Technology

เราสามารถใช้ Emergency Charger ที่มากับรถได้เป็นประจำเลยรึเปล่า

By Arnon Puitrakul - 14 กรกฎาคม 2023

เราสามารถใช้ Emergency Charger ที่มากับรถได้เป็นประจำเลยรึเปล่า

มีคนถามเราเข้ามาเยอะมาก ๆ ว่า ถ้าเกิด เราจะซื้อรถ BEV สักคัน แล้วถ้าเราไม่อยากจะเดินไฟเพิ่มเติมหลาย ๆ อย่าง บางบ้าน อาจจะไม่สะดวกที่จะเดิน หรือหลาย ๆ เรื่องในบ้าน บางบ้านแบบ เราอยู่บ้านคนอื่น แล้วเขาไม่สะดวกใจที่จะให้เดินสายอะไรเพิ่ม เลยทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าเกิด เราจะไม่เดินเลย เรามีหัวปลั๊กแถว ๆ หน้าบ้านอยู่แล้ว เราสามารถเอา Emergency Charger ที่ติดมากับรถ เสียบใช้งานเป็นปกติเลยได้มั้ย

ปล. เอาจริง ๆ นะ ถ้าเดินสายได้ เดินแล้วติดตั้ง Wall Charger เถอะนะ เคสนี้จะสำหรับบ้านที่เดินไม่ได้จริง ๆ โดยเฉพาะการเมืองภายในบ้าน ที่อาจจะยังคลุกกรุ่นเทือก ๆ นั้นมากกว่า

TLDR; ทั้งได้ และ ไม่ได้ ให้คำนึง 2 เรื่อง ความปลอดภัย และ ระยะทางที่ได้ต่อวัน

Emergency Charger คืออะไร ?

EVSE Mode 2

Emergency Charger หรืออาจจะเรียกว่า Mode 2 EV Charger ก็ได้เหมือนกัน เป็นอุปกรณ์สำหรับการชาร์จรถ EV ตัวนึงที่หลักการทำงานง่ายมาก ๆ คือ เราสามารถเสียบเครื่องชาร์จเข้ากับเต้าเสียบไฟบ้านของเรา และ เสียบอีกด้านเข้ากับตัวรถ

ตัวเครื่องมันไม่ได้ทำอะไรมากเลย ภายในมันติดตั้งพวกอุปกรณ์ความปลอดภัยทางไฟฟ้า เช่น การเช็คสายดินต่าง ๆ หรือพวก การเช็คอุณหภูมิต่าง ๆ ถ้ามันสูงเกิด หรือไม่อยู่ในช่วงที่ควรจะเป็น มันก็จะสามารถตัดไฟ เพื่อความปลอดภัยได้ทันที ส่วน หน้าที่ของการแปลงไฟจาก AC เป็น DC ก็ยังเป็นหน้าที่ของ On-Board Charger บนรถอยู่เหมือนเดิมนะ ไม่ได้อยู่ในกล่องเครื่องชาร์จ

อันนี้คือสาย Emergency Charger ที่ติดมากับรถ ORA Good Cat เราจะเห็นว่า ส่วนประกอบ จะเหมือนกับภาพของเราเป๊ะ ๆ เลยคือ มีหัวปลั๊กที่เสียบกับเต้าเสียบ, กล่องพลาสติกอันนึง ที่มีไฟ LED อยู่ และ หัวเสียบ Type 2 สำหรับเสียบเข้ารถ

ถ้าเราดูที่หัวปลั๊กดี ๆ จะเห็นว่า เห้ย มันเป็นหัวปลั๊กธรรมดาเลยนี่หว่า ใช่แล้ว เราสามารถเสียบมันเข้ากับ Wall-Plug บ้าน ๆ ของเรานี่แหละได้ตรง ๆ เลย ไม่ต้องแปลงอะไรทั้งนั้น

แล้วลองมาดูที่สเปก การรับไฟกันบ้างดีกว่า Input เขา ก็รับ 230v บ้านเราเลยเนอะ แหงแหละ อันนี้มากับรถที่ขายในบ้านเราเนอะ แต่ทุกคนดูกระแส 13A ใช่แล้ว ชิบหายยยยย 13A ทำให้เครื่องชาร์จอันนี้ มันสามารถจ่ายไฟให้กับรถได้ประมาณ 3 kW ไปเลย เทียบเท่าได้กับพวกเครื่องอบผ้า หรือ แอร์ได้รวม ๆ กันได้เลยนะ

สำหรับคนที่อาจจะอยากได้กำลังสูงกว่านี้หน่อย แนะนำให้ไปลองดูใน Online Shopping มันจะมีพวกเครื่องชาร์จพกพา แต่ให้กระแสที่ 32A เท่ากับเครื่องชาร์จแบบ Mode 3 เลย แต่แน่นอนว่า หัวปลั๊กปกติรับโหลด 32A ไม่ไหวแน่นอน ทำให้พวกนี้ หัวมันเลยจะเป็น Power Plug หัวใหญ่ ๆ เลย กับบางตัว เก่งหน่อย เขาสามารถปรับกระแสได้ด้วย ถ้าเอาคุณภาพดี ๆ หน่อย เราคิดว่า น่าจะ 8-9 พันบาทได้

ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ

ขนาดแอร์บ้านเราเอง มันกินไฟพีค ๆ เลยสัก 2 kW เราว่า ก็เยอะแล้วนะ เรายังต้องทำ Breaker แยกออกมาเลย แล้วอันนี้คือ 3 kW เรียกว่า กินจุก ๆ ได้เลยนะ มันก็รู้สึกว่า มันแอบน่ากลัวหน่อย ๆ เหมือนกัน

ปกติแล้ว สายไฟ มันจะมีขนาดของมันด้วยนะ โดยขนาดเขาจะบอกเป็นพื้นที่หน้าตัด เช่นอันที่เราใช้กันเยอะ ๆ ก็พวก 0.75 ตารางมิลลิเมตร เราก็จะเรียกว่าเบอร์ 0.75 สั้น ๆ แหละ เวลา เราไปซื้อจะได้พูดกันง่าย ๆ

ซึ่งในสายแต่ละขนาด เขาก็จะมีการกำหนดพิกัดของกระแสที่สามารถให้ผ่านได้อยู่เช่น สายเบอร์ 0.75 เขาจะมีบอกอยู่ว่า จะรับได้ประมาณ 10A ในความยาวสูงสุด 5m หรือเบอร์ 1 ก็รับ 10A ได้เหมือนกัน แต่ความยาวประมาณ 30m ไปเลยแบบจุก ๆ

ถ้าเกิด เราจ่ายไฟที่มากกว่าพิกัดที่สายรับได้ เราก็จะเจออาการสายไฟจะร้อนจนละลาย อาจจะทำให้เกิดอัคคีภัยในบ้านของเราได้ อันนี้ไม่เกี่ยวกับ EV ละ เกี่ยวกับระบบไฟบ้านเราละนะฮ่า ๆ แต่ถ้าเราใช้สายใหญ่ไป ก็ไม่มีอะไร นอกจากค่าสายแพง อื้ม แค่นั้นแหละ แนะนำว่า เบอร์สายที่ควรจะจริง ๆ ควรจะเป็นเบอร์ 2.5 ขึ้นไป ถ้าเบอร์ 4 ได้ยิ่งดีเลย

อีกจุดที่แนะนำให้เช็คคือ เต้าเสียบที่เราจะเสียบมันมีการพ่วงกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไร หรือ เต้าเสียบไหนที่อาจจะใช้ไฟเยอะ ๆ ร่วมกันมั้ย เพราะมันอาจจะทำให้ Breaker เราตกได้เหมือนกัน การแก้ปัญหาง่าย ๆ อาจจะสำรวจก่อน แล้วเมื่อเราชาร์จรถ เราอาจจะปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้สายร่วมกันก็ได้ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินกระแสสูง ๆ เช่นเตารีด หรือเครื่องอบผ้าอะไรพวกนั้น ไม่งั้น Breaker ดีดแน่ ๆ

ซ้ายมือปลั๊กพ่วงที่รองรับ 10A และขวารองรับ 16A เราจะเห็นว่าขนาดของสายต่างกันเยอะมาก

ส่วนพวกปลั๊กพ่วง จริง ๆ ถ้าเราไปดูส่วนใหญ่ในท้องตลาดเอาถูก ๆ เลย สายไฟจะอยู่ที่เบอร์ 0.75 เท่านั้น จนไปถึง ประมาณ 1.5 เอง แต่บางเจ้าเบอร์ 1.5 เขาจะ Rate ว่าทนกระแสได้ 16A แต่เอาเข้าจริง พวกนี้เขาออกแบบมาให้เป็น Peak Load มากกว่า การเอามารองรับ 16A แบบ จุก ๆ ต่อเนื่องยาว ๆ หลัก 10 ชั่วโมง ก็เป็นเรื่องที่เสียว ๆ พอตัวเหมือนกัน ทำให้ส่วนใหญ่แล้ว เราก็จะไม่แนะนำให้เราเสียบเครื่องชาร์จผ่านปลั๊กพ่วงจริง ๆ

นอกจากสายแล้ว ตัวเต้าเสียบก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน อย่างน้อย ๆ เลยนะ แนะนำว่า ถ้าเราจะ Retrofit เต้าเสียบให้เอามาชาร์จรถนะ ควรจะเช็คความพร้อมของเต้าเสียบด้วยว่า มันอยู่ในสภาพที่โอเคมั้ย มันอาจจะเสียบได้นะ แต่ระยะยาวมันก็ไม่โอเค ถ้ามันเก่ามา ก็แนะนำให้เปลี่ยนเถอะ ตัวที่เปลี่ยนก็อาจจะใช้ตัวที่มี มอก ก็จะได้มาก ๆ เด้อ

กับเวลาเราเสียบจริง ๆ อยากให้เช็คนะว่า เมื่อเราเสียบเครื่องเข้าไปในเต้าเสียบแล้ว หัวกับเต้าเสียบมันควรจะเสียบอย่างแน่นหนา ไม่มีหลวม ๆ นะ เพราะการหลวม ทำให้ Ark แล้วเกิดประกายไฟ หรือในกรณีที่แย่ที่สุดอาจจะทำให้เกิดไฟไหม้ได้เลยนะ โดยเฉพาะพวกเต้าเสียบที่อายุเยอะแล้ว ผ่านการเสียบเข้าออกเยอะ จนทำให้เขี้ยวมันเลื่อมหรือหักก็ทำให้น่ากลัวใช้ได้เหมือนกัน

แบตชาร์จคืนนึงวิ่งได้เท่าไหร่

มาที่เรื่องของ ไฟที่มันเข้ากันบ้าง เครื่องชาร์จพวกนี้ อย่างที่บอกคือ เขาจะใช้อยู่ 220V/16A หรือประมาณ 3 kW ทำให้ใน 1 ชั่วโมง รถก็ควรจะได้ไฟประมาณ 3 kWh หรือถ้าเราเผื่อ ๆ พวกประสิทธิภาพของการแปลงไฟโน้นนั่นนี่ของรถ ก็สัก 2.7 kWh ต่อชั่วโมงการชาร์จ

สมมุติว่า เรากลับบ้านมา 6 โมงเย็น แล้วเราออกจากบ้านอีกทีสัก ตี 5 ไปทำงาน แปลว่า เราจะมีเวลาเสียบอยู่บ้านประมาณ 11 ชั่วโมงด้วยกัน นั่นแปลว่า เราก็จะสามารถชาร์จไฟเข้ารถได้ประมาณคืนละ 29.7 kWh เท่านั้น วิธีการคำนวณง่ายมาก ๆ คือ ให้เราเอาจำนวนชั่วโมงที่เรานอนอยู่บ้านไปคูณกับ 2.7 เราก็จะได้หน่วยที่รถควรจะได้ชาร์จเข้าไป

แล้วถ้าเราอยากรู้ว่ามันตีเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ เราก็เอา หน่วยไฟที่ได้หารกับขนาด Battery ของเรา แล้วคูณด้วย 100% เช่น เราใช้ ORA Good Cat 500 Ultra แบตของเราขนาด 63.139 kWh เราชาร์จไป 11 ชั่วโมง เราได้ประมาณ 47% ด้วยกัน

เรื่องทั้งหมดมันไม่สำคัญเลย เมื่อเทียบกับว่า ปกติ เราเดินทางวันละเท่าไหร่กันละ เช่นเราบอกว่า เราเดินทางจากบ้านไปออฟฟิศ และ กลับบ้านอีก เราอาจจะใช้สัก 30 km เราว่าก็เยอะมาก ๆ สำหรับคนทั่ว ๆ ไปละ เราจะคิดง่าย ๆ เลย เช่น รถของเราบอกว่า วิ่งได้ 500 km NEDC เราจะบวกไปเพิ่มอีก 100 km ไปเลย เป็น 130 km ดังนั้น มันควรจะใช้แบตประมาณ 26% ได้

ดังนั้น ถ้าเราบอกว่า วันนึงเราชาร์จได้สัก 52% แล้วเราใช้วันละ 26% แน่ ๆ ต่อวันเพื่อไปกลับแล้ว เรายังมี Headroom อีกประมาณ 21% หรือกลม ๆ 100 km ในการออกนอกเส้นทางได้ในแต่ละวันแบบชิว ๆ เลย ดังนั้นถ้ามาแบบนี้ เราก็ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะไม่พอ แต่แน่นอนว่า ความต้องการแต่ละคนไม่เท่ากันนะ ดังนั้น สามารถเอาวิธีการคำนวณคร่าว ๆ มาลองไปทำตามการเดินทางของเราดูได้นะ

การใช้สายชาร์จฉุกเฉิน

ถ้าเราบอกว่า โอเค เราจะใช้งานสายชาร์จฉุกเฉินอันนี้จริง ๆ ละ การใช้งานมันไม่ยากขนาดนั้น คือ ให้เราเสียบหัวปลั๊กของเครื่องชาร์จเข้ากับเต้าเสียบบ้านเราก่อน

จากนั้นไฟแสดงสถานะของเครื่องจะติดขึ้นมา มันไม่ควรจะมี Error อะไรนะ เช่น บางบ้าน อาจจะไม่ได้เดินสายดิน มันก็จะขึ้น Error หรือ Fault ขึ้นมาไม่ให้เราชาร์จ อันนี้ เราก็ไม่ควรจะเสียบต่อแล้วนะ เพราะยังไง ๆ เครื่องมันก็จะไม่ให้เราชาร์จได้อยู่ดี นี่แหละคือข้อดีของพวก Mode 2 Charger มันมีการใส่อุปกรณ์สำหรับตรวจเช็คอะไรพวกนี้มาให้เราด้วย ทำให้เราปลอดภัยมากขึ้นเยอะมาก ๆ

ถ้าไม่มี Error อะไรขึ้นมา เราค่อยเสียบหัวชาร์จเข้ากับรถของเรา

ไฟแสดงสถานะที่เครื่องก็จะบอกว่า มันกำลังชาร์จ ปกติมันไม่ควรจะมี Error หรือ Fault อะไรแปลก ๆ ขึ้นมานะ เราเคยไปที่พักที่นึง เสียบเข้าไปแล้วไฟ Error มันดับ ๆ ติด ๆ สงสัยสายดินไม่แน่นหรืออะไรบางอย่าง เราเลยแนะนำให้เสียบเครื่องชาร์จกับปลั๊กก่อน เพื่อให้เครื่องมันเช็คระบบไฟให้เราก่อน

แต่อาจจะคลี่สายให้มันไม่พัน ๆ ติด ๆ กันนะ เพราะเวลาเราชาร์จไฟ กระแสวิ่งผ่านเยอะ ๆ มันจะเกิดความร้อนสะสม การคลี่สายออกจากกัน ก็เป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวในการระบายความร้อนให้ดีที่สุดเท่าที่มันจะทำได้

กับเมื่อเราชาร์จเรียบร้อยแล้ว แนะนำให้เราหยุดชาร์จจากรถก่อน แต่ถ้าบางคันไม่สามารถกดหยุดได้ แนะนำให้ไปที่หน้าการชาร์จในรถเรา แล้วไปตั้งเปอร์เซ็นต์ชาร์จให้ต่ำกว่าเปอร์เซ็นต์แบตปัจจุบัน แล้วรถมันจะตัดเองเลย ถ้าไม่มีไฟ Error อะไร เราก็สามารถดึงสายไฟออกจากเต้าเสียบได้เลย แต่ระวังนะ สายที่ชาร์จอยู่นาน ๆ โดยเฉพาะหัวปลั๊กมันอาจจะร้อน

และเมื่อเราถอดสายออกมาแล้ว ให้เราเช็คดูที่พวกหัวของสายไฟ และ เต้าเสียบด้วย ถ้ามันมีรอยไหม้อะไร แนะนำว่า อย่าเสียบอีกเลยนะ น่ากลัว....

สรุป

เครื่องชาร์จฉุกเฉิน หรือพวกเครื่องชาร์จ Mode 2 เป็นเครื่องชาร์จที้ให้ความสะดวกในการที่เราสามารถเสียบเข้ากับเต้าเสียบไฟบ้านทั่ว ๆ ไปได้เลย อาจจะสำหรับบ้านที่ไม่สามารถเดินสายไฟติดตั้งเครื่องชาร์จ Mode 3 ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุของการเดินสาย หรือเหตุของการเมืองในบ้าน แต่มันก็มากับกำลังชาร์จที่อาจจะช้าไปสักหน่อยสำหรับการใช้งานของบางคน ดังนั้น ถ้าเราจะใช้งานเครื่องชาร์จพวกนี้เป็นประจำอาจจะต้องไปดูการใช้งานในแต่ละวันว่า มันจะเพียงพอกับการใช้งานหรือไม่ และ อยากให้ระวังเรื่องของความปลอดภัยด้วยนะ เช็คก่อนเสียบทุกครั้งจะดีมาก ๆ เด้อ

Read Next...

การเบลอรูปภาพ มันทำได้อย่างไร ทำไมภาพถึงเบลอได้

การเบลอรูปภาพ มันทำได้อย่างไร ทำไมภาพถึงเบลอได้

เคยสงสัยกันมั้ยว่า Filter ที่เราใช้เบลอภาพ ไม่ว่าจะเพื่อความสวยงาม หรืออะไรก็ตาม แท้จริงแล้ว มันทำงานอย่างไร วันนี้เราจะพาไปดูคณิตศาสตร์และเทคนิคเบื้องหลังกันว่า กว่าที่รูปภาพจะถูกเบลอได้ มันเกิดจากอะไร...

AI Watermark กับความรับผิดชอบต่อการใช้ AI

AI Watermark กับความรับผิดชอบต่อการใช้ AI

หลังจากดูงาน Google I/O 2024 ที่ผ่านมา เรามาสะดุดเรื่องของการใส่ Watermark ลงไปใน Content ที่ Generate จาก AI วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า วิธีการทำ Watermark ใน Content ทำอย่างไร...

เราจำเป็นต้องใช้ NPU จริง ๆ เหรอ

เราจำเป็นต้องใช้ NPU จริง ๆ เหรอ

ก่อนหน้านี้เราทำ Content เล่าความแตกต่างระหว่าง CPU, GPU และ NPU ทำให้เราเกิดคำถามขึ้นมาว่า เอาเข้าจริง เราจำเป็นต้องมี NPU อยู่ในตลาดจริง ๆ รึเปล่า หรือมันอาจจะเป็นแค่ Hardware ตัวนึงที่เข้ามาแล้วก็จากไปเท่านั้น วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกัน...

Database 101 : Spreadsheet ไม่ใช่ Database โว้ยยยย

Database 101 : Spreadsheet ไม่ใช่ Database โว้ยยยย

บทความนี้ เราเขียนสำหรับมือใหม่ หรือคนที่ไม่ได้เรียนด้านนี้แต่อยากรู้ละกัน สำหรับวันนี้เรามาพูดถึงคำที่ถ้าเราทำงานกับพวก Developer เขาคุยกันบ่อย ๆ ใช้งานกันเยอะ ๆ อย่าง Database กันว่า มันคืออะไร ทำไมเราต้องใช้ และ เราจะมีตัวเลือกอะไรในการใช้งานบ้าง...