Technology

เราสามารถใช้ Emergency Charger ที่มากับรถได้เป็นประจำเลยรึเปล่า

By Arnon Puitrakul - 14 กรกฎาคม 2023

เราสามารถใช้ Emergency Charger ที่มากับรถได้เป็นประจำเลยรึเปล่า

มีคนถามเราเข้ามาเยอะมาก ๆ ว่า ถ้าเกิด เราจะซื้อรถ BEV สักคัน แล้วถ้าเราไม่อยากจะเดินไฟเพิ่มเติมหลาย ๆ อย่าง บางบ้าน อาจจะไม่สะดวกที่จะเดิน หรือหลาย ๆ เรื่องในบ้าน บางบ้านแบบ เราอยู่บ้านคนอื่น แล้วเขาไม่สะดวกใจที่จะให้เดินสายอะไรเพิ่ม เลยทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าเกิด เราจะไม่เดินเลย เรามีหัวปลั๊กแถว ๆ หน้าบ้านอยู่แล้ว เราสามารถเอา Emergency Charger ที่ติดมากับรถ เสียบใช้งานเป็นปกติเลยได้มั้ย

ปล. เอาจริง ๆ นะ ถ้าเดินสายได้ เดินแล้วติดตั้ง Wall Charger เถอะนะ เคสนี้จะสำหรับบ้านที่เดินไม่ได้จริง ๆ โดยเฉพาะการเมืองภายในบ้าน ที่อาจจะยังคลุกกรุ่นเทือก ๆ นั้นมากกว่า

TLDR; ทั้งได้ และ ไม่ได้ ให้คำนึง 2 เรื่อง ความปลอดภัย และ ระยะทางที่ได้ต่อวัน

Emergency Charger คืออะไร ?

EVSE Mode 2

Emergency Charger หรืออาจจะเรียกว่า Mode 2 EV Charger ก็ได้เหมือนกัน เป็นอุปกรณ์สำหรับการชาร์จรถ EV ตัวนึงที่หลักการทำงานง่ายมาก ๆ คือ เราสามารถเสียบเครื่องชาร์จเข้ากับเต้าเสียบไฟบ้านของเรา และ เสียบอีกด้านเข้ากับตัวรถ

ตัวเครื่องมันไม่ได้ทำอะไรมากเลย ภายในมันติดตั้งพวกอุปกรณ์ความปลอดภัยทางไฟฟ้า เช่น การเช็คสายดินต่าง ๆ หรือพวก การเช็คอุณหภูมิต่าง ๆ ถ้ามันสูงเกิด หรือไม่อยู่ในช่วงที่ควรจะเป็น มันก็จะสามารถตัดไฟ เพื่อความปลอดภัยได้ทันที ส่วน หน้าที่ของการแปลงไฟจาก AC เป็น DC ก็ยังเป็นหน้าที่ของ On-Board Charger บนรถอยู่เหมือนเดิมนะ ไม่ได้อยู่ในกล่องเครื่องชาร์จ

อันนี้คือสาย Emergency Charger ที่ติดมากับรถ ORA Good Cat เราจะเห็นว่า ส่วนประกอบ จะเหมือนกับภาพของเราเป๊ะ ๆ เลยคือ มีหัวปลั๊กที่เสียบกับเต้าเสียบ, กล่องพลาสติกอันนึง ที่มีไฟ LED อยู่ และ หัวเสียบ Type 2 สำหรับเสียบเข้ารถ

ถ้าเราดูที่หัวปลั๊กดี ๆ จะเห็นว่า เห้ย มันเป็นหัวปลั๊กธรรมดาเลยนี่หว่า ใช่แล้ว เราสามารถเสียบมันเข้ากับ Wall-Plug บ้าน ๆ ของเรานี่แหละได้ตรง ๆ เลย ไม่ต้องแปลงอะไรทั้งนั้น

แล้วลองมาดูที่สเปก การรับไฟกันบ้างดีกว่า Input เขา ก็รับ 230v บ้านเราเลยเนอะ แหงแหละ อันนี้มากับรถที่ขายในบ้านเราเนอะ แต่ทุกคนดูกระแส 13A ใช่แล้ว ชิบหายยยยย 13A ทำให้เครื่องชาร์จอันนี้ มันสามารถจ่ายไฟให้กับรถได้ประมาณ 3 kW ไปเลย เทียบเท่าได้กับพวกเครื่องอบผ้า หรือ แอร์ได้รวม ๆ กันได้เลยนะ

สำหรับคนที่อาจจะอยากได้กำลังสูงกว่านี้หน่อย แนะนำให้ไปลองดูใน Online Shopping มันจะมีพวกเครื่องชาร์จพกพา แต่ให้กระแสที่ 32A เท่ากับเครื่องชาร์จแบบ Mode 3 เลย แต่แน่นอนว่า หัวปลั๊กปกติรับโหลด 32A ไม่ไหวแน่นอน ทำให้พวกนี้ หัวมันเลยจะเป็น Power Plug หัวใหญ่ ๆ เลย กับบางตัว เก่งหน่อย เขาสามารถปรับกระแสได้ด้วย ถ้าเอาคุณภาพดี ๆ หน่อย เราคิดว่า น่าจะ 8-9 พันบาทได้

ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ

ขนาดแอร์บ้านเราเอง มันกินไฟพีค ๆ เลยสัก 2 kW เราว่า ก็เยอะแล้วนะ เรายังต้องทำ Breaker แยกออกมาเลย แล้วอันนี้คือ 3 kW เรียกว่า กินจุก ๆ ได้เลยนะ มันก็รู้สึกว่า มันแอบน่ากลัวหน่อย ๆ เหมือนกัน

ปกติแล้ว สายไฟ มันจะมีขนาดของมันด้วยนะ โดยขนาดเขาจะบอกเป็นพื้นที่หน้าตัด เช่นอันที่เราใช้กันเยอะ ๆ ก็พวก 0.75 ตารางมิลลิเมตร เราก็จะเรียกว่าเบอร์ 0.75 สั้น ๆ แหละ เวลา เราไปซื้อจะได้พูดกันง่าย ๆ

ซึ่งในสายแต่ละขนาด เขาก็จะมีการกำหนดพิกัดของกระแสที่สามารถให้ผ่านได้อยู่เช่น สายเบอร์ 0.75 เขาจะมีบอกอยู่ว่า จะรับได้ประมาณ 10A ในความยาวสูงสุด 5m หรือเบอร์ 1 ก็รับ 10A ได้เหมือนกัน แต่ความยาวประมาณ 30m ไปเลยแบบจุก ๆ

ถ้าเกิด เราจ่ายไฟที่มากกว่าพิกัดที่สายรับได้ เราก็จะเจออาการสายไฟจะร้อนจนละลาย อาจจะทำให้เกิดอัคคีภัยในบ้านของเราได้ อันนี้ไม่เกี่ยวกับ EV ละ เกี่ยวกับระบบไฟบ้านเราละนะฮ่า ๆ แต่ถ้าเราใช้สายใหญ่ไป ก็ไม่มีอะไร นอกจากค่าสายแพง อื้ม แค่นั้นแหละ แนะนำว่า เบอร์สายที่ควรจะจริง ๆ ควรจะเป็นเบอร์ 2.5 ขึ้นไป ถ้าเบอร์ 4 ได้ยิ่งดีเลย

อีกจุดที่แนะนำให้เช็คคือ เต้าเสียบที่เราจะเสียบมันมีการพ่วงกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไร หรือ เต้าเสียบไหนที่อาจจะใช้ไฟเยอะ ๆ ร่วมกันมั้ย เพราะมันอาจจะทำให้ Breaker เราตกได้เหมือนกัน การแก้ปัญหาง่าย ๆ อาจจะสำรวจก่อน แล้วเมื่อเราชาร์จรถ เราอาจจะปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้สายร่วมกันก็ได้ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินกระแสสูง ๆ เช่นเตารีด หรือเครื่องอบผ้าอะไรพวกนั้น ไม่งั้น Breaker ดีดแน่ ๆ

ซ้ายมือปลั๊กพ่วงที่รองรับ 10A และขวารองรับ 16A เราจะเห็นว่าขนาดของสายต่างกันเยอะมาก

ส่วนพวกปลั๊กพ่วง จริง ๆ ถ้าเราไปดูส่วนใหญ่ในท้องตลาดเอาถูก ๆ เลย สายไฟจะอยู่ที่เบอร์ 0.75 เท่านั้น จนไปถึง ประมาณ 1.5 เอง แต่บางเจ้าเบอร์ 1.5 เขาจะ Rate ว่าทนกระแสได้ 16A แต่เอาเข้าจริง พวกนี้เขาออกแบบมาให้เป็น Peak Load มากกว่า การเอามารองรับ 16A แบบ จุก ๆ ต่อเนื่องยาว ๆ หลัก 10 ชั่วโมง ก็เป็นเรื่องที่เสียว ๆ พอตัวเหมือนกัน ทำให้ส่วนใหญ่แล้ว เราก็จะไม่แนะนำให้เราเสียบเครื่องชาร์จผ่านปลั๊กพ่วงจริง ๆ

นอกจากสายแล้ว ตัวเต้าเสียบก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน อย่างน้อย ๆ เลยนะ แนะนำว่า ถ้าเราจะ Retrofit เต้าเสียบให้เอามาชาร์จรถนะ ควรจะเช็คความพร้อมของเต้าเสียบด้วยว่า มันอยู่ในสภาพที่โอเคมั้ย มันอาจจะเสียบได้นะ แต่ระยะยาวมันก็ไม่โอเค ถ้ามันเก่ามา ก็แนะนำให้เปลี่ยนเถอะ ตัวที่เปลี่ยนก็อาจจะใช้ตัวที่มี มอก ก็จะได้มาก ๆ เด้อ

กับเวลาเราเสียบจริง ๆ อยากให้เช็คนะว่า เมื่อเราเสียบเครื่องเข้าไปในเต้าเสียบแล้ว หัวกับเต้าเสียบมันควรจะเสียบอย่างแน่นหนา ไม่มีหลวม ๆ นะ เพราะการหลวม ทำให้ Ark แล้วเกิดประกายไฟ หรือในกรณีที่แย่ที่สุดอาจจะทำให้เกิดไฟไหม้ได้เลยนะ โดยเฉพาะพวกเต้าเสียบที่อายุเยอะแล้ว ผ่านการเสียบเข้าออกเยอะ จนทำให้เขี้ยวมันเลื่อมหรือหักก็ทำให้น่ากลัวใช้ได้เหมือนกัน

แบตชาร์จคืนนึงวิ่งได้เท่าไหร่

มาที่เรื่องของ ไฟที่มันเข้ากันบ้าง เครื่องชาร์จพวกนี้ อย่างที่บอกคือ เขาจะใช้อยู่ 220V/16A หรือประมาณ 3 kW ทำให้ใน 1 ชั่วโมง รถก็ควรจะได้ไฟประมาณ 3 kWh หรือถ้าเราเผื่อ ๆ พวกประสิทธิภาพของการแปลงไฟโน้นนั่นนี่ของรถ ก็สัก 2.7 kWh ต่อชั่วโมงการชาร์จ

สมมุติว่า เรากลับบ้านมา 6 โมงเย็น แล้วเราออกจากบ้านอีกทีสัก ตี 5 ไปทำงาน แปลว่า เราจะมีเวลาเสียบอยู่บ้านประมาณ 11 ชั่วโมงด้วยกัน นั่นแปลว่า เราก็จะสามารถชาร์จไฟเข้ารถได้ประมาณคืนละ 29.7 kWh เท่านั้น วิธีการคำนวณง่ายมาก ๆ คือ ให้เราเอาจำนวนชั่วโมงที่เรานอนอยู่บ้านไปคูณกับ 2.7 เราก็จะได้หน่วยที่รถควรจะได้ชาร์จเข้าไป

แล้วถ้าเราอยากรู้ว่ามันตีเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ เราก็เอา หน่วยไฟที่ได้หารกับขนาด Battery ของเรา แล้วคูณด้วย 100% เช่น เราใช้ ORA Good Cat 500 Ultra แบตของเราขนาด 63.139 kWh เราชาร์จไป 11 ชั่วโมง เราได้ประมาณ 47% ด้วยกัน

เรื่องทั้งหมดมันไม่สำคัญเลย เมื่อเทียบกับว่า ปกติ เราเดินทางวันละเท่าไหร่กันละ เช่นเราบอกว่า เราเดินทางจากบ้านไปออฟฟิศ และ กลับบ้านอีก เราอาจจะใช้สัก 30 km เราว่าก็เยอะมาก ๆ สำหรับคนทั่ว ๆ ไปละ เราจะคิดง่าย ๆ เลย เช่น รถของเราบอกว่า วิ่งได้ 500 km NEDC เราจะบวกไปเพิ่มอีก 100 km ไปเลย เป็น 130 km ดังนั้น มันควรจะใช้แบตประมาณ 26% ได้

ดังนั้น ถ้าเราบอกว่า วันนึงเราชาร์จได้สัก 52% แล้วเราใช้วันละ 26% แน่ ๆ ต่อวันเพื่อไปกลับแล้ว เรายังมี Headroom อีกประมาณ 21% หรือกลม ๆ 100 km ในการออกนอกเส้นทางได้ในแต่ละวันแบบชิว ๆ เลย ดังนั้นถ้ามาแบบนี้ เราก็ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะไม่พอ แต่แน่นอนว่า ความต้องการแต่ละคนไม่เท่ากันนะ ดังนั้น สามารถเอาวิธีการคำนวณคร่าว ๆ มาลองไปทำตามการเดินทางของเราดูได้นะ

การใช้สายชาร์จฉุกเฉิน

ถ้าเราบอกว่า โอเค เราจะใช้งานสายชาร์จฉุกเฉินอันนี้จริง ๆ ละ การใช้งานมันไม่ยากขนาดนั้น คือ ให้เราเสียบหัวปลั๊กของเครื่องชาร์จเข้ากับเต้าเสียบบ้านเราก่อน

จากนั้นไฟแสดงสถานะของเครื่องจะติดขึ้นมา มันไม่ควรจะมี Error อะไรนะ เช่น บางบ้าน อาจจะไม่ได้เดินสายดิน มันก็จะขึ้น Error หรือ Fault ขึ้นมาไม่ให้เราชาร์จ อันนี้ เราก็ไม่ควรจะเสียบต่อแล้วนะ เพราะยังไง ๆ เครื่องมันก็จะไม่ให้เราชาร์จได้อยู่ดี นี่แหละคือข้อดีของพวก Mode 2 Charger มันมีการใส่อุปกรณ์สำหรับตรวจเช็คอะไรพวกนี้มาให้เราด้วย ทำให้เราปลอดภัยมากขึ้นเยอะมาก ๆ

ถ้าไม่มี Error อะไรขึ้นมา เราค่อยเสียบหัวชาร์จเข้ากับรถของเรา

ไฟแสดงสถานะที่เครื่องก็จะบอกว่า มันกำลังชาร์จ ปกติมันไม่ควรจะมี Error หรือ Fault อะไรแปลก ๆ ขึ้นมานะ เราเคยไปที่พักที่นึง เสียบเข้าไปแล้วไฟ Error มันดับ ๆ ติด ๆ สงสัยสายดินไม่แน่นหรืออะไรบางอย่าง เราเลยแนะนำให้เสียบเครื่องชาร์จกับปลั๊กก่อน เพื่อให้เครื่องมันเช็คระบบไฟให้เราก่อน

แต่อาจจะคลี่สายให้มันไม่พัน ๆ ติด ๆ กันนะ เพราะเวลาเราชาร์จไฟ กระแสวิ่งผ่านเยอะ ๆ มันจะเกิดความร้อนสะสม การคลี่สายออกจากกัน ก็เป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวในการระบายความร้อนให้ดีที่สุดเท่าที่มันจะทำได้

กับเมื่อเราชาร์จเรียบร้อยแล้ว แนะนำให้เราหยุดชาร์จจากรถก่อน แต่ถ้าบางคันไม่สามารถกดหยุดได้ แนะนำให้ไปที่หน้าการชาร์จในรถเรา แล้วไปตั้งเปอร์เซ็นต์ชาร์จให้ต่ำกว่าเปอร์เซ็นต์แบตปัจจุบัน แล้วรถมันจะตัดเองเลย ถ้าไม่มีไฟ Error อะไร เราก็สามารถดึงสายไฟออกจากเต้าเสียบได้เลย แต่ระวังนะ สายที่ชาร์จอยู่นาน ๆ โดยเฉพาะหัวปลั๊กมันอาจจะร้อน

และเมื่อเราถอดสายออกมาแล้ว ให้เราเช็คดูที่พวกหัวของสายไฟ และ เต้าเสียบด้วย ถ้ามันมีรอยไหม้อะไร แนะนำว่า อย่าเสียบอีกเลยนะ น่ากลัว....

สรุป

เครื่องชาร์จฉุกเฉิน หรือพวกเครื่องชาร์จ Mode 2 เป็นเครื่องชาร์จที้ให้ความสะดวกในการที่เราสามารถเสียบเข้ากับเต้าเสียบไฟบ้านทั่ว ๆ ไปได้เลย อาจจะสำหรับบ้านที่ไม่สามารถเดินสายไฟติดตั้งเครื่องชาร์จ Mode 3 ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุของการเดินสาย หรือเหตุของการเมืองในบ้าน แต่มันก็มากับกำลังชาร์จที่อาจจะช้าไปสักหน่อยสำหรับการใช้งานของบางคน ดังนั้น ถ้าเราจะใช้งานเครื่องชาร์จพวกนี้เป็นประจำอาจจะต้องไปดูการใช้งานในแต่ละวันว่า มันจะเพียงพอกับการใช้งานหรือไม่ และ อยากให้ระวังเรื่องของความปลอดภัยด้วยนะ เช็คก่อนเสียบทุกครั้งจะดีมาก ๆ เด้อ

Read Next...

Trust ความเชื่อมั่น แต่ทำไมวงการ Cyber Security ถึงมูฟออนไป Zero-Trust กัน

Trust ความเชื่อมั่น แต่ทำไมวงการ Cyber Security ถึงมูฟออนไป Zero-Trust กัน

คำว่า Zero-Trust น่าจะเป็นคำที่น่าจะเคยผ่านหูผ่านตามาไม่มากก็น้อย หลายคนบอกว่า มันเป็นทางออกสำหรับการบริหาร และจัดการ IT Resource สำหรับการทำงานในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันคืออะไร และ ทำไมหลาย ๆ คนคิดว่า มันเป็นเส้นทางที่ดีที่เราจะมูฟออนกันไปทางนั้น...

แปลงเครื่องคอมเก่าให้กลายเป็น NAS

แปลงเครื่องคอมเก่าให้กลายเป็น NAS

หลังจากเราลงรีวิว NAS ไป มีคนถามเข้ามาเยอะมากว่า ถ้าเราไม่อยากซื้อเครื่อง NAS สำเร็จรูป เราจะสามารถใช้เครื่องคอมเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาเป็นเครื่อง NAS ได้อย่างไรบ้าง มีอุปกรณ์ หรืออะไรที่เราจะต้องติดตั้งเพิ่มเติม วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกัน...

รีวิว Ugreen Nexode Pro Charger ที่เบา กระทัดรัดที่สุด

รีวิว Ugreen Nexode Pro Charger ที่เบา กระทัดรัดที่สุด

เมื่อปีก่อน เรารีวิว Adapter 100W จาก UGreen ที่เคยคิดว่ามันเล็กกระทัดรัด น้ำหนักเบา พกพาง่ายที่สุดไปแล้ว ผ่านมาปีนึง เรามาเจออีกตัวที่มันดียิ่งกว่าจากฝั่ง Ugreen เช่นเดียวกันในซีรีย์ Nexode Pro วันนี้เรากดมาใช้เอง 2 ตัวคือขนาด 65W และ 100W จะเป็นอย่างไร อ่านได้ในบทความนี้เลย...

Tor Network ทำงานอย่างไร ทำไมถึงตามยากนัก

Tor Network ทำงานอย่างไร ทำไมถึงตามยากนัก

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนนานมาก ๆ แล้ว ตำรวจไทยได้จับกุมเจ้าของเว็บ AlphaBay ขายของผิดกฏหมายรายใหญ่ ซึ่งเว็บนั้นมันอยู่ใน Dark Web ที่จำเป็นต้องเข้าถึงผ่าน Tor Network วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันทำงานอย่างไร และทำไมการตามตัวในนั้นถึงเป็นเรื่องยากกัน...