Review

4 ปีกับ Solar Cell แดดเปรี้ยง ๆ ก็มาสิครับ

By Arnon Puitrakul - 09 กุมภาพันธ์ 2025

4 ปีกับ Solar Cell แดดเปรี้ยง ๆ ก็มาสิครับ

1 ปีผ่านไปเร็วเหมือนกันนะ ตอนนี้ก็ครบ 4 ปีหลังจากที่บ้านเราติด Solar Cell ไปแล้ว เป็นปีแรกเลยที่ เราไม่ได้มีการเพิ่ม หรือปรับเปลี่ยน Config อะไรทั้งสิ้น คือใช้ไป และมีการล้างทำความสะอาดอย่างเดียวเท่านั้น ก็มาลองดูกันว่า ด้วยการใช้งานในปีนี้ มันทำให้เราเข้าใกล้จุดคุ้มทุนมากน้อยขนาดไหน

Performance Analysis ระบบที่ 1

ขอติดเดือน 1 ของปี 2025 มานิดนึงนะ ลืมเอาออก

เริ่มจากระบบที่ 1 ที่วางแผงอยู่บนหลังคาเราทั้งหมดเลย ในปี 2024 ที่ผ่านมานี้ ระบบสามารถผลิตไฟได้ถึง 7.54 MWh ซึ่งถือว่า สูงสุดที่สุดนับตั้งแต่เราติดมาเลย เรียกได้ว่าพลิกโผที่เราเดาไว้ว่ามันน่าจะค่อย ๆ ลดลงตามกาลเวลาเข้าไปเรื่อย ๆ แต่เราเดาว่า ที่มันออกมาเป็นแบบนี้เพราะว่า ปีนี้แดดทำหน้าที่ได้ดีกว่าปีก่อน ๆ ด้วยละมั้ง เลยทำให้มันได้พลังงานออกมาเยอะกว่าปีก่อน ๆ ได้มากขนาดนั้น

หากเทียบเป็นช่วงแต่ละเดือน เราจะเห็นได้เลยว่า ปี 2024 ที่ผ่านมา ทำได้ดีกว่าปีก่อน ๆ แบบ เกือบทุกเดือนเลย เว้นของเดือนมีนาคม 2022 ที่อันนั้นเราไม่แน่ใจว่ามันของจริง หรือมันเกิด Error ขึ้นในระบบกันแน่ ดังนั้นเราขอเอาข้อมูลส่วนนั้นออกจากการวิเคราะห์ไปก่อนละกัน นั่นทำให้มันไม่แปลกเลยที่ ยอดรวมสรุปพลังงานที่ผลิตได้ในรอบปีมันจะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากขนาดนั้น ถ้าเรามองเทียบระหว่างเดือน กับแต่ละปี เราว่าเดือนเมษาของปี 2024 นี้คือเป็นเดือนที่ระบบทำงานได้ดีเป็นพิเศษมาก ๆ แซงเดือนเดียวกันในปีก่อน ๆ แบบไม่เห็นฝุ่นเลย โดยผลิตได้อยู่ที่ 758.17 kWh เทียบกับค่าเฉลี่ยของปีก่อน ๆ ในเดือนเดียวกันที่ 499.74 kWh

ผลของการเพิ่มขึ้นของพลังงานที่ผลิตได้ในปี 2024 ที่ผ่านมานี้ ทำให้เราเดาต่อไปไม่ถูกเลยว่า ปีหน้านี้มันจะไปทางไหนกันแน่ ยิ่งเราได้เห็นค่าการผลิตที่ทำได้จากเดือน มกราคม 2025 ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้คิดว่าปีนี้ ถ้ามันไปในแนวโน้มเหมือนปีก่อน เรามีแววว่าจะได้พลังงานเพิ่มขึ้นอีกพอสมควรเลย ก็ต้องมารอดูในปีต่อไป

Performance Analysis ระบบที่ 2

แต่กลับกัน ในระบบที่ 2 กลับเดินตามที่คาดเอาไว้เลย หากเราดูในกราฟจำนวนพลังงานที่ผลิตได้ในแต่ละปี เราจะเห็นได้ว่า พลังงานที่ผลิตได้ในปี 2024 พอ ๆ กับปี 2023 เลย แต่จริง ๆ แล้ว ปี 2024 ผลิตได้น้อยกว่าอยู่ 0.39% หากตีเป็นพลังงานจะอยู่ที่ 23 kWh กว่า ๆ เท่านั้นเอง เอาจริง ๆ คือ มันเรียกว่า แทบจะเท่ากันเลยก็ได้แหละ ถือว่า ระบบทำงานได้อย่างดีเยี่ยม และเมื่อเราเอาผลจากระบบที่ 1 มาดูเทียบกัน เราคิดว่า ปี 2024 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ให้แดดที่ดีมาก ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ เลยทำให้ทั้งสองระบบมันทำได้ดีมากขนาดนี้

สำหรับพลังงานที่ผลิตได้ในแต่ละเดือนของปี 2023 และ 2024 นั้นไปในทางเดียวกันคือ มีการเหวี่ยงไปตามแต่ละเดือน โดยมันจะลงไปต่ำสุดในเดือนกรกฏาคมแล้วเด้งกลับไปขึ้นแล้วลงอีกครั้งในเดือนกันยายน แล้วค่อย ๆ ขึ้นวนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เหมือนคลื่นเลย ส่วนเมื่อเทียบจำนวนพลังงานกันกับปี 2023 ก็เรียกว่าสูสีกันมาก ๆ บางเดือนก็มีน้อยกว่า บางเดือนพอ ๆ กัน และบางเดือนก็สูงกว่านิดหน่อย เช่นเดือน เมษายน ที่สูงกว่าปี 2023 ขึ้นมาอีกนิดหน่อย

จากพลังงานที่ระบบที่ 2 ผลิตได้นั้นไม่ได้เหนือไปกว่าที่เราเดาไว้สักเท่าไหร่ ตอนแรกเราเดาไว้ว่า น่าจะตกลงไปสัก 2-3% ตามสภาพความเสื่อมตามกาลเวลา แต่กลับกลายเป็นว่ามันต่ำลงเพียง 0.39% เท่านั้น เลยเดาว่า แดดปีนี้มันดีจริง ๆ แหละ

Performance Comparison ระหว่างระบบที่ 1 และ 2

หากเราเอาพลังงานที่ระบบที่ 1 และ 2 ของแต่ละเดือนในปี 2024 มาวางเทียบกัน เราจะเห็นได้ว่า ระบบที่ 1 นั้นสามารถผลิตพลังงานได้สูงกว่าระบบที่ 2 ทุกเดือนเลย ซึ่งไม่น่าแปลกอะไรหากเราดูจากจำนวนพลังงานต่อปีที่ทั้งสองระบบผลิตได้ยังไงระบบที่ 1 ย่อมต้องนำระบบที่ 2 ไปพอสมควรแน่นอน อีกส่วนที่เราสามารถสังเกตได้คือ แนวโน้มการขึ้นลงของจำนวนพลังงานที่ผลิตได้นั้นมีความใกล้เคียงกันมาก ๆ คือ จากเดือน 1 จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นไปในเดือน 4 เพราะมันเป็นหน้าร้อนแดดค่อย ๆ จัดขึ้น พอเริ่มเดือน 5 ลงไปมันเริ่มจะเป็นหน้าฝนที่แดดไม่ค่อยออก ฝนลงฉ่ำ แล้วค่อย ๆ กลับขึ้นไปในหน้าร้อนอีกครั้ง

ความประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย

ก่อนเราจะเล่าเรื่องความประหยัด เราอยากไปทุกคนไปดูปริมาณการใช้ไฟฟ้าของบ้านเราในแต่ละปีกันก่อน ในปี 2024 ที่ผ่านมา พลังงานไฟฟ้าที่บ้านเราใช้นั้นเพิ่มขึ้นเป็น New High เลย ตั้งแต่เก็บข้อมูลมา โดยใช้ไฟฟ้าไปทั้งหมด 17.62 MWh สูงกว่าปีก่อนที่ใช้อยู่ 16.72 MWh ถือว่า ไม่ได้สูงรุนแรงมากขึ้นเท่าไหร่ เดาว่า น่าจะมาจากแอร์ในช่วงหน้าร้อนที่ ปี 2024 มันร้อนแบบอยู่ในนรก แอร์เลยต้องทำงานหนักมาก ๆ และอาจจะเกิดมาจากพวกความเสื่อมของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เมื่อมันใช้งานไปเกิดความเสื่อม มันอาจจะต้องใช้พลังงานในการทำงานมากขึ้น (คิดว่า เป็นส่วนน้อยมาก ๆ) ตอนแรก เราคิดว่าน่าจะเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วย แต่เท่าที่ดูมา มันไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากเท่าไหร่ เลยตัดประเด็นเรื่องนี้ทิ้งกันไป

สำหรับบิลค่าไฟ ราคาสูงสุดจะอยู่ที่เดือน มิถุนายน ที่โดนไป 2,682.37 บาทด้วยกัน หากเอามาเทียบกับปี 2023 ที่บิลสูงสุดจะอยู่ที่เดือน เมษายน ที่โดนไป 2,649.74 บาท หลัก ๆ Trend ส่วนนี้ก็เปลี่ยนไป เพราะในปี 2023 ที่เราโดนเดือนเมษายนเยอะ เดาไม่ยากเลยว่า แอร์เป็นปัจจัยสำคัญมาก ๆ แต่พอมันเปลี่ยนมาในเดือนมิถุนายนที่อากาศมันเริ่มเย็นขึ้นจากฝนแล้ว มันก็ไม่น่าจะเกี่ยวกันเท่าไหร่ เลยเดาว่า น่าจะเป็นฝั่งของรถมากกว่าแล้วละ เดือนนั้นเราอาจจะเดินทางเยอะเลยทำให้ใช้ไฟชาร์จรถ BEV เข้าไปเยอะกว่าปกติ

แต่ที่เรา Impress มาก ๆ คือ ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทุกคนรู้โลกรู้ว่า มันเป็นปีที่อากาศเย็นมาก ๆ หน้าหนาวทำหน้าที่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีมาก ๆ เอาซะเราหนาวนอนสบายกันไปหลายวันมาก ๆ โดยเราสังเกตการใช้ไฟฟ้าของเรา ปกติ แอร์ทุกตัวที่บ้านเรารวมกันคือ มากกว่าค่าไฟสำหรับการชาร์จรถ 2 คัน แต่รอบนี้คือแอร์หายไปเยอะมาก ๆ ขนาดว่าแอร์ห้องนอนหลักที่มีขนาดใหญ่ที่สุด พลังงานมันลดลงไป 80% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนกันไปเลย นั่นทำให้อัตราการใช้พลังงานลดลงไปแบบไม่น่าเชื่อมเลยละ ทำให้บิลค่าไฟเราโดนอยู่ที่ 150.14 บาทเท่านั้นเอง ถือว่าเป็นบิลค่าไฟที่ New Low ขอบคุณอากาศหนาว !!!!!

และเมื่อเราเอาบิลค่าไฟของเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ของปี 2024 มาบวกรวมกัน ในปีก่อนหน้านี้ เราเสียค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าเพียงแค่ 19,635.76 บาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 1,636.31 บาทเท่านั้นเอง บางคนอาจจะมองว่าทำไมมันแพงมาก ๆ แต่อันนี้อย่าลืมนะว่า บ้านเราคือ รัน Server สำหรับเว็บที่คุณกำลังอ่านอยู่ตอนนี้แบบ 24/7 รวมไปถึงแอร์ที่เราเปิดทุกคืน และบางตัวเปิดกลางวันตอนที่ไม่มีใครอยู่บ้านให้น้ำหอมและกระเป๋าอีก และที่โหดสุด ๆ น่าจะเป็นมีการชาร์จรถ BEV 2 คันอีก ดังนั้น เราคิดว่า จากการใช้งานของบ้านเรา เทียบกับราคาค่าไฟเฉลี่ยต่อเดือนถือว่า น้อยมาก ๆ แล้วนะ และค่าไฟรวมกันของปี 2024 ถูกกว่าปี 2023 มา 10 บาทถือว่า ไม่มีความแตกต่างมากเท่าไหร่

ยิ่งถ้าเทียบกับในกรณีที่หากบ้านเราไม่ได้ใช้ Solar Cell เลย เราคำนวณออกมา เราจะต้องเสียค่าไฟอยู่ที่ 88,345.71 บาท ทำให้เราประหยัดค่าไฟในปีนี้ได้ที่ 69,311.08 บาท แล้วบวกเข้าไปจาก Saving เมื่อปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา ทำให้เราประหยัดไปแล้วรวม 252,478.83 บาท และเหลือติดลบอยู่ 193,521.17 บาท ที่จะต้องรอ Saving จากค่าไฟเพิ่มเข้ามาให้คืนทุนได้ไว ๆ

ROI ที่กี่ปี ?

สุดท้ายจากข้อมูลทั้งหมดที่เก็บมา นำไปสู่คำถามที่ว่า แล้วมันจะ ROI ภายในปีกี่ จากข้อมูลของปี 2023 ตอนนั้นเราบอกว่า 6-7 ปี เมื่อเราเอาข้อมูลจริงในปี 2024 เข้ามาใส่ปรากฏว่า ระยะการคืนทุนมันลดลงเลย เพราะจำนวนไฟที่เราได้ในปี 2024 มันมากกว่าปี 2023 และ Saving ที่เกิดขึ้นมันก็มากกว่าปีก่อน ๆ ด้วย ทำให้ตอนนี้ระยะการคืนทุนของเราลงไปเหลือไม่ถึง 6 ปีแล้ว โดยในปี 7 หรือในอีก 3 ปีต่อจากนี้ เราจะเริ่มมีกำไรอยู่ที่ 10,975.16 บาท และถ้ามันยังเป็นใน Trend นี้ต่อไป ครบ 25 ปี เราจะได้กำไรอยู่ที่ 1,075,690.36 บาท โดยที่ลงทุนไปแค่ 446,000 บาทเท่านั้นเอง (เอาจริง ๆ ถ้าติดตอนนี้ที่ราคามันลงแล้ว คืนทุนไวกว่าเราแน่นอน)

สรุป

ข้อมูลที่เราได้จากปี 2024 นี้ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า การเลือกลงทุนในการติดตั้งระบบ Solar Cell ของบ้านเรานั้น ดูท่าทางไปในทิศทางที่สดใสมาก ๆ มีแววว่าจะถึงจุด ROI ได้เร็วกว่าที่คาดหวังไว้ในช่วงแรก ๆ ไปถึง 2 ปีเลยละ แต่เราต้องบอกเลยว่า การที่ทำให้เราใช้ไฟฟ้าจาก Solar Cell อย่างเต็มระบบนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่เลย มันจะต้องรับบทนาง Manage จัดการพวกอุปกรณ์ไฟฟ้า และวิธีการใช้ชีวิตเยอะพอสมควร เช่น การชาร์จรถเฉพาะตอนที่แดดแรงมาก ๆ หรือการเปิดแอร์ในช่วงที่ไฟเหลือ ก็ต้องขอบคุณระบบ Smart home ที่ช่วยจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เราเสียบชาร์จทิ้งไว้ แล้วมันรอช่วงที่ไฟเหลือเยอะ ๆ ก็จัดการเลย และทำให้เราเห็นความแตกต่างได้จริง ๆ (ในเชิงสถิติอะนะ) ตอนนี้บ้านเรามีแผนอยู่ว่า อาจจะเริ่มลง Battery เหมือนของบ้านอีกหลังที่ลง Tesla Powerwall ไป แต่สำหรับบ้านนี้ มีแผนกันว่าจะลงของ Huawei เพื่อทำให้เราใช้พลังงานจาก Solar Cell ได้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ แต่ที่สำคัญคือเรื่องไฟตกไฟกระชากอันเป็นปัญหาใหญ่กว่า ก็คิดว่า Battery และ Backup Box ของ Huawei จะสามารถแก้ปัญหาให้บ้านเราได้นะ ตอนนี้ขอเก็บเงินก่อนละกัน ถ้าติดแล้ว เราจะมารีวิวอย่างแน่นอน รอติดตามได้เลย

Read Next...

4 ปีกับ Solar Cell แดดเปรี้ยง ๆ ก็มาสิครับ

4 ปีกับ Solar Cell แดดเปรี้ยง ๆ ก็มาสิครับ

1 ปีผ่านไปเร็วเหมือนกันนะ ตอนนี้ก็ครบ 4 ปีหลังจากที่บ้านเราติด Solar Cell ไปแล้ว เป็นปีแรกเลยที่ เราไม่ได้มีการเพิ่ม หรือปรับเปลี่ยน Config อะไรทั้งสิ้น คือใช้ไป และมีการล้างทำความสะอาดอย่างเดียวเท่านั้น ก็มาลองดูกันว่า ด้วยการใช้งานในปีนี้ มันทำให้เราเข้าใกล้จุดคุ้มทุนมากน้อยขนาดไหน...

รีวิวสาย Apple Watch ที่หายาก และแพงหลัก 37k กับ Hermès Satiné Grand H

รีวิวสาย Apple Watch ที่หายาก และแพงหลัก 37k กับ Hermès Satiné Grand H

หากคิดว่า รอบก่อน กดสาย Apple Watch Hermes แยกมา เส้นละ 10k มันอร่อยแล้ว รอบนี้ไปอีกขั้น แบบหนักหน่วงมาก ๆ กับสายที่โคตร Rare และแพงหลัก 36.9k กับสาย Apple Watch Hermès Satiné Grand H มาดูกันว่า มันจะเป็นยังไง และเราใช้แล้วรู้สึกยังไง มาอ่านได้ในรีวิวนี้เลย...

รีวิว Leica Q3 กล้อง Compact ที่หลงรัก (ประสบการณ์การใช้งาน)

รีวิว Leica Q3 กล้อง Compact ที่หลงรัก (ประสบการณ์การใช้งาน)

ในตอนนี้เราจะมาถึงประเด็นสำคัญของกล้องกันบ้างดีกว่าคือ คุณภาพของภาพ และประสบการณ์ใช้งานที่เราได้กล้องตัวนี้มาวันนึงแล้ววันต่อไปต้องไปญี่ปุ่นเลย เราได้เอาเป็นกล้องตัวเดียวไปถ่ายเลย วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า เราประทับใจหรือมีข้อสังเกตตรงไหนจาก Q3 บ้าง...

รีวิว Leica Q3 กล้อง Compact ที่หลงรัก (ภาคตัวกล้อง และ อุปกรณ์เสริม)

รีวิว Leica Q3 กล้อง Compact ที่หลงรัก (ภาคตัวกล้อง และ อุปกรณ์เสริม)

หลังจากตอนที่แล้ว เรา Unbox Leica Q3 ไปเรียบร้อยแล้ว วันนี้เราจะมาเล่ากันต่อ ในเรื่องของลักษณะตัวกล้อง และ อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ว่าแต่ละจุดมันมีหน้าตายังไง และการออกแบบมาในลักษณะนั้นเรามี Comment กับการใช้งานอย่างไร...