนไปเป็นค่าเช่าที่สำหรับลงร้าน สำหรับให้คนเข้ามาใช้บริการตอนชาร์จไฟด้วย

Read Next...

รีวิว iPad Mini Gen 7 หน้าเดิม แรงขึ้นรองรับ Apple Intelligence แล้วนะ

รีวิว iPad Mini Gen 7 หน้าเดิม แรงขึ้นรองรับ Apple Intelligence แล้วนะ

หลังจากผ่านไป 3 ปี ในที่สุดวันที่เรารอคอยกันก็มาถึง iPad Mini ออกรุ่นใหม่แล้วแกร แต่เอ๊ะ หน้าเดิมนิ แล้วมันมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง และส่งผลกระทบต่อการใช้งานอย่างไรบ้าง วันนี้เราได้ทดลองใช้แล้วจะมารีวิวให้อ่านกัน...

รีวิว Apple Password Manager จากเรื่องง่าย ทำให้ทุกอย่างยาก

รีวิว Apple Password Manager จากเรื่องง่าย ทำให้ทุกอย่างยาก

หนึ่งใน Feature ใหม่ที่เปิดออกมาทั้งใน macOS Sequoia, iPadOS 18 และ iOS 18 คือ App ที่ชื่อว่า Password เป็น Password Manager ของ Apple วันนี้เราได้ทดลองใช้งานมันมาประมาณ 1 อาทิตย์แล้ว จะมาเล่าให้อ่านกันว่าอาการมันเป็นยังไง มันทำให้ชีวิตเราเหนื่อยขึ้นได้อย่างไร...

รีวิว macOS Sequoia การอัพเดทที่ทำให้ Ecosystem แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

รีวิว macOS Sequoia การอัพเดทที่ทำให้ Ecosystem แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

เป็นประจำในทุก ๆ ปีที่ Apple จะเปิดตัว macOS Version ใหม่ออกมาให้ผู้ใช้ Mac ได้ Upgrade กัน ในปีนี้เอง Crack Marketing Team ก็ทำหน้าที่ของตัวเองในการออกไปหาชื่อใหม่ให้กับ macOS ในปีนี้ชื่อว่า macOS Sequoia จะมี Feature อะไรเด็ด ๆ บาง วันนี้เรารวมเอามาเล่าให้อ่านกัน...

รีวิว iOS 18 การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยแต่ยิ่งใหญ่

รีวิว iOS 18 การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยแต่ยิ่งใหญ่

หลังจาก Apple เปิดตัว iOS18 และ iPadOS18 วันนี้เราจะมาเล่าพวก Feature ต่าง ๆ ที่เราได้ทดลองใช้งานมาหลายวันพร้อมกับบอก Use Case การใช้งานต่าง ๆ ว่ามันเอามาทำอะไรได้บ้าง...